ธุรกิจ : บริษัท สุวิรุฬห์ชาไทย จำกัด
ประเภทธุรกิจ : ไร่ชาและผลิตภัณฑ์ชา
ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2541 (จดทะเบียน)
อายุ : 23 ปี
ผู้ก่อตั้ง : กำจร มานิตวิรุฬห์, สุจินแสง ณติณณ์วิรุฬห์ (ห้างหุ่นส่วนจำกัด สุวิรุฬห์ชาไทย)
ทายาทรุ่นสอง : จารุวรรณ์ (เหมียว), จิราภรณ์ (หนิง), ธีร์ดาวุด (ตี๋), จิรธารา (ผิง), ธีร์ดนัย (ไถไถ) ณติณณ์วิรุฬห์
‘ชาไทย’ ในความคิดของคุณเป็นอย่างไร
ใช่สีส้ม ๆ หวาน ๆ หรือเปล่า นั่นอาจเป็นภาพจำที่ใครหลายคนนึกถึง
แต่สำหรับ สุวิรุฬห์ ชาไทย แบรนด์ชาออร์แกนิกจากจังหวัดเชียงรายของ 5 พี่น้องทายาทรุ่นสองครอบครัวณติณณ์วิรุฬห์ พวกเขาขอนิยามชาไทยใหม่ให้ลึกซึ้งกว่านั้น
ปลูกด้วยความพิถีพิถันแบบงานคราฟต์ ไม่อัดฉีดสารเคมีเร่งการเติบโต เด็ดใบชาด้วยมือเพื่อรักษารสชาติ นำมาผสมกับสมุนไพรเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์และอุดมสรรพคุณต่อร่างกาย หอม ผ่อนคลาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ชาไทยเป็นที่จดจำแบบนั้นได้หรือเปล่า สุวิรุฬห์กำลังค้นหาคำตอบด้วยแบรนด์ของตัวเองที่สานต่อภารกิจจากรุ่นพ่อ ผู้ใฝ่ฝันว่าสักวัน ชาทั้งเชียงรายจะเป็นที่รู้จักจากความดีงาม

ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นธุรกิจที่พี่น้องทั้ง 5 คนรวมพลังกัน ตัดสินใจกลับเข้ามาทำงานธุรกิจของครอบครัว เกือบทุกคนเลือกงานนี้เป็นงานแรกของชีวิต ทำด้านที่แต่ละคนถนัด เรียนรู้และเติบโต ข้ามผ่านความเจ็บปวด ความสูญเสีย และการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน
จนวันนี้ สุวิรุฬห์มีไร่ชากว่า 1,400 ไร่ จาก 5 พื้นที่ปลูก ผลิตชากว่า 57 ชนิด ส่งออกตีตลาดมากกว่า 20 ประเทศ รวมถึงประเทศที่ปลูกชากันขึ้นชื่ออย่างจีนและญี่ปุ่น
ความสำเร็จเหล่านี้มีความหมายทางธุรกิจ แต่สำหรับ เหมียว-จารุวรรณ์ ณติณณ์วิรุฬห์ พี่สาวคนโตและกรรมการผู้จัดการ สิ่งล้ำค่าไม่แพ้กันที่สุวิรุฬห์มอบให้คือ โอกาสสร้างคุณค่าต่อส่วนรวม ตามคำสอนของพ่อและแม่
ต่อให้ไม่ได้อยู่ในวงการนี้ เราขอชวนคุณมานั่งจิบชากับสุวิรุฬห์ เรียนรู้แนวคิดจากทายาทกิจการที่ฝ่าฟันมานานเกือบ 20 ปี
ทั้งชาและเรื่องราวของเธอ อาจช่วยเติมพลังใจให้คุณพร้อมรับมือกับสารพัดปัญหา โดยไม่ละทิ้งอุดมการณ์ที่ยึดมั่น

ขี่อาชาไปส่งชา
ประวัติศาสตร์ของสุวิรุฬห์เริ่มต้นจากการอพยพของอาป้ะ (คุณปู่) น่าเจิ่นจง ชนรุ่นหลังของชาวมองโกลในเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน และอานาย (คุณย่า) หมิงโฮวจือ มาปักหลักสร้างครอบครัวที่ดอยวาวี จังหวัดเชียงราย
ดอยแห่งนี้ปกคลุมด้วยไร่ชาอัสสัมอยู่แล้ว กำจร มานิตวิรุฬห์ ลูกชาย จึงเติบโตท่ามกลางสวนชาอายุเก่าแก่แสนล้ำค่า เขาเริ่มทำงานเป็นลูกจ้าง เก็บเกี่ยววิชาตั้งแต่อายุ 12 ปี ควบคู่กับการเดินเท้าไปเรียนที่ดอยแม่สลอง ในช่วงเดียวกันกับที่ผู้คนได้รับพันธุ์ชาอู่หลงใหม่มาปลูก
ด้วยบทบาทประธานนักเรียน กำจรนำเพื่อน ๆ ปลูกและขยายพันธุ์ชา แต่เมื่อถึงวัย 19 ปี อาป้ะจากโลกนี้ไป เขาตัดสินใจลาออกมาดูแลอานายเต็มตัวด้วยการผลิตชาเอง
“สมัยก่อนการทำชาไม่ซับซ้อน มีแค่กระทะใบหนึ่งและสถานที่ไว้คั่วชา ตากแดด ได้ใบชาเท่าไรก็ใส่ลงกระสอบให้แน่นที่สุด เพราะขนส่งลำบาก ไม่มีถนนถึงเมือง ต้องขี่ม้าห้อยกระสอบมาที่แม่น้ำแล้วขึ้นเรือ ม้า 4 ตัวขนได้ 8 กระสอบ เรือหนึ่งลำใส่ได้ราว 16 กระสอบ ข้ามฟากแต่ละครั้งเหมาเรือ 2 – 3 ลำ ต่อด้วยขึ้นรถมาส่งขายให้ซาปั๊วที่เชียงใหม่
“ทำแบบนี้หนึ่งรอบก็ถือว่าเยอะแล้ว แต่ตอนนั้นพ่อทำสูงสุดวันละ 3 เที่ยว ตื่นมาละหมาดตี 4 แล้วเริ่มขนเลย ทำแบบนี้จนโต” เหมียวเล่าประสบการณ์และกำลังวังชาของคุณพ่อเมื่อครั้งเยาว์วัย
เมื่อการสัญจรต้องอาศัยเรือเป็นหลัก กำจรได้พบรักและแต่งงานกับ สุจินแสง ณติณณ์วิรุฬห์ ลูกสาวเจ้าของเรือ
พ.ศ. 2531 พอเหมียวอายุ 8 ขวบ ถนนหนทางพัฒนาขึ้น กำจรเห็นว่าการศึกษาของลูกเป็นเรื่องสำคัญ จึงตัดสินใจลงมาอาศัยในเมือง แต่ยังยึดอาชีพการปลูกชาบนดอย

ปรัชญาดูแลชา
การปลูกชาของครอบครัวณติณณ์วิรุฬห์แตกต่างจากไร่ทั่วไป แม้แต่ชาวไต้หวันสมัยก่อน ยังคิดว่าคนที่ทำแบบนี้เหมือนอยู่ในนิทาน
“ไร่เราดูไม่ค่อยสวย ในพื้นที่ 1.5 ตารางเมตร เราปลูกชาแค่ต้นเดียว เพื่อให้ต้นไม้ได้สารอาหารเต็มที่และโตได้สมบูรณ์ เราเด็ดใบชาด้วยมือ หนึ่งยอดสองใบ ไม่ใช้มีดหรือเครื่องตัด เพราะทำให้เซลล์ข้างในตื่นตัวและเกิดรสขมฝาด ทุกวันนี้ก็ยังทำแบบนี้อยู่” เหมียวพาทัวร์ไร่ พลางอธิบายจุดเด่นที่รักษาไว้ไม่แปรเปลี่ยน
สุวิรุฬห์ปลูกชาตามวิถีเกษตรอินทรีย์ แม้ปริมาณผลผลิตน้อยกว่า ใช้เวลานานกว่า แต่ทุกใบรับประกันความปลอดภัยและคุณภาพ เติม 2 หรือ 3 น้ำ รสชาติจากใบชายังเข้มข้นชัดเจน ต่างจากรสชาที่เก็บรวมใบแก่ 6 – 7 ใบต่อยอดโดยสิ้นเชิง
“ป๊าสอนให้เราดูแลต้นชาเหมือนคน” ลูกสาวเอ่ยถึงปรัชญาของพ่อ
“ถ้าคนไม่ชอบอยู่พื้นที่แออัดเกินไป ต้นไม้ก็คล้ายกัน ป๊าบอกด้วยว่าเขาดื่มชาทุกวัน ลูกเมียก็ดื่ม ลูกค้าที่มีก็กลายเป็นเพื่อน แล้วเราจะเสิร์ฟสิ่งที่เต็มไปด้วยสารเคมีให้เขาดื่มได้จริงหรอ เราเลือกได้ว่าจะให้สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดกับเขา
“เป็นคำพูดที่เรายึดมั่นในใจเสมอมา และทำให้สานต่อเรื่องเกษตรอินทรีย์ พอเจอปัญหาอะไร เราจะนึกถึงคำพูดที่ว่า ให้ดูแลชาเหมือนคน ทำให้หาทางออกเจอเสมอ”


อีกหนึ่งความต่างคือ การปลูกชาบนพื้นที่ราบ เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2537 ด้วยการแปลงสวนมะม่วง 5 ไร่ที่ครอบครัวซื้อมา ณ ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 400 เมตร
“เมื่อก่อนคนไทยไม่ค่อยปลูกชาบนที่ราบ เพราะบนดอยมีอุณหภูมิ สภาพอากาศ ระดับน้ำทะเล และปัจจัยต่าง ๆ ดูเหมาะสมกว่า แต่ชาวไต้หวันที่มาทำงานกับเราบอกให้ลองปลูกชาตรงสวนมะม่วงนี้ดู ที่ไต้หวันและเวียดนาม เหนือระดับน้ำทะเล 200 เมตรก็ปลูกชากันแล้ว ป๊าเดินทางไปดูก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ” เหมียวเล่า
แม้กำจรอธิบายให้คนรอบฟังเท่าไร คนก็หาว่าเขาบ้า แต่เขาลองปลูกต่อไปอย่างมุมานะ จนพื้นที่ขยายหลายสิบไร่
ด้วยคุณภาพจากธรรมชาติ กิจการจึงเติบโตถึงขั้นเตรียมส่งออก พ.ศ. 2541 ทางครอบครัวจดทะเบียนธุรกิจด้วยชื่อ ‘สุวิรุฬห์ ชาไทย’ จากการผสมชื่อของแม่ (สุจินแสง) กับนามสกุลของพ่อ (มานิตวิรุฬห์)
“ส่วนคำว่าชาไทย ป๊าใส่ในชื่อ เพราะนึกถึงคำพูดอากงที่บอกไว้ว่า ขอบคุณแผ่นดินนี้ที่ให้เขาอยู่ในวันที่ไม่มีเงินสักบาท ถ้าตอบแทนอะไรได้ให้ทำ เลยขอต่อท้ายด้วยคำนี้ เป็นส่วนเล็ก ๆ ที่อยากนำเสนอว่าชาแบบนี้ คนไทยทำ คนไทยปลูก”
My Cup of Tea
ในช่วงปีที่แบรนด์ถือกำเนิด เป็นช่วงเวลาที่เหมียวเข้าเรียนด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ควบคู่กับการช่วยครอบครัวทำงาน ก่อนลงสนามเต็มตัวตอนอายุ 21 ปี เป็นงานแรกและงานเดียวของชีวิต
“ตอนเด็ก เราไม่รู้ว่ากิจการจะเป็นยังไงต่อ รู้แค่ต้องกลับมาดูแลป๊าม้า และตอนนั้นป๊าค่อนข้างเป็นห่วง ไม่อยากให้ไปไกลเกินเชียงใหม่ อยู่ห่างไกลธรรมชาติ แต่เราอยากให้น้อง ๆ ออกไปเรียนรู้ คิดว่าการกลับมาทำงานก่อนจะช่วยการันตีให้สบายใจว่ารุ่นลูกไม่ทิ้งกิจการไปไหน
“เราเองก็กลัวว่าพี่น้องจะแตกแยก คุยแต่เด็กเลยว่าห้ามทะเลาะกัน โตไปจะหาทางกลับมาทำหน้าที่ที่แต่ละคนชอบ” พี่คนโตเล่าเหตุผลที่สานต่อกิจการแต่เนิ่น ๆ
เหมียวเดินสายออกบูทตั้งแต่สมัยเรียน ทั้งที่เชียงใหม่ ศูนย์สิริกิติ์ ไบเทคบางนา อิมแพคเมืองทองธานี รวมถึงต่างแดนอย่างดูไบ ไต้หวัน แคนาดา ค่อย ๆ เรียนรู้กลยุทธ์การขายจากพ่อแม่ พร้อมช่วยดูแลน้องคนที่ 4 และ 5 ที่อายุห่างกันเกิน 10 ปี จนออกบูทแทนพ่อแม่ได้เต็มตัว
ตื่น 6 โมงเช้า เริ่มทำงานตอนเคารพธงชาติ ยืนชงชาที่บูทถึง 4 โมงเย็น เคลียร์ของนับสต็อกถึง 5 ทุ่ม รับของที่สนามบินตอนเที่ยงคืน นอนตี 2 และตื่นมาทำงานใหม่ ติดกัน 10 วัน จึงเป็นทั้งความทรงจำและเรื่องปกติของชีวิตเหมียว


ขณะเดียวกัน พ่อของเหมียวปรับพื้นที่ร้านขายเสื้อผ้าในเชียงรายที่มีอยู่ให้กลายเป็นหน้าร้าน วางตู้กระจกอะลูมิเนียมเป็นเคาน์เตอร์ชงชา พร้อมจัดพื้นที่วางกล่องกระดาษไว้บรรจุชา และออฟฟิศขนาดราว 16 ตารางเมตรให้เหมียวนั่งทำงาน
“เราหัดทำทุกอย่างตั้งแต่ชงชา แพ็กของ ขับรถ ตอนขับรถก็คิดว่าตัวเองเป็นคนขับรถจริง ๆ ยกของ ชั่งแล้วส่งเองจนเสร็จ ไม่คาดหวังให้ใครช่วยหรือให้ความเป็นผู้หญิงทำร้ายเรา” ทายาทผู้สวมมาเกือบทุกบทบาทของธุรกิจเล่า
การฝึกปรือเช่นนี้ทำให้เหมียวตอบคำถามธุรกิจได้ครบถ้วน และเล่าให้เห็นภาพได้เป็นฉาก ๆ เพราะล้วนผ่านการลงมือทำเองจนช่ำชองแล้ว
“เคยมีคนถามป๊าว่าทำไมไม่ปล่อยให้เราทำงานข้างนอก มาดักดานอะไรตรงนี้ แต่เราฟังแล้วขำเลย เพราะตอนนั้นเรากำลังเรียนรู้เยอะมาก ต้องคิดทุกอย่างเองจริง ๆ
“หลายอย่างเราไม่รู้ว่าต้องทำยังไง แต่โชคดีว่าม้าชอบให้เราทำในสิ่งที่ไม่รู้ตั้งแต่เด็ก และสอนว่าทางอยู่กับปาก ไม่ต้องอาย ไม่รู้ให้ถาม” เหมียวบอกเคล็ดวิชาการเอาตัวรอด
ชาไทยสมุนไพร
“คนถามหาชาสีส้ม ๆ จากเราตลอด” เจ้าของแบรนด์ชาไทยเล่าถึงคำถามยอดฮิต ไม่แปลกที่คนมองว่า ชาเชียว ชาอู่หลง ที่ขายเป็นชาจีน แม้ว่าคนไทยปลูกเอง ขายเอง
พอคนถามบ่อยเข้า การตามหานิยามของชาไทยที่แท้จริงในแบบฉบับสุวิรุฬห์จึงเริ่มต้นขึ้น
“เราสำรวจตามห้าง เห็นร้านขายชาที่ฉีดรส ฉีดสีเยอะ ๆ ก็รู้สึกว่าแบบนี้ไม่ใช่ นึกต่อว่าประเทศเรามีสมุนไพรเยอะแยะ ทำไมไม่จับมาผสมทำอะไรสักอย่าง เราเข้าใจวิธีสกัดสารจากใบชาอยู่แล้วด้วย
“พอลองซื้อตะไคร้มาซอยมาอบ ป๊ากับม้าไม่เห็นด้วยเลย คิดว่าไม่น่ารอด ใครจะดื่ม แต่เราลองผสมหาสูตรไปเรื่อย ๆ ดื่มทุกวันอยู่ 6 เดือน เกือบแทนน้ำ เพราะไม่อยากขายสิ่งที่เราไม่ดื่มจริง จนเจอสูตรผสมชาดำที่หอม ผ่อนคลาย ลองซื้อกระป๋องมาบรรจุทำขายเลย
“ปรากฎว่าขายดี มียอดสั่งมาหมื่นกระป๋อง ทุกคนในบ้านต้องมานั่งแปะสติกเกอร์กล่องกัน ป๊าบอกว่าดีเหมือนกันเนอะ ขายอู่หลงตั้งนานไม่เห็นมีแบบนี้บ้างเลย (หัวเราะ)”
ไม่ได้เป็นเพราะโชคช่วย ส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากมุมมองของทายาทรุ่นใหม่ ที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มค้าที่เปลี่ยนไปด้วยความเข้าใจ
“เรามีเบอร์ลูกค้าเก่า ๆ จากตอนออกบูท ลองติดต่อไปคุย ปรากฏว่าพวกเขาคือรุ่นอากง อาม่า รุ่นที่ซื้อชาอู่หลงกันทีละ 20 กิโลกรัม ซึ่งเสียชีวิตกันหมดแล้ว ทำให้เรารู้ว่าต้องเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าด้วย ปรับวิธีขาย ทำให้บรรจุภัณฑ์เล็กลงและพัฒนาอะไรใหม่” เหมียวอธิบายแนวคิดการเปลี่ยนแปลง
เมื่อขายดีเทน้ำเทท่า สุวิรุฬห์สั่งตะไคร้เพิ่มมหาศาล แต่เจอปัญหาว่าคุณภาพของแต่ละล็อตไม่เหมือนกัน ยังไม่รู้ชัดว่าพันธุ์ไหนเหมาะกับผลิตภัณฑ์บ้าง
วิธีแก้ง่าย ๆ คือปลูกเองเสียเลย จะได้ศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้
เป็นเหตุให้ไร่ของสุวิรุฬห์เต็มไปด้วยสมุนไพรนานาพันธุ์ เช่น ตะไคร้ ขิง กระเจี๊ยบ ใบเตย และอีกมากมาย แน่นอนว่าปลูกด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด ยิ่งสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้พื้นที่
พอเข้าใจจริง เมื่อความต้องการของตลาดมากขึ้น สุวิรุฬห์สามารถเลือกซื้อสมุนไพรจากเกษตรกรรายย่อยที่ยึดหลักเดียวกันอย่างถูกต้อง โดยเน้นเกษตรกรที่ปลูกพืชนั้นและตามหาตลาดอยู่แล้ว แม้ต้องใช้เวลาหาคนเหล่านี้อย่างยากลำบาก
“เราไม่สั่งคนปลูกแล้วขายให้เรา เพราะอาจไม่ได้ทำด้วยใจจริง ถ้าเป็นคนทำมาก่อนและทำจริง เขาจะรักและผูกพันกับมัน ส่วนเราที่เป็นผู้ปลูกเองด้วยก็เข้าใจกัน และจะไม่ทำให้เขาขาดทุน”

Challenge is an Opportunity
แต่เรื่องไม่คาดฝันเป็นสิ่งอยู่เคียงคู่ธุรกิจเสมอ
หลังได้รับออเดอร์ที่ทำให้ต้องตระเวนหาตะไคร้เป็นร้อยตันต่อเดือน จู่ ๆ คู่ค้าก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ทิ้งให้เหมียวต้องหาทางไม่ให้สูญเงินเป็นล้าน
จากปัญหา สุวิรุฬห์พลิกสถานการณ์ด้วยการคิดค้นซีรีส์ใหม่ชุด The Garden Tea นำตะไคร้ ขิง ใบเตย รวมถึงอัญชัน กระเจี๊ยบ มาผลิตชาไร้คาเฟอีน
“ซีรีส์นี้เกิดขึ้นจากความต้องรับผิดชอบ หาทางกระจายสต็อกออกไปให้ได้เร็วที่สุด แต่กลายเป็นว่าเราได้ลูกค้าตลาดใหม่ที่รักสุขภาพ แต่อยากมีเครื่องดื่มที่ไม่ใช่น้ำเปล่า รวมถึงมีลูกค้าต่างประเทศติดต่อมาซื้อด้วย”


การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดคงเกิดขึ้นยาก หากเหมียวต้องคิดทุกอย่างลำพัง โชคดีที่แรงสนับสนุนของเหมียวคือ หนิง-จิราภรณ์ ณติณณ์วิรุฬห์ น้องรองที่อายุห่างกัน 4 ปีและเรียนจบด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ เข้ามารับหน้าที่ดูแลการผลิตและ R & D ตั้งแต่อายุ 25 ปี
“คนมักบอกว่าชาสมุนไพรของเราแปลกกว่าที่อื่นในทางที่ดี นั่นเป็นเพราะเรามีกระบวนการผลิตดี และน้องสาวเราเป็นคนดูเรื่องนี้” เหมียวยิ้ม

เสียงชาเชียงราย
ช่วงเวลาที่เหมียวบริหารงานตอนที่คุณพ่อยังดูแลอยู่ เธอซึมซับและเรียนรู้จากวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของพ่อ โดยหนึ่งในมรดกทางความคิดสำคัญคือ การทำงานเพื่อส่วนรวม
การตั้งใจผลักดัน ‘ชาเชียงราย’ ของกำจรถือเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดเรื่องนี้
เคยมีธุรกิจรายใหญ่เสนอให้สุวิรุฬห์ร่วมทุนสร้างกิจการด้วยกัน แต่กำจรเล็งเห็นว่าอาจทำให้แนวทางของธุรกิจเปลี่ยนไป จึงไม่ตอบรับ แต่กลับเสนอตัวไปช่วยปลูกชาบนพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขาและสอนการผลิตแทน
“ตอนนั้นไม่เข้าใจว่าป๊าช่วยทำไม เราจะแย่เอานะ ป๊าถามกลับว่า ไปออกบูทมาเป็นสิบปี คนยังถามว่าชามาจากจีนอยู่ไหม เราตอบว่าถามตลอด คนไม่รู้เลยว่ามาจากเชียงราย
“ป๊าพูดต่อว่า ถ้ามีบริษัทใหญ่บอกว่าตัวเองปลูกชา ชาดีต้องเชียงราย คนทั้งประเทศจะรู้จักไหม เราก็อ๋อ จริงด้วย แต่ยังไม่เห็นภาพว่าจะดีกับเรายังไงนะ ป๊าแค่บอกว่าถ้าเราทำตรงนี้ได้ดี ทั้งจังหวัดจะดีไปด้วยกันหมด”

ตัดภาพมาปัจจบุัน สิ่งที่คุณพ่อคิดไว้ไม่มีพลาด ที่คาดไว้ไม่มีผิด
บริษัทใหญ่ผลักดันให้ไร่ชาที่กำจรช่วยปลูกกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จัดเทศกาล จนเชียงรายกลายเป็นเมืองรองขวัญใจนักท่องเที่ยว พอคนเดินทางมามากขึ้น พวกเขาต่างเลือกหาสินค้าและสถานที่ที่ถูกจริตของตัวเอง กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจังหวัด ชาเชียงรายเข้าไปอยู่ในใจคน ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย
นอกจากนี้ กำจรยังพยายามสร้างชมรมชา ชวนเพื่อนพี่น้องดอยต่าง ๆ ไปออกบูทด้วยกัน ช่วยสอนวิธีจัดของจัดร้าน แม้ทำให้รายได้ตัวเองลดลง และต้องวุ่นวายกับคนที่เห็นต่าง ไม่ให้ความร่วมมือ
“ป๊ายินดีสอนคนอื่น ไม่คิดเล็กคิดน้อย เพราะเป้าหมายเขาต่าง ไม่ใช่แค่เพื่อสุวิรุฬห์ แต่อยากให้คนทั้งประเทศรู้จักชาเชียงราย
“ตอนนี้เราก็ไม่ได้มองว่าใครเป็นคู่แข่ง เพราะคนยังดื่มชาน้อย ถ้าเทียบกับกาแฟ ตลาดยังกว้างมาก ยิ่งมีคนเข้ามาขาย มาลงทุน ยิ่งมีเพื่อนร่วมการค้าที่เติบโตไปด้วยกัน เพราะถ้าไม่มีใครโตเลย มันอาจแปลว่าไม่มีตลาดและเราต่อสู้อยู่คนเดียว”
วิชาแบบนี้ ตำราธุรกิจอาจไม่ค่อยมีสอน
หัวใจอันเข้มแข็ง
เป็นเรื่องน่าสลดใจที่พ่อของเหมียวไม่อาจเป็นประจักษ์พยานให้กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความทุ่มเทของตัวเอง เมื่อความสูญเสียของครอบครัวเกิดขึ้นแบบที่ไม่มีใครทันตั้งตัวหรือเตรียมใจ
“ตอนป๊าเสีย เราตั้งหลักไม่ถูกเลย คิดว่าไม่เหลืออะไรแล้ว แต่เรายังมีชีวิตอยู่ ถึงมีคนซ้ำเติม คิดว่าเราเจ๊งแน่ ๆ แต่ก็มีคนให้กำลังใจ เขาเห็นเราอยู่กับป๊ามาตลอด เชื่อว่าเราทำให้รอดได้อยู่แล้ว พอเรามีคนต้องดูแล สิ่งที่เราต้องทำคือเข้มแข็ง”
จุดพลิกผันครั้งใหญ่ทำให้พี่น้องต้องรวมพลังกัน หนิงเก็บกระเป๋าจากการเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์อาหารที่สหรัฐอเมริกา เพื่อกลับมาไทยและเข้ามาช่วยเหมียวทันที
ส่วนทายาทอีก 3 คนต่างต้องใช้เวลาหาบทบาทของตัวเองในธุรกิจนี้

พ.ศ. 2557 สุวิรุฬห์ตัดสินใจรีโนเวตหน้าร้าน เพื่อสร้าง TeaFé (เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นเองแทนคาเฟ่) ไว้เสิร์ฟเครื่องดื่มและเบเกอรี่รองรับลูกค้า
เมื่อมีร้าน ก็ต้องหาคนดูแล คิดค้นสูตรขนมต่าง ๆ พวกเขาวานให้ตี๋ น้องชายคนที่ 3 ผู้เคยใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระในแบบของตัวเอง เข้ามาช่วยรับผิดชอบ
“ไม่ได้คิดว่าเขาจะตกลง แต่เขาตอบโอเคและทำจนแม่นกว่าเราอีก ตอนแรกม้าคาดหวังว่าเขาจะช่วยที่โรงงาน แต่มันไม่จำเป็นว่าผู้ชายต้องทำแบบนั้น เขาทำแบบนี้ได้ดีเหมือนกัน”
ส่วนผิง น้องสาวคนที่ 4 ตั้งเป้าไปเรียนต่อที่สิงคโปร์และเรียนจบภายใน 2 ปี เพื่อรีบเข้ามาช่วยพี่ ๆ รับหน้าที่ดูแลการสื่อสารและขายออนไลน์ รับมือกับเทรนด์การเติบโตของ E-commerce
ในขณะที่ไถไถ น้องคนสุดท้องที่เกิดมาพร้อมอาการดาวน์ซินโดรม วนไปช่วยตามแผนกต่าง ๆ และใช้ศักยภาพของตัวเองได้เป็นอย่างดี เช่น การตรวจเทียบบัญชีด้วยความละเอียดลออ กลายเป็นแบบอย่างให้ครอบครัวที่มีลูกอาการคล้ายกันเห็นด้วยว่า ถ้าดูแลอย่างดี ทุกคนล้วนเฉิดฉายในแบบของตัวเอง

จากวันนั้น ผ่านมาแล้ว 12 ปี ตอนนี้ทายาทณติณณ์วิรุฬห์ทุกคนอยู่พร้อมหน้ากันกับคุณแม่ที่ร้าน
“ป๊าเคยบอกว่าเขากลัว เหมียวกับหนิงโตผ่านช่วงที่ลำบากมาด้วยกัน แต่ตั้งแต่น้องคนที่ 3 ชีวิตพวกเขาสบายขึ้น ถ้าต้องเจอขาลงของธุรกิจหรือชีวิต พวกเขาจะรับมือได้ไหม ตอนแรกเราก็กังวล เพราะมีทั้งน้องที่ทะเลาะกัน น้องที่ยังเรียนไม่จบ น้องที่ไม่สบาย
“แต่ป๊าบอกต่อว่าคงไม่เป็นอะไร มีพี่ที่ดีสักหนึ่งหรือสองคนพอแล้ว เพราะพี่คนนั้นช่วยดูแลคนที่เหลือได้”
เป็นไปตามที่คุณพ่อกล่าว เหมียวและหนิงทำหน้าที่ส่วนนี้ได้เป็นอย่างดีจริง ๆ
สอนคนชา
แม้การพยายามสานสัมพันธ์ รวมกลุ่มด้วยความเอื้อเฟื้อ สุดท้ายจะลงเอยด้วยการสร้างความเจ็บปวดให้แก่ครอบครัวเหมียว พวกเขายังเชื่อเรื่องการช่วยเหลือคนอื่นตามที่พ่อปฏิบัติให้เห็น
แต่เมื่อวิธีเดิมไม่เหมาะกับบริบท ต่อให้พยายามถึงที่สุดแล้วก็ตาม สุวิรุฬห์จึงเลือกทำแนวทางอื่น ด้วยการให้เวลากับเกษตรกรและคนที่ต้องการศึกษาหาความรู้จริงจังแทน
“เราทำแบบที่ทำได้ให้คนที่เห็นคุณค่าดีกว่า เราปิดชมรม แต่ยังส่งเสริมเกษตรกรในเครือข่าย เปิดพื้นที่ให้คนมาดูงานได้เต็มที่ บางคนมีไร่อยู่ที่บ้าน ฟังเสร็จแล้วนึกออกว่ากลับไปทำอะไรได้บ้าง ดีใจทุกครั้งที่สะกิดใจคนให้เขาหาทางไปต่อได้
“บางคนมีไร่อยู่ท่ามกลางคนที่ปลูกด้วยสารเคมี คิดว่าไม่มีทางทำเกษตรอินทรีย์ได้เลยนอกจากซื้อที่ผืนใหม่ เราบอกว่าไม่ต้องรอเปลี่ยนที่เพื่อทำสิ่งที่ใช่กับโลกก็ได้ วันนี้เริ่มจากการไม่ฉีดสารเคมีเองก่อน มันจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนคนรอบข้างเห็น ถึงตอนนั้น คุณช่วยสอนเขาต่อได้ และเป็นศูนย์กลางของความดีที่แผ่ขยายออกไป” เหมียวพูดถึงสารที่เธอพยายามส่งต่อให้ผู้คน


นอกจากบุคคลภายนอกแล้ว อีกกลุ่มสำคัญคือพนักงานและลูกไร่รวมกว่า 240 ชีวิต บางคนอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อ บางคนสร้างครอบครัวและอาศัยอยู่ภายในไร่ ทำงานด้วยกัน
ด้วยลักษณะของกิจการ สุวิรุฬห์สามารถดูแลพวกเขาให้เหมือนส่วนหนึ่งของครอบครัว เมื่อเห็นว่าบางคนไม่ได้เรียนหนังสือหรือพูดภาษาไทยไม่คล่อง ก็จัดเตรียมการศึกษาและกิจกรรมแบบที่โรงเรียนทั่วไปมีกัน ไม่กดดันผลลัพธ์เกินควร ให้ทุกคนมีเวลาพักผ่อนกับครอบครัว ทำให้แม้แต่คนที่ลาออกไปทำงานที่เมืองใหญ่ ยังขอกลับมาทำงานที่นี่ต่อ
“เราอยากให้คุณภาพชีวิตที่ดีกับคนด้วยการเห็นคุณค่าของพวกเขา มันคือเรื่องของจิตใจที่อยู่ด้วยกัน”
ชา ๆ แต่ยั่งยืน
ด้วยแนวคิดที่แตกต่าง ชาสุวิรุฬห์เป็นที่ต้องการไกลถึงต่างแดน
ช่วงแรก โจทย์หลักที่ธุรกิจเผชิญคือการอยู่รอด ไม่ใช่ชื่อเสียง พวกเขาจึงตัดสินใจเน้นทำ OEM ให้ทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศ และยังคงทำต่อมาจนเป็นรายได้ส่วนใหญ่ของกิจการ
พอทำไปเรื่อย ๆ ก็เกิดโอกาสให้ขยายแบรนด์ใหม่เอง เช่น อาโอกิฉะ แบรนด์ชาเขียวที่ผลิตส่งออกให้ประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะ และศิรินทรา ซีรีส์ ที่เกิดขึ้นเพราะโรงแรม 6 ดาวอย่าง Kempinski ติดต่อเข้ามาขอทดลองชา ช่วงเตรียมเปิดที่ไทย หลังเชฟของโรงแรมได้ลิ้มรสและสำนักงานที่สวิตเซอร์แลนด์ให้ผ่าน สุวิรุฬห์พัฒนาชา 6 รส เข้าไปวางในห้องอาหารของโรงแรม ก่อนต่อยอดเป็น 12 รส ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากโรงแรมบูติกและระดับนานาชาติที่เห็นคุณค่าความเป็นไทย
ปัจจุบัน สุวิรุฬห์ ผลิตชาส่งออกไปรอบโลก ทั้งสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ชิลี เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง ซาอุดีอาระเบีย คูเวต สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ รวม 20 กว่าประเทศ


“เราเคยสงสัยว่าทำไมแม้แต่คนจีนยังซื้อชาอู่หลงของเรา ทั้งที่ประเทศเขาปลูกเยอะมาก เขาบอกว่าเพราะเชื่อใจว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ ชอบความเป็นธรรมชาติ เห็นสมุนไพรเป็นชิ้น ชาเป็นใบ ๆ ไม่ได้ใส่อะไรมาก็ไม่รู้ ทำให้เกิดการบอกต่อและตลาดโตขึ้น” เหมียววิเคราะห์และเล่าเสียงตอบรับที่เคยได้ยินจากลูกค้า
อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญคงเป็นเรื่องราคา สุวิรุฬห์พยายามตั้งราคาให้คนซื้อง่าย เข้าถึงได้ แม้ค่าครองชีพสูงขึ้น เพราะคิดว่าวิธีปลูกของพวกเขาช่วยครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนนั้นไปแล้ว
“เราอาจปลูกชาได้ปีแรก 400 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนการปลูกแบบเคมีได้ 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ พอเวลาผ่านไปสัก 7 ปี เราถึงจะปลูกได้ 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ฝั่งเคมีจะลดลง ส่วนเราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนั้นอีก มองได้ว่าต้นทุนเราเท่าเดิม แต่ผลผลิตมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องขึ้นราคามากก็ได้ เดี๋ยวราคาแรงไป เกรงใจลูกค้าด้วย”
หลังจากนี้ สุวิรุฬห์มีแผนวางขายซีรีส์ใหม่ ซึ่งคิดไว้นานหลายปีแล้ว เพียงแต่รอจังหวะของกิจการให้เข้าที่เข้าทาง โดยไอเดียต่าง ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นตามหลักตำราการตลาดเสียทีเดียว
“เราไม่คิดจากเทรนด์หรือสิ่งที่ตลาดต้องการตลอด แต่มองว่าอยากนำเสนอสิ่งที่ดี แล้วให้ตลาดค่อย ๆ เรียนรู้กับเรา อาจไม่ใช่วิธีคิดที่ดี ทำให้อยู่รอดลำบาก แต่บางทีลูกค้าอาจยังไม่รู้จักสิ่งที่อยากได้ หรือมีตัวเลือกไม่มากพอ เราจะเป็นคนหาสิ่งนั้นมานำเสนอพวกเขาเอง
“อาจไม่ว้าวตอนแรก แต่พอผ่านกาลเวลา ลูกค้าที่ชอบสิ่งที่เราทำจะเพิ่มขึ้นและอยู่กับเราระยะยาว ไม่หวือหวา แต่ยั่งยืนกว่า”

สุวิรุฬห์ ชาไทย
“หลายอย่างไม่เคยทำมาก่อนหรอก แต่ระหว่างทางมีคนช่วยเหลือเราเยอะ ลูกค้าทุกคนมีพระคุณมาก” ทายาทที่บริหารกิจการที่แรกและที่เดียวมานานเกือบ 20 ปี เอ่ยขอบคุณคนรอบตัวที่อยู่เคียงข้าง นำทางเธอและสุวิรุฬห์ผ่านความท้าทายมาจนถึงทุกวันนี้
คนที่มีกิจการที่บ้านให้ไปสานต่อ อาจกังวลว่าตัวเองยังไม่พร้อม แต่เหมียวมองว่าถ้าอยากทำ การเข้าไปลงมือทำเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุดแล้ว
ระหว่างทาง เราจะค่อย ๆ ค้นเจอคำตอบทีละเรื่องไปเอง
“ยิ่งกลับเข้าไปช่วยเร็ว ยิ่งทำอะไรได้มากขึ้น เรามีต้นทุนสูงกว่ารุ่นที่พ่อแม่เริ่ม พัฒนาต่อได้อยู่แล้ว อย่าเพิ่งกลัวว่าเข้าไปจะเจอปัญหาเรื่องความต่างระหว่างวัย
“เราไม่ต้องไปเปลี่ยนทุกอย่างที่เขาเคยทำ เห็นคุณค่าของสิ่งเดิมที่มี คุยกับเขาเยอะ ๆ อย่างเราเคยคิดจะเปลี่ยนชื่อแบรนด์ เพราะดูเชย แต่พอป๊าเล่าที่มาให้ฟังและให้เราตัดสินใจ เราก็ไม่เปลี่ยนแล้ว
“เปลี่ยนในเรื่องที่สำคัญ แล้วแสดงให้เขาเห็นว่าเราทำอะไรได้บ้าง” เหมียวฝากถึงทายาทกิจการที่ยังเกรงกลัวหรือเพิ่งเริ่มต้นเส้นทาง
ก่อนจากกัน เราชวนครอบครัวณติณณ์วิรุฬห์มาถ่ายรูปหมู่ คุณแม่บอกว่าสุวิรุฬห์เปลี่ยนโฉมไปจากเดิมเยอะมาก และดีใจที่พี่น้องทั้ง 5 คนอยู่พร้อมหน้า ช่วยกลับมาพัฒนาสิ่งที่สร้างไว้
คุณพ่อเองก็คงภูมิใจไม่ต่างกัน
เพราะวันนี้ สุวิรุฬห์ ชาไทย
ไม่สิ
ชาเชียงรายตามวิสัยทัศน์ที่ใฝ่ฝันไว้ของคุณพ่อ เป็นจริงแล้ว
