เอ๊ะโอ… เสาเครื่องกระจายเสียงค่อยๆ โผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน พร้อมกับเสียงป่าวประกาศ
“ถึงเวลาสนุกแล้วสิๆ”
ในขณะเดียวกัน พระอาทิตย์หน้าเด็กทารกพร้อมรอยยิ้มและดวงตากลมโตก็กำลังค่อยๆ ลอยขึ้นตัดกับเส้นขอบฟ้าและเนินทุ่งหญ้าเขียว เป็นสัญญาณว่าวันใหม่ในดินแดนของเหล่า ‘เทเลทับบีส์’ (Teletubbies) ทั้ง 4 ทิงกีวิงกี, ดิปซี, ลาล่า และ โพ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ทิวทัศน์ของทุ่งหญ้าเขียวขจี เขื่อนเนินเขาสูงต่ำต่างระดับโอบรอบล้อมบ้านทรงโดมหลังคา ปกคลุมด้วยหญ้าที่ฝังตัวอยู่ในจุดศูนย์กลางของพื้นที่ และกังหันลมวิเศษบนยอดเนิน เป็นเอกลักษณ์ของฉากสุดคลาสสิกของ เทเลทับบีส์ รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนในยุค 90 ที่บอกเล่า สะท้อนค่านิยมทางสังคม และจิตวิญญาณของยุค หรือที่เรียกกันว่า ไซท์ไกสท์ (Zeitgeist) ได้เป็นอย่างดี

เทเลทับบีส์ ตามแบบต้นฉบับออกอากาศในช่วงเช้าทางช่อง BBC II ประเทศอังกฤษ ระหว่าง ค.ศ. 1997 – 2001 สร้างโดย แอนดรูว์ ดาเวนพอร์ท (Andrew Davenport) ผู้เขียนบทกว่า 365 ตอนของรายการ และ แอนน์ วูด (Anne Wood) ผู้อยู่เบื้องหลังคอนเซ็ปต์ของรายการและฉากของเทเลทับบีส์แลนด์ บ้านโดมซึ่งพลางตัวในเนินหญ้าที่ภายในซุกซ่อนไปด้วยเทคโนโลยีสุดไฮเทค
เนื้อหาของรายการ เทเลทับบีส์ เน้นส่งเสริมการเรียนรู้แบบเนียนๆ โดยให้เด็กสอนกันเอง ช่วงหนึ่งของรายการนั้นจะนำคลิปวิดีโอกิจกรรมของเหล่าเด็กๆ จากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรีดนมวัวในฟาร์ม การทำพิซซ่าในร้านอาหาร ไม่ก็ชงช็อกโกแลตร้อนในคาเฟ่ และอื่นๆ มาฉายผ่านจอทีวีบนหน้าท้องเหล่าเทเลทับบีส์ทั้งสี่
โดยเมื่อกังหันลมวิเศษเริ่มหมุน เหล่าเทเลทับบีส์จะมารวมตัวกัน เพื่อลุ้นว่าคลิปวิดีโอจะไปโผล่บนหน้าท้องของใคร ในช่วงอื่นๆ ของรายการนั้น เหล่าเทเลทับบี้บ้างก็วิ่งเล่นไปรอบๆ เต้น ร้องเพลง หัวเราะ กลิ้งไปมาบนพื้น เล่นสไลเดอร์ ทำทับบีส์คัสตาร์ด รือขนมปังปิ้ง อยู่ในเทเลทับบีส์แลนด์นั่นเอง


เทเลทับบีส์แลนด์
เทเลทับบีส์แลนด์เป็นฉากถ่ายทอดขอบเขตของดินแดนอันบริสุทธิ์ที่มีแต่ความสนุกสนาน ซึ่งทุกๆ วันนั้นเป็นฤดูร้อน อากาศดี มีพระอาทิตย์ยิ้มแย้มและสดใส เทเลทับบีส์ จาก ค.ศ. 1997 – 2001 ไม่ได้ถ่ายทำในสตูดิโอ แต่เป็นการถ่ายทำกลางแจ้ง โดยทีมงานต้องขุดหลุม ปรับพื้นที่ ก่อสร้าง เซ็ตฉากเนินเขาและบ้านโดมบนพื้นที่ของฟาร์มทุ่งนาในเมือง Wimpstone มณฑล Warwickshire ประเทศอังกฤษ
แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายสำหรับแฟนๆ ที่อยากจะไปวิ่งเล่นในดินแดนแห่งนี้สักครั้ง เพราะด้วยกระแสตอบรับที่ดีมากๆ ทำให้มีผู้คนจำนวนมากมายแอบแวะเวียนไปยังเทเลทับบีส์แลนด์ ณ ฟาร์มชนบทแห่งนี้ ที่ซึ่งไม่เคยต้องการจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จนทำให้เจ้าของที่และคนในท้องถิ่นรู้สึกอึดอัดกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและการบุกรุกพื้นที่ปศุสัตว์ของตัวเอง
12 ปีหลังจากหลังนั้น ใน ค.ศ 2013 เจ้าของที่ได้ตัดสินใจปล่อยน้ำให้ท่วมดินแดนแห่งนี้ และเปลี่ยนให้กลายบ่อเพาะเลี้ยงปลาและขายพืชน้ำแทน

เทเลทับบีส์ เป็นรายการที่สามารถจับกลิ่นอาย สาระสำคัญของสมัยนิยม และปฏิกิริยาของผู้คนรวมถึงเด็กๆ ในช่วงปลายยุค 90 ได้เป็นอย่างดี สภาพสังคมและสภาพแวดล้อมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เครื่องจักร หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติที่กำลังพัฒนา และค่อยๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของพวกเรามากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนอาจคิดว่าเทเลทับบีส์เป็นสิ่งมีชีวิตต่างดาวเข้ามาอาศัยบนโลก แต่แท้ที่จริงแล้ว แรงบันดาลใจของตัวละครและองค์ประกอบนั้น เริ่มต้นมาจากความสำเร็จในการเดินทางไปดวงจันทร์ใน ค.ศ. 1969 จนถึงความเทอะทะและท่าทางการเดินแปลกๆ ของมนุษย์ในชุดนักบินอวกาศ ที่ทำให้รู้สึกเหมือนเด็กทารกสวมผ้าอ้อม
ทิงกีวิงกี, ดิปซี, ลาล่า และ โพ เป็นเด็กทารก 3 ขวบในชุดนักบินอวกาศที่มีเสารับสัญญาณบนหัวและจอทีวีบนหน้าท้อง
ทับบีส์ทรอนิกส์ซูเปอร์โดม

สภาพแวดล้อมภายนอกของเทเลทับบีส์แลนด์ล้อมรอบไปด้วยทุ่งหญ้าเขียวขจี ต้นไม้ ทุ่งดอกไม้หลากสีสัน กระต่ายอีสเตอร์วิ่งไปมา แม้กระทั่งบ้านทรงโดมก็ยังมีหลังคาปูหญ้า เหมือนตัวบ้านนั้นฝังอยู่ในพื้นดิน และกำลังพรางตัวให้เข้าภูมิทัศน์รอบๆ เป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่อ่อนน้อม ไม่ต้องการเป็นจุดดึงสายตาหรือสร้างจุดเด่นใดๆ
ตัวบ้านประกอบด้วยประตูทางเข้าทางออก ติดตั้งอยู่ด้านหน้าและด้านหลัง หน้าต่าง 4 บานรอบตัวโดม ด้านบนโดมมีรูเชื่อมต่อกับสไลเดอร์สีชมพู ที่เทเลทับบี้ทั้งสี่ใช้ขึ้นลงในช่วงเปิดและปิดรายการ ประตูและหน้าต่างออกแบบจากรูปทรงครึ่งวงกลม เจาะช่องแพตเทิร์นรูปดอกไม้ช่วยการสร้าง ‘Ornament’ หรือ อลงกรณ์เครื่องประดับตกแต่งที่มีฟังก์ชันและความหมายให้กับตัวบ้าน
ในนัยยะหนึ่ งรูปทรงกลีบดอกไม้ทำหน้าที่เป็นช่องให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามา อีกนัยยะช่วยสร้างบุคลิกและความสนุกให้กับบ้าน พร้อมสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งปลูกสร้างกับธรรมชาติภายนอก


‘ทับบีส์ทรอนิกส์ซูเปอร์โดม’ คือชื่อที่ทางรายการตั้งให้กับบ้านหลังนี้ ซึ่งมีสถาปัตยกรรมภายในแตกต่างกับบรรยากาศภายนอกเสียเหลือเกิน
เมื่อผ่านประตูอัตโนมัติเข้าด้านใน เราจะพบกับกลิ่นอายสถาปัตยกรรมยุคโพสต์โมเดิร์น (Post- modern) ว่าด้วยการปลดแอกจากความซ้ำซากทางรูปทรง และความจืดชืดของสถาปัตยกรรมจากยุคโมเดิร์นที่เน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ในหลายๆ ครั้ง สถาปัตยกรรมโพสต์โมเดิร์นมักถูกมองว่าเป็นการออกแบบที่เอ่อล้น การใช้สัญลักษณ์ของรูปทรงฟุ่มเฟือย ในทางกลับกัน แก่นแท้ของสถาปัตยกรรมยุคโพสโมเดิร์นคือการสร้างประสบการณ์เชิงพื้นที่ให้กับผู้ใช้งาน
ในบริบทของฉากภายในของบ้านโดมหลังนี้ ถ่ายทอดสภาพแวดล้อมของบ้านที่ผสมผสานรูปแบบพื้นที่ของยานอวกาศเข้ากับเครื่องเล่นเด็ก หลายองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมยังคงทำหน้าที่ของมัน เพียงแต่ถูกปรับแต่งรูปร่าง เพื่อสร้างธีมของความสนุกสนานมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของโดม รางสายไฟ แผงควบคุม ท่อน้ำ หลอดไฟ และไฟทางเดิน ซึ่งช่วยสร้างลายเส้นและแพตเทิร์นให้กับผนังโดยรอบของบ้าน เครื่องเล่นสไลเดอร์ถูกนำมาใช้แทนบันได เชื่อมพื้นชั้นล่างกับบนหลังคาโดม รถเข็นเด็กปรับเปลี่ยนให้เป็นเตียงนอน เครื่องเล่นสปริงเด้งดึ๋งก็นำมาใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์โต๊ะและเก้าอี้รับประทานอาหาร

ไม่เพียงเท่านั้น อิทธิพลของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอันเป็นผลพวงมาจากยุคโมเดิร์น ทั้งตู้เย็น เตาแก๊ส เครื่องปิ้งขนมปัง โทรทัศน์ เครื่องดูดฝุ่น วิทยุ และระบบอัตโนมัติ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสมัยใหม่ จนกลายเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนคุ้นเคย
ในโลกของเทเลทับบี้ เครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านก็เป็นส่วนสำคัญของฉากที่เข้ามาสร้างความตลกขบขัน และยังช่วยขับเคลื่อนเนื้อหาของรายการ เหล่านี้ถูกออกแบบเสมือนว่ามีชีวิตผ่านการเคลื่อนไหวและเสียงเอฟเฟกต์ของเครื่องยนต์
เสาลำโพงกระจายเสียงผุดขึ้นทั่วเทเลทับบีส์แลนด์ เพื่อแจ้งเตือนเหตุการณ์สำคัญต่างๆ แผงควบคุมที่ทำงานด้วยเสียง เป็นเครื่องผลิตฟองน้ำที่เหล่าทับบี้ใช้เพื่อทำความสะอาดตัวเอง เครื่องปิ้งขนมปังและเครื่องทำคัสตาร์ดทับบี้ที่สร้างความเลอะเทอะภายในบ้านเสมอ
ตอนไหนที่อุปกรณ์เหล่านี้เกิดเสียขึ้นมา จะก่อความวุ่นวายอย่างมากให้กับ นูนู้ (Noo-noo) เครื่องดูดฝุ่นสีฟ้าที่ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติและมีดวงตาขยับไปมาได้ คอยตามเก็บกวาดเศษอาหารและสิ่งสกปรก ถือเป็นผู้รักษาความสะอาดเพียงผู้เดียวในซูเปอร์โดมแห่งนี้ โดยเสียงขณะดูดกลืนทำความสะอาดนั้น ก็ไม่ต่างกับเสียงบ่นพึมพำของพวกผู้ใหญ่เลย
ซูเปอร์โดมใน ค.ศ. 2005


เทเลทับบีส์ ต้นฉบับออนแอร์ตอนสุดท้ายใน ค.ศ. 2001 ต่อมาใน ค.ศ. 2015 มีการสร้างเวอร์ชันรีบูต โดยนำเรื่องราวของบทต้นฉบับกลับมาทำใหม่ และเนื่องด้วยสัญญาเช่าการถ่ายทำในฉากกลางแจ้งได้สิ้นสุดลง ทางทีมงานจึงต้องสร้างโมเดลจำลองขนาดใหญ่ (ขนาด 1 : 20) ของเทเลทับบีส์แลนด์ ส่วนตัวนักแสดงก็ต้องเปลี่ยนจากแสดงในสถานที่จริง เป็นฉากพื้นหลังบลูสกรีนเพื่อนำมาตัดต่อ CGI ในภายหลัง
รูปลักษณ์ภายนอกของโมเดลจำลองนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปจากฉากต้นฉบับมากเท่าไหร่ นอกจากใช้เทคนิคทำให้ตัวบ้านโดมกลมกลืนไปกับเนินเขามากขึ้น
ส่วนฉากภายในของซูเปอร์โดมถ่ายทำในสตูดิโอ การตกแต่งสถาปัตยกรรมภายในมีการปรับเปลี่ยนไปไม่น้อย ที่เห็นได้ชัดคือ การเปลี่ยนโทนสีของฉากในหลายๆ จุด เช่น โครงสร้างของโดม หน้าต่าง และประตู ที่ทาสีเหลือง พื้นบ้านปูด้วยพรมสีเขียวเหมือนทุ่งหญ้าด้านนอก เตียงและเฟอร์นิเจอร์เน้นการใช้สีส้ม นูนู้ เครื่องดูดฝุ่นก็พ่นสีใหม่จากสีฟ้าเป็นสีส้ม อุปกรณ์เครื่องใช้อื่นๆ เน้นไปทางโทนสีชมพู
นอกจากนั้น ทางรายการยังเพิ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรศัพท์เทเลทับบีส์แบบหน้าจอสัมผัสเข้าไปในฉากใหม่ เมื่อมองภาพรวมแล้ว โฉมใหม่ของฉากนี้ให้ความรู้สึกเหมือนว่าบ้านโดมแห่งนี้ได้กลายเป็นห้องของเล่นขนาดใหญ่ไปแล้ว


“หมดเวลาสนุกแล้วสิ หมดเวลาสนุกแล้วสิ”
อย่างไรก็ตาม เทเลทับบีส์ ยังครองตำแหน่งรายการอมตะในความทรงจำอันเลือนรางจากวัยเด็ก ในฐานะเขตปลอดภัยที่ไม่มีผู้ใหญ่ เป็นลานละเล่นในทุ่งหญ้าสีเขียวอันกว้างใหญ่ไกลสุดลูกหูลูกตา
ขณะที่เรารับชมรายการผ่านจอทีวี เหล่าเทเลทับบีส์ก็มองดูชีวิตของเด็กๆ ผ่านจอทีวีบนหน้าท้อง รายการทีวีสุดคลาสสิก จับสาระสำคัญของกระแสสังคมเกี่ยวกับเทคโนโลยี ชุด และยานอวกาศ และปรับเปลี่ยนเป็นฉากสร้างความตลกขบขัน การเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้า หุ่นยนต์ และเครื่องจักร ให้กลายเป็นเหมือนเพื่อนหนึ่งคนสำหรับเด็กๆ


สมดุลของสมัยนิยม
ฉากจากต้นฉบับใน ค.ศ. 1997 และฉบับรีเมกใน ค.ศ. 2015 สื่อสารผ่านสถาปัตยกรรมโพสต์โมเดิร์น การใช้สีและเครื่องประดับตกแต่งที่มีฟังก์ชัน ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องประดับตกแต่ง ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมพร้อมทั้งถ่ายทอดบรรยากาศของความสุขสนุกสนาน ซึ่งถ้าเลือกใช้สถาปัตยกรรมแบบมินิมอลหรือโมเดิร์น ก็อาจสื่อออกมาไม่ได้ดีเท่านี้
ข้อถกเถียงที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในยุคปัจจุบันคือ สถาปนิกหลายๆ คนคุ้นชินกับการออกแบบด้วยรูปทรงที่เรียบง่าย วัสดุดิบ สีขาว ความงามบริสุทธิ์ จนการใช้สีสันหลากหลาย สิ่งประดับตกแต่ง และสัญลักษณ์ กลายเป็นเครื่องมือที่ไม่นิยมใช้ในงานออกแบบอีกต่อไป เหมือนกับว่าวันหนึ่งบ้านแต่ละหลังก็เลิกติดวอลเปเปอร์ เพราะเราต้องการความงามแบบมินิมอล หรืออาจเป็นเพราะสถาปนิกไม่อยากสร้างงานสถาปัตยกรรมที่ล้นจนเกินงาม

แต่คิดดูดีๆ แล้ว การทำแบบนี้ก็ไม่ต่างจากการโยนเครื่องมือในการออกแบบหนึ่งชิ้นทิ้งไปหรือไม่ การเลือกที่ไม่ใช้สีสันหรือเครื่องประดับตกแต่งจนเคยชิน มันทำให้เราขาดทักษะในการใช้เครื่องมือ และทำให้เรากลายเป็นคนไม่รู้หนังสือ ที่อ่านความหมายของสัญลักษณ์ตามอาคารสถาปัตยกรรมไม่ได้ไปแล้วหรือเปล่า
ไม่แน่ว่า ไซท์ไกสท์ (Zeitgeist) ของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในยุคนี้ อาจจะหมายถึงการออกไปตามหาสมดุลระหว่างการออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีทั้งฟังก์ชันและจิตวิญญาณ โดยสามารถถ่ายทอดประสบการณ์เชิงพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ยังตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้อาคาร
ซึ่ง ณ ตอนนี้ เราจะขอละไว้ให้นักประวัติศาสตร์ในอนาคต มองย้อนกลับมาแล้วตีความถึงสมัยนิยมของสถาปัตยกรรมของยุคนี้กันต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
Teletubbies, 1997-2001 Ragdoll Productions Anne Wood & Andrew Davenport (Creator), 2015 – Present Darrall Macqueen Production, BBC Television Network
www.bbc.com/historyofthebbc/anniversaries/march/teletubbies-begins
www.theguardian.com/tv-and-radio/2013/jun/03/how-we-made-teletubbies
us.teletubbies.com/about-teletubbies/www.architecturaldigest.com/story/house-teletubbies-decor-set
endboard.blogspot.com/2018/09/teletubbies-archive.html/britishcinematographer.co.uk/new-teletubbies-gets-a-high-tech-cinematographic-approach/