ตามประสาคนไม่ชอบใส่หมวกเพราะขี้ร้อนง่าย พอเดินผ่านร้านขายหมวกทีไร เรามักเดินเลยผ่านไปเพราะไม่สนใจเป็นทุนเดิม

กระทั่งเราได้รู้จัก ‘SUNEV’ แบรนด์หมวกสัญชาติไทยของ วีนัส หาญธนะสุกิจ ที่ไม่เหมือนกับหมวกใบไหนที่เราเคยใส่ เพราะมันทั้งเป็นงานแฮนด์เมด น้ำหนักเบา ในดีไซน์มีกลิ่นอายแบบญี่ปุ่น แถมบางใบก็มีฟังก์ชันพิเศษบางอย่าง เช่น การถอดสายคล้องออกได้ เพื่อปรับให้เข้ากับลุคประจำวัน

เมื่อได้นั่งสนทนากับหญิงสาวเจ้าของแบรนด์ เราถึงได้รู้ว่าองค์ประกอบเหล่านี้เกิดขึ้นจากศาสตร์การทำหมวกแบบญี่ปุ่น ซึ่งวีนัสเรียนรู้จาก คุณแม่พรเพ็ญ หาญธนะสุกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ C&H Wear Trading Ltd., Part โรงงานผลิตหมวกแบบ OEM หรือผลิตตามออร์เดอร์ของลูกค้า เพื่อส่งออกไปขายในซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างของญี่ปุ่นชื่อคุ้นหู ทั้ง Takashimaya, Isetan, Mitsukoshi

จาก C&H Wear Trading สู่ SUNEV แบรนด์หมวกไทยที่ทำขายคนญี่ปุ่นมา 30 ปี

ทายาทรุ่นสองตอนนี้ ไม่ได้จะชวนคุณบินลัดฟ้าไปท้าความหนาวที่ญี่ปุ่นแต่อย่างใด แต่จะขอพาไปบุกโรงงานย่านบางแค ดูกระบวนการทำงานของสองแม่ลูก และหาคำตอบว่า อะไรคือเคล็ดลับในทำแบรนด์หมวกให้คนญี่ปุ่นใส่ จน

ธุรกิจยืนระยะมาได้ยาวนานกว่า 30 ปี

ธุรกิจ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซี แอนด์ เอช แวร์ เทรดดิ้ง

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2537

ประเภท : บริษัทผลิตและส่งออกหมวก

ผู้ก่อตั้ง : พรเพ็ญ หาญธนะสุกิจ

ทายาทรุ่นสอง : วีนัส หาญธนะสุกิจ

帽子

หมวก

แค่ประโยคแรกจากปากลูกสาว เราก็เซอร์ไพรส์ เธอบอกว่าคุณแม่พรเพ็ญเป็นคนไม่ชอบใส่หมวก

เป็นคนผมเยอะ ขี้ร้อน เหตุผลเรียบง่ายเท่านั้น

ก่อนจะมาเปิดโรงงานผลิตหมวก C&H Wear Trading Ltd., Part คุณแม่เคยเป็นครูและพนักงานออฟฟิศมาก่อน ท่านพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ จนกระทั่งพบกับหุ้นส่วน Joint Venture คนญี่ปุ่นในยุค 1990 ซึ่งญี่ปุ่นกำลังขยายฐานการผลิตสินค้ามาสู่ต่างประเทศเพราะกำลังการผลิตไม่พอ

และหมวกก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่คนญี่ปุ่นอยากมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย

C&H Wear Trading ตั้งต้นจากหุ้นส่วนที่มี Know-how ในการทำหมวกติดตัว ประกอบกับความรู้เรื่องการตัดเย็บของคุณแม่พรเพ็ญผู้เติบโตมาในครอบครัวคนจีนที่เปิดร้านตัดสูทย่านบางแค ในยุคนั้นการทำหมวกยังเป็นเรื่องใหม่และท้าทาย เพราะส่วนมากหมวกจะผลิตโดยโรงงานผลิตเสื้อผ้าที่ผลิตหมวกได้ด้วย แบรนด์ C&H Wear Trading จึงถือว่าเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่ผลิตหมวกเพื่อส่งไปขายที่ญี่ปุ่นโดยเฉพาะ

“จริง ๆ แล้วตลาดหมวกญี่ปุ่นนั้นกว้างมาก เพราะมีหมวกหลากทรง หลายดีไซน์ โรงงานผลิตเสื้อผ้าส่วนมากทำหมวกแก๊ปกับบักเก็ต ซึ่งเราก็ทำเหมือนกัน แต่ที่ทำเพิ่มคือหมวกทรงญี่ปุ่นที่แปลกตาไปจากสิ่งที่โรงงานอื่น ๆ ผลิตเป็นหมวกที่ทำเพื่อตลาดในญี่ปุ่นโดยเฉพาะ” วีนัสอธิบาย

จาก C&H Wear Trading สู่ SUNEV แบรนด์หมวกไทยที่ทำขายคนญี่ปุ่นมา 30 ปี

学ぶ

การเรียนรู้

คนญี่ปุ่นจริงจังกับการใส่หมวกไม่เหมือนชาติไหน พวกเขาให้ความสำคัญกับคุณภาพ ดีไซน์ และวัตถุดิบของหมวกเป็นที่หนึ่ง

มาตรฐานของ C&H Wear Trading จึงต้องเทียบกับเท่าหมวกที่ Made in Japan ยิ่งเป็นธุรกิจแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) ที่รับผลิตตามแบบของลูกค้า พวกเขายิ่งต้องใส่ใจกับความสวยงามและประณีตในการเย็บ การอัปเกรดวัตถุดิบให้ใหม่และทันสมัย รวมถึงดีไซน์ที่ตามเทรนด์อยู่เสมอ

นั่นคือเหตุผลที่ช่วงแรก ๆ ของธุรกิจ คุณแม่พรเพ็ญต้องบินไปญี่ปุ่นเป็นว่าเล่น ทั้งไปเรียนทำหมวก ไปพบปะลูกค้า และไปเรียนรู้ตลาด นั่นเพราะสำหรับเธอ มันคือสิ่งใหม่มาก

หลังจากโฟกัสเฉพาะการผลิตให้ลูกค้าได้สักพัก คุณแม่พรเพ็ญก็แตกไลน์ของบริการออกมาเป็น ODM (Original Design Manufacturer) ที่มีบริการออกแบบให้ลูกค้าด้วย 

“ลูกค้าจะมาหาเรา 2 ครั้งต่อปี คือฤดูร้อนกับฤดูหนาว เขาจะมาดูแพตเทิร์น เนื้อหา และดีไซน์ของเรา แล้วปรับเปลี่ยนให้เป็นดีไซน์ของเขา หลังจากนั้นเราจึงค่อยผลิตให้” โมเดลที่ว่านี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว

จาก C&H Wear Trading สู่ SUNEV แบรนด์หมวกไทยที่ทำขายคนญี่ปุ่นมา 30 ปี
จาก C&H Wear Trading สู่ SUNEV แบรนด์หมวกไทยที่ทำขายคนญี่ปุ่นมา 30 ปี

装飾

เครื่องประดับ

ถ้าใครไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วชอบห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ต มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่คุณจะได้เห็นหมวกของ C&H Wear Trading วางขายอยู่ในร้านรวงที่ขายทั้งผ้าเช็ดหน้า ถุงมือ และเครื่องนุ่มห่มต่าง ๆ 

เพราะปีปีหนึ่ง ธุรกิจของคุณแม่พรเพ็ญนั้นส่งออกหมวกกว่า 200,000 ใบให้ลูกค้ากว่า 10 เจ้า แถมยังส่งออกทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว เหตุเพราะคนญี่ปุ่นชอบใส่หมวกมาก

“ประเทศเขาเป็นประเทศที่ต้องเดินหรือขี่จักรยานท่ามกลางอากาศร้อน ทำให้ต้องใส่หมวก เพราะฉะนั้นการทำหมวกญี่ปุ่นจึงไม่ง่าย มันไม่ใช่แค่สวย แต่ต้องมีฟังก์ชันที่ง่ายต่อการใช้ชีวิตด้วย”

เช่นว่า ใส่แล้วต้องมีน้ำหนักเบา สบายหัว ซักมือหรือซักเครื่องได้ หรือบางทีฟังก์ชันอาจพัฒนาให้เวอร์วังอลังการกว่านั้น เช่น ป้องกันแสง UV แอนตี้แบคทีเรีย ป้องกันการเปรอะของเครื่องสำอางบนหมวก ไปจนถึงมีคอลลาเจนช่วยถนอมผิว!

หมวกในแต่ละฤดูก็มีรายละเอียดที่แตกต่างและสนุกไม่แพ้กัน เช่น หมวกฤดูหนาวที่ใช้ในฤดูใบไม้ร่วง จะใช้ผ้าที่ปิดบังความเย็นให้ใบหู แต่ถ้าหนาวแบบหิมะตกจะเป็นหมวกที่ใช้ผ้าขนสัตว์มอบความอบอุ่น ในขณะที่ฤดูร้อน วัตถุดิบจะเปลี่ยนไปเป็นผ้าลินิน ผ้าไหม ตัดเย็บแบบงานสานที่ระบายอากาศได้ดี

ยิ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ C&H Wear Trading คือกลุ่มผู้หญิงวัยอิสระ อายุ 40 – 60 ปี การพัฒนาหมวกก็ยิ่งเข้มข้นเข้าไปอีก ไม่เพียงแต่น้ำหนักเบา กันแดดกันฝนได้ แต่หมวกยังต้องเสริมลุคให้กลุ่มเป้าหมายด้วย

“คนญี่ปุ่นผมร่วงเยอะ ผู้สูงอายุจึงนิยมใส่หมวกกัน เพื่อบดบังอาการผมร่วงและเสริมลุคให้เขา” หมวกที่ผลิตจึงมีความพิเศษใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา อาทิ มีเข็มกลัดลายดอกไม้ที่ติดและถอดได้ เป็นต้น

“หมวกของคนญี่ปุ่นเหมือน Accessory อีกชิ้น เหมือนต่างหูที่เขาใส่แล้วมั่นใจมากขึ้น” หญิงสาวสรุป 

จาก C&H Wear Trading สู่ SUNEV แบรนด์หมวกไทยที่ทำขายคนญี่ปุ่นมา 30 ปี
จาก C&H Wear Trading สู่ SUNEV แบรนด์หมวกไทยที่ทำขายคนญี่ปุ่นมา 30 ปี

契約

สัญญา

พ้นไปจากมาตรฐานการผลิตที่แน่นอน สิ่งที่ทำให้ลูกค้าแดนปลาดิบทำงานกับ C&H Wear Trading ได้ยาว ๆ 20 – 30 ปี คือความน่าเชื่อถือ

“สำหรับคนญี่ปุ่น คำว่าสัญญาคือสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเรื่องเวลาผลิต เวลาส่งของ คุณภาพ และราคาที่เป็นเหตุเป็นผล ข้อดีของการทำงานกับคนญี่ปุ่น คือถ้าเขาเชื่อมั่นในโรงงานไหน เขาจะทำธุรกิจต่อเนื่องกันไปยาว ๆ ทำให้จนถึงตอนนี้ เราก็ยังมีลูกค้าในยุคแรก ๆ ที่ทำด้วยกันอยู่” วีนัสเล่าเคล็ดลับ

แต่ขึ้นชื่อว่าธุรกิจ ไม่มีสิ่งใดอยู่ยั้งยืนยง ธุรกิจที่ยืนระยะยาวนานก็ถึงจุดสะดุดได้เช่นกัน

สำหรับ C&H Wear Trading พวกเขาเผชิญวิกฤตเหมือนกับทุก ๆ ธุรกิจทั่วโลก ลูกค้าที่เคยทำธุรกิจด้วยหดหายเมื่อโควิด-19 ระบาด

ธุรกิจผลิตหมวกของคุณแม่พรเพ็ญเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ช่วงเวลานี้เองที่วีนัสเข้ามารับช่วงต่อเต็มกำลัง

จาก C&H Wear Trading สู่ SUNEV แบรนด์หมวกไทยที่ทำขายคนญี่ปุ่นมา 30 ปี
จาก C&H Wear Trading สู่ SUNEV แบรนด์หมวกไทยที่ทำขายคนญี่ปุ่นมา 30 ปี

相続人

ทายาท

วีนัสเหมือนกับทายาทเจ้าของธุรกิจหลายคน เธอวิ่งเตาะแตะอยู่ในโรงงานตั้งแต่จำความได้ ถูกปูทางให้รับช่วงต่อตั้งแต่ยังเด็ก และโดยบังเอิญ คือเป็นคนผมเยอะ ไม่ชอบใส่หมวกเหมือนแม่

เมื่อเรียนจบ ม.ต้น เด็กหญิงวีนัสบอกแม่ว่าอยากเรียนต่อเมืองนอก แม่จึงส่งวีนัสไปเรียนไฮสกูลที่ญี่ปุ่น ทั้งคู่มีสัญญาใจต่อกันว่าหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ผู้เป็นลูกสาวจะมาสืบสานกิจการต่อ

“พอได้ไปอยู่ที่นั่น ซึมซับวัฒนธรรมของเขา เราจะรู้ว่าคนญี่ปุ่นเขาเป็นคนเคร่งในหลายเรื่อง อย่างในโลกของธุรกิจ คนญี่ปุ่นจะไม่เคยสาย สมมติว่าคนไทยนัด 10 โมงแต่มาถึง 10 โมง 15 นาที เราอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับคนญี่ปุ่น ถ้ามาถึง 9 โมง 50 นาทีคือเกือบสายแล้ว จริง ๆ 9 โมง 45 นาทีคือเวลาที่ต้องมาถึง

“ยิ่งการนัดเจอลูกค้าครั้งแรก ถ้าคุณมาสาย โอกาสที่จะได้ทำธุรกิจด้วยกันยิ่งลดน้อยลง เพราะเขาจะคิดว่าแค่นี้คุณยังรักษาเวลาไม่ได้ เวลาทำธุรกิจจะรักษาคำพูดได้เหรอ” หญิงสาวสะท้อนคิด

7 ปีผ่านไป หลังจากจบการศึกษาจากหลักสูตร Business Management ที่โตเกียว และซึมซับวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นจนเข้าใจ วีนัสกลับไทยมาทำตามสัญญา

จาก C&H Wear Trading สู่ SUNEV แบรนด์หมวกไทยที่ทำขายคนญี่ปุ่นมา 30 ปี
จาก C&H Wear Trading สู่ SUNEV แบรนด์หมวกไทยที่ทำขายคนญี่ปุ่นมา 30 ปี

母親

แม่

ในช่วงแรกหญิงสาวต้องเรียนรู้งานกับแม่ ซึ่งเธอออกปากว่าแม่ที่บ้านกับแม่ที่ทำงานแทบจะเป็นคนละคนกัน

“ตอนอยู่บ้าน แม่ชิลล์ ๆ แต่ตอนเป็นเจ้านายเนี้ยบมาก” เธอหัวเราะ “มองย้อนกลับไป แม่เป็นนักธุรกิจที่เก่งมาก เก่งทุกด้านเลย แม้ตอนแรกจะมีพาร์ตเนอร์ แต่ไม่กี่ปีหลังจากทำธุรกิจด้วยกัน พาร์ตเนอร์ก็เสียไปก่อน แม่จึงต้องทำทุกอย่างคนเดียวหมด คุณพ่อก็ไม่ได้มาช่วยทำธุรกิจเลยเพราะเขารับราชการ มานึกดูตอนนี้เราก็ทึ่งนะ” 

วีนัสเล่าอีกว่าตอนเด็ก ๆ เธอเคยสงสัยว่าทำไมไม่ค่อยได้เจอแม่เลย แม่ทำงานกลับดึกตลอด บางสัปดาห์ทำงาน 7 วัน จนวันที่ได้มาเรียนรู้งานจริง ๆ เธอก็ถึงบางอ้อ 

เพราะธุรกิจส่งออกเคร่งครัดเรื่องเวลามาก เนื่องจากมีการส่งออกสินค้าไปทางเรือ และเรือจะมารับของเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้งเท่านั้น หากไม่ทันก็ต้องรอไปอีกอาทิตย์หนึ่งถึงจะส่งได้ คุณแม่พรเพ็ญจึงต้องเร่งทำทุกอย่างให้ทัน ยิ่งทำให้วีนัสทึ่งในความสามารถมากขึ้นไปอีก

2 ปีแรกที่วีนัสก้าวเข้ามาในบริษัท คุณแม่พรเพ็ญสอนทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบ การตรวจสอบคุณภาพสินค้า ไปจนถึงการเจรจากับลูกค้า เมื่อเริ่มปีกกล้าขาแข็ง วีนัสก็ช่วยผ่อนภาระงานของแม่ทีละนิด

“โจทย์ยากที่เจอในช่วงแรก ๆ คือสายตาของลูกค้า หลายคนอาจมองว่าเราก็แค่ลูกสาวเจ้าของ ทำอะไรได้ ยิ่งนักธุรกิจญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชายทั้งหมด แม่ของเราแทบจะเป็นผู้หญิงคนเดียวในแวดวงธุรกิจนี้เลย 

“แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้อยากเอาชนะอะไรเขานะ เราพิสูจน์ตัวเองไปว่าเราทำงานได้ ด้วยจำนวนใบสั่งซื้อและงานหลายอย่าง พิสูจน์แล้วว่าเราทำงานได้ คนญี่ปุ่นเป็นคนตรงมาก ถ้าเขาไม่แฮปปี้เขาก็ไม่ทู่ซี้ทำ แล้วที่ทำงานกับเราต่อ นั่นแปลว่าเขาแฮปปี้ดี”

จาก C&H Wear Trading สู่ SUNEV แบรนด์หมวกไทยที่ทำขายคนญี่ปุ่นมา 30 ปี

直し方

วิธีแก้

ช่วงที่ทำงานกับแม่ เคยมีความเห็นไม่ตรงกันไหม – เราสงสัย

วีนัสบอกว่ามากกว่า 1 ครั้ง “แรก ๆ เราเถียงและทะเลาะกับแม่เหมือนกัน แต่เราก็เลือกทำตามเขาก่อน เพราะเราอยากให้เกียรติคนที่มีประสบการณ์มากกว่า อีกอย่างคือเรารู้ว่าแม่วางแผนจะถอยออกจากธุรกิจ พอถึงจุดที่เราทำได้เอง และเราคิดว่าควรแก้ปัญหายังไง เราก็เอาประสบการณ์ของแม่มาปรับด้วยวิธีของเราต่อ”

ความท้าทายครั้งใหญ่เกิดขึ้นตอนที่คุณแม่ถอยจากธุรกิจและปล่อยให้วีนัสบริหารเต็มตัว เมื่อโควิด-19 ระบาด ออร์เดอร์หมวกที่เข้ามาก็ลดน้อยลง นั่นทำให้หญิงสาวมองหาวิธีอื่นที่จะทำให้บริษัทอยู่รอด

“ตอนทำงานด้วยกัน แม่ชอบบอกบ่อย ๆ ว่าถ้าจะทำธุรกิจเราต้องถึกและอดทน จริง ๆ ฉันไม่ได้เก่งอะไรหรอก ฉันแค่ถึก ฉันถึงผ่านทุกอย่างมาได้ แม่เราถึก เราก็ต้องถึกตามแม่”

สิ่งที่วีนัสทำมี 2 อย่าง คือหนึ่ง ฐานลูกค้าใหม่ เธอเปลี่ยนโฟกัสจากการผลิตให้ลูกค้าญี่ปุ่น 100% แล้วหันมาจับกลุ่มลูกค้าชาวไทย โดยแบ่งสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง

สอง เธอชวน เท (Liangbo Zheng) ผู้เป็นสามีมาเปิดแบรนด์หมวกของตัวเอง ชื่อ SUNEV และ YOSHINAMI 

“จากการทำงานกับคนญี่ปุ่น เราคิดว่าญี่ปุ่นมีฐานลูกค้าที่กว้าง หมวกมีหลากหลายแบบ สงสัยว่าทำไมในไทยถึงไม่มีแบบนี้บ้าง เราอยากนำความรู้ที่ได้เรียนรู้จากการทำหมวกญี่ปุ่นมาผลิตหมวกให้คนไทยใส่ อยากให้คนไทยที่อยู่ในเมืองร้อน ไม่ค่อยใส่หมวก ได้รับรู้ว่าหมวกที่ดีเป็นยังไง นั่นคือจุดเริ่มต้น” หญิงสาวเล่าด้วยตาเป็นประกาย

จาก C&H Wear Trading สู่ SUNEV แบรนด์หมวกไทยที่ทำขายคนญี่ปุ่นมา 30 ปี

日光

แสงอาทิตย์

ชื่อแบรนด์ SUNEV มาจากชื่อของวีนัสที่สะกดกลับหลัง และกลุ่มลูกค้าก็ถูกตั้งไว้ให้เป็นคนละกลุ่มกับหมวกที่ผลิตให้คนญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิง

วีนัสเคยผลิตหมวกให้ผู้หญิงวัยอิสระ แต่ SUNEV จับกลุ่มเด็กวัยรุ่นผู้หญิงชาวไทยที่อยากเปิดใจให้กับหมวกแบบอื่น ๆ บ้างนอกจากหมวกแก๊ปกับบักเก็ต ทรงของหมวก SUNEV จึงมีหลากหลาย มีตั้งแต่บักเก็ต ฟีดอราปีกสวย หมวกที่มีสายผูกสุดคิวต์ ไปจนถึงผ้าโพกผมที่ใส่เป็น Everyday Look หรือใส่ไปทะเลก็ได้ โดยคงกลิ่นอายญี่ปุ่นไว้จาง ๆ ในงานออกแบบ

ไม่ใช่แค่ดีไซน์ แต่วีนัสยังหยิบ Know-how จากการผลิตหมวกให้ชาวญี่ปุ่นมาใช้กับ SUNEV ด้วย ตั้งแต่วัตถุดิบคุณภาพที่นำเข้า 100% ไปจนถึงความเนี้ยบจากการตัดเย็บ หมวกของเธอจึงมีน้ำหนักเบา เป็นงานแฮนด์เมดทั้งใบ และใช้วัตถุดิบที่เราไม่ได้เจอบ่อย ๆ อย่างขนอัลปากาและผ้าวูล

ส่วนแบรนด์ YOSHINAMI เป็นแบรนด์สตรีตแวร์ที่คาแรกเตอร์แตกต่างกันกับ SUNEV อย่างชัดเจน เจาะกลุ่มลูกค้า Unisex แต่สิ่งที่เหมือนกันคือดีไซน์ที่คงกลิ่นอายญี่ปุ่นจาง ๆ และคุณภาพของวัตถุดิบ รวมถึงการตัดเย็บที่ได้มาตรฐาน

จาก C&H Wear Trading สู่ SUNEV แบรนด์หมวกไทยที่ทำขายคนญี่ปุ่นมา 30 ปี

“หมวกของเราตั้งราคาไว้ที่ 1,000 – 2,000 บาท สูงกว่าหมวกทั่วไปในเมืองไทยนิดหน่อย เคยมีลูกค้ามาถามเหมือนกันว่า ทำไมถึงแพงจัง เราก็จะอธิบายว่าเราใช้วัตถุดิบที่ดี เป็นของนำเข้า และงานเป็นงานทำมือ 100 เปอร์เซ็นต์ มันถึงออกมาเป็นราคานี้ที่เราคิดว่าลูกค้ายินดีจ่าย”

หลังจากเริ่มขายบนอินสตาแกรมและร้านมัลติแบรนด์ทั่วไปมา 2 ปี ฟีดแบ็กที่ได้นั้นเหนือความคาดหมายของวีนัสไปพอสมควร “ดีกว่าที่คิดไว้เยอะเลย ไม่คิดว่าคนไทยจะชอบหมวกของเราขนาดนี้” หญิงสาวยิ้มกว้าง แล้วบอกว่าในอนาคตเธอวางแผนจะขยายตลาดด้วยการส่งออกไปขายที่ญี่ปุ่นด้วย

“ตั้งแต่ทำมารับช่วงต่อเต็มตัว คุณแม่เคยชมว่าภูมิใจในตัวลูกสาวไหม” เราถาม คนตรงหน้าเราส่ายหัวแล้วตอบเร็วว่า

“ไม่มีเลย เพราะแม่เขาไม่ค่อยแสดงความรัก เขาเขิน” ประโยคนั้นเรียกเสียงหัวเราะจากทุกคนในวง

“แต่เรารู้นะว่าเขาภูมิใจ ถึงเขาไม่ชมเรา เราก็รู้ว่าเขาแฮปปี้ เพราะถ้าเขาไม่แฮปปี้ ไม่เชื่อมั่นในตัวเรา เขาไม่กล้าปล่อยบริษัทให้หรอก ในวันที่เหนื่อยมาก ๆ เขาอาจไม่ได้ปลอบมาก แต่แค่เดินมาบอกว่า สู้ ๆ นะ แค่นี้เราก็น้ำตาแตกแล้ว”

จาก C&H Wear Trading สู่ SUNEV แบรนด์หมวกไทยที่ทำขายคนญี่ปุ่นมา 30 ปี

Writer

พัฒนา ค้าขาย

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนชาวเชียงใหม่ผู้รักทะเลและหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์