ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน 

เราเดินลัดเลาะผ่านคันนาด้วยรองเท้าผ้าใบที่แต่งแต้มสีด้วยโคลน พร้อมกับผองเพื่อนที่ตื่นเต้นกับทุ่งนาเขียวชอุ่ม ย่ำโคลนไปสักระยะหนึ่งก็เห็นบ้านไม้ตั้งอยู่กลางแปลงนา เราสาวเท้าไวขึ้นจนเห็นป้ายที่ตั้งอยู่หน้าบ้าน เขียนด้วยภาษาไทยว่า ‘แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม (Satom Organic Farm : Surin)’

ช่วงนั้นเป็นหน้าฝนพอดี แม้ว่าพื้นดินแฉะเล็กน้อย แต่ต้นข้าวยังคงพากันสดชื่นยิ่งกว่าช่วงไหน ๆ ที่นี่คือฟาร์มเกษตรอินทรีย์แห่งแรกที่ปลูกข้าวพื้นเมืองสุรินทร์ มีการทำฟาร์มสเตย์ การท่องเที่ยวสายกรีน และผลิตภัณฑ์จากข้าวพื้นเมืองอย่างสาโทพื้นบ้าน จนถึงการตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ 

การเยือนแซตอมในครั้งนั้น เริ่มต้นการท่องเที่ยววิถีเกษตรอินทรีย์ด้วยการกินอาหารพื้นบ้าน ในเซตต้อนรับมีให้เลือกตั้งแต่เซตข้าวยำกุ้งจ่อมหมูสับ ไข่เจียวดอกขจร เซตข้าวผัดมันปูนา ไข่ต้ม เซตกะเพราหมูชิ้น ไข่ดาว (เราเลือกเซตนี้) และเซตน้ำพริกกะปิปลาทู ซึ่งทุกเซตเสิร์ฟตำปลีมาพร้อมด้วย

เรานั่งละเลียดอาหารพร้อมดื่มด่ำกับวิวทุ่งนากันสักพัก ก่อนที่ไวน์ข้าว (สาโทพื้นบ้าน) จะเสิร์ฟตามมาทีหลัง ทริปครึ่งวันสั้น ๆ ในจังหวัดสุรินทร์จบลงด้วยการการกิน ดื่ม พักผ่อน พูดคุย และดื่มด่ำกับธรรมชาติตรงหน้าเพียงเท่านั้น แต่บรรยากาศที่เติมเต็มเราในวันนั้น ทำให้เราได้กลับมาคุยกับ สุแทน สุขจิตร เจ้าของแซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม (Satom Organic Farm : Surin) อีกครั้ง และเป็นการพูดคุยที่จริงจังมากขึ้นกว่าครั้งก่อน

สุแทน สุขจิตร เจ้าของแซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม (Satom Organic Farm : Surin)

ข้าวพื้นเมืองแสนพิเศษ กับ คน (บ้า) ที่รักข้าวเป็นพิเศษ

“พี่จำหนูได้นะ ที่มาเที่ยวเป็นกลุ่มใหญ่ แล้วพี่ชวนเล่นเกมแจกกล้วย 2 เครือใช่ไหม”

“ใช่ค่ะ เพื่อนหนูได้กล้วย 2 เครือนั้นกลับไปด้วยค่ะ” 

เราเริ่มบทสนทนาด้วยเสียงหัวเราะ ก่อนสุแทนจะเริ่มเล่าเรื่องราวของแซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม (Satom Organic Farm : Surin) ให้ฟัง

‘แซตอม’ มาจากภาษาพื้นเมืองของชาวกูย (กลุ่มชาติพันธุ์ของสุรินทร์) แปลว่า นาริมห้วย นาที่อยู่พื้นที่ราบลุ่มต่ำ มีลำห้วยธรรมชาติไหลผ่าน ถ้าให้ยกตัวอย่างของวิธีการใช้คำนี้ เช่น 

ถ้าถามว่า “นาอยู่ไหน” ก็ตอบว่า “อยู่ตรงแซตอม” แปลว่า นาของเขาอยู่ตรงริมห้วย

“เดิมทีเราเป็นมนุษย์เงินเดือนทั่วไป เรียนจบจากมหาลัยในกรุงเทพฯ เป็นมนุษย์ออฟฟิศสักระยะก็ไปศึกษาหาความรู้ต่างประเทศ ลองใช้ชีวิตและหาประสบการณ์ แล้วกลับบ้านเมื่อ พ.ศ. 2557 หลังจากกลับบ้านก็ไม่อยากอยู่ที่ไหนอีกแล้ว เลยนั่งคิดว่าทำอะไรที่บ้านดี เพราะสุรินทร์ไม่ใช่เมืองเศรษฐกิจ ไม่ใช่เมืองการค้า ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว สุดท้ายก็เริ่มจากผืนดินของบรรพบุรุษที่ส่งต่อมาถึงเรา”

สุแทนไม่อยากทำนาในระบบปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงการทำนาตามกลไกตลาด โดยมีรัฐบาลดูแลเรื่องตลาดและการซื้อ-ขายข้าว ชาวนาต้องผลิตข้าวในปริมาณมาก เพื่อส่งออกไปยังตลาดตามกลไกที่กำหนดไว้ แน่นอนว่าความเสี่ยงที่ตามมาคือตลาดการซื้อ-ขายข้าวมีความผันผวนสูง 

Satom Organic Farm ฟาร์มสเตย์และนาอินทรีย์ของลูกชาวนาที่ชวนรู้จักข้าวพื้นเมืองสุรินทร์มากขึ้น

“เราตัดสินใจไม่ปลูกข้าวในระบบปัจจุบัน เน้นปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณค่าโภชนาการสูง แต่แค่ไม่อยู่ในตลาดกลาง เพราะข้าวพื้นเมืองส่วนใหญ่เป็นข้าวที่ชาวบ้านปลูกเอาไว้กินเองที่บ้าน แต่เราเห็นประโยชน์ตรงนี้ ก็เลยเลือกพันธุ์ข้าวต่าง ๆ จากศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ที่นั่นมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวไว้ดีอยู่แล้ว เราไปปรึกษาเขาและได้ข้าวพื้นเมืองสุรินทร์ที่ดีมาปลูก อย่างมะลินิลสุรินทร์ (มะลิดำ) มะลิโกเมนสุรินทร์ (มะลิแดง) และข้าวปะกาอำปึล (ข้าวดอกมะขาม) 

“ข้าวพื้นเมืองสุรินทร์อร่อยมาก ทั้งหอม ทั้งนิ่ม แล้วถ้ายิ่งเอามาปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ ดินของสุรินทร์จะยิ่งให้ค่าโภชนาการที่สูงมาก” 

แม้ว่าการทำนาอยู่ในสายเลือดของสุแทน แต่การเริ่มทำนาอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาบอกเราว่าตัวเขาถือเป็นมนุษย์ยุคใหม่ที่เริ่มห่างไกลจากการทำนาข้าว เพราะสมัยเป็นเด็ก การช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำนาสักครั้งทำได้แค่ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์หรือช่วงปิดภาคเรียนเท่านั้น

“ความยากของการทำนาอินทรีย์อย่างแรก คือภัยธรรมชาติ สอง คือรายได้ เพราะเดิมทีเราทำงานมีเงินเดือน แต่การทำนาไม่มีเงินเดือนแบบนั้นแล้ว เราต้องรับผิดชอบรายจ่ายทั้งหมด สาม คือทัศนคติของชาวบ้าน ญาติพี่น้องหรือคนแถวนี้เขามองว่าเราบ้าที่ทำแบบนี้ แต่เราก็ยังมุ่งมั่นนะ

“จนตอนนี้เราได้นาอินทรีย์ที่คุณภาพดี ผลผลิตดีขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันสิ่งที่ทำอยู่ทำให้เราไม่เครียดเลย เพราะการทำนาอินทรีย์ง่ายมาก แม้ว่าในช่วงแรกจะช้าหน่อย แต่พอหว่านข้าวเสร็จก็ไม่ต้องทำอะไรเลย ปล่อยให้นาข้าวทำงานด้วยตัวเองตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น”

สุแทน สุขจิตร เจ้าของแซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม (Satom Organic Farm : Surin)

ข้าวพื้นเมืองสุรินทร์ 101

การเป็นคนบ้าในสายตาคนอื่นย่อมท้าทายเสมอ เพราะการเริ่มต้นสิ่งใหม่เป็นคนแรกมักเจออุปสรรคมากมายนับไม่ถ้วน และความยากของการทำนาอินทรีย์นอกเหนือจาก 3 ข้อที่สุแทนเล่าให้ฟังไปแล้ว ยังมีอีกข้อสำคัญที่สุด 

นั่นคือ ต้องเอาข้าวจากนาอินทรีย์ไปขายที่ไหนกันนะ

“ช่วงแรก ๆ แทบขอร้องว่า กรุณากินข้าวของผมหน่อย ผมให้ชิมฟรีเลย เพราะอยากให้เขารู้ว่าอร่อย แล้วเราก็ไม่กลัวด้วย เพราะมั่นใจในคุณภาพ ช่วงแรกทำตลาดออนไลน์ก็ขายได้ไม่เยอะ เลยออกบูทกับหน่วยงานราชการบ้าง กรมการข้าวบ้าง จนถึงออกงานกับหน่วยงานที่สนับสนุนเรื่องข้าวเพื่อให้คนรู้จักเรามากขึ้น วิธีการออกบูท เราหุงข้าวไปให้คนที่มางานชิมกันตรงนั้นเลย พอเขารู้ว่าอร่อย ลูกค้าก็ซื้อกลับบ้านกันหมด ขายดีมากครับ เพราะเรื่องรสชาติมันหลอกกันไม่ได้อยู่แล้ว”

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจกำลังคิดตามว่า ข้าวที่ดีและอร่อยเป็นแบบไหน

ในที่นี้อาจอธิบายเรื่องรสชาติของข้าวที่อร่อยให้ทุกคนจินตนาการตามไม่ได้ (คงต้องลองซื้อไปชิมเอง) แต่สุแทนอธิบายความพิเศษของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองสุรินทร์ให้เราฟังได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้ 

Satom Organic Farm ฟาร์มสเตย์และนาอินทรีย์ของลูกชาวนาที่ชวนรู้จักข้าวพื้นเมืองสุรินทร์มากขึ้น

ข้อแรก : ลักษณะดินของจังหวัดสุรินทร์มีผลต่อการทำนา 

สุแทนบอกเราอย่างมั่นใจว่าข้าวพันธุ์เดียวกัน หากเอาไปปลูกในพื้นที่อื่น ยังไงก็ให้คุณสมบัติต่างกันอยู่ดี เพราะคุณภาพดินในแต่ละจังหวัดหรือภูมิภาคย่อมไม่เหมือนกัน

“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ เลย สมมติว่าเรากลับมาอยู่บ้านที่สุรินทร์ แต่ตัดสินใจทําสวนแอปเปิลซึ่งเป็นพืชต้องการความเย็น เราใส่แอร์เข้าไปในสวนแอปเปิล คิดว่ามันฝืนธรรมชาติไหม”

แน่นอนว่าเราตอบสุแทนอย่างทันควันว่าฝืนธรรมชาติจริง ๆ 

“อะไรที่ฝืนธรรมชาติ คุณภาพย่อมไม่ดี และต้นทุนก็สูงตามสิ่งที่เราฝืนไปด้วย เพราะฉะนั้น เราเลยเลือกปลูกเฉพาะสิ่งที่ทำได้ดีในจังหวัดสุรินทร์ คำตอบนั้นจึงเป็นข้าวพื้นเมืองของสุรินทร์ที่ไม่ว่าจะเอาเมล็ดข้าวมาโยนทิ้งโยนขว้างยังไง ต้นกล้าก็เกิดขึ้นได้เพราะเราไม่ฝืนมัน”

และนี่จึงเป็นเหตุผลที่สุแทนมักเขียนลงในเพจ Satom Organic Farm อยู่เสมอว่า 

ข้าวท้องถิ่น ไม่ว่าจะทําเมล็ดหล่นที่ไหนก็งอกงามได้ 

“ดินของสุรินทร์เหมาะกับการปลูกข้าว เพราะเป็นดินร่วนปนทราย แต่ดินภาคกลางมีความอุดมสมบูรณ์มากไป ทำให้เมล็ดข้าวแข็งและไม่หอม แม้ว่าดินร่วนปนทรายคือดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์โดยธรรมชาติ แต่กลับกัน ข้าวที่ปลูกในดินที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อธาตุอาหารในดินไม่มากพอ ทำให้ข้าวเครียดและหลั่งสารเดียวกับสารให้กลิ่นของใบเตย ดังนั้น ข้าวจากดินสุรินทร์จึงหอมและนิ่ม”

ยิ่งไปกว่าดินที่เหมาะสมกับข้าวพื้นเมือง การทำนาอินทรีย์ยังทำให้คุณภาพข้าวคับแน่น ดินยิ่งดีกับการปลูกข้าวพื้นเมืองสุรินทร์ยิ่งขึ้นไปอีก สุแทนเปรียบเทียบให้เราเข้าใจว่า หากทำนาเคมี ชาวนาต้องใส่ปุ๋ยเคมีในนาข้าว เมื่อเวลาผ่านไป ปุ๋ยเคมีสะสมในดินจนทำให้ดินเสื่อมสภาพ ในขณะที่การทำนาอินทรีย์ ปล่อยให้ระบบนิเวศทำงานด้วยตัวเอง ยิ่งทำให้ดินฟื้นฟูสภาพได้ดีขึ้น แม้ช่วงปีแรกของการทำนาอินทรีย์จะได้ผลผลิตช้า แต่ผลผลิตที่ได้มานั้นคุ้มค่าทั้งต่อตัวคนปลูกและดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน

ข้อสอง : พันธุ์พื้นเมืองสุรินทร์ที่เป็นพันธุ์ดี

พันธุ์ข้าวที่แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม (Satom Organic Farm : Surin) ใช้ เป็นข้าวพื้นเมืองที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ เพียงแต่ศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดสุรินทร์นำข้าวพื้นเมืองเหล่านั้นมาปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้น มีโภชนาการมากขึ้น 

“อย่างข้าวมะลินิลสุรินทร์ มีสารต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่และสารต้านซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล มีสารต้านโรคภูมิคุ้มกันเยอะ อย่างข้าวปะกาอำปึล มีวิจัยล่าสุดว่าเป็นข้าวที่มีกาบาสูงกว่าพันธุ์อื่น ตั้งแต่วันแรกที่เราทำนาอินทรีย์ ขอบอกเลยว่าเราขายข้าวหมดไวมาก ปกติเราปลูกข้าวช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พอถึงช่วงเมษายนข้าวก็แทบหมดเกลี้ยงแล้วครับ เพราะลูกค้าประจำติดใจข้าวของเรามาก เขากลับมาซื้อซ้ำแล้วแนะนำกันปากต่อปาก นี่จึงเป็นการสร้างตลาดข้าวพื้นเมืองของเราครับ” 

แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม จ.สุรินทร์ ฟาร์มสเตย์และนาอินทรีย์ของลูกชาวนาที่ชวนรู้จักข้าวพื้นเมืองสุรินทร์มากขึ้น

ข้าวที่เป็นได้มากกว่าข้าว

สุแทนเล่ามาถึงตรงนี้ การทำแซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม ดูผ่านปัญหาหลายด่านมาได้ แต่แน่นอนว่าเขาก็ยังเจอคงปัญหาด่านต่อไป จึงต้องขยับขยายวิธีการทำงานให้รอบด้านมากกว่าที่เคย

“เมื่อปลูกข้าวที่ไม่ได้อยู่ในกลไกตลาด เราต้องทำการตลาดเองเพื่อให้คนรับรู้การมีอยู่ของข้าวพื้นเมืองสุรินทร์ เราจัดการทุกอย่างรวมถึงจัดการข้าวหลังออกสู่ตลาดด้วย บางปีขายหมดเกลี้ยง บางปีก็ขายไม่หมดเช่นกัน เราเจอปัญหาข้าวเก่ากองในโกดัง นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ต้องคิดว่าจะทำยังไงกับข้าวเหล่านี้ดี”

สุแทนศึกษาจนค้นพบวิธีการนำข้าวเก่ามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตั้งแต่การแปรรูปเป็นน้ำมันรำข้าว เครื่องสำอาง ผงข้าวเพื่อบริโภค อาหารเสริมสุขภาพ และอีกมากมาย

แต่สุดท้าย สุแทนก็ตัดสินใจเลือกแปรรูปเป็น ‘ไวน์ข้าว’ หรือสาโทพื้นเมือง

“ภาษาราชการเรียกสาโทว่า สุราแช่พื้นเมือง (Rice Wine) เป็นเครื่องดื่มภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ วัฒนธรรมที่อยู่คู่กับสังคมเกษตรกรรมกว่าพันปี บรรพบุรุษทิ้งองค์ความรู้เอาไว้ให้แล้ว เราเลยนำมาต่อยอด เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้วไม่ให้สูญหายไป”

สาโทของที่นี่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายการค้าตั้งแต่ พ.ศ. 2561 จากกรมสรรพสามิต แต่การค้าขายสาโทก็ทำกันโต้ง ๆ ไม่ได้ เพราะสาโทพื้นเมืองถูกควบคุมไม่ให้โฆษณา ทำการตลาด หรือไม่อนุญาตให้มีการจัดลดแลกแจกแถม แล้วอย่างนี้จะนำสาโทพื้นเมืองไปขายที่ไหนได้บ้าง

“เราแก้ปัญหาด้วยการทำการท่องเที่ยวเชิงเกษตรขึ้นมา อย่างที่หนูเคยมาเที่ยวกับเพื่อน ๆ นั่นแหละ เพราะกลุ่มเป้าหมายของตลาดสาโทพื้นเมืองคือนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ”

สุแทนย้ำกับเราอีกครั้งว่าสาโทคือสิ่งที่อยู่คู่วัฒนธรรมการเกษตรมานาน แต่กลับถูกทำให้หยุดชะงักไว้ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายมากมาย จริง ๆ แล้วสาโทข้าวให้อารมณ์เหมือนเราดื่มสาเกญี่ปุ่นนั่นแหละ เพราะสาเกญี่ปุ่นก็ทำมาจากข้าวท้องถิ่นของที่นั่น

แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม จ.สุรินทร์ ฟาร์มสเตย์และนาอินทรีย์ของลูกชาวนาที่ชวนรู้จักข้าวพื้นเมืองสุรินทร์มากขึ้น

“สาเกกับสาโททำมาจากข้าวเหมือนกัน แต่แค่อยู่คนละวัฒนธรรมและใช้เทคนิคคนละแบบ แต่สาเกที่ญี่ปุ่นไม่มีการหยุดชะงักเลย สาเกได้รับการสนับสนุนจนกลายเป็นของฝากแห่งภูมิปัญญาที่พิเศษมาก สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้คือการรื้อฟื้นภูมิปัญญาที่กำลังจะสูญหายตายจากนี่แหละ

“ข้อสำคัญของการทำสาโทพื้นบ้านคือวิธีแปรรูปข้าว เราคิดว่ามันทรงอานุภาพมากที่สุดเลยนะ ถ้าเอาข้าวไปทําน้ำมันรําข้าว เราก็คัดเฉพาะรำข้าวเท่านั้น ส่วนที่เหลือของข้าวก็นำไปเป็นอาหารสัตว์ราคาถูก ในขณะที่การนำข้าวมาทำสาโท ข้าวทั้งเมล็ดจะถูกใช้อย่างหมดจดไม่มีเหลือเลย”

แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม จึงไม่ใช่แค่ชาวนาที่ทำนาอินทรีย์ด้วยข้าวพื้นเมือง แต่เป็นทั้งเจ้าของฟาร์มสเตย์ เป็นพ่อค้า เป็นผู้อนุรักษ์ภูมิปัญญา และเป็นไกด์คอยให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

“เราทำฟาร์มสเตย์ให้นักท่องเที่ยวมาพัก มาดูวิธีการปลูกข้าวนาอินทรีย์ มากินข้าวพื้นเมืองสุรินทร์ และมาดูผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวอย่างสาโท สินค้าของเราถูกเผยแพร่โดยหมู่นักท่องเที่ยวเสียกันแบบปากต่อปาก เพราะทุกอย่างของที่นี่มีดีพอที่จะทำให้คนบอกต่อกันได้” 

แน่นอนว่าตลาดของแซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม ใหญ่ขึ้น คนเริ่มรู้จักข้าวพื้นเมืองสุรินทร์เป็นวงกว้าง นักท่องเที่ยวติดใจสาโทพื้นบ้านของที่นี่ ยอดขายสาโทพุ่งทยานจาก 4,000 ขวดต่อปี สู่การส่งออกเกือบ 7,000 ขวดใน พ.ศ. 2565 และในที่สุดก็เข้าสู่โจทย์ท้าทายอีกครั้ง เมื่อข้าวออร์แกนิกพื้นเมืองขายดีจนขาดตลาด

แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม จ.สุรินทร์ ฟาร์มสเตย์และนาอินทรีย์ของลูกชาวนาที่ชวนรู้จักข้าวพื้นเมืองสุรินทร์มากขึ้น

“ข้าวของเราไม่พอมาตั้งแต่ พ.ศ. 2564 นั่นทำให้เราเริ่มต้นสร้างเครือข่ายเกษตรกรขึ้นมา เพื่อให้เขาทำนาอินทรีย์และปลูกข้าวพื้นเมืองสุรินทร์ให้กับเรา จนในที่สุดก็ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม ขึ้นมา เพื่อสร้างเครือข่ายกับคนที่อยากแปรรูปข้าวและทำการท่องเที่ยวไปกับเรา”

จากการทำนาข้าว สู่การพัฒนาข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านไทย เป็นของฝากที่แปะป้าย Made in Thailand ได้แบบไม่ขัดเขิน และข้าวยังนำไปสู่การท่องเที่ยววิถีเกษตรด้วย

“ช่วงก่อนโควิด-19 เรามีมาตรฐานการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์แบบทั่วไป เป็นการรับนักท่องเที่ยวเข้าพักค้างแรมแบบจำกัดจํานวนคน ปัจจุบันเรากำลังปรับเปลี่ยนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวเริ่มสนใจการท่องเที่ยวท้องถิ่นที่แปลกใหม่ ลึกลับ น่าค้นหา เรามองว่าคนยุคนี้ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น ในอนาคตจึงวางแผนจะทำโฮมสเตย์กับเครือข่ายในชุมชนใกล้เคียงด้วย”

จากเคยเริ่มต้นด้วยตัวคนเดียว ในวันนี้เริ่มมีคนเข้าร่วมและมองเห็นสิ่งที่สุแทนลงมือทำมากขึ้นแล้ว ซึ่งในทุกกระบวนการที่เกิดขึ้นจากไอเดียของสุแทนมอบประสบการณ์ใหม่ ๆ มอบอาชีพ และมอบก้อนความหวังในมรดกของลูกชาวนาสุรินทร์ ฝากไว้ให้ทุกคนที่ค้นพบแซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม ด้วย

“สาเหตุที่เรากลับมาอยู่บ้าน เพราะสมัยหนึ่งเคยเป็นมนุษย์ออฟฟิศ อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สูงมาก ต้องย้ายตำแหน่งนั้นที ตำแหน่งนี้ที ทั้ง ๆ ที่เรายังมีศักยภาพอีกเยอะ เราว่าคนเราก็เหมือนแบตเตอรี่ ในตอนนั้นแค่คิดว่าถ้ายังอยู่ตรงนี้ คงจะตายโดยที่แบตเตอรี่ของเรายังเต็มก้อนเลย หรืออาจจะเหมือนแบตเตอรี่ที่ตกน้ำ ทั้งที่แบตเตอรี่ยังเต็มอยู่ เราแค่ไม่อยากแก่ตายโดยที่แบตเตอรี่ยังเต็ม

“วันที่เราได้ออกมาทำสิ่งที่ใจต้องการด้วยตัวเอง ในที่สุดก็ได้ใช้พลังงานจนแบตเตอรี่หมด แต่ก็ชาร์จเพื่อใช้ใหม่ได้ และเรามีความสุขกับสิ่งที่เราทำในตอนนี้ที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งเล็กน้อยที่เราลงมือทำ กลับทรงอานุภาพต่อบุคคลอื่น ๆ ด้วย บทเรียนที่เราได้รับจากการได้ทำแซตอมมีแค่นี้เลย”

ท่องเที่ยววิถีเกษตรอินทรีย์ ที่ แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม (Satom Organic Farm : Surin) จ.สุรินทร์ นอนโฮมสเตย์ กินอาหารท้องถิ่น และจิบไวน์ข้าวพื้นเมือง
แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม (Satom Organic Farm : Surin)

Writer

Avatar

กชกร ด่านกระโทก

มนุษย์แมนนวล ผู้หลงใหลในกลิ่นและสัมผัสของหนังสือ ใช้เวลาว่างไปกับการอ่านนิยาย/มังงะ สนุกไปกับการเดินทาง และชื่นชอบในการเรียนรู้โลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์

Photographer

Avatar

ณฐวัฒน์ ตีรวัฒนประภา

อดีตนักวิชาการสาธารณสุข รักการศึกษาปรัชญา จิตวิทยา การถ่ายรูปเทคนิคใหม่ ๆ ปัจจุบันมีสตูดิโอถ่ายภาพและคาเฟ่โกโก้ในจังหวัดสุรินทร์