อิมานิ มะยัง ภันเต นิสีทะนานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต 

ภิกขุ สังโฆ อิมานิ นิสีทะนานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัญเจวะ 

มาตาปิตุอาทีนัญจะ ปิยะชะนานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ ฯ

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายเสื่อปูนั่ง พร้อมกับของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ 

แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ เสื่อปูนั่ง พร้อมกับของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย

เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลายมีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนานเทอญ

สาธุ!

ถ้ายังนึกไม่ออกว่า ปี 2024 จะทำบุญถวายสิ่งใดเพื่อเสริมสิริมงคลและเพิ่มผลบุญให้ชีวิต นอกจาก สังฆทาน ‘เครื่องปูลาด’ ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ อานิสงส์ยิ่งใหญ่ ปูทางให้มีลาภยศ ชีวิตมั่นคง การงานราบรื่น แต่จะถวายเสื่อทั่วไปก็ไม่เข้ากับยุคสมัยเอาเสียเลย สีสันจำกัดแค่สีแดง-สีเหลือง ลวดลายซ้ำเดิมไม่ก็เรียบจนไร้เสน่ห์ น้ำหนักเบา แถมลมพัดทีเดียวปลิวถึงสวรรค์ โดนแดดมาก ๆ ก็กรอบแตกเหมือนผิวพรรณที่ขาดการบำรุง เก็บไม่ดีราก็ขึ้น แทนที่จะได้บุญคงต้องมานั่งกุมขมับกันทั้งพระ ทั้งคนถวาย

สองพี่น้อง ต้น-เจษฎา และ เต้น-สิทธา ศักดาสุคนธ์ ทายาทรุ่นสามแห่งโรงงานผลิตเสื่อย่งเซ้งจั่น จังหวัดสมุทรสาคร เปิดมานานกว่า 40 ปี ขอแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยการพัฒนาโรงงานและสินค้า ปรับโฉมเสื่อวัดโบราณให้กลายเป็นเสื่อยุคใหม่ ใช้พุทธศาสนศิลป์ร่วมสมัยเป็นแห่งแรกในโลก ภายใต้แบรนด์ ‘Tha’Wai ถวาย’ เครื่องปูลาดที่คนเข้าวัดยุค 4.0 ควรรู้จัก เพราะใช้พลาสติกรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์ในการสาน (ซึ่งใช้นวัตกรรมนี้มา 40 ปี ตั้งแต่เปิดเครื่องจักรดำเนินธุรกิจ) ทั้งยังแก้ไขรูปลักษณ์ สีสัน แถมทำความสะอาดง่ายด้วยการล้างน้ำ ไม่เก็บฝุ่น ป้องกันเชื้อรา และเคลือบสารป้องกัน UV ด้วย 

‘Tha’Wai ถวาย’ เกิดมาเพื่อแก้ Pain Point ทั้งหมดของเสื่อวัดยุคเก่า – ขอเสียงปรบมือ!

มั่นใจได้เลยว่าเสื่อวัด 4.0 ผืนนี้จะส่งบุญให้คนถวาย ได้ประโยชน์ทั้งวัด และรักษ์โลกด้วย

กว่า Tha’Wai จะออกสู่ตลาดพุทธศาสนิกชนที่ (ตอนนี้) ยังไม่มีคู่แข่ง เบื้องหลังแนวคิดและการออกแบบเสื่อเพื่อคนเข้าวัด และ Mat-er : แมท-เทอร์ เสื่อแทนพรมและของแต่งบ้านที่จับกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้งการปรับเปลี่ยนระบบในโรงงานให้ทันสมัยและเป็นระบบ คุยกับครอบครัวที่ยังชั่งใจเรื่องการเปลี่ยนกลุ่มตลาด สำคัญที่สุดคือการเผชิญหน้าช่วงขาลงของอุตสาหกรรมเสื่อที่ไม่รุ่งเรืองเหมือนยุคอากง

ก่อนจะได้ถวาย

เครื่องจักรทำงานส่งเสียงดังระงม ด้านหนึ่งคือเครื่องหลอมสำหรับหลอมเม็ดพลาสติกรีไซเคิล Polypropylene ให้ออกมาเป็นเส้น มีทั้งแม่สีและสีที่ทางโรงงานผสมเองอย่างสีเอิร์ทโทนจนถึงสีพาสเทล เพื่อเพิ่มสีสันให้ผลิตภัณฑ์มากกว่าแค่สีแดง-สีเหลืองอย่างที่เห็นกันมาตั้งแต่โบราณ

หลังได้เส้นพลาสติกมาแล้ว พวกเขาจะนำเข้าเครื่องทอเสื่อ โดยมีชุดการ์ด Jacquard ที่เปรียบเสมือนบล็อกสกรีนกำหนดลวดลายให้เป็นไปตามต้องการ แน่นอนว่าปัจจุบันประเทศไทยยังผลิตทั้งเครื่องและชุดการ์ด Jacquard ไม่ได้ ทางโรงงานจึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

หลังทอออกมาเป็นผืน กระบวนการถัดไปคือการตัดแบ่ง ตัดแต่ง เก็บรายละเอียด หุ้มขอบผ้าใบ พับและบรรจุหีบห่อโดยแรงคนในทุกกระบวนการ

“สมัยก่อนเรามีพนักงานเยอะกว่านี้ มีเครื่องจักร 100 กว่าเครื่อง โกดัง 3 – 4 แห่ง มีเสื่อกองสูงจนถึงเพดาน พอถึงเวลาขายก็ขายหมดไม่เหลือ โดยเฉพาะหน้าฝนจนถึงปลายปี เพราะเป็นช่วงที่มีกิจกรรมให้ใช้สินค้าของเราเยอะ” เต้นเล่าขณะพาทัวร์

เจ้าของบอกว่าสินค้าในโกดังบางส่วนยังเป็นเสื่อที่มีลวดลายแบบโบราณ เพราะยังขายได้อยู่ โดยแต่ละลายจะออกแบบและผลิตตามวัฒนธรรม รวมถึงความชอบของคนแต่ละภาค เช่น ลายศิลปะแบบอิสลามเป็นที่นิยมของภาคใต้ ลายไทยรายละเอียดเยอะเป็นที่นิยมทางภาคอีสาน ซึ่งคนที่รู้ข้อมูลเหล่านี้ดีก็คือยี่ปั๊วประจำพื้นที่ ถึงขั้นที่ยี่ปั๊วแต่ละคนสั่งผลิตโดยใช้ตราการค้าของตัวเองแยกกันไปตามกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ด้วย ทั้งตราทานตะวัน ตรานางพญาต่อ แต่ทั้งหมดมาจากโรงงานเดียวกัน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ยุคอากง

ย้อนกลับไป 40 ปีก่อน อากงของต้นและเต้นทำเสื่อกกทอมือแล้วพายเรือขาย แม้ใช้เวลาในการทอนานทำให้ผลิตได้น้อย แต่ก็ยังขายหมด เพราะความต้องการมาก คนไทยใช้ทั้งในวัด ในบ้านและนอกบ้าน ตั้งแต่สวดมนต์ ทำวัตร ถวายเพล นอนเล่น กินข้าว รับแขก จนถึงนั่งกินลมชมวิวตอนไปเที่ยว

เมื่อถึงยุคคุณพ่อ วัยรุ่นสร้างตัวก็อยากขยายกิจการ เขาไปดูงานที่ไต้หวัน เห็นเครื่องทอเสื่อน่าสนใจ จึงสั่งซื้อมา 10 เครื่อง เปลี่ยนวัสดุจากต้นกกสู่พลาสติก จากการทอมือสู่เครื่องจักร ซึ่งคุณพ่อของเขามาก่อนกาลด้วยการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลตั้งแต่ตอนนั้น แม้ยังไม่มีใครสนใจชูเรื่องนี้ขึ้นมานัก

ช่วงแรก คุณพ่อไม่มีลูกค้าจนธุรกิจเกือบเจ๊ง กระทั่งยี่ปั๊วที่นครสวรรค์รับไปทำการตลาดให้ ออร์เดอร์ที่ได้กลับมาทั่วไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านก็ล้นหลาม จนต้องสั่งเครื่องทอเสื่อเพิ่มเป็น 100 เครื่อง ขยายโรงงานจาก 2 เป็น 10 ไร่ ยกเลิกระบบกงสี แล้วทำโรงงานให้คุณพ่อและน้องชายไปบริหารกันเอง 

เต้นบอกว่าบ้านในวัยเด็กของเขาคึกคัก เพราะเต็มไปด้วยคนงานที่ผลิตกันตลอด 24 ชั่วโมง หยุดเพียงสัปดาห์ละครั้ง บางทีอากง อาม่า คุณพ่อ คุณแม่ ก็ต้องเข้าโรงงานไปช่วยกันบรรจุสินค้าด้วย จนภายหลังธุรกิจผลิตเสื่อมีผู้เล่นทั้งเครือญาติ โรงงานในภาคอื่น จนถึงประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาลงสนาม โดยภาคอีสานถือเป็นตลาดใหญ่สุด จึงมีการแข่งขันในภูมิภาคสูง

ผลคือพวกเขาต้องเข้าสู่สงครามราคา เมื่อของถูก คุณภาพพอใช้ พังก็เปลี่ยนใหม่ ไม่ต้องเสียดาย ธุรกิจของบ้านเต้นจึงถึงขาลงของจริง

“วันหนึ่งสต็อกของเราล้น ต้องขายเครื่องทิ้ง เพราะไม่มีลูกค้า เป็นสัญญาณที่ไม่ดีแล้ว เราต้องเปลี่ยนแปลง เพราะมารับช่วงต่อในเวลาที่ย่ำแย่ เราจึงนึกถึงสินค้าพรีเมียมและ OEM (Original Equipment Manufacturer) คือการผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้า ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มพรีเมียมและลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้ส่งออกไปกว่า 20 ประเทศ ทั้งในอเมริกา เอเชีย และยุโรป” เต้นเล่า

โดยบุคคลแรกที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่โรงงาน ก็คือพี่ชายของเขา

ถวายไปได้ใช้ชัวร์

ต้นเข้ามาจัดระบบโรงงานให้เป็นระเบียบมากขึ้น โดยเฉพาะด้านข้อมูล เปลี่ยนวิธีจัดเก็บข้อมูลเอกสารด้วยการเขียนเป็นการใช้คอมพิวเตอร์ ทำฐานข้อมูลลูกค้า ขยายตลอดออนไลน์ ศึกษาทำความเข้าใจสิ่งที่มีอยู่จนถ่องแท้ ประกอบกับคำที่คุณพ่อเคยบอกว่า ในมหาสมุทรอาจมีปลาให้จับเยอะกว่าแม่น้ำ พี่ชายจึงคิดขยายตลาดไปต่างประเทศ และทำให้เสื่อเป็นมากกว่าเดิม ภายใต้แบรนด์ Mat-er : แมท-เทอร์ ซึ่งมีอายุ 5 ปีแล้ว

“เสื่อทุกผืนของเรารวมถึง Tha’Wai ได้รับการรับรองจากมาตรฐานสากล Recycled Claim Standard (RCS) มีการทดสอบความทนทานกับ NSTDA – สวทช. นอกจากนี้ พอทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล ก็เแปลว่านำกลับมาใช้ใหม่ ผลิตใหม่ได้อีก ทุกอย่างคำนึงถึงคุณภาพ ความยั่งยืน และการทำเพื่อสิ่งแวดล้อม

“เราเพิ่มดีไซน์เข้าไป ทำให้ Mat-er มีสินค้าทั้งเสื่อแทนพรม เก้าอี้ วอลล์เปเปอร์ และของตกแต่งอื่น ๆ ทางต่างประเทศเน้นแบบหน้ากว้าง แต่ของไทยชอบแบบพกพาได้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายต่างกัน พอน้องชายเข้ามาช่วย เราเลยทำแบรนด์พรีเมียมเจาะกลุ่มวัด ซึ่งไม่เคยมีใครทำ จนตอนนี้ 2 ปีกว่าแล้วก็ยังไม่มีคนอื่นเข้ามาในตลาด” พี่ชายเล่า 

เต้นเองเหมาะสมจะเป็นผู้ดูแลแบรนด์ Tha’Wai เพราะเขาชอบการเข้าวัดทำบุญและเป็นสายมูมาตั้งแต่แรก หลังเรียนจบด้านการตลาดก็เริ่มธุรกิจขายสินค้าออนไลน์แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก เขาจึงนำประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้มาพิสูจน์ตัวเองด้วยการพัฒนาตลาดออนไลน์ในธุรกิจของที่บ้านแทน

“จุดเริ่มต้นจริง ๆ มาจากการที่ผมไปปฏิบัติธรรมแล้วได้นอนเสื่อครั้งแรก ไม่ประทับใจเท่าไหร่ ทั้งเก่าและบาง พระท่านเองก็บอกว่ากรอบ แตก ไม่ทนทาน ใช้ไม่นานก็เจ๊ง 

“ผมเลยคิดว่าบ้านเราเป็นโรงงาน ถ้าเพิ่มคุณภาพการทอ ทอให้แน่นกว่าเดิมสัก 3 เท่า ขอบที่หลุดลุ่ยก็ใช้ผ้าใบเกรดเดียวกับที่ใช้ทำเบาะเรือยอชต์หุ้มไปเลย เรื่องความชื้น-เชื้อราก็ไม่ต้องกังวล เราฉีดน้ำล้างพลาสติกได้อยู่แล้ว ไม่อมน้ำ ไม่เก็บฝุ่น ตากแดดก็ได้ เพราะเม็ดพลาสติกผสมสารที่ช่วยกันแดด ทุกอย่างเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาเสื่อวัด

“หลังจากนั้นผมก็คิดชื่อกับพี่ชาย ไหน ๆ จะเอาไปถวายวัด ก็ชื่อแบรนด์ ถวาย ไปเลยแล้วกัน เราใช้เวลาทำแบรนด์ 1 เดือน ผมเอาโฆษณาเข้ามาช่วยบ้าง แต่ ณ ตอนนั้นคือการทดลอง เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะรอดไหม เราทำวิดีโอโฆษณา จ้างเอเจนซี่ยิงแอด ทำโปรดักชัน ผลตอบรับดีมาก ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 6 – 7 หลัก”

นอกจากนี้ เต้นผู้เป็นหัวเรือใหญ่ด้านการตลาดออนไลน์ยังเพิ่มคอนเทนต์ที่ไม่ใช่แค่ขายของบนเฟซบุ๊ก แต่แปรรูปคอนเทนต์ให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งบทสวดแก้ดวงตก คาถาเรียกทรัพย์ เป็นต้น

“แต่ช่วงแรกที่บ้านค้านนะ” น้องคนเล็กหัวเราะ

“คุณพ่อบอก ขายแพงขนาดนี้ใครจะซื้อ แถมยังขายออนไลน์ ไม่มีใครซื้อหรอก แต่ผมคิดว่าไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ทำต่อไปแบบเดิมก็มีแต่ยอดขายน้อยลง สุดท้ายก็ทำ ๆๆ จนพิสูจน์ให้เขาเห็น” 

จากนั้นคำเตือนก็กลายเป็นกำลังใจ พร้อมคำชมสั้น ๆ “ใช้ได้ ๆ” ที่ทำให้ลูกชายพยายามต่อ

อีกสิ่งที่สนุกคือการออกแบบ ไปวัดไหน เต้นจะเดินชมภาพจิตรกรรมฝาผนังบ้าง ลวดลายในอุโบสถบ้าง จนเกิดแรงบันดาลใจในการออกแบบ พุทธศาสนศิลป์ที่เกิดขึ้นบนผืนเสื่อจึงเป็นศิลปะร่วมสมัยที่หลากหลายทั้งลวดลายและสีสัน เหมาะกับทั้งวัดในเมืองและวัดในชนบท ไม่ว่าจะลายที่ขายดีสุดอย่างลายประจำยาม หรือลายคลาสสิก ลายผกาสยาม ลายข้าม-หลาม-กรัก ลายธรรม-ชาติ จนถึงลายผ้า-ไหมที่ได้แรงบันดาลใจจากผ้านุ่งที่เป็นที่นิยมในต่างจังหวัด 

ส่วนขนาดก็มีให้เลือกหลายไซซ์ หน้ากว้างตั้งแต่ 90 – 180 เซนติเมตร ความยาว 10 เมตร หรือจะให้ทางโรงงานตัดให้ก็ได้ แม้กระทั่งบริการหลังการขายเขาก็ใส่ใจดูแล หากภายใน 3 ปี สินค้าไม่ทนทานอย่างที่บอกไว้ Tha’Wai พร้อมส่งผืนใหม่ให้ทันที

“ตอนแรกว่าจะจับกลุ่มวัยรุ่น แต่ลูกค้าจริงหลากหลายมาก วัยรุ่นทำบุญก็มี เพราะต้องการที่พึ่งทางใจ ผู้ใหญ่วัย 45 ขึ้นไปจะมีมากกว่า แม้กระทั่งพระท่านโทรมาเองก็มี ท่านบอกว่าเสื่อเรามีน้ำหนัก ใช้แล้วไม่ลื่นเหมือนทั่วไป ใครซื้อแล้วก็กลับมาซื้ออีกตลอด” เต้นยิ้มอย่างดีใจ เพราะนอกจากสังฆทาน เสื่อถือเป็นสิ่งของจำเป็นที่ถวายไป ทางวัดก็แทบจะปูใช้ทันที การันตีได้บุญแน่นอน

ในอนาคต สองพี่น้องกำลังขยายช่องทางขายสู่ TikTok และเริ่มสร้างแบรนด์ของโรงงานให้แข็งแรง เนื่องจากตอนนี้พวกเขาเป็นโรงงานรับผลิตเสื่อโดยใช้ตราการค้าที่หลากหลาย แต่หากรวมเป็นหนึ่งเดียวได้จะทำให้แบรนด์แข็งแรงมากกว่า ต่อจากนี้ใครนึกถึงเสื่อก็ต้องนึกถึงพวกเขา

“ผมคิดว่า Tha’Wai ยังไปต่อและพัฒนาได้อีก ความสำเร็จของผมคือการยืนระยะธุรกิจให้อยู่ได้นาน ล้มก็คลาน แผลหายค่อยลุก เจ๊งหรือยอดตกก็ต้องศึกษาต่อไป

“ตอนนี้เสื่อเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมไทยไปแล้ว เป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คน ผมอยากให้สินค้านี้อยู่คู่กับคนไทยไปนาน ๆ ไม่ว่าจะในบ้านเรือนหรือศาสนสถานที่ไม่ได้จำกัดเพียงศาสนาพุทธ แต่รวมถึงศาสนาอื่นด้วย

“มากไปกว่านั้น อยากให้เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวนึกถึง ใครมาไทยก็ต้องนึกถึงเสื่อไทย อีกหน่อยอาจจะได้เป็นสินค้าประจำประเทศก็ได้นะครับ”

Lessons Learned

  • การทำธุรกิจเหมือนการจับปลา ในมหาสมุทรอาจมีปลาเยอะกว่าแม่น้ำ ควรมองหาตลาดและกลุ่มเป้าหมายใหม่อยู่เสมอ
  • รู้จักต้นทุนที่มีให้ถ่องแท้ ทั้งวัตถุดิบและองค์ความรู้ ชูสิ่งที่ดีให้โดดเด่น พร้อมทำความเข้าใจปัญหาของสินค้าในตลาดแล้วหาทางแก้ไขให้ตรงจุด
  • หาจุดเด่นของสินค้าให้เจอ ให้สินค้าขายออกด้วยตัวเอง โดยใช้การตลาดออนไลน์เป็นตัวช่วย เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและเป็นที่จดจำมากขึ้น

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล