หน้าร้อนแบบนี้ เรามักได้เห็นผู้คนมากมายตั้งใจเดินทางไปถ่ายรูปกับต้นไม้ที่ออกดอกสะพรั่งไปทั้งต้นตามริมทางและในสวนสาธารณะ นอกจากต้นไม้ยอดฮิตอย่างชมพูพันธุ์ทิพย์และต้นคูนแล้ว ยังมีต้นไม้สวย ๆ ซึ่งหลายคนไม่คุ้นเคยนักอีกหลายชนิดที่น่าปลูก ถ้าใครมีที่มากหน่อยก็ปลูกริมถนนให้เป็นถนนสายดอกไม้ เป็นจุดชมวิวส่วนตัวได้เลย ส่วนใครมีที่ไม่มากก็ยังปลูกต้นเดียวเอาไว้ดูดอกให้ชื่นใจได้เช่นกัน
ต้นไม้ทั้งหมดที่แนะนำออกดอกปีละครั้ง ดูแลรักษาไม่ยาก แค่ต้องการแดดจัด ๆ และรดน้ำบ้าง ไม่ปล่อยให้แห้งตาย แค่นี้เราก็จะได้ชมเทศกาลดอกไม้บานส่วนตัวปีละครั้งแน่นอน
เสลา
Lagerstroemia loudonii Teijsm & Binn.

เจ้าต้นนี้มีความน่าสับสนหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ชื่อ ต้องอ่านว่า สะ-เหลา ในช่วงหน้าร้อนแบบนี้จะมีดอกสีม่วงเต็มต้น แต่อย่าเพิ่งคิดว่าต้นไม้ที่มีดอกม่วงเต็มต้นทุกต้นจะเป็นเสลา เพราะมันยังมีอินทนิลกับตะแบกอีก วิธีการแยก 3 ต้นนี้แบบง่ายที่สุดคือดูจากลำต้น เสลาผิวแตก ตะแบกผิวมัน คือผิวของต้นเสลาจะแตกเป็นร่องลึกตามแนวลำต้น ส่วนตะแบกมีลำต้นคล้ายลายพรางทหาร เปลือกหลุดร่อน และมีผิวมัน ส่วนอินทนิลมีลำต้นปกติ
ต้นที่อยากแนะนำที่สุด คือ เสลา เพราะดอกมีหลายเฉดสี ตั้งแต่ม่วงเข้ม ม่วงอ่อน จนถึงชมพู ยิ่งปลูกหลายต้นยิ่งเห็นสีที่แตกต่างชัด
เหลืองเชียงราย
Tabebuia chrysotricha (Mart. ex DC.) Standl.

ต้นไม้ดอกสีเหลืองสะพรั่งก็มีคล้ายกัน 3 ต้น คือเหลืองปรีดียาธร (น่าจะคุ้นกันมากที่สุด) เหลืองเชียงราย (ชื่อสามัญภาษาอังกฤษคือ Dwarf Golden Trumpet) และเหลืองอินเดีย (ชื่อสามัญคือ Golden Trumpet) ซึ่งอยู่ในจีนัส Tabebuia ร่วมกัน เช่นเดียวกับชมพูพันธุ์ทิพย์ที่บางครั้งเราก็เรียกด้วยชื่อจีนัสว่า ตาเบบูญ่า เหลืองเชียงรายมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่บราซิล แต่นิยมปลูกมากแถวภาคเหนือของไทย เลยได้ชื่อว่าเหลืองเชียงราย ความแตกต่างระหว่างเหลืองเชียงรายกับเหลืองปรีดียาธร คือเหลืองเชียงรายออกดอกเป็นกระจุกแต่ไม่แน่นเท่าเหลืองปรีดียาธร
เหลืองอินเดีย
Tabebuia chrysantha (Jacq.) G. Nicholson

เหลืองอินเดียมีต้นที่มีลักษณะคล้ายกับเหลืองเชียงรายมาก แต่ต่างกันตรงฐานรองดอก ซึ่งเหลืองอินเดียจะไม่มีขนเหมือนเหลืองเชียงราย (หลายคนก็แพ้ขนพวกนี้) ดอกเป็นพวงใหญ่กระจายกว่า คนจึงนิยมปลูกมากกว่า ถึงแม้ว่าชื่อจะเป็นอินเดียแต่ก็มีถิ่นกำเนิดมาจากอเมริกาใต้เช่นเดียวกับเหลืองเชียงราย
กัลปพฤกษ์
Cassia bakeriana Crain


กัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้อีกต้นที่เห็นดอกแล้วชื่นใจมาก เพราะจะออกดอกสีขาวอมชมพูสะพรั่งทั่วทั้งต้น พอให้ความรู้สึกคล้าย ๆ ซากุระอยู่เหมือนกัน กัลปพฤกษ์เป็นพืชสกุลเดียวกับต้นคูนหรือราชพฤกษ์ แต่ก็ไม่คล้ายกันนัก เพราะกัลปพฤกษ์ออกดอกเป็นช่อตามกิ่งก้าน ไม่ได้ออกเป็นรวงเหมือนต้นคูน
คูนขาว
Cassia nealiae H.S.Irwin & Barneby

คูนขาว หรือ วัชรพฤกษ์ เป็นไม้ลูกผสมระหว่าง ราชพฤกษ์ กับ กัลปพฤกษ์ ดอกเลยมีลักษณะเหมือนดอกคูนแต่เป็นสีขาว ช่วงแรกที่ดอกออกใหม่ ๆ จะเป็นสีเหลืองอ่อนแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีขาว ถ้าขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดจะกลายเป็นสีเหลือง ส่วนใหญ่เลยขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอดลงบนต้นคูน ดังนั้นต้องระวังไม่ให้ตาที่โคนแตกกิ่งออกมา ไม่อย่างนั้นต้นของเขาจะมีดอกสีเหลืองด้วย เวลาที่ออกดอกเต็มต้นจะให้ความรู้สึกเหมือนต้นคูน เพียงแต่ดอกเป็นสีขาว ซึ่งให้ความรู้สึกพิเศษไปอีกแบบ
แคฝรั่ง
Gliricidia sepium (Jacq.) Kunth ex Walp.

แคฝรั่ง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่โตเร็ว นิยมใช้ปลูกประดับ และเนื่องจากเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีคุณสมบัติตรึงไนโตรเจนลงสู่ดินได้ จึงเหมาะในการปลูกเพื่อบำรุงดินด้วย ออกดอกเป็นช่อ มีทั้งสีขาว สีชมพูเต็มต้น ดอกรสชาติหอมหวาน เอามากินกับน้ำพริกได้ เป็นอีกต้นที่น่าปลูกประดับมาก
ศรีตรัง
Jacaranda mimosifolia D. Don

ศรีตรังเป็นต้นไม้จากอเมริกาใต้ นำมาปลูกครั้งแรกในเมืองไทยที่จังหวัดตรัง เลยได้ชื่อว่า ศรีตรัง จุดเด่นคือดอกสีม่วงที่ออกเป็นช่อกระจุกตามปลายกิ่งทั่วทั้งต้น และด้วยความที่ใบละเอียด จึงได้ความโปร่งให้แสงลอดลงมาได้ ใช้จัดสวนอังกฤษได้ด้วย
ติ้ว
Cratoxylum formosum (Jacq.) Benth. & Hook.f. ex Dyer


ติ้วที่แนะนำให้ปลูกเป็นชนิดเดียวกับที่เรียกกันว่าผักติ้วซึ่งเรากินยอดนั่นเอง ติ้วเป็นไม้ยืนต้นที่สูงได้ถึง 12 เมตร ยอดใบอ่อนสีชมพูแดง นอกจากใช้ใบเป็นอาหารแล้ว ยังมีดอกสีชมพูอ่อนถึงแดง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ซึ่งออกในช่วงฤดูหนาว ออกเต็มต้นไม่แพ้ชนิดอื่น ๆ แต่พิเศษกว่าต้นอื่นตรงที่ดอกมีกลิ่นหอม และใบกินได้ ปลูกติดบ้านไว้ได้ใช้ประโยชน์หลายอย่างแน่นอน