19 กันยายน 2017
4 K

สำหรับใครที่ไม่ได้ติดตามผลการแข่งขันซีเกมส์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เราอยากกระซิบว่า ทีมแบดมินตันไทยคว้าเหรียญทองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยกวาดมาทั้งหมด 4 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 4 เหรียญทองแดง

โดย 2 เหรียญทองในนั้นเป็นการคว้าเหรียญทองครั้งแรกในรอบ 18 ปี จากประเภทชายคู่ และเหรียญทองเหรียญแรกในรอบ 14 ปี จากประเภทคู่ผสม

แบดมินตันไทย

เรานัดพบ 4 นักแบดบินตันทีมชาติไทยหลังจากคว้าเหรียญที่ซีเกมส์ 2017 ประเทศมาเลเซีย กลับมาครองได้สำเร็จ ประกอบด้วย บาส-เดชาพล พัววรานุเคราะห์, สกาย-กิตตินุพงษ์ เกตุเรน, ปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย และ เอิร์ธ-พุธิตา สุภจิรกุล ที่ศูนย์ฝึกแบดมินตันและวิทยาศาสตร์การกีฬา สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือ SCG Badminton Academy ศูนย์ฝึกแบดมินตันควบคู่กับวิทยาศาสตร์การกีฬา ไล่ตั้งแต่ด้านสรีรวิทยาการออกกำลังกาย ด้านจิตวิทยาการกีฬา ด้านโภชนาการ และด้านเวชศาสตร์การกีฬา ซึ่งทุกด้านที่ว่ามาล้วนแล้วแต่เป็นเบื้องหลังสำคัญที่ทำให้ทีมชาติไทยเราสามารถสร้างประวัติศาสตร์สำคัญในครั้งนี้

แบดมินตันไทย แบดมินตันไทย

ศูนย์ฝึกแห่งนี้เปรียบเสมือนโรงเรียนประจำของนักแบดมินตันรุ่นเยาว์ไปจนถึงทีมชาติที่มีผลงานโดดเด่น หลายๆ คนเข้ารับการฝึกฝนและพัฒนาจนมีผลงานในระดับโลก

และต่อไปนี้คือเรื่องราวและบทบาทของ SCG Badminton Academy จากปากของฮีโร่ซีเกมส์ทั้ง 4 คน

แบดมินตันไทยแบดมินตันไทย

1.

เราพบกับ เอิร์ธ-พุธิตา สุภจิรกุล หญิงสาวหน้าตาจิ้มลิ้มวัย 21 ปี เจ้าของส่วนสูง 183 เซนติเมตร ในห้องฟิตเนส

เอิร์ธคือนักแบดมินตันประเภทหญิงคู่ทีมชาติไทยที่เข้าร่วม SCG Badminton Academy ตั้งแต่อายุ 15 ปี และเป็นเจ้าของเหรียญเงินในกีฬาซีเกมส์ 2017 ร่วมกับ ปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย

อิร์ธเติบโตในครอบครัวนักกีฬาซึ่งมีคุณพ่อและคุณแม่เป็นอดีตนักวอลเลย์บอลทีมชาติไทย แต่เธอเลือกเส้นทางเดินของตัวเองในกีฬาแบดมินตันและมุ่งมั่นฝึกซ้อมจนก้าวสู่ระดับโลกได้สำเร็จ เธอบอกกับเราว่า ด้วยส่วนสูงและช่วงตัวทำให้เธอได้เปรียบในเรื่องการใช้พื้นที่

แบดมินตันไทย

“แบดมินตันเป็นเกมที่ค่อนข้างใช้ร่างกายเยอะ เราจึงต้องรักษาร่างกายให้สมบูรณ์พร้อมและอยู่กับเราได้นานที่สุด โค้ชจะสอนเสมอว่ามันเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของเราได้เลย ถ้าเปรียบเทียบชีวิตกับแบดมินตันเราก็เหมือนอยู่ในคอร์ตสี่เหลี่ยมนี่แหละ มีกฎ มีระเบียบ และมีขอบเขต และทุกอย่างคงไม่สบายหรือถูกใจเราไปทั้งหมด แต่เรายังมีเน็ตเป็นความยืดหยุ่นที่สามารถทำบางอย่างที่ข้ามเขตแดนไปได้ ซึ่งเราจะทำอะไรก็ได้ในส่วนความยืดหยุ่นนั้น”

คำสอนของ โค้ชโอมเทศนา พันธ์วิศวาส หัวหน้าผู้ฝึกสอนของศูนย์ฝึกแห่งนี้ ทำให้เอิร์ธมองแบดมินตันอย่างเข้าใจมากขึ้น และมองเห็นเป้าหมายของตัวเองชัดเจนอยู่เสมอ

“วินัยของนักกีฬาไม่ได้มีแค่เรื่องการฝึกซ้อมอย่างเดียว แต่รวมถึงอาหารการกินของเราด้วยที่ช่วยทำให้ร่างกายของเราสมบูรณ์พร้อม ถ้าเราขาดตรงนี้ไปเราอาจจะเจ็บหรืออาจจะฟอร์มตกได้ แต่ถ้าทำได้และรักษาสภาพนี้ไว้ได้นานมันจะเป็นโมเมนต์ที่ดีที่สุดตั้งแต่เราเล่นแบดมินตันมาเลย เรามีโอกาสขึ้นไปอยู่ท็อปเท็น และถ้าเรายังฟอร์มดีแบบนี้ไปอีก 5 – 10 ปีเราก็สามารถไปได้ไกลมากขึ้น เราต้องซ้อมให้หนักกว่าเดิม พัฒนาตัวเองต่อไป แล้วเราจะไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้”

ซึ่งที่ศูนย์ฝึกแห่งนี้ก็มีนักโภชนาการที่เข้ามาช่วยออกแบบเมนูอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายของนักกีฬาแต่ละคนแตกต่างตามมวลของร่างกาย

แบดมินตันไทย

เมื่อชวนคุยถึงเส้นทางชีวิตนักกีฬาของ เธอว่าการได้ไปแข่งขันโอลิมปิก 2016 ที่ประเทศบราซิลเมื่อปีที่ผ่านมาคือการต่อสู้ที่คุ้มค่ามากที่สุด เพราะกฎมีอยู่ว่านักกีฬาที่จะไปแข่งขันรายการนี้ได้ต้องเก็บคะแนนเพื่อไต่อันดับไปให้ถึงที่ 1 – 12 ของโลกภายในระยะเวลา 1 ปี

“ในช่วง 6 เดือนแรกเราตกรอบแรกหมดเลย แทบจะไม่เห็นโอกาสที่จะได้ไปโอลิมปิกด้วยซ้ำ แต่เรายังไม่ยอมแพ้ เราเชื่อมันในโค้ช เชื่อมันในแผนของเรา เราบอกตัวเองทุกวันว่าเชื่อมั่นนะว่าเราทำได้ ช่วงเวลา 6 เดือนนั้นเป็นช่วงเวลาที่เรากดดันมาก ในช่วงนั้นทั้งเราและพี่ป้อกดดันมาก กว่าเราจะผ่านไปได้อุปสรรคมันเยอะมาก เราตั้งใจจะไปโอลิมปิก แต่ว่าคะแนนเราตามหลังคนอื่นตลอด จนมาแซงรายการสุดท้ายของการเก็บคะแนน ซึ่งมันเหมือนเราได้ปลดปล่อยทุกอย่าง”

เล่าถึงตรงนี้ เราเห็นรอยยิ้มภูมิใจปรากฏบนใบหน้าของเธอ

2.

นักหวดลูกขนไก่อีกคนที่ต่อสู้เคียงข้างเอิร์ธมาคือ ปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย นักแบดมินตันประเภทหญิงคู่ และคู่ผสมทีมชาติไทย วัย 25 ปี

แบดมินตันไทย

ปอป้อเข้าร่วม SCG Badminton Academy ตั้งแต่อายุ 15 ปี เธอคือนักแบดมินตันประเภทหญิงคู่มืออันดับ 11 ของโลก คู่กับเอิร์ธและนักแบดมินตันประเภทคู่ผสม มืออันดับ 7 ของโลก คู่กับบาส-เดชาพล พัววรานุเคราะห์อีกทั้งยังเป็นนักแบดมินตันคนแรกของโลกที่คว้าแชมป์แบดมินตันระดับ Grand Prix Gold ได้ครบทั้ง 3 ประเภท ทั้งหญิงเดี่ยว หญิงคู่ และคู่ผสม หากให้ไล่เรียงผลงานในชีวิตนักกีฬาพื้นที่ตรงนี้คงไม่เพียงพอสำหรับเส้นทางการต่อสู้ของเธอ

ดูเหมือนเส้นทางการเป็นนักกีฬาของปอป้อจะโรยด้วยกลีบกุหลาบและอยู่ในช่วงขาขึ้นจนถึงขีดสุด แต่เมื่อการแข่งขันซีเกมส์ 2017 ที่ประเทศมาเลเซียที่ผ่านมา เธอประสบอุบัติเหตุระหว่างการแข่งขันจนต้องกลับมาพักนานกว่าที่เคย

แน่นอนว่าสิ่งที่เธอต้องเผชิญมากกว่าอาการบาดเจ็บคือความผิดหวัง แต่เธอยังยืนยันว่าไม่ยอมหมดหวังในตัวเอง

แบดมินตันไทย

“ตั้งแต่เคยบาดเจ็บมาครั้งนี้เจ็บมากที่สุดและค่อนข้างสำคัญกับเรามาก เพราะนี่เป็นครั้งแรกเลยที่ต้องหยุดสักพักและเลื่อนการแข่งขันออกไปก่อน ตอนแรกก็เครียดเพราะเราไม่เคยต้องหยุดนานขนาดนี้มาก่อน อย่างมากก็พัก 2 สัปดาห์ก่อนปีใหม่ หลังจากนั้นเราก็กลับมาซ้อมต่อ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราก็จะได้รู้ว่าเราพลาดตรงไหน มันทำให้เรารู้ว่ามันเกิดขึ้นได้ มันเป็นบทเรียนให้เราไม่ประมาทกับร่างกายของตัวเอง”

โชคดีที่ศูนย์ฝึกที่เรามาเยือนมีความพร้อมในการดูแลด้านเวชศาสตร์การกีฬา ทำให้ปอป้อคลายกังวลเรื่องอาการบาดเจ็บได้มาก แม้กายจะยังไม่กลับมาสมบูรณ์พร้อมเต็มร้อย แต่หัวใจของเธอยังพร้อมรับมือกับความผิดหวังเสมอ และเธอไม่เคยคิดจะหยุดพัฒนาตัวเองเลยสักครั้ง

“ทุกแมตช์มันให้บทเรียนกับเราหมดเลย ถึงเราชนะแล้ว เป็นแชมป์แล้ว เราอาจจะคิดว่าเราไม่มีข้อบกพร่อง แต่ในเกมส์นั้นยังไงเราก็มีจุดบกพร่องและมีจุดด้อยที่ต้องเอามาพัฒนาต่อ ถ้าแพ้เราก็ต้องมาดูว่าเราแพ้ในเรื่องอะไร เราแพ้เขาตรงไหน แล้วเราก็ต้องกลับมาศึกษาคู่แข่งคนนั้น”

3.

ที่มุมหนึ่งในศูนย์ฝึก เราพบ บาส-เดชาพล พัววรานุเคราะห์ นักแบดมินตันประเภทชายคู่ และคู่ผสมทีมชาติไทย วัย 20 ปี

แบดมินตันไทย

บาสเริ่มต้นเล่นแบดมินตันอย่างจริงจังตั้งแต่ 7 ขวบและทำผลงานเข้าตาจนได้เข้าร่วม SCG Badminton Academy ตั้งแต่อายุ 14 ปี แม้ว่าในการแข่งขันซีเกมส์ 2017 ที่ผ่านมาจะเป็นซีเกมส์ครั้งแรกที่เขาได้ลงแข่ง แต่ด้วยความแข็งแกร่ง วินัยในการฝึกซ้อม และความมุ่งมั่นของเขา ทำให้บาสสามารถทำผลงานได้ถึง 2 เหรียญทอง

เหรียญแรกในการแข่งขันประเภทคู่ผสมกับ ปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย และเหรียญที่สองประเภทชายคู่กับ สกาย-กิตตินุพงษ์ เกตุเรน

แต่เบื้องหน้าความสำเร็จในการแข่งขันครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงบาสคนเดียวเท่านั้น ซีเกมส์ทำให้บาสมองเห็นอีกหลายชีวิตที่อยู่นอกสนามและคอยผลักดันให้เขาไปถึงจุดหมาย นอกจากครอบครัวที่เป็นผู้สนับสนุนในความฝันของบาสตั้งแต่เด็กจนโตแล้ว แต่ยังมีผู้คนในศูนย์ฝึกที่เปรียบเสมือนอีกครอบครัวหนึ่งที่ทำให้บาสพร้อมรับมือกับการแข่งขันทุกรูปแบบ

เพื่อน โค้ช และทุกคนที่ทำงานอยู่เบื้องหลังในศูนย์ฝึกแห่งนี้ คือส่วนสำคัญที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ

แบดมินตันไทย

“ในช่วงที่ไปแข่งซีเกมส์จะมีคนที่แข่งประเภททีมเสร็จแล้วไม่ได้ลงแข่งต่อ แต่เขาก็ยังมานั่งเป็นกองเชียร์ให้เพื่อน คอยซัพพอร์ตเพื่อน คอยออกมายืดให้เวลาเพื่อนตีเสร็จ เวลาแข่งเสร็จก็หาข้าวมาให้กิน คนเหล่านี้คือคนที่อยู่ทีมเดียวกันกับเราทั้งนั้น การแข่งขันครั้งนี้มันเลยไม่ได้มีแค่ตัวเรา แต่ทำให้เราเห็นคนอื่นๆ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเราด้วย”

นอกจากเพื่อนร่วมทีมแล้ว บาสบอกว่าระบบของ SCG Badminton Academy คือส่วนสำคัญที่ทำให้เขาพัฒนาได้เร็วกว่าเดิม

“การจะลงแข่งในแมตช์ระดับโลกได้ อันดับแรก คือการเตรียมความพร้อมให้นักกีฬา ความโชคดีของเราคือเรามีที่นี่ซัพพอร์ตให้ทุกอย่าง ไม่ว่านักกีฬาขาดเหลืออะไรเขาจะหามาให้เพื่อให้เราเล่นได้อย่างเต็มที่ อย่างเพื่อนบางคนเท้าไม่ดี ใส่รองเท้าไม่ค่อยได้ ทีมที่ดูแลเขาก็ไปตัดพื้นรองเท้าให้ บางคนอาจจะมองข้ามเรื่องเล็กๆ แบบนี้ แต่จริงๆ แล้วมันก็สำคัญมาก หรืออย่างอาการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุจากการเล่นก็สำคัญเช่นกัน คนที่บาดเจ็บจะได้รับการดูแลที่ถูกต้องโดยนักเวชศาสตร์การกีฬา มีการต้องลงบ่อน้ำร้อนน้ำเย็นเพื่อทำกายภาพเพื่อฟื้นตัวให้กลับมาเล่นได้ การเตรียมความพร้อมให้นักกีฬาในทุกๆ ด้านจึงทำให้ความกังวลในการแข่งขันน้อยลง”

4.

ผู้ต่อสู้เคียงข้างบาสในการแข่งขันประเภทชายคู่คือ สกาย-กิตตินุพงษ์ เกตุเรน นักแบดมินตันวัย 21 ปี ที่เข้าร่วม SCG Badminton Academy ตั้งแต่อายุ 14 ปี

แบดมินตันไทย

ด้วยความรักและผูกพันกับแบดมินตันมาตั้งแต่เด็ก เพราะครอบครัวเปิดคอร์ตแบดมินตันของตัวเอง ทำให้สกายหันมาเอาดีด้านแบดมินตันตั้งแต่ 7 ขวบและมุ่งสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพมาตลอด

สกายเล่าว่า ในขณะแข่งขันมักจะมีสิ่งเร้ารายล้อมอยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเสียงของกองเชียร์ ความยากในการแข่งขัน กรรมการ และความคาดหวังในตัวเอง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่นักกีฬาจะไม่รู้สึกกดดันกับการแข่งขันแมตช์สำคัญระดับชาติ

โดยเฉพาะในการแข่งขันซีเกมส์ 2017 ที่เป็นซีเกมส์ครั้งแรกของสกายเช่นกัน กว่าจะมีพลังใจที่แข็งแกร่งได้เขาต้องผ่านการเรียนรู้จากนักจิตวิทยาจนนับครั้งไม่ถ้วน

“ก่อนลงสนามเราจะหาที่เงียบๆ เพื่อรวบรวมสติก่อน พอลงไปแล้วก็ต้องโฟกัสอยู่กับตัวเอง ไม่ต้องสนใจกรรมการ ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง โดยเฉพาะกรรมการที่เราไม่สามารถบังคับการตัดสินของเขาได้ ลูกไหนจะฟาวล์หรือได้คะแนนมันอยู่ที่ดุลพินิจของเขา เรามีหน้าที่แค่เล่นให้ดีที่สุดตามเกมที่เราซ้อมมา”

หนึ่งในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของนักกีฬาของศูนย์ฝึกแห่งนี้คือการมีทีมนักจิตวิทยาที่เข้ามาช่วยสอนกระบวนการคิดและแก้ปัญหาให้นักกีฬาอย่างตรงจุด

แบดมินตันไทย

“วิธีสอนของเขาคือเขาจะชี้ให้ดูเหตุผลว่า ถ้าเราไปหงุดหงิดหัวเสียตามกรรมการหรือคนอื่นๆ ถ้าเสียก็เสียเพราะการควบคุมไม่ได้ของเราเอง ฝ่ายตรงข้ามไม่ได้อะไรเลย แถมเรายังต้องหงุดหงิดเพราะกรรมการและทำให้เล่นไม่ได้ตามแผนที่ซ้อมมา แต่ถ้าเราจัดการกับอารมณ์นี้ได้ และคิดแค่ว่าแต้มนี้ตีเสียไปก็ช่างมัน เราก็แข่งต่อไปได้”

ในยามที่การแข่งขันดุเดือด ปฏิเสธไม่ได้ว่าความกดดันคือสิ่งที่ก่อตัวขึ้นมาได้เร็วที่สุด แต่วิธีการที่นักจิตวิทยาแนะนำ ทำให้สกายมองสิ่งรอบกายที่เข้ามาปะทะอารมณ์เป็นสิ่งเล็กน้อยในชีวิต

“นักจิตวิทยาจะแนะนำวิธีลดความกดดันในการแข่งขันว่าให้เล่นทีละแต้ม เล่นเหมือนแต้มศูนย์เท่า สมมติว่าตอนนี้แต้ม 18-20 เมื่อเทียบกับ 2-0 แล้วจริงๆ คะแนนมันก็ห่างเท่ากัน แต่ในสถานการณ์มันต่างกัน ซึ่งความกดดันมันก็ต่างกันด้วย แต่เขาสอนให้เรามองอีกมุม ให้เราลองคิดว่าเราเล่นเหมือนไม่รู้แต้ม และเล่นเหมือนทุกๆ แต้มที่ผ่านมา เล่นแบบสบายใจ และเล่นให้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุดเหมือนที่เราซ้อมมา”

หลังจากพูดคุยกับเหล่าฮีโร่เรียบร้อย เราออกมายังทางที่เราเข้า และเมื่อมองจากด้านนอก เราสังเกตเห็นประตูห้องซ้อมของศูนย์ฝึกยังเปิดกว้าง และมีนักแบดมินตันเดินเข้าไปทำตามความฝันอยู่ตลอดเวลา

แบดมินตันไทย

แบดมินตันไทย

Writer

Avatar

ธนาวดี แทนเพชร

ครีเอทีฟประจำ The Cloud ชอบใช้หลายทักษะในเวลาเดียวกัน จึงพ่วงตำแหน่งนักเขียนมาด้วยเป็นบางครั้ง ออกกองตามฤดูกาล จัดทริปและเดินทางเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

ลักษิกา จิรดารากุล

ช่างภาพที่ชอบกินบะหมี่ ถูกชะตากับอาหารสีส้ม และรักกะเพราไก่ใส่แครอท