พระพุทธชินราชงามเลิศ ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตา

ป้ายคำขวัญประจำจังหวัดที่ได้อ่านผ่านหน้าต่างรถไฟ เปรียบเสมือนคำบอกกล่าวฉบับรวบรัดให้นักเดินทางต่างถิ่นเช่นเรารู้ได้ทันทีว่าประวัติศาสตร์อันยาวนานคือความภาคภูมิใจของชาวพิษณุโลก ค่าที่บ้านเมืองพวกเขาเป็นดั่งคลังขุมทรัพย์ของมรดกวัฒนธรรมหลายสิ่งอย่าง ทั้งวิหารพระพุทธรูปยุคสุโขทัยที่นิยมสร้างจำลองมากที่สุดในประเทศ พระราชวังเก่าของมหาราชซึ่งคนรุ่นหลังต่างเลื่อมใส สถานีรถไฟร้อยปีที่สร้างจากไม้ ตลอดจนชื่อเรียกถนนรนแคมที่ตั้งตามพระนามบูรพกษัตริย์ อย่างถนนพญาลิไท ถนนบรมไตรโลกนารถ ถนนนเรศวร ถนนพระองค์ดำ ถนนพระองค์ขาว

ทว่าความภูมิใจในประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลกไม่ได้หยุดอยู่แค่โบราณสถานหรือโบราณวัตถุที่ตกทอดมาจากอดีตเท่านั้น หากมันยังเร้าให้เกิดการสร้างสรรค์พื้นที่ใหม่ ๆ ที่ยึดโยงกับความเป็นมาของ ‘เมืองสองแคว’ อย่างแนบแน่นอีกด้วย

โรงแรมชินะปุระ (Shinnabhura Historic Boutique Hotel) คือตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดกว่าที่ไหน ๆ และเป็นหมุดหมายหลักที่ชักนำ The Cloud มาเยือนเมืองสองแควในครานี้

ที่พักแสนสวยที่นิยามตัวเองว่า Historic Boutique Hotel แห่งนี้มีสภาพเก๋ไก๋เคล้ากลิ่นอายประวัติศาสตร์สมชื่อ ตั้งแต่หน้ากำแพงทางเข้าที่ตกแต่งด้วยอิฐเผา พร้อมด้วยรูปปั้นช้างคู่ชูงวงต้อนรับผู้มาถึง ซึ่งมักดูดดึงความสนใจด้วยหลังคาซ้อนชั้นทรงโบราณเหนือซุ้มประตูทางเข้า

ใต้หลังคานั้นเป็นที่ตั้งของหอกลองเสมือนจริง ขณะที่ด้านหลังเป็นอาคารล็อบบี้ มีปืนใหญ่กระบอกหนึ่งหันออกด้านหน้า ช่างให้อารมณ์ฮึกเหิม ดุดัน ราวกับกำแพงเมืองที่เหล่าบรรพชนผู้กล้าเคยใช้เดินลอดผ่านไปออกศึกกับอริราชศัตรูเสียนี่กระไร

ณ ที่แห่งนี้ เรามีนัดกับ เบนท์ ปีเตอร์ โลสฮอลท์ (Bent Peter Laasholdt) ผู้จัดการใหญ่ชาวเดนมาร์ก ซึ่งต้อนรับเราด้วยเครื่องดื่มรสดีและรอยยิ้มอ่อนโยนตลอดเวลาที่ได้พูดคุยกัน

“มีประวัติศาสตร์มากมายซุกซ่อนอยู่ในโรงแรมนี้ครับ” ชายสูงวัยตาน้ำข้าวที่อาศัยอยู่เมืองไทยมานานกว่า 42 ปีเปิดการสนทนาเป็นภาษาสากล ก่อนเปลี่ยนมาพูดไทยชัดแจ๋วจนเจ้าของภาษาต้องมองหน้าผู้พูดอีกครั้ง “คนที่นี่เรียกผมว่า พี่เบนท์ หรือ ลุงเบนท์ กันครับ”

ลุงเบนท์ของเหล่าพนักงานกล่าวว่าชินะปุระถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน จากความคิดของนักธุรกิจท้องถิ่นชาวพิษณุโลกอย่าง เก้า-นพดล จารุพันธ์จรัสศรี และ แอ้ม-กิตติพันธ์ เพชรร่มโพธิ์ หุ้นส่วน ซึ่งล้วนหลงใหลในวัฒนธรรมอันรุ่มรวยของพิษณุโลกมาแต่เดิม

ก่อนจะมีชินะปุระ คุณเก้าเคยทำร้านขนมจีนต้นก้ามปูมาก่อน เขาพัฒนาพื้นที่ร้านอาหารใต้ร่มไม้ก้ามปูต้นใหญ่ริมถนนสีหราชเดโชชัยให้เป็นร้านอาหารดังที่คนรักขนมจีนน้ำยาต้องแวะลอง เมื่อธุรกิจนี้เริ่มจะไปได้สวย ประกอบกับด้านหลังร้านยังเหลือเนื้อที่มากพอให้ดัดแปลงตกแต่งเพิ่มอีก นักธุรกิจชาวพิษณุโลกจึงฉุกใจนึกถึงโรงแรมห้าดาวขึ้นมา

“คุณเก้าศรัทธา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มาก เนื่องจากพระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2098 ที่พิษณุโลก และทรงใช้ชีวิตเมื่อทรงพระเยาว์อยู่ที่พระราชวังจันทน์ไม่ไกลจากที่นี่” ลุงเบนท์เล่าถึงที่มาของการสร้างโรงแรมบูทีกสไตล์อิงประวัติศาสตร์ ก่อนที่พระราชประวัติของกษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชแก่กรุงศรีอยุธยาจะพรั่งพรูออกจากปาก โดยมีปีพุทธศักราชของเหตุการณ์สำคัญแทรกอยู่เป็นระยะ

แม้ความศรัทธาต่อองค์พระนเรศจะเป็นมูลเหตุหลักในการออกแบบโรงแรมแนวย้อนยุค แต่ภูมิหลังของเมืองสองแควยังย้อนหลังไปจากรัชสมัยของพระองค์ได้อีกหลายศตวรรษ อุดมด้วยเหตุการณ์สารพัดประดามีที่น่าถ่ายทอดผ่านที่พักแห่งนี้ ซึ่งผู้ก่อตั้งชินะปุระคิดมาอย่างถ้วนถี่ว่าโรงแรมของพวกเขาควรบันทึกเรื่องราวใดในประวัติศาสตร์จังหวัดนี้บ้าง

เริ่มตั้งแต่ชื่อโรงแรม ยามเอ่ยถึงจังหวัดพิษณุโลก สิ่งแรกที่หลายคนจะคิดถึงย่อมหลีกไม่พ้นพระพุทธชินราช พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแห่งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) สันนิษฐานกันว่าสร้างมาตั้งแต่รัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) แห่งกรุงสุโขทัย นามของพระพุทธรูปองค์นี้มาจากคำว่า ‘ชิน’ อันหมายถึง ผู้ชนะ ในความหมายนี้คือพระพุทธเจ้าผู้เอาชนะกิเลสทั้งมวล

ชื่อ ชินะปุระ ของโรงแรมจึงสื่อได้ 2 ความหมาย คือ ‘เมืองแห่งชัยชนะ’ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เมืองอันเป็นที่สถิตของพระพุทธชินราช

อีกหนึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวของที่นี่คือหมู่อาคารสถานที่ ซึ่งมีรูปลักษณ์ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ระหว่างภาคกลางและภาคเหนือ มิได้เทน้ำหนักไปทางศิลปะภาคใดภาคหนึ่งชัดเจน นี่คือสิ่งที่เราสัมผัสได้นับแต่ย่างก้าวแรกที่เดินเท้าเข้ามาถึงอาณาบริเวณโรงแรม ทุกการตกแต่งวางอยู่บนฐานความกลมกลืนของวัฒนธรรมหลากอาณาจักร จะดูเป็นอยุธยาก็ไม่ใช่ จะให้เป็นล้านนาก็ไม่เชิง

“ทุกวันนี้คนมองว่าจังหวัดพิษณุโลกเป็นภาคกลางตอนบน ติดกับภาคเหนือตอนล่าง สมัยโบราณสองแควเคยเป็นเมืองหน้าด่านที่อยู่ท่ามกลางอาณาจักรต่าง ๆ อันประกอบไปด้วยสุโขทัย ล้านนา และอยุธยา อารยธรรมของทุกอาณาจักรจึงมาพบกันครึ่งทางที่เมืองนี้ ทุกสิ่งที่คุณได้เห็นในชินะปุระจึงเป็นกระจกสะท้อนของศิลปะทั้ง 3 อาณาจักรที่กล่าวมา”

ส่วนหนึ่งที่แสดงสถานะความเป็นเมืองกึ่งกลางระหว่างภาคเหนือและภาคกลางของพิษณุโลกได้ดีที่สุดอยู่เพียงแค่ชั้นบนของล็อบบี้โรงแรมนี้ ทว่าลุงเบนท์ขอเก็บไว้เป็นพื้นที่สุดท้ายที่จะนำชม ด้วยภายในชินะปุระยังมีอีกหลายพื้นที่ที่เราควรไปทำความรู้จักกันก่อน เผื่อว่าจะเข้าใจชั้นบนล็อบบี้ได้ดียิ่งขึ้น

ผู้จัดการทั่วไปของชินะปุระลุกจากเบาะนั่งอันแสนสบายกลางล็อบบี้ที่มากเสน่ห์อย่างศิลปะ 3 สกุลผสมผสาน แล้วเดินนำเราไปตามพื้นกระเบื้องที่ร่มรื่นด้วยรุกขชาตินานาพรรณ ผ่านสวนหย่อมปูหญ้าเขียวชอุ่ม สระว่ายน้ำชิดแนวกำแพงอิฐเผา และบาร์เครื่องดื่มริมสระซึ่งออกแบบมาให้เข้ากับโครงสร้างไม้และอิฐของโรงแรมโดยไม่ดูขัดตากันแม้แต่น้อย

บริเวณนั้นเป็นที่ตั้งของ ‘ห้องอาหารเชลียง’ ที่รับประทานอาหารเช้าประจำโรงแรมนี้ โดยชื่อห้องอาหารได้มาจากชื่อเมืองเชลียง หรือพื้นที่อำเภอศรีสัชนาลัยเดิม เป็นที่รับรู้กันมาแต่โบราณว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่เพียบพร้อมด้วยพืชพรรณธัญญาหาร เป็นแหล่งเสบียงที่คอยหล่อเลี้ยงดินแดนภาคกลางตอนบนยามเกิดภาวะทุพภิกขภัย จึงกลายเป็นชื่อห้องอาหารประจำโรงแรมนี้

ห้องพักที่นี่มี 38 ห้อง จำแนกได้เป็น 4 ประเภท คือ Deluxe, Grand Deluxe, Junior Suite และ Royal Suite เรียงตามราคาและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้อง

ดีลักซ์ (Deluxe) คือห้องที่มีขนาดเล็กสุด แต่ก็มีจุดเด่นอยู่ที่เตียงคู่ขนาดใหญ่ นุ่ม นอนสบายไม่ต่างจากห้องประเภทไหน ๆ ภายในห้องยังครบครันไปด้วยมินิบาร์ สมาร์ตทีวี ตลอดจนห้องน้ำในตัวที่มีทั้งอ่างอาบน้ำและฝักบัวอาบน้ำ

ถัดมาที่ห้องแกรนด์ดีลักซ์ (Grand Deluxe) ที่อุดมไปด้วยเครื่องเรือนมากขึ้น เหมาะกับแขกผู้เข้าพักเป็นครอบครัว เชื่อมต่อกับห้องพักแบบสวีตได้ จึงเป็นสาเหตุให้ห้องพักประเภทนี้ได้รับความนิยมสูงสุด

กระเถิบไปที่ห้องจูเนียร์ สวีท (Junior Suite) ซึ่งนอกจากจะกว้างขึ้นแล้ว แต่ละห้องยังได้รับการตบแต่งอย่างดี มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่อ้างอิงจากบุคคลสำคัญของล้านนาและอยุธยา ห้องประเภทนี้มีทั้งหมด 8 ห้อง แบ่งเป็นห้องอยุธยา 4 ห้อง กับห้องล้านนาอีก 4 ห้อง

ฝั่งอยุธยา มีห้องยุทธิษเฐียร ห้องอินทราชัย ห้องสีหราชเดโช และห้องออกญาสุโขทัย

ฝั่งล้านนา มีห้องมหาเทวี ห้องมังหลุงหว้าง ห้องหมื่นด้งละกอน และห้องหมื่นลกสามล้าน

เฟอร์นิเจอร์และศิลปกรรมประดับห้องทุกชิ้นในห้องจูเนียร์ สวีท ไม่ว่าจะเป็นเตียงนอน ผ้าม่าน ชั้นวาง โต๊ะ เก้าอี้ ตู้เสื้อผ้า จนถึงสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ ล้วนได้รับการออกแบบตามการตีความตัวตนของบุคคลสำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ห้องนั้น ๆ เสมอ

และที่สุดของห้องพักในชินะปุระ คือห้องรอยัล สวีท (Royal Suite) ซึ่งจะอยู่ชั้นบนสุดของอาคารที่สูงที่สุดในโรงแรม ใน 1 ห้องพักจัดสรรพื้นที่ให้มีทั้งห้องนอน ห้องนั่งเล่น มุมรับประทานอาหาร ห้องน้ำภายในจำนวน 2 ห้อง ทั้งยังมีอ่างจากุซซีอยู่กึ่งกลาง ทำให้ห้องพักประเภทนี้มีแค่ 2 ห้องเท่านั้น

ห้องหนึ่งมีนามว่า ห้องดิลกราช ได้รับแรงบันดาลใจจากพระนามของ พญาติโลกราช กษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์มังราย ผู้ปกครองอาณาจักรล้านนา

อีกห้องหนึ่งมีนามว่า ห้องไตรโลก ได้รับแรงบันดาลใจจากพระนามของ พระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์พระองค์ที่ 9 แห่งอาณาจักรอยุธยา

“พระมหากษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์นี้ทรงเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรพระองค์เอง พระนามของทั้ง 2 พระองค์ก็มีความหมายเดียวกัน และการทำสงครามระหว่างทั้ง 2 พระองค์กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์จังหวัดพิษณุโลกด้วยครับ”

เสร็จจากการเที่ยวชมห้องพักทั้งหมดแล้ว ก็ถึงเวลาที่ลุงเบนท์จะพาเรากลับขึ้นไปชั้นบนของล็อบบี้ที่เชื่อมต่อกันด้วยบันไดซีเมนต์ผสมอิฐ ซึ่งเป็นจุดเช็กอินหลักของบรรดาแขกผู้เข้าพักทุกคณะ

ตรงกลางบันไดนี้มีพระพุทธรูปประจำโรงแรมปางห้ามสมุทรที่แขกชาวไทยนิยมมาสักการะ คือ พระพุทธไตรโลกดิลกราช ได้พระนามมาจากพระนามของกษัตริย์แห่งล้านนาและอยุธยาที่ทำสงครามกันนานถึง 25 ปี ก่อให้เกิดความสูญเสียและพลัดพรากมากมาย โดยไม่ได้ทั้งดินแดนหรือพระเกียรติใด ๆ กลับคืนมาแม้แต่น้อยนิด ช่างหล่อจึงออกแบบพระพุทธรูปองค์นี้ออกมาเป็นปางห้ามสมุทร นัยว่าเป็นการห้ามทัพอันยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ทั้งสองซึ่งกรีฑาไพร่พลมาสัประยุทธ์กันนานนับสิบ ๆ ปี

 เหนือขึ้นไปจากพระพุทธรูปองค์นี้ คือหลังคาไม้สูงที่ปิดทองอย่างล้านนา มองไปรอบห้องที่ค่อนข้างมืดทึบ จะเห็นหุ่นสวมชุดนักรบทั้งแบบอยุธยาและล้านนาอยู่คนละฝั่ง มีศาสตราวุธทั้งดาบ ง้าว หอก ทวน จัดเรียงอย่างเป็นระเบียบตามผนังห้อง รวมตลอดไปถึงศิลปกรรมอีกหลายชนิด ทั้งงานดุนโลหะ งานปูนปั้น งานแกะสลักไม้ ฯลฯ ที่แสดงอัตลักษณ์ไทย ทั้งหมดมีป้ายข้อมูลกำกับอย่างละเอียดน่าดู

ที่นี่คือแกลเลอรีงานศิลปะหรือพิพิธภัณฑ์ของโรงแรมที่ผู้ก่อตั้งสร้างขึ้นด้วยเจตนารมณ์ให้เป็นคลังความรู้เรื่องการสงครามอยุธยา-ล้านนา รวมถึงภูมิปัญญาไทยสมัยโบราณ อิงตามสงครามระหว่าง 2 กษัตริย์ซึ่งมีพิษณุโลกเป็นแหล่งสมรภูมิที่ได้รับผลกระทบใหญ่หลวง

“ถ้าถามผมว่าอะไรคือสิ่งที่เด่นที่สุดที่ชินะปุระมีอยู่ ผมก็คงจะตอบว่าแกลเลอรีศิลปะนี้ เพราะคุณคงไม่ได้เห็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่เก็บรวบรวมข้าวของมากมายอย่างนี้จากโรงแรมอื่น ๆ ในพิษณุโลกอีกแล้ว” ลุงเบนท์ให้ทรรศนะพลางชี้เล่าความสำคัญอันแฝงอยู่ในของจัดแสดงแต่ละชิ้น

แม้ข้าวของเหล่านี้จะเป็นของปลอมที่จัดทำขึ้นใหม่ แต่ก็สร้างขึ้นเลียนแบบของจริงเสียแนบเนียน ด้วยผู้สร้างเก็บรายละเอียดจากอาวุธและชุดนักรบของจริงมาถ่ายทอดลงบนชิ้นงาน

เครื่องแบบทหารล้านนา

หรืออย่างจิตรกรรมแขวนผนังที่แสดงยุทธวิธีการรบของกองทัพอยุธยาและล้านนาเมื่อก่อนนั้น ผู้สร้างก็ศึกษาข้อมูลมาอย่างดี และนำมาถ่ายทอดให้สั้นกระชับ อ่านเข้าใจง่าย ช่วยให้ผู้ชมได้รู้จักวิธีการทำศึกของทหารสมัยนั้นและชื่อยุทธวิธี อาทิ ทัพสโปคติ การแต่งทัพเหมือนงูหรือนาคของทหารล้านนาที่แบ่งไพร่พลเป็นปีกซ้าย-ปีกขวาคอยโอบล้อมศัตรู หรือ ปทุมพยุหะ หรือการแต่งทัพทรงดอกบัวตูมแบบทหารอยุธยา เป็นต้น

จุดมุ่งหมายเดิมของแกลเลอรีนี้คือการรวบรวมข้าวของมาแสดงให้แขกของชินะปุระได้ชม แต่เพราะชื่อเสียงที่ขจรไกลออกไป เหนี่ยวนำคนนอกมากมายให้มาขอชมด้วย ลุงเบนท์เผยว่าตัวเขาและชินะปุระยินดีเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้ โดยที่ผ่านมาทางโรงแรมก็เคยเปิดให้คณะนิสิตและอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวรเข้ามาดูงาน

กลิ่นอายของเมืองหน้าด่านยุคโบราณกระกรุ่นอยู่ทุกที่ที่เราก้าวผ่านไป พานให้ตกอยู่ในภวังค์แห่งอดีตที่ความเป็นอยุธยา ล้านนา และสุโขทัย ห้อมล้อมอยู่ทั่วทุกอณูรอบตัวเรา

“นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเป็นแขกของโรงแรมมักเป็นคนไทยและมาเป็นครอบครัว หลายคนเป็นคนภาคกลางที่ไปเที่ยวภาคเหนืออย่างเชียงใหม่ แล้วมาแวะนอนที่พิษณุโลกก่อนกลับกรุงเทพฯ แต่ตัวผมก็มีเครือข่ายคนรู้จักที่เป็นชาวต่างชาติด้วยกัน ผมพยายามสร้างความรับรู้เรื่องโรงแรมนี้ให้พวกเขา ทำให้เรามีแขกต่างชาติบ้างเหมือนกัน”

ชาวเดนมาร์กผู้เรียกประเทศไทยว่า ‘บ้าน’ มานานกว่า 4 ทศวรรษบอกกับเราว่าเขาพยายามกระจายความรับรู้เรื่องเมืองพิษณุโลกและประวัติศาสตร์ไทยให้คนชาติอื่นฟังอยู่เป็นนิตย์ เพราะอย่างนี้เขาถึงจำเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ได้แม่นเสียจนคนไทยบางคนต้องอาย

“ถ้าต้องพูดถึงเหตุผลที่คนควรมาเที่ยวพิษณุโลกแล้วล่ะก็ รองจากสักการะพระพุทธชินราช เที่ยวพระราชวังจันทน์ที่สมเด็จพระนเรศวรเคยประทับ หรือชมวิวริมฝั่งแม่น้ำน่าน ผมก็จะบอกว่าให้มาที่โรงแรมชินะปุระนี่แหละครับ แล้วคุณจะประทับใจกลับไปแน่นอน”

3 Things

you should do

at Shinnabhura Historic Boutique Hotel

01

ลองชิมอาหารที่ร้านเชลียง และขนมจีนน้ำยาร้านต้นก้ามปู

02

ชมแกลเลอรีศิลปะที่เต็มไปด้วยอาวุธและชุดเกราะโบราณ

03

ว่ายน้ำในสระ สนุกกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่โรงแรมมีให้

โรงแรมชินะปุระ
Shinnabhura Historic Boutique Hotel

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย