นานมากแล้วที่ไม่ได้เข้าวัด

เหตุที่ทำให้เรานึกถึงวัด เพราะ Nop-Art-Studio ที่เป็นจุดหมายของเรา เป็นทั้งบ้านและสตูดิโอสรรสร้างงานจิตรกรรมตาลปัตรของ นพพล นุชิตประสิทธิชัย ช่างตาลปัตรรุ่นใหม่ที่ให้ใจกับงานตาลปัตรมากว่า 11 ปี และยังส่งต่องานจิตรกรรมไทยที่มีคุณค่านี้ให้กับลูกศิษย์มาแล้วหลายสิบรุ่น

เรานั่งพูดคุยกันที่ชั้น 2 ของบ้าน บรรยากาศรอบข้างห้อมล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ ลมพัดโชยเข้ามาในตัวบ้านตลอดเวลา มีเสียงกรุ๊งกริ๊งของกระดิ่งลมที่ถูกแขวนตรงระเบียงบ้านเกิดขึ้นเป็นระยะ จนอดคิดไม่ได้ว่าความสงบของสถานที่แห่งนี้ช่างเหมาะกับการสร้างงานศิลปะที่ต้องใช้ศรัทธาจริง ๆ นั่นแหละ

ตาลปัตร คืองานที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาทุกยุคสมัย เราเห็นได้ง่ายที่สุดคืองานบุญ งานมงคล งานแต่งงาน งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ กระทั่งงานอวมงคลก็ยังต้องใช้ตาลปัตรเหมือนกัน จึงไม่แปลกที่คนทั่วไปจะมีภาพจำว่าตาลปัตรคือสิ่งที่พระสงฆ์หรือเด็กวัดที่ติดตามพระสงฆ์เท่านั้นที่จะถือได้ 

เดิมทีคำว่า ‘ตาลปัตร’ มีรากมาจากคำว่า ‘ตาล’ สื่อถึง ต้นตาล รวมกับคำว่า ‘ปัตร’ แปลว่า ใบไม้ คำแปลง่าย ๆ คือ ใบตาล ตาลปัตรหรือใบตาลถูกนำมาใช้เป็นพัดตั้งแต่สมัยพุทธกาลโดยพระสงฆ์ จากประเทศตั้งต้นของศาสนาพุทธอย่างอินเดีย เพราะอากาศที่อินเดียร้อนมาก พระสงฆ์จึงใช้ตาลปัตรบังแดด โบกคลายร้อน กันฝน หรือ บังกลิ่นก็ได้เช่นกัน อย่างการบังสุกุลก็มีการถือพัดบังหน้าไว้ขณะชักผ้าบังสุกุล ตาลปัตรจึงกลายเป็นธรรมเนียมที่ว่า หากพระสงฆ์ไปไหน ต้องมีตาลปัตรติดตัวไปด้วยเสมอ

“จริง ๆ วิชาจิตรกรรมไทยเป็นวิชาที่พูดเรื่องดีไซน์ เพราะจิตรกรรมไทยเป็นงานพื้นฐานของงานช่างทุกแขนงของไทย ช่างเขียนจิตรกรรมจึงเท่ากับดีไซเนอร์ เพราะคนเหล่านี้ต้องเข้าใจในฟังก์ชันของรูปแบบความงามที่เราจะออกแบบมาเพื่อให้ไปเป็นชิ้นงานชิ้นหนึ่ง นี่คือพื้นฐานของช่างตาลปัตร”

นพพลจบจากโรงเรียนเพาะช่างมา 11 ปี เขาใช้เวลาทั้งหมดไปกับงานจิตรกรรมตาลปัตร และในตอนนี้เขากลับมาเป็นอาจารย์ประจำวิชาจิตรกรรมไทยของวิทยาลัยในวังชายด้วย 

เขาเล่าให้ฟังว่าจุดเริ่มต้นเกิดจากความประทับใจในเอกสารตีพิมพ์ที่เป็นภาพ และตาลปัตรที่เห็นในพิพิธภัณฑ์ อันเป็นผลงานการออกแบบของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระโอรสในรัชกาลที่ 4 ผู้มีอิทธิพลด้านศิลปกรรมไทยต่อเนื่องมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 8 

นพพลเรียกพระองค์ว่า สมเด็จครู พร้อมเล่าว่าพระองค์ทรงชำนาญเรื่องศิลปกรรม ดนตรี นาฏกรรม และทรงอิทธิพลในวงการศิลปกรรมไทยเป็นอย่างมาก ผลงานยุคแรกเน้นออกแบบเชิงงานประเพณี และใช้ทัศนียวิทยาในมุมมองที่ร่วมสมัยมากขึ้น นอกจากสมเด็จครูแล้ว ผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้นพพลอีกคน คือ อาจารย์สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรม อาวุโส นั่นทำให้ตาลปัตรของนพพลเกิดจากผลผลิตของแรงบันดาลใจที่ผสมผสานกันระหว่างงานครูบาอาจารย์ในอดีตกับปัจจุบัน 

นพพลอธิบายถึงพัฒนาการของตาลปัตรไทยที่เริ่มเด่นชัดและเปลี่ยนไปมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพราะเป็นยุคเริ่มต้นของการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติ รูปแบบศิลปะใหม่ ๆ จึงหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย และสมเด็จครูก็ได้รังสรรค์ให้วงการตาลปัตรไม่ได้มีแค่ลายกนกอีกต่อไป

“ลายกนกมักใช้สําหรับงานราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ หน่วยงานราชการในยุคนั้น ๆ เช่น ตรากระทรวง ตราประจําพระองค์ และใช้ในงานสำคัญ ๆ อย่างออกพระเมรุหรืองานฉลองพระบรมอัฐิ สมเด็จครูทรงออกแบบแล้วพระราชทานให้กับพระสงฆ์ที่มารับทักษิณาในงานนั้นด้วย

“ช่วงหลังจากนั้นมา สมเด็จครูทำให้ตาลปัตรมีความร่วมสมัยมากขึ้น ถ้าใครอยากทำเครื่องถวายพระสงฆ์ ต้องมากราบทูลขอให้ประทานแบบให้ กลายเป็นแฟชั่นยอดฮิตในยุคนั้นเลย และปัจจุบัน งานตาลปัตรเป็นงานที่กว้างมาก ไม่มีกรอบ คนมักมองว่าเป็นเรื่องของพระกับชาวบ้าน แต่พอมองในมุมของศิลปะ จะรู้เลยว่ามันสอดแทรกความคิด การตีความ ประวัติศาสตร์ และการดีไซน์ไว้ด้วยกัน”

หลังการเปลี่ยนแปลงสมัยรัชการที่ 4 เป็นต้นมา ตาลปัตรมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่คอนเซปต์ การออกแบบ การสื่อสารผ่านสัญลักษณ์ แม้กระทั่งทรวดทรงก็มีหลากหลาย ประณีตขึ้น รวมถึงวัสดุ จากใบไม้สู่ผ้า กระจก โลหะ จนถึงงาช้าง ตาลปัตรจึงไม่ได้ยึดโยงเพียงศาสนา แต่เป็นศิลปะไร้ข้อจำกัด

งานตาลปัตรต้องมีคอนเซปต์

“งานตาลปัตรเหมือนงานดีไซน์ เพราะไม่เพียงแต่ใช้บังหน้าอย่างเดียว แต่ตาลปัตรสื่อสารกับคนที่พบเห็นได้ด้วย การออกแบบตาลปัตรจึงขึ้นอยู่กับคอนเซปต์ที่มีในแต่ละงาน เช่น วันเกิด ถ้าเขาจะฉลองอายุในปีนี้ ช่างต้องคิดว่าจะแทนสัญลักษณ์อะไรที่สื่อถึงคนคนนี้ได้บ้าง เช่น เจ้าของวันเกิดอายุ 60 ปี เกิดปีงู ก็ใช้คอนเซปต์งูมาวาดทั้งหมด 5 ตัว สื่อถึงการครอบรอบปีนักษัตร 5 รอบ ส่วนสีของงูก็อาจใช้สีมงคลตามวันเกิดของเขาด้วย ถ้าเกิดวันพุธ แทนด้วยสีเขียว หากเกิดวันจันทร์ แทนด้วยนวลจันทร์” 

แม้นพพลจะบอกว่างานตาลปัตรคืองานสื่อสาร แล้วงานที่ปักหรือเพนต์ด้วยข้อความเหมือนเรียงความนับว่าเป็นการสื่อสารผ่านศิลปะตาลปัตรหรือเปล่า

“นั่นอาจเกิดจากช่างที่ไม่ชำนาญเท่าไร เพราะตาลปัตรที่อยู่ข้างหน้าพระ ถ้าใส่ข้อความเยอะเกินไป เช่น ใส่รายละเอียด ชื่องาน วันที่ หรือจังหวัด อาจสื่อถึงการที่ศิลปะไม่ตอบโจทย์ เพราะศิลปะที่ตอบโจทย์ จะต้องดูแล้วรู้ความหมายได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องหาข้อความ”

นพพลขอเวลาเรา 2 – 3 นาที เพื่อหยิบหนังสือเล่มหนามากางทีละหน้า หนังสือทั้ง 2 เล่มพูดถึงการออกแบบตาลปัตรทุกยุคของไทย และยังพูดถึงอิทธิพลของพัดจากประเทศข้างเคียงที่มีผลต่อไทยด้วย กระทั่งเปิดมาถึงหน้าหนึ่ง เราเองที่เรียนสายประวัติศาสตร์มา (และยังไม่ได้คืนความรู้ครูไปเสียหมด) ก็พอเดาได้ในใจว่าภาพนั้นหมายถึงกษัตริย์พระองค์ใด 

ภาพที่ว่าคือภาพเทวดาทรงราชรถกลับสวรรค์ มีเทวดาถืออาวุธ 8 อย่างอยู่ข้าง ๆ ซึ่งนพพลเฉลยให้ฟังว่าภาพนี้ปรากฏในพิธีออกเมรุของสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธฯ 

“พิธีออกเมรุเปรียบได้กับเทวดากลับสวรรค์ด้วยราชรถ ส่วนเทวดาข้าง ๆ ถืออาวุธ 8 อย่าง เพราะคำว่า อัษฎางค์เดชาวุธ แปลว่า อาวุธ 8 ชนิด ฉะนั้น แค่มองก็รู้เลยว่าบนตาลปัตรนี้ทำเพื่ออัษฎางค์เดชาวุธฯ เป็นการตีความได้อย่างเฉียบคม โดยไม่ต้องเขียนเป็นตัวหนังสือเลย” 

นอกจากการสื่อสารถึงโอกาสวันสำคัญ บุคคลสำคัญ หรือสถานที่สำคัญแล้ว บนตาลปัตรยังเขียนด้วยศาสนสุภาษิตเอาไว้ด้วย จึงไม่แปลกใจว่าทำไมนพพลย้ำกับเราตลอดการสนทนาว่า 

ตาลปัตรคืองานศิลปะที่กว้างและไร้ขอบเขต

นพพลเปิดหนังสือ 2 เล่มคู่ใจให้เราเชยชมความประณีตของงานศิลป์ไทยมาสักพัก จนเราแอบสงสัยว่า ในเมื่อตาลปัตรไม่มีกรอบขนาดนี้แล้ว มันจะเดินทางไปถึงการนำศิลปะมาประยุกต์ใช้ เหมือนกรณีการเขียนผนังวัดด้วยการ์ตูนแมวญี่ปุ่นสีฟ้า หรือการเขียนรูปตามกระแสของคนในปัจจุบันได้ไหม

“ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้นะ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต้องคํานึงคือเรื่องกาลเทศะ ด้วยความเป็นศิลปะ จะเขียนรูปศพลงบนตาลปัตรก็ได้ ถ้าโอกาสที่เรานำไปใช้อาจทำให้คนพบเห็นรู้สึกอุจาดตาได้ แต่เปลี่ยนเป็นการใส่สัญลักษณ์ในเชิงปริศนาธรรมลงไปแทนรูปศพก็ไม่เป็นไร”

แม้จะต้องคำนึงถึงกาลเทศะ แต่นพพลก็ยังยืนยันว่าตาลปัตรเป็นศิลปะที่ใจกว้างอยู่ดี

“เราไม่ต้องยึดติดว่าตาลปัตรงานศพต้องเป็นสีดำ จะเป็นสีแดงหรือสีฟ้าซึ่งเป็นสีประจําวันของคนตายก็ได้ และตาลปัตรงานศพก็ไม่จำเป็นต้องมีแค่ ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี เพราะคำพวกนี้เป็นแค่หัวข้อปริศนาธรรมเพื่อให้พระเทศนาเฉย ๆ จริง ๆ บนตาลปัตรสร้างคอนเซปต์ไปมากกว่านั้นได้”

ฟังก์ชันของตาลปัตร

ระหว่างที่พูดคุยกัน เหมือนเราเองได้ค้นพบโลกใบใหม่ที่ไม่รู้จัก และเรามั่นใจว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่ไม่รู้เกี่ยวกับตาลปัตรอีกแน่ ๆ แน่นอนว่าเรื่องใหม่สำหรับเราในวันนี้คือตาลปัตรก็มีฟังก์ชันการใช้งาน

“อันที่จริง ตาลปัตรเหมือนกับใบปริญญามากกว่า ไม่ว่าใครก็เลยถือสิ่งนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพระ อย่างนักเรียนผู้หญิงที่เรียนบาลีศึกษา หรือลูกศิษย์ที่เรียกกันว่าพระมหาก็ถือตาลปัตรได้ ”

ซึ่งตาลปัตรที่กลายเป็นเหมือนใบปริญญา แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. พัดยศ

‘พัศยศ’ หรือ ‘ตาลปัตรพัดยศ’ เป็นพัดเกียรติยศสูงสุดสำหรับพระสงฆ์ โดยกษัตริย์จะเป็นผู้มอบให้พระสงฆ์ที่ใฝ่แก่เรียน มีความสามารถ และเป็นผู้ที่ช่วยให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ฟังก์ชันของพัดยศมีอยู่สิ่งที่พระรูปนั้น ๆ ต้องคำนึงถึงเมื่อได้ครอบครอง

“บางคนอาจตีความว่านี่คือเรื่องของการบ้ายศ แต่การได้พัดยศที่บ่งบอกถึงสมณศักดิ์ คือสิ่งสะท้อนบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบที่พระต้องแบกรับมากกว่า และเป็นเครื่องหมายประจำตำแหน่งที่นั่งเมื่อต้องเข้าวังด้วย เมื่อพระเข้าวังไปแล้ว ธรรมเนียมลำดับการนั่งที่นั่งแต่ละตำแหน่ง เขาจะไม่ดูพรรษาของพระ แต่ดูเครื่องหมายประจําตําแหน่งบนพัดแทน”

 ‘พัดเปรียญธรรม’ คืออีกประเภทของพัดยศที่มีฟังก์ชันการใช้งานคล้ายกัน คือเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการศึกษาของพระ หากสำเร็จเปรียญธรรม 3 ประโยค บนพัดก็จะปรากฏเลข ๓ แต่หากร่ำเรียนจนสำเร็จขั้นที่ 9 บนพัดจะไม่แสดงตัวเลข แต่เปลี่ยนตราบนพัดเป็นสีทองแทน แสดงถึงความเก่งกาจด้านการศึกษา

“การเรียนบาลีศึกษาคือเรียนภาษาภาษาหนึ่ง ไม่ต่างจากการเรียนภาษาฝรั่งเศส เรียนภาษาจีน หรือเรียนภาษาอังกฤษเลย ฉะนั้นแล้วแล้วเรียนภาษาบาลีไม่ง่าย ละเอียดอ่อนมากเพราะเป็นภาษาโบราณ จึงเกิดการมอบยศเพื่อให้ความสําคัญ รวมถึงให้กำลังใจแก่พระที่ขยันเรียนหนังสือและพยายามทำนุบำรุงพุทธศาสนา

“สำหรับพัดยศ เอามาถือเล่นไม่ได้ หลวงพี่จะเอาพัดยศไปสวดที่ไหนตามใจไม่ได้ด้วย ต้องสวดต่อเมื่อมีพระราชพิธี หรือมีการมีโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ อย่างในอดีต การเข้าวังสำหรับพระสงฆ์ต้องใช้พัดรองสลับกับพัดยศ ตอนทำพิธีสวดอาราธนาต่าง ๆ ก็ใช้พัดรองก่อน แต่ตอนชักบังสุกุลให้ใช้พัดยศ สันนิษฐานว่าที่ทำแบบนั้นเพราะพัดยศมีน้ำหนักมาก ด้ามหรือแกนเป็นเหล็ก และเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นด้วย การใช้พัดยศจึงมีระเบียบและกฎเกณฑ์”

  1. พัดรอง

 ‘พัดรอง’ คือประเภทที่นพพลเล่าให้ฟังมาตั้งแต่ช่วงต้นของการพูดคุยกัน พัดรองคือพัดโอกาส เพื่อใคร หรือจุดประสงค์อะไรก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้น คือใคร ๆ ก็ใช้ตาลปัตรพัดรองได้ 

“สมมติมีหลวงพี่จะบวชพรุ่งนี้ เราจะออกแบบตาลปัตรให้วิลิศมาหรายังไงก็ได้ จะติดพลอยล้อมเพชรยังได้เลย มันไม่มีในข้อห้ามใช้ ไม่มีในกฎหมายด้วย” 

หากญาติพี่น้องของใครกำลังจะบวช ขอให้ช่างออกแบบตาลปัตรได้เต็มที่ตามที่ใจชอบ หรือถ้าใครอยากจ้างทำตาลปัตรที่งดงามตามกำลังศรัทธาในพระรูปที่เราทำบุญด้วยบ่อย ๆ ก็ทำไปถวายได้โดยไม่ต้องลังเล

แต่อย่าลืมว่าทำเป็นรูปแบบของพัดยศไม่ได้ เพราะสั่งทำได้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ซึ่งเป็นกฎระเบียบที่มีในกฎหมายนั่นเอง 

องค์ประกอบของตาลปัตร

จากที่นพพลเปิดภาพตาลปัตรสมัยอดีตให้เราดู พัดทำขึ้นได้จากหลายวัสดุเลยทีเดียว อย่างของจีนทำจากไม้หอม บางประเทศทำด้วยใบลานทั้งใบ จนไปที่ใช้งาช้างมาทำทั้งเล่ม 

แต่ปัจจุบันมีวัสดุให้เลือกเยอะขึ้นมาก เช่น วัสดุธรรมชาติอย่างใบลาน ใบตาล หรือวัสดุทดแทนอย่างแผ่นอะคริลิก ผ้า กระจก ก็ทำให้ออกมาเป็นตาลปัตรได้ 

บริเวณที่ช่างจิตรกรรมวาดแบบและเขียนสีลงไปคือส่วนที่เรียกว่า ‘หน้าตาลปัตร’ ส่วนโครงของตาลปัตรส่วนมากใช้ลวดหรือเหล็กดามเอาไว้ข้างในให้มั่น 

อีกองค์ประกอบต่อมาคือ ‘นม’ เป็นตัวที่ช่วยปิดรอยต่อระหว่างด้ามกับโครงหน้าตาลปัตร และเพื่อการตกแต่งที่สวยงามด้วย (หรือจะฝากลายเซ็นฝีมือช่างไว้ที่นมตาลปัตรแบบเนียน ๆ ก็ได้) 

ส่วนท้ายของตาลปัตรคือ ‘ด้าม’ มีทั้งที่เป็นไม้ เหล็ก หรืองาช้าก็มี และหากอยากเพิ่มความประณีตขึ้นไปอีกนิด ก็เพิ่มลายแกะสลักเข้าไปด้วย 

และองค์ประกอบสุดท้ายของตาลปัตร ขาดไม่ได้เลยคือ ‘กี๋’ เป็นฐานวางตาลปัตรที่ถ้าต้องการงานเนี้ยบขึ้นอีกนิด ช่างจิตรกรรมก็มักจะเพนต์ลวดลายที่เข้ากับตาลปัตรลงไปบนกี๋ด้วย

ในส่วนของสีที่บรรจงใช้บนงานตาลปัตรคือสีธรรมชาติ นพพลบอกว่าสีเหล่านี้เขาทำออกมาเองทั้งหมด ซึ่งเป็นการเฟ้นหาที่สีที่ได้มาจากวัตถุดิบอย่างหิน พืช สัตว์ จนไปถึงดิน 

ตัวอย่างของสีแดงได้จากสีของแมลงโคชินีล เป็นแมลงที่สีคล้ายครั่ง แต่ให้สีออกแดง-ชมพู และยังหาสีแดงได้จากแร่ซินนาบาร์ด้วย

ตัวอย่างของสีครามได้จากแร่อะซูไรต์ (Azurite) เป็นแร่ทองแดงเนื้ออ่อนสีน้ำเงินเข้ม กว่าจะได้มาซึ่งสีครามนั้น ต้องผ่านกระบวนการบดล้างอย่างพิถีพิถัน และยังต้องแยกแร่อื่นที่ปะปนมาในนั้นด้วย (สีน้ำเงินสดจากแร่นี้จึงราคาค่อนข้างสูง)

“หากใครอยากเรียนรู้เรื่องสีธรรมชาติเพิ่มเติม เราแชร์ข้อมูลของทุกสีไว้ในเพจ กระยารงค์ by Nop-Art-Studio ด้วยนะครับ เราอยากแบ่งปันเพราะแร่บางตัวมีในไทย แต่บางตัวต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะในอดีต สยามก็เอาแร่เข้ามาจากต่างประเทศเหมือนกัน สยามมีการก็มีการค้าขายกับต่างชาติตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว เรามีวัตถุดิบดี ๆ เยอะมาก นี่คือความฉลาดของช่างไทยในอดีตที่หยิบทุกวัตถุดิบมาทำงานได้หมด” 

แม้นพพลจะใช้สีธรรมชาติเพราะเขาถนัด แต่ความจริงตาลปัตรใช้สีอะไรก็ได้ในการรังสรรค์งาน ขึ้นอยู่กับความเหมาะของจุดประสงค์การใช้งานตาลปัตรด้วย

กว่าจะเป็นตาลปัตร 1 เล่ม

ขั้นตอนแรก – การร่างแบบและขึ้นโครงตาลปัตร

“หลังจากร่างเส้นแบบบนกระดาษเสร็จ สมัยนี้เขามีการทำโครงตาลปัตรขายแล้วนะ ไม่ต้องมาดัดโครงเองแบบสมัยก่อน ซึ่งถ้าทำเอง ต้องมาดัดโครงให้ได้เป็นทรงที่ต้องการ กลมเท่าไหน รีเท่าไหน และต้องดัดโครงภายในให้แข็งแรง ไม่ง่อนแง่น”

ขั้นตอนที่ 2 – ลงเส้นบนผ้าตาลปัตร

วิธีการแบบดั้งเดิมคือการนำกาวดินสอพองมาเคลือบผ้าฝ้ายหรือฝ้าไหม แล้วใช้เมล็ดมะขามเปรี้ยวไปคั่วไฟให้สุก ฝัดเปลือกออกให้เหลือแค่เนื้อข้างในคล้ายถั่ว แล้วนำมาเคี่ยวเป็นวันจนเหนียว จึงนำไปผสมกับดินสอพองเพื่อทาบนผ้า ใช้เปลือกหอยเบี้ยกวาดขัดจนมันเรียบเพื่ออุดตาผ้า

ขั้นตอนที่ 3 – ขึงและเขียนตาลปัตร

การขึงภาพคือการขึงหน้าขึงหลังให้เรียบร้อยแล้วจึงเขียน หรือจะเขียนภาพให้เสร็จทั้งหมดก่อน แล้วค่อยขึงตาลปัตรก็ได้ 

วิธีการเขียนภาพบนตาลปัตรสมัยโบราณมักใช้กระดาษแก้วมาเขียนแบบร่าง เพื่อจะได้ใช้เข็มทิ่มเป็นรูตามเส้นแบบ แล้วนำกระดาษที่เป็นรูปตามแบบมาทาบบนหน้าตาลปัตรที่เตรียมไว้ จากนั้นให้เอาดินสอพองที่เผาแล้วบดละเอียด ใส่ลูกประคบผ้าขาวบ้าง แล้วก็ตบสีฝุ่นลงไปตามภาพได้เลย บนแผ่นตาลปัตรก็จะปรากฏรอยปะ แล้วค่อยเอาพู่กันตัดเส้นและลงสีจนพอใจ และอย่าลืมเก็บขอบตาลปัตรด้วยผ้า และสวมด้ามเข้ากับหน้าตาลปัตรจึงเป็นอันเสร็จ

ตาลปัตร-พัดพาแพสชัน

ตลอดบทสนทนาที่คุยกัน เราได้เปิดโลกของตาลปัตรในมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และนี่คือสิ่งที่ยิ่งทำให้เรามั่นใจทุกขณะที่คุยกับนพพลว่าเขาคือบุคคลที่หลงใหลและเปี่ยมแพสชันกับงานจิตรกรรมตาลปัตรอย่างแท้จริง ต้องยอมรับว่าเดิมทีเรามองตาลปัตรเป็นเพียงพัดที่พระสงฆ์ถือ ในตอนนี้กลับมีเสน่ห์มากขึ้นหลายเท่า

  “ผมมองเสน่ห์ของตาลปัตรใน 2 แง่ มองในแง่ศิลปะและศาสนา ในแง่ของศาสนา ผมมองว่าการการถวายสิ่งของให้พระคือการให้ด้วยความศรัทธา เมื่อคนเรามีความศรัทธา ความพิถีพิถัน ความประณีตและความใส่ใจจะเกิดขึ้น ตาลปัตรจึงต้องเป็นงานที่สวยเนี้ยบ ต้องมีความบรรจงให้สมกับความศรัทธา และทำให้เสน่ห์ที่ 2 ตามมาในทันที

“นั่นคือเสน่ห์งานศิลปะ ถ้าคนไม่ศรัทธา ตาลปัตรก็อาจถูกถวายด้วยศิลปะหยาบ ๆ แต่เมื่อคนมีศรัทธาในพุทธศาสนา กลายเป็นว่าศิลปะถูกส่งเสริมไปด้วย คนอยากถวายก็ต้องการงานสวย ๆ ประณีต ช่างเองก็ต้องพัฒนาฝีมือให้ถึงขั้นและถูกจริตเทียบเท่าศรัทธาที่พวกเขามี ใครเขาจะอยากให้คนซื้อของไม่ดีไปถวายพระเนอะ”

ช่างจิตรกรรมตาลปัตรรุ่นใหม่เช่นนพพลมองภาพวงการนี้ว่าค่อนข้างเฉพาะกลุ่มพอสมควร แต่ถึงเช่นนั้นก็ยังมีคนรุ่นใหม่มากมายมาเป็นลูกศิษย์ ซึ่งประกอบไปด้วยคน 2 กลุ่มใหญ่ คือคนรุ่นใหม่ที่ศรัทธาในพุทธศาสนา และคนรุ่นใหม่ที่รักในงานศิลปะแบบตาลปัตร 

“คน 2 กลุ่มนี้ไม่หายไปเลย คนที่ศรัทธาก็มาเรียนพร้อมปัญญาและตั้งใจบำรุงศาสนาด้วยงานฝีมือ ฝั่งคนที่ชอบศิลปะในสไตล์ตาลปัตร ในอนาคตเขาอยากออกแบบแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาหรืออาจเอาตาลปัตรพัดรองไปประดับในห้องรับแขก หรือเอามาใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นก็ได้ 

“สมัยก่อน พอตาลปัตรเขียนเสร็จแล้วก็ถูกส่งให้พระทันที แต่ในอนาคตอาจพัฒนาไปถึงการทำเวิร์กช็อป หรือนั่งทำตาลปัตรในงานบุญก็ได้ เหมือนอย่างในงานกฐินที่มีการมานั่งเย็บผ้าบังสุกุลร่วมกันในคืนเดียว 

“ในเชิงคุณค่าของงานศิลปะ ตาลปัตรมันกว้างมากจริง ๆ ในอนาคตอาจไม่ได้มีเทวดา ดอกไม้ หรือหินแล้วก็ได้ เพราะการตีความต่าง ๆ ในสังคมเปลี่ยนไปตามเวลา เราอาจจะได้เห็นงานตาลปัตรสไตล์ Abstact ก็ได้นะ

“อีกเสน่ห์ของมันคือเราได้เห็นชั้นเชิงของช่างไทยในทุกกระบวนการในงานตาลปัตร ตั้งแต่ช่างทำนมตาลปัตร ช่างตรึง และช่างดัดเหล็ก ช่างแกะสลักด้าม ช่างเขียนแบบ ช่างเย็บผ้าที่คอยเย็บ ตรึง เก็บขอบ เรียกว่าเกี่ยวข้องกับงานฝีมือไทยหลายแขนง

“สำหรับผม สิ่งสําคัญในการใช้ชีวิตอยู่กับการทำงานตาลปัตร คือผมได้ทำงานเพื่อศาสนาที่เราศรัทธา ผมภูมิใจที่ได้เป็นเมล็ดเล็ก ๆ ในการขับเคลื่อนวงการช่างจิตรกรรมไทยให้ยังคงอยู่ และก้าวไปได้ไกลมากยิ่งขึ้นด้วยครับ”

Writer

Avatar

กชกร ด่านกระโทก

มนุษย์แมนนวล ผู้หลงใหลในกลิ่นและสัมผัสของหนังสือ ใช้เวลาว่างไปกับการอ่านนิยาย/มังงะ สนุกไปกับการเดินทาง และชื่นชอบในการเรียนรู้โลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง