‘โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี’ ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่แต่เดิมเป็นสวนส้มบางมด ทั้งห่างไกล ใช้เวลาเดินทางนาน ต่อให้ขับรถส่วนตัวไปก็ยังแอบบ่นว่าลำบาก 

ทำไมถึงต้องส่งลูกหลานมาเรียนไกลถึงเพียงนี้ – เราคิดระหว่างหักเลี้ยวหลบสุนัขหลายตัวที่นอนอยู่บนถนน อาจเป็นความผิดของ Google Maps ที่เลือกเส้นทางคดเคี้ยวเพื่อหลีกหนีรถติดยามเที่ยง จนวิวสองฝั่งให้ความรู้สึกเหมือนกำลังหลงทางอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

แต่ขนาดมีอุปสรรคถึงเพียงนี้ ดร.ศรายุทธ รัตนปัญญา ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี คนปัจจุบัน ยังบอกว่าพวกเขามีนักเรียนทั้งหมดตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 มากถึง 3,700 คน ภายใต้การดูแลของบุคลากรอีก 200 ชีวิต ซึ่งกว่า 40 ชีวิตเป็นครูชาวต่างชาติ มีหลักสูตรการเรียนให้ผู้ปกครองช้อปปิ้งมากถึง 6 หลักสูตร ตั้งแต่หลักสูตรทั่วไป, IEP, Mini English Program, English Program จนถึง Robotic & AI และ International Programme ที่ใช้หลักสูตรของ Cambridge Assessment International Education ทั้งการเรียน การสอน จนถึงการสอบ A-Level และ IGCSE ที่ใช้มาตรฐานเดียวกับทั่วโลก

ศรายุทธ รัตนปัญญา ผอ.สวนกุหลาบธนฯ รร.รัฐที่มีหลักสูตร AI ไปจนถึงธุรกิจอาหารมาตรฐานโลก

แค่รู้ว่าโรงเรียนรัฐบาลมีทางเลือกหลากหลายก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้นแล้ว แต่เมื่อได้เห็นกับตาว่านักเรียนที่นี่มีห้องครัวสำหรับหลักสูตรธุรกิจอาหารที่ทั้งใหญ่และพร้อมจัดรายการ MasterChef Thailand ก็ยิ่งอิจฉา ไหนจะห้องเพาะเชื้อที่นักเรียน ม.3 กำลังเพาะพันธุ์ส้มบางมดไม่ให้หายไป ไหนจะห้อง AI ที่มีอุปกรณ์ระดับอุตสาหกรรมให้ลองใช้ตั้งแต่อยู่มัธยม และคอนเสิร์ตที่จัดเอาใจนักเรียนถึงปีละ 2 ครั้ง!

ทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากผู้บริหาร ‘ไม่คิดนอกกรอบ’ ซึ่ง ผอ.ศรายุทธ ไม่ใช่แค่อดีตนักดนตรีผู้มีความครีเอทีฟขั้นสุด แต่ประสบการณ์ครู 32 ปี ผู้บริหาร 19 ปี ใน 7 สถานศึกษา จากสุพรรณฯ ถึงกรุงเทพฯ และความลำบากขนาดต้องขับรถขอรับบริจาคอาหารให้เด็กนักเรียน กลับกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทัศนคติในการยกระดับโรงเรียนของเขาไม่เหมือนใคร และมั่นใจว่าไม่มีใครเหมือน เมื่อ ‘ยุคใหม่ของการศึกษามาถึงแล้ว’

? กว่าจะนิ่งครูก็กลิ้งมาก่อน ?

เด็กชายศรายุทธใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพักครู โดยมีคุณพ่อเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนและเป็นไอดอลที่ทำให้เลือกเดินบนเส้นทางข้าราชการครูตาม โดยเขาชื่นชอบการเล่นดนตรีมาตั้งแต่มัธยม ตระเวนเล่นตั้งแต่ในเมืองจนถึงป่าเขา เมื่อมั่นใจจึงเข้าเรียนที่วิทยาลัยครูจันทรเกษมที่มี อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี อดีตสมาชิกวงคาราบาว เป็นครู และ หนู มิเตอร์ เป็นรุ่นพี่ 

นายศรายุทธใช้ชีวิตนักดนตรีไปเรื่อย แสดงดนตรีตั้งแต่ 1 ทุ่มจนถึงตี 5 เสร็จแล้วไปเรียนต่อ ทำอย่างนั้นนานนับเดือน จนได้สอบบรรจุเป็นครูดนตรีสมใจ

ชีวิตในโรงเรียนแห่งแรกที่รอการบรรจุนานถึง 2 ปีเป็นอย่างที่คิดไว้ไหม

โชคดีโรงเรียนดอนคาวิทยาอยู่ในดินแดนแห่งเสียงเพลง จังหวัดสุพรรณบุรี ผมก็ได้ทำวงสมใจ สบายเลย มีแต่เด็กเรียนดนตรี แต่อยู่ได้ 3 ปี ผมก็คิดว่าการเป็นครูดนตรีถึงจุดอิ่มตัว เด็กจบไปรุ่นใหม่ก็เข้ามา การฝึกซ้อมวนซ้ำไปเรื่อย ๆ เลยตัดสินใจเปลี่ยนสายไปเรียนปริญญาโท เอกบริหารการศึกษา แล้วสอบไปเป็นรองผู้อำนวยการ

เห็นว่าคุณสอบได้ที่ 1 ด้วย คงได้ไปโรงเรียนขนาดใหญ่ ไม่ก็ใหญ่พิเศษ

ผมไม่ไป (หัวเราะ) ผมเลือกไปโรงเรียนเล็ก ๆ ที่เคยอยู่ในอำเภอสองพี่น้อง เพราะผมอยากเรียนรู้งานของทุกฝ่าย พอเป็นรอง ผอ. ได้ 6 เดือน เขาก็ประกาศสอบผู้อำนวยการ ผมได้ที่ 5 แต่กลายเป็นว่าคนที่ได้ลำดับ 6 – 10 เขาได้โรงเรียนใหญ่หมดเลย 

ผมเลือกไม่ได้ เขาส่งไปโรงเรียนตลาดขุนขยัน อยู่กลางทุ่ง มีเด็ก 30 คน ครู 5 คน ไม่มีเงินสักบาท อาหารกลางวันเด็กก็ไม่มี แถมมีหนี้ค่าไฟอยู่ 4,000 – 5,000 บาท

คุณทำอย่างไรเพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้

ผมขับกระบะตระเวนตามวัดขอข้าวสาร กะปิ น้ำปลา ดีที่ชาวบ้านเขาเป็นศิษย์เก่าและรักโรงเรียน เขาก็เอาผัก เอาปลามา เราขอให้ผู้ปกครองช่วยกันผลัดเวรทำอาหารให้เด็ก ๆ กิน นี่คือการอยู่รอดในยุคนั้น

ผมเป็นทั้ง ผอ. แล้วก็ไปเรียนปริญญาเอกเลยเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อน ๆ ฟัง เขาสงสาร บริจาคเงินมา 3 – 4 หมื่นบาท ผมก็เอาไปบริหารอาหารกลางวัน แล้วก็ขอความอนุเคราะห์ไปที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ระยอง ได้เครื่องคอมพิวเตอร์ IBM มา 20 เครื่อง ผมสอนเองไปเลย เป็นครูดนตรีที่สอนคอมพิวเตอร์ได้ด้วย (หัวเราะ)

เห็นว่าผอ.ย้ายไปบริหารโรงเรียนขยายโอกาสฯ แต่เจออุปสรรคใหม่ที่ถึงขั้นทำให้เป็นหนี้ด้วย เกิดอะไรขึ้น

ตอนนั้นผมเป็น ผอ. คนแรกที่ไปเปิดโรงเรียนขยายโอกาสฯ ที่โรงเรียนวัดเขาพนมนาง อยู่ระหว่างสุพรรณบุรีกับกาญจนบุรี มีแต่ดงอ้อย ชุมชนก็มีผู้ปกครองชาวเมียนมาเข้ามาเป็นแรงงานเยอะมาก แน่นอนว่าไม่มีเด็กมาเรียน ผมเลยลงพื้นที่ทำการบ้าน หาเด็กมาได้ 30 คน เกินครึ่งเป็นเด็กเมียนมา ผมต้องไปรับรองให้เด็กเข้าระบบกับทางอำเภอ แต่ปัญหาต่อมา คือเขาไม่รู้จะมาเรียนได้ยังไง

ผมก็ไปกู้เงินสหกรณ์มาซื้อรถตู้ ขับรถพาเด็กมาเรียนเพื่อให้เปิดเรียนในระดับชั้น ม.1 ได้ แต่อุปสรรคไม่ได้มีแค่นั้น อาหารกลางวันหัวละประมาณ 15 บาท ผมต้องทำอาหารกลางวันให้มีคุณภาพเท่าเดิม โดยยังต้องหาเงินไปจ้างครูและเป็นค่าน้ำมันรถ ต้องทอดผ้าป่าเพื่อหาเงินจ้างครูทุกปีด้วย

นั่นคือชีวิตผู้บริหารที่ปัจจุบันก็ยังมีให้เห็น เพราะเงินยังคงไม่พอ

คิดว่าโรงเรียนไหนที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของคุณให้กลายมาเป็น ผอ. สุดครีเอตแบบนี้

โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) ท่านมีนโยบายส่งนักเรียนไปจีน ซึ่งทางจีนก็มีนโยบาย One Belt, One Road หรืออี้ไต้อี้ลู่ (Yi Dia Yi Lu) ที่มองว่าเส้นทางสายไหมไม่ใช่แค่การคมนาคม แต่เป็นเส้นทางการศึกษาที่จะพัฒนาต่อยอดในระบบเศรษฐกิจของจีน

ผมรับผิดชอบเด็กมัธยมไทยที่ได้ทุนไปเรียนจีน นับเป็นการเปิดมุมมองที่ทำให้เห็นว่าการศึกษาไปไกลได้มากกว่านี้

32 ปีกับการบริหาร 7 โรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมสอนอะไรคุณบ้าง

สอนให้ผมรู้ว่าการศึกษามันเปลี่ยนแล้ว จะบริหารแบบเดิมไม่ได้อีก

การเป็นอดีตนักดนตรีช่วยเรื่องการบริหารของคุณบ้างไหม

แน่นอนครับ ผมมีความครีเอทีฟ โปรเจกต์ในหัวเยอะมาก ไม่ค่อยคิดเหมือนชาวบ้าน พอมาที่สวนกุหลาบฯ ธนฯ การเงินเรามั่นคง เราก็ส่งเสริมเด็ก ๆ ได้เต็มที่ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี

นี่ผมอยากเล่าแล้วนะว่าผมครีเอทีฟขนาดไหน (หัวเราะ)

?ถ้าไม่ใช่ครู ถ้าไม่ใช่ครูจะเป็นใครแทน?

จากครูภูธรสู่ครูกรุงเทพฯ ดร.ศรายุทธ ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี ซึ่งตำแหน่งนี้มีความท้าทายหลายอย่างรออยู่ โดยเฉพาะรากฐานที่วางมาดีแล้ว เขาต้องสานต่อให้สมกับที่ทุกคนคาดหวังด้วยการดึงจินตนาการและความเชื่อมั่นออกมา

เราถาม ผอ. ว่ามีใครที่ไม่เชื่อในตัวเขาบ้างไหม เพราะหลักสูตรบางอย่างอาจฟังดูยากที่จะเกิดขึ้น เขาตอบว่าไม่มี เป็นหน้าที่ของเขาที่จะทำให้ทุกคนมั่นใจ จากนั้นจึงเดินต่อไปด้วยกัน

คุณมาบริหารงานในช่วงโควิด-19 พอดี มองปัญหาและจัดการอย่างไร

ผมเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ยุคนั้น AI เข้ามา เป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าเอามาทำหลักสูตรเพื่อให้ผู้ปกครองเลือกช้อปปิ้ง เราเปิดหลักสูตร Robotic & AI ซึ่งมีศิษย์เก่าของสวนกุหลาบฯ เป็นเจ้าของกิจการและเป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมาเสนอ เขาบอกว่าทุกปีที่เปิดบริษัทมาต้องเทรนด์วิศวกร ตอนนี้ไม่อยากเทรนด์แล้ว เขาอยากให้โรงเรียนผลิตเด็กด้านวิศวกรรมออกมา และบริษัทรับเข้าทำงานเลย

เราก็ได้ทุนซื้อหุ่นยนต์ ROBBO จากฟินแลนด์และส่งครูไปเรียนกับศาสตราจารย์ที่นั่นโดยอบรมในระบบออนไลน์ เลยเกิดเป็นหลักสูตร Robotic & AI นอกจากนี้เรายังทำ MOU กับ มจธ. สร้างหลักสูตรใหม่ ตอนนี้เปิดมาแล้ว 3 ปี เด็กเก่งได้รางวัลต่างประเทศมาเพียบ

ศรายุทธ รัตนปัญญา ผอ.สวนกุหลาบธนฯ รร.รัฐที่มีหลักสูตร AI ไปจนถึงธุรกิจอาหารมาตรฐานโลก
ศรายุทธ รัตนปัญญา ผอ.สวนกุหลาบธนฯ รร.รัฐที่มีหลักสูตร AI ไปจนถึงธุรกิจอาหารมาตรฐานโลก

จากที่ผ่านมา คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ผู้ปกครองเกิดความไว้วางใจมากขึ้น

เขาต้องเห็นว่าเราพัฒนา อย่างหลักสูตรที่เล่าไปก็ไม่เพียงพอ เรามีพาร์ตเนอร์ที่เป็นมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ คุณเชื่อถือเราได้ อย่างตอนนี้ทาง Harbin Engineering University เขาเปิดหลักสูตรหุ่นยนต์ใต้น้ำ เราก็บอกเขาเลยว่าเมษายนนี้จะขอส่งเด็กไปเรียน

สิ่งสำคัญของการบริหารการศึกษาในปัจจุบันคืออะไร

ต้องดู ‘เทรนด์’ เรามีแผนระยะ 5 ปีอยู่แล้ว เวลาสร้างหลักสูตรก็ต้องสร้างความเชื่อมั่น เพราะหลายที่ไปต่อไม่ได้ เปิดแล้วก็ปิด เราโชคดีที่ได้ครูเก่งเด็กเก่ง เหลือแค่เอาเทคโนโลยีมาบริหารจัดการ แล้วก็ต้องไปให้สุดทุกด้าน 

อย่างเรื่องดนตรี ผมให้เด็กไปแข่งรายการ ชิงช้าสวรรค์ โดยเชิญวิทยากรเก่ง ๆ มาช่วยซ้อมให้ทุกวัน ใครชอบก็ไป มันต้องมีความหลากหลาย ‘เรียนใช่ ใจชอบ ตอบโจทย์’

แต่เทรนด์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คุณทำอย่างไรให้หลักสูตรเหล่านี้พร้อมยืดหยุ่นสำหรับการเปลี่ยนแปลง

ดีที่หลักสูตร พ.ศ. 2551 และ 2560 ยืดหยุ่น โรงเรียนทั่วไปอาจมองว่าให้เป็นหลักสูตรตามกระทรวงศึกษาธิการ แต่เรามองไม่เหมือนเขา เด็กมีจุดที่ต้องพัฒนาต่างกัน เราสร้างห้องเรียนพิเศษโดยยื่นกับกระทรวงได้ แต่สำหรับเด็กที่ผู้ปกครองไม่ได้มีเงินเยอะ เราใช้วิธีเปิดจากวิชาเลือกเพิ่มเติมเอา

อย่างตอนนี้ห้องเรียนพิเศษวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ติดลมบนแล้ว ผมก็คิดต่อจนได้หลักสูตรสตาร์ทอัพ ซึ่งเด็ก EP และ Inter จะได้เรียนเศรษฐศาสตร์กันอยู่แล้ว เราเลยไปซื้อหลักสูตรมาจากออสเตรเลียเพื่อสอนเพิ่ม

ศรายุทธ รัตนปัญญา ผอ.สวนกุหลาบธนฯ รร.รัฐที่มีหลักสูตร AI ไปจนถึงธุรกิจอาหารมาตรฐานโลก

อันนี้มีแปลไทยด้วยสำหรับเด็กหลักสูตรอื่นที่ผู้ปกครองไม่ได้มีเงินจ่ายขนาดนั้น รับรองว่าเข้มข้นเหมือนกัน จะมีทั้งสตาร์ทอัพ การทำธุรกิจค้าขาย และธุรกิจอาหาร พาร์ตเนอร์ของเราคือวิทยาลัยดุสิตธานี มีเชฟที่เป็นศิษย์เก่ามาช่วยสอน และสร้างห้องทำอาหารให้นักเรียนไปเลย เปิดคาเฟ่ที่หน้าโรงเรียนให้เด็ก ๆ ได้ลองฝึกงาน เปิดขายเดือนแรกได้ 1 แสนบาท เหล่านี้คือหลักสูตรล่าสุด

ศรายุทธ รัตนปัญญา ผอ.สวนกุหลาบธนฯ รร.รัฐที่มีหลักสูตร AI ไปจนถึงธุรกิจอาหารมาตรฐานโลก
ศรายุทธ รัตนปัญญา ผอ.สวนกุหลาบธนฯ รร.รัฐที่มีหลักสูตร AI ไปจนถึงธุรกิจอาหารมาตรฐานโลก

ฟังดูเป็นหลักสูตรเชิงปฏิบัติค่อนข้างเยอะ เรื่องภาษาที่ 3 มีการสร้างหลักสูตรรองรับอย่างไรบ้าง

เรามีทั้งหลักสูตรจีน ญี่ปุ่น ที่ส่งเด็กไปศึกษาต่อต่างประเทศอยู่แล้ว นอกจากนี้ก็มีหลักสูตรภาษาอิตาลี ท่านเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยก็มาที่โรงเรียน ให้ทุนสำหรับการสอนภาษาอิตาลี เขาดีใจที่เด็กของเราตอบโต้เป็นภาษาอังกฤษได้ พูดภาษาอิตาลีได้ด้วย

ส่วนหลักสูตร International Programme ตอนนี้มีตั้งแต่ ม.1 – 6 แล้ว Cambridge Assessment International Education มีให้ทั้งหมดตั้งแต่หลักสูตร ข้อสอบ หนังสือก็ส่งมาให้ มาตรฐานนี้ถ้าสอบผ่าน เด็กไปเรียนได้ทั่วโลก บางคน ม.4 – 5 สอบเทียบได้เมื่อเรียนจบแล้ว จะไปเรียนต่อต่างประเทศเลยก็ได้

เรื่องการบริหารครู คุณดูแลบุคลากรในโรงเรียนอย่างไรบ้าง

ผมมองว่าเรามีหน้าที่จัดหางบประมาณส่งครูไปฝึกอบรม ไปดูงาน สมมติเด็กไปเรียน เราก็เจรจากับทางบริษัทที่รับจัดนักเรียนไปทัศนศึกษาว่าขอให้ครูเราไปเรียนด้วย 

สมองสำคัญคือครู AI อาจสอนเด็กได้เรื่องความรู้ แต่เรื่องคุณธรรม จริยธรรม การใช้ชีวิตยังสอนไม่ได้ ผมจึงมองว่าครูยังสำคัญ

ศรายุทธ รัตนปัญญา ผอ.สวนกุหลาบธนฯ รร.รัฐที่มีหลักสูตร AI ไปจนถึงธุรกิจอาหารมาตรฐานโลก

?จะขอก็รีบขอ อย่ารอให้ถึงปีหน้า?

ผอ.ศรายุทธ พาเราเดินชมโรงเรียนขนาดใหญ่กว่า 30 ไร่ บังเอิญว่าเรามาตอนพักเที่ยงในช่วงสอบกลางภาคของเด็ก ๆ พอดี พวกเขาจึงนั่งอ่านหนังสือ สนทนากับเพื่อนอย่างออกรสอยู่ตามอาคารและสนามกีฬา 

ตอนแรกเราคิดว่ามากับ ส.ส. ที่ลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้านเสียอีก เพราะเด็ก ๆ วิ่งเข้ามาสวัสดี ทักทาย ผอ. ของพวกเขาตลอดเส้นทาง เป็นภาพที่ประทับใจมาก

“ซารางเฮโยค่ะ ผอ.” เด็กหญิงมัธยมต้นกลุ่มหนึ่งยกแขนทำท่าหัวใจให้นายแบบที่กำลังถ่ายภาพอยู่กลางแดด ผอ.ศรายุทธ ก็ทำท่าหัวใจให้อย่างเป็นกันเอง เขาบอกว่าเด็ก ๆ ทุกคนคือลูกที่เขารักและอยากดูแล

ส่วนใหญ่เด็ก ๆ เข้ามาคุยอะไรกับ ผอ.บ้าง

โห! เยอะเลย เด็กไม่ชอบวิชานี้ ครูคนนี้ไม่โอเค ครูสอนเร็ว อยากให้พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เขามาคุยตรงกับผมเลย (หัวเราะ) ผอ. คะ จัดคอนเสิร์ตบ่อย ๆ ได้ไหมคะ หนูชอบ อะก็ได้ จัดไปเลย 2 ครั้งต่อปี

มีอะไรที่เด็ก ๆ ชอบมาขอบ้าง แล้วคุณให้ไหม

เด็กขอสนามฟุตบอล เพราะตอนนี้เราไม่มี ผมเลยจัดสร้างให้ ตอนนี้เสร็จไป 70 เปอร์เซ็นต์ อยากได้ก็ต้องได้เนอะ มีลู่วิ่งมาตรฐานให้พร้อม 

อย่างที่ 2 โรงอาหารเราไม่พอ เด็กต้องพัก 2 รอบ ตึกก็ไม่พอ ตอนนี้เลยลงทุนซื้อที่ดินเพิ่ม จะมีอาคารให้เด็กได้เรียน จะมีพื้นที่สร้างโรงอาหารอีกแห่งด้วย

คุณคุยอะไรกับคุณครูเยอะที่สุด มอบอะไรเป็นกำลังใจให้พวกเขาบ้าง

ต้องสร้างแรงจูงใจนะ ทุกปีที่นี่จะมีไปทัศนศึกษาทั้งในและต่างประเทศ โรงเรียนนี้มีครูใหม่เยอะ เราเคยเป็นครูมาก่อน เข้าใจดี เรื่องวิทยฐานะก็ต้องส่งเสริม อะไรทำให้เกิดความสะดวกต่อการทำงานของครู เราก็ทำ

เวลาผ่านไป 4 ปี คุณชอบอะไรในโรงเรียนนี้ที่สุด

บรรยากาศ ผมชอบตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้ามา ดอกไม้ที่คุณเห็น ผมก็ปลูกเอง รดน้ำเอง มีแม่บ้านคอยช่วยกัน บางทีก็ไปซื้อดอกไม้เองด้วย เพราะชอบ คาเฟ่ก็ออกแบบเองเพื่อเด็ก ๆ

เป้าหมายของคุณหรือความคาดหวังที่ตัวคุณเองอยากเห็นในโรงเรียนนี้คืออะไร

ไม่ใช่ความโด่งดัง แต่เป็นคุณภาพของเด็กที่ไปไกลระดับโลก

ถ้าเปรียบครูเป็นเรือจ้าง ตอนนี้ตำแหน่ง ผอ. เปรียบเสมือนอะไร

ผมเหมือนพ่อบ้านที่รับผิดชอบเรื่องในบ้านทั้งหมด (ยิ้ม) รู้ว่าเด็ก ๆ ลูก ๆ จนถึงแม่บ้าน หรือก็คือคุณครูต้องการอะไร ต้องไปรับฟัง ทำให้บ้านน่าอยู่ ทำอาหารอร่อย ปรุงหลักสูตรให้กลมกล่อม 

คิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้คุณเป็นผู้บริหารที่ได้ใจคนในทีม และเป็น ผอ. ที่ได้ใจนักเรียน

รู้ให้จริง ดูแลให้ดีที่สุด ทำให้นักเรียนอยู่ได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงและเต็มไปด้วยการแข่งขัน มีสงครามเศรษฐกิจรออยู่ เราต้องมองให้ถึงอนาคตว่าโลกต้องการอะไร ถ้าตอนนี้เอาแต่ย่ำอยู่ที่เดิมมันก็ไม่ใช่แล้ว

ผมว่าคำถามสำคัญไม่ใช่แค่บริหารอย่างไร แต่ทำอย่างไรให้ผู้บริหารนั่งอยู่ในใจคนได้นาน เพราะการยอมรับและช่วยเหลือกัน คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างเดินหน้า 

เราอาจต้องย้อนมองตัวเองก่อนว่า เรามองอนาคตไกลพอหรือยัง เราคิดเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดหรือยัง และเราดูแลคนรอบตัวทุกฝ่ายดีพอแล้วหรือยังที่จะให้เขาเดินไปกับเราต่อ

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ