11 กันยายน 2018
503

‘เกม’ เป็นสิ่งที่ถูกตีตราให้เป็น ‘ผู้ร้าย’ ในสังคมมานาน ทำให้คนเล่นเกมมีภาพลักษณ์ที่ติดลบและถูกเหมารวมในทางที่ผิดอยู่เสมอ

บ้างก็บอกว่าไร้สาระ บ้างก็มองว่าเสียเวลา บางครั้งก็ถูกโทษว่าทำให้คนก้าวร้าว ด้วยชื่อเสียที่สะสมมานาน เกมจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับคนเป็นพ่อแม่ จนแทบไม่มีครอบครัวไหนที่อยากสนับสนุนให้ลูกเล่นเกม หรือเห็นว่าเกมจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาความคิดของเด็กได้

แต่กับเด็กหนุ่มวัย 18 ปีที่อยู่ตรงหน้าเราคนนี้ เขาคือคนที่เชื่อในทางเลือกของตัวเอง เขาเติบโตมากับการเล่นเกมด้วยความเข้าใจของครอบครัว แม้ว่าสังคมนอกบ้านจะมองว่าเกมคือปัญหา แต่ 1 ปีที่ผ่านมา ‘เกม’ คือสิ่งที่พลิกชีวิตของเขาไปอย่างสิ้นเชิง

เจได-วีฤทธิ์ โพธิ์พันธุ์ หรือ ‘Disdai’ คือนักกีฬา eSports จากทีม ‘The Jungle’ เขาเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยคนแรกและคนเดียวในการแข่งขันเกม ‘Hearthstone’ และเป็นนักกีฬาชุดแรกในประวัติศาสตร์การแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซีย

แม้ว่า eSports จะถูกพูดถึงมาสักพักแล้ว แต่ในปีนี้จะเรียกได้ว่าเป็นปีทองของ eSports ไทยก็คงไม่เกินไปนัก เพราะนี่คือปีแรกที่ eSports ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในเกมกีฬาที่มีการแข่งขันในระดับสากล และเป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีนักกีฬา eSports ทีมชาติ ซึ่งเข้าแข่งขันเพียง 3 เกมเท่านั้นคือ Hearthstone, ROV และ StarCraft II

เราอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับนักเล่นเกมมืออาชีพคนนี้ไปด้วยกัน และชวนทุกคนมารู้จักกับเส้นทางของนักกีฬาทีมชาติ ก่อนที่จะเข้าสู่สนามเอเชียนเกมส์

ได วีฤทธิ์ โพธิ์พันธุ์, Disdai, นักกีฬา eSports, ทีมชาติไทย, เอเชียนเกมส์ ได วีฤทธิ์ โพธิ์พันธุ์, Disdai, นักกีฬา eSports, ทีมชาติไทย, เอเชียนเกมส์

Beginner

ถ้าให้เรามองจากภายนอก เด็กหนุ่มอายุ 18 ปีที่อยู่ตรงหน้าเราตอนนี้ไม่ได้ดูแปลกหรือแตกต่างจากเด็กหนุ่มในวัยเดียวกันเท่าไรนัก ยิ่งถ้ารู้ว่าเขาชอบเล่นเกมเป็นชีวิตจิตใจก็ยิ่งไม่ต่างจากเด็กทั่วไปมากขึ้นไปอีก แต่เมื่อเราได้เห็นไดในยูนิฟอร์มของนักกีฬาทีมชาติ และได้ฟังเขาเล่าถึงเกมที่เขากำลังจะลงแข่งขันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ทำให้เราเข้าใจว่า เด็กรุ่นใหม่ที่ฝันอยากเป็นนักเล่นเกมส์มืออาชีพอย่างเขา คงชื่นชมในความเท่ของเขาไม่น้อย

ไดบอกว่า เกมคือสิ่งที่เขาคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก เขาเริ่มเล่นเกม PlayStation 2 ได้เพราะพ่อและแม่เป็นคนซื้อเกมให้ ในขณะที่หลายครอบครัวไม่อยากให้ลูกเข้าใกล้เกม เพราะมองว่าเกมคือสิ่งอันตรายสำหรับเด็ก

เขาเล่นเกมทุกแนวที่เด็กผู้ชายสนใจ และเปลี่ยนเกมไปตามยุคสมัยอยู่เรื่อยๆ แต่ความสนใจในวัยเด็กของเขาไม่ได้มีแค่หน้าจอคอมหรือจอยเกมกดในมือเท่านั้น สิ่งที่เขาสนใจและหลงใหลมากเป็นพิเศษคือ ‘การแข่งขัน’

“ผมเริ่มเล่นเกมมาตั้งแต่เด็กก็จริง แต่ก็เล่นไปอย่างนั้นไม่ได้มีเป้าหมายอะไร เล่นเพราะที่บ้านมีเกมให้เล่น แต่ตอนเข้าโรงเรียนประถมผมสนใจครอสเวิร์ดมาก ยิ่งเล่นก็ยิ่งสนุก และได้เจอคู่แข่งใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ผมก็เลยรู้ว่าตัวเองชอบการแข่งขันตั้งแต่ตอนนั้น แต่พอขึ้นมัธยมก็เลิกเล่นไปเพราะโรงเรียนใหม่ไม่มีครอสเวิร์ดให้เล่นแล้ว และช่วงที่ขึ้น ม.4 ในวิชาพละต้องเรียนปิงปอง ในช่วงนั้นผมติดใจกีฬาปิงปองมากจนต้องหาโอกาสแข่งปิงปองกับเพื่อนอยู่เรื่อย พอแพ้บ่อยเข้าผมก็สงสัยว่าทำไมคนอื่นถึงเก่งกันจังเลย ผมก็กลับไปศึกษาวิธีการตีปิงปองมากขึ้น เพราะไม่อยากแข่งแพ้อีกแล้ว พอมีการแข่งขันในโรงเรียนผมก็ลงแข่งจนได้เหรียญทองมา แม้มันจะเป็นการแข่งขันเล็กๆ ภายใน แต่ผมก็จริงจังกับการแข่งมากเพราะผมไม่ชอบความพ่ายแพ้”

ไดยอมรับว่าเขาหลงใหลกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิและการคิดวิเคราะห์มากเป็นพิเศษ เขาสามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตัวเองสนใจได้เป็นวันๆ โดยที่ไม่มองว่ามันเป็นเกมที่กดดัน ความพ่ายแพ้ในการแข่งขันแต่ละครั้งไม่ได้ทำให้ไดรู้สึกท้อแท้กับสิ่งที่เขากำลังทำ แต่มันมักจะเปลี่ยนเป็นพลังให้เขากลับมาสู้ใหม่ได้เสมอ

ทุกครั้งที่แพ้เขาจะกลับมาศึกษาวิธีการเล่นใหม่ทุกครั้ง และเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แม้ว่าการแข่งขันครั้งนั้นจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม แต่เส้นทางการเล่นครอสเวิร์ดและตีปิงปองของไดก็หยุดอยู่แค่นั้น ระหว่างรอเข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไดได้รู้จักกับเกม Hearthstone จากคำแนะนำของเพื่อน และเริ่มเล่นเกมนี้เพื่อฆ่าเวลาเท่านั้น โดยที่ไม่ได้คาดฝันว่าวันหนึ่งจะกลายเป็นเกมที่เปลี่ยนชีวิตของเขาได้

Hearthstone เป็นเกมการ์ดที่ต้องใช้ทั้งความคิดและไหวพริบในการแก้ปัญหา เป็นเกมที่เหมาะกับความสามารถและบุคลิกของไดอยู่แล้ว เพราะเขาชอบเล่นเกมประเภทเดี่ยวและชอบใช้ความคิดมากเป็นพิเศษ

ในการเล่นทุกครั้งผู้เล่นจะต้องเลือกการ์ดมาทั้งหมด 4 ชุด หรือ 4 เด็ค (ชุดละ 30 ใบ) เมื่อเริ่มเล่นเกมทุกคนจะมีปริมาณเลือดเท่ากัน ผู้เข้าแข่งขันจะต้องแข่งกันเปิดการ์ด และต้องบริหารการ์ดที่มีอยู่ให้ดี ใครลงการ์ดไม่ดีก็เสียแต้ม และถ้าใครเลือดหมดก่อนก็เป็นฝ่ายแพ้

ความท้าทายที่ทำให้ไดหลงใหลในเกมนี้คือกลยุทธ์ในการใช้การ์ดที่เราจะต้องคาดการณ์ไปล่วงหน้าว่าอีกฝ่ายจะมาไม้ไหน และเราจะแก้เกมอย่างไรเมื่อเจอปัญหา คนที่จะเป็นแชมป์ในเกมนี้ได้จึงต้องคิดว่าจะใช้ไพ่อย่างไรให้เอาชนะคู่แข่งได้

ได วีฤทธิ์ โพธิ์พันธุ์, Disdai, นักกีฬา eSports, ทีมชาติไทย, เอเชียนเกมส์ ได วีฤทธิ์ โพธิ์พันธุ์, Disdai, นักกีฬา eSports, ทีมชาติไทย, เอเชียนเกมส์

Turn Pro

เราฟังเขาอธิบายวิธีการเล่นอย่างเชี่ยวชาญ จนอดสงสัยไม่ได้ว่าเขาคลุกคลีกับเกมนี้อยู่นานแค่ไหน

ไดบอกว่า จากวันแรกที่เขาโหลดเกมนี้ลงในโทรศัพท์มือถือ จนถึงวันนี้ที่เขากำลังจะไปแข่งในนามทีมชาติไทย เขาใช้เวลาเพียง 1 ปีกับอีกประมาณ 6 เดือนเท่านั้น ที่เปลี่ยนจากมือสมัครเล่นมาเป็นมืออาชีพ

กีฬาชนิดอื่นอาจจะต้องใช้เวลาฝึกฝนจนกว่านักกีฬาจะพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ แต่เส้นทางของนักกีฬา eSports ไม่ได้ซับซ้อนหรือต้องรอให้ความสามารถสุกงอมก่อนถึงจะลงแข่งได้ ด้วยความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของเขา บวกกับธรรมชาติของเกมออนไลน์ที่สามารถฝึกฝนได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ทำให้เขาเก็บแต้มและไต่ไปถึงอันดับต้นๆ ได้ในระยะเวลาที่ไม่นานนัก

“อย่างที่บอกว่าผมเป็นคนชอบการแข่งขันมาก ตอนแรกเล่นเพราะเพื่อนชวน พอผมเริ่มเล่นไปเรื่อยๆ แล้วผมสนุกมากขึ้น ผมก็ยังติดนิสัยเดิมคือไม่อยากแพ้ ก็เลยต้องศึกษาเกมเพิ่มขึ้น พอเห็นในคอมมูนิตี้ของเกมนี้เปิดให้มีการแข่งขันเก็บแต้มเพื่อคัดเลือกไปแข่งระดับโลก ผมก็เลยเริ่มลองจากตรงนั้นดู ซึ่งความง่ายของการเล่นเกมออนไลน์ทุกวันนี้คือมันมีทัวร์นาเมนต์ทุกวัน ผมลองแข่งครั้งแรกแล้วก็ได้เป็นแชมป์ประจำวันของวันนั้นเลย ทำให้เริ่มรู้ตัวว่าผมเก่งเกมนี้พอสมควร เลยศึกษาวิธีการเล่นมากขึ้นและพยายามแข่งเก็บแต้มมาเรื่อยๆ”

การเก็บแต้มได้เยอะก็ทำให้อันดับของเขาสูงขึ้น และมีโอกาสไปแข่งขันในรายการใหญ่ในต่างประเทศได้ ซึ่งไดก็เป็นหนึ่งในคนไทยไม่กี่คนที่ได้โอกาสไปแข่งขันที่ซิดนีย์และเกาหลีใต้

แต่เกมการแข่งขันทุกเกมล้วนมีความผิดหวัง มีความพ่ายแพ้ แม้ว่าจะฝึกซ้อมไปดีแค่ไหนก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะได้ในสิ่งที่ต้องการ อาการ ‘หัวร้อน’ จึงกลายเป็นคำที่นิยามที่มองว่าคนเล่นเกมว่าเป็นคนก้าวร้าว และขาดการควบคุมอารมณ์ได้มากกว่าคนทั่วไป

“ผมก็เคยเป็นแบบนั้นนะ แต่พอรู้ตัวว่าตัวเองกำลังหัวร้อนอยู่ผมจะหยุดเล่นเลย เพราะเล่นยังไงก็แพ้ ถ้าเราดันธุรังเล่นต่อมันจะทำให้เราเครียดมากขึ้นกว่าเดิม ผมจะหยุดพักไปดูหนังฟังเพลงไปเลย บางทีเราเล่นติดกันมากๆ เล่นยังไงก็แพ้ ยิ่งช่วงไต่อันดับท้ายเดือนเพื่อเก็บแต้มผมจะแพ้บ่อยมาก ผมจะสังเกตตัวเองอยู่ตลอดว่าตอนนี้ผมทำอะไร รู้สึกยังไง และฝึกให้ตัวเองใจเย็นมากขึ้น เพราะยิ่งเล่นแบบเครียดๆ ก็ยิ่งหลุดโฟกัสได้ง่าย และแทนที่จะทำให้ไต่อันดับได้มากขึ้นกลับทำให้เสียอันดับเปล่าๆ ผมจะรอเล่นในตอนที่ผมพร้อมและใจเย็นมากกว่านี้

ได วีฤทธิ์ โพธิ์พันธุ์, Disdai, นักกีฬา eSports, ทีมชาติไทย, เอเชียนเกมส์ ได วีฤทธิ์ โพธิ์พันธุ์, Disdai, นักกีฬา eSports, ทีมชาติไทย, เอเชียนเกมส์

Pro-player

ไม่ใช่แค่ชื่อเสียงเท่านั้นที่ตามมากับความสามารถและอันดับที่สูงขึ้น การเข้าสู่วงการนักเล่นเกมอาชีพทำให้เขามีรายได้จากการแข่งขัน ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ และได้รับโอกาสดีๆ จากผู้ใหญ่ในวงการเกมที่ผลักดันให้เขาไปสู่จุดที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

กว่าไดจะเข้ามาเป็นตัวแทนทีมชาติหนึ่งเดียวของไทยได้ไม่ใช่เพราะเขาดวงดีหรือมีโชคช่วย แต่การจะเข้าสู่รอบคัดเลือกได้นั้นต้องเริ่มตั้งแต่การเก็บแต้มให้ได้มากที่สุดและเอาชนะคู่แข่งจนขึ้นสู่อันดับสูงสุดได้

ที่สำคัญ eSports เป็นกีฬาที่ไร้ข้อจำกัดในด้านอายุ ซึ่งหมายความว่าใครก็ตามที่เก่งในการเล่นเกมเดียวกันกับเราก็สามารถเป็นคู่แข่งของเราได้หมด

การคัดเลือกตัวแทนเข้าแข่งขันเกม Hearthstone ในนามทีมชาติไทยต้องแข่งกันทั้งหมด 8 คน และแบ่งการคัดเลือกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เลือกคนที่มีแต้มเยอะที่สุด 4 คนของประเทศไทยมาเป็นตัวยืน และอีก 4 คนเฟ้นหาจากการแข่งขันกันอีกหลายร้อยคน

ด้วยความสามารถแบบไร้ข้อกังขาของได เขาคือ 1 ใน 4 คนของกลุ่ม 1 ซึ่งถูกคัดเลือกมาแล้วว่ามีคะแนนสูงสุดของประเทศ

จาก 8 คน จะต้องมีเพียง 1 คนเท่านั้นที่ได้เป็นตัวแทนทีมชาติ การแข่งขันในครั้งนี้จะต้องพบกันหมดทุกคน คนที่ชนะและได้แต้มมากที่สุดเท่านั้นจึงจะได้เป็นตัวแทนของทีมชาติไปแข่งเอเชียนเกมส์

“ในแมตช์คัดตัวเราเล่นกันคนละ 2 เกม ผมได้คะแนนกลางๆ มาตลอด ผมไปแพ้ไป 1 ครั้ง การแข่งในรอบสุดท้ายผมต้องชนะเพื่อให้เสมอกับผู้เข้าแข่งขันอีกคน ซึ่งคนนี้เป็นคนที่ผมเคยแพ้มาแล้ว พอชนะในครั้งนี้ก็ทำให้ได้แต้มออกมาเสมอกัน เลยต้องแข่งเพื่อวัดกันอีก 1 รอบว่าใครจะได้เป็นตัวจริง ในรอบแรกผมแพ้เพราะเขามีกลยุทธ์ในการเลือกชุดไพ่ที่เหนือกว่า ในรอบชิงผมเลยลองเปลี่ยนชุดไพ่ของตัวเองดูเพื่อแก้เกม จึงทำให้มีโอกาสสูสีขึ้นและพลิกกลับมาชนะจนได้”

ในการแข่งขันเพื่อคัดตัวเข้าเป็นทีมชาติ ไดต้องแข่งทั้งหมด 7 ครั้ง ใน 1 วัน และกลับมาแข่งกับคนที่เขาเคยแพ้มาแล้ว 1 ครั้งในรอบชิงชนะเลิศ เขาทำให้เราเห็นว่าสติและความพยายามเท่านั้นคือสิ่งที่ทำให้เขาพลิกเอาชนะเกมในครั้งนี้ไปได้ ถ้าเขากดดันตัวเองและเครียดกับเกมมากกว่านี้ วันนี้เราอาจจะไม่ได้มีตัวแทนทีมชาติไทยคนแรกชื่อ Disdai ก็เป็นได้

ถึงแม้ว่า Hearthstone จะเป็นเกมประเภทเดี่ยว แต่ไดไม่ได้เล่นเกมนี้อย่างโดดเดี่ยว เพราะเขายังมีทีม The Jungle ที่คอยสนับสนุนและให้คำปรึกษาในวิธีการเล่นเพื่อให้เขาเล่นเกมนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีสมาคมไทยอีสปอร์ต (TESF) คอยสนับสนุนการแข่งขันด้วยอีกทาง

ดูเหมือนว่าความสามารถของไดจะไม่ได้มีขีดจำกัดอยู่แค่นี้ นอกจาการแข่งขันในนามตัวแทนทีมชาติไทยครั้งแรกแล้ว ไดยังมีเป้าหมายที่ไกลกว่าและอยากไปให้ถึงให้ได้

“ตอนนี้ผมโฟกัสกับการแข่งขันเอเชียนเกมส์อย่างเดียว แต่ก็มีเป้าหมายใหญ่ว่าผมอยากเป็นแชมป์โลกสักครั้ง ส่วนเรื่องการทำเป็นอาชีพในอนาคตผมยังไม่ได้คิด ตอนนี้ผมอยากเรียนไปก่อน ส่วนการเล่นเกมยังเป็นงานเสริมอยู่ ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมากระแส eSports ในประเทศไทยบูมขึ้นจนน่าตกใจ ถ้าการแข่งขันครั้งนี้นักกีฬาไทยทำให้ eSports มีชื่อเสียงมากขึ้น มีผู้ใหญ่มาเห็นและสนับสนุนเรามากขึ้น จนทำให้มันเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้จริงๆ พอถึงตอนนั้นแล้วผมอาจจะมาคิดอีกทีว่าอยากพัฒนาวงการเกมอย่างไรต่อ”

ตอนนี้ความฝันของไดไม่ได้ไกลเกินเอื้อมเลย เพราะปัจจุบันเขาเป็น 1 ใน 64 คนของเอเชียแปซิฟิกที่มีโอกาสแข่งขันในระดับโลก และไต่แรงก์ไปจนถึงอันดับที่ 16 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว

เมื่อถามถึงความกดดันในการแข่งขัน สีหน้าและแววตาของเขาคาดเดายากจนเราไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ ด้วยบุคลิกนิ่งๆ ของเขาที่สร้างความหนักใจให้กับคู่แข่งแบบนี้ ทำให้เราเชื่อว่าเขาช่างเหมาะกับเกมนี้จริงๆ  

“ความกดดันในการแข่งมันมีอยู่แล้วนะ เพราะนี่คือการแข่งขันครั้งแรกของทีมชาติไทย คนทั้งประเทศกำลังดูเราอยู่ มีทั้งคนที่เล่นเกมและไม่ได้เล่นเกมนี้ก็คาดหวังกับเราเพราะเราเป็นทีมชาติ ตอนนี้ผมแค่ซ้อมให้เต็มที่ก่อนแข่งและเต็มที่ในการแข่งขันก็น่าจะพอแล้ว ถ้าเปลี่ยนจากความกดดันให้เป็นแรงผลักดันในการเล่นได้ก็น่าจะดีกว่า”

ได วีฤทธิ์ โพธิ์พันธุ์, Disdai, นักกีฬา eSports, ทีมชาติไทย, เอเชียนเกมส์ ได วีฤทธิ์ โพธิ์พันธุ์, Disdai, นักกีฬา eSports, ทีมชาติไทย, เอเชียนเกมส์

Hero Power

คนสำคัญที่ผลักดันให้ไดมาถึงทีมชาติได้ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นครอบครัวที่ไม่เคยปิดกั้นความสนใจของเขา แม้ว่าสังคมภายนอกจะยังไม่เข้าใจการเล่นเกม หรือเข้าใจว่า eSports คืออะไรกันแน่ แต่ไดยังเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำและมีกำลังใจจากคนรอบข้างเสมอ

“ผมโชคดีมากที่มีครอบครัวที่เข้าใจ เขาไม่ได้บอกว่าชอบให้ผมเล่นกีฬาหรือเล่นเกมมากกว่ากัน ฉะนั้น ทุกครั้งที่ผมจริงจังกับการทำอะไร ผมก็จะทำได้ดีในจุดของผมเสมอ เพราะแบบนี้ครอบครัวเลยสนับสนุนแทบทุกอย่าง เขาไม่เคยกีดกันและปล่อยให้ผมทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เขาก็โอเคกับสิ่งที่ผมทำ”

ด้วยการสนับสนุนและความเข้าใจของคนในครอบครัวจึงทำให้เขาสนุกกับการแข่งขันได้อย่างเต็มที่ และรู้ตัวเองดีว่าการเล่นเกมของเขาในตอนนี้ต่างจากเด็กติดเกมอย่างไร

“ผมว่ามันต่างกันตรงที่คนสองคนเล่นเกมเหมือนกัน แต่ว่าคนหนึ่งหาประโยชน์จากมันได้มากกว่า คนที่เป็นนักกีฬา eSports สามารถสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้ และมีเป้าหมายในการเล่นที่ชัดเจนมากกว่า ตอนที่ผมยังเด็กมากๆ eSports มันยังไม่ดังเหมือนตอนนี้ คุณตาคุณยายก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมผมถึงหมกมุ่นกับการเล่นเกมมากขนาดนั้น เขามองว่ามันเสียเวลาชีวิตหรือเปล่าที่ผมเอาแต่นั่งเล่นเกมอยู่ในบ้าน ในขณะที่เด็กคนอื่นๆ เขาออกไปเตะฟุตบอลกัน แต่ผมก็เข้าใจนะ เพราะการเล่นเกมของผมในตอนนั้นมันไม่เกิดประโยชน์เลยจริงๆ”

สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้จากได คือเขาไม่ได้คิดเลยว่าใครจะมองสิ่งที่เขาทำอยู่อย่างไร เขามองแค่เป้าหมายของตัวเองและเดินไปตามเส้นทางที่เขาเชื่อเท่านั้น

“ผมว่าถ้ามันเป็นสิ่งที่เราชอบจริงๆ ต่อให้ใครจะคิดยังไงเราก็จะอยากทำมันต่อ ผมแค่รู้สึกว่าเราไม่ต้องสนใจคำพูดของคนอื่นเลยก็ได้ถ้าเรารู้จักตัวเองดีอยู่แล้ว เราแค่ตั้งใจทำมันให้ดี ทำสิ่งที่เรารัก เดี๋ยวผลลัพธ์มันก็ออกมาดีเอง แล้วการยอมรับจากคนรอบข้างมันจะตามมาด้วย เพราะมีแค่เราเท่านั้นที่รู้จักตัวเองดีที่สุดแล้วว่าเราชอบอะไร”

ได วีฤทธิ์ โพธิ์พันธุ์, Disdai, นักกีฬา eSports, ทีมชาติไทย, เอเชียนเกมส์


ได-วีฤทธิ์ โพธิ์พันธุ์ หรือ ‘Disdai’ คือตัวอย่างของคนที่รู้ตัวเร็วในเรื่องการเล่นเกม แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักจะมองการเล่นเกมว่าเป็นสิ่งไม่ดี แต่ AXE มองว่าทุกคนมีความเท่ในแบบของตัวเอง เข้าใจผู้ชาย และเชื่อมั่นเสมอว่า การทำตามความเชื่อของคุณ เป็นตัวของตัวเอง และเดินหน้าทำในสิ่งที่คุณชอบต่อไป นั่นแหละคือความเท่ที่สุดแล้ว โดย AXE ได้ถ่ายทอดข้อความนี้ไว้ในทุกๆ โฆษณาที่ผ่านมา รวมถึงภาพยนตร์โฆษณาชิ้นล่าสุดนี้ด้วย ที่แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร เพียงแค่คุณทำตามความฝันหรือความชอบของตัวคุณเอง นั่นแหละคือความเท่ที่สุดแล้ว

Writer

Avatar

ธนาวดี แทนเพชร

ครีเอทีฟประจำ The Cloud ชอบใช้หลายทักษะในเวลาเดียวกัน จึงพ่วงตำแหน่งนักเขียนมาด้วยเป็นบางครั้ง ออกกองตามฤดูกาล จัดทริปและเดินทางเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ