หลายคนคงรู้จักสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘สถานีหัวลำโพง’ กันดีในฐานะ (อดีต) สถานีรถไฟหลักของประเทศ ไม่ว่าจะไปไหนมาไหนรถไฟก็จะต้องเริ่มต้นที่นี่ แม้ว่าจะมีการเปิดสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นสถานีหลักสำหรับรถไฟทางไกลแทนแล้ว สถานีกรุงเทพก็ยังไม่ละทิ้งบทบาทของตัวเองซะทีเดียว รถไฟนำเที่ยว รถไฟชานเมือง รถไฟสายตะวันออก ยังคงใช้ที่นี่ปักหลักเป็นต้นทางและปลายทาง 

ถ้าหากว่าเรามาที่หัวลำโพงแบบไม่ต้องขึ้นรถไฟ อยากชวนลองสำรวจพื้นที่ชุมชนล้อมรอบสถานีรถไฟ จะเจอร้านอาหารมากมายที่เคยเป็นที่ฝากท้องให้กับนักเดินทางในวันที่รถไฟยังคลาคล่ำในสถานีแห่งนี้ แต่เมื่อการย้ายออกของรถไฟบางขบวนซึ่งเป็นรถไฟทางไกล ทำให้นักเดินทางที่มาหาข้าวกล่องหรือมากินข้าวกลางวันข้าวเย็นก่อนขึ้นรถไฟนั้นหายไปเป็นจำนวนมาก จนตรอกซอกซอยที่เคยคับคั่งดูบางตาไปอย่างชัดเจน เหลือแต่เพียงคนในละแวกนั้นหรือพนักงาน รฟท. รฟม. ที่ยังคงฝากท้องกับร้านค้าดั้งเดิมในตรอกซอกซอยอยู่

วันนี้เราจะพาคุณเดินสำรวจซอกซอยด้านข้างสถานีกรุงเทพทั้งสองฝั่ง เพื่อดูว่าถ้าเราเดินย่ำต๊อกไปในย่านนี้ จะเจอกับร้านอาหารอะไรที่รอคอยให้เราที่กำลังหิวไปเติมเต็มของอร่อยให้เต็มท้องกันบ้าง

เริ่มจากฝั่งวัดไตรมิตรวิทยาราม ถ้าหากมากับ MRT จะตรงกับประตูทางออกหมายเลข 1 อยู่ตรงข้ามกับอาคารสถานีกรุงเทพ ให้เดินข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไป เลี้ยวซ้ายไปทางวัดไตรมิตรก็จะเจอกับซอยสุกรหรือตรอกโรงหมู ที่มาของชื่อนี้เป็นเพราะในอดีตเป็นโรงชำแหละหมูที่ขนส่งมาทางรถไฟ ในซอยนี้มีร้านอาหารตลอดทั้งแนวทุกแบบ ตั้งแต่หอยทอด ออส่วนหอยนางรม ด้านหน้าปากซอยฝั่งวัดไตรมิตร เข้าไปหน่อยเป็นร้านอาหารตามสั่ง ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง และที่ถูกปากเรามาก ๆ คือ ‘ก๋วยเตี๋ยวตรอกโรงหมู’

ภายในร้าน 1 คูหา พื้นที่ลวกก๋วยเตี๋ยวยาวกินอาณาเขตไปครึ่งร้าน พร้อมแม่ครัวหลายชีวิตที่แบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน คนหนึ่งลวกก๋วยเตี๋ยว คนหนึ่งใส่หมู คนหนึ่งปรุงรส คนหนึ่งคั่วถั่วลิสง เสียงลือเสียงเล่าอ้างบอกว่า ก๋วยเตี๋ยวที่นี่ไม่ต้องปรุงเพิ่มก็อร่อยแสงออกปาก 

เมนูตัวเด็ดของร้านนี้คือก๋วยเตี๋ยวต้มยำรสเปรี้ยวสะเด็ดสะดวง ใส่หมูชิ้น เกี๊ยวไส้หมูอวบใหญ่ทอดกรอบ พร้อมเต้าหู้ทอดกรุบ ๆ รสชาติของน้ำซุปที่ปรุงรสอย่างกลมกล่อม บอกได้คำเดียวว่าสมแล้วที่ไม่ต้องปรุงเพิ่ม ถ้าอยากลองที่เด็ดกว่านั้นก็ต้องเป็นเกี๊ยวอวบต้มยำที่ไม่มีเส้นเลย แต่ใช้เจ้าเกี๊ยวไส้หมูตัวเบ้ง ๆ แทน โดยปกติแล้วร้านนี้จะแน่นเอียดในช่วงเที่ยง เพราะนอกจากคนที่อยู่ละแวกนั้นมาฝากท้องแล้ว ยังมีมวลมหาประชาไรเดอร์ที่รับออร์เดอร์เข้ามาไม่ขาดสาย หากไม่อยากรอนานให้มาก่อนเที่ยงหรือหลังเที่ยงไปเลย

เราเดินออกมาทางปากซอยเดิมเพื่อไปกินไอศกรีมล้างปากก่อนไปเจอเมนูของคาวต่อไป ร้านไอศกรีมที่ต้องทึ่งทุกครั้งกับรสชาติที่มีมากกว่า 60 รส ในห้องแถวคูหาเดียว นี่คือร้าน ‘Scoopp by Itti’ 

เมื่อเปิดประตูเข้าไปจะเจอกับตู้ไอศกรีมโฮมเมดหลากสีสันยาวไปจนสุดร้าน จนมีคำถามในหัวว่า “จะกินอะไรดีวะ” แต่ละตู้นั้นแยกประเภทของไอศกรีมเอาไว้ ตู้แรกคือซอร์เบต์ (Sorbet) ที่ไม่มีส่วนผสมของนมเลย เป็นรสชาติผลไม้ล้วน ๆ เช่น ลิ้นจี่-สตรอว์เบอร์รีสีแดงสลับขาว สตรอว์เบอร์รี-อัญชัญ-ลิ้นจี่ สีขาวแดงน้ำเงินเหมือนธงชาติไทย กีวี่สตรอว์เบอร์รี่สีเขียวสลับแดง หรือแม้แต่รสไทย ๆ อย่างฝรั่งบ๊วยก็ปรากฏตัวอยู่ในตู้นี้

ถัดมาเป็นไอศกรีมนมรสชาติต่าง ๆ เช่น มอคค่ามินต์สีเขียวสลับน้ำตาล นมสดสีขาวนวล ชาไทย ทุเรียน กล้วยช็อก ชาเขียวบวกชาไทย ส่วนตู้ในสุดที่เป็นไอศกรีมพรีเมียมที่ราคาต่อสกู๊ปสูงขึ้นมาหน่อย มีรสชาติที่ชวนให้ลอง ทั้งป๊อปคอร์นชีส ยูสุ มาร์มาเลดส้ม ทุเรียน ซึ่งสั่งเป็นสกู๊ปตามรสที่ชอบได้ หรือจะผสมเครื่องเคียง เช่น เยลลี่ บราวนี วาฟเฟิล ก็ได้เช่นกัน 

ข้ามมาที่ฝั่งสถานีรถไฟกรุงเทพกันบ้าง ในพื้นที่ข้าง ๆ คือชุมชนซอยพระยาสิงหเสนี สมัยโบร่ำโบราณเป็นท้องร่องสวนและชุมชนชาวจีนย่านใกล้เคียงกับเยาวราช พอสถานีรถไฟหัวลำโพง (สายปากน้ำ) สร้างขึ้น บริเวณนี้ก็กลายเป็นพื้นที่คมนาคมของคนที่นั่งรถไฟมาจากสมุทรปราการจะต้องลงรถไฟที่นี่เพื่อเดินทางต่อ หลังจากที่รถไฟหลวงเปิดเดินไปอยุธยา ตัวสถานีแรกนั้นยังไม่ได้อยู่บริเวณนี้ พื้นที่ย่านวัดดวงแขและตรอกสลักหินซึ่งเป็นย่านใกล้เคียงเติบโตขึ้นได้เพราะการตั้งโรงรถจักรและโรงซ่อมบำรุงรถไฟ 

เมื่อมีที่ทำงาน มีโรงงาน ก็ต้องมีร้านค้า มีบ้านคน มีชุมชน เมื่อสถานีกรุงเทพใหม่สร้างเสร็จ ตัวอาคารที่โอ่โถงยืนคู่กับสถานีหัวลำโพงสร้างชุมชนของการเดินทางด้วยรถไฟขึ้น ท้องร่องและบ้านเรือนเปลี่ยนเป็นร้านค้าและอาคารพาณิชย์ สิ่งที่อยู่คู่กับสถานีมาช้านานก็คงไม่พ้นของกิน 

เราเดินสำรวจชุมชนซอยพระยาสิงหเสนี ร้านอาหารตามสั่งและร้านอาหารอีสานที่เคยเป็นที่ฝากท้องของผู้โดยสารยังคงอยู่ แต่ผู้เวียนแวะมากินเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาใหม่เป็นคนในละแวกนั้นและมนุษย์ออฟฟิศ ถัดมาหน่อยเป็นร้านรถเข็นขายขนมผักกาด คนแถวนั้นเรียกว่า ‘ขนมผักกาดอาม่าชอเค็ง’ 

ขนมผักกาดจัดอยู่ในหมวดขนมก็ไม่น่าใช่ ส่วนผสมล้วนแล้วแต่เป็นของคาว แต่ก็ไม่นับว่าเป็นอาหารจานหลัก เมนูนี้เป็นอาหารจีนที่ผสมผสานด้วยแป้ง หัวไชเท้า ถั่วลิสง กุ้งแห้ง ชื่อก็น่าจะมาจากหัวไชเท้านั่นแหละ ที่มาของอาหารจานนี้เป็นเพราะในอดีตเนื้อสัตว์มีราคาสูง จึงใช้แป้งมาเป็นวัตถุดิบแทน จะได้กินแล้วอยู่ท้องโดยที่ราคาไม่สูงมาก

ขนมผักกาดอาม่าชอเค็งเป็นหนึ่งในร้านเก่าแก่ อาม่าทำเมนูนี้ด้วยสูตรโบราณ ลายเซ็นคือรสชาติและเนื้อสัมผัสที่กรอบเกรียมด้านนอก นุ่มละมุนด้านใน ขนมผักกาดของอาม่าจึงครองใจลูกค้าตั้งแต่รุ่นเดอะยันรุ่นเด็ก

ไม่ไกลจากร้านอาม่าชอเค็ง มีอีก 2 ร้านที่อยากให้ลองไปฝากท้องกันดู 

ร้านแรกคือร้านก๋วยเตี๋ยวปลา ‘ลูกชิ้นปลาราชานายโอว’ กลิ่นเฉพาะของลูกชิ้นปลาหลอกล่อให้เลี้ยวเข้าไปนั่งโดยไม่ต้องคิดอะไร มองไปในหม้อก๋วยเตี๋ยว คือควันสีขาวฉุยพ่นออกมาตลอดเวลา ให้รู้ไว้เลยว่าน้ำซุปร้อนสะใจแน่นอน

เมนูประจำที่เราสั่งทุกครั้งจนแม่ค้าเห็นหน้าแล้วจำได้ คือบะหมี่เย็นตาโฟพิเศษ ไม่นานนักก๋วยเตี๋ยวร้อน ๆ ก็มาเสิร์ฟถึงโต๊ะ ในชามภายใต้น้ำซุปสีชมพูของซอสเย็นตาโฟสูตรพิเศษที่แม่ค้าบอกว่า ไม่ใช่ซอสเย็นตาโฟทั่วไป แต่ผสมกับสูตรลับของร้านที่ทำให้รสชาติซอสอร่อยขึ้น และเข้ากันดีกับเครื่องที่อยู่ในนั้น 

เส้นบะหมี่สีเหลืองขาวอมชมพู (จากซอส) นอนก้นอยู่ ท็อปด้วยผักบุ้งลวกท่อนกำลังดีสีเขียวกรอบกรุบ เลือดสีน้ำตาลหยุ่น ๆ รสชาติเค็มนิด ๆ ที่เด็ดสุดคือเกี๊ยวปลา ลูกชิ้นปลา ที่ร้านทำเองซึ่งมีความหนุบหนึบในปากเจือด้วยรสชาติเค็มกำลังดี ทุกอย่างคือส่วนผสมที่ลงตัว แต่ถ้าใครไม่ชอบเย็นตาโฟ ก๋วยเตี๋ยวน้ำใสหรือต้มยำก็เหมาะเหม็งกับอาหารมื้อเที่ยงของเราไม่แพ้กัน

ถัดไปอีกนิดหนึ่งเยื้อง ๆ กับนายโอว คือ ‘ร้านอาหารเจหรูยี่’ 

หลายคนคงคิดว่าอาหารเจ อาหารมังสวิรัติ ไม่อร่อย จืด มีแต่ผัก หรือเป็นเต้าหู้ชืด ๆ 

แต่ไม่ใช่กับที่นี่ มันมีความหน้าเหวอตั้งแต่เห็นเมนูหน้าร้านแล้วก็เหลือบขึ้นไปมองชื่อร้านอีกครั้งว่าอาหารเจจริง ๆ ใช่ไหม เพราะในเมนูคือ สเต๊ก ข้าวแกงกะหรี่แฮม ต้มยำกุ้ง ข้าวผัดสับปะรด เมื่อลองแล้วก็พบว่าเนื้อสัตว์ (เทียม) นั้น มีเนื้อสัมผัสที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์จริง ๆ แต่กลับมีรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์ (จริง ๆ) มากจนน่าตกใจ 

รสชาติอาหารเจที่เคยคิดว่าจืดชืดและมันย่องหายวับไปกับตา รสชาติทุกอย่างคืออาหารปกติเพียงแต่วัตถุดิบคือของเจและมังสวิรัติแน่ ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ และเราขอแนะนำให้คนดื่มชาจีนของร้านนี้เพื่อความอร่อยและคล่องคอเข้าไปอีก 

ร้านอาหารเจหรูอี้มีคนคับคั่งแทบตลอดเวลา ด้วยเสียงลือเสียงเล่าอ้างของความอร่อยที่เจ้าของร้านเป็นผู้ปรุงเองในทุก ๆ จาน ความรู้สึกตั้งแต่ก้าวเข้ามาในร้านจนคิดเงินอบอวลไปด้วยบรรยากาศครอบครัว เหมือนกำลังกินข้าวกับที่บ้านในช่วงเทศกาลกินเจยังไงก็ยังงั้น

กินของคาวมากันเยอะแล้ว ต่อไปก็ต้องล้างปากบ้าง เดินออกไปริมถนนฝั่งตรงข้ามสถานีกรุงเทพ มีร้านน้ำชงโบร่ำโบราณซ่อนตัวอยู่หลังรั้วนั้น เรากำลังพูดถึง ‘เบ๊โอชา’ ร้านน้ำที่อยู่คู่หัวลำโพงมานานนม

เบ๊โอชาถูกเรียกสั้น ๆ ว่า ร้านเบ๊ เมนูเขียนบนบอร์ดสีดำติดบนผนังให้เลือกว่าจะดื่มอะไรดี แต่ก็ใช้เวลาพอสมควรในการตัดสินใจ เพราะมันเยอะเสียเหลือเกิน

อาอี๊เจ้าของร้านทั้งสองเชิญชวนอย่างเป็นมิตร และแนะนำเมนูที่คิดว่าเราน่าจะชอบ มีทั้งกาแฟ ชา นม น้ำแดง น้ำเขียว โซดา มะนาว ไปจนถึงน้ำผลไม้หรือการผสมผสานของเมนู ‘นมเจ้าฟ้า’ ที่เอาน้ำอัญชันท็อปด้วยนมสด อาอี๊บอกว่าแต่เดิมทีร้านไม่ได้อยู่ตรงนี้ สมัยอากงกับคุณพ่อยังเป็นหาบเร่ขายหน้าสถานีรถไฟ ก่อนจะมาเช่าเปิดหน้าร้านเพื่อขายก๋วยเตี๋ยวและน้ำชงใต้โรงแรมน่ำเอี๊ยะในซอยพระยาสิงหเสนี แต่ก่อนมีเมนูน้อยมาก ๆ ไว้แค่กินกับก๋วยเตี๋ยวเท่านั้น 

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดเกิดในช่วงการสร้างทางด่วนหน้าสถานีรถไฟ ต้องย้ายเข้ามาในตรอกสลักหิน วันเวลาผ่านไป อะไรใหม่ ๆ ก็ตามมาจนต้องปรับตัว เมนูก็ต้องเพิ่มขึ้นให้เข้ากับสารพันเมนูที่ลูกค้าคิด หรือเมนูแปลก ๆ (ในตอนนั้น) จนเหมือนเป็นร้านน้ำตามสั่ง และที่สำคัญ ไม่ว่าจะผ่านมากี่สิบปี ความเข้มข้นและเอาใจใส่ในการปรุงเครื่องดื่มแต่ละแก้วไม่ได้น้อยลงเลย

ผ่านไปหลายร้านแล้วแต่ก็ยังไม่ได้หมดแค่นี้ ยังมีอีก 2 สถานที่ที่ให้ทำกิจกรรมกันได้บ้างไม่ใช่แค่กินอย่างเดียว

ที่แรกเราอยากให้เดินย้อนกลับมาทางร้านอาม่าชอเค็ง จะพบกับตึกโรงแรมสไตล์ลอฟต์ที่มีต้นไม้ประดับเขียวครึ้ม ที่นี่คือ ‘Tamni Hostel’ และ ‘ร้านใต้บ้าน (Tai Ban)’ 

ร้านใต้บ้านมีกาแฟสดและเครื่องดื่มแบบสมัยใหม่ให้ได้เลือกซื้อ-เลือกชิม แต่ถ้าเรารู้สึกอิ่มจนเกินไป อยากแนะนำให้ผ่อนคลายอิริยาบถกับการวาดรูปใต้ร่มไม้ ที่ร้านใต้บ้านมีแคนวาสหลายขนาดให้เลือกซื้อ แล้วไปบีบสี จับพู่กัน วาดรูปตามจินตนาการ พร้อมจิบกาแฟยามเย็นไปพลาง กิจกรรมวาดรูปของร้านใต้บ้านได้รับความสนใจมาก ซึ่งก็เป็นการบอกแบบปากต่อปาก โดยเฉพาะในวันหยุด พื้นที่จะถูกจับจองจากผู้คนที่อยากมาฝึกสมาธิด้วยการวาดภาพ และได้ของตกแต่งบ้านเป็นภาพที่มีแค่หนึ่งเดียวในโลกของตัวเองกลับไป 

ก่อนหมดวัน ที่สุดท้ายที่อยากชวนทุกคนเดินไปถึงคือ ‘Play Space Cafe’ ซึ่งต้องเดินไปตามถนนรองเมืองด้านหลังสถานีกรุงเทพ ผ่านอาคารพาณิชย์รุ่นเก่าที่อยู่คู่กับสถานีรถไฟมานานนม พื้นที่นี้คือตรอกสลักหิน ย่านแกะสลักหินจารึกหน้าฮวงซุ้ย เป็นชุมชนคนจีนโบราณที่อยู่ข้างเคียงสถานีรถไฟจนขยายใหญ่โต และถูกบดบังด้วยทางด่วนที่ผ่ากลางชุมชน 

เดินเท้าเลาะมาไม่ไกล Play Space Cafe อยู่ตรงข้ามทางเข้าวัดดวงแข ที่นี่เคยเป็นโรงงานทำกระดาษห่อสำลีสีน้ำเงินที่คนเก่าคนแก่คุ้นเคยมาก่อน ร้านตกแต่งสไตล์ลอฟต์พร้อมเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านโบราณ มาถึงที่นี่แล้วถ้าไม่กินพิซซ่าโฮมเมดก็คงไม่ได้ ของขึ้นชื่อนอกจากพิซซ่าแล้วยังมีพาสต้า กาแฟ น้ำลิ้นจี่เลมอน ก็อร่อยใช้ได้เลย 

นอกจากเป็นร้านกาแฟ ที่นี่ยังเป็นแกลเลอรี่สำหรับศิลปินที่แวะเวียนมาจัดทั้งเวิร์กชอปและจัดแสดงงาน ความเหนื่อยล้าจากการตระเวนกินทั้งวันผ่อนคลายได้ ณ สถานที่แห่งนี้ หรือถ้าใครยังไม่หมดแรง เพียงแค่เดินตามถนนผ่านแยกวัดดวงแขต่อไป ก็จะเดินถึงย่านบรรทัดทองที่มีของกินอีกมากมายให้ได้เลือกหากินกันจนพุงกาง 

จะอิ่มกี่โมง?

จะว่าไปแล้วน้อยคนจริง ๆ ที่จะรู้จักหัวลำโพงในมิติที่เป็นมากกว่าสถานีรถไฟ ความเป็นชุมชนที่อยู่คู่กับสถานีสะท้อนภาพความเป็นอยู่ของท้องถิ่นในการเปลี่ยนแปลงมานับครั้งไม่ถ้วน นับตั้งแต่วันที่เป็นเพียงท้องร่อง สู่การเป็นสถานีรถไฟที่คึกคักที่สุด ไปจนถึงความซบเซาเงียบเหงาหลังจากรถไฟลดจำนวนขบวนลงจากการย้ายสถานี แม้ว่าพื้นที่รอบข้างจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน แต่ชาวบ้านที่ยังอยู่ในพื้นที่ก็ยังดำรงชีวิตในแบบเดิมทุก ๆ วัน เหมือนเคย อาจจะมีเงียบเหงาไปบ้างจากปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนไป

เรื่องราวของหัวลำโพงในแง่มุมของชุมชนนั้นแทบไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน หลายคนไม่รู้จัก หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีสิ่งนี้ แม้แต่เราเองที่อยู่กับสถานีรถไฟนี้มาตั้งแต่เรียนมัธยม ก็เพิ่งได้มาสัมผัสกับชุมชนนี้อย่างลึกซึ้งในช่วง Bangkok Design Week นี่เอง 

ต้องขอบคุณงานนี้ที่กรุยทางให้พื้นที่หัวลำโพงได้กลับคืนสู่ความคึกคักอีกครั้งในวันที่สถานีรถไฟเงียบเหงา การได้เข้ามาทำความรู้จักชุมชนผ่านอาหารการกิน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้อาชีพของคนในพื้นที่ยังเดินต่อไปได้ 

ถ้าพินิจลงไปให้ลึกกว่านี้ หัวลำโพงก็ยังทำหน้าที่เป็นสถานีรถไฟ เป็นสะพานเชื่อมระหว่างย่านเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงอย่างเยาวราช กับย่านใหม่ที่เต็มไปด้วยของกินในยามค่ำคืนอย่างบรรทัดทองได้อย่างสมบูรณ์ และเราก็เดินเท้าจากเยาวราช ผ่านหัวลำโพง ไปบรรทัดทองได้โดยท้องไม่หิว
และหัวลำโพงก็จะไม่เหงาลำพังอีกต่อไป

พิกัดท้ายขบวน

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ