จากเซลส์ขายยามือหนึ่งประจำบริษัทอังกฤษตรางูเมื่อหลายสิบปีก่อน ในวันนี้ วินัย วีระภุชงค์ พาบริษัทที่มีจุดเริ่มต้นจากห้องแถวเล็ก ๆ สู่อาณาจักร ‘ไทยนครพัฒนา’ ผู้ผลิตยาสามัญประจำบ้านอย่าง ซาร่า ทิฟฟี่ และแอนตาซิล จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่สองหลานสาวคนโตของตระกูล อย่าง ออม-ปภาพินท์ และ อ๋อม-ปุณณภา วีระภุชงค์ จะเปรียบเปรยอากงคนนี้ของพวกเธอเป็นดั่งซูเปอร์แมน

แต่ในวันที่หลานสาวทั้งสองต้องรับบทบาททายาทธุรกิจเข้าเต็มตัวนั้น เส้นทางบินเคียงคู่กับซูเปอร์แมนของพวกเธอกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทั้งการแข่งขันอันดุเดือดในตลาดยาและตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ ความคาดหวังจากครอบครัว สายตาที่จับจ้องจากทุกหนทุกแห่ง เส้นทางพิสูจน์ตัวเองของหลานสาวคนเก่งทั้งสองจะเป็นอย่างไร เราจะพาไปคุยกับพวกเธอกัน

ธุรกิจ : บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2522

ประเภท : ผู้ผลิตและจำหน่ายยาและเวชสำอาง

ผู้ก่อตั้ง : วินัย วีระภุชงค์

ทายาทรุ่นสอง : สุภชัย วีระภุชงค์ และพี่น้อง

ทายาทรุ่นสาม : ออม-ปภาพินท์ วีระภุชงค์, อ๋อม-ปุณณภา วีระภุชงค์, เอวา-ปวรวรรณ วีระภุชงค์ และ เอิร์น-ปัณณพร วีระภุชงค์

ไทยนครพัฒนาในสายตาของหลานสาวรุ่นสาม

“บริษัทไทยนครพัฒนาก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2522 โดย คุณวินัย วีระภุชงค์ ซึ่งก็คืออากงของพวกเรา ส่วนพวกเราเป็นรุ่นที่ 3 ตอนนี้ทั้ง 3 รุ่นทำงานด้วยกันอยู่ที่ไทยนครพัฒนา โดยมีอากงเป็นหัวเรือหลัก ทุกวันนี้อากงก็ยังทำงานอยู่แม้ว่าจะอายุ 89 ปีแล้วก็ตาม” ออม พี่สาวคนโตของตระกูลเริ่มต้นเล่าประวัติของบริษัทไทยนครพัฒนาให้เรารู้จักแบบสั้น ๆ 

เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่คุ้นหูเท่าไหร่หากเราเอ่ยชื่อไทยนครพัฒนาเฉย ๆ แต่หากเราบอกว่าเขาเป็นเจ้าของซาร่า ทิฟฟี่ แอนตาซิล และนีโอติก้า บาล์ม นั้น เชื่อว่าทุกคนคงจะต้องร้องอ๋อกันทันที แต่ใช่ว่าธุรกิจนี้จะมีดีแค่ยา 4 ตัวนี้เท่านั้น 

“เรามีเวชสำอาง คือพรีม โนบุ ที่อยู่คู่คนไทยมา 18 ปีแล้ว โดยเป็นการคิดสูตรร่วมกับ คุณยากิโนบุ ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นที่เขาเคยทำ SHISEIDO มาก่อน และเป็นเพื่อนกับอากงด้วย เลยมาทำพรีม โนบุ ด้วยกัน ซึ่งใต้ร่มนั้น นอกจากโฟมล้างหน้าสีเขียวที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันดี ยังมีสินค้าอีกหลายตัวมาก ไม่ว่าจะเป็นครีมทาหน้า All-in-One ยาแต้มสิว รวมถึงเจลลบเครื่องสำอาง” ออมเล่าถึงอีกหนึ่งความภูมิใจ

และไม่ใช่แค่ธุรกิจยา แต่ไทยนครพัฒนายังเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมด้วย

“อากงเคยทำโรงแรมมาก่อน เราคิดว่าน่าจะเป็นความชอบส่วนตัวของท่าน ในช่วงที่บริษัทยากำลังไปได้ดี ท่านเริ่มลงมือทำธุรกิจโรงแรม เนื่องจากว่าเรามักต้องรับรองและพาลูกค้าไปเที่ยว ซึ่งอากงอยากให้เขารู้สึกเหมือนมาที่บ้านของเราจึงสร้างธุรกิจโรงแรมขึ้นมา” อ๋อมเสริมถึงที่มาที่ไปของธุรกิจโรงแรมทั้ง 5 แห่งของไทยนครพัฒนา ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยอย่างในจังหวัดกระบี่และภูเก็ต และประเทศเพื่อนบ้านอย่างเสียมราฐและพนมเปญ โดยมี เอิร์น-ปัณณพร วีระภุชงค์ น้องสาวคนเล็กของพวกเธอเข้ามาช่วยดูแลกิจการอย่างใกล้ชิด ส่วน เอวา-ปวรวรรณ วีระภุชงค์ นั้น แม้จะอยู่ในวงการบันเทิงและมีบริษัทเป็นของตัวเอง แต่ก็ช่วยประชาสัมพันธ์กิจการของครอบครัวผ่านสื่อต่าง ๆ จนบริษัทเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

แม้ทุกวันนี้ไทยนครพัฒนาจะมีชื่อเสียงโด่งดังและเติบโตขึ้นมาเป็นบริษัทที่มีธุรกิจในระดับภูมิภาค แต่ความทรงจำของธุรกิจครอบครัวของออมและอ๋อมกลับแตกต่างกับที่เราคาดไว้อย่างสิ้นเชิง 

“บ้านเก่ามีชั้นล่างเป็นออฟฟิศ ส่วนเราอยู่ชั้น 7 และ 8 อยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ครอบครัว มีอากงอาม่าและพี่น้องคุณพ่อ และหลาน ๆ 12 คน เพราะฉะนั้น ทุกเช้า ทุกเที่ยง ทุกเย็น คุณพ่อและอากงจะกลับขึ้นมาทานข้าวบนบ้านระหว่างพักจากทำงาน เวลาจะออกนอกบ้านไปเรียนหนังสือ ก็ต้องลงลิฟต์ตัวเดียวกับพี่ ๆ พนักงาน จึงเป็นสิ่งที่เราเห็นมาตั้งแต่จําความได้ 29 ปีแล้วที่อ๋อมใช้ชีวิตอยู่ในตึกออฟฟิศมาตลอด อ๋อมได้เห็นว่าเขาทำงานกันเป็นยังไง มีพนักงานคนไหนบ้าง ทุกเช้าเราต้องเดินผ่านโอเปอเรเตอร์ วันหยุดเราก็จะลงมาเล่นกับพี่ ๆ ฝั่งแผนกโฆษณา แผนกกราฟิก” อ๋อมเล่าถึงภาพจำที่ติดตามาตั้งแต่สมัยเด็ก

“หรือแม้กระทั่งตอนนี้ที่เราเข้ามาทำงานแล้ว พี่ ๆ หลายคนเคยดูแลตั้งแต่เราเด็ก ๆ บางคนเห็นเรามาตั้งแต่เกิด จนเราเข้ามาตอนนี้ ก็จะเอ็นดูกันเหมือนคนในครอบครัว ไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นเจ้านาย แต่เหมือนเป็นน้องคนหนึ่ง ทุกคนจะเรียกน้องออม ไม่ได้เรียกว่าคุณออมกับคุณอ๋อม เพราะด้วยความที่เราผูกพันและสนิทกันมาตั้งแต่เด็ก คนที่บริษัทส่วนใหญ่อยู่กันมาตั้งแต่แรก ๆ เลยค่ะ อยู่มายาวนาน” ออมเสริม

เมื่อเห็นความใกล้ชิดของทั้งสองที่มีต่อธุรกิจครอบครัว ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในแผนการปลุกปั้นให้มารับช่วงกิจการครอบครัวอย่างแน่นอน – เราคิดในใจ แต่ปรากฏว่าต้องคิดผิดอีกครั้ง 

“ที่บ้านไม่ได้บังคับเลยว่าต้องเรียนเภสัชฯ นะ ออมเลยเรียนรัฐศาสตร์ที่จุฬาฯ ได้ทำตามความฝันหลายอย่างสําเร็จ ทั้งเขียนหนังสือของตัวเอง ได้เป็นครูสอนเปียโน ได้ฝึกงานที่เวิร์คพอยท์ GDH หรือ TNN รวมถึงไปทำแบรนด์เสื้อผ้าด้วย สุดท้ายพอทำครบหมดแล้วก็กลับมาทำกับที่บ้าน เพราะเรารู้สึกว่าเขาให้เรามาเยอะ ให้เรามีชีวิตที่ดี มีการศึกษาที่ดี และเราได้เห็นตัวอย่างการทำงานของอากงและคุณพ่อ เลยอยากจะเป็นแบบเขา อยากทำแบบเขา จึงตัดสินใจเข้ามาช่วย”

แต่อ๋อมนั้นกลับตรงกันข้าม เพราะเธอคิดเสมอว่า ‘ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ’ หลังจบจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ไปเรียนหลักสูตรระยะสั้นที่ต่างประเทศตามเป้าหมายทางการศึกษาแล้ว เธอก็มุ่งหน้ากลับบ้านแล้วเริ่มต้นบทบาททายาทธุรกิจรุ่นที่ 3 ทันที 

แม้อ๋อมจะไม่ได้เรียนสายตรงมาเพื่อทำงานบริษัทยา แต่เธอไม่คิดว่านั่นเป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะอันที่จริงแล้วหลานทั้ง 12 คนในตระกูลนี้ ไม่มีผู้ใดเรียนจบจากคณะเภสัชศาสตร์หรือแพทยศาสตร์แม้แต่คนเดียว เพราะผู้ใหญ่ทุกท่านในครอบครัวยังยึดมั่นกับคติที่ว่าจะให้ลูกหลานได้ร่ำเรียนในสิ่งที่สนใจและทำให้พวกเขามีความสุข 

ก้าวแรกในฐานะทายาทธุรกิจ

เมื่อทั้งสองตัดสินใจก้าวเข้าสู่อาณาจักรไทยนครพัฒนาเต็มตัว พวกเธอก็ได้รับภารกิจแรกทันที นั่นคือการออกตลาดเคียงคู่กับตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ โดยพวกเธอจะต้องเดินทางไปยังร้านขายยาทั่วประเทศไทยทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ซึ่งประโยชน์ของการออกตลาดนั้น นอกเหนือจากได้เห็นสภาพการตลาดและเห็นคู่แข่งแล้ว พวกเธอมองว่าเป็นเคล็ดลับความสำเร็จสำคัญของบริษัทเลยทีเดียว

“บริษัทเราค่อนข้างผูกพันกับลูกค้าร้านขายยามาตั้งแต่รุ่นอากง พอเราไปออกตลาดด้วยตัวเอง เราก็จะได้รับฟีดแบ็กที่ค่อนข้างจริง เขาจะกล้าบอกทั้งในสิ่งที่ดีและไม่ดี ควรปรับและไม่ควรปรับ และจะบอกความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เราทำแบบนี้มาทุกรุ่นตั้งแต่รุ่นอากง อย่างคุณพ่อก็ออกตลาดเหมือนกัน 

“คุณพ่อเล่าให้ฟังว่าเขาขี่มอเตอร์ไซค์ไปกับผู้แทนเพื่อติดสติกเกอร์ทิฟฟี่เองกับมือตามร้านขายยาเลยด้วยซ้ำค่ะ เวลาเราไปออกตลาด ลูกค้าจึงยังพูดถึงคุณพ่ออยู่ ถามว่าออมเป็นลูกของ คุณอ๊อด ใช่มั้ย แล้วเขาก็เล่าเรื่องราวที่เคยเจอกับคุณพ่อให้เราฟัง เหมือนเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ ซึ่งออมว่านี่คือสิ่งดีมาก ๆ ที่ไทยนครพัฒนาทำกับลูกค้าร้านขายยาตลอด 45 ปีที่ผ่านมา” 

นอกจากนี้ การออกตลาดยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทั้งออมและอ๋อมเชื่อว่าทำให้ไทยนครพัฒนาต่อสู้กับความท้าทายจากการแข่งขันอันร้อนแรงในตลาดยาปัจจุบันได้

“ปัจจุบันอาจมีบริษัทที่เน้นทำงานออนไลน์ หรือไม่ค่อยให้ผู้แทนเข้าตามร้านขายยา ซึ่งโทรศัพท์หรือโซเชียลมีเดียก็ดีนะคะ แต่มันทำให้ความสัมพันธ์ของลูกค้ากับบริษัทขาดหายไป ถ้าผู้แทนวิ่งเข้าร้านขายยาได้ทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ ได้พูดคุยกันอย่างต่ำ ๆ 30 นาที ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ รู้ว่าร้านนั้นขายอะไรบ้าง ครอบครัวมีกี่คน ใครเรียนอะไรบ้าง อันนั้นจะทำให้ความผูกพันของเรายังมี แล้วพอเรามีความผูกพัน ลูกค้าก็ยังจะสนับสนุนเราอยู่เสมอ บางคนอาจมองว่า ทำไมไทยนครพัฒนาไม่ทำออนไลน์ แต่เราว่าการเข้าไปร้านขายยานั่นแหละคือสิ่งสําคัญมากกว่า เมื่อเขารักเรา รักคณะผู้แทนเรา และสนิทเหมือนเป็นคนในครอบครัว เขาก็จะสนับสนุนอย่างแน่นอน” และนี่เป็นสาเหตุว่าทำไมในปัจจุบันผู้ช่วยผู้จัดการแผนกซาร่าอย่างอ๋อมจึงยังต้องออกตลาดด้วยตัวเองอยู่อย่างน้อย 5 – 6 วันต่อเดือน 

แต่นอกเหนือจากการออกตลาดแล้ว อ๋อมยังเสริมว่าอีกหนึ่งเทคนิคที่ไทยนครพัฒนาใช้รักษากลุ่มลูกค้าเก่าและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่กลุ่มลูกค้าใหม่ คือการเปิดบ้านให้ร้านยาเข้ามาเยี่ยมชมบริษัทได้อย่างเต็มที่ 

“เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับร้านขายยาว่าบริษัทเราเป็นบริษัทยาอันดับ 1 ในประเทศไทยที่สะอาด และเป็นโรงงานที่ได้รับมาตรฐาน คุณอาเดินทางไปต่างประเทศเพื่อคัดสรรเครื่องจักรประสิทธิภาพดีที่สุดเองทุกตัว รวมถึงวัตถุดิบของยา เราก็เลือกสิ่งดีที่สุดในโลกเพื่อผู้บริโภคเสมอ”

ส่วนออมในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการแผนกพรีม โนบุ นั้น ได้รับโจทย์ที่แตกต่างออกไป เพราะถ้าคุณปวดหัว คุณกินซาร่าแล้วหาย คุณก็รู้ได้ทันทีว่ายานี้เป็นยาที่ดี แต่สกินแคร์ต้องใช้เวลาพิสูจน์กว่าจะตอบได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นดีจริงหรือไม่ ไหนจะการแข่งขันที่ร้อนแรงไม่แพ้ตลาดยา ไหนจะโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ นานาที่พร้อมจะเปลี่ยนใจลูกค้าได้ทุกเมื่อ

“แต่เราก็มั่นใจในผลิตภัณฑ์นี้ เพราะเรามีฐานลูกค้าที่เป็นลูกค้าเก่ามา 18 ปี และยอดขายของโฟมเขียวก็ยังเติบโตเรื่อยมา ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ทำการตลาดมากเท่าแต่ก่อน นั่นหมายความว่าลูกค้าให้ความมั่นใจและเชื่อว่าผลิตภัณฑ์นี้ดี ยอดขายจึงเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ และตอนนี้ก็มีน้อง ๆ ที่เป็นญาติเข้ามาช่วยทำงานด้วย ซึ่งเขาก็เล็งเห็นว่าถึงเวลาที่อาจจะพัฒนาสูตรของพรีม โนบุ บางตัวหรือบางสูตร รวมถึงอยากขยายโปรดักต์ให้เพิ่มมากขึ้น และปรับให้เข้ากับผิวหน้าของคนเอเชียหรือคนไทยมากขึ้น รวมถึงทำการตลาดออนไลน์มากขึ้นด้วย ทั้งทาง YouTube Instagram TikTok Twitter” 

ความสัมพันธ์ระหว่างรุ่น

ไม่ว่าจะเป็นการทำงานระหว่างคนในหรือนอกครอบครัว แน่นอนว่าต้องมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ไม่มากก็น้อย แต่ครอบครัววีระภุชงค์ของออมและอ๋อมนั้น ตัดสินใจแยกเรื่องในบ้านออกจากการทำงานอย่างชัดเจน 

“ไม่ว่าในที่ทำงานหรือในที่ประชุม สมาชิกจะมีความขัดแย้งกันหรือเห็นต่างกัน แต่พอกลับมาบ้านปุ๊บ เราจะไม่ได้พูดถึงงาน เพื่อลดโอกาสการเกิดปัญหาในครอบครัว” คุณอ๋อมเล่า

ซึ่งแนวคิดนี้นำมาปฏิบัติได้จริง เพราะทุกคนในครอบครัวรู้อยู่แก่ใจว่าเป้าหมายสูงสุดของลูกหลานคือการเห็นไทยนครพัฒนาเจริญเติบโต 

“ถึงแม้จะเห็นต่าง แต่พอกลับบ้านก็เหมือนเดิม รักกันเหมือนเดิม ข้อดีที่สุดของบ้านเราคืออากงกล้าเปิดใจและรับฟังไอเดียเด็กรุ่นใหม่ค่อนข้างมาก ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่เป็นผู้นํา” ออมเล่าถึงอากงด้วยความภูมิใจ

เราจึงต้องถามถึงอากงของเธออีกครั้งว่า นอกจากความเป็นผู้นำที่พวกเธอสังเกตเห็นในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีคำสอนอะไรจากอากงที่เธอจำขึ้นใจอีกบ้าง

“อากงบอกว่ามือและเท้าของทุกคนต้องงอกมาได้ด้วยตัวเอง เหมือนการใช้ชีวิต เราจะต้องเติบโตได้ด้วยตัวเองเช่นกัน และอากงสอนให้คิดถึงความถูกต้อง รู้จักผิดชอบชั่วดีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำธุรกิจหรือใช้ชีวิต เขาสอนให้เราอยู่ภายใต้ศีลธรรม และที่สำคัญ เราต้องไม่ดูถูกคนอื่น นี่เป็นคําสอนที่นํามาปรับใช้ได้กับชีวิตเราตั้งแต่เด็กจนตายเลยค่ะ” อ๋อมยืนยัน

ทั้งสองจึงตกตะกอนให้เราฟังว่าการเป็นทายาทธุรกิจนั้นมีข้อดีมากมาย โดยเฉพาะการได้เรียนรู้จากผู้ก่อตั้งโดยตรง 

“เวลามีปัญหา ผู้ใหญ่จะสอนในสิ่งที่เราหาจากที่ไหนไม่ได้ เพราะเป็นประสบการณ์จริง ๆ จากเขา เขาผ่านอะไรมา ต้องเจออะไรมาบ้าง ทุกคำแนะนำเต็มไปด้วยความหวังดี นั่นทำให้พวกเราผูกพันและตั้งใจจะทำงานให้ดีที่สุดค่ะ ในสายตาออม อากงเป็นเหมือนซูเปอร์แมนที่เก่งมาก ๆ แล้วเราได้เรียนรู้จากเขา คนในครอบครัวของคุณก็เช่นกัน คุณถามพวกเขาโดยตรงได้เลย พวกเขาคือคนเก่งที่อยู่ตรงหน้าคุณ”

การทำงานกับซูเปอร์แมนนั้นก็น่าจะกดดันและต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์ตัวเองไม่ใช่น้อย ไม่ใช่แค่กับคนในครอบครัว แต่กับพนักงานทุกคนในบริษัทด้วยเช่นกัน เพราะแน่นอนว่าทุกสายตาต่างจับจ้อง และเปรียบเทียบว่าทายาทธุรกิจจะเก่งเท่าอากงหรือคุณพ่อไหม 

“เขาคาดหวังว่าเราจะต้องเก่ง หรือบางทีอากงชอบพูดว่าออมกับอ๋อมการศึกษาสูงกว่าอากงนะ ต้องเก่งกว่าอากง เพราะจริง ๆ แล้วอากงจบแค่ ป.4 แต่เขาทำทุกอย่างได้ มันก็กดดันเรานิด ๆ” ออมยอมรับตามตรงถึงสาเหตุที่ทำให้ทุกวันนี้เธอก็ยังต้องเร่งพิสูจน์ตัวเองในฐานะทายาทรุ่นสาม เพื่อแสดงให้อากงของเธอเห็นว่าในวันที่ท่านตัดสินใจหยุดทำงานแล้วนั้น เธอและน้อง ๆ จะรับช่วงกิจการมาพัฒนาต่อได้อย่างสมบูรณ์แบบ 

ไทยนครพัฒนา จากวันนั้นถึงวันนี้

ภาพชาวบ้านที่กำเงิน 15 บาทมาซื้อยาเพื่อรักษาลูก แต่กลับต้องเดินกลับบ้านมือเปล่าเพราะยาราคาแพงเกินไป เป็นสิ่งที่อากงของทั้งคุณออมและคุณอ๋อมยังจำได้ขึ้นใจ และเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ไทยนครพัฒนามีทุกวันนี้ 

“ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวสวน หรือแม้กระทั่งนักธุรกิจ ไม่ว่าชนชั้นไหน เพศใด อาชีพอะไร ก็ต้องเข้าถึงยาที่ดีได้ อากงอยากให้ทุกคนได้รับยาดีเท่ากัน จึงเป็นปณิธานในการสร้างไทยนครพัฒนาของอากงค่ะ”

ออมและอ๋อมจึงมั่นใจว่า 45 ปีที่ผ่านมานี้ ไทยนครพัฒนายังเติบโตได้อย่างมั่นคงเพราะแนวคิดที่ว่า ‘คุณธรรมนำธุรกิจ’

 “เราทำธุรกิจด้วยความจริงใจ ต้องการให้ผู้บริโภคได้กินยาดีที่สุดเทียบเท่าตัวยาออริจินัล อากงพูดตลอดว่าลูกหลานต้องกินยาที่ท่านผลิตได้ เราต้องเลือกสิ่งดีที่สุดให้ผู้บริโภคเหมือนว่าพวกเขาเป็นคนในครอบครัว ไม่ว่าอากงจะได้วัตถุดิบตัวไหนมา ก็จะเลือกสิ่งดีที่สุดให้ผู้บริโภคเสมอ ต่อให้ต้นทุนสูงแค่ไหนก็ตาม ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็มีสิทธิ์เข้าถึงยาที่ดีได้ สิ่งนั้นคือคุณธรรมที่ทำให้ธุรกิจเราเติบโต และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องไปทุก ๆ เจเนอเรชันค่ะ”

Writer

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ชอบอ่านหนังสือก่อนนอน ออกกำลังกาย และกำลังตามหางานอดิเรกใหม่ ๆ

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์