The Cloud x ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ศูนย์สันติภาวัน’ เป็นสถานพำนักสงฆ์อาพาธระยะท้าย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๖๓ มาถึงวันนี้ ศูนย์แห่งนี้ตั้งมากว่า ๓ ปีแล้ว สถานที่ตั้งอันเงียบสงบ สวยงาม เหมาะกับการใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายก่อนลาจากนี้ ตั้งอยู่ที่ตำบลทรายขาว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี โดยมี พระอาจารย์วิชิต ธมฺมชิโต เป็นผู้อำนวยการศูนย์สันติภาวัน

ช่วงบ่ายวันฝนตกวันหนึ่ง พระอาจารย์วิชิต พูดคุยเรื่องราวที่เชื่อว่าหลายคนไม่เคยรู้ หลายคนเคยได้ยินแต่ ‘ไม่กล้า’ เปิดใจฟังและทำความเข้าใจ เพราะเรื่องที่คุยขอความรู้จากท่านไล่เลียงตั้งแต่ภารกิจแห่งศิษย์ตถาคตว่าด้วยการดูแลพระอาพาธไปถึงเรื่องประคับประคองจิตในระยะท้ายของชีวิตและการทำความรู้จัก ‘ความตาย’

สนทนาธรรมกับ พระอาจารย์วิชิต ธมฺมชิโต แห่ง 'สันติภาวัน' ถึงความสงบ ความงาม และการจากลา พร้อมก้าวข้ามความกลัวไปเรียนรู้ความตาย
พระอาจารย์วิชิต ธมฺมชิโต

“ที่นี่มีพื้นที่ ๑๕ ไร่ เป็นที่ที่โยมซึ่งเป็นญาติกันบริจาคให้ ทีแรกว่าจะไม่รับนะ เพราะไกลจากวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ ที่เป็นแหล่งทรัพยากร พอพาเพื่อน ๆ มาดู ทุกคนบอกสวยงาม มาเถอะ จะมาช่วย” พระอาจารย์วิชิตทบทวนความหลังเรื่องที่มาของสถานที่แห่งนี้ให้ฟังดังนั้น

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓ จากสวนลำไยของผู้มีจิตศรัทธา จึงกลายเป็นศูนย์สันติภาวัน

‘สันติภาวัน’ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ เป็นผู้ตั้งชื่อให้

“คำว่า สันติ แปลว่า สงบ และทางพุทธศาสนามีความหมายสูงสุดว่า นิพพาน คำว่า ภาวัน มาจาก ภาวนา แปลว่า พัฒนา เพิ่มพูน ฉะนั้น สันติภาวัน หมายถึง เพิ่มพูนความสันติและความสงบจากกิเลส เพื่อนำไปสู่สิ่งสูงสุด นั่นคือนิพพาน” พระอาจารย์แปลความหมาย ดูเรียบง่ายแต่แฝงความหมายลึกซึ้ง

สนทนาธรรมกับ พระอาจารย์วิชิต ธมฺมชิโต แห่ง 'สันติภาวัน' ถึงความสงบ ความงาม และการจากลา พร้อมก้าวข้ามความกลัวไปเรียนรู้ความตาย

แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้พระอาจารย์วิชิตลงมือทำสถานพำนักสงฆ์อาพาธมาจากประสบการณ์ส่วนตัว ตั้งแต่สมัยบวชที่เมืองนนท์ฯ ซึ่งใกล้บ้านพระอุปัชฌาย์ที่ชราและล้มป่วยจนต้องไปโรงพยาบาล ทำให้ท่านเห็นปัญหาการดูแลพระอาพาธ เพราะหมอพยาบาลถามว่าจะดูแลอย่างไร เนื่องจากพระมีศีลมีวินัยที่ต้องรักษา แต่เมื่ออยู่ในการดูแลของผู้ที่มิใช่พระด้วยกันก็ยากที่จะรักษาวินัยให้ถูกต้อง พระอาจารย์วิชิตซึ่งมีประสบการณ์ทำงานโรงพยาบาลและเคยเขียนหนังสือ จึงเขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่ง ชื่อ การดูแลพระภิกษุอาพาธในโรงพยาบาล เพื่อเผยแพร่ความรู้วิธีการดูแลพระอาพาธที่ถูกต้อง

หลังจากหนังสือเผยแพร่ออกไป ท่านได้ไปร่วมประชุมตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทำให้ยิ่งเห็นปัญหา เช่น มีนักสังคมสงเคราะห์ยกมือถามว่า ถ้าหลวงพ่อจะสึกพระ ต้องทำยังไง เขาบอกว่า พระท่านป่วยติดเตียง พอนานเข้าโรงพยาบาลใหญ่ต้องการเตียงเลยต้องส่งไปศูนย์สงเคราะห์คนไร้บ้าน ซึ่งที่นั่นเขาไม่รับพระ จึงต้องสึกพระก่อน แต่พอบอกพระ ท่านก็ไม่อยากสึก เพราะยังอยากอยู่ในผ้าเหลือง

เรื่องนี้ติดค้างอยู่ในใจพระอาจารย์วิชิต จนอุปัชฌาย์มรณะภาพ พระอาจารย์วิชิตกลับไปจำพรรษาที่วัดป่าสุคะโต จึงนำเรื่องนี้ปรึกษาพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ถึงความคิดจะทดลองทำสถานพำนักดูแลสงฆ์อาพาธ และกลายเป็นโครงการทดลองที่เริ่มจากแนวคิดเล็ก ๆ กลายมาเป็นโครงการใหญ่ในทุกวันนี้

สนทนาธรรมกับ พระอาจารย์วิชิต ธมฺมชิโต แห่ง 'สันติภาวัน' ถึงความสงบ ความงาม และการจากลา พร้อมก้าวข้ามความกลัวไปเรียนรู้ความตาย

ผมถามพระอาจารย์ว่า เหตุผลสำคัญและความหมายของการทำศูนย์สันติภาวันคืออะไร

“เพราะจำเป็น มันอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องทำแล้ว และอยู่ในฐานะที่พอจะทำได้ ถ้าเราไม่ทำ ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข และต้องทำเป็น Live Long Project (โครงการระยะยาว)” พระอาจารย์ทวนความหลังว่า “วัดป่าสุคะโตเป็นพื้นที่ทดลอง พอทำได้เกือบปี โยมทางเมืองจันท์ฯ บอกว่าจะถวายพื้นที่ให้ ๑๕ ไร่ เพราะตั้งใจจะอุทิศให้ศาสนา ยิ่งพอฟังแนวคิดจากพระอาจารย์วิชิตจึงเกิดศรัทธา”

สันติภาวันไม่ใช่สถานที่พำนักสงฆ์อาพาธที่แรกในประเทศไทย เพราะสถานพำนักสงฆ์อาพาธที่แรกสุด คือสำนักสงฆ์ป่ามะขาม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเปิดดำเนินการมากว่า ๒๐ ปี รับพระป่วยทุกระยะ โดยมีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สนับสนุน

สนทนาธรรมกับ พระอาจารย์วิชิต ธมฺมชิโต แห่ง 'สันติภาวัน' ถึงความสงบ ความงาม และการจากลา พร้อมก้าวข้ามความกลัวไปเรียนรู้ความตาย
สนทนาธรรมกับ พระอาจารย์วิชิต ธมฺมชิโต แห่ง 'สันติภาวัน' ถึงความสงบ ความงาม และการจากลา พร้อมก้าวข้ามความกลัวไปเรียนรู้ความตาย

พระอาจารย์วิชิตจบปริญญาตรีคณะเภสัชศาสตร์ และจบปริญญาเอกสาขาสังคมศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อมาทำศูนย์ทำให้ได้ใช้ทุกองค์ความรู้ที่เรียนมา

“อาตมาได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาทั้งหมด เช่น อาการเจ็บปวด ยา เพราะทำงานมาเยอะ ทั้งในชุมชน และโรงพยาบาล เลยเข้าใจระบบ กระบวนการรักษา และข้อจำกัดทางการแพทย์ ส่วนปริญญาเอกเรียนมานุษยวิทยาการแพทย์ ได้เห็นวัฒนธรรม วิถีชุมชน ทำให้เข้าใจ ‘พระ’ ในมิติของสังคมและชุมชน”

ศูนย์สันติภาวันเป็นสถานที่พำนักระยะท้ายของพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งหมายความว่าพระภิกษุที่รับมาคือผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพอย่างมาก จนถึงเวลาที่ใกล้จะลาลับ แต่ยังประสงค์ที่จะอยู่ในสมณะจนถึงวาระสุดท้าย โดยไม่ต้องการเทคโนโลยีใด ๆ มายื้อเวลาชีวิต ที่นี่จึงทำหน้าที่ประคับคองจิต และส่งท่านจนถึงวาระสุดท้าย ซึ่งพระอาจารย์วิชิตบอกว่า

คำว่า ระยะท้าย ไม่ได้หมายถึง ‘ผู้ป่วยติดเตียง’ คำว่าระยะท้ายสำหรับสันติภาวัน คือผู้ป่วยหนักที่มีแนวโน้มเสียชีวิตในเวลาไม่เกิน ๑ ปี ซึ่งผู้ป่วยระยะท้ายมีความสำคัญในทางพุทธศาสนา เพราะถือว่าจิตสุดท้ายจะกำหนดภพภูมิ ถึงทำบุญมาดี ถ้าจิตสุดท้ายเศร้าหมองก็นำไปสู่ทุคติ แม้บุญจะไม่หายไป เพราะฉะนั้นต้องดูแลระยะท้ายให้ดีที่สุด

สนทนาธรรมกับ พระอาจารย์วิชิต ธมฺมชิโต แห่ง 'สันติภาวัน' ถึงความสงบ ความงาม และการจากลา พร้อมก้าวข้ามความกลัวไปเรียนรู้ความตาย

“กระบวนการรับสงฆ์อาพาธระยะท้ายที่สันติภาวัน เมื่อรับผู้ป่วยมา จะถามก่อนว่ายังมีอะไรห่วงอีกหรือไม่ เพราะถ้ายังมีภาระก็จะช่วยแก้ให้หรือปลดให้ เมื่อปลดเปลื้องได้ก็จะถามถึงเรื่องเฉพาะตัว เช่นชอบธรรมะบทไหน บทเทศน์บทไหน บทสวดมนต์บทไหน และหามาเปิดให้ฟังในช่วงจิตสุดท้าย

“พระบางรูป ทางศูนย์จะช่วยเตรียมให้ว่าจะจัดการกับข้าวของที่มีอย่างไร รวมถึงจัดการงานศพด้วย ซึ่งหากไม่ต้องการจัดงานศพก็จะดำเนินการจนแล้วเสร็จ เพื่อไม่ให้มีห่วงหรือกังวล ทางศูนย์จะส่งท่านจนถึงจิตสุดท้าย ยกเว้นเป็นช่วงเวลาที่ไม่สะดวก เช่น กลางคืน เป็นต้น” พระอาจารย์เล่า

เมื่อกราบเรียนถามพระอาจารย์ถึงปัญหาวงการพระสงฆ์ว่าในปัจจุบันมีการจัดตั้งสถานที่ลักษณะนี้ขึ้น

เพราะจำนวนผู้บวชน้อยลงและมีอายุเฉลี่ยมากขึ้นหรือไม่ ท่านตอบทันทีว่า

“มาจากหลายปัจจัย อายุของผู้บวชที่สูงขึ้นก็ใช่ ส่วนใหญ่บวชตอนเกษียณ มาพร้อมโรคประจำตัว แต่นี่เป็นสาเหตุหนึ่งเท่านั้น และพระพุทธเจ้าวางระบบดูแลคนป่วยเอาไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ระบุเอาไว้เป็นพระวินัยว่า อุปัชฌาย์อาจารย์ดูสัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) ที่ตนเองบวชให้ ถ้าไม่มีอาจารย์ ก็ศิษย์ร่วมอุปัชฌาย์อาจารย์ดูแลกัน ถ้าไม่มีพระร่วมวัดเดียวกันดูแลกันอีก ก็ต้องเพื่อนสหธรรมิกดูแล หมายถึง เพื่อนพระด้วยกัน ไม่ว่าอยู่ที่ไหนต้องช่วยกันดูแล

“แต่ยุคนี้พระก็หละหลวมเรื่องการดูแลกันเอง เพราะสังคมยุคนี้เป็นแบบปัจเจก ต่างคนต่างอยู่ ไม่เหมือนสมัยก่อน ถ้าบ้านใครป่วย จะรู้กันทั้งหมู่บ้าน คนจะเข้าไปช่วย วิถีชีวิตที่เปลี่ยนก็กระทบพระเช่นกัน”

พระอาจารย์ตั้งข้อสังเกตว่า “ปัญหานี้มีอยู่แล้วอย่างเงียบ ๆ พอคนพูดมากขึ้นก็รับรู้มากขึ้น ปัญหาพระอาพาธไร้คนดูแลจึงปรากฏในสังคม”

เรื่องการดูแลพระอาพาธโดยพระสงฆ์กันเองเป็นสิ่งที่พระอาจารย์วิชิตเน้นมาก

“พระดูแลกันเป็นภาพที่งดงาม ส่วนหนึ่งพระพุทธเจ้าสั่งไว้ อีกส่วนหนึ่งพอมีพระมาดูแลก็ง่ายขึ้น เพราะพระมีศีลวินัยบางอย่าง พระด้วยกันถึงจะรู้” พระอาจารย์ยังบอกว่าการดูแลผู้ป่วยเหมือนการปฏิบัติธรรม เพราะระหว่างดูแลก็มีพระอาพาธบางท่านไม่ยอมรับการรักษาจึงต้องใช้ปัญญาแก้ไข เป็นเครื่องทดสอบปัญญาของผู้ดูแล

สนทนาธรรมกับ พระอาจารย์วิชิต ธมฺมชิโต แห่ง 'สันติภาวัน' ถึงความสงบ ความงาม และการจากลา พร้อมก้าวข้ามความกลัวไปเรียนรู้ความตาย

เมื่อถามถึงศูนย์สันติภาวันในช่วงนี้ ท่านให้ข้อมูลว่า

“ตอนนี้มีพระอาพาธ ๓ รูป แต่จำนวนไม่แน่นอน ขึ้น ๆ ลง ๆ ที่นี่รับได้สูงสุด ๖ เตียง ตรงอาคารสีเหลืองมี ๒ ชั้น ชั้นบนเป็นที่พักของพระที่มาดูแล ข้างล่างเป็นที่พำนักของพระที่อาพาธ“

พระที่อาพาธระยะท้ายท่านมาที่นี่ได้อย่างไร พระอาจารย์อธิบายว่า

“มากัน ๓ ทาง คือหนึ่ง โรงพยาบาลที่รู้ข้อมูล สอง ญาติติดต่อมาเอง เพราะดูแลไม่ไหวก็มี เช่น พระอายุ ๗๐ กว่า คนดูแลก็ ๗๐ กว่า ดูแลไม่ไหว และสาม วัดติดต่อมา เพราะไม่มีผู้ดูแล บางทีก็มีไปเจอเอง เช่น ที่โรงพยาบาลสอยดาว ตอนไปพบ ท่านโทรมมาก ก็ขอท่านเจ้าอาวาสมาดูแลที่ศูนย์”

พระอาจารย์วิชิตเล่าให้ฟังสมัยแรกเริ่มตั้งสันติภาวัน ท่านเคยให้สัมภาษณ์ไว้เสมือนเป็นการตั้งปณิธาน คือท่านอยากให้ศูนย์สันติภาวันเป็น ‘ต้นแบบ’ ให้ทุกคนเห็นว่าที่วัดตัวเองหรือจังหวัดตัวเองก็ทำได้ เป็นเป้าหมายที่แท้จริงของศูนย์ พอผ่านไป ๓ ปีเศษ พระอาจารย์วิชิตสรุปว่า

“มีผู้มาดูงานและกลับไปทำสถานพำนักพระอาพาธ แต่ดูเหมือนจะไม่ง่าย ช่วงแรกมีลูกศิษย์มาช่วยดูแล ต่อมาพระอาจารย์ (ผู้มาดูต้นแบบสันติภาวันแล้วกลับไปทำที่วัด) ท่านป่วย เพราะอายุ ๗๐ กว่าแล้ว ไป ๆ มา ๆ ท่านมีอาการทางสมอง ตอนนี้ยุติไปแล้ว เพราะทำไม่ไหว และไม่ได้เป็นองค์กรอย่างจริงจัง เมื่อท่านไม่ได้ทำต่อ คนอื่น ๆ เลยไม่อยากทำ” พระอาจารย์วิชิตเสริมว่า

“แม้แต่ที่นี่เองก็ต้องรีบทำไว้ก่อนที่ตัวเองแก่หรือตัวเองตาย ส่วนหนึ่งมีมูลนิธิช่วยดูแล ก็เหมือนฝากฝังว่าที่นี่จะอยู่ต่อไป อุ่นใจอยู่นิดหนึ่งตรงที่มูลนิธิมีความเข้มแข็งระดับหนึ่งและมีเงินทุนถึง ถ้าสุดท้ายจะจ้างคนมาดูแลอาตมาก็ยังโอเคนะ“ คำตอบนี้สะท้อนความไม่ง่ายของภารกิจอันยิ่งใหญ่

จากภาระกิจของศูนย์สันติภาวันที่ดูแลพระอาพาธระยะท้ายให้เผชิญความตายอย่างสงบ การพูดคุยเปิดประเด็นอีกเรื่องที่น่าสนใจมาก คือการเผชิญความตายอย่างสงบ หรือไม่ประมาทต่อความตาย มีการพูดถึงกันอย่างมากในช่วงหลังมานี้ เมื่อถามพระอาจารย์ในฐานะที่เคยบรรยายเรื่องนี้มาหลาย ๆ ครั้งว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ แต่ทำไมคนไม่กล้าเปิดใจพูดกัน เช่น พอถามบางคนเรื่องเตรียมตัวเผชิญความตาย จะได้รับคำตอบว่า ไม่เอา ไม่อยากคุย กลัวเป็นลาง

“ช่วงนี้ดีขึ้นเยอะ เพราะมีหลายคนและหลายหน่วยงานพูดถึง ด้วยกระแสสังคม กระแสโลก เรื่อง Palliative Care (การดูแลแบบประคับประคอง) ก็เติบโตขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้สำคัญ เพราะทำให้มีแพทย์เฉพาะทางเกิดขึ้น เช่น แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวก็ศึกษาเรื่องพวกนี้มากขึ้นและชัดเจนขึ้น

“อย่างพระอาจารย์ไพศาล ทำเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบมา ๒๐ กว่าปีแล้ว หลายองค์กรก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะถ้าพูดกันจริง ๆ แล้ว นี่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นว่าสำคัญ”

มุมมองของพระอาจารย์ต่อเรื่องความตายหลังจากบวชเป็นพระ เป็นมาอย่างไร

“อาตมาเริ่มต้นจากการรับรู้ผ่านโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ ของพระอาจารย์ไพศาล เกือบ ๒๐ ปีก่อน เคยไปช่วยเป็นวิทยากร และอ่านหนังสือที่พระอาจารย์ไพศาลแปล ก็ซึมซับเข้ามา พอเป็นพระ ศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนาก็มีเรื่องนี้ชัดเจน ตอนเรียนปริญญาเอกก็ทำวิทยานิพนธ์เรื่องพุทธกระบวนทรรศน์เรื่องสุขภาพและความตาย ก็ได้อ่านเรื่องชีวิต เรื่องความตายในพุทธศาสนาเยอะ มีความชัดเจนว่าพุทธศาสนามองชีวิตความตายอย่างไร

“และทำให้เข้าใจว่าพุทธศาสนาให้คำตอบได้อย่างสอดคล้องและงดงาม แม้กระทั่งเรื่องโลกหน้า ก็มีคำตอบ”

สันติภาวัน สถานพำนักพระอาพาธระยะท้ายในจันทบุรีที่มีเป้าสูงสุดคือ ‘ไม่มี’ สันติภาวัน

ครั้นจะบอกคนที่อยู่ในวัยอิสระหรือวัยเกษียณให้คิดถึงเรื่องนี้ แต่พอลองคุยจริง ๆ เขาบอกว่า ‘ไม่เป็นไร เพราะเทคโนโลยีการแพทย์เดี๋ยวนี้ดี’ เราควรทำอย่างไรให้คนที่ยังไม่ป่วยคิดเรื่องนี้ดี พระอาจารย์ให้ข้อคิดไว้ว่า 

“เทคโนโลยีช่วยได้แต่ร่างกาย แต่จิตใจ เขาพร้อมหรือยังที่จะพลัดพรากจากผู้คนที่รัก หมาแมว สิ่งของผูกพันทั้งหลาย อย่างเวลาเดินทางไปต่างประเทศ เรายังต้องศึกษาก่อน ที่พัก ที่เที่ยว แต่นี่เราต้องข้ามภพข้ามชาติเลยนะ จะไม่เตรียมสักหน่อยหรือ ถ้าเกิดมีชาติหน้าขึ้นมาล่ะ คุณเตรียมตัวไว้บ้างหรือยัง ยิ่งถ้าไม่มั่นใจว่าจะมีชาติหน้าจริงมั้ย ก็ควรจัดการความเสี่ยง (Risk Management) เตรียมตัวไว้ ไม่ได้ใช้หรือไม่มีชาติหน้าก็ไม่เสียหาย

“การเตรียมตัวเป็นเรื่องสำคัญ ถึงเราไม่ตาย แต่ก็ต้องมีวันที่คนข้างตัวเราตาย ถ้ามีการเตรียมตัว เตรียมใจ นอกจากเราจะไม่ทุกข์โศกกับการพลัดพรากของเขาแล้ว ดีไม่ดี เราได้ช่วยเขาด้วย” พระอาจารย์วิชิตให้แนวทาง

คุยกันเรื่องหนัก ๆ แบบนี้ พระอาจารย์พูดให้ฟังแบบสบาย ๆ ให้เห็นผลของการเตรียมตัวเรียนรู้เรื่องความตาย มีคนถามว่าคุยเรื่องนี้กับกลุ่มที่อายุน้อย เขาไม่คุย เพราะคุยแล้วเครียด

“แสดงว่าเรื่องความตายเป็นเรื่องที่ไม่โอเคสำหรับเขา อย่างพระอาจารย์ไพศาล ท่านบอกว่าเรื่องเตรียมตัวตาย ถ้าเราทำความเข้าใจหรือทำความคุ้นเคย ไม่นานความกลัวของเราจะลดลงไปเอง เหมือนไปสอบ ถ้าเตรียมตัวดี ถึงรู้ว่าข้อสอบยาก แต่จะผ่านมันได้ ในเมื่อความตายเป็นเหมือนข้อสอบยากที่สุดในชีวิต แก้ตัวไม่ได้ ขอตายใหม่ไม่ได้ จะไม่ทำความรู้จักหรือเตรียมตัวไว้สักหน่อยหรือ”

พระอาจารย์มองว่าในสังคมไทยเราเรื่องนี้ยังจำกัดกลุ่มอยู่ แต่ท่านเชื่อว่า

“คนที่กลัวตาย จะมีวิธีเผชิญหน้า ๒ แบบ คือไม่รับรู้ คนส่วนใหญ่เลือกเผชิญความตายแบบนี้ จัดงานศพสวย ๆ เห็นแต่ความงดงาม ด้านหนึ่งก็ดี เหมือนผ่อนคลายจากความสูญเสีย แต่อีกด้านหนึ่ง เหมือนหลีกหนีความจริง

“แบบที่ ๒ คือวิ่งเข้าไปเผชิญปัญหาให้เห็นจริง”

สันติภาวัน สถานพำนักพระอาพาธระยะท้ายในจันทบุรีที่มีเป้าสูงสุดคือ ‘ไม่มี’ สันติภาวัน

หากจะเตรียมตัวเรื่องความตายควรทำอย่างไร

คำถามสำคัญนี้ทีมงานถามพระอาจารย์แบบจริงจังมาก และได้รับคำตอบที่ชัดเจนมาก ๆ เช่นกัน

“เปิดตัวเองว่าอยากทำความรู้จักความตาย แค่ไม่ปฏิเสธก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว จากนั้นเลือกเรื่องที่สนใจ เช่น การตายที่มีคุณค่า การตายที่มีความสุข แล้วเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร จะเตรียมปัจจุบันอย่างไร และต้องเลือกรับข้อมูลให้กว้างนะ เพราะอาจเจอวิธีที่เหมาะที่สุดกับตัวเอง ระหว่างศึกษาเรียนรู้ มุมมองก็จะเปิดขึ้นเรื่อย ๆ

“อาตมาว่ามารู้จักความตาย แทนที่จะกลัวมัน ไม่ดีกว่าหรือ” พระอาจารย์เน้นเสียงหนักแน่น

ความตาย – เรื่องที่ใคร ๆ ก็เลี่ยงจะพูดถึง แต่ถ้าเปิดใจเรียนรู้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการใช้ชีวิต

ณ ขณะนี้ ฝนข้างเขาสอยดาวโปรยปรายมาเป็นระยะ

แต่ชั่วโมงกว่าของการสนทนา ดูเหมือนว่าสายฝนจะชื่นเย็นเข้าไปในใจและสร้างปัญญาความคิดให้มากมาย

สนทนาธรรมกับ พระอาจารย์วิชิต ธมฺมชิโต แห่ง 'สันติภาวัน' ถึงความสงบ ความงาม และการจากลา พร้อมก้าวข้ามความกลัวไปเรียนรู้ความตาย

ตอนท้าย พระอาจารย์วิชิตพูดถึงพุทธศาสนากับการดูแลพระอาพาธเอาไว้ว่า

“พุทธศาสนาจะเข้มแข็ง ทุกวัดต้องดูแลพระตัวเองให้ได้ นอกจากดูแลกันเองแล้ว ต้องเกื้อหนุนชุมชน เพราะชุมชนก็มีผู้ป่วยติดเตียงมาก ถ้าวัดดูแลได้ วัดจะกลับมาเป็นศูนย์กลางชุมชนได้อีกครั้งเหมือนเช่นอดีต”

เป้าหมายหนึ่งของสันติภาวันไม่ใช่การเป็นศูนย์ใหญ่ แต่คือการออกไปทำให้วัดในประเทศไทยเข้มแข็ง ซึ่งกำลังเตรียมโครงการออกไปเยี่ยมวัดที่มีพระป่วย เพื่อสนับสนุนให้พระดูแลกันเองได้ที่วัด

เป้าหมายสูงสุดของสันติภาวัน คือ ‘ไม่มี’ สันติภาวัน นั่นเป็นคำตอบสุดท้าย

“ถ้าพระดูแลกันเองได้ สันติภาวันพร้อมที่จะไม่มี และจะเปลี่ยนเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม”

บทสรุปนี้เป็นเสมือนเข็มทิศนำทางของศูนย์สันติภาวันแห่งเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี

และยังบอกเล่าปณิธานแห่งศิษย์ตถาคตของพระอาจารย์วิชิต ธมฺมชิโต ได้อย่างชัดเจน

สันติภาวัน สถานพำนักพระอาพาธระยะท้ายในจันทบุรีที่มีเป้าสูงสุดคือ ‘ไม่มี’ สันติภาวัน

The Cloud Golden Week : Happy Young Old คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ The Cloud จับมือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดรับวัยอิสระ อายุ 45 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ มารวมพลัง ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆเป็นเวลา 1 สัปดาห์

ภายใต้ธีม ‘การเตรียมตัวเข้าสู่วัยอิสระ’ และ ‘การดำเนินชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข’ เปรียบเสมือนคู่มือเล่มน้อย ๆ ที่อัดแน่นด้วยคำแนะนำ การรับมือ การใช้ชีวิตก่อน-หลังเกษียณในหลากหลายมิติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘ความตาย’ เราจึงชวนวัยอิสระเล่าเรื่องราวของ สันติภาวัน สถานพำนักพระอาพาธระยะท้าย อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เพื่อกลับไปมองบริบทการดูแลซึ่งกันและกันของพระสงฆ์ พร้อมสนทนาธรรมถึงความงามของการจากลา พร้อมก้าวข้ามความกลัวไปเรียนรู้ความตายอย่างเข้าใจ

ชวนเตรียมพร้อมรับมือเกษียณ ปรับความคิดและเข้าใจวิธีการบริหารเงินให้เพียงพอ เพื่อชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในแคมเปญ ‘Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้’ ทาง setga.page.link/riJd26ZBN1vMtycE8

Writer

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย

เป็นนักการเมืองมานาน 28 ปี พบเจอผู้คนและเรื่องราวมากมาย วันนี้หลุดพ้นสภาฯ เลยอยากจับปากกาเล่าเรื่อง

Photographer

ราตรี ปั้นพินิจ

ราตรี ปั้นพินิจ

ช่างภาพการแพทย์ เรียน Anatomy ทำงานกราฟิกสื่อสิ่งพิมพ์ คลิปหนังสั้น ชอบงานห้องมืดล้างฟิล์มสไสด์ จบจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราช เน้นงานถูกต้อง องค์ประกอบเป๊ะ