Great and Good Friends คือนิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพ ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 200 ปี แห่งความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะจัดแสดงระหว่างวันที่ 21 มีนาคม ถึง 30 มิถุนายน 2561 ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง

สิ่งของที่นำมาจัดแสดงคือของขวัญที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 9 และที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระมหากษัตริย์ไทย

ของขวัญเหล่านี้เก็บรักษาอยู่ที่สถาบันสมิธโซเนียน องค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หอสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกา หอสมุดประธานาธิบดีหลายแห่งทั่วสหรัฐอเมริกา และสถาบันในประเทศไทยหลายแห่ง เช่น กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ สถาบันพระปกเกล้า และมูลนิธิสวนหลวง ร.๙

การนำสิ่งของเหล่านี้กลับมาจัดแสดงในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่พิเศษมาก โดยของส่วนใหญ่ถูกนำมาจัดแสดงที่กรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก

ในแง่หนึ่ง เราได้เห็นประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศผ่านของทั้ง 79 ชิ้น

อีกแง่หนึ่ง กระบวนการจัดเก็บและจัดการโบราณวัตถุเหล่านี้โดยผู้มีประสบการณ์เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้มาก

เราได้พูดคุยกับวิลเลียม แบรดฟอร์ด สมิธ (William Bradford Smith) หนึ่งในสองภัณฑารักษ์ของนิทรรศการนี้ เขายินดีเล่าเรื่องเบื้องหลังการเตรียมงานทั้งหมดทุกขั้นตอน

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังยินดีพาผู้อ่าน The Cloud ไปเดินชมนิทรรศการชุดนี้แบบสุดพิเศษในวันที่ 2 ที่เปิดแสดงด้วย (ใครสนใจสมัครได้ที่นี่)

เรื่องเล่าของเขาถูกใจคนรักพิพิธภัณฑ์และประวัติศาสตร์แน่นอน

William Bradford Smith

 

คุณมารับบทบาทภัณฑารักษ์ของนิทรรศการนี้ได้อย่างไร

ถือเป็นเกียรติแห่งชีวิตของผมเลยที่ได้ทำงานนี้ เราทำงานนี้กันมาประมาณสองปีครึ่ง ตอนนั้นผมอยู่ที่สถาบันสมิธโซเนียน กำลังเขียนบทความเกี่ยวกับของขวัญที่พระมหากษัตริย์ไทยพระราชทานแก่สหรัฐอเมริกา ผมเป็นนักมานุษยดนตรีวิทยา เลยสนใจของขวัญที่เป็นเครื่องดนตรีเป็นพิเศษ เครื่องดนตรีเหล่านั้นวิเศษมาก ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นเครื่องดนตรีที่มาจากในพระราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันหนึ่งมีเจ้าหน้าที่จากทางการมาขอพบ เขาบอกว่าเรากำลังจะเริ่มทำงานนี้ เราช่วยกันสำรวจของขวัญพระราชทานที่สถาบันเก็บรักษาอยู่ และพบว่าของเหล่านั้นน่าตื่นตาตื่นใจมาก

หลังจากนั้นเราเริ่มสำรวจของสะสมของหน่วยงานอื่นๆ อย่างหอสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกา (Library of Congress) องค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติ (National Archives and Records Administration) เมื่อรวมกับสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution) ก็เท่ากับเป็น 3 หน่วยงานใหญ่ของโลกที่ทำงานด้านนี้ ทางสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยก็ช่วยเหลือเป็นอย่างดีเพื่อผลักดันให้งานนี้เกิดขึ้น

จดหมายจากพระยาสุริยวงศ์มนตรี

จดหมายจากพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ถึงประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร พ.ศ. 2361 ได้รับความอนุเคราะห์จากแผนกเอกสารโบราณ หอสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกา; James Monroe Papers Series I. เอกสารเลขที่ 4784-4785

หอสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกามีหน้าที่ดูแลหอสมุดประธานาธิบดี (Presidential Library) ทั่วประเทศ และเป็นที่เก็บรักษาของขวัญพระราชทานแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกคน หอสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ได้มอบจดหมายเมื่อ ค.ศ.1818 ของพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ที่เป็นต้นกำเนิดของการฉลองความสัมพันธ์ 200 ปี และเป็นต้นกำเนิดของเรื่องราวทั้งหมดมาให้

ของขวัญเหล่านี้พิเศษมากๆ โดยเฉพาะกับสถาบันสมิธโซเนียน เพราะเป็นของที่เราได้รับตั้งแต่ช่วงแรกของการก่อตั้งสถาบัน เป็นของหมายเลขทะเบียน 23 ถึง 86 ของเหล่านี้ไม่เพียงแต่บอกถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งสถาบันสมิธโซเนียนด้วย

 

ความยากของงานนี้คืออะไร

ผมอยากให้ชาวไทยรับรู้ว่าของขวัญพระราชทานเหล่านี้มีค่าและความหมายต่อชาวอเมริกันเพียงใด อยากเล่าเรื่องผ่านของที่ดีที่สุด แต่ของบางชิ้นเราเสี่ยงนำมาไม่ได้จริงๆ เพราะความบอบบาง เช่น เรือพระที่นั่งจำลอง ที่มีชิ้นส่วนไม้ขนาดเล็กมาก มีสิ่งทอบางชิ้นที่เราเชื่อว่าหากนำมาอาจเกิดความเสียหาย เราต้องแน่ใจว่าของทุกช้ินจะกลับไปถึงสหรัฐฯ ในสภาพดี

 

ขั้นตอนการขอยืมของมาจัดแสดงต้องทำอย่างไรบ้าง

ที่สถาบันสมิธโซเนียน ผมต้องยื่นเอกสารเล่าเรื่องราวทั้งหมดของนิทรรศการ และระบุว่าจะขอยืมของชิ้นใดบ้าง จากนั้นนักอนุรักษ์ (conservator) จะเข้าไปตรวจสภาพของและบันทึกไว้ เขาจะบอกว่าของชิ้นไหนบอบบางเกินกว่าจะขนส่ง ส่วนนายทะเบียน (registrar) จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าของชิ้นนั้นจะถูกส่งมาที่นี่ไหม ถ้าส่ง นักอนุรักษ์จะนำไปทำความสะอาดอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำให้มันมั่นคงแข็งแรงที่สุดสำหรับการเดินทาง แล้วก็ต้องมีเงินทุนจำนวนหนึ่งสำหรับการจัดส่ง ต้องใช้เครื่องมือและพาหนะที่ดีที่สุด เพื่อให้ของเหล่านี้มาถึงในสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

นักอนุรักษ์ไม่อยากให้แตะต้องหรือทำความสะอาดของบางส่วนจากยุคศตวรรษที่ 19 เพราะขั้นตอนการทำความสะอาดอาจสร้างความเสียหายได้ ดังนั้นในนิทรรศการคุณจะเห็นว่าของจากยุคศตวรรษที่ 20 ดูสวยงามแวววาว แต่ของจากยุคปี 1856 ถึง 1876 ดูค่อนข้างเก่า ซึ่งมันก็เก่าจริงๆ เพราะอายุร้อยกว่าปีแล้ว ของขวัญเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราเทิดทูนและหวงแหนมาก

Julia Brennan

Julia Brennan นักอนุรักษ์สิ่งทอกำลังอธิบายกระบวนการอนุรักษ์ฉลองพระองค์ครุย ของขวัญประทานจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ แก่สถาบันสมิธโซเนียน เมื่อ พ.ศ.  2490 ที่ Smithsonian Institution Museum Support Center, Suitland, MD

Cathy Valentour

Cathy Valentour นักอนุรักษ์ กำลังอธิบายเรื่องการอนุรักษ์ขันถมเงิน ของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแก่ประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ พ.ศ. 2474 ที่ National Archives Building, Washington, DC

เรามีขันถมเงินที่ประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี 1932 เป็นขันเงินที่ค่อนข้างใหญ่ ของเหล่านี้ต้องได้รับการบูรณะเพื่อให้แข็งแรงเพียงพอ

ของแต่จะชิ้นมีอุปกรณ์ช่วยติดยึดที่เรียกว่า Mount ซึ่งออกแบบมาเฉพาะชิ้นนั้นๆ เรามีทีมออกแบบที่จะหาวิธีที่มั่นคงแข็งแรงที่สุดสำหรับจัดแสดงของชิ้นนั้น เราทำ Mount เล็กๆ เหล่านี้หลายร้อยชิ้นในวอชิงตัน ดี.ซี. แล้วส่งมาที่นี่

 

มีของชิ้นที่คุณอยากได้ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำมาแสดงไหม

มี มันคือภาพถ่ายโบราณที่เรียกว่า ดาแกโรไทป์ (Daguerreotype) เป็นภาพถ่ายยุคแรกๆ ที่ต้องนั่งนิ่งหลายนาทีขณะที่ช่างถ่าย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ฉายด้วยเทคนิคแผ่นเงิน (Daguerreotype) ของพระองค์ที่ฉายร่วมกับพระราชธิดาแด่ประธานาธิบดีเจมส์ บูคาแนน แต่เมื่อของขวัญเดินทางมาถึง เป็นยุคของประธานาธิบดีลินคอล์น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสนอมาในพระราชสาส์นว่าจะพระราชทานช้างเป็นของขวัญแก่สหรัฐอเมริกา และพระราชทานงาช้างมาให้พร้อมกันด้วย

พระบรมฉายาลักษณ์ใบนั้นอ่อนไหวต่อแสงมากๆ เราพยายามหาวิธีจัดแสดงให้ปลอดภัยที่สุด มีวิธีสมัยใหม่ที่เพิ่งทำได้เมื่อราว 5 ปีที่ผ่านมา คือใช้อุปกรณ์จับสัญญาณ ผู้ชมจะมองเห็นภาพก็ต่อเมื่ออยู่ด้านหน้าภาพเท่านั้น เมื่อเดินผ่านไป ภาพก็จะมืดลง

การใช้แสงในพิพิธภัณฑ์เรานับกันเป็นแรงเทียน โดยทั่วไปอยู่ที่ 5 – 7 แรงเทียน ของบางชิ้น เช่น พัดรองที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องใช้แสงเพียง 2 – 3 แรงเทียน ซึ่งก็มืดมากๆ แล้ว แต่พระบรมฉายาลักษณ์โบราณใบนี้ต้องใช้ 1 แรงเทียนเท่านั้น พอผู้ชมเดินผ่านก็อาจจะ เอ่อ นั่นรูปอะไรน่ะ เราคงต้องติดภาพจำลองขนาดค่อนข้างใหญ่ไว้ด้านหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของจริงด้วย ค่าประกันความเสียหายก็สูงมากๆ เพราะระดับแสงที่มากเกินไปจะทำให้พระบรมฉายาลักษณ์นี้เสียหาย ในที่สุดเราตัดสินใจไม่นำพระบรมฉายาลักษณ์นี้มาจัดแสดง

ผมได้เห็นต้นฉบับคำประกาศเลิกทาส (Emancipation Proclamation) ที่เขียนโดยประธานาธิบดีลินคอล์น บรรดาเอกสารเก่าจะมีการบันทึกไว้ว่า ตั้งแต่เราได้รับของชิ้นนี้มา มันถูกแสงมาแล้วกี่วัน แต่เอกสารอย่างต้นฉบับคำประกาศเลิกทาสและภาพถ่ายโบราณ อย่างพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องวัดกันเป็นชั่วโมง ถูกแสงมาแล้วกี่ชั่วโมง แล้วถ้าเราฝืนนำมาจัดแสดงเป็นเวลา 3 เดือน พระบรมฉายาลักษณ์ต้องเสียหายจากแสงแน่นอน เราก็เลยเลือกรักษาของชิ้นนี้ให้ชนรุ่นหลังได้มีโอกาสเห็นในสภาพดีที่สุดเท่าที่เราจะรักษาไว้ได้ ในการทำงานพิพิธภัณฑ์ เราต้องคำนึงถึงเรื่องการรักษาของไว้ให้คนรุ่นหลังเสมอ

 

มีของที่ห้ามนำออกนอกประเทศไหม

ก็มีนะ ข้อกำหนดทางการค้าระหว่างประเทศกำหนดว่า เรานำของอย่างไม้พยุง (Siamese Rosewood) หรืองาช้าง ออกนอกประเทศไม่ได้ ของขวัญพระราชทานบางชิ้นมีส่วนประกอบที่ทำด้วยงาช้าง อย่างที่เล่าไปว่าประธานาธิบดีลินคอล์นได้รับพระราชทานงาช้างคู่หนึ่ง เราตัดสินใจไม่นำมา เพราะจะยุ่งยากมาก ของบางอย่างที่มีงาช้าง เช่น พัดรองที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นของชิ้นหนึ่งที่ผมชอบมากที่สุด ด้ามจับทำจากงาช้าง เรามีซออู้ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตัวปรับระดับเสียงทำจากงาช้าง ของชิ้นนี้มีเรื่องราวที่ทรงคุณค่า เราจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อผ่านขั้นตอนต่างๆ ให้ของชิ้นนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการในครั้งนี้ งานนิทรรศการนี้จะนำเครื่องดนตรี 3 ชิ้น และพัดรอง 1 เล่ม ที่ต่างทำมาจากงาช้างเพียงบางส่วน มาจัดแสดง  เราได้นำเข้าสิ่งของเหล่านี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ที่อนุญาตให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากงาช้างบางประเภทที่ได้มาอย่างถูกกฎหมาย และไม่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อมาจัดแสดงในนิทรรศการหมุนเวียน สถานทูตฯ มีหนังสือรับรองตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) หรือ CITES (ไซเตส) สำหรับสิ่งของที่เข้าข่ายและนำมาจัดแสดงในงานนิทรรศการครั้งนี้ ไซเตสมีการควบคุมตัวอย่างสัตว์ป่าและพืชป่าบางสายพันธุ์ที่ค้าขายระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า

พัดรอง

พัดรองทำจากงาช้าง ผ้าไหม และด้ายทอง ของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแก่สถาบันสมิธโซเนียน พ.ศ. 2419 99 x 39.5 ซม. ได้รับความอนุเคราะห์จากฝ่ายมานุษยวิทยา สถาบันสมิธโซเนียน; E27267-0; ถ่ายโดยเจมส์ ดิลอเรโต

ซออู้

ซออู้ ของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แก่หอสมุดรัฐสภา พ.ศ. 2503 ความยาว 78.7 ซม. ได้รับความอนุเคราะห์จากหอสมุดรัฐสภา; 5137-L

 

ขั้นตอนการขนส่งเป็นอย่างไร

ก่อนอื่นนักอนุรักษ์จะทำรายงานระบุสภาพและรายละเอียดทุกอย่างของของชิ้นนั้นเพื่อให้นายทะเบียนเปรียบเทียบกับตอนที่ของชิ้นนั้นกลับมา แล้วก็ต้องวางแผนการขนส่ง ของบางชิ้นต้องอยู่ในสภาพที่ควบคุมระดับความชื้นอย่างเข้มงวด ซึ่งแต่ละชิ้นต้องการระดับความชื้นต่างกัน เช่น พวกเครื่องถมทอง ค่อนข้างแข็งแรงกว่าของที่เป็นไม้ซึ่งอาจมีความชื้นหรือทนต่อแรงกดดันขณะเดินทางโดยเครื่องบินได้น้อยกว่า

คณะทำงานจะช่วยกันหาวิธีขนย้ายที่มีประสิทธิภาพที่สุด ลังไม้ที่ใช้ขนส่งบุด้วยโฟมชนิดพิเศษ ใช้มีดที่คมมากๆ ตัดโฟมเป็นร่องที่พอดีเป๊ะกับของชิ้นนั้น ภายในกล่องบุกระดาษพิเศษกันกระแทก ควบคุมอุณหภูมิกับระดับความชื้น แล้วปิดผนึก เราไม่อยากให้ศุลกากรเปิดกล่องก่อนถึงที่หมาย เพราะระดับความชื้นและอุณหภูมิจะเปลี่ยนและของอาจเสียหาย

เราส่งคนไปรับของที่ศุลกากร ของแต่ละอย่างมีวิธีขนมาแตกต่างกัน เราโชคดีมากที่มีจำนวนนักอนุรักษ์เพียงพอที่จะมาพร้อมของได้ เพราะนักอนุรักษ์ย่อมรู้ดีที่สุดว่าปัจจัยใดอาจก่อความเสียหายแก่ของชิ้นนั้นได้ เขาต้องเซ็นใบรับรองว่าเห็นลังไม้ที่บรรจุของชิ้นนั้นโหลดเข้าไปใต้ท้องเครื่อง แล้วก็เซ็นอีกครั้งว่าเห็นลังไม้ใบเดิมออกมาจากใต้ท้องเครื่อง

พอขนลังไปถึงที่จัดแสดง เราต้องปล่อยให้มันปรับสภาพเข้ากับอากาศรอบตัว (Climatise) ก่อน คือวางกล่องนั้นไว้ในห้องควบคุมระดับความชื้นสัก 1 – 2 วัน แล้วจึงเปิดเพื่อนำของข้างในออกมา

ต่อไปเป็นขั้นตอนการตรวจสภาพสิ่งของว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่ของชิ้นนั้นถูกบรรจุลงลังจนถึงนำออกจากลัง

ตอนนี้มีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ของเหลวเป็นตัวบอกว่าลังไม้นั้นถูกจับกลับหัวกลับหางขณะเดินทางหรือเปล่า คือเครื่องวัดแรงโน้มถ่วง หากของชิ้นนั้นถูกเขย่าหรือทำหล่นในระดับมากกว่า 25 G เครื่องนี้จะส่งสัญญาณสีแดง โชคดีที่การขนย้ายคราวนี้ไม่มีเหตุอะไรแบบนั้นเกิดขึ้น

ของขวัญเหล่านี้เคยถูกส่งข้ามน้ำข้ามทะเลไปที่สหรัฐอเมริกามาแล้วครั้งหนึ่ง แต่เรามีหน้าที่รักษาของเหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็น จึงต้องหาวิธีที่ดีที่สุด ประวัติศาสตร์การขนย้ายสิ่งของอาจจะฟังดูน่ากลัวอยู่สักนิด สมัยก่อนใช้วิธีขนใส่เรือ เอาฟางปู แต่ปัจจุบันเราโชคดีที่มีเทคโนโลยีต่างๆ มากมายที่ช่วยเรื่องการขนส่งให้ปลอดภัยมากที่สุด

 

ตลอดเวลา 200 ปีมานี้ ของขวัญพระราชทานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ของขวัญจากยุค ค.ศ. 1856 – 1876 เช่น เครื่องถมทอง เรามองเห็นว่ามันบอกเรื่องราวเกี่ยวกับฐานานุศักดิ์ของคนในวังหลวง สหรัฐอเมริกาไม่มีสถาบันกษัตริย์ปกครอง ดังนั้น เราจึงได้รับพระราชทานของขวัญสำหรับขุนนางชั้นสูง คือเครื่องถมทอง ซึ่งแต่ละอย่างมีการใช้งานต่างๆ กัน

กรรไกรเครื่องตัดผมถมทอง

กรรไกรเครื่องตัดผมถมทอง ของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แก่ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ พ.ศ. 2399 ความยาว 35.3 ซม. ได้รับความอนุเคราะห์จากฝ่ายมานุษยวิทยา สถาบันสมิธโซเนียน; E66-0; ถ่ายโดยเจมส์ ดิลอเรโต และลูเซีย อาร์เอ็ม มาร์ติโน

ราวแขวนผ้าเช็ดหน้าถมตะทอง

ราวแขวนผ้าเช็ดหน้าถมตะทอง ของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แก่สถาบันสมิธโซเนียน พ.ศ. 2419 51 x 41 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 13.8 ซม. (ฐาน) ได้รับความอนุเคราะห์จากฝ่ายมานุษยวิทยา สถาบันสมิธโซเนียน; E27151-0; ถ่ายโดยเจมส์ ดิลอเรโต

พอมาถึงเครื่องถมทองพระราชทานจากยุคศตวรรษที่ 20 เช่นที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เห็นได้ชัดว่ามีการสร้างสรรค์งานเครื่องถมทองแบบใหม่ๆ บางชิ้นเป็นเครื่องถมทองรูปพริกหวาน ผมคิดว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีบทบาทสำคัญมากในการธำรงรักษางานฝีมือของไทยเหล่านี้ ของเหล่านี้เปลี่ยนรูปแบบไปจากยุคศตวรรษที่ 19 และงามมาก หากคุณมีโอกาสได้ไปชมที่นิทรรศการก็น่าจะเห็นด้วย

ตลับพริกหวานถมทองประดับเพชร
ตลับพริกหวานถมทองประดับเพชร พร้อมกี๋ไม้แกะสลักฉลุโปร่งลายบัว ของขวัญพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แก่นางลอรา บุช สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง พ.ศ. 2541 13 x 9.3 ซม. ได้รับความอนุเคราะห์จากพิพิธภัณฑ์และหอสมุดประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช; FO.333268.1.a-c

เรามีเครื่องถมทองทำเป็นรูปเต่า ที่เป็นของขวัญพระราชทานแก่หลานของประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน (Lindon B. Johnson) มีการประยุกต์ใช้รูปแบบใหม่ๆ เป็นเรื่องราวที่สวยงามมากได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในงานศิลป์ของไทย มีการคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย และความเหมาะสมที่จะใช้เป็นของขวัญทางการทูต

เต่าและพานถมทอง
เต่าและพานถมทอง ของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แก่แพทริค ลินดอน นูเจ็นท์ หลานชายประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน พ.ศ. 2510 6.35 x 6.53 ซม. ได้รับความอนุเคราะห์จากพิพิธภัณฑ์และหอสมุดประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน; 1967.38.4 A-C

มีชุดเครื่องเขียนถมทองที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2 คนได้รับพระราชทาน คือประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ และ ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน ซึ่งมาเยือนประเทศไทยในปี 1966 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดี ณ พระบรมมหาราชวัง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2510 พระองค์พระราชทานพระราชดำรัส ณ ทำเนียบขาว ด้วยการรับสั่งถึงประธานาธิบดีจอห์นสันและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในช่วงหนึ่งของพระราชดำรัสว่า “เรามาพบท่านทั้งสองไม่ใช่เพียงในฐานะประมุขของประเทศเท่านั้น แต่ในฐานะเพื่อนเก่าด้วยเช่นกัน” และนั่นก็คือหัวใจสำคัญของงานในครั้งนี้ เพราะทั้งสองประเทศคือ Great and Good Friends ของกันและกัน

ชุดเครื่องเขียนเหล่านี้เป็นความแปลกใหม่ ส่วนเต่าถมทองก็แสดงให้เห็นว่าทรงคำนึงถึงว่าใครเป็นผู้รับพระราชทาน ซึ่งทำให้เราชื่นชมมาก

ชุดเครื่องเขียนถมทอง

ชุดเครื่องเขียนถมทอง ของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แก่ประธานาธิบดีดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ พ.ศ. 2503 35.8 x  45.7 ซม. ได้รับความอนุเคราะห์จากพิพิธภัณฑ์และหอสมุดประธานาธิบดีดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์; 63-378. 1-12

 

ชุดเครื่องเขียนถมทองและเต่าถมทองคงไม่ได้ถูกนำไปใช้หรือเล่นจริงๆ ใช่ไหม

ผมไม่คิดว่าของเหล่านี้จะถูกใช้งานจริงๆ รัฐธรรมนูญอเมริกันระบุว่า ของขวัญใดก็ตามที่ประธานาธิบดีของเราได้รับมา ถือเป็นสมบัติของชาติ จะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีที่หอสมุดประธานาธิบดี

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถมาก และทรงใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเยี่ยม เห็นได้จากพระราชสาส์นฉบับหนึ่งที่พระราชทานไป พระองค์ทรงทราบว่าการพระราชทานของขวัญแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เท่ากับพระราชทานแก่ชาวอเมริกันทั้งประเทศ และเราเชื่อว่านั่นเป็นเหตุผลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสของพระองค์ พระราชทานของขวัญชุดใหญ่ไปให้เรา เพื่อจัดแสดงในงาน World Fair ในยุคศตวรรษที่ 19

ในยุคนั้นคนทั่วไปยังไม่รู้จักหรือไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศ งานเวิลด์แฟร์เป็นหนทางที่อเมริกันชนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเทศอื่นๆ ในโลก ราชอาณาจักรสยามเข้าร่วมงานในปี 1876 ที่จัดเพื่อฉลองวาระครบรอบร้อยปีของประเทศเรา ศาลานิทรรศการของสยามเต็มไปด้วยของจากราชสำนักสยาม และของเชิงมานุษยวิทยาต่างๆ จากหลายพื้นที่ในสยาม ประชาชนอเมริกันจะขึ้นรถไฟเป็นวันๆ เพื่อมาชมงานนี้ มาชมประเทศที่อยู่ส่วนอื่นของโลก

นิทรรศการ

การจัดแสดงสินค้าจากสยาม พร้อมด้วยพระบรมรูปครึ่งพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเกล้าอยู่หัวในการแสดงนิทรรศการเฉลิมฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีของสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2419 เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย

นิทรรศการ

นิทรรศการภายในอาคารจัดแสดง Forestry Building ในงาน World’s Columbian Exposition พ.ศ. 2436 ณ เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์

นิทรรศการ

พิธีเปิดอาคารจัดแสดงสินค้า Siam Pavilion ในงาน Panama-Pacific International Exposition พ.ศ. 2458 เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย

 

คุณชอบของชิ้นใดในนิทรรศการนี้มากที่สุด

ถ้าจะต้องเลือกเพียงหนึ่งอย่าง คงเป็นกล่องบุหรี่ประดับอักษรพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ พระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เรื่องราวเบื้องหลังกล่องบุหรี่กล่องนี้เป็นความลับของรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งมาเปิดเผยเมื่อปี 1973

ค.ศ. 1945 ตอนนั้นอยู่ในช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นรุกเข้าดินแดนไทย รัฐบาลไทยถูกบีบให้ประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา แต่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ไม่ยอมส่งคำประกาศสงครามดังกล่าวให้รัฐบาลสหรัฐฯ เขาไม่เชื่อว่าชาวไทยจะต้องการประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา และจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น

ตอนนั้นยังไม่มี CIA แต่มีหน่วยงานชื่อว่า สำนักบริการด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา The U.S. Office of Strategic Services (OSS) หน่วยงานนี้ส่งเจ้าหน้าที่ 2 คนแทรกซึมเข้ามาในไทยเพื่อนัดพบกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในฐานะผู้แทนพระองค์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ฝากของขวัญกลับไปให้ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ คือกล่องบุหรี่ทองพระราชทานชิ้นนี้ เพื่อสื่อถึงความปรารถนาดีของประเทศไทยในการมุ่งให้เกิดสันติภาพ

นี่เป็นปฏิบัติการลับสุดยอด แค่ของขวัญชิ้นเล็กๆ เพียงชิ้นเดียวยังมีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ เป็นของขวัญที่สำคัญอย่างยิ่ง และอันตรายมากที่จะส่งข้อความถึงกันในภาวะสงคราม แต่พวกเขาทำสำเร็จ เราโชคดีที่ได้นำของชิ้นนี้กลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้ง เป็นเรื่องที่สวยงาม และเป็นของขวัญที่สวยงามมากด้วย ผมชอบประวัติศาสตร์ ดังนั้น ของชิ้นเล็กๆ อย่างกล่องบุหรี่ทองนี้จึงเป็นหนึ่งในของที่ผมชอบที่สุด

กล่องบุหรี่

กล่องบุหรี่ประดับอักษรพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ของขวัญจากหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล แก่ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ พ.ศ. 2488 8.26 x 7.62 ซม. ได้รับความอนุเคราะห์จากพิพิธภัณฑ์และหอสมุดประธานาธิบดีแฟรงคลิน เดลาโน รูสเวลต์; MO 1946.29.1

 

มีของชิ้นไหนอีกบ้างที่ไม่ควรพลาด

บาตรพระ และพัดรองพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เรารู้ว่าของเหล่านี้มักจะพระราชทานแก่พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ เราจึงรู้สึกเป็นเกียรติมาก ด้ามพัดรองทำจากงาช้าง บาตร ฝาบาตรและเชิงบาตรประดับมุกที่สวยงามมาก

บาตร

บาตรพระ ฝาบาตร และเชิงบาตรประดับมุก ของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แก่สถาบันสมิธโซเนียน พ.ศ. 2419 เส้นผ่านศูนย์กลาง 26.7 ซม. ได้รับความอนุเคราะห์จากฝ่ายมานุษยวิทยา สถาบันสมิธโซเนียน ;E27266-0, E413401; ถ่ายโดยเจมส์ ดิลอเรโต, ลูเซีย อาร์เอ็ม มาร์ติโน และเฟร็ด โคชาร์ด

เรายังมีฉลองพระองค์ครุย คือเสื้อคลุมปักทองที่แต่เดิมเป็นพระราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และตกทอดกันมาในราชตระกูล จนกระทั่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ประทานเครื่องราชอิสริยยศนี้แก่สถาบันสมิธโซเนียนในปี 1947 ขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา เป็นเสื้อคลุมปักทองชิ้นเดียวที่เรามี เราคิดว่าแม้แต่ผู้คนที่อาจไม่ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยมากนักก็คงจะตื่นตาตื่นใจเมื่อได้เห็นของชิ้นนี้

ฉลองพระองค์ครุย

ฉลองพระองค์ครุย ของขวัญประทานจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ แก่สถาบันสมิธโซเนียน พ.ศ. 2490 98 x 79 ซม. ได้รับความอนุเคราะห์จากฝ่ายมานุษยวิทยา สถาบันสมิธโซเนียน ; E-385867-0; ถ่ายโดยเจมส์ ดิลอเรโต

เราได้รับพระราชทานเครื่องดนตรีจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังได้รับพระราชทานอีกชุดหนึ่งจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงเป็นนักดนตรีที่ทรงพระปรีชาสามารถทีเดียว ทรงมีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และทรงเป็นนักแต่งเพลงที่เก่งมากด้วย ทรงเคยบรรเลงร่วมกับนักดนตรีดังๆ หลายคน อย่าง Benny Goodman และ Stan Getz และทรงเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

เครื่องดนตรีที่พระราชทานแก่หอสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกาเป็นเครื่องดนตรีไทยดั้งเดิม มีทั้งฉิ่งหนึ่งคู่ กลองตีมือขนาดเล็กสองลูก (โทนและรำมะนาอย่างละลูก) ขลุ่ยอู้สองเลา จะเข้หนึ่งตัว และซอสี่คัน (ซอด้วงและซออู้อย่างละสองคัน) สิ่งที่พิเศษก็คือเครื่องดนตรีเหล่านี้คล้ายกับที่เราได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 4 และ 5 ผมคิดว่าทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานของขวัญซึ่งมีคุณค่าทางการศึกษาด้านวัฒนธรรม ไม่ใช่เพียงพระราชทานแซกโซโฟนที่ผลิตในประเทศไทยหรือเครื่องดนตรีสมัยใหม่ เราคิดว่านี่น่าสนใจมาก

สำหรับซออู้และจะเข้ พระองค์พระราชทานสายสำรองมาให้ด้วย เพราะทรงทราบว่าหอสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกามีเวทีแสดงดนตรี และบางครั้งหอสมุดให้ยืมเครื่องดนตรีสำหรับแสดงในวาระพิเศษ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อาจมีพระราชดำริว่าสักวันหนึ่งเครื่องดนตรีเหล่านี้อาจได้ใช้บรรเลงจริงๆ ก็เลยพระราชทานสายสำรองมาด้วย เครื่องดนตรีเหล่านั้นอยู่ในสภาพดีทีเดียว บรรเลงได้ เป็นที่ประจักษ์ว่าทรงพระปรีชาสามารถด้านดนตรี และทรงทราบบทบาทหน้าที่ของหอสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานเครื่องดนตรีไทยแก่หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ พ.ศ. 2503 กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้รับความอนุเคราะห์จากหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ   
www.greatandgoodfriends.com

ของพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ จดหมายปี 1818 ของพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ซึ่งเป็นการติดต่อครั้งแรกระหว่างรัฐบาลสยามกับสหรัฐอเมริกา เขียนเป็นภาษาโปรตุเกส เพราะเป็นภาษาทางการทูตที่ใช้ในขณะนั้น นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด

ผมคิดว่าน่าตื่นเต้นมากที่ได้เห็นลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเอกสารโบราณต่างๆ เนื้อความที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้แสดงให้เห็นว่าทรงใส่พระราชหฤทัยและทรงอ่านรัฐธรรมนูญของเรา ทรงเข้าพระราชหฤทัยดีว่าของขวัญมีความหมาย ความสำคัญ อย่างไรแก่ประเทศเราและใครเป็นผู้รับ

บัตรพระปรมาภิไธย บัตรพระปรมาภิไธย

บัตรพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ พ.ศ. 2402 ได้รับความอนุเคราะห์จากแผนกบันทึกทั่วไปของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา องค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติ; 6923541

พระราชสาส์น

พระราชสาส์นในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ประธานาธิบดียูลิสซีส เอส. แกรนต์ (ตัดมาบางส่วน) พ.ศ. 2412 ได้รับความอนุเคราะห์จากแผนกบันทึกทั่วไปของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา องค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติ; 6923534

งานนี้เราจัดแสดงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (The Most Illustrious Order of the Royal House of Chakri) ประธานาธิบดีดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเพียงคนเดียวที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมาก ข้างๆ เราจัดแสดงภาพถ่ายจากงานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทำเนียบขาว ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์สวมสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชิ้นนี้ เรารู้ว่ามีวิธีเฉพาะเจาะจงในการสวมเครื่องราชอิสริยาภรณ์แบบต่างๆ บางอย่างต้องแขวน หรือติดเสื้อ เราจัดวางของชิ้นนี้ให้เหมือนกับวันที่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์สวมในค่ำคืนนั้น

เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์
เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) ของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แก่ประธานาธิบดีดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ พ.ศ. 2503 ดวงตราขนาด 10.16 x 3.81 ซม. ได้รับความอนุเคราะห์จากพิพิธภัณฑ์และหอสมุดประธานาธิบดีดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์; 63-575

ในงานนิทรรศการ นอกจากของขวัญพระราชทานต่างๆ แล้ว เรายังมีวิดีโอให้ชม วิดีโอหนึ่งเกี่ยวกับขั้นตอนการบูรณะสิ่งของต่างๆ อีกวิดีโอหนึ่งเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ เยือนรัฐสภาอเมริกัน และได้พระราชทานพระราชดำรัสอย่างน่าประทับใจยิ่ง วิดีโออีกชิ้นคือช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา ในวิดีโอจะเห็นพระองค์เสด็จฯ ไปยังยอดตึกเอ็มไพร์สเตท ผมคิดว่าตึกนั้นเพิ่งก่อสร้างเสร็จแค่ 2 เดือนเองมั้ง และเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกในขณะนั้น วิวนครแมนฮัตตันในสมัยนั้นก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับตอนนี้เลย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้คนที่มารอรับเสด็จ พ.ศ. 2474 เมืองสการ์โบโร รัฐนิวยอร์ก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำรัส ณ ที่ประชุมรัฐสภาสหรัฐฯ พ.ศ. 2503
www.greatandgoodfriends.com

 

 

สิ่งที่คุณอยากบอกผ่านนิทรรศการนี้คืออะไร

นิทรรศการนี้เป็นเรื่องราวของมิตรภาพระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ในฐานะภัณฑารักษ์ ผมพยายามเล่าเรื่องราวให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผ่านของขวัญพระราชทานที่ทั้งสวยงามเลอค่าและมีความหมายเหล่านี้ ความสำคัญก็คือไมตรีจิตที่เรามีให้แก่กัน อยากให้ชาวไทยได้รับรู้ผ่านของขวัญประวัติศาสตร์เหล่านี้ว่ามิตรภาพของเราที่ดำเนินมากว่า 200 ปีนั้นวิเศษเพียงใด

ภาพ: ภาพประกอบสิ่งของที่จัดแสดงในนิทรรศการจากสถานทูตสหรัฐฯ   และ www.greatandgoodfriends.com
www.greatandgoodfriends.com

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม