24 กุมภาพันธ์ 2024
1 K

ราชสถาน = ดินแดนแห่งราชา 

แค่อ่านชื่อ Rajasthan คงพอเดาออกว่ารัฐในอินเดียนี้เหมาะกับคนชอบเที่ยววัง ไปไหนก็เห็นวัง ป้อมปราการ วัดวาอาราม ตึกรามบ้านช่องล้วนหยดย้อยอลังการ

แรกเริ่มเดิมที เราก็ไปดูสถาปัตยกรรมเหมือนคนอื่นๆ ใน 3 เมืองหลัก ทั้งเมืองสีชมพู-จัยปูร์ (Jaipur) เมืองสีขาว-อุดัยปูร์ (Udaipur) และเมืองสีฟ้า-จอดปูร์ (Jodhpur) 

แต่สักพักวิญญาณสาวนักช้อปก็เข้าสิง ใจมันร่ำร้องอยากไปดูผ้าสวย ๆ โดยเฉพาะผ้าพิมพ์ลาย Block Print ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของราชสถาน ดังนั้น ว่างเว้นเป็นไม่ได้ ต้องขอแวบออกไปจับจ่ายเงินรูปี 

หลังจากช้อปเมามัน งานนี้เลยจะขอทิ้งลายแทงไว้ที่นี่ ตั้งแต่ร้านเก๋น่าแวะในเมืองต่าง ๆ พิพิธภัณฑ์ผ้า ร้านทำตัวปั๊มไม้ โรงงานผ้า และโรงงานกระดาษ 

ถ้าชมวังชมตึกแล้วอยากตัดเลี่ยนเมื่อไหร่ ก็แวะไปจับจ่ายได้ เดี๋ยวนี้อินเดียเป็น Cashless Society บอกเลยว่ารูดบัตรเพลิน! 

Jaipur

‘ชัยปุระ’ เป็นเมืองใหญ่ที่สุดในราชสถาน สวยจริง เริ่ดจริง และรถติดจริง ๆ โดยเฉพาะในโซนเมืองเก่า มีกำแพงล้อมฟีลเกาะรัตนโกสินทร์ ที่นี่มีครบทุกสิ่ง วัดวังงามเรืองรอง ตลาดก็มีสี่มุมเมือง ที่ช้อปปิ้งเยอะจัด ถ้ามาหลายวัน แนะนำว่าไม่ต้องรีบช้อป (เพราะเรารีบ และโดนฟันหัวแบะไปเรียบร้อย) สำรวจราคาและต่อรองเยอะ ๆ เที่ยวเล่นให้หนำใจก่อนได้เลย

มาถึง The Pink City ทุกคนมักเข้า City Palace ก่อนเป็นอันดับแรก วังสีชมพูนี้ชวนให้นึกถึงพระบรมมหาราชวังที่ปรับอาคารหอรัษฎากรพิพัฒน์มาเป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เพราะกลางคอร์ตที่นี่มีอาคารเก่าแสนสวย Mubarak Mahal ซึ่งเคยเป็นเรือนรับรองอาคันตุกะต่างชาติ ปัจจุบันปรับเปลี่ยนพื้นที่ชั้นล่างเป็น Textile Gallery จัดแสดงชุดแบบโมกุลทั้งชายหญิง ที่น่าสนใจคือชุดมหาราชาราชวงศ์โมกุล สวยงามระยิบระยับมาก น่าเสียดายที่ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ ส่วนด้านหน้าของวัง มีร้านขายเสื้อผ้าและของตกแต่งบ้านชื่อ ‘PDKF’ (Princess Diya Kumari Foundation) ขอเรียกว่า ‘โครงการหลวง’ ก็แล้วกัน สินค้าเขาเป็นผ้าพิมพ์ลายที่ไม่เหมือนเจ้าอื่น ๆ คือมีลวดลายและสีสันเฉพาะ ดูน่ารักอ่อนเยาว์และร่วมสมัย หวาน ๆ พาสเทล เหมาะกับผู้หญิงและเด็ก ๆ มีของตั้งแต่ปลอกหมอน ผ้ารองจาน ผ้าเช็ดปาก ไปจนถึงเดรส ยางมัดผม และรองเท้าเด็กทารก สนนราคาก็แพงเอาการ (เราดูราคาแล้วก็ซื้อแค่ผ้าเช็ดหน้า ตามฐานะ)

จัยปูร์นี่เป็นแหล่งซื้อของฝากหลากหลาย นอกจากผ้ายังมีทั้งเครื่องประดับ รองเท้าหนัง ถ้วยโถโอชาม ภาพวาด ลองไปตลาด Bapu Bazaar ตลาดใหญ่ที่มีของขายทุกอย่าง ลองนึกภาพพาหุรัด แต่คึกคัก เอี่ยมอ่อง และขยายสเกลขึ้นอีกหลายเท่า ถ้าเวลาช้อปน้อย มาที่นี่ทีเดียวก็ครบจบ สะดวกดี ถ้าเวลามากขึ้นหน่อย ขอชวนไป Anokhi Café ซึ่งอยู่ชั้น 2 ของ KK Square ไม่ไกลจากตลาดบาปู Anokhi เป็นแบรนด์เสื้อผ้าพิมพ์ลายร่วมสมัยโด่งดัง ก่อตั้งในยุค 70 และตั้งใจอนุรักษ์งานฝีมือดั้งเดิมในเสื้อผ้าแฟชั่น เขามีสาขาทั่วอินเดีย สาขาจัยปูร์นี้ใหญ่โตสวยงาม ของเยอะจัด แถมมีคาเฟ่สวยที่ขายอาหารสุขภาพจริงจัง มีสลัด ซุป และขนมปังต่าง ๆ อร่อยดี

ภาพ : www.anokhi.com/jaipur

อีกสถานที่สวยนอกเมืองที่นักท่องเที่ยวนิยมไปคือ Amber Fort สวยงามใหญ่โต คู่ควรกับการไปเยือนจริง ๆ แต่เราขอให้เยื้องมาคฤหาสน์ที่ห่างออกจากป้อมราว 1 กิโลเมตร เพื่อเยี่ยมชม Anokhi Museum of Hand Printing

แบรนด์แฟชั่นนี้ทุ่มเทถึงขั้นรีโนเวต ‘หเวลี’ คฤหาสน์โบราณแสนเก่าโทรมจนได้รางวัลอนุรักษ์จาก UNESCO และจัดแสดงผ้าพิมพ์ลายท้องถิ่น ทั้งพรมและเสื้อผ้าแบบต่าง ๆ ซึ่งสีสันและลวดลายบอกสถานะของผู้สวมใส่ รวมถึงงานออกแบบผ้าพิมพ์ลายโดยศิลปินร่วมสมัย

ข้อมูลที่นี่เล่าว่าอุตสาหกรรมโรงงานเข้ามาเปลี่ยนวิถีการใช้ผ้าย้อมมือ พิมพ์มือทั้งหลาย แต่ปลายยุค 60 – 70 สาว ๆ นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกเข้ามาเจอผ้าพิมพ์ลายกับกระโปรงบาน ๆ ของชาวอินเดีย ได้นำสไตล์ไปประยุกต์เผยแพร่จนกระแสแฟชั่นฮิปปี้แบ่งบานไปทั่วโลก Anokhi เองก็เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่มองเห็นทิศทาง และผลิตเสื้อผ้าพิมพ์ลายร่วมสมัยมาตั้งแต่ยุคนั้น บอกเลยว่าคอลเลกชันยุคแรกเริ่มละเอียดวิจิตร สวยมากกก

ชั้นบนของมิวเซียม มีสตาฟสาธิตวิธีแกะแม่พิมพ์ไม้ และวิธีปั๊มผ้าต่อลายอย่างชำนาญ แต่แม้จะเนี้ยบสักแค่ไหน ผ้าพิมพ์ลายของจริงจะทิ้งรอยต่อแม่พิมพ์ไว้เป็นระยะ สีสันเข้มอ่อนตามแรงกด เป็นเสน่ห์ที่ต่างจากผ้าพิมพ์เครื่องจักร 

ร้านขายของที่ระลึกที่นี่ไม่เน้นขายสินค้าแฟชั่นเหมือนสาขาในเมือง แต่มีหนังสือเกี่ยวกับผ้าพิมพ์ลาย และของใช้ ของที่ระลึกเกี่ยวกับศิลปะท้องถิ่น น่ารักดีแท้ มิวเซียมนี้มีแผนที่กระดาษ A4 ขาวแจกฟรี เป็นลายแทงหยาบ ๆ ของเมืองเล็ก ๆ ข้างจัยปูร์ เขียนว่า SANGANER เราหยิบมาอ่านแล้วก็ตัดสินใจไปตามรอยในวันรุ่งขึ้น

Sanganer

หะแรกที่นั่งรถมานอกเมือง เราก็รู้ชัดว่าที่นี่ไม่ใช่ย่านท่องเที่ยว ถ้าเปรียบจัยปูร์เป็นกรุงเทพฯ Sanganer คือลำลูกกา เป็นย่านโรงงานที่งานหลาย ๆ อย่างยังคงใช้มนุษย์ทำแทนเครื่องจักร เพราะค่าแรงที่นี่ถูก

เนื่องจากแผนที่คร่าวมาก เราใช้วิธีนั่งสามล้อแล้วถามทางมาเรื่อย ๆ จนเจอย่านแกะสลักบล็อกไม้ ช่างแต่ละร้านนั่งแกะไม้กันสด ๆ แล้วหยิบเอาบล็อกมาให้เลือกซื้อ มีทั้งบล็อกไม้และทองเหลืองหลายขนาด แน่นอนว่าราคาถูกกว่าในเมือง

ใกล้ ๆ กันเป็นย่านโรงงานผ้า แม้คนแถบนี้จะพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ แต่ว่าอัธยาศัยดี ชี้ทางให้เดินลัดเลาะมาเรื่อย ๆ เจอคุณลุงที่อนุญาตให้เราเข้าไปในหเวลีเก่า ๆ ที่มีพระพิฆเนศตรงกลางบ้าน แล้วอาสาพาทัวร์ดูทุกขั้นตอน ตั้งแต่ผสมสี พิมพ์ผ้าแต่ละสี ซักผ้า ตัดเย็บ และแพ็กลงถุง 

อีกโรงงานหนึ่งใกล้กัน ให้ลูกชายวัยรุ่นพาทัวร์กิจการ น้องบอกว่าแถวนี้ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมนัก เพราะเป็นย่านค้าส่ง บ้านน้องเป็นโรงงานขนาดกลาง ชั้นบนสุดเป็นที่ย้อมผ้า ลงมาเป็นโกดังผ้า และชั้นล่างสุดเป็นหน้าร้าน เราซื้อของร้านน้องเยอะ ทั้งผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน และผ้าเมตรไปตัดเสื้อผ้า เพราะถูกกว่าในเมืองหลายเท่า แต่ของก็ไม่หลากหลายหรือดีไซน์ล้ำ ๆ เท่าในเมือง

ร้านน้องมีชุดสามชิ้น เสื้อ Kurta กางเกง และผ้าคลุม Dupatta ย้อมครามขายด้วย แต่น้องคนขายไม่แนะนำ อย่าซื้อเลยครับ ยกเว้นพี่จะใส่หน้าหนาว ไม่งั้นผิวจะเป็นสีน้ำเงิน เอ้อ คนขายตรงไปตรงมาดีจริงจากนั้นไปปิดท้ายที่โรงงานกระดาษใหญ่โต ลองเดินดุ่มไปลองขอ Salim’s Paper ว่าขออนุญาตเข้าชมได้ไหม ปรากฏว่าเขาส่งเจ้าหน้าที่มาต้อนรับ พาทัวร์ และอธิบายอย่างดี

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง