สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้เรียนมาทางนิติศาสตร์ แค่นึกถึงว่าต้องไปปรึกษาข้อกฎหมายกับทนายความก็น่าปวดหัวแล้ว แต่ลองจินตนาการว่า ถ้าคุณเป็นคนหูหนวก แล้วต้องสื่อสารกับทนายความผ่านล่าม ทุกอย่างจะยิ่งซับซ้อนไปอีกขั้น ยิ่งภาษากฎหมายที่มีศัพท์เฉพาะมากมาย ก็ไม่ง่ายที่จะหาล่ามเก่ง ๆ ที่พร้อมรับงานนี้ 

ในทางตรงข้าม จะดีแค่ไหนถ้ามีทนายความที่ว่าความในชั้นศาลและสื่อสารภาษามือกับลูกความได้โดยตรง ทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างกระชับ ฉับไว ไม่คลาดเคลื่อน – ซึ่งเท่าที่เรารู้ ทนายความที่ทำแบบนี้ได้มีอยู่เพียงคนเดียวในประเทศไทย นั่นคือ บุ๋ม-สุจิตรา พิณประภัศร์ 

สุจิตรา พิณประภัศร์ ทนายความคนเดียวในไทยที่ว่าความช่วยคนหูหนวกได้ผ่านภาษามือ

สำหรับภารกิจของผู้หญิงคนนี้ ไม่ได้มีแค่บทบาทการเป็นทนายความให้ผู้พิการทางการได้ยินบนชั้นศาลเท่านั้น แต่เธอยังเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้กฎหมายแก่คนหูหนวก อบรมให้ความรู้กับล่ามภาษามือในกระบวนการยุติธรรม เป็นทนายความอาสาให้คำปรึกษาฟรีแก่ประชาชนภายใต้สภาทนายความ เป็นล่ามภาษามือให้ช่อง 7HD ไปจนถึงให้คำปรึกษาผ่านเพจ ‘สำนักงานพิณประภัศร์ ทนายความ

และวันนี้เป็นโอกาสดีที่เธอสละเวลาว่างช่วงสั้น ๆ จากภารกิจรัดตัวมานั่งคุยกับเรา ซึ่งเราเชื่อว่า มุมมองและประสบการณ์ของเธอจะทำให้หลายคนมองคนหูหนวกในมุมใหม่ และยังอาจเป็นแรงบันดาลใจให้นักกฎหมายอีกหลายคน

สุจิตรา พิณประภัศร์ ทนายความคนเดียวในไทยที่ว่าความช่วยคนหูหนวกได้ผ่านภาษามือ

แตกต่าง – เหมือนกัน

หากย้อนกลับไปสมัยมัธยมปลาย สุจิตราไม่ต่างอะไรจากนักเรียนอีกหลายคนในประเทศนี้ที่มีความฝันอยากเข้าคณะนิติศาสตร์เพื่อเป็นผู้พิพากษา อัยการ แต่สิ่งที่ทำให้เธอแตกต่าง คือเหตุการณ์เล็ก ๆ ในวันหนึ่งที่อาจเป็นเรื่องปกติธรรมดามากสำหรับคนทั่วไป แต่กลายเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของอีกความฝันหนึ่งของเธอ 

“ตอนใกล้ ๆ เรียนจบ วันหนึ่งมีคนหูหนวกมาเยี่ยมชมโรงเรียน นั่นเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นพวกเขา ก็ทำให้เราเริ่มสนใจว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ภาษาไม่เหมือนเรานะ เราเลยคิดว่าถ้าเราเป็นนักกฎหมายที่ใช้ภาษามือได้ด้วยก็น่าจะดี เพราะจะได้ช่วยสื่อสารและทำประโยชน์ให้พวกเขาได้” 

และนั่นจึงเป็นเหตุผลง่าย ๆ ที่ทำให้สุจิตราตัดสินใจเลือกเรียนปริญญาตรีควบ 2 หลักสูตรพร้อมกัน นั่นคือหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามความฝันตั้งต้น พ่วงด้วยหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันด้านการศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการ และศูนย์กลางเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในประชาคมอาเซียน

“หลักสูตรหูหนวกศึกษา เขาสอนเกี่ยวกับคนหูหนวกทั้งหมด ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของคนหูหนวก วัฒนธรรมคนหูหนวก วิธีการเรียนรู้ของเขา วิธีการเรียนการสอน ภาษามือ ซึ่งคนที่เรียนหลักสูตรนี้จบไปเป็นได้ทั้งครูและล่าม” 

สุจิตราอธิบายพร้อมบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ได้เรียนรู้จากวิทยาลัยนี้ไม่ได้มีแค่เนื้อหาในตัวหลักสูตร แต่คือการได้มี ‘เพื่อน’ เป็นคนหูหนวกจริง ๆ จากนโยบายของวิทยาลัยที่จับคู่ให้นักศึกษาหูดีกับนักศึกษาหูหนวกมาเป็นรูมเมตกัน 

สุจิตรา พิณประภัศร์ ทนายความคนเดียวในไทยที่ว่าความช่วยคนหูหนวกได้ผ่านภาษามือ

“ช่วงแรก ๆ ตกใจและทำตัวไม่ถูกนะ ตอนนั้นภาษามือก็ยังไม่คล่อง กังวลว่าจะคุยกันยังไง แต่มนุษย์คือการปรับตัวเข้าหากัน เราเองพยายามสื่อสารกับเขา เช่นเดียวกับเขาที่ก็พยายามสื่อสารกับเรา พอเราพบกันครึ่งทาง สุดท้ายก็สื่อสารกันได้ ไม่ว่าจะด้วยท่าทางธรรมชาติหรือการเขียน” ซึ่งเธอให้คำแนะนำง่าย ๆ สำหรับคนที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับคนหูหนวกเป็นครั้งแรกว่ามีเคล็ดลับข้อเดียว คือไม่ต้องกลัว 

“การคุยกับคนหูหนวกไม่ต่างอะไรจากการคุยกับคนต่างชาติ ถ้าเราพูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง เราก็กลัวเป็นธรรมดา แต่ถ้าเปิดประตูให้ตัวเองไปสื่อสารกับเขา ไม่กลัวที่จะเข้าหา สุดท้ายเราก็จะสื่อสารกันได้ ซึ่งภาษามือส่วนใหญ่ที่เราได้ก็มาจากรูมเมตที่เป็นคนสอนเรามากกว่าในห้องเรียนอีก โดยในห้องเรียนจะเป็นระดับวิชาการ โครงสร้างไวยากรณ์ แต่ที่ใช้สื่อสารได้จริง ๆ ก็มาจากการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมากกว่า” 

การได้เป็นเพื่อนกับคนหูหนวกนี่เองที่ทำให้เธอได้เปลี่ยนมุมมองต่อพวกเขาใหม่ จากที่เคยรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้น่าสงสาร มีอะไรบางอย่างไม่สมบูรณ์ กลายมาเป็นการมองว่าพวกเขาก็คือคนธรรมดาที่มีข้อดี ข้อด้อย จุดแข็ง จุดอ่อน ไม่ต่างอะไรจากคนทั่วไป แม้เขาอาจมีอะไรไม่สมบูรณ์ในมุมหนึ่ง แต่พวกเราเองก็อาจมีอะไรไม่สมบูรณ์ในบางมุมเช่นกัน

“พอได้มาใช้ชีวิตร่วมกับเขาจริง ๆ เรามองว่าเขาคือเพื่อนคนหนึ่งที่สื่อสารกับเราในอีกภาษา เขาก็มีความสามารถบางอย่างที่เขาทำได้ แต่เราทำไม่ได้ เช่นเดียวกับที่เราทำบางอย่างได้ แต่เขาทำไม่ได้ คนก็มีหลากหลายแบบ หลากหลายเพศ หลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายศาสนา คนพิการก็คือหนึ่งในความหลากหลายนั้น เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกับเรา และเราก็ไม่เคยรู้สึกว่าเขาเป็นคนพิการอีกเลยนับตั้งแต่นั้นมา” 

สุจิตรา พิณประภัศร์ ทนายความคนเดียวในไทยที่ว่าความช่วยคนหูหนวกได้ผ่านภาษามือ

กำแพงแห่งการเข้าถึง

แม้คนหูหนวกจะมีความสามารถและทักษะหลายอย่างไม่ต่างอะไรจากคนทั่วไป แต่กำแพงใหญ่ที่สุดของพวกเขาคือการสื่อสาร 

ในขณะที่ในชีวิตประจำวันทั่วไป พวกเขาอาจใช้วิธีเขียนหรือท่าทางตามธรรมชาติทดแทนได้ แต่หากพูดถึงเรื่องกฎหมายที่ภาษายาก ซับซ้อน ชนิดที่คนทั่วไปก็อ่านไม่ค่อยเข้าใจอยู่แล้ว การมีคนอธิบายให้ฟังย่อมเข้าใจง่ายกว่าการอ่านเอง แต่ปัญหาคือคนที่จะมาอธิบายให้คนหูหนวกฟังกลับไม่ค่อยมี 

“ระดับความรู้ความเข้าใจกฎหมายระหว่างคนหูหนวกกับคนหูดีก็ไม่ต่างกัน เวลาคนหูดีมีปัญหาต้องปรึกษาทนายความ แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดของคนหูหนวกคือการเข้าถึงมากกว่า เช่น เวลาคนหูดีอยากรู้เรื่องอะไร ก็มีสื่อ มีคลิป มีช่องทางมากมาย แต่คนหูหนวกล่ะ สื่อที่เขาเข้าถึงได้มีขนาดไหน เพราะไม่ใช่ทุกคลิปที่จะมีภาษามือหรือซับไตเติล หรือถ้าคนหูดีอยากปรึกษาทนายความ แค่ยกหูโทรศัพท์แล้วปรึกษาได้เลย แต่คนหูหนวกต้องติดต่อล่ามอีก นั่นคือเขาต้องการตัวช่วยมากขึ้นในการเข้าถึง” 

นั่นแปลว่าหากมีทนายความที่สื่อสารภาษามือได้ก็จะช่วยลดความยุ่งยากตรงนี้ได้มากทีเดียว แต่นักกฎหมายอย่างสุจิตราไม่เพียงทำหน้าที่นี้ในชั้นศาลหรือในขั้นให้คำปรึกษาเท่านั้น เธอยังทำหน้าที่ในฐานะวิทยากรเดินสายให้ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นให้ความรู้ทางกฎหมายเบื้องต้นแก่คนหูหนวก ไปจนถึงอบรมให้ความรู้กับล่ามภาษามือในกระบวนการยุติธรรม 

สุจิตรา พิณประภัศร์ ทนายความคนเดียวในไทยที่ว่าความช่วยคนหูหนวกได้ผ่านภาษามือ
สุจิตรา พิณประภัศร์ ทนายความคนเดียวในไทยที่ว่าความช่วยคนหูหนวกได้ผ่านภาษามือ

“ด้วยความที่เราเรียนการศึกษาสำหรับคนหูหนวกมา จึงรู้ว่าวิธีการเรียนรู้ของเขาเป็นยังไง เราอธิบายโดยใช้วิธีบรรยายแบบคนหูดีไม่ได้ เพราะเขาเรียนรู้ด้วยตากับภาพเป็นหลัก การบรรยายโดยอัดข้อมูลอย่างเดียวด้วยคำศัพท์ยาก ๆ ไม่มีประโยชน์ เราต้องปรับวิธีบรรยายและรูปแบบกิจกรรมให้ตรงกับวิธีเรียนรู้ของเขา เช่น มีตัวอย่างให้เห็นภาพ เอาของจริงมาให้ดู”

เธอยกตัวอย่างว่า ถ้าจะบรรยายเรื่องสัญญากู้ยืม ต้องนำตัวอย่างสัญญาฉบับจริงมาให้เห็นว่าหน้าตาเป็นแบบไหน เขาต้องเซ็นตรงไหน และมีกิจกรรมให้ลองเขียนสัญญากู้ยืมจริง ๆ ซึ่งด้วยวิธีเหล่านี้ทำให้การอบรมได้ผลตอบรับที่ดีมาก จนเธอกลายเป็นวิทยากรคิวทองที่ได้รับเชิญไปอบรมทั่วประเทศ

“สิ่งที่ทำให้เราดีใจ คือทำให้คนหูหนวกหลายคนเข้าถึงความรู้มากขึ้น บางคนบอกว่า ทั้งชีวิตเพิ่งจะมาเข้าใจเรื่องนี้ในวันนี้ หรือบางคนที่มีปัญหาเรื่องกฎหมายมาหลายปีแต่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ ทีมเราก็ไปช่วยแก้ปัญหาจนสำเร็จ”

เธอยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่เป็นความประทับใจ ที่จริงแล้วไม่ใช่คดียากเลยสำหรับคนเป็นทนายความ แต่สำหรับคนหูหนวกที่มีข้อจำกัดเรื่องการสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลแล้ว เขาต้องทนทุกข์กับมันมาหลายปี 

“เคสนี้พ่อเขาเสียชีวิตและทิ้งพินัยกรรมไว้ให้เขาเป็นผู้จัดการมรดก และเขาก็มีสิทธิ์ได้รับมรดก โดยพ่อมีเงินในบัญชี มีที่ดิน มีบ้าน มีทรัพย์สินให้เขา แต่เขาจัดการไม่ได้เพราะเป็นชื่อพ่อ ไปธนาคารก็เบิกเงินไม่ได้ ไปที่ดินก็จัดการอะไรไม่ได้ เจ้าหน้าที่บอกให้เขาไป ‘จัดการมรดก’ ก่อน ซึ่งเขาไม่เข้าใจว่าคืออะไร ต้องทำยังไง เขาก็ถือพินัยกรรมไปที่นั่นที่นี่อยู่ 4 – 5 ปี ไม่มีใครช่วยได้ จนเราได้เจอเขาในงานบรรยาย เขาหอบพินัยกรรมมาและยกมือถามในห้องว่าจะทำยังไงดี เราก็บอกว่าเดี๋ยวจัดการให้ คือมันง่ายมากสำหรับเรา แต่คือเรื่องยากมากสำหรับเขา”

และด้วยเหตุการณ์เล็ก ๆ ที่เปลี่ยนชีวิตคนได้นี่เอง เป็นคุณค่าของวิชาชีพที่ทำให้เธอมีแรงผลักดันและกำลังใจในการทำงานต่อไป

สุจิตรา พิณประภัศร์ ทนายความ 2 In 1 ที่ทั้งว่าความในชั้นศาลและสื่อสารภาษามือได้ในคนเดียวกัน

This – Ability Society

เมื่อมองในบริบทสังคมที่กว้างขึ้น สุจิตรามองว่าสิ่งที่สังคมต้องมี คือสภาพแวดล้อมที่โอบรับสำหรับทุกความแตกต่าง ดังเช่นที่บางคนอาจเคยได้ยินว่า คนพิการในประเทศที่เจริญแล้วจะไม่รู้สึกว่าตัวเองพิการ เนื่องจากสภาพสังคมมีสิ่งเอื้ออำนวยให้พวกเขาใช้ชีวิตพึ่งพาตนเองได้ ไปไหนมาไหนได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป ไม่ว่าเขาจะพิการแบบไหน

“ความพิการไม่ได้อยู่ที่ตัวคน แต่อยู่ที่สภาพแวดล้อมมากกว่า ถ้าสภาพแวดล้อมปลดล็อกได้ ตัวเขาก็ปลดล็อกได้ แต่สังคมไทยทุกวันนี้ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมากนะ แม้จะยังไม่สมบูรณ์ 100% เพราะหลายอย่างต้องอาศัยเวลาค่อย ๆ ปรับไป จริง ๆ กฎหมายสำหรับคนพิการของไทยถือว่าดีแล้ว อย่างเช่นอาคารสถานที่ ทุกวันนี้ก็มีข้อบังคับว่าต้องมีทางลาดหรือห้องน้ำคนพิการ แต่สำหรับอาคารเก่าต้องค่อย ๆ ปรับไป หรือในเรื่องการจ้างงาน สวัสดิการต่าง ๆ ก็มีกฎหมายครอบคลุมเช่นกัน”

เธอยกตัวอย่างหนึ่งในสวัสดิการคนพิการที่หลายคนไม่เคยรู้ เช่น ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ระบุว่าคนพิการมีสิทธิ์ขอทนายความหรือล่ามภาษามือได้ฟรี ส่วนค่าธรรมเนียมศาลหรือเงินประกันตัวก็เบิกกับภาครัฐได้ โดยยื่นคำร้องที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือติดต่อผ่านทางศูนย์บริการของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดต่าง ๆ 

“ถ้ามองเฉพาะเรื่องของคนหูหนวก เขาติดขัดแค่เรื่องการสื่อสารเท่านั้น สิ่งที่สังคมจะทำได้คือช่วยสนับสนุนเครื่องมือให้มากขึ้น ไม่ว่าซับไตเติลหรือล่ามภาษามือ ซึ่งทุกวันนี้ก็มีมากขึ้น รวมถึงล่ามออนไลน์ผ่านวิดีโอคอลก็มีมากขึ้นแล้ว แต่ปริมาณยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ”

สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ว่ายังมีคนหูหนวกอีกมากมายที่ต้องการเข้าถึงที่ปรึกษาด้านกฎหมาย แต่ผู้ให้คำปรึกษายังมีไม่พอ คือจำนวนคนที่ติดต่อเข้ามาในกล่องข้อความของเพจ สำนักงานพิณประภัศร์ ทนายความ ล้นทะลักจนตอบแทบไม่ทัน แม้เธอจะมีทีมทนายความมาช่วยตอบหลังบ้าน แต่ก็ช่วยแทนทั้งหมดไม่ได้ เนื่องจากผู้รับคำปรึกษาส่วนใหญ่อยากคุยแบบวิดีโอคอลมากกว่า 

“บางครั้งการตอบแชตด้วยการพิมพ์ เขาก็ไม่เข้าใจ 100% หรือเวลาเขาเล่าปัญหา เขาก็ต้องเล่าทั้งหมดเราถึงจะแนะนำได้ ซึ่งการเล่าด้วยภาษามือจะทำให้เขาสื่อสารได้ครบถ้วนกว่า ทำให้แต่ละเคสต้องใช้เวลามาก เราคนเดียวทำไม่ค่อยทัน” 

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการอบรมภาษามือเบื้องต้นในหลักสูตร 21 วันให้ทีมทนายความหลายคน จนทำให้พวกเขาเป็นผู้ช่วยวิทยากรในการอบรมได้ แต่ภาษามือไม่ต่างอะไรจากภาษาอื่น ๆ ที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนกว่าจะไปถึงระดับที่ใช้งานได้ลื่นไหลและสื่อสารในเรื่องที่ซับซ้อนขึ้นได้ 

“เป้าหมายในอนาคตถ้าเป็นไปได้ คือเราอยากทำศูนย์บริการสำหรับคนหูหนวกโดยเฉพาะ เพื่อให้เขาเข้าถึงความรู้และข้อกฎหมายมากขึ้น”

และเช่นเดียวกับคนที่ทำงานด้านคนพิการอีกหลายคนที่ยืนยันว่าสิ่งที่สังคมควรมอบให้คนพิการมากที่สุดไม่ใช่ความสงสาร แต่คือโอกาสที่เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะในเรื่องไหนหรือประเด็นใด 

“อีกเรื่องที่เราอยากให้สังคมรับรู้ คือเราจะไม่เรียกเขาว่าคนใบ้เพราะถือว่าไม่สุภาพ อันนี้ซีเรียสมาก เพราะคำว่า ‘ใบ้’ เหมือนบ้าใบ้ สื่อสารไม่ได้ ทั้งที่จริงแล้วพวกเขาสื่อสารได้ปกติ เพียงแต่พวกเขาใช้อีกภาษาหนึ่ง แต่เราเรียกเขาว่าคนหูหนวกหรือคนพิการทางการได้ยินได้ เขายอมรับตรงนี้”

และสุดท้าย สิ่งที่เธออยากฝากจากประสบการณ์ทำงานร่วมกับคนหูหนวกมานับ 10 ปี คืออยากให้สังคมมองว่าคนหูหนวกเป็นคนคนหนึ่งไม่ต่างอะไรจากเรา เป็นหนึ่งในหลากหลายเฉดสีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งทุกคนควรมีสิทธิ์เข้าถึงโอกาส ข้อมูล ความรู้ และสิ่งต่าง ๆ เท่าเทียมกัน

สุจิตรา พิณประภัศร์ ทนายความ 2 In 1 ที่ทั้งว่าความในชั้นศาลและสื่อสารภาษามือได้ในคนเดียวกัน

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ