sarr.rai (สา-หร่าย) 

อ่านชื่อแบรนด์แวบแรกใครจะรู้ว่านี่คือแบรนด์จิวเวลรี!

สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู แหวนเงินที่ประดับมุกและลูกแก้วเหล่านี้ เกิดจากความตั้งใจของ กอล์ฟ-อภิสรา ศิริวัฒน์โยธิน และ แจม-ภิญญาพัชญ์ งามพินิจพล สองเพื่อนซี้ซึ่งแบ่งเวลาว่างมาลงใจลงแรงกับ ‘sarr.rai’ และเหตุผลที่ใช้ชื่อนี้ เพราะสาหร่ายเป็นพืชที่ไม่มีรูปทรงตายตัว พลิ้วไหว เป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืนในระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเป็นพืชที่รักษาสมดุล เช่นเดียวกับตัวตนของแบรนด์

“เราอยากทำอะไรสักอย่างที่ไม่สร้างภาระให้คนอื่น เลยเลือกทำสิ่งที่เป็นมิตรกับทุกฝ่าย”

สาหร่าย นิยามตนเองว่าเป็น Alternative Jewelry ทำเครื่องประดับจากวัสดุ Upcycle เสมือนฟื้นชีวิตให้วัสดุไม่ใช้แล้วกลับมาสดใสและเฉิดฉายอีกครั้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกของวงการจิวเวลรี

เงิน 92.5 แก้ว และมุก คือ 3 วัสดุที่เธอเลือก เพราะกระบวนการทำเครื่องเงินจบกระบวนการได้ในตัวเอง ดัด เชื่อม หลอมใหม่ได้ แก้วมาจากขยะเหลือใช้ และมุกคือวัสดุที่ย่อยสลายได้

สิ่งนี้คือความท้าทายสำหรับทั้งคู่ เป็นไปได้ไหมถ้าจะใช้แค่วัสดุ 2 – 3 ชนิดให้ตอบโจทย์ดีไซน์ 

“เราไม่มีองค์ความรู้เรื่องนี้เลยนะ เริ่มต้นจากศูนย์จริง ๆ” แจมเสริมในฐานะผู้อยู่กับคราฟต์มาทั้งชีวิต เพราะครอบครัวของเธอทำโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า บวกกับความชอบส่วนตัวที่แจมชอบทำของกระจุกกระจิกยามว่าง แต่สำหรับเครื่องประดับเงินนั้น เป็นเรื่องใหม่ทั้งสำหรับเธอและกอล์ฟ

ในตอนแรกทั้งคู่ตั้งใจว่าจะทำกันเองจากสองมือคู่นี้

แต่งานเงิน-งานเจียระไนพลอย มีรายละเอียดอีกมาก การทำงานร่วมกับช่างฝีมือจึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์มากกว่า ซึ่งช่างที่ทำงานกับสาหร่ายก็มาจากการรู้จักกันระหว่างเพื่อนของเพื่อน

สาหร่ายจึงเกิดขึ้น

“เราขอบคุณเขามาก ๆ ที่มาทำสิ่งนี้ร่วมกันกับเรา”

งานฝีมือไม่ใช่แค่ฝึกฝน พรสวรรค์ก็สำคัญ “เราต้องให้ค่าตรงนี้ กว่าจะออกมาเป็นแหวน 1 วง ไม่ใช่แค่มีวัสดุ แต่ต้องมีความคิด มีฝีมือ ซึ่งมีกระบวนการความคิดสร้างสรรค์อยู่ตรงนั้น” แจมย้ำ

เบื้องหลังการสร้างสรรค์เครื่องประดับ เกิดจากฝีมือของบรรดาช่างครูผู้อยู่กับเครื่องเงินมาทั้งชีวิต

ผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นจึงจะประกอบอาชีพช่างเงินได้ และช่างเงินในชุมชนเจริญกรุงซอย 1 ต่างรับภูมิปัญญาต่อ ๆ กันมาจากครอบครัว ทำตั้งแต่เงิน ทอง ทองคำขาว ทองเหลือง นาก โรเดียม สเตนเลส ซึ่งช่างเงินแต่ละคนมีความถนัดทางฝืมือ เทคนิค สารเคมี และน้ำประสานแตกต่างกันด้วย

คุณพลอย คือทายาทรุ่นสอง จิวเวลรีดีไซเนอร์ผู้สืบทอดกิจการของครอบครัว คอยให้คำแนะนำด้านเทคนิค เครื่องเงินโบราณ มาปรับให้เข้ากับสไตล์ของแบรนด์ และอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่อยู่ในผลงานของสาหร่าย คือลูกแก้วจากชมรมบ้านเจียระไนพลอย จากฝีมือของช่างที่มีประสบการณ์กว่า 30 ปี

ชมรมบ้านเจียระไนพลอย ไม่ได้ทำแค่เจียพลอยหรือเจียแก้วเพื่อขายเท่านั้น แต่ที่นี่คือศูนย์เรียนรู้ที่พร้อมต้อนรับผู้สนใจ เปิดสอนทุกวัน ถ้าเรียนแล้วสนใจทำงานต่อ ก็เริ่มงานและมีอาชีพได้ทันที

วัสดุที่สาหร่ายได้จากบ้านเจียระไนพลอยคือ ‘ลูกแก้ว’ นำขวดแก้วเหลือใช้ (โปรเจกต์ร่วมกับ all kinds จาก theCOMMONS ทองหล่อ) มาเจียจนออกมาเป็นจี้ ซึ่งคล้ายลูกแก้วอย่างที่พวกเธอตั้งใจ

โดย อาจารย์สุรเดช หวังเจริญ ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนชมรมบ้านเจียระไนพลอย (BAANPLOY) คือผู้ตัดสินใจทำงานร่วมกันกับสาหร่ายตั้งแต่วินาทีแรก เพราะทั้ง 3 คนมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน มีโปรเจกต์สนุก ๆ ที่อยากทำด้วยกัน และมีวิสัยทัศน์ไปในทิศทางเดียวกันด้วย

“เราอยากให้เครื่องเงินไทยและคุณภาพชีวิตของช่างมีคุณค่ามากกว่านี้”

ใน 1 วัน ช่างต้องนั่งใช้สายตาอยู่หน้าเครื่องจักร หน่วยเวลาเดียวกันกับคนทำงานออฟฟิศ 

“เราอยากให้ช่างฝีมือได้อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีแสงไฟทั่วถึงเพียงพอ เลี่ยงจากสารเคมี และมีพื้นฐานที่ดีในการทำงาน โดยต้องไม่กระทบต่อสุขภาพร่างกายของเขาด้วย”

สิ่งนี้ดูเป็นปัจจัยพื้นฐาน แต่แปลกที่บางส่วนยังไม่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมช่างฝีมือ

และเมื่อเทียบความเหมาะสมระหว่างค่าแรงกับเนื้องาน ช่างต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

ปัจจุบันแทบไม่เห็นช่างฝีมือที่อายุน้อย เราควรตั้งคำถามว่าทำไมคนรุ่นใหม่ไม่มองอาชีพนี้เป็นตัวเลือกต้น ๆ ในการทำงาน มีช่างทอผันตัวไปเป็นแม่บ้านเยอะมาก นี่อาจเป็นวิกฤตที่ว่าผู้สืบทอดภูมิปัญญาต้องเลิกทำ เพราะเวลาในการทำงานไม่คุ้มกับรายได้และไม่เอื้อต่อพื้นฐานการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“ส่วนใหญ่ช่างเป็นคนท้องถิ่น เป็นคนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ไม่ใช่คนที่มีบทบาทในสื่อเพื่อเพิ่มมูลค่าให้งานตัวเองได้ ยิ่งเป็นช่างในต่างจังหวัด ยิ่งน้อยมากที่สื่อจะมองเห็น นี่เลยเป็นภารกิจหนึ่งของเรา”

กอล์ฟเล่าหนึ่งในความตั้งใจของสาหร่าย เมื่อพวกเธอมีสื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการขาย และมีโอกาสปรากฏบนสื่อหลายครั้ง จึงหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดถึงทุกครั้ง เพราะนี่คือเรื่องสำคัญ

เช่นเดียวกับความคิดของแจม

“เราอยากให้เครื่องเงินไทยมีคุณค่ามากกว่านี้ ช่างมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้”

“ถ้าระบบพื้นฐานดี ช่างจะมีความฝันมากกว่านี้ จากทักษะที่เขามี”

“เหมือนชีวิตหมุนวนไป ตัวเขาแทบไม่มีเวลาคิดเลยว่าดีไซน์คืออะไร” เพราะทำปริมาณมาก ช่างก็จะได้เงินมาก นี่คือสิ่งที่พวกเขายึดมั่นและเป็นจริงในปัจจุบัน เรื่องการทำงานออกแบบที่ต้องคิดและประณีตในรายละเอียดมากขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญรองลงมา เพราะสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับรายได้ของเขา

ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่จะเป็นพลังงานดี ๆ ให้เหล่าบรรดาแม่ ๆ คือการที่พวกเขาได้เห็นความเป็นไปในผลงานตัวเอง กอล์ฟและแจมจึงมักนำฟีดแบ็กของสินค้ากลับไปเล่าให้ช่างฝีมือฟังทุกครั้ง ให้ช่างเห็นว่างานของเขาขายที่ไหน ขายให้ใคร ไปไกลถึงไหน ให้เขาได้เห็นคุณค่าและเกิดความภูมิใจในฝีมือตนเอง

“เราตั้งคำถามกับพาดหัวข่าว เช่น สินค้าขายหมดวันเดียวที่ประเทศฝรั่งเศส ทำไมขายในประเทศไม่ได้ ทำไม เกิดอะไรขึ้น” – การตั้งคำถามคือขั้นตอนแรกของการสร้างความเปลี่ยนแปลง 

หรือเพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของงานฝีมือ

ด้วยสินค้างานคราฟต์มีราคาสูงกว่าสินค้าในท้องตลาด ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มต้องใช้หลายเหตุผลประกอบในการตัดสินใจซื้อ แต่ในมุมมองของคนทำ รายได้ที่ถึงมือช่างกลับไม่มากพอ

นี่เลยเป็นเรื่องที่ควรตั้งคำถามและหาคำตอบ พร้อมหาวิธีแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

“มองในมุมผู้ประกอบการเชิงธุรกิจ หลายเจ้าคงคาดหวังให้ลูกจ้างทำงานเช้าจรดเย็นเพื่อให้ได้สินค้า โดยลืมคิดไปว่าพวกเขามีเวลาไปกินข้าวกับเพื่อนบ้างไหม หรือมองว่าการออกไปกินกาแฟของช่างเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย ไม่โปรดักทีฟ” ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่ามุมมองนี้เกิดขึ้นตามกลไกของการทำธุรกิจ

“แต่จริง ๆ ชีวิตต้องเป็นแบบนั้นนะ ถึงจะเป็นช่างหรือเป็นใครก็ต้องมีเวลาใช้ชีวิต”

“เราอยากให้เครื่องประดับยืดอายุออกไปให้ได้นานที่สุด”

‘ใส่สร้อยเส้นนี้ทุกทริปเลย เบื่อแล้ว’ ถ้าใครซื้อจิวเวลรีจากสาหร่ายไม่ต้องกังวลกับความเบื่อหน่ายนี้เลย เพราะแบรนด์รับซ่อมและแปรรูปให้เครื่องประดับของทุกคนกลับมาเป็นชิ้นโปรดอีกครั้ง

“ถ้าสินค้ามีปัญหา เราซ่อมให้ เพราะอยากให้เครื่องประดับยืดอายุออกไปได้นานที่สุด” แจมเล่า

ไม่ว่าจะซื้อไปนานแค่ไหนก็นำกลับมาได้เสมอ นี่คือสิ่งที่กอล์ฟและแจมบอกกับลูกค้า การฟื้นชีวิตของสิ่งเดิมขึ้นมา 1 ชิ้น เท่ากับลดขยะไปได้อีก 1 ชิ้น นั่นเพราะเธอทั้งคู่เชื่อว่า ถ้าเป็นสิ่งที่ลูกค้าชอบ ลูกค้าประทับใจที่สุด เขาจะหยิบมาใส่เรื่อย ๆ นั่นเป็นความยั่งยืนที่แบรนด์อยากให้เกิดขึ้น

นอกจากขายดีไซน์ในแต่ละคอลเลกชัน สาหร่ายยังรับทำเครื่องประดับ Custom-made ด้วย 

“มีลูกค้ามาให้ทำแหวนแต่งงาน เพราะเขาอยากได้พลอย Upcycle ที่เราทำ”

กอล์ฟพูดถึงโมเมนต์ประทับใจที่เป็นส่วนหนึ่งในวันสำคัญของลูกค้าด้วยแววตาเป็นประกาย

“หรือจริง ๆ ถ้าอยากได้เพชร เราก็ทำให้ได้นะ” แจมเสริม จริง ๆ แล้วแบรนด์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วัสดุ 3 ประเภท ถ้าลูกค้าอยากได้สิ่งไหนขอแค่บอก ทั้งคู่พร้อมรังสรรค์ขึ้นมาใหม่ให้ได้ทั้งหมด

“เราเซอร์ไพรส์เหมือนกันที่มีลูกค้าเอาสร้อยพระมาให้ทำ อยากให้เราปลุกเสกให้ด้วย (หัวเราะ) ซึ่งขั้นตอนปลุกเสกอาจเกินความสามารถเราไปหน่อย สุดท้ายลูกค้าก็ได้สร้อยกลับบ้าน แฮปปี้”

ลูกค้าของสาหร่ายมีทั้งแวะมาซ่อม กลับมาสั่งทำ กลับมาซื้อซ้ำ บางคนกลับมาเล่าเรื่องให้ฟัง

“เคยมีลูกค้ามาบอกเราว่า เนี่ย วันนี้ใส่สร้อยของสาหร่าย เท่ากับว่าวันนี้ไม่ใช้พลาสติกเลย แต่เราก็บอกเสมอว่ามันไม่มีหรอกกรีน 100% แค่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ก็เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว”

“แต่เราดีใจมาก ๆ ที่สิ่งนี้เกิดขึ้น ที่สารของเราส่งถึงลูกค้าจริง ๆ”

ด้วยความยั่งยืนหลายวงจรที่เกิดขึ้นของสาหร่าย ทำให้ขยะที่เหลือทิ้งแทบเป็นศูนย์

ทั้งคู่เล่าว่าเคยมีคนมาขอซื้อเศษมุกที่เหลือตลอด 4 ปีที่ทำมา แต่

“เรามีอยู่กระป๋องเท่านี้เองมั้ง เท่านี้เลย” กอล์ฟเล่าปนขำพร้อมกับชี้กระป๋องใบใกล้ตัวที่สุดให้ดู ขนาดความสูงน้อยกว่า 1 ไม้บรรทัดซะอีก ซึ่งขยะของสาหร่ายเหลือเท่านี้จริง ๆ อย่างที่เธอว่า

“เราอยากให้คุณภาพชีวิตที่ดีกระจายทั่วถึง ‘ทุกคน’ ”

เครื่องประดับเงินที่ยั่งยืน คือหนึ่งในความตั้งใจ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะสิ่งที่กอล์ฟและแจมปรารถนาให้เกิดมากที่สุด คือ ‘คอมมูนิตี้ของความยั่งยืนที่มีเครื่องประดับเป็นตัวเชื่อม’

“สาหร่ายไม่ได้ทำจิวเวลรีเพื่อผลักดันด้านสิ่งแวดล้อม แต่เราพยายามผลักดันเรื่องผู้คน การเมือง สังคม เพราะเราคิดว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน” กอล์ฟและแจมเห็นลูปการทำงานที่ชัดเจนมาก เพราะพวกเธออยู่ตรงกลางระหว่างคนทุกชนชั้น ตั้งแต่แรงงานไปจนถึงคนที่มีกำลังซื้อสูง ๆ

เธอทั้งคู่เห็นชีวิตที่ต่างกันมาก – “เราอยากให้คุณภาพชีวิตที่ดีกระจายทั่วถึงทุกคน”

สาหร่ายเคยทำแคมเปญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม นำขยะจากเปลือกหอยไปเลี้ยงปู สุดท้ายแล้วไม่พบผลลัพธ์ในทางบวก เพราะมีปริมาณน้ำไหลทิ้งเป็นจำนวนมากจากการล้างเปลือกหอย ตามมาด้วยค่าน้ำที่พุ่งกว่าทุกเดือน และช่วยปูเสฉวนได้แค่ครั้งสองครั้ง ผลที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียงระยะสั้นอย่างที่แจมเล่า

“เราต้องคิดดี ๆ หากต้องทำอะไรขึ้นมาสักอย่างว่าทำไหวจริง ๆ ไหม อย่างตอนล้างเปลือกหอยกัน 2 คน มันเหนื่อยเกินไปและเปลืองน้ำมาก ๆ เราว่าสิ่งที่เราทำนั้นไม่เกิดความยั่งยืน” 

“เรารู้แล้วว่าต้องเลือกสิ่งที่ทำได้ตลอดไปและทำแล้วต้องมีความสุข” แจมเห็นด้วยกับกอล์ฟ

สาหร่ายเลยโตมาแบบช้า ๆ และค่อย ๆ ก้าว จนเข้าสู่ปีที่ 4

“เราว่าช้า ๆ ก็ดีนะ” ในยุคที่ทุกอย่างอาศัยความเร็ว แต่สำหรับกอล์ฟ เธอพอใจในความช้าของสาหร่าย “ถ้าเราทำแล้วโตเร็วมาก บางทีเราอาจจะข้ามบทเรียนบางอย่างไป การเดินทางเหมือนเล่มเกม ยังจำวันแรกที่ออกบูท เหมือนพูดวนเป็นโทรโข่งเลย จนมีพัฒนาการ มีหน้าร้าน มีออกบูทต่างประเทศ” 

เช่นเดียวกับความเห็นของแจม

“เราพอใจมากแล้ว มีหลายอย่างที่เบี่ยงเราไปนู่นไปนี่ แต่เรามั่นคงกับความเชื่อของเรา

“ต้องขอบคุณที่พวกเราชัดเจนและไม่หักเห”

ทั้งหมดทั้งมวลที่ทั้งคู่และทีมทำ เพราะต้องการให้แสงจากสื่อเข้าถึงช่างชุมชนมากกว่านี้ 

“ไม่ใช่ว่าคนอื่นเรียนรู้ เราเองก็ได้เรียนรู้ไปด้วย” พวกเธอทิ้งท้าย หลังจบจิบสุดท้ายของกาแฟ ก่อนบทสนทนาบนโต๊ะจะจบลง และเราต่างแยกย้ายไปทำสิ่งที่เหลือค้างของตัวเองกันต่อ

Writer

Avatar

ปิยฉัตร เมนาคม

หัดเขียนจากบันทึกหน้าที่ 21/365 เพิ่งค้นพบว่า สลัดผักก็อร่อย หลงใหลงานคราฟต์เป็นชีวิต ของมือสองหล่อเลี้ยงจิตใจ ขอจบวันง่าย ๆ แค่ได้มองพระอาทิตย์ตกจนท้องฟ้าเปลี่ยนสี วันนั้นก็คอมพลีทแล้ว

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล