14 พฤศจิกายน 2023
2 K

เทรนด์ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันทำให้ขวดพลาสติกกลายเป็นผู้ร้ายตัวฉกาจและกำลังถูกเล่นงานอย่างหนักหน่วง แต่สำหรับ พงษ์ศักดิ์ จึงรุ่งเรืองวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จำกัด ขวดพลาสติกหรือขวด PET (Polyethylene Terephthalate) เป็นพระเอกตัวจริง

แต่กว่าจะหยิบขวด PET จากกองขยะมาสร้างเป็นวัตถุดิบที่มีมูลค่ามหาศาล และเป็นผู้นำแถวหน้าในวงการรีไซเคิลไทยได้นั้น คุณพงษ์ศักดิ์ต้องใช้ทักษะพ่อค้าวิเคราะห์แนวทางตลาด ปรับเปลี่ยนการบริหารภายใน เข้าหาแหล่งเงินทุน พร้อมฉกฉวยและสร้างโอกาสให้ตัวเองหลายต่อหลายครั้งตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 20 ปีที่ผ่านมา จนมีวันนี้ที่ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป พร้อมสร้างตำนานบทใหม่ กับการตั้งเป้าเป็นบริษัทรีไซเคิลเจ้าแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

พงษ์ศักดิ์ จึงรุ่งเรืองวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จำกัด

เปลี่ยนขวด PET ให้เป็นเพชร

คุณพงษ์ศักดิ์เข้าสู่แวดวงรีไซเคิลขวด PET ในยุคที่โรงงานเส้นใยเติบโตอย่างรวดเร็ว จนความต้องการเกล็ดพลาสติกบดหรือ Flake พุ่งสูงขึ้น เพราะเป็นวัตถุดิบหลักในการทำเส้นใยสำหรับยัดตุ๊กตา หมอน หรือพรม 

“ตลาดตรงนี้ใหญ่ แต่ไม่มีวัตถุดิบ เนื่องจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว PET เป็นของใหม่ จนบางโรงงานถึงขั้นต้องตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตเกล็ดบดเอง จึงเป็นช่องทางและโอกาสของผมที่เข้าไปเป็นซัพพลายเออร์ให้โรงงานเหล่านั้น 3 – 4 โรง” เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นคนกลางที่รับซื้อขวด PET จากร้านขายของเก่าและนำไปขายให้โรงงานต่าง ๆ

แต่คุณพงษ์ศักดิ์ไม่ใช่คนเดียวที่เห็นช่องทางในตลาดดังกล่าว ยิ่งเมื่อประเทศจีนออกมาป่าวประกาศว่าจะรับซื้อขยะจากทั่วโลกแล้ว ยิ่งมีผู้เล่นกระโดดเข้ามาในวงการรีไซเคิลมากมาย ด้วยความที่คุณพงษ์ศักดิ์มีปณิธานตั้งแต่แรกเริ่มว่าจะบริหารจัดการบริษัทอย่างถูกต้องตามหลักกฎหมายและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัท ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จึงมีต้นทุนสูงจนยากที่จะไปสู้รบตบมือกับคู่แข่งรายใหม่ ๆ ในตลาดเส้นใย ซึ่งเป็นตลาดที่ให้กำไรน้อย 

“เราจึงเปลี่ยนความคิดว่า ถ้าสร้างมูลค่า Flake พลาสติกให้สูงขึ้นได้ ก็น่าจะสร้างขอบเขต (Margin) ที่สูงขึ้น แถมยังเข้าหาตลาดใหม่ ๆ ได้ และไม่จำเป็นต้องไปสู้กับร้านเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีต้นสูงอย่างเราอีกด้วย”

แนวคิดนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจที่สุดในการทำงานของคุณพงษ์ศักดิ์ตลอด 20 ปีผ่านมาก็ว่าได้ เพราะในขณะที่บริษัทอื่น ๆ ในไทยตั้งหน้าตั้งตาแพ็กขวด PET ส่งไปยังประเทศจีน โดยไม่สนใจพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าให้พลาสติกรีไซเคิล แต่คุณพงษ์ศักดิ์กลับมองเห็นช่องว่างในตลาด นำเกล็ดพลาสติกคุณภาพสูงมาพัฒนาต่อจนส่งเข้าโรงงานผลิตแพ็กเกจจิงได้สำเร็จ โดยอาศัยความหลงใหลในคุณภาพและความใสบริสุทธิ์ของเกล็ดพลาสติกเป็นตัวนำทาง 

“การจะทำแผ่นชีตพลาสติกให้ใสได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของ Flake ที่ต้องผ่านการบดล้างน้ำร้อน เราเป็นโรงงานที่บดล้างน้ำร้อนให้สะอาดถึง 2 รอบ เพื่อให้ได้เกล็ดที่ใสบริสุทธิ์ ยิ่งบริสุทธิ์เท่าไหร่ ใสเท่าไหร่ มูลค่ายิ่งสูงขึ้น เพราะลูกค้านำไปทำแผ่นชีตได้ใสขึ้น เราจึงเพิ่มเครื่องจักร วิเคราะห์ทางเคมี หาวิธีการของตัวเอง หาวิธีล้าง หาเทคโนโลยีประกอบเข้าไป” ด้วยมุมมองของคุณพงษ์ศักดิ์ที่เห็นขวด PET มีมูลค่าไม่ต่างจากอัญมณี บริษัท ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จึงเป็น First Mover และฉวยโอกาสมหาศาลในวงการบรรจุภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล

จาก Red Ocean สู่ Blue Ocean จากไทยไปอินเตอร์

ความสามารถในการแปรรูปขวด PET ให้เป็นเกล็ดพลาสติกที่ใสบริสุทธิ์ ทำให้ทุกวันนี้ ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป ส่งสินค้าให้โรงงานบรรจุภัณฑ์สูงถึง 60% และลดการพึ่งพาโรงงานเส้นใยจากเดิม 80% เหลือเพียง 20% ซึ่งถือเป็นการขยับสัดส่วนของตลาดที่สร้างกำไรให้บริษัทได้อย่างชัดเจน 

“เป็นการเปลี่ยนน่านน้ำ จากที่เราเคยต้องสู้กับรายเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีต้นทุนมาก มาเป็นน่านน้ำสีน้ำเงินที่มี Margin สูงขึ้น คุณภาพสินค้าดีขึ้น สมัยก่อนเราขาย Flake สำหรับเส้นใยมีกำไรน้อยมากแทบจะชิดทุนเพราะแข่งขันกันสูง แต่พอเราพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพสูงขึ้นจนเป็นเจ้าแรกที่พัฒนา Flake สำหรับแพ็กเกจจิงได้ เราก็ขายราคาต่อหน่วยได้สูงขึ้น ซึ่งถ้าเทียบกับการใช้เม็ดใหม่ในการผลิต โรงงานของลูกค้าจะประหยัดทุนไปได้มาก” คุณพงษ์ศักดิ์เล่าถึงเส้นทางการพาบริษัทให้เป็นอิสระจากตลาดเส้นใยที่มีกำไรต่ำ สู่การล่องเข้าน่านน้ำสีน้ำเงินเต็มตัว

ใน พ.ศ. 2560 ประเทศจีนตัดสินใจไม่ให้ขยะจากทั่วโลกเข้าประเทศโดยเด็ดขาด ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป มาถูกทางและพัฒนาล่วงหน้าคู่แข่งไปแล้วหลายก้าว เพราะในขณะที่คนอื่นเพิ่งเริ่มวิ่งวุ่นหาเครื่องจักรใหม่ แต่คุณพงษ์ศักดิ์นั้นขึ้นไปอยู่ขั้นกว่าเป็นที่เรียบร้อย 

“เรากล้าพูดได้ว่าเราเป็นผู้นำในตลาดที่ผลิต Flake บดล้างน้ำร้อน ป้อนให้โรงงานทำแพ็กเกจจิงได้ในเวลานี้”

แต่ให้หยุดอยู่แค่ในประเทศก็คงไม่ได้ เพราะกลไกในการจัดเก็บขยะของประเทศไทยที่มีชื่อว่า ‘ระบบซาเล้ง’ มีประสิทธิภาพมาแต่ไหนแต่ไร ไทยเราจึงได้เปรียบในสนามแข่งสากลอยู่ไม่น้อย 

“เมื่อคุณทิ้ง มีคนแย่งเก็บ เพราะมันมีมูลค่าทันที แต่ต่างประเทศ ภาระอยู่ที่รัฐที่ต้องหาคนมาเก็บ มาช่วยคัดแยก” 

ฉะนั้น เมื่อผนวกความสามารถการเก็บขวดของระบบซาเล้งของไทยเราเข้ากับระบบการผลิตที่มีมาตรฐานได้รับการรับรองระดับสากลของ ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป ก็ต่อสู้กับคู่แข่งนานาชาติได้ไม่ยาก 

“ต่างชาติเข้มงวดว่าต้องไม่มีแรงงานเด็ก และต้องเป็นขวดขยะจริง ๆ เป็นขวดขยะที่ออกจากบ้านผู้บริโภค อาจมาจากร้านขายของเก่าที่ซื้อมาจากรถขนขยะหรือซาเล้งอีกทีก็ได้ ซึ่งตอนนี้เรามีใบรับรองคุณภาพและมาตรฐานต่าง ๆ ที่ให้ต่างชาติตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ได้ เราจึงส่งออกไปยุโรป อเมริกาเหนือ ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย และอาเซียน รวม ๆ คิดเป็นประมาณ 25% แต่ผมตั้งเป้าเอาไว้ที่ 30% จากยอดขายทั้งหมด เพราะอนาคตน่าจะมีความต้องการมากขึ้นจากแบรนด์ใหญ่ ๆ ซึ่งมีการประกาศใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิลแล้ว เช่น Coca-Cola, Pepsi หรือ Suntory”

เทคนิคการตลาดที่น้อยแต่มาก

เมื่อเห็น ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป ทำตลาดได้ใหญ่โตทั้งในไทยและต่างประเทศ หลายคนอาจเริ่มจินตนาการภาพทีมการตลาดหลายสิบคน แต่จริง ๆ แล้ว บริษัทรีไซเคิลแถวหน้าของไทยนี้มีเซลส์แค่ 2 คนที่ทำการตลาดภายใต้ความเรียบง่ายและตรงไปตรงมาของชื่อบริษัท 

“สมมติคุณอยู่ต่างประเทศ คุณอยากซื้อรีไซเคิลในไทย คุณต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า Thai ก่อนแน่นอน แล้วถ้าคุณเจาะจงว่าพลาสติก ก็ต้องต่อด้วยคำว่า Plastic แล้วยิ่งถ้าคุณเจาะจงว่าเป็น PET ยิ่งโดนผมเข้าไปใหญ่ เพราะต้องพิมพ์ว่า Recycle มี 3 คำนี้สลับไปสลับมา ยังไงผมก็อยู่ที่ Google หน้าแรก ไม่เคยจ่ายตังค์เลย เพราะฉะนั้น ถ้าถามถึงกลยุทธ์ในการเข้าหาลูกค้า ช่องทางการติดต่อสื่อสารนั้นสำคัญที่สุด”

แต่ถ้าได้ลูกค้ามาแล้วไม่ดูแล ทำการตลาดไปก็เท่านั้น คุณพงษ์ศักดิ์จึงมีหลักคิดว่า 

“เมื่อลูกค้ามาถึงเราแล้ว เราต้องซื่อสัตย์กับเขา เพราะลูกค้าสัมผัสได้ว่าเราจริงใจหรือไม่ เราซื่อสัตย์กับเขาหรือไม่ ที่เราได้รับโอกาสจากคู่ค้าเพราะเขาเชื่อมั่นว่าเราทำสินค้าด้วยความหลงใหลในเรื่องคุณภาพอยู่เสมอ เขาเลยกล้าพัฒนาสูตรกับเรา จนเขาเลือกใช้สินค้าของเราเพื่อลดต้นทุน พอเขาไว้ใจ เราก็ทำในสิ่งที่เขาต้องการตลอดเวลา เราฟังคู่ค้าว่าต้องการแบบไหนจนตอบโจทย์คู่ค้าได้ เขาดี เราก็ดี” 

เติบโตและอยู่ยงคงกระพัน

คุณพงษ์ศักดิ์มองว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป เติบโตและยืนพื้นมาได้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยแรกคือการมีทักษะพ่อค้าที่เคลื่อนตัวไว ได้กลิ่นเร็ว และพุ่งตรงเข้าชนเป้าหมายอย่างไม่ว่อกแว่ก 

แต่ปัจจัยที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดนั้น คือการที่ผู้นำขับเคลื่อนด้วยความหลงใหล 

“เราหลงใหลในคุณภาพ นี่คือสิ่งที่ทำให้เราโต สิ่งที่ทำให้เป็นตัวตนของเรา ทุกวินาทีในเรื่องการบริหารคน เราสอนคนว่าคุณต้องรับซื้อของให้มีคุณภาพยังไง คุณต้องผลิตของออกมาให้มีคุณภาพยังไง คุณดูแลเครื่องจักรยังไงให้ทำงานอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพสูงสุด ผมมี Mission และ Vision แบบนี้ทุกวัน เพราะคุณภาพเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เราเป็นที่สนใจและเป็นที่ต้องการของตลาด”

เมื่อเติบโตแล้ว ผู้นำก็ต้องมีการปรับตัวและปรับการบริหารจัดการภายใน เพื่อให้การเติบโตนั้นเป็นไปอย่างยั่งยืน 

“ตอนนั้นเมื่อเห็นว่า Volume มันโตขึ้น แต่มีแค่ผม ป๊า ม้า 3 คน ดูแลโรงงานที่มีพนักงาน 80 – 90 คน คงไม่พอ ถ้าอยากยั่งยืน เราต้องเปลี่ยนเป็นรูปแบบบริษัท มีการบริหารจัดการภายใน มีผู้นำเป็นแผนก ๆ มีคนเก่งเข้ามาช่วยบริหาร ส่วนคนในบ้านเองก็เรียนรู้จากคนเก่ง ทำให้ธุรกิจอยู่ได้ ลูกหลานก็สบาย”

“ส่วนเรื่องภายนอก บัญชีทุกอย่างต้องถูกต้อง เวลาธนาคารเข้ามาตรวจสอบ การกู้ยืม การเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็ง่ายขึ้น ซึ่งทุกวันนี้เรามีหลายช่องทาง อย่างทาง EXIM BANK เข้ามาช่วยเหลือเราเรื่องเครื่องจักรและการสร้างคลังสินค้า” 

คุณพงษ์ศักดิ์เล่าถึงอีกหนึ่งปัจจัยความความสำเร็จ คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK ที่เน้นเติมทุนให้กับธุรกิจส่งออกและนำเข้าโดยตรง จนทำให้ บริษัท ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป มีทั้งสภาพคล่องทางการเงินและเงินลงทุนในหลากหลายกิจกรรม ทั้งซื้อเครื่องจักรเพิ่ม พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มพื้นที่คลังกักเก็บสินค้า ไปจนถึงเติมกำลังแรงงานและมันสมอง ซึ่งทุกกิจกรรมล้วนช่วยขยายกำลังการผลิตและเพิ่มคุณภาพของสินค้า จนกิจการเติบโตและเป็นผู้นำในวงการเหมือนอย่างในปัจจุบัน

แต่ในทางกลับกัน หากผู้นำไม่มีความหลงใหลในสิ่งที่ทำ ไม่ขยับตัวเพื่อปรับการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ได้ นอกจากกิจการจะไม่เติบโตแล้ว อาจถึงขั้นล้มหายตายจากจากวงการไปเลยทีเดียว เพราะรุ่นลูกรุ่นหลานไม่อยากรับช่วงกิจการต่อ ซึ่งนี่เป็นปัญหาของอุตสาหกรรมรีไซเคิลในประเทศไทยที่คุณพงษ์ศักดิ์พบเห็นมาตลอด 20 ปี 

“โรงงานรีไซเคิลบางโรงค่อย ๆ หายไปหรือลุกไม่ทัน เพราะผู้นำไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ให้คุณค่าตัวเอง แต่ถ้าเขาพัฒนาตัวเอง อย่างเช่นจัดตั้งเป็นรูปแบบบริษัทให้ชัดเจน มีระบบบริหารจัดการ หาแหล่งเงินทุนมาขยายกิจการ พอลูกเรียนจบมาไม่ว่าจากคณะใดก็ตาม เขาก็อาจมาต่อยอดเรื่องหลอมเม็ด ฉีดกะละมัง ถ้วยชาม ออกมาเป็นสินค้าได้” 

สร้างตำนานให้วงการรีไซเคิล

กฎหมายในปัจจุบันอนุญาตให้บรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิลใช้ได้ในกรณีที่ไม่ได้สัมผัสกับอาหารโดยตรงเท่านั้น ทำให้ตลาดของ ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จำกัดอยู่แค่กล่องไข่และกล่องผลไม้ ด้วยเหตุนี้คุณพงษ์ศักดิ์จึงต้องหาทางเปิดโอกาสและเปิดตลาดใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง

“เราส่งสินค้าไปที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเขาทำงานกับทาง อย. ในการวิเคราะห์และให้การยอมรับคุณภาพของเกล็ดพลาสติกของเรา ถ้าได้รับการอนุมัติ บรรจุภัณฑ์ของเราจะใส่อาหารได้โดยตรงโดยไม่ผิดกฎหมาย และจะทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตได้อีกมาก” คุณพงษ์ศักดิ์เล่าถึงการขยายตลาดในอนาคตอันใกล้

ส่วนในระยะยาวนั้น ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป มีเป้าหมายที่จะขยับไปอีกขั้น โดยการนำขวดเก่ามารีไซเคิลให้กลับมาเป็นขวดใหม่ หรือ Bottle to Bottle 

“ตอนนี้เราเป็นโรงงานที่ผลิต Flake เพื่อป้อนให้อุตสาหกรรม แต่เป้าหมายของเราคือต้องการเป่าเป็นขวดเอง แต่ก็ต้องมีเทคโนโลยีและการลงทุนค่อนข้างสูง ดังนั้นสิ่งที่เราเตรียมพร้อมในวันนี้ คือความรู้ทางด้านกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน”

เป้าหมายสูงสุดและสูงส่งของคุณพงษ์ศักดิ์นั้น คือการพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสร้างความยั่งยืน เพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสาธารณชน รวมถึงดึงดูดผู้เชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาวงการรีไซเคิลไทย 

เหนือสิ่งอื่นใดนั้น คุณพงษ์ศักดิ์มองว่าการเป็นบริษัทมหาชนจะเป็นโอกาสสร้างแม่แบบและสร้างตำนานบทใหม่ที่สำคัญ 

“ถ้าเราเป็นบริษัทรีไซเคิลแรก ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วยกิจกรรมหลักคือเอาขยะมารีไซเคิล เป็นบริษัทที่ได้รับการันตีว่า Carbon Neutral ที่มี Carbon Credit เหลือใช้จนเอาไปขายได้ แถมมีกำไรด้วย มันจะหล่อขนาดไหนถ้าได้เข้าตลาดฯ ถ้าเราไปถึงตรงนั้นได้ นอกจากจะได้เงินทุนมาสร้างอาณาจักรที่เกี่ยวกับการรีไซเคิลทั้งหมดแล้ว ยังเป็นกำลังใจและเป็นแบบอย่างให้คนอื่นด้วย” คุณพงษ์ศักดิ์เล่าถึงเป้าหมายอันสูงส่งด้วยความภาคภูมิใจ จนไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ทำไมในสายตาของเขานั้น การค้นเจอขวด PET ในกองขยะจึงเสมือนการค้นเจอของล้ำค่า ไม่ต่างจากการค้นเจอเพชรในตม

“เป็นเพชร มีมิติ มีมูลค่า มีกะรัต วิบวับ มองแล้วอยากมองอีก”

Lessons Learned

  • ความหลงใหลในสิ่งที่ทำจะพาธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน อินให้สุด และไปให้สุด
  • ผู้นำและผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์และทัศนคติที่ดีต่อธุรกิจตัวเอง เพื่อสร้างคุณค่าให้ธุรกิจจนลูกหลานอยากสืบทอด
  • อย่ากลัวการกู้ยืม การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาลงทุนในเทคโนโลยี แรงงาน และมันสมอง จะช่วยขยายกำลังผลิตและเพิ่มคุณภาพสินค้าจนธุรกิจเติบโตได้
  • ขยันหาโอกาส ถ้าหาไม่เจอ ก็สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยตัวเอง

Writer

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ชอบอ่านหนังสือก่อนนอน ออกกำลังกาย และกำลังตามหางานอดิเรกใหม่ ๆ

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์