27 กันยายน 2018
26 K

ถ้าจะจัดอันดับคำด่ายอดนิยมในภาษาไทย คำว่า ‘เหี้ย’ คงมาเป็นอันดับต้นๆ อย่างไม่ต้องสงสัย

ในอดีต คำว่า ‘เหี้ย’ เป็นคำด่ามีความหมายรุนแรง ถึงขนาดมีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินไว้ว่า ถ้าเผลอไปใช้ด่าใครเข้า อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าเลยทีเดียว เรียกว่าแค่เห็นคู่กรณีคลี่ปากเป็นสระเอีย ขนาดไม่ทันได้ยินเสียงเปล่งออกมาชัดๆ ว่า ‘เหี้ย’ ก็อาจจะหัวร้อนลุกขึ้นมาฟาดปากกันได้ง่ายๆ

แต่ทุกวันนี้ หันไปทางไหนก็ได้ยินคนพูดคำว่า ‘เหี้ย’ กันคล่องปาก สารภาพตามตรงว่าฟังแรกๆ ก็อดสะดุ้งไม่ได้ แต่พอตั้งใจสังเกตจริงจัง กลับพบว่าปัจจุบันคำคำนี้มีความหมายที่เปลี่ยนแปลงไป จนใช้สื่อสารได้ในสถานการณ์ที่หลากหลายทั้งร้ายและดี เรียกว่ามีวิวัฒนาการไปจนน่าสนใจกว่าที่คิด

คำว่าเหี้ยในภาษาไทยทุกวันนี้ เขาใช้ในความหมายอะไรกันบ้าง มาลองดูกัน

ปรากฏการณ์ทางภาษาของคำว่า 'เหี้ย' คำด่ายอดนิยมตลอดกาลของคนไทย

เหี้ย 1

ตามพจนานุกรมหมายถึงสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง มีชื่อเพราะๆ ว่าตัวเงินตัวทอง หรือที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเคยเสนอให้เปลี่ยนเป็น ‘วรนัส’ หรือ ‘วรนุช’ อยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็เลิกไป

เหี้ย 2

เป็นคำด่า เพราะเชื่อกันว่าเหี้ยเป็นสัตว์อัปมงมล คำว่าเหี้ยจึงใช้ด่าทอแสดงความไม่พอใจอย่างมาก มักสื่อถึงพฤติกรรมที่เลว ต่ำ เช่น ไอ้เหี้ย อีเหี้ย หรือคนอะไรเหี้ยจัง-คนส่วนใหญ่จะรู้จักคำว่าเหี้ยในความหมายนี้

เหี้ย 3

เป็นคำเรียก ใช้แสดงความสนิทสนมระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง เช่น ไอ้เหี้ย ไปไหนมาวะ หรืออาจใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 เมื่อกล่าวถึงผู้อื่น ใช้ได้ทั้งเพื่อแสดงความเป็นกันเอง เช่น ไอ้เหี้ยวิทย์ (นามสมมุติ) ไม่มาหรือ และเพื่อแสดงความไม่พอใจ เช่น ไอ้เหี้ยนั่นทำไมไม่มาล่ะ

เหี้ย 4

เป็นคำนาม ใช้ทำหน้าที่เป็นกรรมหรือส่วนเติมเต็มในประโยคคำถามเพื่อแสดงความสนิทสนมใกล้ชิด เช่น ทำเหี้ยอะไรอยู่ กินเหี้ยอะไรอยู่ อ่านเหี้ยอะไรอยู่

เหี้ย 5

เป็นคำนาม ใช้แสดงความหมายเชิงปฏิเสธ เช่น มึงเอาเหี้ยอะไรคิด แปลว่า ไม่คิด หรือ จะเอาเหี้ยอะไรไปส่ง แปลว่า ไม่มีงานส่ง  

เหี้ย 6

เป็นคำกริยา หมายถึงกระทำสิ่งที่ไม่ดี แต่ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าเป็นการกระทำอะไร เช่น อย่ามาเหี้ยแถวนี้  ระวังเถอะเดี๋ยวจะเหี้ยให้ดู

เหี้ย 7

เป็นคำขยาย แสดงความหมายเชิงปฏิเสธ สื่อความรู้สึกไม่พอใจ เช่น ถูกหวยหรือเปล่า-ถูกเหี้ยอะไรล่ะ ส่งงานหรือยัง-ส่งเหี้ยอะไรล่ะ

เหี้ย 8

เป็นคำขยาย ใช้เป็นคำสแลงหมายถึงไม่ดี แย่ เช่น เมื่อคืน (นักฟุตบอล) เล่นเหี้ยมาก มักใช้ในภาษาพูด ซึ่งบางครั้งผู้พูดอาจไม่รู้สึกว่าเป็นคำด่าจริงจังหรือมีความหมายในทางลบมากเท่ากับแบบที่ 2

เหี้ย 9

ใช้เป็นคำซ้ำว่า เหี้ยๆ ถ้าใช้ประกอบคำนามหรือคำกริยาจะมีความหมายในทางลบเช่นเดียวกันกับคำว่าเหี้ยที่ใช้เดี่ยวๆ เช่น คนเหี้ยๆ วิชาเหี้ยๆ  

เหี้ย 10

เหี้ยๆ ถ้าใช้ประกอบกับคำขยายจะมีความหมายว่ามาก เช่น น่ากลัวเหี้ยๆ รถติดเหี้ยๆ

เหี้ย 11

เหี้ยๆ ที่เป็นคำขยาย ใช้ในทางบวกก็ได้ เช่น สวยเหี้ยๆ อร่อยเหี้ยๆ สนุกเหี้ยๆ โอ้โห! บทความเหี้ยนี่มีสาระเหี้ยๆ

เหี้ย 12

เป็นคำอุทาน ใช้ในความหมายที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวิธีการออกเสียง เช่น

  • เหี้ย!!! (เสียงห้วน สั้น) หมายถึง ตกใจ
  • เหี้ยละ (เสียงเบา) หมายถึง ฉิบหาย แย่แล้ว
  • เหี้ยยย (เสียงต่ำ ลากเสียงยาว ) หมายถึง ประหลาดใจ
  • เหี้ย (กลั้วหัวเราะ) หมายถึง ชอบใจ สนุกสนาน
  • เหี้ยยย (เสียงเล็ก สูง ลากเสียงยาว) มักใช้ในหมู่วัยรุ่นหญิง หมายถึง ถูกใจ ชอบใจ เช่น ใช้อุทานเรียกเพื่อน เมื่อเห็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาถูกใจว่า โอ๊ย! อีเหี้ยยยยย มึงงงงงง
  • อีเหี้ย (ไม่เน้นเสียง) ใช้เป็นคำอุทานเสริมบทในภาษาระดับสนทนาระหว่างคนที่สนิทสนมคุ้นเคยกัน เพื่อให้การสนทนาลื่นไหลเป็นธรรมชาติ หรือเพื่อความบันเทิง (เสียงพี่เบนในรายการล้างตู้เย็นลอยมา)
ปรากฏการณ์ทางภาษาของคำว่า 'เหี้ย' คำด่ายอดนิยมตลอดกาลของคนไทย

ปัจจุบันในสื่อออนไลน์ นิยมใช้ตัวย่อว่า อห หรือ อหหหหห ซึ่งในบางบริบทจะหมายถึงคำว่าเหี้ยในความหมายที่ 2 ได้ ขึ้นอยู่กับการตีความ (แต่ถ้าถาม มักได้รับคำตอบว่าหมายถึง โอ้โห!) บางครั้งก็ออกเสียงหรือเขียนเป็น ‘เชี่ย’ เพื่อลดน้ำหนักความรุนแรงไม่ให้รู้สึกว่าหยาบคายเกินไป แต่ก็ใช้ในความหมายได้หลากหลายใกล้เคียงกัน

จะเห็นว่าคำว่าเหี้ยในปัจจุบันมีความหมายเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าสนใจ ปรากฏการณ์เดียวกันนี้ยังเกิดกับคำด่าอื่นๆ ในภาษาไทย เช่น ‘อีด_ก’ ‘ไอ้สั_ว์’ และในภาษาอื่น เช่น F_ck และ B_tch ในภาษาอังกฤษ ถึงขนาดมีคนทำคลิปวิดีโอสาธิตการออกเสียงเพื่อสื่อความหมายต่างๆ ขึ้นมาด้วย

ในยุคที่คำหยาบเริ่มจะไม่หยาบอย่างที่เราเคยคิด แถมยังใช้ได้ในความหมายที่กว้างออกไปได้อีกมาก ลองสังเกตปรากฏการณ์ทางภาษารอบตัวเราให้ดี

แล้วคุณจะพบว่ามัน สนุกเหี้ยๆ!

ปรากฏการณ์ทางภาษาของคำว่า 'เหี้ย' คำด่ายอดนิยมตลอดกาลของคนไทย

Writer

Avatar

ชนกพร พัวพัฒนกุล

อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล