21 พฤศจิกายน 2023
2 K

ก่อนหนังหนึ่งเรื่องจะฉาย สิ่งที่เรามักเห็นเป็นอย่างแรกคือภาพถ่ายที่ย่อเรื่องราวสำคัญให้คนดูเข้าใจก่อน นั่นไม่ใช่การแคปฯ หน้าจอจากภาพยนตร์ แต่เกิดจากฝีมือของ ‘ช่างภาพนิ่งกองถ่าย’

15 ปี โอ๊ตโจะ ศศิดิศ จากส่วนเกินสู่ช่างภาพนิ่งผู้ถ่ายภาพหนัง-ซีรีส์ไทยมากว่า 20 เรื่อง

วันนี้เรามีนัดกับ โอ๊ตโจะ-ศศิดิศ ศศิสกุลพร ช่างภาพนิ่งประจำกองถ่าย ผู้อยู่เบื้องหลังภาพของหนังและซีรีส์ไทยมากว่า 10 ปี สร้างผลงานมามากกว่า 20 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน (พ่อสอนไว้), SuckSeed ห่วยขั้นเทพ, พี่มาก..พระโขนง, ฉลาดเกมส์โกง, ร่างทรง ไปจนถึง มนต์รักนักพากย์ หนังเรื่องล่าสุดจาก Netflix Thailand

เราชวนเขามารำลึกความหลังที่ร้าน Sorkorsor art&music cafe (ส.ค.ส) ซึ่งนอกจากอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านของเขา ยังเป็นโลเคชันถ่ายทำเรื่อง 20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น ที่โอ๊ตโจะในวันวานต้องขึ้นดาดฟ้าไปเก็บภาพ

เพราะคอลัมน์ Behind the Lens คราวนี้ จะพาคุณมาทำความรู้จักช่างภาพนิ่งกองถ่ายผ่านเรื่องเล่า Behind the Scene จากกองถ่ายหนังที่เขาเคยถ่าย

15 ปี โอ๊ตโจะ ศศิดิศ จากส่วนเกินสู่ช่างภาพนิ่งผู้ถ่ายภาพหนัง-ซีรีส์ไทยมากว่า 20 เรื่อง

บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน (พ่อสอนไว้) หนังเกี่ยวกับครอบครัวที่สร้างเสียงหัวเราะเรื่องนี้คือเรื่องแรกที่พาโอ๊ตโจะก้าวขาเข้าสู่อาชีพช่างภาพนิ่งในกองถ่าย แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาเริ่มถ่ายภาพ

กล้องตัวแรกที่เขาได้จับคือกล้องฟิล์มของคุณพ่อ กล้องตัวที่ 2 คือกล้องดิจิทัลของเพื่อนสมัย ม.ปลาย เขาเริ่มสร้างผลงานการถ่ายภาพครั้งแรกในงานกีฬาสีโรงเรียน สวยงามจนภาพเหล่านั้นถูกแชร์ไปทั่วเว็บบอร์ด

15 ปี โอ๊ตโจะ ศศิดิศ จากส่วนเกินสู่ช่างภาพนิ่งผู้ถ่ายภาพหนัง-ซีรีส์ไทยมากว่า 20 เรื่อง

โอ๊ตโจะคลุกคลีกับกองถ่ายมากขึ้นเมื่อได้เข้าเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานตั้งแต่เบื้องหลังยันเบื้องหน้า รวมถึงได้ไปถ่ายภาพเบื้องหลังในกองธีสิสเพื่อน หลังเรียนจบจึงเลือกทำในสิ่งที่ชอบด้วยการรับงานถ่ายภาพอิสระมาโดยตลอด กระทั่งได้รับคำชวนจากค่ายหนังดัง

15 ปี โอ๊ตโจะ ศศิดิศ จากส่วนเกินสู่ช่างภาพนิ่งผู้ถ่ายภาพหนัง-ซีรีส์ไทยมากว่า 20 เรื่อง

“ตอนนั้น GTH ต้องการคนมาถ่ายภาพ แล้ว พี่เจื่อน (ปนายุ คุณวัลลี) ซึ่งเป็นคนตัดต่อ เขารู้ว่าเราถ่ายรูปดีเลยแนะนำเราไป พี่เดียว (วิชชพัชร์ โกจิ๋ว) เรียกไปคุยว่าอยากให้ไปถ่ายภาพตามที่เฟรมหนังเขาถ่าย นอกนั้นคืออยากถ่ายอะไรก็ถ่ายเลย

“เราก็เอาสิ เราชอบงานถ่ายภาพอยู่แล้ว ตอนนั้นยังไม่ค่อยรู้อะไรมาก คิดแค่ได้ไปเที่ยวเล่นกองถ่ายแล้วถ่ายรูปก็โอเคแล้ว”

เราชวนเขามองดูภาพถ่ายชุดแรกของตัวเองราว ๆ 10 ปีก่อน “บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อนฯ เป็นความรู้สึกที่สดใหม่ ทุกอย่างท้าทายไปหมด แต่พอทำมานาน ๆ ก็ไม่มีความรู้สึกแบบนั้นแล้ว” เขายิ้ม

15 ปี โอ๊ตโจะ ศศิดิศ จากส่วนเกินสู่ช่างภาพนิ่งผู้ถ่ายภาพหนัง-ซีรีส์ไทยมากว่า 20 เรื่อง

SuckSeed ห่วยขั้นเทพ นอกจากเป็นหนังวัยรุ่นวงร็อกเรื่องแรกของ หมู-ชยนพ บุญประกอบ ที่ประสบความสำเร็จ ยังเป็นหนังที่พาโอ๊ตโจะให้หันมาจริงจังกับการกดชัตเตอร์ในกองถ่ายมากขึ้น

“หลังจาก SuckSeed ฉาย เราปล่อยรูปในเพจแล้วฟีดแบ็กดีมาก ถึงรู้ว่าช่างภาพกองถ่ายเป็นตำแหน่งที่ต้องอาศัยประสบการณ์ ต้องรู้จังหวะว่าเวลาไหนทำอะไรได้บ้าง เดินตาม Steadicam ก็ต้องรู้ว่าเขาจะทำอะไร คาดเดาเหตุการณ์ได้ เราเลยเริ่มเอาจริงเอาจังมากขึ้น ศึกษาด้วยตัวเองจากบล็อกของช่างภาพฝรั่งชื่อ Jasin Boland เขาถ่ายให้ Mad Max, James Bond 007, The Matrix และหนัง Netflix มากมาย เขาเป็นอาจารย์ที่ดีมาก

“อาชีพเราคือการผสมกันของการถ่ายภาพทุกประเภท เราต้องทำเป็นทุกอย่าง ทั้งถ่ายพอร์เทรต ถ่ายโปรดักต์ ต้องเซตถ่ายแบบจริงจัง ไปสตูดิโอ มีผู้ช่วย หรือถ่ายรูปครอบครัวเพื่อไปใช้ในหนัง บางทีต้องถ่ายฟุตเทจด้วย และยังต้องถ่ายวิดีโอเป็น งานเรามีทุกสเกล”

เรียกได้ว่าช่วงนั้นเป็นขาขึ้นของช่างภาพหนุ่ม เขาเล่าว่าหลังถ่าย SuckSeed เสร็จ ต้องนั่งรถกลับมาที่ GTH เพื่อขึ้นรถไปเชียงใหม่แล้วถ่ายหนังเรื่อง ลัดดาแลนด์ ต่อทันที

โอ๊ตโจะแนะนำว่าการเริ่มต้นเป็นช่างภาพนิ่งกองถ่ายนั้นต้องทำ 2 ข้อด้วยกัน หนึ่ง คือต้องหาคนใกล้ตัวทำหนัง สอง คือทำยังไงก็ได้ให้เขารู้ว่าเราถ่ายรูปดี

ผิวเผินก็เหมือนจะง่าย มี 2 ข้อแค่นี้ แต่เราว่าทั้งหมดนี้ยากอย่าบอกใคร

15 ปี โอ๊ตโจะ ศศิดิศ จากส่วนเกินสู่ช่างภาพนิ่งผู้ถ่ายภาพหนัง-ซีรีส์ไทยมากว่า 20 เรื่อง
15 ปี โอ๊ตโจะ ศศิดิศ จากส่วนเกินสู่ช่างภาพนิ่งผู้ถ่ายภาพหนัง-ซีรีส์ไทยมากว่า 20 เรื่อง

นี่คือภาพจากเรื่อง พี่มาก..พระโขนง ที่ถูกนำไปใช้เยอะที่สุด ความจริงแล้วเบื้องหลังของฉากนี้ในหนังคือการถ่ายจากบ้านของมากที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ แต่โอ๊ตโจะเลือกนั่งเรือมาบ้านแม่นาก เพื่อให้ได้ภาพใกล้ที่สุด 

“คิดว่าถ้าอยู่หน้ากองตรงนั้นคงไม่ได้ภาพ เราอยากได้ภาพที่เห็นความสัมพันธ์ของพี่มากและนากที่ลึกซึ้ง หนังต้องการสิ่งนี้ แล้วพอเป็นภาพ Close-up มันก็ดีกว่ามาก ๆ

15 ปี โอ๊ตโจะ ศศิดิศ จากส่วนเกินสู่ช่างภาพนิ่งผู้ถ่ายภาพหนัง-ซีรีส์ไทยมากว่า 20 เรื่อง

“รูปนี้คือเราถ่ายในฉาก แล้วต่อมา พี่โต้ง (บรรจง ปิสัญธนะกูล) ผู้กำกับมาเห็น เขาเลยถ่ายใหม่ตามเฟรมของเรา”

ภาพถ่ายจากหนังเหล่านี้ไม่ได้ได้มาเพราะความบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจของช่างภาพที่เข้าใจบทหนังเป็นอย่างดี ก่อนจะไปลุยแชะภาพในกอง เขาต้องอ่านบททั้งเล่มเหมือนที่นักแสดงอ่านกัน เพื่อจะได้รู้ว่าอะไรสำคัญในเรื่อง และพยายามหาแง่มุมที่แตกต่างจากที่คนดูเห็นในหนัง แม้ผู้กำกับจะไม่ได้ขอให้เขาทำก็ตาม

“อาชีพเราต้องอาศัยแพสชันมาก เราถามตัวเองว่าทำไมต้องออกไปถ่ายสิ่งนี้ เพราะเราอยากได้รูปดี ๆ แบบนี้ เราเลยถ่าย”

15 ปี โอ๊ตโจะ ศศิดิศ จากส่วนเกินสู่ช่างภาพนิ่งผู้ถ่ายภาพหนัง-ซีรีส์ไทยมากว่า 20 เรื่อง

แต่การจะได้มาซึ่งภาพเบื้องหลังที่มีความเป็นธรรมชาติ แน่นอนว่าหนึ่งในความสามารถที่ต้องมี คือการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ถ้าเข้าถึงนักแสดงได้ ก็จะได้เห็นมุมสบาย ๆ ของพวกเขา 

แต่ช่างภาพพูดน้อยมีวิธีการทำงานที่ต่างออกไป “เราไม่ถนัดการทำแบบนั้น เราชอบโมเมนต์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ผ่านการสังเกตการณ์ภาพรวมมากกว่า”

อย่างรูปแก๊งเพื่อนพี่มากรูปนี้ เขาเล็งเห็นถึงความย้อนแย้งของการเล่นมือถือในชุดไทย สนุกมากเสียจนต้องหยิบกล้องขึ้นมาถ่าย เป็นโอกาสที่ถ้าไม่สังเกตก็คงพลาดไปอย่างน่าเสียดาย

ใน 1 วันของการไปออกกอง โอ๊ตโจะเผยว่าเขากดถ่ายเฉลี่ยวันละ 1,000 รูป

15 ปี โอ๊ตโจะ ศศิดิศ จากส่วนเกินสู่ช่างภาพนิ่งผู้ถ่ายภาพหนัง-ซีรีส์ไทยมากว่า 20 เรื่อง

แม้จะใช้กล้อง แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของทีมกล้อง เขารู้สึกว่าเป็นทีมโปรโมตมากกว่า เพราะบางครั้งรูปที่ถ่ายออกมาก็ไม่ได้มีในหนัง เช่นรูปนี้จากหนังเรื่อง HOMESTAY 

“ซีนนี้ในหนังคือ 2 คนดูพลุงานลอยกระทง กองหนังถ่ายตัวอย่างทำแสงพลุกันง่าย ๆ ที่ลานจอดรถ เพื่อเอาไปทำ CG ทีมอาร์ตใช้พลุดอกเล็ก ๆ แต่ถึงจะถ่ายไปเป็นเรเฟอร์เรนซ์ แต่นักแสดงก็เล่นกันเต็มที่เหมือนถ่ายจริง เราเห็นว่าจริง ๆ แล้ว ในมุมของภาพนิ่ง มันจบในช็อตเดียวได้ ไม่ต้องไปรีทัช เลยลงมือถ่ายด้วยการลากสปีดชัตเตอร์ จบออกมาเป็นรูปนี้ ที่สุดท้ายได้ใช้เป็นปก Photobook เลย”

นอกจากวิธีการถ่ายภาพที่น่าสนใจแล้ว อุปกรณ์อื่น ๆ ของช่างภาพนิ่งกองถ่ายก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะชัตเตอร์เงียบ ซึ่งช่วยให้เขาพรางตัวตอนถ่ายภาพอย่างแนบเนียนที่สุด หรือถ้าเป็นหนังแอคชัน ก็ต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ที่ครอบหูกันเสียง เป็นต้น

15 ปี โอ๊ตโจะ ศศิดิศ จากส่วนเกินสู่ช่างภาพนิ่งผู้ถ่ายภาพหนัง-ซีรีส์ไทยมากว่า 20 เรื่อง

หนึ่งในรูปโปสเตอร์เรื่อง DELETE เซตนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตด้วยเหมือนกัน เขาเล่าว่าตอนแรกมีแค่โจทย์มาให้ว่าอยากได้รูปนักแสดงถือโทรศัพท์ แต่พอไปหน้ากองถ่ายจริง เขาเห็นว่าเฟรมนี้ดีพอที่จะเป็นโปสเตอร์ได้ จึงเอาไปให้ทีมโปรโมตดู เลยกลายเป็นอีกหนึ่งคอนเซปต์ของโปสเตอร์อย่างที่เราเห็นกัน

โอ๊ตโจะบอกว่าอาชีพเขาควบคุมภาพที่อยู่หน้ากองไม่ได้ขนาดนั้น ถ้าอยากใส่ความเป็นตัวเองเพิ่มจะทำได้หน้าคอม นอกจากต้องจับจังหวะให้แม่นยำเพื่อได้ช็อตที่สวยงามแล้ว เขายังเป็นนักแต่งรูปมือฉมัง

“ในกองถ่าย เราควบคุมคนอื่นไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของเขา เลยไปปลดปล่อยที่หน้าคอมตัวเอง ขั้นตอน Post-production ใส่ความเป็นเราได้เยอะมาก ถ้าเป็นโปรดักชันใหญ่ก็จะมีตำแหน่ง Editor คอยจัดการรูปทั้งหมด โดยเราก็ทำภาพตัวอย่างให้เขาดู เพราะคนอยู่หน้าคอมไม่รู้หรอกว่าคนหน้ากองต้องการอะไร”

มาถึง มนต์รักนักพากย์ เรื่องล่าสุดที่เพิ่งเข้าฉายไปได้ไม่นาน ความสนุกของการไปออกกองเรื่องนี้ คือการเซตฉากให้เป็นยุค 70 ราวกับได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดในยุคนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องถ่ายหลบสิ่งที่เป็นปัจจุบันด้วย 

“เราพยายามจะถ่ายในกองให้มีรถเป็นพื้นหลังแล้วเห็น 4 คนนี้นั่งอยู่ แต่ทำไม่ได้ เพราะต้องเปิดอีกคิวเพื่อเซตฉาก แค่ถ่ายหนังก็แน่นแล้ว

“เราเป็นส่วนเกินในกอง เพราะไม่มีเราเขาก็ถ่ายหนังกันเสร็จ แล้วโปรโมตเลยก็ได้ (ไม่ต้องใช้ภาพนิ่ง) แต่จะดีกว่าถ้ามีเรา ไฟล์ภาพเราดีกว่าการแคปเจอร์จากหนังแล้วมี Motion Blur เราปรับสีได้เยอะกว่า เราได้มุมแบบที่ไม่มีในหนัง”

“มุมที่เบสิกที่สุดที่เราชอบถ่ายหน้ากอง คือมุมเดียวกันกับกล้องหนัง (ข้างกล้องหนัง) แต่หลาย ๆ ครั้งมันเป็นมุมสุดท้ายที่ทำงานได้ ซึ่งจุดที่ยืนจะทับกันกับไมค์บูมเสมอ” เขาหัวเราะ 

“โมเมนต์ที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพคือตอนที่กล้องรันอยู่ พอสั่งคัตก็จะไม่สมบูรณ์แล้ว เซตถ่ายทีหลังก็จะยุ่งยาก ทุกคนต้องไปถ่ายช็อตอื่นกันต่อแล้ว มู้ดที่อยากได้ก็จะไม่สมบูรณ์แบบที่ควรจะเป็น”

รูปโปสเตอร์สุดคลาสสิกที่เราเห็นก็มาจากรูปที่เขาถ่ายเช่นเดียวกัน ความพิเศษของโปสเตอร์เรื่องนี้คือการนำภาพนิ่งที่เขาถ่ายมาตัดเฉพาะหน้านักแสดงประกอบรวมกัน แล้วนำไปวาดใหม่โดย อาจารย์บรรหาร ไทธนบูรณ์ ให้มีความย้อนยุคเข้ากับเรื่อง

ก่อนจะจากกัน เราถามเขาเรื่องของวงการช่างภาพกองถ่ายในปัจจุบัน เพราะถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อน คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักตำแหน่งช่างภาพนิ่งในกองถ่ายเท่าไหร่นัก นั่นเป็นเพราะว่ามีคนทำหน้าที่นี้เพียงไม่กี่คน แต่ในปัจจุบันคนเริ่มเยอะขึ้น การแข่งขันเริ่มสูงขึ้น สิ่งหนึ่งที่เขาทำคือการรักษามาตรฐานของตัวเอง

“อาชีพนี้เลือกกันด้วยผลงาน เพราะแต่ละเรื่องมีช่างภาพได้แค่คนเดียว ทำให้งานเราดีที่สุดทุกงานก็พอ”

“การจะได้ภาพที่ดี ต้องพาตัวเราไปอยู่ให้ถูกที่ ถูกเวลาก่อน ถ้าทำได้ก็เหลือแค่กดชัตเตอร์แล้ว” 

Writer

เกวลิน สรรพโรจน์พัฒนา

เกวลิน สรรพโรจน์พัฒนา

ติดกาแฟ ชอบแชร์เรื่องคน หลงรักเกาะเต่า ความฝันคือการเป็น Newyorker

Photographer

Avatar

ณัฐวุฒิ เตจา

เกิดและโตที่ภาคอีสาน เรียนจบจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ สนใจเรื่องราวธรรมดาแต่ยั่งยืน ตอนนี้ถ่ายภาพเพื่อเข้าใจตนเอง ในอนาคตอยากทำเพื่อเข้าใจคนอื่นบ้าง