ธุรกิจ : บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน)
ประเภทธุรกิจ : ขายสินค้าปลีก-ส่ง
ปีก่อตั้ง : พ.ศ. 2508
อายุ : 57 ปี
ผู้ก่อตั้ง : บุญชัย พุฒิพิริยะ
ทายาทรุ่นสอง : ธวัชชัย พุฒิพิริยะ
ทายาทรุ่นสาม : ธนะพงศ์ พุฒิพิริยะ, ธนภูมิ พุฒิพิริยะ
นี่ไม่ใช่แค่ครั้งแรกที่เรามาจังหวัดเชียงราย แต่เป็นครั้งแรกที่ได้นั่งคุยเรื่องธุรกิจกับผู้ประกอบการของจังหวัดด้วยเช่นกัน
เรามีนัดกับ โย่-ธนะพงศ์ พุฒิพิริยะ ทายาทรุ่นสามของ ‘ธนพิริยะ’ ธุรกิจขายปลีก-ส่งประจำจังหวัด ซึ่งไม่ว่าจะไปที่ไหนก็เห็นป้ายขนาดใหญ่บนอาคารที่ใช้สีน้ำเงินสลับชมพู มีทั้งสาขาเล็ก สาขาใหญ่ ร้านขายปลีก และร้านขายส่ง
ธุรกิจครอบครัวนี้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 7 ปีก่อน ขยายกิจการจนมีถึง 40 สาขาในภาคเหนือ พร้อมยอดขายโดยเฉลี่ยวันละ 170,000 บาทต่อสาขา ด้วยเหตุผลหลัก 1 ข้อ คือต้องการให้ธุรกิจครอบครัวยั่งยืน

โย่มาเจอเราที่สาขาเด่นห้า ซึ่งอยู่ห่างจากสาขาแรกในตัวเมืองไม่ถึง 10 นาที สาขานี้มีทั้งหน้าร้านที่ครบครันด้วยข้าวของเครื่องใช้ทุกชนิด พร้อมโซนบิวตี้ขนาดใหญ่และโกดังสำหรับสินค้าขายส่ง ก่อนจะเริ่มเล่าประวัติความเป็นมาของธุรกิจครอบครัวอันเป็นที่รัก การเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การไม่มองว่าร้านค้าโมเดิร์นเทรดเป็นคู่แข่ง ต่อเนื่องไปถึงการทำธุรกิจเสมือนเป็นหน้าที่ในสังคม ซึ่งไม่ได้หวังแค่ประโยชน์ส่วนตน แต่ต้องดูแลผู้คนไปพร้อมกัน
เขาคิดแบบไหนถึงพาธุรกิจครอบครัวที่เริ่มจากแผงลอยเล็ก ๆ ไปสู่การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
มาอ่านไปพร้อมกันเลยเจ้า
01
ทุกอย่างเริ่มต้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2500 อากงบุญชัย พุฒิพิริยะ อพยพมาจากประเทศจีน ตอนแรกอยู่กับพี่ชายที่จังหวัดราชบุรี และต่อมาจึงตัดสินใจย้ายมาอยู่เชียงราย
จนถึง พ.ศ. 2508 อากงได้ตั้งร้านแผงลอยขนาด 2 x 2 เมตรชื่อ ‘โง้วธงชัย’ ที่ตลาดเทศบาล ขายของจำพวกกะปิ น้ำปลา และหัวไชเท้าดอง
คุณพ่อธวัชชัย พุฒิพิริยะ เกิดมาในช่วงที่ร้านเริ่มตั้งตัวได้แล้ว พออายุ 10 ขวบก็มาขายของในตลาด ตื่นตี 4 ตี 5 เพื่อเปิดร้าน ไปโรงเรียน หลังเลิกเรียนก็กลับมาปิดร้านต่อ ชีวิตวัยเด็กของคุณพ่อเป็นแบบนั้น
พอเรียนจบ จึงกลับมาเชียงรายอีกครั้งเพื่อรับช่วงต่อร้านนี้ เปลี่ยนชื่อจาก โง้วธงชัย เป็น ธนพิริยะ
ธนพิริยะอยู่ในมือรุ่นปู่กับรุ่นพ่อควบคู่กันในช่วงแรก ตามประสาธุรกิจครอบครัวที่ลูกเข้ามาทำ ไม่ว่าจะขยับไปทางไหนก็มีข้อจำกัด ตัวลูกที่ไปเรียนกรุงเทพฯ ได้เห็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่เป็นตัวอย่าง ก็อยากพัฒนาร้านเดิมของที่บ้าน
จากรายได้ต่อวันหลักหมื่น เต็มที่ก็หลักแสน คุณพ่อขยายจนเป็นหลักล้าน
การพัฒนาร้านส่วนหนึ่งอาศัยจากการไปดูงานธุรกิจของคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นแนวทางธุรกิจ การบริหารจัดการคลัง เพื่อนำกลับมาใช้กับร้านตัวเองจนได้ขยายสาขาแรก

02
เมื่อเลือกที่จะขยายสาขาก็ต้องพัฒนาระบบ อย่างระบบบัญชีที่สมัยนั้นยังเป็นระบบปฏิบัติการ DOS (Disk Operating System) ปรับเปลี่ยนอยู่ 2 – 3 โปรแกรม จนสุดท้ายเลือกใช้ระบบ POS (Point of Sale System)
“การเปิดสาขาน้อย ๆ กับมาก มีความยากต่างกัน” โย่เท้าความ “ข้อจำกัดตอนมีสาขาน้อยคือ เราไม่มีอะไรเลย เราไม่รู้อะไรเลย ลองแก้ไข แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายเหมือนกันไม่ว่าธุรกิจจะเล็กหรือใหญ่ คือเรื่องคน การเทรนคน การให้ความรู้คน มันยากขึ้น
“สาขามากขึ้น เรื่องคนก็เริ่มชัดขึ้น เราต้องบริหารคนเยอะขึ้น ตอนสาขาน้อยเราต้องการระบบ ต้องการ Know-how พอขยายกิจการ เรามีทั้ง Know-how และระบบ แต่มีประเด็นที่คนปฏิบัติตามแนวทางที่วางไว้ไม่ได้เนื่องด้วยหลาย ๆ ปัจจัย”
อีกเรื่องที่โย่พูดถึงคือความสามารถในการขยายธุรกิจ ก่อนหน้านี้เติบโตปีละ 1 – 2 สาขา ก็ทำงานกับผู้รับเหมาเพียงเจ้าเดียว ถึงคราวต้องขยายถึง 5 – 6 สาขา ก็ต้องทำงานกับช่างหลาย ๆ เจ้า เรื่องกฎหมายกระบวนการก็ยังไม่แม่นยำ ต้องลองผิดลองถูกและแก้ไขให้ถูกต้อง

03
ความทรงจำแรกของโย่เกี่ยวกับธนพิริยะคือตอน10 ขวบเช่นเดียวกับพ่อ เริ่มจากขายของ แบกของ ทำงานวันแรกโย่บอกว่า ‘เดี้ยงไปอีก 5 วัน’
ช่วงปิดเทอม เด็กชายโย่ก็ไม่ได้ไปเที่ยวเหมือนเด็กคนอื่น ๆ แต่อยู่ช่วยพ่อที่หน้าร้าน ซึ่งตอนนั้นมีประมาณ 5 สาขาในเชียงรายทั้งหมด
ทายาทรุ่นสามมี 3 คน 2 คนโตทำงานที่บ้าน ส่วนคนเล็กกำลังเรียนมหาวิทยาลัย
โย่เองก่อนกลับมารับช่วงต่อ เขามีชีวิตอีกแบบหนึ่ง
“ผมเป็น Investment Banker รับผิดชอบเรื่องการนำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำงานประจำที่กรุงเทพฯ อยู่ 3 ปี ซึ่งคุณแม่ขอไว้ ให้ไปทำงานข้างนอกก่อนได้ แต่วันหนึ่งต้องกลับมา”
สิ่งที่เขาทำในวันนั้นดูจะไม่เกี่ยวข้องกับกิจการที่บ้านโดยตรง แต่กลับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธนพิริยะเติบโตในวันนี้

“อาชีพนี้ทำให้เราเห็นภาพรวมกิจการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเงิน ระบบควบคุม หรือกระบวนการทำงาน เวลาเราไปคุยกับ ก.ล.ต. เราต้องรู้ทุกอย่างของบริษัท ไม่ใช่แค่รู้ทุกอย่างสิ ต้องรู้ลึกทุกอย่างด้วย” เขาหัวเราะ “เราต้องตอบคำถามให้ได้ว่าขั้นตอนนี้ต้องทำยังไง ทำเสร็จแล้วส่งไปไหน ใครอนุมัติ อนุมัติแล้วยังไงต่อ ต้องให้เขามั่นใจว่าบริษัทนี้มั่นคงพอให้นักลงทุนมาร่วมลงทุนได้”
นี่เลยเป็นข้อดีของเขาที่มองธุรกิจที่บ้านได้ทะลุปรุโปร่ง
“เราเห็นบริษัทมาเป็นร้อย กลับมาที่บ้านเลยเห็นว่ามีอะไรที่จะพัฒนาได้หลายอย่าง เรื่องใหญ่ ๆ คือคน แม้เราจะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็ยังมีความเป็นเจ้าของค่อนข้างเยอะ เราต้องลดตรงนี้ลงหน่อย แยกอำนาจดำเนินการที่คลุมเครือ
“เรื่องการดำเนินงานทั่วไปก็ยังพัฒนาได้อีก เรามี KPI อยู่แล้วแต่อาจจะไม่เข้มข้น ถ้ามี KPI ที่ชัดเจน จะทำให้รู้ว่างานส่วนไหนเป็น Key Factor ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ และส่วนไหนปล่อยได้
“เรื่องคนทำงานเก่าแก่ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่น่าจะเจอกันทุกครอบครัว เวลาเราจะ Implement ระบบใหม่ก็ยากกว่า แต่โชคดีที่พนักงานเหล่านั้นซึ่งอยู่กับเรามานาน เขามีใจให้กับเราเต็มที่และพยายามปรับเปลี่ยนตาม”
04
ย้อนกลับไป พ.ศ. 2558 คือปีที่ธุรกิจเชียงรายแห่งนี้ก้าวเท้าเข้าไปในตลาดทุน ได้จดทะเบียนเป็นธุรกิจมหาชน
การเข้าตลาดหลักทรัพย์หมายถึงการแบ่งความเป็นเจ้าของให้นักลงทุน ธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาลก็ไม่จำเป็นต้องเข้าตลาดฯ จึงน่าสนใจมากที่ธนพิริยะ ธุรกิจครอบครัวท้องถิ่นเลือกระดมทุนด้วยวิธีนี้
“สำหรับธนพิริยะ การเข้าตลาดเป็นเรื่องของความยั่งยืน ไม่ใช่แค่เรื่องเงินทองหรือชื่อเสียง เราเห็นเคสธุรกิจจำนวนมากที่พอใหญ่ขึ้นก็แบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัว คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้เกิดปัญหาแบบนั้นกับธุรกิจครอบครัวตัวเอง เลยลองศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม ทุกคนจะได้มีหุ้นชัดเจน มีราคาซื้อขายชัดเจน
“เรื่องการทำงานก็เช่นกัน ต่างคนจะได้มีหน้าที่ชัดเจน คนนี้ดูแลส่วนนี้ อีกคนดูแลอีกส่วน”
บอร์ดบริษัทที่เคยมีเฉพาะคนในครอบครัว ก็ต้องมีกรรมการอิสระจากข้างนอกเข้ามา

05
การที่ธุรกิจท้องถิ่นจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง – เราสงสัย
โย่หัวเราะ เขาว่าเล่า 2 – 3 วันก็ไม่น่าจบ เลยสรุปรวบรัดมาให้ดังนี้
หนึ่ง บัญชีบริษัทต้องถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ โชคดีที่ธนพิริยะทำอะไรตรงไปตรงมา ส่งผลให้บัญชีค่อนข้างครบถ้วนมาตั้งแต่แรก จึงย่นระยะการเตรียมตัวได้เหลือราว ๆ 1 – 2 ปีเท่านั้น บริษัทส่วนมากที่ใช้เวลานานเพราะระบบบัญชีไม่เรียบร้อย
สอง ความถูกต้องในการดำเนินธุรกิจ แบบที่โย่ใช่คำว่า ‘สีขาว ไม่เทา ๆ’ มีทีมผู้ตรวจสอบบัญชีเข้ามาตรวจสอบ ตั้งแต่ดูความสุจริตของบริษัท ความเสี่ยงและช่องว่างในการดำเนินงาน ไปจนถึงกลยุทธ์ในการทำธุรกิจและเป้าหมายในอนาคต ซึ่งตรงนี้ธุรกิจเล็ก ๆ ส่วนใหญ่อาจไม่ได้นึกถึง
“เรื่องกระบวนการทำงานก็ต้องปรับเยอะ เพราะเกี่ยวข้องกับคนเลยยาก การจะเปลี่ยนพฤติกรรมหรือวิธีการทำงานที่ทำติดต่อมาสิบ ๆ ปีไม่ง่าย ส่วนความเทา ๆ เราไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งบริษัทมุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจบนความโปร่งใส เพราะเราเชื่อว่าการทำทุกอย่างให้ถูกต้องตั้งแต่แรกถือเป็นเรื่องที่สำคัญ”
โย่เล่ามาถึงข้อ 3 ที่ชี้เป็นชี้ตายว่าธุรกิจพร้อมจะเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือเปล่า นั่นคือ ใจของคนทำงานทุกคน
“เตรียมใจว่าหนักแน่ ถ้ากัดฟันและอดทนทำได้ก็จบ”
อย่างพนักงานแผนกบัญชีของธนพิริยะเลิกงาน 2 ทุ่มติดต่อกันเป็นปี เพื่อเตรียมระบบให้มีมาตรฐาน ทั้งยังต้องตื่นนอนตี 3 – 4 มานับสต็อกสินค้าก่อนร้านเปิด 1 สาขาใช้เวลานับนานถึง 4 ชั่วโมง
ช่วงนั้นมีคนลาออกไปก็เยอะ แต่ก็มีอีกหลายคนที่อยู่ร่วมสุขทุกข์ด้วยกันตลอดรอดฝั่ง

06
หลังจากเข้าตลาดทุน ธนพิริยะเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากที่ 1 ปีขยายได้ 1 – 2 สาขา ก็เพิ่มเป็น 5 – 6 สาขา
เป็นธรรมดาที่แม้จะเป็นบริษัทมหาชนแล้ว ธุรกิจครอบครัวจะยังมีความเป็นครอบครัวอยู่ ธนพิริยะเองก็ยังค่อย ๆ ปรับรูปแบบการบริหารในทุกวัน
“ช่วงที่เตรียมตัวถือเราว่าปรับตัวมาแล้วครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งคือหลังจากนี้ ก็แล้วแต่ธุรกิจว่าจะปรับตัวหรือเปล่า บางครอบครัวเขาเลือกทำเหมือนเดิม แต่เราตั้งใจหามืออาชีพเข้ามาทำงานมากขึ้น เพราะความสามารถเรามีจำกัด บางเรื่องเราก็ไม่มีไอเดีย บางอย่างต้องอาศัยคนนอกที่มีประสบการณ์จากการทำหลายบริษัทมาช่วยดู เพราะถ้าปรับกันเองอาจจะไม่ดีกว่าของเดิมก็ได้
“มันไม่เหมือนสมัยก่อนแล้วที่มีร้านเล็ก ๆ ร้านเดียว อยากปรับอะไรก็ปรับได้เลย ตอนนี้ต้องดูว่าถ้าปรับระบบตรงนี้จะเกี่ยวข้องกับระบบไหนอีก จะกระทบอะไรไหม ปรับแล้วจะดีขึ้นไหม ต้องมีใครไปตรวจสอบดูแลยังไง”
การบริหารของธนพิริยะเป็นแบบกระจายอำนาจไปตามสาขา บริหารจัดการโดยผู้จัดการร้านนั้น ๆ ไล่เรียงลงมาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการและหัวหน้างาน นอกจากบางเรื่องที่ทุกสาขาจำเป็นต้องมีทิศทางเดียวกัน ส่วนกลางจะเป็นคนตัดสินใจ
07
นับจาก พ.ศ. 2558 วันนี้ธุรกิจของคนเชียงรายแห่งนี้มีสาขาเพิ่มมา 30 แห่ง รวมเป็น 40 สาขา ทั้งในเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงอย่างเชียงใหม่และพะเยา ทั้งยังมีแผนจะกระจายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนืออีก
การเป็นธุรกิจมหาชนทำให้สมาชิกครอบครัวพุฒิพิริยะต้องตื่นตัว ปรับตัว และพร้อมจะเติบโต เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
“มันไม่ได้เกี่ยวว่าคุณใหญ่แค่ไหน แต่สำคัญว่าธุรกิจของคุณจะเดินไปทางไหนต่อ บางธุรกิจต้องหาโมเดลใหม่ บางธุรกิจหาสิ่งใหม่ทำไปเลย ธนพิริยะเคยถูกออนไลน์ Disrupt แต่วันนี้กลายเป็นหนึ่งในช่องทางใหม่ที่เรามีให้ผู้บริโภค แต่สุดท้ายเราก็ยังต้องมีหน้าร้านอยู่ เพราะคนไม่ได้อยู่บ้านไปตลอดหรอก เรามีออนไลน์ให้เขาสะดวกขึ้น แต่วันหนึ่งที่เขาอยากมาเดินเลือกของ อยากเห็นของจริง เราก็มีร้านให้”

เชื่อไหมว่าตระกูลนี้ไม่เคยคิดว่าร้านค้าโมเดิร์นเทรดเป็นคู่แข่งเหมือนที่เราปักธงมาแล้วในใจ การเข้ามาของร้านค้าสมัยใหม่ก็ไม่ได้บั่นทอนจิตใจชาวธนพิริยะเลยแม้แต่นิด แบบที่โย่พูดทีเล่นทีจริงว่า ‘ขออยู่ข้างกันเลยก็ได้ครับ’
“ถ้ามีแค่ร้านเดียวในพื้นที่หนึ่ง ผมว่าก็คงไปไม่ค่อยรอด กลายเป็นรวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย” เขาหัวเราะดัง “ลองนึกภาพเราเป็นลูกค้า ถ้าตรงนั้นมีร้านเดียวตั้งเหงา ๆ เราก็ไม่อยากไปใช่ไหม แต่ถ้าแถวนั้นมีชุมชน มีร้านค้าหลาย ๆ ร้านให้เลือกก็ดีกว่า”
เหมือนเวลาซื้อมือถือ ต้องไปมาบุญครอง
“การมีแค่เราคนเดียวจะไม่ทำให้ย่านนั้นเติบโต ย่านหนึ่งย่านจะโตเป็นเขตธุรกิจได้ก็ต้องการคนหลายคน”
เราถามต่อว่า ถ้าธนพิริยะอยู่กับร้านค้าโมเดิร์นเทรด คนเชียงรายจะเข้าร้านไหน
“ก็ซื้อทั้งสองร้านแหละครับ” โย่ตอบทันทีแบบไม่ลังเล “สินค้าในร้านเราต่างกัน คนจะไปซื้อของก็มีในใจอยู่แล้วว่าไปร้านนี้จะซื้ออะไร โมเดิร์นเทรดบางร้านเน้นของกิน ส่วนเราเน้นของใช้ ก็ไม่เหมือนกันแล้ว”
ธนพิริยะมีตั้งแต่สินค้าทั่วไปที่เราเห็นตามห้างร้าน ไปจนถึงสินค้าโอท็อปจากชุมชนข้างเคียงที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมในการวางขาย มีแค่ค่าแรงพนักงานบางส่วน ประเภทสินค้าแต่ละร้านก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะใช้ดาต้าในการเลือกของที่เหมาะกับโลเคชันและความนิยม อะไรขายดี สั่งเพิ่ม อะไรขายไม่ดี สั่งน้อยลง ถ้าขายไม่ดีมาก ๆ ก็พิจารณาเพื่อยกเลิก แต่ก่อนจะยกเลิกต้องมีกระบวนการตรวจสอบและวิเคราะห์ก่อนว่าทำไมถึงขายไม่ได้
ยกตัวอย่างเช่น ธนพิริยะสาขาหน้ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเข้าใจเด็กหอ จึงมีน้ำเปล่าขวดใหญ่ให้เลือกเยอะ บวกกับเด็กมหาวิทยาลัยเป็นวัยรักสวยรักงาม สาขานี้จึงมี Beauty Zone ขนาดใหญ่กว่าสาขาอื่น ส่วนวัตถุดิบเครื่องปรุงอย่างกะปิหรือน้ำปลาจะมีน้อยหน่อย แต่ต้องมีให้ครบสำหรับกลุ่มลูกค้าอื่น ๆ รอบ ๆ เพราะพวกเขาจะไม่ยอมทิ้งลูกค้ากลุ่มไหนไว้ข้างหลัง

08
การทำงานระหว่างรุ่นพ่อกับรุ่นลูกไม่ได้ราบเรียบอยู่เสมอ หลายเรื่องก็ความคิดไม่ตรงกัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ เรื่องการลงทุนสินทรัพย์
รุ่นพ่อบอกว่า รถเก่าอายุ 20 ปีก็ยังใช้ได้ดีอยู่
รุ่นลูกต้องคำนวณตัวเลขค่าซ่อมรถใน 1 ปีมาชี้ให้เห็นว่า รวม ๆ ก็ราคาเทียบเท่ารถใหม่แล้ว
คุณพ่อจะระมัดระวังมากกว่า ขณะที่คุณลูกมีความใจถึง คุณสมบัติทั้งสองถ้าสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่งก็อาจเป็นผลเสียต่อบริษัท แต่ครอบครัวพุฒิพิริยะ เลือกจับเข่านั่งคุยแลกเปลี่ยนความเห็นให้เข้าใจถึงเหตุผลของแต่ละฝ่าย แล้วปรับเข้าหากันให้ได้มากที่สุด
แผนระยะสั้น คือการขยายสาขาไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ ส่วนแผนระยะยาวที่แน่นอนตอนนี้ คือการรักษามาตรฐานและพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

ทายาทคนนี้สรุปสิ่งที่ทำให้ธนพิริยะยืนระยะมาได้เกือบ 60 ปีไว้สั้น ๆ ว่า
“เรามีสาขาใกล้ผู้คน มี Service Mind ของพนักงานที่คอยช่วยเหลือลูกค้า
“เราต้องซื่อสัตย์ ผมซีเรียสเรื่อง Shelf Life มาก ๆ เราจะไม่ให้สินค้าหมดอายุไปถึงมือลูกค้า ของทุกชิ้นต้องเป็นของแท้
“เราต้องขยัน ขยันไว้ก่อน จริง ๆ ทำงานอะไรก็ต้องขยัน
“เราต้องปรับตัว ปรับยังไง ปรับแล้วดีหรือไม่ดีก็ต้องประเมินผล
“เราต้องอดทน อดทนอย่างมีเหตุผล มีข้อมูลรองรับ บางอย่างไม่ได้มาในข้ามคืน มันต้องใช้เวลา แต่ต้องไม่หลอกตัวเอง อะไรที่ไม่เวิร์กจริง ๆ ก็ต้องยอมรับว่าไม่เวิร์ก
“สุดท้ายคือการดูแลคนให้ดี ถ้าเขาไม่มีเรื่องกังวลในชีวิตมากนัก เขาจะทำงานได้ดี แต่ไม่ใช่แค่พนักงาน เราดูแลไปถึงคู่ค้าและคนในชุมชนตามแนวคิด ESG (Environmental, Social and Governance) เพราะเขาก็คือลูกค้าเรานั่นแหละ”
“สำหรับผม ธุรกิจนี้คือการดูแลคน เรามีหน้าที่ในการหาสินค้าดี ๆ มาให้กับลูกค้าในราคาที่เหมาะสม ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี การทำธุรกิจจึงเป็นหน้าที่ในสังคมที่เราต้องทำ”
