5 ธันวาคม 2019
7 K

The Cloud x Sustainable Development Goals

Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย

ตอนเด็กๆ เราเชื่อว่าทุกคนมีอาชีพในฝันเป็น หมอ ตำรวจ พยาบาล ครู นักบิน นักแสดง มากมายหลายอาชีพที่แต่งแต้มจินตนาการวัยเยาว์ให้เรามีพลัง ระหว่างการเติบโตอาจล้มบ้างลุกบ้าง แต่เราก็รู้ว่ามีหนทางให้ก้าวเดินอยู่เบื้องหน้า

เด็กบางคนเกิดมาพร้อมความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นความพิการทางกายภาพหรือมีความต้องการพิเศษ เช่น เด็กๆ ที่มีภาวะออทิซึม เด็กที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม หรือเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น ความต่างเหล่านั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความตั้งใจพยายาม แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา เส้นทางในการเติบโตสู่สังคมของพวกเขานั้นยากลำบากกว่าคนอื่นๆ

คุณคิดว่าพวกเขามีอาชีพในฝันหรือเปล่า หรือเคยสงสัยไหมว่าเมื่อเติบโตไป พวกเขาประกอบอาชีพอะไรหล่อเลี้ยงชีวิต

สถานที่ที่เราอยากพาคุณไปรู้จักนี้ ตั้งอยู่ในกลางเมืองในซอยเอกมัย 10 ภายนอกอาจดูเหมือนโคซี่คาเฟ่ที่เห็นได้ทั่วไป แต่ทว่าที่นี่ซ่อนความพิเศษอย่างหนึ่งไว้ และคุณจะได้สัมผัสหลังจากผลักประตูเข้าไปแล้วเท่านั้น

Steps With Theera

Steps With Theera คือคาเฟ่ที่นอกจากจะเปิดให้บริการอาหารและเครื่องดื่มแสนอร่อยแล้ว ที่นี่ยังเป็นโรงเรียนฝึกสอนผู้ที่มีภาวะออทิซึม ให้สามารถเติบโตไปพร้อมกับทำงานดูแลตัวเอง และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ

เพื่อผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 8 Decent Work and Economic Growth ภายในปี 2573 บรรลุการจ้างงานเต็มอัตราอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้พิการให้มีค่าตอบแทนที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีมูลค่าเท่ากัน และภายในปี 2563 ลดสัดส่วนของเยาวชนที่ตกงานหรือมิได้รับการศึกษาและการฝึกอบรมลงจำนวนมาก

กว่า 3 ปีที่ห้อง 2 คูหาแห่งนี้ผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการฝึกสอนทักษะงานหลากหลายประเภทให้นักเรียนที่มีภาวะออทิซึมจำนวนหลายสิบคน เอื้อง-ธีตา โหตระกิตย์ ผู้ก่อตั้ง Training Center ในคาเฟ่เล็กๆ แห่งนี้เล่าว่า มีศิษย์เก่าของที่นี่จำนวนไม่น้อยที่ได้เข้าทำงานตามร้านอาหารและโรงแรมชั้นนำหลังจากจบหลักสูตรไปแล้ว แถมยังทำได้อย่างดีด้วย

เอื้อง-ธีตา โหตระกิตย์ ผู้ก่อตั้ง Training Center Steps With Theera

นอกจากเรื่องการฝึกสอนทักษะงานแล้ว ที่นี่ยังเป็นเหมือนประตูเชื่อมผู้มีความต้องการพิเศษและสังคมเข้าหากัน เพราะถ้าถามว่าในฐานะคนๆ หนึ่งของสังคม เราเคยมีโอกาสได้พูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับพวกเขาหรือเปล่า เชื่อว่ามีคนส่วนน้อยมากที่เคยมีประสบการณ์ ความห่างเหินระหว่างกันทำให้คนส่วนใหญ่ยิ่งรู้สึกว่า การสร้างปฏิสัมพันธ์กับพวกเขานั้นยากเหลือเกิน 

ทั้งที่จริงๆ แล้ว ผู้ที่มีความต้องการพิเศษก็เหมือนกับเรา มีสุข เศร้า เหงา เสียใจ และที่สำคัญคือมีความฝัน เป็นความฝันแสนเรียบง่าย ว่าจะสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและภาคภูมิด้วยความสามารถของตัวเอง

ร้านในช่วงบ่ายวันนี้ค่อนข้างสงบจากผู้คน เมื่อก้าวเข้ามาในร้าน สิ่งแรกที่เห็นคือฝาผนังฝั่งประตูเรียงรายไปด้วยบอร์ดไม้ยาว โน้ตข้อความนับร้อย และรายชื่อนักเรียนของที่นี่แปะอยู่เพื่อเล่าเรื่องราวบางอย่างกับผู้มาเยือน นาทีต่อมานั้นเอง เราก็ได้ยินเสียงคนคุยกันดังมาจากชั้นบน เดาว่าน่าจะเป็นเสียงของน้องๆ ที่กำลังเรียนหรือทำกิจกรรมอะไรสักอย่างอยู่แน่ๆ

Steps With Theera

หลังจากนั่งจับจองโต๊ะเป็นที่เรียบร้อย เราสังเกตเห็นพนักงาน 2 – 3 คนกำลังยืนทำงานอยู่หลังเคาน์เตอร์กาแฟด้วยท่าทีคล่องแคล่ว พวกเขาคือน้องๆ ที่มีภาวะออทิซึมชายหญิงกำลังฝึกงานทำอาหาร โดยมีผู้จัดการร้านประกบสอนงานอยู่ข้างๆ

คนสอนตั้งใจ คนเรียนก็ตั้งใจ ถ้าเช่นนั้นในฐานะผู้มาเยี่ยมเยียน ขอให้พวกเราตั้งใจฟังเรื่องราวที่เอื้องกำลังจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ ว่าเธอทำให้ความฝันของน้องๆ ที่มีภาวะออทิซึมให้เป็นจริงได้อย่างไร

01

Growing From Being Met

เอื้อง-ธีตา โหตระกิตย์ และ แม็กซ์ ซิมป์สัน พวกเขาคือสองผู้ก่อตั้งที่ชีวิตต่างมีความผูกพันกับเด็กที่อยู่ในภาวะออทิซึม เอื้องมีลูกชายวัย 11 ขวบที่อยู่ในภาวะออทิซึม และเป็นเจ้าของร้านเบเกอรี่ชื่อว่า Theera ส่วนผู้ก่อตั้งคนที่สอง ปัจจุบันเขาเป็นคุณครูผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนเด็กพิเศษ และตัวเขาเองก็มีน้องชายที่อยู่ในภาวะออทิซึมด้วย เมื่อทั้งคู่โคจรมาเจอกัน Steps With Theera จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2559

เอื้องคือหญิงสาวคนหนึ่งที่สนใจด้านวัฒนธรรมและได้ใช้ชีวิตตามความฝันของตัวเอง เธอเรียนจบด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แล้วเข้าทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศในเวลาต่อมา ระหว่างที่เธอกำลังใช้ชีวิตในต่างประเทศนั้น เอื้องก็พบว่าลูกชายอยู่ในภาวะออทิซึม

“เอื้องเริ่มรู้ว่าเขามีภาวะออทิซึมตอนสองขวบครึ่ง ก็คิดแล้วว่าต้องดูแลลูกเป็นพิเศษ ต้องมีเวลาให้ลูกให้เต็มที่ เราเลยลาออกจากงานเพื่อดูแลและฝึกลูกเองตลอด ตอนนั้นมันมืดมากเพราะเราไม่ได้มีพื้นฐานด้านนี้ แล้วด้วยความเป็นแม่เลยยิ่งมีความกดดันสูง ว่าทำไมสอนแล้วลูกไม่ยอมพูดสักที ยอมรับว่าตอนนั้นค่อนข้างเครียด

“ตอนนั้นเราก็พอมีเวลาว่าง เลยหันไปคลายเครียดด้วยการฝึกทำเค้ก ทำขนมตอนเช้า ฝากขายตามร้านแล้วผลตอบรับค่อนข้างดี ทำไปทำมารู้สึกชอบ พอเราย้ายกลับมาไทย ลูกไปโรงเรียน เราเลยมีเวลาให้กับการทำขนมนานขึ้น ก็เลยตัดสินใจไปเรียนเพิ่มเติมที่เลอ กอร์ดอง เบลอ แล้วก็พยายามศึกษาข้อมูลในการดูแลเด็กเหล่านี้

“เด็กที่มีภาวะออทิซึมควรจะทาน Gluten-Free กับ Vegan เพราะว่า Gluten เป็นตัวขัดขวางการดูดซึมสารอาหาร ซึ่งทำให้การเรียนรู้ของเขายิ่งมีปัญหา มันเป็นอาการที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ แต่ก็ยังไม่ได้มี Study ที่มายืนยันชัดเจน แต่ด้วยความเป็นแม่ อะไรที่พอทำได้เราก็อยากทำก่อน และมันก็เป็นสิ่งที่เราสนใจอยู่แล้ว”

เอื้องเริ่มนำวิชาความรู้ที่เรียนมาปรับสูตรขนมให้เป็น Gluten-free และ Vegan พร้อมกับเริ่มทำธุรกิจส่วนตัว เริ่มจากเป็นร้านเบเกอรี่ขายทางเฟซบุ๊กหลังจากนั้นก็เปิดร้านตรงที่ว่างใกล้บ้านชื่อว่า Theera เป็นร้านขนมเพื่อสุขภาพ จนประมาณ 2 ปีให้หลัง เอื้องได้รู้จักกับแม็กซ์ ซึ่งกำลังทำงานเป็นครูสอนการศึกษาพิเศษของโรงเรียนที่เปิดอยู่ในซอยเดียวกัน

Steps With Theera

“เขาเห็นร้านเบเกอรี่ เอื้องก็เลยอยากพาเด็กของเขามาฝึกงานที่ร้าน เขารู้สึกว่าเด็กที่โตแล้วควรออกไปสู่การทำงานได้แล้ว ไม่ควรจะอยู่ในรูปแบบของโรงเรียนอีกต่อไป เขาเองก็มีน้องชายที่อยู่ในภาวะออทิซึมอยู่ที่อังกฤษ ซึ่งระบบที่อังกฤษดีกว่าบ้านเรามาก แต่ขณะเดียวกันน้องเขาที่จบมหาลัยกลับไม่มีงานทำอยู่นานมาก จึงเห็นปัญหาว่ามันไม่มีระบบอะไรที่ช่วยฝึกฝนและพัฒนาคนเหล่านี้ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เราเริ่มสนใจ

“เด็กที่เข้ามา ไม่ใช่ทุกคนที่ทำงานในส่วนของเบเกอรี่ แต่เราจะให้ทำงานต้อนรับและบริการลูกค้า ซึ่งจะทำให้น้องๆ เหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ได้เจอคนอื่น รู้จักการพูดจากับคนอื่น และรู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หลังจากพาน้องๆ มาฝึกได้เกือบปี ก็เห็นได้ว่าน้องๆ มีความสุข มีพัฒนาการ แต่เดิมมันเป็นแค่ร้านเบเกอรี่เล็กๆ ก็เลยคิดว่าจะมาเปิดอะไรที่มันจริงจัง จึงกลายมาเป็น Steps With Theera” เอื้องเล่าถึงการเดินทางอันยาวนานของเธอ นี่คงไม่ใช่แค่การพัฒนาน้องๆ อีกหลายสิบชีวิต แต่เป็นการเติบโตอย่างเข้มแข็งของผู้หญิงคนหนึ่งด้วยเช่นกัน

จนถึงวันนี้ Steps With Theera เปิดสอนเป็นศูนย์ฝึกทักษะอาชีพอย่างเต็มรูปแบบ มีการเรียนการสอนจากผู้เชี่ยวชาญโดยใช้ภาษาอังกฤษและภาษาไทยในการสื่อสาร ผู้ฝึกก็ได้ฝึกงานเรียนรู้การทำอาหารไปจนถึงระบบต่างๆ ในครัวด้วย

02

Learning Differences

ก่อนที่เอื้องและแม็กซ์จะรับน้องสักคนเข้ามา พวกเขาต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ปกครองอย่างถ่องแท้จนรู้ว่าน้องแต่ละคนเป็นอย่างไร เคยเรียนหรือศึกษาอะไรมาบ้าง ความคาดหวังของเขาและพ่อแม่คืออะไร ซึ่งที่ร้าน Steps With Theera เปิดโอกาสให้น้องๆ มาทดลองเรียนก่อน 1 – 2 วัน เพื่อประเมินดูว่าน้องแต่ละคนนั้นเหมาะกับการเรียนรู้ของที่นี่หรือไม่ น้องๆ แต่ละคนมีความสนใจด้านไหน และมีโปรแกรมที่สอดคล้องกับเขาหรือเปล่า

“ผู้ที่อยู่ในภาวะออทิซึมก็เหมือนคนทั่วๆ ไปที่ทุกคนจะมีความแตกต่าง มีระดับของทักษะ และความสามารถที่หลากหลาย อย่างลูกชายเอื้องมีความจำดีมาก จำสีหนึ่งร้อยสีได้ว่าชื่ออะไร เรียงยังไง จำเส้นทางได้แม่นยำ และชอบเล่น Google Map มาก สำหรับเราที่เป็นแม่ก็เริ่มคิดว่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์อะไรในชีวิตประจำวันได้บ้าง มันขึ้นอยู่กับคนเลี้ยงดูว่าจะสามารถนำความพิเศษเหล่านั้นมาปรับให้มีประโยชน์หรือทำให้เขานำทักษะต่างๆ เหล่านั้นมาเรียนรู้สิ่งอื่นที่มีประโยชน์ในชีวิตเขาได้ยังไง” เอื้องว่า

ปัจจุบันที่แห่งนี้มีผู้ฝึกทั้งหมด 25 คน อายุตั้งแต่ 14 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เหมาะสมต่อการเริ่มฝึกฝนทำงาน ไปจนถึง 44 ปีเลยด้วย

Steps With Theera มีระบบการฝึกงานที่เป็นขั้นเป็นตอนที่เหมาะสมมาก มีการฝึกที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มตามความสามารถของแต่ละคน เบื้องหน้าการทำงานอย่างจริงจังและคล่องแคล่ว ล้วนเป็นผลมาจากความเข้าใจอย่างแท้จริงของตัวผู้ฝึกสอน คือกลุ่ม Job Coach ที่เรียนจบด้านจิตวิทยามา มีแบ็กกราวนด์ด้านนี้โดยเฉพาะ และกลุ่มพนักงานที่เป็นเชฟและบาริสต้า ซึ่งผู้ฝึกสอนทั้ง 2 กลุ่มนี้จะทำงานอย่างสอดคล้องกัน

ค่อยๆ ฝึกด้วยความใจเย็น จากงานง่ายไปงานที่ยากขึ้น น่าจะเป็นคำอธิบายวิธีการของพวกเขาได้ดีที่สุด

เมื่อเราลองสังเกตตามจุดต่างๆ ในเคาน์เตอร์บาร์และในครัว จะเห็นการแปะป้ายรูปภาพและสัญลักษณ์ไว้ตามจุดต่างๆ เอื้องบอกกับเราว่า สิ่งเหล่านี้ช่วยเอื้อให้พวกเขาเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ไวขึ้น และเป็นระบบมากขึ้นด้วย

Steps With Theera

“เราเน้นการสอนด้วยการให้ทำซ้ำๆ เพระว่าพวกเขาเรียนรู้จากการปฏิบัติเป็นหลัก การใช้รูปภาพจะช่วยได้มากกว่าเพราะการอธิบายที่เป็นคำบรรยายยาวๆ มันอาจจะทำให้เขาโฟกัสยาก ซึ่งจริงๆ แล้วรูปภาพมันไม่ได้ช่วยแค่น้อง Trainee แต่ยังช่วยพนักงานทั่วไปด้วยเหมือนกัน ถือเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์

“น้องๆ อาจจะต้องเน้นการฝึกฝนเยอะๆ ไม่ใช่เน้นการเข้าไปนั่งในห้องเรียนดูกระดาน ครูสอนอ่านหนังสือ ทำการบ้าน แต่เราต้องฝึกให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง ที่นี่เราเลยสอนหมดทุกอย่าง ตั้งแต่การใช้เงิน ซักผ้า รีดผ้า ขึ้นรถเมล์ ขึ้นตุ๊กตุ๊ก ขึ้นบีทีเอส นั่งวินฯ หรือเรื่องการใช้เงิน เราสอนทุกสิ่งอย่างที่เป็นทักษะในการใช้ชีวิต แม้ว่าจะทำงานหรือไม่ได้ทำงานก็ตาม แต่อย่างน้อยน้องๆ เขาต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ส่วนทักษะการทำงานก็มีด้วย ขึ้นอยู่กับว่าน้องมีความสนใจด้านไหน แล้วก็ความคาดหวังของทางบ้านเป็นอย่างไร” เอื้องอธิบาย

Steps With Theera

ผู้ฝึกทุกคนจะมีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในแต่ละวัน เอื้องทำกระดานเช็กลิสต์ไว้เป็นไกด์ที่ช่วยบอกให้เขารู้ว่าแต่ละวันจะต้องทำอะไรบ้างตามลำดับ เช่น เช้านี้ใครทำหน้าที่เปิดร้าน กวาดพื้น รดน้ำต้นไม้ เช็ดโต๊ะ แล้วก็จัดโต๊ะในร้าน ซึ่งการทำงานตรงนี้ผู้ฝึกจะได้ทำงานร่วมกับทีม Job Coach และพนักงานในร้านคนอื่นๆ ด้วย

“เราจะมอบหมายงานตามความสามารถของน้องๆ สำหรับน้องบางคนที่มีความสนใจด้านการทำอาหาร เขาก็จะเข้าไปฝึกงานในครัวเยอะกว่า ช่วยในการเตรียมของ เช่น ล้างผัก หั่นผัก ช่วยเตรียมขนมก็แล้วแต่ความสามารถของน้อง แต่ว่าอาจจะไม่ได้ทำตั้งแต่ต้นจนจบทุกอย่าง

“มีพนักงานคนหนึ่งทำหน้าที่หลักในการดูแลตึกของเรา เขามาทำโดยที่เขาสมัครเข้ามาเองเลย ไม่ได้ผ่านมาจากการเป็น Trainee ของเรา เขาเรียนจบระดับมหาวิทยาลัยหลักสูตรเกี่ยวกับอาหารมาเลย ตอนแรกเขาเริ่มทำงานในครัวก่อน แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นผู้ดูแลตึก ทำหน้าที่ดูแลความสะอาด สั่งของอะไรแบบนี้ ซึ่งเขาก็ทำได้ดีมาก

“น้องๆ ส่วนมากจะสนใจด้านเบเกอรี่ มีความสามารถในการทำขนมได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกส่งไปฝึกงานที่ร้าน Theera เพราะได้ทำงานในที่ที่มีคนเข้ามาเยอะ ฝึกให้เขาสามารถรับความกดดันได้ ช่วงแรกก็จะให้ทำบราวนี่อย่างเดียวเพื่อเป็นการฝึกฝนทีละนิดไปก่อน ทำซ้ำๆ แล้วค่อยๆ เลื่อนระดับขึ้นไป”

หนึ่งในวิสัยทัศน์ของ Steps With Theera คือการพยายามที่จะสร้างโอกาสในการทำงานของผู้ที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ และในขณะเดียวกันก็พยายามเปลี่ยนมุมมองของคนในสังคม ที่มักเข้าใจว่าคนที่มีความต้องการพิเศษนั้นไม่มีความสามารถและทำงานไม่ได้

Steps With Theera

“ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาอาจจะไม่ได้อยากถูกมองให้เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษก็ได้ พวกเขาอาจจะอยากถูกมองว่าเขาไม่ได้ต่างจากเด็กคนอื่น เขาก็มีความเป็นตัวเขา ถึงแม้ว่าคำเรียกเด็กที่มีความต้องการพิเศษจะเป็นคำที่ยอมรับได้ทั่วไป แต่สำหรับเรา เราคิดว่าพวกเขาเป็นเพียงเด็กที่มีการเรียนรู้ต่างจากคนอื่นเท่านั้นเอง”

‘เด็กที่มีการเรียนรู้ต่างจากคนอื่นเท่านั้น’ น่าจะเป็นคำอธิบายของภาวะออทิซึมที่เข้าใจง่ายและเห็นภาพที่สุด เพราะนอกเหนือจากนั้น เราก็เห็นกับตาตัวเองแล้วว่าพวกเขาคือคนๆ หนึ่งที่มีความสามารถในการทำงานและเข้าสังคมได้เป็นอย่างดี เด็กชายวัย 14 ปีเดินเข้ามาพร้อมเสิร์ฟเครื่องดื่มให้เราตรงหน้า ก่อนจะมีบทสนทนาเล็กๆ ถามไถ่ถึงการทำงานในวันนี้ และเอื้องเองก็ดูภูมิใจในตัวน้องๆ อยู่ไม่น้อย

ว่าแล้วก็ขอจิบลาเต้ร้อนตรงหน้าสักนิด ก่อนจะดำเนินบทสนทนาอุ่นๆ ต่อไป

03

Happy Employees

อย่างที่เราเล่าไปข้างต้น ที่นี่เป็นศูนย์เทรนนิ่งที่สอนหลายทักษะแก่เด็กที่อยู่ในภาวะออทิซึม มี Coffee Shop อยู่ชั้นล่างสุด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนที่มาจะต้องไปทำงานด้านนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ร้านคาเฟ่มีไว้เพื่อให้เด็กๆ ได้มีโอกาสลงมาทำงาน ฝึกงาน และปฏิบัติงานจริง ขณะเดียวกันก็ยังได้เรียนรู้ Transferable Skill เช่น การมาทำงานตรงต่อเวลา การแต่งกายสุภาพเรียบร้อย การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือว่าการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นทักษะที่นำไปใช้ได้ไม่ว่าเขาจะทำงานอยู่ในอาชีพใดก็ตาม

หลังจากได้ลองดื่มกาแฟอุ่นๆ ขนมหวาน และอาหารคาวบางส่วน เราพบว่าที่นี่คือคาเฟ่ที่มีอาหารอร่อยมากแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เราเองรู้สึกชอบทั้งอาหารที่รสชาติอร่อยและบรรยากาศอันอบอุ่นในร้าน ส่วนน้องๆ ฝึกงานก็น่ารักและเป็นกันเองมากๆ ยิ่งมีโอกาสได้ลองชวนคุยก็ยิ่งสัมผัสถึงความเป็นมิตรที่พวกเขามอบให้

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความสุขและร้อยยิ้มของน้องๆ ที่มอบให้เราอย่างจริงใจ

“ตอนแรกก็กังวล ไม่รู้ว่าจะปฏิสัมพันธ์กับเขาอย่างไร” เราพูดขึ้น

“เอื้องก็เคยเป็น (ยิ้ม) ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าเราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน พอมาทำ Steps With Theera มีเด็กเข้ามาเยอะ ก็รู้สึกว่าเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น เราเองไม่ได้คิดว่าจะต้องพูดหรือไม่พูดยังไง แต่อาจจะมีพูดช้าหน่อยหรือเลี่ยงการพูดประโยคยาวๆ แค่นั้นเอง แต่เอื้องก็จะดูด้วยว่าน้องมีทักษะแบบไหน แต่ส่วนใหญ่คุยแบบปกติ มันก็จะทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นในการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเขา

“Coffee Shop เป็นสถานที่ที่ทำให้คนสองกลุ่มมาเจอกัน เราอยากให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพราะเราเป็น Coffee Shop ที่ให้บริการและอาหารที่ดี ไม่ใช่เข้ามาสนับสนุนเพราะความสงสาร การจ้างงานหรือการฝึกงานผู้ที่มีความต้องการพิเศษเป็นเพียงส่วนหนึ่งของร้านเท่านั้น เราต้องการสร้างความเข้าใจว่าการทำงานของบุคคลเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะจริงๆ พวกเขามีศักยภาพในการทำงาน แค่นี้เองที่ Steps With Theera ต้องการ” เอื้องพูดขึ้นพร้อมรอยยิ้ม เรารู้สึกได้ทันทีถึงความรู้สึกปลื้มใจของเธอในการทำงานตรงนี้

Steps With Theera

เราเชื่อว่าการได้มีโอกาสเพิ่มพูนทักษะการทำงานและการมีสภาวะจิตใจที่ดี ช่วยให้คนที่อยู่ในภาวะออทิซึมสามารถพัฒนาขึ้นได้ พวกเขาอาจทำงานอย่างดีเลิศและมีความเชี่ยวชาญ หากได้อยู่ในเส้นทางที่ถูกต้อง

“น้องๆ ทุกคนบอกเราว่าเขามีความสุข เพราะพวกเขาทุกคนเคยเจอสถานการณ์ที่รู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากคนอื่น  คนไม่ยอมรับเขาเพราะบางทีเขามีพฤติกรรมอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น พวกเขาจึงคิดว่าอยู่ที่นี่แล้วมีความสุข เพราะมันเป็นสังคมที่เข้าใจเขา และเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ เขามีกลุ่มเพื่อนของเขา มีการสร้างกลุ่มไลน์ ไปเที่ยว กินข้าว ดูหนัง โยนโบว์ลิ่ง เหมือนกับวัยรุ่นปกติทั่วไป เพียงแต่ผู้คนมองไม่เห็นและคิดว่าพวกเขาไม่สนใจกิจกรรมอะไรแบบนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเขาก็อยากทำเหมือนเรา เพียงแต่ว่าเขาอาจมีการแสดงออกที่ต่างออกไปหรือเป็นเราที่เลือกจะมองไม่เห็นมากกว่า” หลังเอื้องพูดประโยคนี้จบลง เราเชื่อว่ามีใครหลายคนในที่นี้กำลังเข้าใจพวกเขามากขึ้นเช่นกัน

04

Further Steps

ปัจจุบัน Steps With Theera มีสาขาที่กรุงเทพฯ และภูเก็ต

เอื้องเล่าว่าจากการทำงานของตัวเองกับโรงเรียนนานาชาติในภูเก็ต พบว่าภูเก็ตเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีความต้องการอยู่มาก และผู้ปกครองหลายคนก็พร้อมสนับสนุนลูกๆ ให้มีโอกาสพัฒนาตัวเองด้วย เอื้องและแม็กซ์จึงตัดสินใจเปิด Steps With Theera และเป็น Zero Waste Shop ที่ภูเก็ตในปีนี้เอง

“แพลนในอนาคตจะไปในทิศทางยังไงบ้าง” เราถามหญิงสาวเจ้าของร้านที่นั่งอยู่ตรงหน้า

“เราอยากจะให้มี Trainee เข้าไปอยู่ในการทำงานที่อื่นได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็อยากจะเป็นคนสร้างงานให้น้องๆ ของเราเอง คือทางเราก็อยากจ้าง เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ได้มี Capacity ที่จะจ้างงานน้องที่มีความพิเศษได้ทุกคน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราอยากได้จริงๆ คือให้บริษัทอื่นๆ สามารถรับน้องๆ เหล่านี้เข้าไปทำงาน ไม่ได้ทำเพียงเพราะกฎหมายหรือแค่ความสงสาร เพราะน้องๆ เหล่านี้สามารถเข้าไปแล้วสร้างประโยชน์ให้องค์กรเขาได้จริงๆ

Steps With Theera

“บางคนก็เรียนจบออกไปแล้วทำงานที่อื่นเป็นพนักงานประจำและพาร์ตไทม์ เป็นผู้ช่วยเชฟ ผู้ดูแลร้าน Grocery ทำงานในออฟฟิศ บางคนย้ายกลับไปทำงานที่ประเทศของตัวเอง เราเองก็ยังมีการคุยอยู่กับบริษัทเพื่อคอยเช็กว่าน้องเป็นยังไงบ้าง สิ่งที่น้องทำคืออะไร เราจะสามารถช่วยเตรียมน้องได้ด้วยค่ะ เพราะเราไม่อยากให้น้องไปทำงานแล้วไม่ราบรื่น เดี๋ยวเขาจะหมดความมั่นใจในตัวเอง

“เราเองก็อยากจะเตรียมความพร้อมน้องให้มากที่สุดก่อนนะ เราต้องดูประเภทของงานด้วยว่าน้องคนนี้เหมาะจะเข้าไปอยู่ในงานที่มีความกดดันได้ไหม น้องสามารถรับตรงนั้นได้ไหม อย่างเราเองถ้าเจอกับความกดดันก็กลับมาดีลกับตัวเอง กลับไปสู้ใหม่ได้ แต่น้องบางคนอาจจะไม่ได้มีความความมั่นใจ ซึ่งมันจะส่งผลเสียกับการกลับไปทำงาน จริงๆ เจอความกดดันได้ก็ดี เพราะมันก็คือโลกของความเป็นจริง วันหนึ่งเขาไปทำงานที่ไหนมันก็ต้องเจออะไรแบบนี้ เพียงแต่ว่าเราจะต้องสอนเขาจากที่นี่แหละ ว่าเวลาคุณไปเจอความกดดัน คุณควรจะรับมือกับมันยังไง”

เราเข้าใจได้ทันทีว่านี่คืออีกงานหนึ่งที่มีความละเอียดอ่อนมาก Steps with Theera คือจุดเริ่มต้นการสร้างเส้นทางสู่ความฝัน ในการยืนหยัดในสังคมอย่างภาคภูมิด้วยตัวเองของผู้ที่มีภาวะออทิซึม แต่ความฝันเหล่านั้นจะถูกต่อเติมไปได้ไกลแค่ไหน ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนในสังคม

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 8 Decent Work and Economic Growth มุ่งผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการจ้างงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน ไม่มีคำว่าเธอ ไม่มีคำว่าฉัน เพราะทุกคนบนโลกนี้ล้วนแตกต่างเหมือนกัน เมื่อทุกคนพร้อมเปิดรับและให้โอกาส เมื่อนั้นเศรษฐกิจและสังคมก็จะเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

Writer

Avatar

นิภัทรา นาคสิงห์

ตื่นเช้า ดื่มอเมริกาโน เลี้ยงปลากัด นัดเจอเพื่อนบ่อย แถมยังชอบวง ADOY กับ Catfish and the bottlemen สนุกดี

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ