“มวยไทยเป็นกีฬาที่เจ็บตัว ต้องปะทะร่างกาย แต่สิ่งที่เจ็บมากกว่าร่างกาย คือจิตใจ คือแผลที่รักษาไม่ได้ มันเลยเจ็บเจียนตายเหมือนนรก”
เสียงของ เมย์-ศิวัช เดชารัตน์ อธิบายที่มาที่ไปให้เราฟัง ว่าทำไมลิมิเต็ดซีรีส์ตีแผ่วงการมวยไทยของเน็ตฟลิกซ์ถึงมีชื่อว่า ‘Hurts like Hell’ เจ็บเจียนตาย
เรานัดพบเขาที่ร้านลิขิตไก่ย่าง นอกเหนือจากความอร่อยอันเลื่องชื่อลือชา คือร้านนี้ตั้งตระหง่านอยู่หลังเวทีมวยราชดำเนินมานานกว่า 50 ปี
บทเพลงสมัยคุณแม่ยังสาว ดังคลอบทสนทนาที่ว่าด้วยมวยไทยเป็นสำคัญ สลับกับการซดน้ำต้มยำรสจัด และผลัดกันตักส้มตำปูปลาร้าสุดแซ่บ ประหนึ่งพูดคุยเรื่องจิปาถะทั่วไปในบ่ายวันเสาร์

อาจฟังดูแล้วไม่เข้ากัน ถ้ามองว่ามวยเป็นกีฬาดุเดือด เต็มไปด้วยความรุนแรงเพียงเท่านั้น มือเขียนบทผู้ทุ่มเทเวลาทั้งปีศึกษามวย กำลังจะเปิดเผยเบื้องหลังให้เราฟังในไม่ช้า ว่าอะไรทำให้น้องใหม่ในวงการภาพยนตร์ หมกมุ่นกับการเขียนบทอย่างเอาเป็นเอาตาย ตั้งแต่วันแรกที่ยังออกอาวุธไม่เป็นเหมือนใครเขา จนถึงวันที่ก้าวขาขึ้นบนสังเวียนต่อหน้าคนกว่า 190 ประเทศอย่างสมศักดิ์ศรี
ไม่ใช่ไหว้ครู แต่เมย์เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวอย่างเป็นทางการ มีเพลง ด้วยรักและผูกพัน ของ เบิร์ด ธงไชย เป็นแทร็กเปิดตัว สนับสนุนโดยร้านลิขิตไก่ย่าง
ก่อนเสียงระฆังจะดัง เกร๊ง

หักปากกาเซียน
ปัจจุบันเมย์เป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ ควบโปรดิวเซอร์บางเวลาที่วันนี้วันดี สตูดิโอ โปรดักชันเฮาส์ล้านนา จ.เชียงใหม่ จากความชอบส่วนตัวทำให้เขาคลุกคลีอยู่กับการเขียนบทมานาน ทั้งรายการโทรทัศน์ สารคดี วาไรตี้ หนังสั้น นำเสนอผ่านหลากหลายช่องทาง โดยงานส่วนใหญ่ของเขาเป็นประเด็นปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ เมย์บอกว่ามันทำให้เขาเป็นคนรู้เยอะ
“พอได้ลองหาข้อมูลเยอะ ๆ ได้เจาะประเด็นหลาย ๆ อย่าง ทำให้เราเข้าใจโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย รู้สึกว่ายังมีอะไรที่เราไม่รู้อีกเยอะ ซึ่งเป็นประโยชน์กับเรามาก ๆ
“เคยทำรายการเกี่ยวกับชาวนาทั้งปี 70 เทป เรารู้เลยว่าถ้าลาออก เราไปทำนาได้เลย เพราะรู้ขั้นตอนทุกอย่างหมด พันธุ์ข้าว เวลาปลูก เคล็ดลับ เราเชี่ยวชาญด้านข้าวไปแล้ว (หัวเราะ)”
ยิ่งในแง่ภาพยนตร์ เมย์เป็นคนหนุ่มอายุ 30 ที่ยังคงสนุกกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเขียนบทไปเรื่อย ๆ เสพงานเยอะเท่าไร ก็อยากรู้อยากลองทำมากขึ้นเท่านั้น สำหรับคนที่ไม่ชอบทำอะไรจำเจแบบเขา อาชีพเขียนบทที่ต้องศึกษาเรื่องราวใหม่ ๆ ให้รู้อย่างถ่องแท้ จึงเปรียบได้กับความท้าทายในการทำงาน และถือว่าตอบโจทย์การใช้ชีวิต
จนถึงวันที่ นิ้ง-ภัทนะ จันทร์เจริญสุข (โปรดิวเซอร์ Hurts Like Hell) และ แชมป์-กิตติชัย วรรณ์ประเสริฐ (ผู้กำกับ Hurts Like hell) ปรากฏตัวพร้อมกับไอเดียการทำหนังเกี่ยวกับมวยไทย มี 2 ความรู้สึกเกิดขึ้นกับเขา อย่างแรกคือดีใจ เพราะความใฝ่ฝันของเมย์ในฐานะคนเขียนบท คือการที่บทของตัวเองจะถูกทำเป็นภาพยนตร์ ติดตรงที่พอเรื่องมวยฮุคเข้าที่กกหู เขาก็ใช้คำว่า “แบลงก์ไปเลย”
“เราไม่รู้เรื่อง ไม่ถึงกับศูนย์นะ แต่รู้ในแง่ของคนทั่วไปว่ามวยเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง เราโตมากับปู่ที่ชอบดูมวยมาก แต่ไม่เคยรู้ว่ามวยเป็นยังไง เราเห็นสารคดีมวยไทยเยอะ มีการนำเสนอหลายแบบ แต่ก็ไม่อินเท่าไร”
ถึงอย่างนั้นเขาก็พร้อมที่จะหมกมุ่นและเจาะลึกมัน เหมือนที่เขาศึกษาจนมั่นใจว่าทำนาเป็นแล้วนั่นแหละ

คลุกวงใน
ครอบครัวของนิ้งเคยทำกิจการค่ายมวยมาก่อน ทำให้รู้เรื่องลับ ๆ หลายอย่างในวงการที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เคยรู้ ความตั้งใจของหัวเรือทั้งสองแห่งวันนี้วันดีสตูดิโอ จึงเป็นการนำเสนอเรื่องมวยในมุมมองที่แตกต่างออกไป
เล่าอย่างย่อใน 2 บรรทัดสำหรับคนที่ยังไม่มีโอกาสได้ดู Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย เป็นซีรีส์กึ่งสารคดีที่หยิบเอาปัญหาที่ซุกไว้ใต้เวทีมวยมาเปิดเผย ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง อัดแน่นด้วยนักแสดงมากฝีมือและโปรดักชันมากคุณภาพ
แต่กว่าจะเป็นซีรีส์น้ำดีที่ควรค่าแก่การรับชม บอกเลยว่าคนทำงานเบื้องหลังที่เรียกตัวเองว่า ทีมโนเนม ก็เลือดตกยางออกไม่แพ้นักแสดงในหนัง โดยเฉพาะคนสร้างเรื่องอย่างเมย์ ถึงขนาดออกปากมาว่า “ถ้าไม่ศึกษาเรื่องนี้ เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าในสนามเขา ‘เล่น’ อะไรกัน”
“เราเริ่มหาข้อมูลตามสื่อ หนังสือ ใกล้ ๆ ตัวเราก่อน มันจะนำไปสู่ข้อมูลบางอย่าง มีคนบางคนอยู่ในนั้น คนที่เราอยากไปสัมผัสจริง ๆ และมีใครบ้าง มีกี่ประเภท เพราะต้องหาตัวละครมาทำหนัง เราติดต่อคนในวงการจากคนใกล้ตัว ขอไปคุยกับเจ้าของค่ายนี้ได้ไหม อ่านข่าวไหนน่าสนใจก็ขอไปคุยกับเขา ทั้งเซียนมวย โปรโมเตอร์ นักมวย เทรนเนอร์ คนขายตั๋ว เยอะมาก
“ถ้าจำไม่ผิด เราคุยไปเกือบ 50 คน เพราะเราไม่ได้อยากรู้แค่ข้อมูล เราอยากรู้ความรู้สึก พฤติกรรม ความเข้าใจของเขา ยิ่งถ้าเหตุการณ์รุนแรง เราก็อยากจะรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในข่าวนั้น ๆ”
หลังผ่านการหว่านหาข้อมูลจากทั่วทุกสารทิศ ได้ข่าวมาเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ก็ถึงเวลาต้องเลือกว่าข่าวไหนจะกลายเป็นหมัดเด็ด เป็นข่าวที่ตอบโจทย์กับสิ่งที่เขาอยากเขียน ครอบคลุมประเด็นที่ต้องการทั้งหมด สำคัญคือต้องพิจารณาว่าผู้คนรอบ ๆ ข่าวนี้มีใครบ้าง และพฤติกรรมไหนที่ต่อยอดเป็น Conflict ของหนังได้
ความโชคดีคือทุกคนในวงการมวยไทยให้ความร่วมมือกับเขาทั้งสิ้น ไม่มีใครกลัวที่จะเปิดเผยข้อมูลให้ฟัง แม้บางเรื่องราวจะกระทบกระเทือนกับจิตใจมากก็ตาม (และอาจกระทบกระทั่งกับคนบางกลุ่ม) แตกต่างจากงานสารคดีชิ้นก่อน ๆ ที่เมย์บอกว่าหลายคนก็เลือกที่จะเก็บเงียบ
สิ่งที่ทีมงานให้ความสำคัญ คือไม่ใช่แค่หยิบยกข่าวที่น่าสนใจขึ้นมาเท่านั้น แต่พวกเขาจำเป็นต้องเข้าไปคุยกับบุคคลในข่าวจริง ๆ และเรื่องราวทั้งหมดต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าของเรื่อง

หากใครได้ดูแล้วจะพบว่าหนึ่งในเหตุการณ์ที่พวกเขาเลือก คือข่าวของ ฟ้าใหม่ ว.สุดประเสริฐ (พุฒ ลูกร่มเกล้า) นักมวยเด็กที่ต้องเสียคู่ชกไปจากการแพ้น็อกในยกที่ 3 นับเป็นข่าวที่สร้างความเศร้าสะเทือนใจแก่สังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งเมย์มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับทั้งเจ้าของค่ายมวย ผู้ปกครอง และตัวพุฒเอง
“ด้วยความที่เหตุการณ์มันยังใหม่มาก กลายเป็นว่าความรู้สึกของพุฒมันยังอยู่ เขาเองก็รู้สึกเหมือนได้ระบาย ได้พูดคุยกับเรา ไม่ได้อยากเก็บมันไว้คนเดียว ใจจริงของเขาก็อยากให้คนอื่นเข้าใจเหมือนกัน ว่าเขาไม่ได้มีเจตนาแบบนั้น ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น
เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ถ่ายทอดความรู้สึกเขา ว่ามันคือกีฬา เขาทำตามหน้าที่ เขาแทบจะรู้สึกอึดอัดด้วยซ้ำที่ไม่ได้พูดกับใครเลย นั่นยิ่งทำให้คอนเทนต์ของเราหนักแน่นขึ้น”
ด้วยกระบวนการถ่ายทำ ต้นเรื่องทุกคนจะได้รับรู้ว่าข้อมูลที่ให้เมย์ไปจะถูกใช้ไปทำอะไรบ้าง ฟีดแบ็กของทุกคนเป็นไปในทางเดียวกันว่า ถึงแม้จะถูกเล่าในแง่มุมดำมืด แต่ซีรีส์เรื่องนี้ก็เต็มไปด้วยความปรารถนาดีต่อวงการมวยไทย
วัตถุประสงค์ของพวกเขา ไม่ได้ตั้งใจตีแผ่วงการมวยไทยจนคนดูรู้สึกในแง่ลบ เพียงแต่อยากนำเสนอให้เข้าใจว่า ทุก ๆ อย่างดำเนินเช่นนี้มาโดยตลอด ทุกเหตุการณ์ที่มีความร้ายแรง ก็ไม่ได้แปลว่าจะลงเอยด้วยความเจ็บปวดเสมอไป เมย์ในตอนแรกก็เคยจำลองว่าโลกของมวยต้องโหดร้ายรุนแรงเช่นนั้น แต่ยิ่งศึกษาลึกลงไปในแต่ละด้านมากเท่าไร จากคนที่เคยมองเพียงผิวเผยก็เริ่มเข้าใจบริบท ความเป็นไปต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และมองเห็นได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ไม่ติดกับดักสีเทาที่วางไว้
“เราไม่ได้อยากตีแผ่ แต่อยากให้เข้าใจมากขึ้น ทุกคนก็แค่พยายามจะอยู่ในวงการนี้ให้ได้”
เหมือนนักมวยที่โดนซัดจนน่วมขอโอกาสชกในยกต่อไปก็ไม่ปาน

นักชกข้ามรุ่น
จากคำถามที่เตรียมมาจากบ้าน ยังไงวันนี้ก็ต้องทราบให้ได้ ว่าทำไมการเล่าเรื่องของ Hurts Like Hell จึงเป็นกึ่งสารคดี คือสัมภาษณ์บุคคลจริงครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งเป็นพลังของการแสดง ทั้งที่วงการมวยไทยมีอะไรให้เล่าอีกเป็นมหากาพย์ เมย์ตอบว่าเขาไม่ต้องการให้คนดูเกิดคำถามกับหนัง ซึ่งเป็นเช่นนั้นจริงจากการดูจบเพียง EP แรก
“ถ้าเราดูหนังแล้วตั้งคำถามตลอดว่ามันคืออะไรเหรอ เราจะเริ่มงง แล้วจะดูไม่สนุก สิ่งที่ทีมโปรดักชันกังวลคือ คนดูจะรู้เรื่องไหม เราเล่าดีพอรึยัง จำเป็นจะต้องเลือกวิธีการที่ทำให้คนดูเข้าใจและสนุกด้วย เป้าหมายของเราคือการทำยังไงให้ไปสู่จุดนั้นให้ได้”
ด้วยความที่วันนี้วันดีผ่านการทำสารคดีมามากมาย ความถนัดจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งสำหรับนักชกมวยที่ยังไม่พร้อมข้ามรุ่น เพราะโปรเจกต์นี้ถือเป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ของทุกคน ต้องอาศัยความมั่นใจเป็นอย่างมาก ถัดมาคือแพสชันเต็มเปี่ยมของนิ้งและแชมป์ สองเพื่อนซี้ผู้อยากมีภาพยนตร์ของตัวเองสักวัน รวมถึงตัวเมย์ที่ก็เพิ่งเคยเขียนบทหนังขนาดยาวเป็นครั้งแรก
“ทีมโปรดิวเซอร์และผู้กำกับเขามีความตั้งใจสูงมาก เราไม่อยากให้ความตั้งใจนั้นเสียไปเพราะเรา อะไรที่มีเรางัดออกมาหมดเลย ต้องใส่ให้สุด ถ้าคุณใส่ไม่สุด คุณก็อย่าใส่เลยดีกว่า
ตอนแรกที่เริ่มเขียน เรารีวิวกับทีมทุกคน คนที่ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน นั่งคุยกับเขา เล่าให้ฟัง แล้วให้เขาสะท้อนมาว่างงตรงไหน ควรปรับอะไรบ้าง เหมือนเป็นการทำสำรวจและพัฒนาบทตัวเองไปด้วย”
ทำไปทำมา ก็เนิ่นนานจนกินเวลามากกว่า 2 ปีที่เมย์หมกมุ่นกับการทำบทให้เสร็จสมบูรณ์ แบ่งเป็นการทำข้อมูลและลงมือเขียนอย่างละครึ่ง สิริรวมแล้ว 21 ดราฟต์ พัฒนาลากยาวมาจนถึงช่วงโปรดักชันแบบที่ซือแป๋ยังต้องเรียกอาจารย์

ออกอาวุธลับ
“เทคนิคการเล่าของเรามันมีเหตุการณ์หลายอย่างซ่อนอยู่ มุมมองทุกตอนแตกต่างกัน แต่มีความเชื่อมโยงถึงกัน มีคำหนึ่งที่พี่แชมป์กับพี่นิ้งพูดตลอดว่า ทำยังไงให้หนังมันดูมีอะไร ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันต้องมีอะไร” เมย์เล่าพร้อมกับเสียงหัวเราะ เมื่อนึกย้อนไปถึงตอนทำบทช่วงแรก ๆ
แน่นอนว่าระยะเวลาทำให้กระแสสังคมเปลี่ยนไป มีข่าวเกิดขึ้นอีกมากมายในวงการมวยนับตั้งแต่วันแรก เมย์เองก็รอบรู้มากขึ้น มีไดเรกชันหลาย ๆ อย่างที่อยากใส่ ความยากคือการปะติดปะต่อเรื่องราวที่สลับซับซ้อนพวกนี้ให้ร้อยเรียงกันไปได้ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปเลยตลอด 21 ดราฟต์ คือโครงเรื่องและคอนเทนต์ในแต่ละตอนที่มั่นใจแล้วว่าเต็มอิ่ม เป็นเหตุผลว่าทำไมซีรีส์เรื่องนี้ถึงมีแค่ 4 ตอน อาศัยเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง และเต็มไปด้วยนัยยะสำคัญแอบแฝง
คล้ายจะเป็นไฟลต์บังคับให้คนดูดูครบทุกตอนใช่ไหม – เราแย็บไปที
“ใช่ครับ” เมย์ขอโอกาสอธิบาย
“สิ่งหนึ่งที่คนเขียนบททุกคนต้องมี คือการวาง Easter Egg ที่ทำให้คนดูอยากติดตามต่อ เกิดความสงสัยว่าตอนต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น บางครั้งเราก็ลุ้นนะว่าจะมีใครที่จับสังเกตเราได้ไหม ไม่ใช่ใส่ไปแล้วคนดูงง”
แอบกระซิบหนึ่งอย่างให้รู้กันเท่านี้ ว่ามีอะไรซ่อนอยู่บนโต๊ะทำงานของพัดใน EP แรก ขอเพียงกวาดสายตาดูดี ๆ
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังทำบทเสร็จคือการสร้างตัวละคร ที่เราจะพูดคุยกันต่อในยกถัดไป นักแสดงเองก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาบทร่วมกันกับเมย์ ผ่านการเวิร์กชอปเป็นจำนวนมาก ด้วยความที่มวยเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน คำพูด คาแรกเตอร์ ท่วงท่าต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นบทบาทที่จำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมของคนเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง เช่น เซียนมวยจะมีสัญลักษณ์ในการเล่นพนันที่คนนอกดูแล้วไม่เข้าใจ และจะเล่นกันไวมาก เป็นงานหนักของเมย์ที่ต้องเขียนบทเพื่อให้คนดูตามทันภายในเวลาไม่กี่วินาที
“ระหว่างเวิร์กชอปกับนักแสดง เราเอาตัวคนจริง ๆ มาเทรนกันจริง ๆ พอคุยกัน 3 มุมก็เริ่มเห็นไดเรกชันใหม่ ๆ เกิดการปรับเปลี่ยนแก้ไขบท พัฒนาจนชัวร์ ว่านี่คือบทที่พร้อมถ่าย
“ถึงแม้พี่นิ้งกับพี่แชมป์จะบอกว่า พี่อยากถ่ายแล้วนะ แต่ด้วยความที่เราอยากทำให้มันดี เราก็จะไม่ปล่อยผ่าน ก็เอาวะ ขออีกหน่อยแล้วกัน เราว่ามันยังไม่พร้อม”

ลงสนาม
พาร์ตของการสัมภาษณ์คนจริง พวกเขาคัดเลือกจากการสืบถามคนในวงการว่าใครคือตัวจริงที่สุดในเรื่องนั้น ๆ แต่พาร์ตของการแสดง พวกเขาเลือกคนจากแววตา เพราะตั้งใจให้สื่อสารผ่านสีหน้า และคิดว่าจะมีบทสนทนาเพียงหยิบมือในเรื่องนี้
แค่ปล่อยใบปิดของซีรีส์ก็สร้างเสียงฮือฮาให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก เมื่อนักแสดงมากฝีมือเบียดเสียดกันอยู่บนโปสเตอร์ จนยากจะเชื่อว่านี่คือผลงานของโปรดักชันเฮาส์ขนาดเล็กที่ไม่เคยทำหนัง
ย้อนกลับไปตอนทำบทเสร็จ
“ทุก ๆ การสร้างตัวละคร มันจะมีหลักในใจว่าเรามองเห็นภาพนักแสดงคนไหน”
จินตนาการของเขาประกอบด้วย ปู-วิทยา ปานศรีงาม, เอก-ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ และ ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม 3 ทหารเสือตัวจริงที่กระโจนออกมาจากบทภาพยนตร์ราวกับฝันไป
“โอ้โห หน้าหนังเราจะใหญ่มากนะ แล้วเราต้องทำยังไงดีวะ” เมย์กุมขมับ

มวยถูกคู่
จิ๊กซอว์ชิ้นแรกที่เมย์ได้มาคือพี่ปูในบทบาท วิรัตน์ กรรมการมวย นักแสดงรุ่นใหญ่ที่มีผลงานการแสดงหนังต่างประเทศมามากมาย หลังได้เห็น Proposal และหน้าตาทีมงานวัยรุ่น พี่ปูก็ตบปากรับคำทันที
เมย์เล่าว่าพี่ปูต้องเรียนรู้ภาษามวยทุกอย่าง การเป็นกรรมการไม่ใช่แค่นับ 1 2 3 หรือจะสั่งให้ชกตอนไหนก็ได้ ทีมงานจึงจัดให้พี่ปูไปเทรนกับกรรมการห้ามมวยจริง ๆ จนได้การเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติ ถึงขนาดให้พี่ปูลองขึ้นไปเป็นกรรมการตัวจริงในการแข่งขันมวยจริง ๆ ด้วยซ้ำไป
จิ๊กซอว์ชิ้นต่อมาคือพี่เอกในบทบาท เสี่ยคม เซียนใหญ่ผู้ทรงอิทธิพล เมย์บอกว่าเป็นการติดต่อพูดคุยที่งงมาก เพราะจากที่เกริ่นนำเพียงสั้น ๆ พี่เอกกลับต้องการให้เขาเล่าเรื่องราวให้ฟังทั้งหมดเกือบ 1 ชั่วโมงเต็ม ต่อมาจึงเป็นการนัดเจอที่ทีมงานต้องบินลัดฟ้าเหมือนเชียงใหม่อยู่ใกล้แค่ปากซอย
พวกเขาร่วมกันสร้างปูมหลังของเสี่ยคมตั้งแต่วัยหนุ่มจนเข้าวงการมวย ระหว่างทางมีอุปสรรคอะไรที่ต้องฟันฝ่ามาบ้าง กระเป๋าใบเล็กที่แนบกายไว้ตลอดเวลาคงไม่ได้บรรจุแค่เงินจำนวนมาก แต่คนอย่างเสี่ยคมที่ดูอันตรายแม้เพียงสบตา พี่เอกคิดว่ากระเป๋าใบนี้ควรต้องมีปืน
ทีมงานเตรียมปืนถ่ายหนัง 9 มม.ให้ตามคำขอ แม้ไม่ปรากฏให้เห็น แต่สิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนออกมาผ่านสีหน้าท่าทางของเสี่ยคมจนคนดูรู้สึกได้
ถัดมาคือพี่ปีเตอร์ในบทบาท ต้อย ครูมวย แม้จะเป็นนักแสดงในดวงใจของเมย์ แต่เขาก็ขออนุญาตเปลี่ยนลุคให้พี่ปีเตอร์ด้วยการทำแผลเป็นและตัดผมสั้น
ในหนังจะเห็นว่าครูต้อยต้องเข้าฉากกับวิเชียร (น้องภู-ภูริภัทร พูลสุข) ค่อนข้างเยอะ ซึ่งน้องภูเป็นนักมวยเด็กตัวจริง ส่วนพี่ปีเตอร์เป็นครูมวยที่ต่อยมวยยังไม่เป็นด้วยซ้ำ ตอนถ่ายทำจึงเป็นน้องภูเสียมากกว่าที่คอยบอกคิวว่าครูมวยคนนี้ควรจะตั้งรับลำแข้งของเขายังไง
ทีมงานพาพี่ปีเตอร์ไปซึมซับบรรยากาศการต่อยมวยเด็กจริง ๆ พาไปดูการฝึกซ้อมที่ค่ายมวยของพ่อน้องภู ฝึกฝนจนมีลักษณะเหมือนครูมวยทุกประการ และเป็นคู่ซ้อมจริงด้วย โดยเฉพาะการเห็นครูมวยส่งเสียงเชียร์อยู่ข้างเวทีด้วยตา ทำให้เข้าใจว่าทำไมต้องลุ้นระทึกขนาดนั้น
ส่วน ณัฏฐ์ กิจจริต ในบทบาท พัด เซียนมวยผู้ทะเยอทะยาน ถูกตามหาในเวลาต่อมา เพียงบอกณัฏฐ์ว่าจะได้แสดงกับใครบ้าง เขาก็มาแคสต์ทันทีโดยไม่ต้องคิดให้มากความ
“ประจวบเหมาะกับเขาเพิ่งสึก ผมก็สกินเฮดเลย ลุคนี้เท่มาก พอเขามาแคสต์ บทนี้มันไม่มีทางหลุดจากณัฏฐ์ไปแน่นอน”

ท่าไม้ตาย
เมื่อบทประพันธ์พร้อมใช้ นักแสดงพร้อมลงสนาม ก็ถึงคราวเปิดกล้องถ่ายทำ
หนึ่งในซีนที่ทรงพลังที่สุด และเป็นหนึ่งในความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์ไทยสำหรับเรา คือการพบกันระหว่างพี่ปูและพี่เอกบนรถแท็กซี่ เราถือโอกาสขอบคุณเมย์ที่คืนกำไรให้กับคนดูโดยไม่ต้องขอ
“ซีนนี้เป็นซีนที่… “ เขาเว้นวรรค “พูดแล้วขนลุกนะ”
“ในครั้งแรกที่เราได้ 2 คนนี้มา ทีมเราคิดกันเลยว่าทำยังไงให้เสือ 2 ตัวนี้มาอยู่ในที่เดียวกัน
“เราไม่อยากให้เขาเถียงกัน แต่อยากให้เขาเฉือนกันด้วยคำพูด ด้วยความรู้สึก ด้วยการแสดง ซึ่งเป็นซีนที่เวิร์กชอปบ่อยมาก แก้แล้วแก้อีก เคลียร์กันทีละไดอะล็อกเลยว่าพูดทำไม พูดเพราะอะไร มันไม่ใช่แค่สื่อสารกันเอง แต่มันกำลังสื่อสารกับคนดูทั้งหมด
ตอนที่ถ่ายทำเสร็จคือ เชี่ย พวกพี่แม่งคมว่ะ ผมจะตัดยังไงให้คมเหมือนที่พี่เล่นกันได้วะ”
รวมไปถึงซีนระเบิดอารมณ์ระหว่างณัฏฐ์และเม้ง (ภัทรพล ทองสุขา รับบท วิโรจน์) ที่ใช้วิธีถ่ายแบบลองเทคยาวเกือบ 2 นาที เป็นอีกซีนที่เมย์รู้สึกทึ่ง เพราะการแสดงที่ดึงพลังกันได้ตลอดเวลา การตัดสลับของสีหน้า ท่าทาง อารมณ์ ต้องเฉียบคมเพื่อขับเน้นให้คนดูรู้สึกได้
เช่นเดียวกับบรรดาซีนชกมวยทั้งหลาย แค่ดูก็รู้สึกถึงหมัดหนัก ๆ ที่ 2 ฝ่ายสาวใส่กันไม่ยั้งมือ แต่ใครจะรู้ว่าความเป็นจริงเจ็บปวดมากกว่านั้น


พวกเขาถูกโควิด-19 เล่นงานจนอ่วม พักกองถ่ายไป 8 เดือนจนนักแสดงต้องขอรื้อฟื้นด้วยการเวิร์กชอปใหม่ หลังถ่ายทำกันไปแล้วเกินครึ่ง
บาดแผลใหญ่เกิดขึ้นระหว่าง 8 เดือนที่หายหน้าไปตัดต่อนี้เอง เมื่อพบว่าฉากต่อยมวยบนเวทีทั้งหมดดูเหลาะแหละไม่สมจริง จากการขอให้นักมวยออกหมัดแค่ 60 เปอร์เซ็นต์ เพื่อมีแรงถ่ายทำทั้งวันให้ได้
พวกเขาตัดสินใจถ่ายฉากต่อยมวยทั้งหมดใหม่ในปีที่ 3 ของการทำซีรีส์ ใช่ อ่านไม่ผิด
คราวนี้เมย์ขอให้นักมวยออกแรงเพิ่มเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ และเป็นไปได้ก็ขอให้ต่อยหมัด ตีเข่า ฟันศอก กันจริง ๆ จนนักมวยฝ่ายแดงร้องโอด ว่าการถ่ายทำเพื่อความสมจริงวันนี้เหนื่อยยากกว่าการฟิตซ้อมทั้งเดือนเสียอีก
หัวใจใหญ่กว่าตับ
นึกขอโทษเมย์ในใจที่อาหารบนโต๊ะพร่องลงไม่มาก จากการพูดคุยกันเมามันจนเดินทางมาถึงยกสุดท้ายในที่สุด
คุณรู้สึกยังไงเวลาคนพูดว่า Hurts Like Hell เป็น Original Series ที่ดีที่สุดของเน็ตฟลิกซ์ไทย – เราแย็บไปอีกทีจากคำชื่นชมที่ได้ยินมาหนาหู
“ช่วงแรกรู้สึก 2 อย่าง หนึ่ง กลัว สอง ดีใจ
“ดีใจเพราะมันเป็นหนังเรา แม้มันจะไม่ดีแต่เราได้ฉายแล้ว เหมือนความรู้สึกของการส่งลูกเรียนจบ ขอบคุณทุกอย่างที่สู้มา 4 ปีกว่าจะเสร็จ ทำให้เราใจฟูในการพัฒนาตัวเองในวงการนี้ต่อไป จากที่เคยพยายามเดินเข้าไปหาแสง จากที่เขาเคยยืนหันหลังให้ ตอนนี้เขายืนขึ้นแล้วหยิบกล้องมาหาเรา
“แต่ก็กลัวว่าที่เขาชมมามันดีจริงใช่ไหม เรารับฟีดแบ็กจากสื่อเยอะมาก แต่เราก็อยากได้ฟีดแบ็กจากคนดูจริง ๆ แม้กระทั่งของคนในวงการมวย จะดีหรือไม่ดีก็ได้นะ เพราะการสะท้อนของคนดูจะทำให้โปรเจกต์ต่อไปดีขึ้น”
ประสบการณ์คือเชิงมวยที่เมย์ได้จากสังเวียนแรกในวงการภาพยนตร์ พร้อมกับทักษะที่ไม่มีทางเข้าใจด้วยการอ่านในหนังสือ ผ่านการแก้ปัญหาที่ดาหน้าเข้ามาหานักมวยสมัครเล่นอย่างเขา
เราชวนเมย์ย้อนกลับไปตอนต้นของบทสนทนา ว่าเขาใช้เวลาศึกษาเรื่องการทำนาจนเชื่อว่าตัวเองปลูกข้าวเป็น หากเทียบกันหมัดต่อหมัด การคลุกคลีอยู่กับวงการมวยไทยนานหลายปี เราเองก็อยากรู้ว่าผู้ชายคนนี้กำลังอยู่ในยกที่เท่าไรของชีวิต
“เราเพิ่งก้าวขึ้นมาบนเวที และต่อยให้คนดูเห็นว่า เฮ้ย ไอ้คนนี้เชิงมวยแม่งดีว่ะยกแรก แต่จริง ๆ แล้ว เราว่ามันเพิ่งจบไฟต์ที่หนึ่ง
“นักมวยคนหนึ่งมีไฟต์ต่อเป็นร้อย ๆ นี่คือไฟต์แรกของเราและทีมงาน นี่คือไฟต์แรกที่เราต่อยกัน 5 ยกจนคะแนนมันออกแล้ว ชนะหรือเสมอไม่รู้ขึ้นอยู่กับคนดู เราได้ประสบการณ์จากไฟต์นี้ และไฟต์ต่อไปเราจะเตรียมร่างกาย จะฟิตซ้อมยังไง จะข้ามรุ่นได้ไหม มันคือหลังจากนี้
“ขึ้นอยู่กับคนดู เซียนมวย เขาจะตามดูเราต่อไปไหม ส่วนคู่ต่อสู้คนต่อไปของเรา คือเราต้องชนะใจคนดูในไฟต์หน้าให้ได้”
แม้คนไทยบางส่วนจะไม่นิยมชมชอบหนังไทย แต่ความรู้สึกของเราหลังได้รับชมผลงานคนไทย ได้สนทนากับเลือดใหม่ของวงการตรงหน้า และได้ตั้งตารอเสียงลั่นระฆังในไฟต์ต่อไปอย่างมีความหวัง
พาลให้นึกถึงประโยคหนึ่งที่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับหนังไทยในเวทีโลก เคยกล่าวไว้ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ทีมงานเบื้องหลังทุกคนทำให้เรายังคงเชื่อมั่นในประโยคเดียวกันนี้
Long live cinema
ภาพยนตร์จงเจริญ
