“แน่ใจนะว่านี่บ้านคน ไม่ใช่ศาลเจ้า”

ร้อยทั้งร้อยของผู้ได้เห็นตึกสีขาวหลังนี้คงรู้สึกไปในทางเดียวกัน จะเป็นหลังคา หน้าต่าง ประตูบ้าน ยันศิลปกรรมบนตัวอาคาร… มองอย่างไรมันก็น่าจะเป็นที่สถิตของเทพเจ้ามากกว่ามนุษย์เห็น ๆ

“ดีแล้วล่ะครับที่บ้านผมกระเถิบเข้ามาอยู่ในที่ลับตาคนหน่อย ไม่งั้นใครผ่านมาเห็นคงได้ยกมือไหว้สลับกับบีบแตรรถทั้งวันแน่” ตี้-ไพศาล หทัยบวรพงศ์ อดจะขำไม่ได้เมื่อต้องกล่าวถึงบ้านหลังใหม่ของครอบครัวตนที่ย้ายเข้ามาอยู่หลังบ้านตึกแถวเดิมริมถนนขาเข้าอำเภอสีคิ้ว

ครูหนุ่มวัย 40 กะรัตแห่งโรงเรียนสีคิ้ว (สวัสดิ์ผดุงวิทยา) กล่าวถึงอำเภอบ้านเกิดว่าเป็นชุมชนจีนเก่าแก่และคึกคักมากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา โดยมากสืบเทือกเถาเหล่ากอมาจากจีนแต้จิ๋วเฉกเช่นเดียวกับลูกหลานจีนส่วนใหญ่ในประเทศ แต่ก็ไม่เคยมีครอบครัวใดหาญกล้าพอจะสร้าง ‘บ้านทรงแต้จิ๋ว’ ขนานแท้เหมือนกับบ้านของเขาที่รังสรรค์ขึ้นตามนิวาสสถานเดิมของบรรพบุรุษ

‘เฮียตี้’ ออกแบบบ้านนี้ด้วยตัวเอง ทั้งที่ไม่ได้เรียนมาด้านสถาปนิก อาศัยเพียงความคลั่งไคล้ในวัฒนธรรมแต้จิ๋วซึ่งตกทอดมาทางสายโลหิต ผสมกับทักษะครูพักลักจำ ตลอดจนคำแนะนำของผู้รู้ที่ได้จากการต่อสายตรงถึงเมืองจีน ก่อกำเนิดเป็นบ้านทรง ‘ซี่เตี๋ยมกิม’ แบบจีนแต้จิ๋วที่เป็นหนึ่งเดียวในสีคิ้ว และอาจเป็นแค่หนึ่งเดียวในเมืองไทยที่เพิ่งสร้างในยุค 10 ปีหลังอีกด้วย

ย้ำอีกทีว่านี่ไม่ใช่บ้านของเทพเจ้าที่ไหน แต่เป็นบ้านของลูกชายคนหนึ่งซึ่งตั้งใจสร้างขึ้นให้แปลกกว่าใคร เพื่อมอบความสุขในบั้นปลายชีวิตแก่บุคคลที่เป็นดั่ง ‘พระในบ้าน’ ของตัวเขาเอง

บ้านแต้จิ๋ว เมืองสีคิ้ว

ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าชาวจีนย้ายเข้ามาในโคราชตั้งแต่ช่วงไหนกันแน่ แต่มีเพียงเสียงเล่าอ้างปากต่อปากกันมาว่าน่าจะเป็นยุครัชกาลที่ 3 – 4 เมื่อประตูการค้าระหว่างไทยกับจีนเริ่มเปิดกว้าง ส่องทางให้ผู้อพยพสายเลือดมังกรหลั่งไหลมายังแดนอีสานของไทย โดยตั้งถิ่นฐานตามตัวอำเภอต่าง ๆ ทั้งเมืองโคราช สูงเนิน สีคิ้ว และอีกมากมายที่ทางรถไฟพาดผ่านในยุคหลังจากนั้น

ต้นตระกูลของเฮียตี้รอนแรมมาจากอำเภอเก๊กไซในจังหวัดเก๊กเอี๊ย มณฑลกวางตุ้ง โดยอากง (ปู่) เดินทางมาตั้งถิ่นฐานที่สีคิ้วพร้อมกับเหล่าหยี่แปะ (พี่ชายคนที่ 2 ของปู่) ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2480 เพื่อค้าของป่า เช่น หนังสัตว์ ละหุ่ง ปอ ถั่ว ข้าวโพด ฯลฯ มีฐานลูกค้าสำคัญอยู่ที่คลองเตย กรุงเทพฯ

ไหปอ แซ่ลิ้ม พ่อของเฮียเกิดที่บ้านเดิมในเมืองจีน แต่ย้ายตามอากงมาอยู่สีคิ้วตั้งแต่อายุยังน้อย กระนั้นภาพจำที่ท่านมีต่อบ้านหลังแรกที่เก๊กไซก็ยังแจ่มชัดอยู่เสมอ

“ตั้งแต่บรรพบุรุษลงมา ผมมีญาติเป็นช่างสร้างบ้านเยอะ เป็นช่างปูนบ้าง ช่างไม้บ้าง ช่างแกะหิน ช่างมุงหลังคา ช่างทำบ้านสไตล์แต้จิ๋วอย่างนี้แหละ”

คุณพ่อไหปอสมรสกับคุณแม่ซึ่งเป็นลูกจีนเกิดเมืองไทย มีลูกด้วยกัน 4 คน เฮียตี้เป็นลูกคนสุดท้อง ได้ซึมซับวัฒนธรรมจีนที่ตกทอดมาจากญาติผู้ใหญ่ในชุมชนแต่เล็ก เขาสำนึกเต็มกมลว่าตนเป็นชาวจีน โตมากับการติดตามอาหงั่วม่า (คุณยาย) ที่บุรีรัมย์ ไปขลุกอยู่ในศาสนสถานของชาวจีน ได้เรียนรู้วิธีการสีซอและเครื่องดนตรีจีนอื่น ๆ จนเป็นพื้นฐานให้เขาประกอบอาชีพครูสอนดนตรีในทุกวันนี้

“ตอนเด็กได้เห็นบ้านแต้จิ๋วจากหนังตลกที่พูดแต้จิ๋ว เช่นพวก แห่โหวไล้ หลิ่มไต่คิม ขาเซ็กหู อะไรพวกนี้ ก็ได้รู้ว่าบ้านคนแต้จิ๋วอยู่กันยังไงมาตั้งแต่ตอนนั้นครับ”

สมัยที่เฮียตี้เกิด ครอบครัวได้เปิดร้านค้าอะไหล่รถยนต์ชื่อร้านว่า ‘เอี่ยมฮง’ ในตึกแถวริมถนนขาเข้าเมืองซึ่งพลุกพล่านด้วยยวดยานและกิจกรรมการค้าทั้งวี่ทั้งวัน เมื่อลูก ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ เฮียมีความคิดจะสร้างบ้านใหม่เป็นบ้านเดี่ยวภายในที่ดินหลังตึกแถวซึ่งอากงมาบุกเบิกไว้นานแล้ว เดิมทีตัวเขาเคยวางแผนจะสร้างบ้านทรงชิโน-ยูโรเปียนแบบภาคใต้ ไม่ก็บ้านทรงกวางตุ้งที่ได้ชมในหนังละครฮ่องกงมาก่อน จนกระทั่งได้ไปเยือนบ้านเกิดของบรรพบุรุษเมื่อ 10 ปีก่อน ความลังเลที่จะสร้างบ้าน 2 สไตล์นั้นก็ถูกระงับไปโดยพลัน

“แต่ก่อนเราก็ไม่รู้นะว่าญาติเราที่เมืองจีนทำอาชีพอะไรบ้าง จนต้นปี 2014 เราได้กลับบ้านที่เมืองจีนครั้งแรก จำได้เลยว่าโคตรตื่นเต้น โคตรดีใจ ได้เห็นแบบบ้านที่ป๊าเคยพูดให้ฟังตอนเด็ก ๆ จากที่เคยลังเลอยากจะสร้างบ้านจีนทรงกวางตุ้ง เลยเปลี่ยนใจ เรามาสร้างบ้านทรงแต้จิ๋วแทนดีกว่า”

ปีเดียวกันนั้น โครงการสร้างบ้าน หยิกโจ้วอีฮวง จึงได้ริเริ่มอย่างเป็นทางการ

“เหล่ากง (ทวด) ผมชื่อ ยิก คำว่า หยิกโจ้ว ในที่นี้หมายถึง บรรพบุรุษที่ชื่อ ยิก เขียนชื่อเหล่ากงไว้ด้านใน ความหมายเต็ม ๆ ของชื่อบ้านนี้ หยิกโจ้วอีฮวง ก็หมายถึงบ้านลูกหลานของยิก”

ฮวงจุ้ยทองคำ

เมื่อผ่านประตูรั้วใหญ่เข้ามายังลานกว้างหลังตึกแถวร้านเอี่ยมฮง สายตาทุกคนจะถูกนำไปยังประตูรั้วทรงจีนแท้ที่เรียกว่า ‘ตั่วหมึ่งเล้า’ หรือประตูใหญ่ แขวนโคมกระดาษคู่ (เต็งลั้ง) เขียนอักษรจีนคำว่า ‘ลิ้ม’ ตามสกุลเจ้าของบ้านซึ่งไม่ได้สั่งเขียนมาจากไหน หากเกิดขึ้นจากปลายพู่กันผู้อยู่เอง

“เต็งลั้งบ้านนี้ผมเขียนเองทุกใบแหละครับ ชอบเขียน” เฮียตี้บอกทั้งรอยยิ้ม เดินนำหน้ามายังตึกบ้านที่ใครเห็นคงเผลอยกมือไหว้ด้วยความไม่รู้ไปตาม ๆ กัน

บ้านนี้มีการวางผังตามศาสตร์ฮวงจุ้ยที่เรียกว่า ‘ซี่เตี๋ยมกิม’ แปลว่า 4 ตำแหน่งทอง โดยจะมีห้องนอนอยู่ 4 มุมบ้าน ข้างหน้ามี 2 ห้อง ข้างหลัง 2 ห้อง มีไว้สำหรับครอบครัวย่อย 4 ครอบครัวที่มารวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ แต่ละมุมจะกำหนดศักดิ์ของคนในบ้านไปในตัว เช่นห้องหลังฝั่งขวามือเป็นห้องนอนที่ใหญ่ที่สุด ใช้เป็นห้องนอนของพ่อแม่ซึ่งมีอาวุโสสูงสุด แต่ละมุมบ้านจะมองเห็นจั่วหลังคาด้านข้างห้องนอนเป็นรูปตัวอักษรจีนคำว่า 金 (กิม) หมายถึง ทองคำ

“ที่ประเทศจีน บ้านทรงซี่เตี๋ยมกิมแบบนี้จะเป็นของคนมีฐานะสักหน่อย คนยากคนจนทั่วไปจะอยู่บ้านห้องแถว ต้นตระกูลผมเป็นเจ้าของที่ดิน มีที่นา มีไร่เยอะ ก็จะอยู่รวมกันเป็นบ้านใหญ่แบบนี้”

เฮียเจ้าของบ้านไขความข้องใจให้เรารวดเดียว 2 เรื่อง

“ในไทยเราจะรู้สึกว่าบ้านทรงนี้เป็นศาลเจ้า แต่พูดจริง ๆ ศาลเจ้าก็คือบ้านคนนะ แบบบ้านกับแบบศาลเจ้าของคนแต้จิ๋วจะใช้แบบเดียวกันเลย แต่ที่เมืองไทยเราจะไม่ค่อยเห็นคนเอาผังซี่เตี๋ยมกิมมาทำบ้าน เลยชอบคิดว่าเป็นเหมือนศาลเจ้ามากกว่าจะเป็นบ้าน”

โถงหน้าสุดของบ้านแบบซี่เตี๋ยมกิมเป็นที่ตั้งของชุดรับแขก สำหรับบ้านนี้ เฮียตี้ได้เลือกโต๊ะเก้าอี้ไม้แกะสลักลายอย่างดีมาเป็นที่นั่งพบปะสังสรรค์ระหว่างเจ้าบ้านกับอาคันตุกะผู้มาเยือน

ตรงกลางบ้านจะมีโถงที่เปิดโล่งไว้ เรียกว่า ‘เทียงแจ้’ แปลตรงตัวว่า บ่อท้องฟ้า คือพื้นที่ไม่มีหลังคาปกคลุมเพื่อให้คนมองเห็นท้องฟ้า เปิดแสงสว่างให้สายลมไหลผ่านเข้ามาในบ้าน

เลยไปจากบ่อท้องฟ้า คือโถงหลังซึ่งชาวแต้จิ๋วใช้เป็นหอบูชาบรรพบุรุษ

ภาพวาดสีขาวดำของผู้เป็นปู่ ย่า และย่าทวด ของครอบครัวประดับอยู่บนที่สูง มองต่ำลงมาเป็นแผ่นกระจกทิวทัศน์บานใหญ่ ที่คนอำเภอเก๊กเอี๊ยต้นตระกูลเฮียตี้นิยมแขวนไว้ใต้ภาพบรรพชน แท่นบูชาไม้สีดำปิดทองวางชิดติดผนัง ขนาบด้วยเก้าอี้เข้าชุดเดียวกันหันออกด้านหน้า เหมือนเป็นที่นั่งสำหรับปู่ย่าผู้ล่วงลับ ซึ่งเฮียบอกว่าปกติจะไม่ใช้นั่งโดยเด็ดขาด เว้นแต่เวลาถ่ายรูปหมู่ของครอบครัวเท่านั้น

เราสังเกตเห็นด้านหลังรูปตั้งไหว้ของบรรพบุรุษ จิตรกรรมแบบจีนสีสันสดใสแผ่อาณาบริเวณอยู่เต็มพื้นที่ผนังส่วนบน แสดงภาพคล้ายกลุ่มครอบครัวขุนนาง

“ภาพวาดบนผนังฝั่งนี้ บังคับเลยครับว่าต้องวาดรูป ก้วย จื๋องี้ เป็นขุนนางในอดีตคนหนึ่งที่มีลูกหลานมาก และลูกหลานท่านได้ดีทุกคน เลยนิยมวาดหลังรูปบรรพบุรุษ เพราะเชื่อกันว่าถ้าลูกหลานบ้านไหนได้กราบไหว้แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษแล้วจะได้ดีแบบลูกหลานก้วย จื๋องี้”

ศึกษาเรื่องบ้านแบบบ้าน ๆ

เฮียตี้มิได้เป็นสถาปนิก ไม่เคยเล่าเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบอาคารมาเป็นเรื่องเป็นราว หากมีใจฝักใฝ่ทางวัฒนธรรมและงานช่างจีน เคยมีประสบการณ์คุมช่างสร้างศาลเจ้ามาก่อน ทำให้เขาซึมซับความรู้ด้านการออกแบบอาคารสถาปัตยกรรมแต้จิ๋วมาพอประมาณ

“แรงบันดาลใจผมมาจากหนังตลกแต้จิ๋ว ช่วงที่จะสร้างบ้านนี้ก็นั่งดูทุกวัน ดูแล้วจำ จำทีละหน่อย ๆ กดค้างเป็นฉาก ๆ นั่งดูรายละเอียดเอาเอง ต้องประตูแบบนี้ ห้องแบบนี้ แล้วพอเราได้กลับไปเยี่ยมญาติที่เมืองจีน อะไรที่สงสัยเราก็ถามญาติเรา อีกส่วนก็ต้องพึ่งซินแสโคราชที่สอนภาษาจีนและฮวงจุ้ยด้วย เลยได้ความรู้เรื่องอัตราส่วนบ้าน ความกว้าง ความยาว ความสูง”

ผู้อาวุโสคนสำคัญอีกหนึ่งท่านที่มีคุณูปการอย่างมากในการสร้างบ้านนี้คือซินแส เตีย แฉกุง ผู้รอบรู้ทางสถาปัตยกรรมจีน ซึ่งเฮียตี้ชอบยกหูโทรศัพท์ไปหาเสมอเมื่อต้องการความรู้เพิ่มเติม

“เตียซิงแซ (อาจารย์แซ่เตีย) เป็นคนอำเภอเตี่ยเอี๊ยที่เมืองจีน ผมอยากรู้เรื่องไหนก็โทรไปหาแกตลอด ได้ความรู้จากเตียซิงแซมาหลายเรื่องครับ”

สองมือของเฮียตี้ชี้ชวนดูรูปเขียนที่ลายพร้อยบนผนังบ้าน ภาพวาดต่าง ๆ มีชื่อเรียกว่าอะไรบ้าง มีความเชื่ออย่างไร เช่นเดียวกับภาษาช่างศิลป์แต้จิ๋ว เขาอธิบายได้ละเอียดเป็นฉาก ๆ มากกว่าที่ครูสอนดนตรีไทยคนหนึ่งน่าจะรู้ คงเป็นเพราะเขาได้รับการถ่ายทอดข้อมูลอย่างดีจากญาติมิตรและครูบาอาจารย์ชาวจีนแท้จากแผ่นดินต้นตระกูล

“คานบ้านที่อยู่ด้านบนสุดนี้ เขาเรียกกันว่า แอ่บ้อ แปลว่า คานแม่ จะอยู่บนสุดเลย ถ้าลดหลั่นลงมาก็จะเรียก จื๋อซุงแอ๊ แปลว่า คานลูกหลาน” ศัพท์เหล่านี้ถ้าไม่ใช่นายช่างแต้จิ๋วผู้คร่ำหวอดในการสร้างศาลเจ้า น้อยคนนักที่จะเรียกได้ถูกต้องอย่างนี้

“ส่วนภาพวาดตรงผนังฝั่งประตูบ้านนี้ ผมสั่งวาดกระเบื้องเป็นแผ่นมาจากเมืองจีน แล้วนำมาประกอบใหม่ที่นี่ครับ แต่ละภาพมาจากในงิ้วซะเยอะเลย อย่างภาพด้านข้างเป็นภาพ 8 เซียนข้ามทะเล ส่วนด้านบนเรียกว่าภาพ เซียงกีซั่งจื้อ (นางฟ้าส่งบุตร) เป็นฉากหนึ่งที่ในงิ้วนิยมแสดงตอนเบิกโรงกัน

“ตอนแรกเราก็จะเลือกรูปตามใจตัวเอง จะเอารูปหงส์ตรงนี้ เอารูปมังกรตรงนี้ แต่ทางเมืองจีนที่เป็นคนทำเขาก็ปฏิเสธกลับมาเลยว่า ถ้าลื้อไม่ทำตามนี้ อั๊วก็ไม่ทำให้นะ ประมาณว่าอะไรที่มันไม่ถูกหลักฮวงจุ้ยก็จะไม่ทำ จะผลิตงานที่ถูกหลักมาให้เท่านั้น เลยปรับทุกอย่างให้ถูกต้องตามขนบครับ”

วัสดุก่อสร้างและของตกแต่งบ้านมากมายได้รับการนำเข้ามาจากเมืองจีน แต่นำมาประกอบโดยช่างท้องถิ่นคนไทย และถึงแม้บ้านนี้จะมีรูปทรงไม่ต่างอะไรจากศาลเจ้า แต่ผู้ออกแบบบ้านตนเองกลับเลือกที่จะใช้ช่างไทยที่ไม่มีพื้นความรู้ด้านการสร้างศาลเจ้า

“เหตุผลก็คล้าย ๆ เดิมครับ ช่างศาลเจ้าเอาใจเขายาก ผมเคยคุมช่างสร้างศาลเจ้ามาก่อน อะไรที่เขาไม่เคยทำก็จะไม่ทำตาม เราให้คนที่ไม่เคยทำมาทำตามใจเราน่าจะง่ายกว่า” เฮียตี้หัวเราะอีกครั้ง

ปรับขนบตามที่อยู่

เราตามหลังเฮียเจ้าของบ้านออกมาดูหน้าจั่วหลังคาที่เรียกว่า ‘ชู้กั๊กเท้า’ ซึ่งหลักฮวงจุ้ยของจีนจะแบ่งจั่วออกเป็น 5 ธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ไม้ และทอง ซินแสผู้เชี่ยวชาญด้านฮวงจุ้ยจะต้องสำรวจที่ตั้งและทิศทางของอาคารนั้นให้ถ้วนถี่ว่าควรสร้างจั่วหลังคาเป็นธาตุใดให้เหมาะสมกับอาคารหลังนั้นมากที่สุด ซึ่งหน้าจั่วหลังคาทั้ง 2 ส่วนของบ้านนี้เหมาะกับธาตุดิน จึงใช้จั่วธาตุดินที่มีขอบหยักเป็นมุมมาสร้าง

เราพบความผิดปกติของสถาปัตยกรรมจีนบริเวณหน้าต่าง แต่นึกไม่ออกว่ามันต่างจากปกติอย่างไร

“หน้าต่างที่บ้านนี้จะใหญ่กว่าบ้านที่จีนครับ” เฮียตี้เฉลย “บ้านที่จีนหน้าต่างจะเล็กและทึบกว่านี้ แต่ถ้ามาสร้างที่เมืองไทยอย่างเดียวกัน คงร้อนตายแน่ ๆ เลยต้องขยายหลังคาให้ใหญ่กว่าปกติ”

หรืออย่างบริเวณเทียงแจ้หรือบ่อท้องฟ้าที่เราเดินผ่านมาก่อนหน้านี้ เมื่อตั้งใจมองให้ละเอียดจะเห็นว่าเพดานไม่ได้เปิดโล่งตามขนบที่แท้จริง ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยมีฝนตกชุก การเปิดหลังคาโล่งย่อมเป็นปัญหาเมื่อถึงหน้าฝน เฮียตี้เลยจำเป็นต้องสร้างหลังคาคลุมไว้อีกชั้น เป็นการประยุกต์ใช้ขนบให้เหมาะกับสภาพจริงของพื้นที่

“เราไม่เคยมีประสบการณ์สร้างบ้านมาก่อน ตอนทำเทียงแจ้ เราเปิดกว้างไป แสงมันลงเยอะเกิน ทีนี้เวลาฝนตกลงมาก็มีปัญหาน้ำฝนลงมาเยอะ เลยต้องมาหาวิธีแก้ ทำหลังคาปิดไว้แล้วยกขึ้นหน่อยไม่ได้ปิดสนิท เพื่อให้ลมยังเข้าผ่านได้ ลดแสงเข้าบ้านน้อยลงด้วย ถ้าสว่างเกิน ฮวงจุ้ยก็เสียอีก

“อ้อ! แล้วที่จริงตรงเทียงแจ้ต้องเปิดไว้โล่ง ๆ ไม่มีแท่นบูชาแบบนี้นะครับ แต่พอดีเราไม่มีที่เก็บ เลยจำเป็นต้องย้ายมาไว้ตรงนี้ พอดีเห็นว่ามีหลังคามุงอยู่แล้ว”

ข้างเทียงแจ้ทั้ง 2 ฝั่งเป็นตำแหน่งของห้องครัวและห้องอเนกประสงค์ตามผังซี่เตี๋ยมกิม เฮียตี้ก็ได้ปรับฝั่งห้องอเนกประสงค์เป็นห้องดูโทรทัศน์สำหรับครอบครัว

มรดกความทรงจำ

เฮียตี้นำทางมาชมงานศิลปะภายนอกบ้าน ศัพท์สถาปัตยกรรมแต้จิ๋วอีกคำหนึ่งที่เราได้จากจุดนี้คือ ‘เจี้ยวเปียะ’ หมายถึงส่วนโค้งของหัวกำแพง ซึ่งเฮียได้บรรยายให้ฟังว่าคนจีนโบราณเชื่อกันว่าสิ่งอัปมงคลจะเดินทางผ่านมาตามเส้นตรง การออกแบบสันกำแพงให้ยอดมีความโค้งก็เพื่อป้องกันมิให้ความชั่วร้ายแผ่ขยายเข้ามายังลานบ้านผ่านแนวกำแพงนี้ได้

ก่อนจะลากลับกรุงเทพฯ สองตาเรายังจ้องจับอยู่บนป้ายชื่อบ้าน หยิกโจ้วอีฮวง นั้นอย่างจะให้แน่ใจว่านั่นคือป้ายชื่อบ้านคนจริง หาใช่ศาสนสถานอย่างที่เราคุ้นตาจากที่อื่น

อดสงสัยไม่ได้จริง ๆ ว่านอกจากเฮียตี้ผู้ประกาศตนเป็นคนรักวัฒนธรรมแต้จิ๋วแล้ว สมาชิกครอบครัวคนอื่นมีความชื่นชอบด้านนี้เหมือนกับเฮียบ้างหรือเปล่า

คำตอบอยู่หลังแนวกำแพงนี้ คือบ้านตึกแถวที่ยังขายอะไหล่รถยนต์อยู่นี่เอง

“ไม่มีเลยครับ ยิ่งอาเฮียผมนี่ยิ่งไม่เอาเลย” เป็นอีกคราที่ครูสอนดนตรีคนนี้อมยิ้มให้กับไอเดียการสร้างบ้านครอบครัวตัวเอง “จุดเริ่มต้นของการสร้างบ้านนี้คือป๊า-ม้าผมอยากอยู่บ้านชั้นเดียว ไม่ต้องขึ้นชั้นบนแบบบ้านตึกแถว ตอนแรกเราเคยวางแผนจะสร้างบ้านแบบแต้จิ๋วกันไปแล้ว จนได้พูดคุยกันว่าสมัยป๊าเด็ก ๆ ยังอยู่เมืองจีน ป๊าเคยอยู่บ้านซี่เตี๋ยมกิมแบบนี้มาก่อน เลยอยากทำบ้านทรงนี้อีกครั้ง”

ลูกจีนเมืองสีคิ้วย้อนระลึกความหลังเมื่อปี 2014 ตอนที่เขาเริ่มร่างแบบแปลนบ้านนี้

“ตอนหารือแปลนบ้านซี่เตี๋ยมกิมนี่ต้องไฟต์กันพอสมควรเลย อย่างหม่าม้าผมที่เกิดเมืองไทย เขาก็ไม่เห็นด้วยแต่แรกที่จะสร้างบ้านหน้าตาเหมือนศาลเจ้าแบบนี้เนี่ย พี่ ๆ ผมก็ไม่เอาด้วยเลย แต่พอสร้างเสร็จ มาอยู่จริงแล้วทุกคนเห็นด้วย ดีแล้วที่สร้างทรงนี้ อยู่สบาย”

百善孝为先

อันคุณธรรมทั้งปวง ความกตัญญูคืออันดับแรก

ภาษิตจีนบทหนึ่งว่าไว้ดังนี้ เรามองเห็นคุณธรรมดังกล่าวแฝงอยู่ในการออกแบบของเฮียตี้

“ผมโคตรภูมิใจเลยนะที่ตัวเองทำบ้านทรงนี้ออกมาได้ ภูมิใจที่เราได้สร้างบ้านแบบที่ป๊าเราเกิดมา ทำให้แกได้กลับมาอยู่ในบ้านแบบที่แกเคยจากมาอีกครั้งในบั้นปลาย ต่อไปอย่างน้อยลูกหลานที่มาบ้านหลังนี้ เขาก็ต้องจำได้ว่าบ้านอากงอาม่าที่เป็นทรงแต้จิ๋วหน้าตาเป็นยังไง วันหนึ่งจะได้มาใช้ชีวิตสืบทอดบ้านหลังนี้ด้วย ชื่อบรรพบุรุษทั้งหมดก็แกะสลักติดหินไว้ ยังไงก็ไม่มีทางลืมแน่

“จากที่ได้อยู่มาตลอดเกือบ 10 ปีตามวิถีชีวิตคนจีน ฟังก์ชันบ้าน ‘ซี่เตี๋ยมกิม’ มันตอบโจทย์เกือบทุกอย่างแหละ ไม่ว่าเรื่องไหว้เจ้า เรื่องกินเรื่องอยู่ มันสะดวกตามฟังก์ชันที่คนจีนอยู่แท้ ๆ เลย อยู่สบาย ให้สร้างอีกหลังก็จะสร้างทรงนี้อีก” เฮียตี้หัวเราะตอบอย่างจริงใจ

Writers

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

ประภวิษณ์ สิงขรอาจ

ประภวิษณ์ สิงขรอาจ

ใจดี สปอร์ต กทม. ชอบสีน้ำเงินเข้ม ที่ดูสว่าง

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์