ขาวดังหิมะ ริมฝีปากของเธอแดงดั่งเลือด ผมของเธอดำสนิทดั่งไม้มะเกลือ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ความงามอันตราตรึงของเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ได้กลายเป็นดาบสองคมที่ก่อไฟของความอิจฉาริษยาในใจของแม่เลี้ยง ราชินีใจร้าย หลังรอดพ้นจากการลอบสังหารของนายพราน เธอหวาดกลัวจนวิ่งหนีกระเซอะกระเซิง

ชีวิตของเธอระหกระเหินจากปราสาทพระราชวังจนมาพบกระท่อมขนาดเล็กของคนแคระทั้งเจ็ดกลางป่าดงพงไพร บ้านที่ไม่ว่าอะไร ๆ ก็แลดูมีขนาดตามสัดส่วนที่หดเล็กลงไปจากความคุ้นชินโดยทั่วไปของเรา ๆ เหมือนกับบ้านตุ๊กตา

บ้านเทพนิยายสุดคลาสสิกหลังนี้ซ่อนตัวอยู่อย่างแนบเนียนไปกับบริบทแวดล้อมของมัน แทรกตัวอยู่ระหว่างเงาใต้ต้นไม้ยักษ์ ลำธารที่ตัดไหลผ่านและเชื่อมด้วยสะพานข้ามไปยังลานหน้าทางเข้าบ้าน รูปทรงของตัวบ้านที่คล้ายกับว่าปรับรูปไปตามส่วนเว้าส่วนโค้งของลำต้นและกิ่งก้านของต้นไม้ รูปทรงและสัดส่วนภายนอกในภาพรวมดูเกือบจะสมมาตร แต่ก็มีความบิดเบี้ยวของทรวดทรง

ความสมบูรณ์แบบในความไม่สมบูรณ์แบบ เสน่ห์ของวัสดุธรรมชาติที่นำมาใช้ก่อสร้างกระท่อมน้อยหลังนี้ ความหนาและขรุขระของรากฐาน ผนังหิน และปล่องควัน ผิวสัมผัสของเสาโครงสร้างและพื้นไม้ ความละเอียดของรายละเอียดงานฝีมือที่พรางตัวอยู่ของการตกแต่งภายใน บุคลิกของบ้านตามแบบฉบับของ Walt Disney ที่อาจบ่มเพาะนิยาม ‘สถาปัตยกรรมเทพนิยาย’ ที่ใครหลาย ๆ คนจดจำและเชื่อมโยงลักษณะของมันได้ จนกลายเป็นคำจำกัดความประหนึ่งพิมพ์เขียวของผู้คนโดยทั่วไป จนบางคนอาจพูดขึ้นมาลอย ๆ เมื่อพบเจอสถาปัตยกรรมลักษณะในนี้ว่า “นี่ไงบ้านสโนว์ไวท์!”

#01

สโนว์ไวท์

เมื่อพูดถึงการ์ตูนแอนิเมชันคลาสสิก สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด (Snow White and the Seven Dwarfs) ภาพจำของตัวบ้านและเส้นเรื่องตามแบบฉบับของค่าย วอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) ที่กำกับโดย David Hand และออกฉายในปี 1937 น่าจะเป็นภาพบรรยากาศของฉากที่ติดตาในวัยเด็กของหลาย ๆ คน ความน่ากลัวของป่า ความหลอนของราชินีใจร้ายในคราบของหญิงชรา หรือความน่ารักของเหล่าสัตว์ป่าผู้เป็นมิตรที่มาช่วยทำความสะอาดบ้านคนแคระ

แต่จะเชื่อหรือไหมว่าต้นฉบับดังเดิมของเทพนิยาย สโนว์ไวท์ นั้นเศร้าและสยดสยองกว่าในแบบฉบับนิทานสำหรับเด็กของดิสนีย์นำมาปรับใช้หลายเท่าตัว จากนิทานพื้นบ้านที่เล่าต่อกันมา จนถึงในเวอร์ชันของพี่น้องกริมม์ เจค็อบ และ วิลเฮล์ม (Jacob and Wilhelm Grimm) ตีพิมพ์ในหนังสือคอลเลกชัน เทพนิยายกริมม์ ระหว่างช่วงปี 1812 – 1857 ซึ่งภาพยนตร์มากมายของดิสนีย์นั้นก็ดัดแปลงมาเนื้อเรื่องในคอลเลกชันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ซินเดอเรลล่า (Cinderella, 1950) โฉมงามกับเจ้าชายอสูร (Beauty and the Beast, 1991) เงือกน้อยผจญภัย (The Little Mermaid, 1989) เป็นต้น

การที่วรรณกรรมแขนง เทพนิยายกริมม์ มีความเข้มข้นและความดาร์กกว่านั้น เป็นเพราะในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ‘ความแฟรี่เทล’ ของนิยายแฝงจุดประสงค์ในการสะท้อนการเมือง สภาพแวดล้อมทางสังคม ปรัชญา และความเป็นมนุษย์ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าออกแนวนิทานสอนใจมากกว่าเพื่อสร้างความบันเทิงสำหรับเด็ก ทั้งยังทำให้ตัวร้ายในเทพนิยายนั้นมักจะสื่อถึงความตื้นเขินของจิตใจมนุษย์อย่างการแสวงหาอำนาจและความอิจฉาริษยา

สโนว์ไวท์ เรื่องเล่าลำดับที่ 53 ในคอลเลกชัน เทพนิยายกริมม์ ปล่อยออกมาในปี 1812 ในภาษาเยอรมัน ชื่อ Schneewittchen เนื้อเรื่องมีการปรับเปลี่ยนถึง 17 ครั้ง ในแต่ละครั้งที่มีการพิมพ์ใหม่ ก่อนจะมาจบลงในเวอร์ชันในปี 1857 ที่เรียกได้ว่าเป็นร่างต้นฉบับของดิสนีย์

ส่วนมัลติเวิร์สของ สโนว์ไวท์ นั้นมีส่วนขยายมากมาย ดังนี้ เริ่มตั้งแต่ภาคที่บอกว่าราชินีแม่เลี้ยงนั้นคือแม่แท้ ๆ ของเธอที่หลงใหลในความงามผ่านกระจกวิเศษ ซึ่งอาจมโนขึ้นมาในจินตนาการก็เป็นได้

การที่อายุของสโนว์ไวท์จากเด็กหญิงไร้เดียงสาวัย 7 ขวบ ไปเป็นสาวน้อยวัย 14 ปีในฉบับของดิสนีย์ และนั่นก็ทำให้การตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบของเจ้าชายนั้นดูพิลึกพิลั่นขึ้นมา การที่ร่างของเธอจะถูกเก็บรักษาไว้ในโล่งแก้วนั้นหลังจากรอดจากการถูกลอบสังหารถึง 3 ครั้ง การที่เจ้าชายหมกมุ่นในร่างสงบนิ่งของสโนว์ไวท์ และการโยกไปมาบนหลังม้า ทำให้แอปเปิลอาบยาพิษที่ติดคอหลุดออกมาจนฟื้นก็เป็นสิ่งที่แปลกประหลาด 

จนมาถึงท้ายที่สุด การล้างแค้นของสโนว์ไวท์ในวันงานแต่งงานของเธอ รองเท้าเหล็กลนไฟถูกคีบมาและบังคับให้ราชินีแม่เลี้ยงสวม ความร้อนเปลี่ยนสีของร้องเท้าเป็นสีแดงร้อนฉ่า ก่อนจะถูกสั่งให้เต้นรำไปจนล้มลงสิ้นชีวิต

#02

กระท่อมคนแคระทั้งเจ็ด

ย้อนกลับมายังฉากกระท่อมเล็ก ๆ กลางป่าของคนแคระทั้งเจ็ดจากเนื้อหาที่ปรากฏใน เทพนิยายกริมม์ นั้น บอกเล่าถึงลักษณะของกระท่อมชั้นเดียวที่ทุกอย่างข้างในนั้นมีขนาดเล็กจิ๋ว พื้นที่ภายในกระท่อมสะอาด ข้าวของต่าง ๆ จัดวางอย่างประณีตเกินกว่าจะบรรยาย มีโต๊ะทานข้าวปูผ้าสีขาวตั้งอยู่ มีชุดจาน พร้อม Cuttery (ช้อน ส้อม มีด แก้วน้ำ 7 ชุด) และด้านชิดผนังอีกฝั่งหนึ่งก็มีเตียงเล็ก ๆ 7 เตียงวางเคียงข้างกัน 

ข้อแตกต่างระหว่างต้นฉบับและดิสนีย์ คือฉากทำความสะอาดของสโนว์ไวท์และผองสัตว์ป่า กระท่อมที่พบอยู่สภาพรก สกปรก และขาดการดูแล ซึ่งนั่นก็น่าแปลก เพราะขัดแย้งกับรายละเอียดของการตกแต่งมัณฑนศิลป์ภายในบ้าน ซึ่งน่าจะบ่งบอกถึงความเอาใส่ใจได้พอตัว พวกเขาไม่น่าจะปล่อยให้เลอะเทอะได้ดังที่ปรากฏในหนัง

หากเรายึดโยงฉากของกระท่อมตามในภาพยนตร์ของดิสนีย์ ฉากภายนอกของกระท่อมคนแคระนั้นเผยให้เห็นสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายของกระท่อม 2 ชั้น

ชั้น 1 เป็นที่อยู่อาศัย ส่วนชั้น 2 เป็นห้องนอนใต้หลังคา

เมื่อมองจากภายนอก รูปทรงออกมาในลักษณะที่นำกระท่อม 2 หลังมาเชื่อมต่อกัน โดยมีปล่องไฟอยู่ทางด้านขวา มีฐานหิน โครงสร้างไม้ ซุ้มประตูทางเข้าและหน้าต่างโค้ง และหลังคามุงจาก ถึงแม้ว่าจะดูเรียบง่าย แต่รายละเอียดของโครงสร้างและการตกแต่งภายในของตัวบ้านกลับเต็มไปด้วยความประณีต ไม่ว่าจะเป็นลวดลายของประตู หน้าต่าง โครงสร้างไม้และบันไดที่แกะสลักด้วยลวดลายของธรรมชาติและสัตว์ป่า อย่างหน้าของนกฮูกของสันของลูกนอนขั้นบันได ใบไม้ เถาวัลย์ที่แกะสลักตามวงกบประตูและหน้าต่าง เตียงของพวกเขาทั้ง 7 เองก็สลักชื่อกำกับและมีลวดลายไม่เหมือนกัน

เป็นไปได้หรือไม่ที่ความ ‘เทพนิยาย’ ทางสถาปัตยกรรมเกิดจากงานฝีมือที่พิถีพิถันหรือ ‘Craftmanship’ ที่ทำให้กระท่อมหลังนี้แตกต่างและโดดเด่นออกมา อีกทั้งยังเผยให้เราเห็นถึงทักษะในการก่อสร้างของสถาปนิกช่างฝีมือทั้ง 7 ไปโดยปริยาย 

ทำไมบ้านแต่ละหลังถึงต้องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ตามแค็ตตาล็อกสินค้าวัสดุที่มีในท้องตลาด หากแต่ละโปรเจกต์ในงานสถาปัตยกรรมมีโอกาสมากพอที่เราจะทดลองสร้างสรรค์ส่วนประกอบใหม่ ๆ มาประยุกต์เสริมกับงานออกแบบได้

สัดส่วน หรือ Scale ในงานสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้

ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือฉากภายในกระท่อมนั้นดูเหมือนจะใหญ่และกว้างขวางกว่ารูปด้านภายนอกของตัวกระท่อม (อย่างไรก็ตาม อาจมีบางห้องที่ไม่ได้ปรากฏออกมาในฉาก)

ด้วยพื้นฐานในงานสถาปัตยกรรมแล้ว สัดส่วนของมนุษย์เป็นตัวกำหนดและตีกรอบโจทย์ในงานออกแบบ อีกทั้งเป็นตัวบังคับรูปทรงความกว้างความยาวและความสูง หนึ่งในความสวยงามทางสถาปัตยกรรมนั้นเกิดจากสัดส่วนที่สมดุล แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปทรงสมมาตรเสมอไป สเกลหรือสัดส่วน อาจเป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับตัวเลข จากแปลนอาคารบนกระดาษแบบ 2 มิติ เป็นรูปทาง 3 มิติในโลกของงานก่อสร้าง

แต่เมื่อสัดส่วนของผู้ใช้งานเปลี่ยนไป กฎเกณฑ์มาตรฐานทางสัดส่วนก็จะปรับเปลี่ยนไปด้วย เริ่มตั้งแต่ระยะของการวางแปลน กริดไลน์ของอาคาร ไปจนถึงการกำหนดจุดวางและขนาดของประตูหน้าต่างอาคาร

เหมือนกันกับในบ้านตุ๊กตาหรือบ้านยักษ์ที่เราเคยพบเห็นในพิพิธภัณฑ์หรือในสวนสนุก และเหมือนในตอนที่สโนว์ไวท์เข้าในกระท่อมครั้งแรก แล้วคิดว่ากระท่อมหลังนี้เป็นบ้านของเด็กกำพร้า ก่อนที่เธอจะหลับไปด้วยความเหนื่อยล้า เธอต้องใช้เตียงนอนของคนแคระถึง 3 เตียงมาต่อกันจึงจะพอดีกับขนาดตัวของเธอ 

ส่วนรูปทรงออร์แกนิกที่บิดเบี้ยวโค้งงอ ผนังที่ขรุขระไม่เรียบตรง พื้นผิวที่ยั่วยวนให้สัมผัสเป็นแบบฟอร์มทางสถาปัตยกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ

การเลียนลักษณะทางกายภาพเสมือนว่าอยู่ในผนังถ้ำ หรือลวดลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชพรรณและสัตว์น้อยใหญ่นี้ เป็นสุนทรียภาพของสถาปัตยกรรมเทพนิยายที่เป็นความแฟรี่เทลของงานออกแบบ ซึ่งมักผูกอยู่กับศิลปะอาร์ต นูโว (Art Nouveau) สไตล์การออกแบบอันเป็นที่นิยมในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาใกล้ ๆ กับที่ภาพยนตร์ สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด จะเข้าฉาย

ความอ่อนช้อยและลวดลายที่พลิ้วไหวของชิ้นส่วนต่าง ๆ ของตัวอาคาร การสั่งทำพิเศษ จึงอาจมีเพียงชิ้นเดียวบนโลก และเมื่อสถาปัตยกรรมออกแบบมาให้เป็นเสมือนประติมากรรม 3 มิติ ลวดลายของมันจึงแสดงความหมายเชิงสัญลักษณ์ และทำหน้าที่รับโครงสร้างในขณะเดียวกัน เหมือนกับเสากลางของกระท่อมของคนแคระหรือเก้าอี้ไม้พนักพิงรูปนกฮูก 

บ้านบังกะโล Los Feliz ในเมือง Los Angeles

เมื่อผู้คนได้แรงบันดาลใจและอยากมีบ้านแบบในเทพนิยายเป็นของตัวเอง ก็มักนำลักษณะเหล่านี้ไปใช้ก่อสร้างและตกแต่งข้าวของเครื่องใช้ไปโดยปริยาย

หากเราลองค้นหา ‘บ้านสโนว์ไวท์’ ในอินเทอร์เน็ต จะพบว่ามีบ้านหลายหลังที่ใช้คำนิยามเหล่านี้ไปเป็นธีมในตกแต่ง ซึ่งในปัจจุบันน้อยนักที่ผู้อยู่อาศัยเดิมที่ยังคงอาศัยอยู่ บางหลังกำลังปล่อยขายหรือปล่อยเช่าทาง Airbnb กลายเป็นบ้านพักชั่วคราวของนักท่องเที่ยว

แต่ในทางกลับกัน ฉากกระท่อมคนแคระจากภาพยนตร์นั้น คาดว่าอาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากบังกะโลที่มีอยู่จริงที่ Los Feliz ในเมือง Los Angeles สร้างขึ้นปี 1931 ซึ่งอยู่ใกล้กับสตูดิโอถ่ายทำเก่าของวอลต์ ดิสนีย์ 

Los Angeles Magazine ที่ตีพิมพ์ในปี 2006 ก็ได้ยืนยันถึงการเช่าบ้านหลังนี้สำหรับนักสร้างแอนิเมชันในช่วงปี 1926 – 1940 ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าพวกเขานำความเป็น ‘บ้าน’ หลังนั้นเข้ามาใส่ในงานออกแบบที่ทำอยู่ เพราะเมื่อดูภายนอกก็มีส่วนที่คล้าย ๆ กันอยู่พอสมควร โดยเฉพาะปล่องไฟ

แรงบันดาลใจที่สลับไปมาระหว่างฉากในโลกภาพยนตร์กับฉากในโลกความเป็นจริงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและซับซ้อนเลยทีเดียว เมื่อสถาปัตยกรรมในชีวิตจริงออกแบบให้เหมือนฉาก เหมือนกับงานศิลปะหรือรูปปั้นที่มีไว้โชว์ แต่ในขณะเดียวกัน ฉากในหนังก็มักถอดแบบมาจากโลกความเป็นจริง 

อย่างไรก็ตาม การใส่ธีมเข้าไปในงานออกแบบช่วยสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่แตกต่างให้กับงานสถาปัตยกรรมที่มักจะแข็งทื่อและน่าเบื่อ

บางคนมองว่างานสถาปัตยกรรมควรออกแบบให้เป็นงานศิลป์ บางคนก็มองว่าควรออกแบบให้น้อยที่สุดตามฟังก์ชันใช้งานก็พอ ซึ่งไม่มีผิด ไม่มีถูก และคงจะขึ้นอยู่กับโจทย์ที่นักออกแบบแต่ละคนตั้งขึ้นหรือรับมาว่าพวกเขาเหล่านั้นกำลังตามหาคำตอบอะไรในงานสถาปัตยกรรม

คงจะไม่ง่ายเหมือนกับการมีกระจกวิเศษไว้ครอบครอง และคอยกำกับว่าอะไรถูกหรือผิด งามหรือไม่งาม ดังนั้นจึงขอปิดท้ายวลีเด็ดตามแบบฉบับของราชินีใจร้ายว่า…

กระจกวิเศษ จงบอกข้าเถิด ผู้ใดงามเลิศที่สุดในปฐพี 

ข้อมูลอ้างอิง
  • Snow White and the Seven dwarfs. (1937). United States: Walt Disney Productions and RKO Radio.
  • www.win.tue.nl/~marko/latex/exercises/day2/snowwhite2.pdf
  • www.silpa-mag.com/history/article_43235
  • www.latimes.com/archives/blogs/la-at-home/story

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ