“พูดไม่ได้ก็เขียนเอาสิ” … นี่คือความเข้าใจผิดที่พบได้บ่อยที่สุด เมื่อพูดถึงการสื่อสารของคนหูหนวก

สารภาพว่าเราเองก็เคยเข้าใจผิดเช่นนั้น จนกระทั่งได้มาคุยกับ ‘ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ TTRS’ บริการล่ามภาษามือออนไลน์ที่มีคนหูหนวกใช้บริการนับพันครั้งต่อวัน

“คนหูหนวกที่อ่านเขียนได้คล่องมีน้อยจนแทบจะนับคนได้ มีงานวิจัยพบว่าคนหูหนวกชั้น ม.6 มีทักษะการอ่านเขียนเทียบเท่าเด็ก ป.4 เพราะเขาโตมากับภาษามือที่มีไวยากรณ์คนละแบบ แล้วด้วยความที่เขาไม่เคยได้ยิน ทำให้สะกดคำไม่ได้ การเรียนรู้คำภาษาเขียนของเขาจึงต้องใช้วิธีจำด้วยภาพอย่างเดียว” อาจารย์วันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ TTRS อธิบายเหตุผลที่ทำให้การอ่านเขียนของคนหูหนวกเป็นเรื่องยากกว่าคนหูดีหลายเท่า 

TTRS บริการล่ามภาษามือออนไลน์ที่ทำให้ชีวิตประจำวันของคนหูหนวกไม่ต้องลำบากเหมือนเคย

หากนึกภาพตามให้เข้าใจง่าย ก็คงคล้ายกับการที่คนหูดีต้องนั่งจำตัวอักษรภาษาจีนว่าตัวไหนแปลว่าอะไร โดยไม่มีเสียงในหัว ยิ่งภาษาไทยที่ 1 คำมีหลายตัวอักษรประกอบกัน ก็ต้องมานั่งจำลำดับตัวอักษร เพราะคนหูหนวกสะกด ‘มอ – แอ – วอ – แมว’ เหมือนคนหูดีไม่ได้ เพราะเขาไม่เคยได้ยินคำนี้ 

จำคำศัพท์ว่ายากแล้ว ยังมีเรื่องของไวยากรณ์ที่ไม่คุ้นเคย เช่น ประโยค ‘ฉันกอดหมา’ ท่าภาษามือจะเริ่มจาก ‘หมา’ ตามด้วย ‘ฉัน’ และ ‘กอด’ ตามลำดับ

“ถ้าคนหูหนวกพิมพ์คุยกันเองก็ยังพอเข้าใจกันได้ แต่ถ้าคนทั่วไปมาอ่านก็อาจจะงง เพราะเขาจะเรียงลำดับคำผิดหรือสะกดผิด เช่น คำว่า ‘พัสดุ’ บางคนอาจเขียนว่า ‘พัดสุ’ หรือคำว่า ‘เซเวน’ ก็อาจเขียนเป็น ‘เวเซน’ คือเขาจำได้ว่ามีตัวอักษรอะไรบ้างแต่เรียงไม่ถูก บางคนยังสะกดชื่อตัวเองไม่ถูกเลย” ขวัญ-ชนัญชิดา ชีพเสรี และ ปลา-อัฑฒกาฐ์ เที่ยงปรีชารักษ์ หัวหน้ากลุ่มบริการถ่ายทอดการสื่อสาร ช่วยกันยกตัวอย่างให้เราเห็นภาพ

และนั่นก็คือเหตุผลที่ชัดเจนที่สุดที่ว่า เหตุใดการมีล่ามภาษามือที่เข้าถึงได้จึงมีความสำคัญ แม้กระทั่งในวันที่การสื่อสารด้วยข้อความทำได้ง่ายขึ้นมาก

TTRS บริการล่ามภาษามือออนไลน์ที่ทำให้ชีวิตประจำวันของคนหูหนวกไม่ต้องลำบากเหมือนเคย

นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายสถานการณ์ที่คนหูหนวกต้องการติดต่อใครสักคนในกรณีเร่งด่วน ซึ่งถ้าเป็นคนหูดีก็แค่กดโทรศัพท์โทรออก แต่สำหรับคนหูหนวกแล้ว นั่นคือสิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้

จนกระทั่งมีบริการล่ามภาษามือออนไลน์เกิดขึ้น

โทรคมนาคมที่ ‘ทั่วถึง’

ย้อนกลับไปราว ๆ พ.ศ. 2554 กสทช. ก่อตั้งขึ้นมาด้วยภารกิจที่ว่า ประเทศไทยต้องมีระบบโทรคมนาคมขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึง แต่คำว่า ‘ทั่วถึง’ ในวันนั้น ยังมีความหมายแค่ในเชิงพื้นที่ ไม่ได้ ‘ทั่วถึง’ ในเชิงกลุ่มคนที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย

“ในวันนั้นบรรดาผู้นำที่ทำงานด้านคนพิการก็เข้าไปคุยกับ กสทช. บอกว่าอย่าทำแต่ชนบท ในเมืองนี่แหละยังมีคนที่ใช้โทรคมนาคมขั้นพื้นฐานไม่ได้เลย” อาจารย์วันทนีย์เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้น ซึ่งวันนั้นเธอยังทำงานอยู่ที่ สวทช. และเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเรื่องนี้ด้วย

จนในที่สุด กสทช. ก็ตอบรับแนวคิดและเกิดเป็นภารกิจที่มีชื่อว่า ‘บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม’ หรือ USO (Universal Service Obligation) และหนึ่งในโครงการที่เกิดขึ้นตามมาโดยได้รับทุนสนับสนุนจาก USO ก็คือศูนย์บริการล่ามภาษามือออนไลน์ TTRS

การบริการของศูนย์นี้มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งผู้ใช้บริการหูหนวกเลือกได้ว่าจะคุยกับล่ามในรูปแบบไหน เช่น ส่งข้อความหาล่ามผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Live Chat หรือ TTRS Message เพื่อให้ล่ามโทรหาคนหูดีให้ หรือจะเป็นการโทรแบบวิดีโอผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Video ส่วนคนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตก็ติดต่อล่ามผ่านระบบ SMS หรือใช้บริการตู้ TTRS ที่ติดตั้งตามจุดต่าง ๆ 180 แห่งทั่วประเทศได้ โดยบริการทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ

แม้แต่ผู้สูงอายุหูตึงก็มีแอปพลิเคชัน TTRS Caption ที่ระบบจะขึ้นตัวอักษรตามเสียงที่ปลายสายพูด หรือกลุ่มผู้พิการปากแหว่งเพดานโหว่หรือผู้ที่ไม่มีกล่องเสียงที่มีปัญหาพูดไม่ชัด ก็กด 1412 เพื่อเข้าสู่ระบบปรับปรุงเสียงพูดได้ ก่อนกดหมายเลขปลายทางที่ต้องการติดต่อ ส่วนคนหูดีที่ต้องการติดต่อคนหูหนวก ก็โหลดแอปพลิเคชัน TTRS VRI เพื่อให้ล่ามช่วยติดต่อได้

TTRS บริการล่ามภาษามือออนไลน์ที่ทำให้ชีวิตประจำวันของคนหูหนวกไม่ต้องลำบากเหมือนเคย
TTRS บริการล่ามภาษามือออนไลน์ที่ทำให้ชีวิตประจำวันของคนหูหนวกไม่ต้องลำบากเหมือนเคย

“ก่อนที่จะมีบริการนี้ เวลาคนหูหนวกมีธุระจะโทรหาใครก็ต้องวานให้คนหูดีช่วยโทร หรือถ้าย้อนไปก่อนยุคมือถือ เวลาคนหูหนวกต้องการใช้ตู้โทรศัพท์สาธารณะ เขาก็ต้องยืนรอหน้าตู้และขอให้คนหูดีที่เดินผ่านมาช่วยโทร โดยเขียนข้อความใส่กระดาษและให้เหรียญไป” ปลาอธิบายถึงชีวิตที่ไม่ง่ายของคนหูหนวก

“พอยุคต่อมาที่เริ่มมี SMS คนหูหนวกก็เริ่มส่งคุยกันเองได้ แต่ค่าใช้จ่ายก็จะสูงกว่า เช่น คนหูดีใช้โทรศัพท์บ้านคุยกันนานแค่ไหนก็ 3 บาท แต่คนหูหนวกต้องส่ง SMS โต้ตอบกันไปมา กว่าจะรู้เรื่องก็อาจต้องเสียหลายสิบบาท” ปลาเล่าถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ยังไม่นับปัญหาที่ภาษาเขียนของคนหูหนวกอาจสื่อสารกับคนหูดีไม่เข้าใจ 

ปัญหานี้เป็นมากกว่าแค่ความไม่สะดวกเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ความเข้าใจผิดจากการสื่อสารยังอาจนำไปสู่อันตรายที่ร้ายแรงกว่านั้น

“มีอยู่เคสหนึ่งที่คนหูหนวกไปหาหมอ แล้วหมอก็เขียนสอบถามอาการ อาการที่ 1 มีไหม อาการที่ 2 มีไหม อาการที่ 3 มีไหม เขาก็พยักหน้าว่า มี ๆๆ ทุกอาการ จนหมอเริ่มเอะใจและติดต่อล่าม ปรากฏพอคุยผ่านล่าม เขากลับบอกว่าไม่มีอาการเหล่านั้นสักอาการ สรุปคือตอนที่หมอเขียนถาม เขาไม่เข้าใจก็เลยพยักหน้าไว้ก่อน” 

ปลาเล่าถึงเหตุการณ์ที่ช่วยตอกย้ำถึงความสำคัญของล่ามภาษามือ ซึ่งกรณีนั้นนับเป็นโชคดีที่แพทย์เอะใจ แต่สิ่งที่ควรตั้งคำถามต่อก็คือ มีผู้ป่วยหูหนวกอีกมากแค่ไหนที่ได้รับการวินิจฉัยผิดเนื่องจากความคลาดเคลื่อนทางการสื่อสาร

“อีกเรื่องคือการแพ้ยาและโรคประจำตัว คนหูหนวกหลายคนไม่รู้จักคำเหล่านี้ แต่ถ้ามีล่าม เราก็จะช่วยอธิบายให้เขาเข้าใจได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายจากการแพ้ยา แต่ปัญหาที่เจอคือพยาบาลบางคนไม่เข้าใจและไม่ยอมให้เขาใช้มือถือในห้องตรวจ และบอกให้ใช้วิธีเขียนคุยแทน” ปลาเล่าถึงปัญหาที่แสดงให้เห็นว่าความเข้าใจของคนในสังคมต่อเรื่องนี้ยังต้องพัฒนาอีกมาก

นอกจากนั้น ในกรณีที่คนหูหนวกต้องการแจ้งเหตุฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นการเรียกรถพยาบาลหรือโทรแจ้งตำรวจ การมีบริการนี้ก็ทำให้คนหูหนวกแจ้งเหตุได้ทันที โดยไม่ต้องวิ่งไปตามคนหูดีมาช่วยโทรให้ ซึ่งบางทีกว่าจะสื่อสารกันเข้าใจก็อาจสายเสียแล้ว โดยที่ผ่านมา TTRS ก็ได้ช่วยประสานงานรถพยาบาลฉุกเฉินให้คนหูหนวกแล้วหลายครั้ง อีกทั้งยังมีการติดตั้งโทรศัพท์วิดีโอ (Video Phone) ในหน่วยฉุกเฉินหลายแห่ง ที่ทีมล่ามโทรหาได้โดยตรงและทำให้เจ้าหน้าที่มองเห็นสถานการณ์หน้างานเพื่อประเมินอาการเบื้องต้นได้

หากต้องให้นิยามสักอย่างแก่มนุษย์ล่ามในศูนย์ TTRS เราก็อยากเรียกว่า ‘ล่ามที่เป็นมากกว่าล่าม’

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ล่ามของที่นี่ทำหน้าที่มากกว่าแค่แปลภาษา แต่พวกเขายังทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อช่วยให้ชีวิตคนหูหนวกดีขึ้น เช่น ในช่วงโควิด ทีม TTRS ก็ช่วยกันทำวิดีโอภาษามือให้ข้อมูล ประสานงานหาโรงพยาบาลสนาม ส่วนทางด้านอาจารย์วันทนีย์ก็ร่วมกับ สวทช. และสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ เพื่อก่อตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้พิการแห่งแรกของไทย

“แถวพระราม 9 มีชุมชนคนหูหนวกอยู่ เราก็ประสานงานให้มีหน่วยไปทำ Swab Test คัดกรอง ปรากฏว่าติดกันเยอะมาก เราก็ต้องประสานหารถทหารเพื่อพาไปโรงพยาบาลสนามกัน แล้วบังเอิญช่วงนั้นมีล่ามของเราติดโควิดพอดี ก็ไปอยู่ด้วยกันเลย กลายเป็นล่ามภาคสนามไป” ขวัญและปลาช่วยกันเล่าถึงความโกลาหลเวลานั้น

“ส่วนล่ามคนอื่น ๆ ก็ต้อง Work from Home เราต้องขนคอมพิวเตอร์ไปติดตั้งให้ที่บ้านแต่ละคน ซึ่งก็เจอปัญหาว่าบ้านนั้นไม่มีโต๊ะ ก็ต้องหาโต๊ะให้ บ้านนี้ไม่มีอินเทอร์เน็ต เราก็ต้องให้ช่างไปติดเราเตอร์ให้”

แม้จะเป็นช่วงเวลาที่วุ่นวายและเหนื่อยหนัก แต่ความทุ่มเทของพวกเขาก็ได้ช่วยผู้พิการทางการได้ยินจำนวนมาก เพราะพวกเขาคือกลุ่มคนที่เข้าถึงข้อมูลน้อยที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้

ส่วนในยามปกติ บางครั้งพวกเขาก็ต้องรับหน้าที่เป็น ‘ที่ปรึกษาจำเป็น’ สำหรับคนหูหนวกที่โทรเข้ามาระบายปัญหาชีวิตหรือขอคำปรึกษา รวมถึงเคสที่มีอาการซึมเศร้า

TTRS บริการล่ามภาษามือออนไลน์ที่ทำให้ชีวิตประจำวันของคนหูหนวกไม่ต้องลำบากเหมือนเคย
TTRS บริการล่ามภาษามือออนไลน์ที่ทำให้ชีวิตประจำวันของคนหูหนวกไม่ต้องลำบากเหมือนเคย

“ถ้าเป็นคนหูดีก็ยังโทรหาสายด่วนสุขภาพจิตได้ ไปคุยกับนักจิตวิทยาได้ แต่คนหูหนวกเขาไม่รู้จะคุยกับใคร ก็โทรมาหาเรา ล่ามของเราก็ต้องช่วยรับฟัง” อาจารย์วันทนีย์เล่าถึงอีกมุมหนึ่งของงาน ซึ่งมีบ่อยจนถึงขั้นเธอต้องติดต่อกรมสุขภาพจิตให้มาช่วยฝึกอบรมล่ามในการรับมือต่อสถานการณ์แบบนี้

ไม่ใช่แค่ความรู้ภาษามือเท่านั้นที่ล่ามต้องแม่น แต่พวกเขายังต้องผ่านการฝึกอบรมปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำซีพีอาร์ การช่วยเหลือในกรณีอาหารติดคอ รวมถึงมีการทำวิดีโอสาธิตพร้อมส่งในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งกว่าที่ล่ามคนหนึ่งจะไปนั่งประจำเก้าอี้ให้บริการเดี่ยว ๆ ได้ ก็ต้องผ่านการฝึกเรื่องต่าง ๆ นานถึง 6 เดือน

นอกจากการเป็นตัวกลางติดต่อสื่อสารที่มีผู้ใช้บริการหลักพันสายต่อวันแล้ว พวกเขายังมีโครงการที่ร่วมกับ สวทช. ในการพัฒนาระบบล่ามทางไกลในห้องเรียน ที่ล่ามจากศูนย์ TTRS จะช่วยแปลภาษามือในบางวิชาในมหาวิทยาลัย เพื่อให้คนหูหนวกมีทางเลือกในการศึกษาต่อมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาคนหูหนวกหลายคนต้องทนเรียนในสาขาที่ตัวเองไม่ชอบหรือต้องไปเรียนไกลข้ามจังหวัด เพียงเพราะสาขานั้นมีล่ามภาษามือ ยังไม่นับอีกหลายคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อเพราะข้อจำกัดเรื่องนี้

วันวุ่น ๆ ของมนุษย์ล่าม

60 – 70 สาย คือจำนวนผู้ใช้บริการที่ล่าม 1 คนต้องรับมือต่อวัน และนี่ก็คือตัวอย่างของสิ่งที่พวกเขาต้องเจอ

หนึ่ง – กดเบอร์หาคนหูดีเพื่อติดต่อแทนคนหูหนวก แต่ปลายสายนึกว่าเป็นแก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ เลยถูกด่าฟรีแบบงง ๆ

สอง – โทรหาคนหูดีแล้วเขาไม่ทันรับสาย พอเขาโทรกลับมา ก็มักไปติดเจ้าหน้าที่คนอื่นที่ไม่ใช่คนโทรไป แม้จะอธิบายแล้ว แต่ก็ยังถูกปลายสายขึ้นเสียงใส่ ก็เบอร์คุณโทรมาน่ะ 

สาม – โทรติดต่อลูกค้าหูดีแทนไรเดอร์หูหนวก แต่ภายหลังลูกค้าพบว่าออร์เดอร์นั้นมีปัญหา จึงโทรกลับมาด่าจัดเต็มที่เบอร์ของ TTRS แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะอธิบายอย่างใจเย็นว่าเราเป็นล่าม รบกวนลูกค้าโทรไปหาบริษัทดิลิเวอรีโดยตรง ลูกค้าหูดีคนนั้นก็สวนกลับทันทีว่า ทำไมเดือดร้อนฉันต้องโทรไปอีก

“ความยากอย่างหนึ่งของงานนี้ คือบางทีเราต้องกลายมาเป็นที่รองรับอารมณ์ สิ่งที่เราทำได้อย่างเดียวคือต้องปล่อยไปให้ได้ เพราะเราด่ากลับไม่ได้ ทำเสียงแข็งใส่ไม่ได้ด้วย คือทุกคนมีอารมณ์โกรธอยู่ในตัวหมดแหละ แต่เราเลือกทำงานบริการ เราก็ต้องปล่อยให้ได้ ใจเย็นให้ได้” ขวัญเล่าถึงคุณสมบัติที่สำคัญอีกอย่างของล่าม นอกเหนือไปจากจรรยาบรรณในหน้าที่

“การคุยภาษามือไม่ใช่แค่ท่าทาง แต่ยังรวมถึงสีหน้าที่ต้องไปตามนั้นด้วย เวลาคุยเรื่องเครียด หน้าก็ต้องเครียดตาม แต่พอเราคุยสายนั้นจบ แล้วสายใหม่เข้ามาต่อกัน เราก็ต้องปรับโหมดมาเป็นหน้ายิ้มทันที เพราะคนที่ติดต่อมาเขาไม่รู้ว่าสายก่อนหน้าเป็นอะไร ถ้าเราหน้าบึ้ง เขาก็จะรู้สึกไม่ดี”

แม้ว่าพวกเขาจะโดนลูกหลงทางอารมณ์ไม่น้อย แต่มุมที่ชวนให้ใจฟูก็มีอยู่มากมายเช่นกัน  

“บางทีแปลอยู่ครึ่งชั่วโมง พอแปลจบ แค่เขาทำท่าว่า TTRS ขอบคุณนะ แค่นั้นเราก็ชื่นใจแล้ว” ปลาพูดถึงมุมเล็ก ๆ ที่ดีต่อใจ

“หลายครั้งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ทำให้เราประทับใจ เช่น เวลาโทรไปหาคนหูดีที่ไม่รู้จักเรามาก่อน แล้วเขาบอกว่า เพิ่งรู้ว่ามีบริการแบบนี้ด้วย ดีจัง ขอบคุณนะ เราก็ดีใจแล้ว หรือวันก่อนได้แปลให้คนหูหนวกที่ไปซื้อของ คนขายที่เป็นคนหูดีก็ตื่นเต้น บอกไม่เคยเจอคนหูหนวกมาซื้อของที่ร้านเขามาก่อน ดีใจจัง สรุปว่านัดกันไปเจอนอกรอบ แอดไลน์กันเรียบร้อย น่ารักดี” ขวัญแชร์บ้าง

“เคสที่เจอบ่อยคือไรเดอร์หูหนวกไปส่งของให้ลูกค้า แล้วให้เราช่วยโทรถามทางหรือบอกว่ามาถึงแล้ว ซึ่งมีอยู่เคสหนึ่งที่บ้านลูกค้าอยู่ไกล ไม่มีจุดสังเกต ต้องอธิบายทางอยู่ 20 นาที เหมือนเรานั่งซ้อนท้ายไรเดอร์ไปด้วยเลย แปลไปก็กังวลไปว่าจะไปถูกไหม แต่สุดท้ายก็ไปถึงจนได้ ซึ่งพอแปลจบเรารู้สึกเลยว่า เนี่ย ถ้าเขาต้องไปเอง ยังไงก็ไม่เจอ โดนลูกค้าร้องเรียนแน่นอน แต่เราก็ไม่ถือว่านี่เป็นบุญคุณอะไรนะ เราแค่ดีใจที่แปลสำเร็จ ภารกิจสำเร็จ เพราะฉันก็เป็นคนหลงทางเก่งนะ แต่ฉันก็พาเขาไปได้นะ ก็รู้สึกดี” 

ส่วนทางด้านปลาก็แลกเปลี่ยนว่าจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ภาษามือของเธอเกิดขึ้นในช่วงมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเพื่อนร่วมชั้นเป็นคนหูหนวกและมีล่ามภาษามือยืนแปลอยู่หน้าห้องเรียน ทำให้รู้สึกว่าคนเป็นล่ามนั้นเท่ เธอจึงเริ่มต้นเรียนรู้ภาษามือและกลายเป็นคนที่คอยช่วยสื่อสารแทนเพื่อนหูหนวก เช่น ช่วยโทรติดต่อพ่อแม่ หรือพาไปหาหมอ จนทำให้รู้สึกว่าอยากทำอาชีพนี้

“เรารู้สึกว่าเป็นอาชีพที่ได้สร้างประโยชน์ให้คนอื่น อย่างเวลาเราไปเดินข้างนอก เราก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่เป็นใครก็ไม่รู้ แต่พอเรามานั่งตรงนี้ การมีอยู่ของเราสำคัญกับเขา ในวันหนึ่งเราได้ช่วยให้คนหูหนวกสื่อสารได้ ติดต่องานได้ หาหมอได้ มีอาชีพได้หลายคนมาก ๆ ต่อวัน ช่วงที่ศูนย์ไม่มีงบฯ จนต้องปิดตัวไป 7 วัน เห็นชัดเลยว่าคนหูหนวกต้องการเรา วันที่เราไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบ พวกเขาก็มาร่วมยื่นด้วย ตอนจะกลับ คนหูหนวกที่เป็นไรเดอร์ก็บอกเลยว่าล่าม TTRS ซ้อนท้ายมาเลย เดี๋ยวไปส่งฟรี”

บนหน้าจอ Dashboard ที่ติดตั้งอยู่กลางออฟฟิศ แสดงถึงตัวเลขผู้ใช้บริการวันนี้ว่า ในเวลา 15.27 น. TTRS ได้ให้บริการโทรวิดีโอมาแล้ว 571 สาย และบริการ Text Chat อีก 223 สาย รวมเป็นเกือบ ๆ 800 สาย ซึ่งตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าบริการนี้คือเบื้องหลังสำคัญของชีวิตประจำวันอันแสนปกติธรรมดาของคนหูหนวกจำนวนมาก แต่ปัญหาก็คือ… อนาคตของศูนย์นี้อยู่ในความไม่แน่นอน เพราะพวกเขาไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนมานาน 19 เดือนแล้ว

บริการสำคัญที่ถูกละเลย

แม้ว่ากฎหมายของประเทศไทยจะเขียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 ว่าผู้พิการทางการได้ยินต้องได้รับสิทธิ์ในการรับบริการล่ามภาษามือโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และแม้ว่าคนหูหนวกจะติดต่อขอล่ามได้ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ปัญหาคือทั่วประเทศไทยมีล่ามภาษามือที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพเพียงแค่ 180 คน ในขณะที่จำนวนคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 อยู่ที่เกือบ 416,000 คน

ในขณะที่ล่ามออฟไลน์ 1 คนให้บริการได้แค่ไม่กี่คนต่อวัน แต่ล่ามออนไลน์ 1 คน อาจให้บริการได้ถึง 70 คนต่อวัน นั่นแปลว่า หากบริการนี้ต้องยุติ ก็จะมีคนหูหนวกจำนวนมหาศาลที่ได้รับผลกระทบ

“ที่ผ่านมาเราจะได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน USO เป็นแผนครั้งละ 5 ปี แต่ปัญหาเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2565 ที่คณะกรรมการ กสทช. เป็นคณะใหม่ ซึ่งเปลี่ยนเป็นแผน 1 ปี เราเสนอแผนตั้งแต่กรกฎาคม พ.ศ. 2565 แต่กว่าจะเข้าบอร์ดก็ปาไปเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ซึ่งอนุมัติแค่บางรายการ เราก็อุทธรณ์ไป แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ” อาจารย์วันทนีย์เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจนกระทั่งทางศูนย์ต้องตัดสินใจยุติการดำเนินการชั่วคราวในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566

“ช่วงนั้นคนหูหนวกเข้ามาร้องเรียนเยอะมาก เขาบอกว่า 10 ปีที่ผ่านมาเขาอยู่ได้ มีอาชีพได้เพราะศูนย์นี้ ถ้าปิดไปแล้วเขาจะอยู่ยังไง”

หลังจากปิดไป 7 วัน และดำเนินการยื่นร้องเรียนต่าง ๆ ดังเช่นที่เป็นข่าว ทางศูนย์ก็ตัดสินใจกลับมาเปิดอีกครั้ง แต่ก็จำต้องปิดบริการบางอย่าง เช่น ระบบปรับปรุงเสียงพูดสำหรับผู้ไร้กล่องเสียง รวมถึงปรับลดชั่วโมงการให้บริการจากที่เคยเปิด 24 ชั่วโมง กลายมาเป็นเวลา 07.00 – 20.00 น. 

“มีคนหูหนวกติดต่อมาทางสมาชิกสัมพันธ์เยอะมาก ถามว่าเมื่อไหร่จะเปิด 24 ชั่วโมง เพราะมันคืออาชีพของเขา เช่น บางคนกลางวันทำงานประจำ กลางคืนเป็นไรเดอร์ จำเป็นต้องใช้บริการเราในการโทรติดต่อลูกค้า พอเราปิด ชีวิตเขาก็เปลี่ยนไปเลย” ขวัญเล่า

“ภาครัฐควรทำให้บริการนี้มีความยั่งยืน อย่างที่สหรัฐอเมริกา บริการล่ามภาษามือออนไลน์จะบรรจุในฐานะภารกิจของหน่วยงาน FCC ที่เทียบเท่า กสทช. บ้านเรา ไม่ใช่ทำแผนทีละไม่กี่ปีอย่างไทย ซึ่งทำให้เราได้งบฯ ไม่ต่อเนื่องและไม่เพียงพอ” อาจารย์วันทนีย์อธิบาย

สำหรับรายจ่ายตลอด 19 เดือนที่ไม่ได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐ ผู้ที่แบกภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินทั้งหมดก็คือมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ส่วนทางศูนย์ TTRS เองก็ต้องสู้ชีวิตหาเงิน โดยส่งล่ามวันละ 2 คน หมุนเวียนกัน ‘รับจ๊อบ’ นอกสถานที่ในฐานะล่ามติดตามตัว เพื่อหารายได้มาหล่อเลี้ยงศูนย์

ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าวว่า แผนการผลักดันขั้นถัดไปคือการเสนอเพิ่มเติมกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

“สิ่งที่เราเสนอคือ พ.ร.บ. นี้ต้องเขียนให้ครอบคลุมว่าคนหูหนวกต้องได้รับบริการล่ามภาษามือผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และให้ทาง กสทช. ให้เงินสนับสนุนอย่างเพียงพอทุกปีสม่ำเสมอ ซึ่งปัจจุบันร่างนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น”

ในวันที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ แต่ไม่ว่าเราจะมี 5G 6G 7G หรือเทคโนโลยีที่ล้ำสักเพียงไหน ประเทศเราก็คงไม่อาจเรียกได้ว่า ‘พัฒนา’ หากยังมีคนกลุ่มใหญ่ถูกทิ้งอยู่เบื้องหลัง

เราก็ได้แต่หวังว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่มีภาวะ ‘บกพร่องทางการได้ยิน’ ต่อปัญหาเหล่านี้

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ