แม่กำปอง

ชื่อนี้หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีกับหมู่บ้านที่มากด้วยสถานที่ท่องเที่ยวและที่พักใกล้ธรรมชาติ จะหันหน้าเข้าหาหมู่บ้านหรือหันมองบรรยากาศรอบข้างก็ถือเป็นกำไรทางสายตา แม้แต่ผู้เขียนเองที่ครั้งหนึ่งเคยโดนโต๋เต๋อยู่เชียงใหม่ในสถานะนักศึกษายังต้องหาเวลาขึ้นไปพักผ่อนบนนั้นสักคืนสองคืน

‘Taryn Tara Cafe and Stay’ เป็นที่พักซึ่งอยู่ก่อนถึงหมู่บ้านแม่กำปอง 5 กิโลเมตร ติดถนนหลัก ตั้งอยู่ในแนวผาลาดชันที่เดินลงบันไดไปแล้วหย่อนเท้าลงในน้ำตกได้ ต่อจากนี้เราอยากขอยกพื้นที่ให้ ผิง-ณัฐกัลยา พิศฎางค์ เจ้าบ้านผู้จะมาบอกเล่าถึงความตั้งใจในการทำที่พัก ซึ่งเธอต้องใช้ทั้งใจรัก เวลา และความอดทนในการทำบ้านพักใกล้ชิดธรรมชาติ ให้แขกสะดวกสบายที่สุดเท่าที่ธรรมชาติจะอนุญาต 

ความน่าสนใจของ Taryn Tara Cafe and Stay คือชื่อที่พักของที่นี่บอกคาแรกเตอร์ผ่านคำ 2 คำได้อย่างครบถ้วน จากความตั้งใจอยากให้ชื่อที่พักเป็นได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

Taryn หมายถึง สายน้ำ สื่อถึงเส้นทางน้ำตกธารทอง (ทำเลที่พักอยู่ใกล้กับน้ำตก)

Tara หมายถึง แนวเทือกเขา (ในภาษาอังกฤษ) สื่อถึงภูมิศาสตร์ซึ่งอยู่บนหน้าผาลาดชัน

บ้านหลังเก่า และ บ้านพักหลังใหม่ 

เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นบ้านไม้ 1 หลังและศาลาเก่า 1 หลัง ซึ่งครอบครัวผิงเป็นเจ้าของ อายุอานามไม่แน่ชัด แต่ยาวนานแน่นอน ไม่มีคนอยู่อาศัย ทรุดโทรมตามกาลเวลา ผุผังไปตามสภาพแวดล้อมใกล้น้ำ 

เวลาล่วงเลย แผนปรับปรุงบ้านเริ่มต้นขึ้น ด้วยความคิดอยากทำบ้านพักตากอากาศให้คุณพ่อคุณแม่อยู่อาศัยหลังเกษียณ พร้อมกับความคิดที่เธออยากอ้างอิงโครงสร้างเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด ก่อนจะเสริมความแข็งแรงเข้าไปอีกทีหนึ่ง ทว่าออกแบบไปสักพัก อีกความคิดหนึ่งก็โผล่มา

“ไหน ๆ ทำแล้วก็ทำให้ดีไปเลย แต่คำว่า ทำให้ดีไปเลย ทำให้สเกลใหญ่ขึ้นกว่าที่คิด” ผิงพูดถึงอีกความคิดนั้น “อยากมีห้องนั้นห้องนี้ เอ๊ะ ถ้าเราไม่ได้อยู่ตลอด บ้านจะกลับไปโทรมเหมือนเก่าไหม”

ความคิดเริ่มตีกันในหัว ผิงเลยตัดสินใจ เธอใช้คำว่าจับพลัดจับผลู ในช่วงที่ไม่มีคนอยู่ บ้านหลังนี้จะเปิดให้จองเข้าพัก แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น สัปดาห์แรกที่เริ่มเปิดในเดือนตุลาคม ปี 2022 มีคนติดต่อเข้ามาเยอะมาก กระแสตอบรับดีเกินคาด บ้านพักของเธอจึงต้องเปิดมาเรื่อย ๆ โดยปริยาย

ทำเอาคุณพ่อกับคุณแม่ต้องถามว่า “บ้านว่างหรือยังลูก”

Cafe และ Stay

บ้านพักหลังนี้ตั้งอยู่บนโจทย์ที่ว่า เมื่อแขกเข้ามาแล้วต้องสัมผัสได้ถึงความอบอุ่น ผ่านการประดับประดาด้วยแสงไฟสีนวลที่กระทบผนังปูนสีอ่อนแล้ว Cozy สุด ๆ พร้อมด้วยระเบียงที่ทำจากไม้จริง

“ความต้องการหลัก ๆ ของเราคือการรักษาโครงสร้างเดิม เราเปลี่ยนตัวบ้านเป็นบ้านพัก ส่วนศาลาเปลี่ยนเป็นคาเฟ่ แยกกันระหว่างพื้นที่ Private กับพื้นที่ Public ส่วนระเบียงไม่เชื่อมกัน แต่มีบันไดกั้นกลางอีกที ซึ่งตัวบันไดก็อ้างอิงจากโครงเดิมเอาไว้ มีปรับลูกตั้งลูกนอนให้เดินสะดวกขึ้นค่ะ”

นั่นทำให้เธอใช้คำว่า Cafe and Stay เพื่อนิยามสถานที่นี้ ผิงบอกว่าที่นี่ไม่ใช่โรงแรมและไม่ถึงขั้นโฮมสเตย์ แต่ถ้ามีคนมาถามว่าเธอทำอะไร เธอก็พร้อมตอบด้วยความยินดีว่า “เราทำบ้านพัก”

Private และ Public

 Clyde, Eyre และ Holmes เป็นชื่อแม่น้ำในต่างประเทศ สำหรับที่นี่ มันคือชื่อห้องพักทั้ง 3 ห้อง ซึ่งตกแต่งสไตล์คล้ายกัน มีเพียงห้อง Clyde เท่านั้นที่เป็น Master Bedroom พร้อมอ่างอาบน้ำ เมื่อขึ้นบันไดไป 1 ชั้น เจอห้องนั่งเล่นที่ใช้ร่วมกันกับห้อง Eyre ซึ่งอยู่ในชั้นเดียวกัน 2 ห้องนี้ ผิงแนะนำหากมีผู้สูงอายุมาพักผ่อนด้วย ขณะที่ห้อง Holmes ต้องใช้บันไดชันนอกอาคารเพื่อลงไปยังห้องพัก

กลับกัน สำหรับบ้านไหนที่อยากไปแคมปิ้ง-กางเต็นท์ แต่กลัวจะพาครอบครัวไปลำบาก พ่อแม่เดินทางไม่ไหว สามีหรือภรรยาอาจไม่ถูกใจห้องน้ำสาธารณะ และมีลูกเล็กวัยอยู่ในความดูแล ผิงแนะนำห้อง Holmes เพราะมีระเบียงสำหรับกางเต็นท์ให้ด้วย ขอแค่แจ้งเข้ามาล่วงหน้าก่อนเท่านั้นเอง

“เราชอบไปแคมปิ้งมาก แต่สิ่งเดียวที่ไม่ชอบคือการเข้าห้องน้ำ เลยอยากให้ที่พักของเราตอบโจทย์ที่อยากใกล้ชิดธรรมชาติและคนที่อยากพักผ่อนแบบสบายจริง ๆ” ผิงบอกถึงความตั้งใจ

แอบกระซิบเล็กน้อยว่าจริง ๆ แล้วบ้านพักหลังที่ 4 ซ่อนตัวอยู่บนคาเฟ่

ที่ชอบอีกอย่าง มื้อเย็นเธอให้เลือกได้ว่าจะกินหมูกระทะหรือชาบู (ราคารวมในที่พักแล้ว) ถ้าได้กินหมูกระทะในบรรยากาศแบบนี้รับรองว่าแฮปปี้ ยิ่งกินกับคนพิเศษ ปรอทความสุขพุ่งปรี๊ดแน่นอน

คาเฟ่ที่นี่เสิร์ฟของหวานและอาหารเช้า-เย็นสำหรับแขกที่เข้าพัก ส่วนกาแฟมั่นใจเรื่องคุณภาพได้เลย เพราะคั่วเอง เมล็ดกาแฟก็สลับหมุนเวียนกันในแต่ละเดือน เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้ลูกค้า

เราถามผิงว่าที่ร้านมีเมนูแนะนำไหม เธอหัวเราะเล็กน้อย เพราะสารภาพว่าจำชื่อเมนูไม่ได้ ถึงอย่างนั้นรายละเอียดของมันก็น่าสนใจมาก ๆ เธอนำกาแฟที่คั่วเองมาผสมกับชาที่น้องสาวเป็นคนทำ แล้วโปะด้วยครีมที่พอพ่นไฟแล้วจะเพิ่มรสหวานมัน คล้ายกิน Dirty ที่ผสมชาลงไปด้วย

อีกหนึ่งไฮไลต์ คือน้ำตก อยู่บริเวณด้านล่างของที่พัก ไม่ว่าใครก็ลงไปนอนเล่นหรือนั่งแช่น้ำได้ เพราะตรงนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะ มีทางเดินกั้นระหว่างน้ำตกกับบ้านพัก ช่วงเทศกาล ผิงมักเอาเก้าอี้ไปวางให้คนที่ลงไปเล่นได้นั่งพักผ่อนหย่อนใจ แต่ขอความกรุณาไม่ขึ้นไปรบกวนแขกบนบ้านพัก

“เราอยากให้พื้นที่ของเราเป็นหมุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาชุมชนนี้ ให้เขามีกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำนอกเหนือจากการท่องเที่ยวในพื้นที่หมู่บ้านอย่างเดียว” ผิงพูดถึงความตั้งใจของเธอ

ธรรมชาติ และ การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

แน่นอนว่าพื้นที่ตรงนี้มีเสน่ห์เหลือหลาย เดินทางเข้าออกสะดวกเพราะติดถนนหลัก แถมยังโอบล้อมด้วยหมู่มวลธรรมชาติ ทั้งตัวพื้นที่ที่เป็นหน้าผาลาดชัน และต้นไม้รอบข้างที่ปลูกเพิ่มเข้าไป ไหนจะน้ำตกที่ปะทะสายตาทุกครั้งที่ออกมาชมวิวริมระเบียง ส่วนอากาศยามเช้าก็เย็นสบาย ซึ่งเกิดจากความคิดที่ไม่อยากให้บ้านพักหลังนี้เป็นสิ่งแปลกปลอมกลางธรรมชาติ ผิงอยากให้ทุกอย่างกลมกลืนไปด้วยกัน และจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อธรรมชาติอนุญาต และผิงก็โดนรับน้องตั้งแต่ก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อย 

เมื่อพื้นที่เป็นผาลาดชัน พอเข้าฤดูฝนจึงเหมือนเทศกาลหยุดยาว หยุดเป็นสัปดาห์ก็มี พอสร้างเสร็จ เหมือนวิ่งเข้าเส้นชัยแรก แต่เรื่องคาดเดาไม่ได้และควบคุมไม่ได้ก็ตามมาอีกเป็นกระบุง

“เปิดไปสักพัก เริ่มมีปัญหางานระบบที่เราไม่รู้ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดจากการใช้งานจริง เช่น น้ำไม่แรง น้ำไม่พอหรือน้ำหมดเลยก็มี เพราะต้องใช้น้ำที่ปล่อยมาจากจุดเดียว และใช้กันทั้งหมู่บ้านแม่กำปอง จริง ๆ เราคำนวณแล้วว่าติดแทงก์น้ำไว้เท่านี้พอใช้แน่ แต่พอน้ำที่ปล่อยมาไม่พอเลยต้องเพิ่มแทงก์”

อันที่จริงผิงมีที่พักอีกที่หนึ่งอยู่แถวแจ่งศรีภูมิ ชื่อว่า ‘Once in a Blue Moon Cafe & Hostel’ แต่เธอก็ต้องยอมรับว่าการทำที่พักในเมืองกับบนพื้นที่แบบนี้มันคนละเรื่องกันเลยจริง ๆ และจากกระแสตอบรับที่ดีในช่วงแรกที่เปิด ส่งผลให้บ้านพักหลังนี้ไม่มีเวลาได้หยุดซ่อมบำรุงจริง ๆ จัง ๆ เลย

ว่ากันง่าย ๆ เธอต้องเรียนรู้และปรับตัวตลอดเวลา เธอจึงทำโน้ตให้แขกรับรู้ถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เพราะต้องแลกมาด้วยเหตุการณ์ไฟดับหรือน้ำไม่ไหล ซึ่งเป็นเรื่องปกติของพื้นที่นี้

“ไฟดับลูกค้าก็วีนฉ่ำ หน้าฝนก็สู้ชีวิตหนักมาก” ผิงหัวเราะ “เราเลยต้องมีไฟสำรองอันใหญ่ที่แขกใช้ชาร์จมือถือได้ เป็นไฟฉายได้ และเป็นพัดลมได้ด้วย ตอนแรกก็ไม่มีหรอก แต่พอรู้ว่ามันไม่พอ เราก็ต้องเตรียมไว้ แล้วถ้าไฟดับ น้ำจะไม่ไหลอีก! เราต้องเตรียมน้ำเป็นแกลลอนไว้ให้แขก เพื่อที่เขาจะได้ล้างหน้า แปรงฟัน หรือล้างตัว มันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เลยต้องพยายามหาทางออกที่ดีที่สุดให้เขา”

อดทน และ คิดดี ๆ

“ต้องอดทน” เธอตอบพร้อมเสียงหัวเราะ เมื่อถามถึงสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการทำที่พัก

สำหรับผิงมันคือความท้าทาย บ้านพักหลังนี้ฝึกความอดทนในการแก้ปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ พร้อม ๆ กับฝึกความใจเย็นในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างโอนอ่อน ไม่ว่าจะกับธรรมชาติหรือผู้คน

“คิดดี ๆ” คำแนะนำสั้น ๆ จากผิง สำหรับคนที่สนใจจะทำที่พักใกล้ชิดธรรมชาติ

เธอบอกว่าคำตอบนี้มาจากมุมมองของคนทำธุรกิจครอบครัวที่ดูแลกันเอง ต้องใช้ใจรักระดับหนึ่ง มีเวลาให้พอสมควร เอาตัวเองเข้าไปรับรู้ถึงปัญหา มีปฏิสัมพันธ์กับแขกอยู่เสมอ เธอบอกให้ลองนึกว่ามีเพื่อนมานอนที่บ้าน เราในฐานะเจ้าบ้านต้องดูแลเพื่อนให้ดีที่สุด ไม่ทำให้เขาลำบากกว่าเดิม และเมื่อไหร่ที่ผลลัพธ์ออกมาดีกว่าที่คาดคิดไว้ มันจะเป็นความสุขอันล้นพ้นที่เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจ

ผิงหวังว่า ‘บ้านพัก’ หลังนี้จะดูแลแขกทุกท่านอย่างเพื่อนสนิทมิตรสหายได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ และหวังว่าธรรมชาติจะอนุญาตให้ทุกท่านใช้เวลาท่ามกลางทิวเขา-สายน้ำอย่างมีความสุขทุกย่ำรุ่งและค่ำคืน

3 Things

you should do

at Taryn Tara Cafe and Stay

01

ลองเอาเท้าจุ่มน้ำ เล่นน้ำตก และปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติรอบตัว

02

ลองกินหมูกระทะ-ชาบู และดื่มด่ำช่วงเวลาพิเศษกับคนข้างกาย

03

ลองตื่นเช้ามาสูดอากาศบริสุทธิ์และเย็นสบายริมระเบียง

Taryn Tara Cafe and Stay

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย