บ้านเกิดของชนชาติอุยกูร์

ดินแดนจีนที่ไม่เหมือนอยู่ในจีน

ผืนแผ่นดินที่เต็มไปด้วยท้องทะเลทราย ฝูงอูฐ มัสยิด ชาวมุสลิม ตลาดบาซาร์ รวมถึงวัฒนธรรมที่ค่อนไปทางเอเชียกลางหรือตะวันออกกลาง จนต้องเหลียวตาดูพิกัดในแผนที่ให้แน่ชัดว่า ที่นี่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีนแน่หรือ

ทั้งหมดที่ร่ายมาเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของภาพจำซ้ำซากที่ชาวโลกมีต่อเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ หรือที่เรียกโดยย่อว่า ‘ซินเจียง’ (ชายแดนใหม่) ภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือสุดขอบประเทศจีน ซึ่งเปรียบดั่งแดนสนธยาในความรู้สึกของคนจีนส่วนมาก

ตี๋น้อย เพจของนักเรียนไทยในซินเจียงที่อยากบอกให้โลกรู้ว่าแดนอุยกูร์น่าอยู่กว่าที่คิด

หลายปีหลังนี้ ชื่อเสียงของซินเจียงมักถูกนำเสนอออกไปในเชิงลบ ทั้งเรื่องขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวอุยกูร์ชาตินิยม อันนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างคนท้องถิ่นกับทางการจีน ส่งผลให้แดนไกลลิบเช่นซินเจียงยิ่งดูไม่น่าพิสมัยในสายตาประชาชาติมากกว่าเก่า แต่แล้วมายาคติแง่ลบที่คนต่างชาติอย่างเรามองซินเจียงก็พลันเบาบางลง ทุกครั้งที่เนื้อหาจากเพจ ‘ตี๋น้อย’ ปรากฏขึ้นบนฟีดข่าวของเฟซบุ๊ก เพราะคงไม่มีใครจะเล่าเรื่องของดินแดนไหน ๆ ได้ถูกต้องแม่นยำไปกว่าคนที่อาศัยอยู่ในที่แห่งนั้นเอง

ตี๋น้อย เพจของนักเรียนไทยในซินเจียงที่อยากบอกให้โลกรู้ว่าแดนอุยกูร์น่าอยู่กว่าที่คิด

นี่คือเพจเล็ก ๆ ของ สิทธิกร ว่องวานิช คนไทยน้อยคนที่เลือกย้ายตัวเองไปใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และเป็นแอดมินที่ให้นิยามกับเราไว้อย่างนี้ หลังจากแนะนำตัวว่าเขาเองก็เป็นแฟนคลับคนหนึ่งของ The Cloud เช่นกัน

กว่าเราจะเดินทางไปไกลถึงแผ่นดินใหญ่เพื่อหาคำตอบเองคงช้าไป ทีมงานก้อนเมฆจึงเลือกข้ามน้ำข้ามทะเลผ่านทางสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อคุยกับตี๋น้อยแทน

โปรแกรม Video Conference ส่งสัญญาณเสียงติดขัดบ้างเป็นหลักฐานพิสูจน์ระยะทาง แต่ภาพรอยยิ้มตาขีดใต้แว่นทรงกลมสีดำของ ‘ตี๋น้อย’ ชัดเจนมากบนหน้าจอของเรา

หนีห่าว – ไม่ ยักชิ – ใช่

“ตอนแรกผมแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับซินเจียงเลย แต่พอได้ทุนมาเรียนที่นี่ก็เริ่มศึกษาและเข้าใจว่าวัฒนธรรมที่นี่ต่างไปจากจีนฮั่นมาก ซึ่งมันน่าสนใจ”

สิทธิกรเริ่มเล่าให้เราฟังถึงความรู้สึกแรกตอนออกเดินทางมุ่งหน้าไปซินเจียง 

ตัวเขาเองมีโอกาสไปใช้ชีวิตในประเทศจีนมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการได้ทุนไปเรียนที่กวางโจวหลังจบปริญญาตรี และทำงานที่เซี่ยงไฮ้ระยะหนึ่ง แต่หนุ่มไทยเชื้อสายจีนแซ่หวงยืนยันว่า ไม่มีที่ไหนในแดนมังกรที่เหมือนซินเจียง

ตี๋น้อย เพจของนักเรียนไทยในซินเจียงที่อยากบอกให้โลกรู้ว่าแดนอุยกูร์น่าอยู่กว่าที่คิด

มหาวิทยาลัยสือเหอจื่อ คือมหาวิทยาลัยรัฐที่ตี๋น้อยได้ทุนการศึกษามาศึกษาต่อในคณะธุรกิจระหว่างประเทศ บรรยากาศห้องเรียนที่นี่เต็มไปด้วยนักศึกษาชาวจีนฮั่นเหมือนอย่างประชากรจีนส่วนใหญ่ มีคนชาติพันธุ์อุยกูร์บ้างบางตา และเพราะเคยเรียนศิลป์ภาษาจีนมาตั้งแต่มัธยมปลาย การเรียนมหาลัยด้วยภาษาจีนทั้งหมดจึงไม่ได้เป็นปัญหาอะไรกับเขา

แต่นอกห้องเรียนที่ชาวอุยกูร์ใช้ภาษาอุยกูร์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับภาษาเตอร์กิกเป็นหลัก ความแตกต่างทางภาษาจึงสร้างความลำบากให้ตี๋น้อยอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

“เวลาเจอชนกลุ่มน้อย เราฟังภาษาเขาไม่ค่อยรู้เรื่อง บางคนพูดภาษาจีนติดสำเนียงฝรั่ง ภาษาเขาจะคล้าย ๆ กับภาษาทางเอเชียกลาง แถบคาซัคสถาน

ตี๋น้อย เพจของนักเรียนไทยในซินเจียงที่อยากบอกให้โลกรู้ว่าแดนอุยกูร์น่าอยู่กว่าที่คิด

“เทียบกันแล้ว ภาษาอุยกูร์กับภาษาจีนต่างกันสิ้นเชิงเลยนะ ยกตัวอย่างคำทักทาย หนีห่าว (Ni Hao) ภาษาอุยกูร์จะเป็น ยักชิ (Yaxshi) เขามีตัวอักษรอารบิกของเขาเอง เพื่อนชาวอาหรับจะบอกว่าเขาอ่านได้ แต่แปลไม่ออก เพราะเป็นตัวอักษรเดียวกัน แต่ใช้คนละแบบ”

 เจ้าตัวเผยกับเราว่า นอกจากภาษาอุยกูร์แล้ว อุปสรรคใหญ่ในการอยู่ที่ซินเจียงช่วงแรกของเขาอีกอย่างคืออาหาร ด้วยเพราะชนชาวอุยกูร์นับถือศาสนาอิสลาม อาหารที่นี่จึงมักประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์จำพวกเนื้อวัว เนื้อแกะ และเนื้อแพะ ภาพเมนูหัวแพะต้มจึงเด่นสะดุดตาอยู่ในโพสต์เรื่องเล่าจากซินเจียงของเพจ

ตี๋น้อย เพจของนักเรียนไทยในซินเจียงที่อยากบอกให้โลกรู้ว่าแดนอุยกูร์น่าอยู่กว่าที่คิด

“ที่กวางโจว เวลาคิดถึงบ้านเราก็ไปร้านส้มตำไทยได้ แต่ที่ซินเจียงไม่มีเลยครับ วัฒนธรรมที่ทางกวางโจวในมณฑลกวางตุ้งจะเหมือนหรือใกล้เคียงกับบ้านเรามากกว่า เพราะคนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่มาจากกวางตุ้ง แต่กับซินเจียงเรียกว่าห่างกันสุดขั้ว คนที่นี่จะเฉลิมฉลองเทศกาลของมุสลิมที่แม้แต่ตอนอยู่ที่เมืองไทยเราก็ไม่เคยเจอ” นักศึกษาชาวไทยเล่า

ประสบการณ์แปลกใหม่ที่ได้รับจากต่างแดน คงน่าเสียดายถ้าจะต้องเก็บไว้คนเดียว เพจรวมเรื่องเมืองจีนอย่าง ตี๋น้อย จึงเริ่มต้นขึ้น

อาตี๋น้อย

แอดมินเล่าให้เราฟังถึงความตั้งใจแรกที่จะใช้ชื่อ ‘ตี๋น้อย’ เพราะแค่อยากสื่อถึงความเป็นคนไทยเชื้อสายจีนให้เข้าใจง่ายที่สุด เช่นเดียวกับเนื้อหาในเพจที่อยากให้เป็นเรื่องราวอ่านง่าย ๆ สบาย ๆ ราวกับมีอาตี๋มาเล่าเรื่องให้ฟัง และย้ำอย่างติดตลกว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับธุรกิจร้านสุกี้ชื่อเดียวกันเลย

“มีคนเข้าใจผิดว่าเป็นเพจสุกี้เหมือนกันนะครับ” สิทธิกรกล่าวด้วยรอยยิ้มติดตลก

ตี๋น้อย เพจของนักเรียนไทยในซินเจียงที่อยากบอกให้โลกรู้ว่าแดนอุยกูร์น่าอยู่กว่าที่คิด
ตี๋น้อย เพจของนักเรียนไทยในซินเจียงที่อยากบอกให้โลกรู้ว่าแดนอุยกูร์น่าอยู่กว่าที่คิด

“มันเกิดจากที่จีนล็อกดาวน์ครั้งแรก หลายคนอยากให้เราเล่าประสบการณ์การกักตัว เพราะว่าตอนนั้นที่ไทยยังไม่ได้ล็อกดาวน์ พอเล่าไปเล่ามา ทุกคนบอกให้เปิดเพจไปเลย เลยเป็นที่มาของการทำเพจครับ”

เหตุการณ์ล็อกดาวน์ในจีนตอนนั้นเป็นอย่างไร แน่นอนว่าตอนนี้คนไทยอย่างเราก็อยากรู้

“รอบแรกยังโอเค แต่ล็อกดาวน์รอบสองนี่ค่อนข้างหนัก เพราะว่าห้ามออกนอกห้องตัวเอง เขาจะติดเซนเซอร์ไว้ที่ประตู ใครออกปุ๊บรู้เลย” ตี๋น้อยเล่าคอนเทนต์แรกช่วงต้นปี 2020 ที่มาของเพจเขาให้เราฟัง ขนาดแค่เพิ่งเริ่มทำเพจ ตี๋น้อยยังมีเรื่องราวน่าติดตามขนาดนี้

“จากนั้นเราเลยอยากเล่าประสบการณ์อื่น ๆ ที่มีต่อเมืองจีนและซินเจียงให้ทุกคนฟังต่อเรื่อย ๆ ลูกเพจบอกว่าเรื่องเกี่ยวกับซินเจียงมันแปลกดี แปลกกว่าเพจอื่น เป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยรู้ ไม่ได้สัมผัสจากเมืองจีน เป็นจีนในมุมมองที่แตกต่างออกไป เราเองมีการเล่าเรื่องระบบเมืองจีนด้วย คนก็เห็นว่ามันน่าสนใจ น่าจะเอาเรื่องพวกนี้ไปพัฒนาที่เมืองไทยได้”

ตี๋น้อย เพจของนักเรียนไทยในซินเจียงที่อยากบอกให้โลกรู้ว่าแดนอุยกูร์น่าอยู่กว่าที่คิด

นอกจากเป็นเพจแชร์เรื่องราวดี ๆ พร้อมรูปถ่ายสวย ๆ ตี๋น้อยยังเป็นเหมือนที่ปรึกษาทางไกลของคนไทยที่จะไปจีนด้วยเช่นกัน

“บางคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองทักมาปรึกษาในเพจว่า ลูกจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้างในการยื่นขอทุน หรือว่าต้องเตรียมอะไรยังไงเวลาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองจีน บางคนก็มีถามเรื่องท่องเที่ยวในซินเจียงด้วยเหมือนกัน สำหรับลูกเพจ เราเป็นเหมือน ‘ผู้มีความรู้เรื่องจีน’ ของเขาครับ”

ชีวิตตี๋น้อยในซินเจียง

ในฐานะคนไทยไม่กี่คนที่ได้ไปใช้ชีวิตในซินเจียง และในฐานะเจ้าของเพจที่เล่าทุกสิ่งที่เขาเจอในจีน ในบรรดาทั้งหมดนั้น เราขอให้แอดมินแนะนำสถานที่ที่เขาประทับใจที่สุดให้ฟัง

“จริง ๆ มีเยอะมาก แต่ถ้าประทับใจเลยคือเมืองคัชการ์ เป็นเมืองจีนที่ต่างออกไปจากที่เราเห็นในจีนฮั่นมาก ๆ เหมือนหลุดไปอยู่โลกเอเชียกลาง โลกอาหรับ ประมาณนั้นเลย ทั้งสถานที่ ผู้คน เป็นสไตล์อาหรับหมด ถ้าไม่เห็นตัวอักษรจีนนึกว่าอยู่คนละประเทศเลยครับ”

เราฟังตี๋น้อยนิยามเมืองคัชการ์ให้ฟังจนเพลิน พลางสลัดภาพประเทศจีนที่คุ้นเคยทิ้งไปหมด ด้วยเขตแดนของคัชการ์อยู่ติดกับชายแดนหลายประเทศ อย่างปากีสถาน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน คัชการ์จึงเป็นเมืองค้าขายที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต บนเส้นทางสายไหมที่เราคุ้นหูจากวิชาประวัติศาสตร์นี้เองที่ผสาน ศิลปะ อาหาร วัฒนธรรมของชาวมุสลิมไว้กับแผ่นดินจีนอย่างน่าอัศจรรย์

ไม่แปลกใจที่คัชการ์จะสร้างความทรงจำดี ๆ จนตี๋น้อยนำมาบอกต่อในเพจบ่อยครั้ง

ทั้งนี้ ตี๋น้อยสิทธิกรยังไม่ลืมย้ำให้เราฟังถึงสถานการณ์การก่อการร้ายในซินเจียงที่ปัจจุบันนั้นไม่เกิดขึ้นแล้ว 

“ปัจจุบันไม่มีเหตุก่อการร้ายแล้วครับ ที่นี่ค่อนข้างปลอดภัย มีแค่การตรวจตราที่ค่อนข้างแน่นหนาหน่อย แต่สำหรับคนจีนจะไม่เข้มเท่าคนต่างชาติ” หนุ่มไทยที่ปักหลักอยู่จีนนานกว่า 4 ปียืนยัน

อีกหนึ่งจุดเด่นของตี๋น้อย คือการที่เขาได้ไปอยู่อาศัย ใช้ชีวิตคลุกคลีกับชาวจีน จนสัมผัสประสบการณ์ที่มากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปมักได้สัมผัส

“โพสต์ที่เขียนเกี่ยวกับชีวิตของเราในซินเจียง หรือเล่าเรื่องที่คนจีนพูดถึงคนไทยอย่างไรบ้าง จะได้รับความสนใจมากเลย”

การผูกมิตรกับชาวจีนบนรถไฟที่เล่าว่าไปเที่ยวไทยแล้วรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน หรือการได้พูดคุยแนะนำตัวในฐานะชาวไทยกับรุ่นน้องร่วมมหาลัย จนทุกคนแย่งกันอวดเมนูอาหารไทยที่ชอบ ทั้งหมดล้วนเคยเล่าผ่านแฮชแท็ก #ชีวิตในซินเจียง ของเพจมาอย่างละเอียดยิบ

“ถ้าแนะนำตัวว่าเราเป็นคนไทย เขาจะน่ารักกับเรามากเลยนะ ชนกลุ่มน้อยเองเขาก็ดูซีรีส์ไทยเยอะเหมือนกัน เขามักจะต้อนรับเราเป็นพิเศษ อย่างซีรีส์ไทยเรื่อง แปลรักฉันด้วยใจเธอ หรือ F4 Thailand นั่นค่อนข้างดังมาก ๆ ที่จีน

“รู้จัก พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร หรือ บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล ไหม เขาทักมาแบบนี้เลย พวกชนเผ่าเขาก็รู้จักและดูกันนะครับ” ตี๋น้อยเล่าอย่างอารมณ์ดี

เราอดไม่ได้ที่จะยิ้มตามระหว่างที่ฟังตี๋น้อยเล่า คนไกลบ้านอย่างเขาคงรู้สึกหายคิดถึงไทยได้บ้าง เพราะวัฒนธรรมหลายอย่างของเราก็เผยแพร่ไปยังประเทศจีนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวอันเลื่องลือ สื่อบันเทิงที่เป็นกระแสไปไกล และชานมไทยที่ตี๋น้อยออกปากว่าได้รับความนิยมมาก ๆ ที่จีน

ก่อนจะลากัน เราขอให้แอดมินฝากอะไรถึงลูกเพจหรือผู้อ่านที่แวะเข้ามาดูบทความนี้สักหน่อย

“ผมอยากบอกว่าผู้คนที่นี่น่ารักกับผมมาก วัฒนธรรมต่าง ๆ ถึงจะแตกต่างจากคนจีนทั่วไป แต่ก็มาพร้อมธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ผมจะพยายามเขียนคอนเทนต์จากประเทศจีนมาให้อ่านกันอีกเรื่อย ๆ เท่าที่มีเวลาเลยครับ รักตี๋น้อยน้อย ๆ แต่รักนาน ๆ นะครับ”

ภาพ : ตี๋น้อย

Writers

ชนากานต์ หลีวิจิตร

ชนากานต์ หลีวิจิตร

นิสิตคณะมนุษยศาสตร์ที่รักในการเรียนภาษาแต่อยากพูดกับคนผ่านงานเขียน มีความฝันอยากมีเนื้อวัวในทุกมื้ออาหารที่กิน

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย