จากปากซอยสุขุมวิท 38 ที่พลุกพล่านด้วยยวดยานกลางถนน ฝูงชนบนบาทวิถี ตลอดจนขบวนรถไฟฟ้าที่แล่นเข้าออกชานชาลาสถานี BTS ทองหล่อเป็นนิจ เดินตรงเข้ามาสักพักพอให้ได้เหงื่อ ความชุลมุนที่เป็นเช่นท่วงทำนองประจำตัวของย่านธุรกิจชั้นแนวหน้าของไทย จะแปรเปลี่ยนเป็นความสงบของบ้านอยู่อาศัยหลายประเภท ตั้งแต่คฤหาสน์หลังใหญ่ยันทาวน์โฮมหลายคูหา

กลางซอยนี้ยังมีรั้วปูนหน้าบ้านเดี่ยวหลังหนึ่งที่ดูราบเรียบแสนจะธรรมดา แต่ความไม่ธรรมดาของ ‘บ้าน’ หลังนี้อยู่ที่ฉัตรโลหะสีทอง 5 ชั้นหน้าประตูรั้ว ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกพระอิสริยยศเจ้าฟ้าหญิง กับป้ายชื่อด้านหน้าที่ระบุว่าสถานที่แห่งนี้คือ ‘วังรื่นฤดี’ ที่ประทับใน สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี

แม้เป็นถึงวังที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่ง ทว่าสภาพที่ปรากฏแก่สายตาเมื่อก้าวผ่านป้อมตำรวจหน้าประตูรั้วเข้าไปย่อมชวนให้ผู้พบเห็นต้องทบทวนความหมายคำว่า ‘วัง’ ในจินตภาพของตนเองอีกครั้ง เพราะวังนี้ไม่ได้มีสิ่งปลูกสร้างที่ใหญ่โตโอ่อ่า งานศิลปะอันวิจิตร หรือแม้แต่ราชองครักษ์มากมายรายล้อม มีเพียงพระตำหนักสไตล์โมเดิร์นแบบที่พบได้ทั่วไปในบ้านสามัญชนยุค พ.ศ. 2500 สวนหย่อมและสระน้ำที่มิได้กว้างใหญ่เหมือนดั่งวังอื่น และข้าราชบริพารที่ทำงานกันในจำนวนเล็กน้อยพอประมาณ ด้วยเจ้าของมีพระปณิธานจะประทับอยู่ที่นี่อย่างเรียบง่ายเยี่ยงพสกนิกรของพระองค์

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ วังรื่นฤดีถูกใช้เป็นที่ทำการภายในของมูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา มานานปี วังแห่งนี้กลับมาเปิดประตูให้บุคคลภายนอกได้เยี่ยมชมอีกครั้งในงาน Night at The Museum Festival 2023 ระหว่างวันที่ 15 – 17 ธันวาคม พ.ศ. 2566

จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ The Cloud ได้เข้ามาสำรวจวังรื่นฤดีพร้อมเหล่าผู้เชี่ยวชาญหลากหลายแขนง ซึ่งมาร่วมเปิดตำนานวังนอกขนบแห่งนี้ให้คุณผู้อ่านได้รับรู้ไปด้วยกัน

พระราชธิดาในทูลกระหม่อมก๊ะ-แม่ก๊ะ

ประชาชนไทยรุ่นหลังอาจไม่คุ้นพระนาม สมเด็จฯ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ด้วยพระองค์มิได้เป็นเจ้านายในสายราชสกุลมหิดลเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ถึงรัชกาลปัจจุบัน แต่หากเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีแล้วไซร้ หลายคนอาจจดจำพระองค์ได้จากพระกรณียกิจมากมายที่เคยเกิดขึ้นในยุคที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ (ลูกชาย) และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ (ลูกสาว) ในรัชกาลที่ 9 ยังทรงพระเยาว์เกินจะทรงงานได้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าผู้ทรงเป็น ‘สมเด็จป้า’ ของบรรดาพระราชโอรส-พระราชธิดาเหล่านั้น ก็ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระเจ้าอยู่หัวอยู่ไม่ขาด

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ภาพ : มูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา

พระองค์เป็นพระราชธิดาเพียงหนึ่งเดียวในรัชกาลที่ 6 ประสูติยามเที่ยง วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาสในพระบรมมหาราชวัง บนพระแท่นเก่าแก่ที่ใช้ประสูติพระเจ้าแผ่นดินมาทุกรัชกาล พระชนนีของพระองค์คือ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี หรือพระนามเดิมว่า ติ๋ว-เครือแก้ว อภัยวงศ์ อดีตคุณพนักงานฝ่ายในผู้มีหน้าที่กรองมาลัยและเย็บปักถักร้อย และต้นเสียงผู้ขับร้องเพลงประกอบละครพระราชนิพนธ์ เธอได้ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทจนเป็นที่โปรดปรานของในหลวงรัชกาลที่ 6 มาก จึงทรงสถาปนาเครือแก้วเป็นเจ้าจอมและพระวรราชเทวีตามลำดับ

พระชนม์ชีพของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ หาได้ผาสุกร่มรื่นตามประสาเจ้านายชั้นสูงไม่ เพราะขณะที่พระชนนีมีพระประสูติกาลพระองค์ พระชนกกำลังมีพระอาการประชวรเข้าขั้นวิกฤต เป็นผลจากการที่พระองค์ทรงเป็นคนไข้รายแรก ๆ ในโลกที่เข้ารับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องด้วยวิชาการแพทย์ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพนัก เมื่อมีพระชนมพรรษาเพิ่มมากขึ้น รัชกาลที่ 6 จึงประชวรพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) เรื้อรัง และพระพลานามัยก็ค่อย ๆ ทรุดหนักจนไม่เหลือพระกำลังพอจะยกพระหัตถ์สัมผัสพระราชธิดาเมื่อแรกประสูติ ก่อนจะเสด็จสวรรคตวันรุ่งขึ้นเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ มีพระชนมายุเพียง 1 วัน

พระนางเจ้าสุวัทนาฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ
ภาพ : มูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา

เจ้าฟ้าหญิงพระองค์นี้ไม่ทรงมีความทรงจำใดเกี่ยวกับพระชนก พระองค์ทรงอยู่ในการอุปการะของพระชนนีซึ่งมีพระชนมายุแค่ 20 ชันษาเมื่อมีพระประสูติกาล ต้องเสด็จลี้ภัยย้ายที่ประทับอยู่บ่อยครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางการเมืองซึ่งเกิดอยู่เป็นประจำเมื่อทรงพระเยาว์ เริ่มตั้งแต่การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 กบฏบวรเดช จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลอดทุกเหตุการณ์ข้างต้น พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงเป็นเสาหลักที่คอยอุ้มชูสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ด้วยพระปรีชาสามารถเกินกว่าที่หญิงม่ายชาวไทยในยุคสมัยนั้นจะนึกคิด ส่วนหนึ่งเป็นด้วยพระอาการส่วนพระองค์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ที่คนในอดีตยังไม่มีคำนิยาม

รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร หนึ่งในผู้เรียบเรียงหนังสือ ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า ระบุว่าพระองค์ท่านมีพระอาการพิเศษทางสมอง ซึ่งแพทย์ยุคใหม่ให้นิยามว่าเป็นความโดดเด่นพิเศษ ทำให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ มีพระจริยวัตรต่างจากเด็กทั่วไป แต่มีพระอัจฉริยภาพด้านการคำนวณเป็นเลิศ ชนิดแค่บอกวันเกิด ก็ทรงตอบได้ในระยะเวลาอันสั้นว่าเป็นวันใดในสัปดาห์ หากเป็นเพราะการเลี้ยงดูที่ดีเป็นพิเศษ พระองค์จึงเจริญพระชันษาขึ้นมาเป็นอย่างดี สมเป็นราชนารีโดยแท้

เมื่อทรงพระเยาว์ พระอาจารย์ชาวตะวันตกจะหาเด็ก ๆ ชาวต่างชาติมาเป็นพระสหายให้เจ้าฟ้าหญิง เพื่อฝึกฝนพระองค์ให้คุ้นชินกับการเข้าสังคมตะวันตก
ภาพ : มูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา

“สมเด็จเจ้าฟ้าฯ น่าจะเป็นคนไทยคนแรก ๆ ที่ได้เรียนในระบบโฮมสกูล เพราะพระชนนีทรงว่าจ้าง มิสซิสเดวีส์ อดีตครูโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยชาวอเมริกันมาถวายพระอักษรส่วนพระองค์ที่วัง การศึกษาของสหรัฐอเมริกาเขาคงรู้วิธีเลี้ยงดูเด็กที่มีความโดดเด่นพิเศษมานานแล้ว” อาจารย์ชัชพลให้ทัศนะ

บรรดาข้าหลวงที่เคยถวายงานรวมถึงคนใกล้ชิด ผู้ที่เคยรับเสด็จ ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าพระองค์ทรงเป็นเจ้านายที่น่ารัก เปี่ยมด้วยพระเมตตาล้นเหลือ มักตรัสแทนพระองค์เองว่า ‘ฟ้าหญิง’ กับทุกคน ลงท้ายว่า จ๊ะ-จ้ะ ทุกประโยค มีพระอารมณ์ขัน ทั้งทรงเป็นเจ้านายที่พร้อมทรงพระดำเนินไปหาประชาชนที่เฝ้ารับเสด็จโดยไม่ถือพระองค์ว่าเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเลย

ฟ้าหญิงโปรดจ้ะ

เกิดวันอังคารใช่มั้ยจ๊ะ

ใครป่วยอย่าลืมไปหาหมอนะจ๊ะ ฟ้าหญิงมาคราวนี้ พาหมอมาด้วยเยอะแยะเลยจ้ะ

จึงเป็นรับสั่งที่ได้ยินจนชินจากพระโอษฐ์ของเจ้าฟ้าหญิงองค์เดียวในแผ่นดินรัชกาลที่ 6

และที่ทุกคนยืนยันตรงกันเป็นเสียงเดียวก็คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงมีความกตัญญูต่อพระชนกและพระชนนีของพระองค์มาก โดยพระองค์จะคุ้นชินกับสรรพนาม ‘ทูลกระหม่อมก๊ะ’ และ ‘แม่ก๊ะ’ ที่ทรงเรียกเพี้ยนจาก ‘ทูลกระหม่อมคะ-แม่คะ’ เมื่อครั้งมีพระชันษาน้อย

ที่ประทับอันรื่นฤดี

ตลอดพระชนม์ชีพอันยืนยาวถึง 85 ปีของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ พระองค์และพระชนนีต้องย้ายที่ประทับนับครั้งไม่ถ้วน กว่าจะลงเอยที่วังรื่นฤดีในซอยสุขุมวิท 38 เมื่อเสด็จกลับจากประเทศอังกฤษที่ทั้ง 2 พระองค์ทรงใช้เป็นที่ประทับรวมระยะเวลาทั้งสิ้น 21 ปี

อย่างไรก็ดี วังรื่นฤดีแห่งนี้ไม่ใช่ที่ประทับแห่งแรกที่ได้ชื่อดังกล่าว

พระตำหนักสวนรื่นฤดี ริมถนนสุโขทัย
ภาพ : มูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา

ในช่วงปีแรก ๆ หลังมีประสูติกาล หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือสิ้นแผ่นดินพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเจ้าสุวัทนาฯ กับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ เคยประทับมากกว่า 4 – 5 ครั้ง โดยมากเป็นพระตำหนักในวังของพระญาติชั้นผู้ใหญ่ จนกระทั่งพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงคำนึงถึงที่ดินหัวมุมถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัยที่รัชกาลที่ 6 เคยพระราชทานให้ตั้งแต่ยังทรงเป็นเจ้าจอมสุวัทนา พระองค์จึงมีรับสั่งให้สร้างพระตำหนักแบบฝรั่งขึ้นบนที่ดินแปลงนั้น ปลูกต้นไม้ขึ้นโดยรอบ พร้อมทั้งขุดสระว่ายน้ำไว้เป็นที่ออกกำลังพระวรกายสำหรับเจ้าฟ้าพระธิดา การก่อสร้างแล้วเสร็จปลาย พ.ศ. 2477 พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ประทานนามตำหนักนี้ว่า ‘พระตำหนักสวนรื่นฤดี’ ด้วยมีบรรยากาศร่มรื่นสบายพระทัยยิ่งนัก

ณ พระตำหนักแห่งนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ได้ทรงพระอักษรกับพระอาจารย์ชาวตะวันตกทั้งวิชาภาษาอังกฤษ การคำนวณ เปียโน วรรณคดีไทย และพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ซึ่งทั้งหมดกลายเป็นพื้นฐานของพระอัจฉริยภาพที่ติดพระองค์ไปตลอดพระชนม์ที่เหลือ

ครั้นเมื่อทั้ง 2 พระองค์เสด็จไปประทับที่เมืองอังกฤษ พระตำหนักสวนรื่นฤดีแห่งนี้ก็ได้ถูกขายต่อให้ราชการเพื่อเป็นทุนรอนในการดำรงพระชนม์ชีพ จะอย่างไรก็ดี ชื่อ ‘รื่นฤดี’ ก็ยังติดตรึงในพระทัยตลอดมา

วังกลางทุ่งย่านบางกะปิ

ล่วงเลยมาถึงยุคกึ่งพุทธกาล พ.ศ. 2500 สถานการณ์บ้านเมืองกลับสู่ความสงบ ไม่มีศึกสงครามหรือความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจกระทบต่อสวัสดิภาพของพระบรมวงศ์เหมือนก่อน พระนางเจ้าสุวัทนาฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ต่างมีพระทัยถวิลหาปิตุภูมิที่เสด็จจากมาเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน ถึงเวลาแล้วที่ทั้งสองจะต้องเสด็จคืนผืนแผ่นดินที่พระสวามีและพระชนกทรงเป็นนายเหนือหัวมาก่อน

ตำหนักสวนรื่นฤดียามนี้ก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกองทัพบกไปแล้ว พระนางเจ้าสุวัทนาฯ จำเป็นต้องเฟ้นหาที่ดินใหม่ไว้เป็นที่ประทับของพวกพระองค์เองและข้าราชบริพารจำนวนหยิบมือที่พึ่งใบบุญพระองค์อยู่ แต่เพราะราคาที่ดินในตัวเมืองหลังสงครามพุ่งสูงขึ้นจนยากจับจองเป็นเจ้าของได้อย่างเมื่อก่อน กอปรกับความไม่ปลอดภัยของย่านเมืองเก่าอย่างเขตดุสิตและพระนครซึ่งมักเป็นสมรภูมิและเวทีการเมืองของคณะปฏิวัติรัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง อาจเป็นแผลร้ายในพระทัยผู้ผ่านเหตุความขัดแย้งร้ายแรงมานักต่อนัก พื้นที่ชานเมืองจึงกลายเป็นตัวเลือกที่ต้องพระทัยพระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 แทน

วังรื่นฤดีในอดีต
ภาพ : มูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ กรุงเทพฯ ขยายตัวไปทางตะวันออก ตามแนวถนนสุขุมวิทหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ซึ่งตัดขนานไปกับแนวคลองแสนแสบที่ขุดขึ้นสมัยต้นกรุง สุดถนนเพลินจิตเรื่อยไปถึงสะพานพระโขนงที่คนรุ่นหลังรู้จักในชื่อย่าน ‘สุขุมวิท’ ตามชื่อถนน ในยุคนั้นมีเพียงทุ่งนาว่างเปล่าตลอดสองฟากฝั่ง ได้รับนามเรียกขานว่า ‘ย่านบางกะปิ’ บรรยากาศไกลปืนเที่ยงที่ห่างไกลความแออัดจอแจในเมืองเช่นนี้เป็นที่ต้องพระทัยของ 2 ราชนารีผู้คุ้นชินกับชีวิตในท้องทุ่งชนบทของอังกฤษมาก

พระนางเจ้าสุวัทนาฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ เลือกประทับที่บ้าน หลวงเสถียรโชติสาร (จรัล โชติกเสถียร) พระญาติซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องข้างแม่ของพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ในซอยสุขุมวิท 38 หรือชื่อเก่าว่า ‘ซอยสันติสุข’ ระหว่างที่เสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการชั่วคราวนั้น พระชนนีสนพระทัยที่ดินแปลงใหญ่ประมาณ 7 ไร่ ด้านตะวันตกของที่ดินแปลงนี้หันหน้ามาทางซอยสันติสุข ขณะที่ด้านตะวันออกหันไปทาง ‘ซอยบ้านกล้วยใต้’ หรือสุขุมวิท 40 ที่มาเรียกกันในชั้นหลัง

ที่ดินผืนนี้แบ่งเป็น 2 แปลงย่อย แปลงหนึ่งเป็นของ นายแมนฟุ้ง เนียวกุล กับอีกแปลงหนึ่งของ นายเอ. อี. นานา พระวรราชเทวีทรงติดต่อขอซื้อที่ดิน 2 แปลงนั้นด้วยทรัพย์ส่วนพระองค์ คือมรกตเม็ดเดียวที่ทรงซื้อเก็บไว้เป็นหลักประกันความมั่นคงที่แดนผู้ดี

ซึ่งในเวลาต่อมาตำหนักหลังนี้ก็กลายเป็นที่ประทับถาวรของทั้ง 2 พระองค์จวบจนสิ้นพระชนม์

วังรื่นฤดีในอดีต
ภาพ : มูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา

พระตำหนักโมเดิร์นยุคหลังสงคราม

แม้นว่าเสด็จพระนางเจ้าสุวัทนาฯ จะทรงมีทรัพย์สมบัติไม่น้อย อีกทั้งที่ดินย่านสุขุมวิทหรือบางกะปิในสมัยนั้นก็มีราคาไม่สูงเหมือนอย่างปัจจุบัน แต่ถ้าสังเกตรูปแบบสถาปัตยกรรมพระตำหนักกลางสวนที่ดูกระเดียดไปทางบ้านคนมีอันจะกินย่านนั้นมากกว่าวังเจ้านายโดยทั่วไป สิ่งนี้ก็พอจะสะท้อนให้เห็นแนวคิดที่แฝงอยู่ในกระแสสังคม ซึ่งพระองค์และพระราชธิดาทรงซึมซับกลับมาจากแดนไกล

“2 พระองค์ดำเนินพระชนม์ในอังกฤษอย่างเรียบง่ายตามประสาสตรียุคหลังสงคราม เป็นยุคที่เชิดชูผู้หญิง มีค่านิยมว่าผู้หญิงต้องเก่ง เป็นผู้นำ ทำงานเลี้ยงตัวเองได้ เมื่อรวมกับความเป็นเจ้านาย ก็ต้องประพฤติพระองค์ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประชาชน” อาจารย์ชัชพลกล่าวเป็นนัยถึงสาเหตุที่วังรื่นฤดีไม่มีสิ่งปลูกสร้างหรือการตกแต่งใดที่ดูฟุ้งเฟ้อเกินบริบทสังคมยุคนั้น

ในการก่อสร้างวังแห่งใหม่ที่จะเป็นที่ประทับถาวรบนแผ่นดินเกิดนี้ สถาปนิกที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างทั้งหมดคือ พล.ร.ต.สมภพ ภิรมย์ ซึ่งขณะนั้นรับราชการอยู่กรมอู่ทหารเรือ และยังเป็นสามีของ นางจุนเจือ ภิรมย์ หลานสาวข้าหลวงเก่าแก่ในพระนางเจ้าสุวัทนาฯ อีกด้วย

พล.ร.ต.สมภพ ภิรมย์ ในเครื่องแบบทหารเรือ

พล.ร.ต.สมภพ ผู้นี้ฝากผลงานการออกแบบอาคารสถานที่ราชการเอาไว้หลายแห่ง นำมาซึ่งตำแหน่งและรางวัลเกียรติยศมากมาย ทั้งราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประจำ พ.ศ. 2529 อธิบดีกรมศิลปากร นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ฯลฯ ถือได้ว่าเป็นเพชรน้ำเอกในวงการสถาปนิกไทยโดยแท้จริง ตามคำบอกเล่าของ ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์คนเก่งในยุคปัจจุบันที่กล่าวไว้ว่า

ยุคก่อนหน้านั้น การออกแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกในไทยต้องใช้สถาปนิกฝรั่ง รุ่นต่อมาถึงเป็นคนไทยที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ส่วนคุณสมภพเป็นคนไทย เรียนจบสถาปัตยกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับว่าเป็นสถาปนิกไทยแท้รุ่นแรก ๆ โดยผลงานของคุณสมภพมีทั้งออกแบบตึกทรงโมเดิร์นแท้ และทรงโมเดิร์นไทยประยุกต์ เรียกว่าท่านสามารถออกแบบงานได้หลากหลายมาก

‘คุณสมภพ’ ที่ข้าหลวงในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ เรียกด้วยความยกย่อง ร่างแบบและนำแบบแปลนนั้นมากราบทูลฯ ให้ทรงติชมแก้ไขจนพอพระทัยแล้ว ก็ได้ลงมือก่อสร้างตำหนัก โดยมี บริษัท สี่พระยาวัตถุโบราณ จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง สองพระชนนีและพระราชธิดาเสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์เริ่มสร้างด้วยพระองค์เอง และข้ามฟากจากบ้านหลวงเสถียรฯ มาทอดพระเนตรความคืบหน้าสม่ำเสมอ

รูปแบบสถาปัตยกรรมที่คุณสมภพเลือกใช้กับวังรื่นฤดีก็เป็นแบบไทยสมัยใหม่ (Thai Modern Architecture) ยุคหลัง พ.ศ. 2500 ซึ่งตัวเขาเชี่ยวชาญ หัวใจสำคัญของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ หรือ ‘โมเดิร์น’ ที่นำมาใช้ในบ้านย่านสุขุมวิทโดยทั่วไป คือการลดทอนความสมมาตรอย่างสถาปัตยกรรมยุคก่อน ๆ เน้นปรับสภาพอาคารเข้ากับสภาพภูมิอากาศเพื่อให้อยู่สบาย รับแสงธรรมชาติ หลบความร้อนจากแดด สร้างด้วยวัสดุก่อสร้างซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนมีให้เห็นในวังรื่นฤดี

เราจะเห็นว่าพระตำหนัก 2 ชั้นหลังนี้สร้างขึ้นด้วยวัสดุที่หลากหลาย ทั้งคอนกรีตเสริมเหล็ก หินที่เป็นเอกลักษณ์ในยุคนั้น รวมถึงอิฐผนังที่เรียงลวดลายอย่างเป็นระเบียบ ดร.ยุวรัตน์ เผยว่าการจัดองค์ประกอบฟาซาดภายนอกวังนี้เป็นแบบสมดุลแต่ไม่สมมาตร (Asymmetrical Balance) ด้วยการใช้เส้นสายทางตั้งทางนอน และการให้สีสันแบบภาพวาด 2 มิติยุคทศวรรษ 1960 โดยมีแผ่นหินธรรมชาติและอิฐก่อลวดลายต่าง ๆ เป็นตัวทำหน้าที่ดังกล่าว

เอกลักษณ์ประจำยุคอีกอย่างที่พบในวังนี้คือการใช้เสาเหล็กกลม โครงสร้างพื้นและหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กที่ยื่นออกจากโครงสร้างหลักได้มากกว่ายุคก่อน เพื่อเน้นความทันสมัยของวัสดุและความก้าวหน้าของการก่อสร้าง ยิ่งไปกว่านั้น บนพระตำหนักยังมีครีบทางตั้งที่ใช้เป็นแผงบังแดดบริเวณทางเข้าอาคารฝั่งตะวันตกที่ต้องรับแดดแรงที่สุด กับบล็อกช่องลม (Breeze Block) อันมีคุณสมบัติในการรับลมและกรองแสงทางทิศเหนือซึ่งเป็นส่วนพักผ่อน และเป็นทิศที่ไม่มีแดดตลอดทั้งปี เหล่านี้คือคุณประโยชน์ของ 2 วัสดุดังกล่าวนอกเหนือไปจากการตกแต่งเพื่อความสวยงามด้วย

เปิด วังรื่นฤดี วังนอกขนบกลางซอยสุขุมวิท 38 ของพระราชธิดาองค์เดียวในรัชกาลที่ 6
เปิด วังรื่นฤดี วังนอกขนบกลางซอยสุขุมวิท 38 ของพระราชธิดาองค์เดียวในรัชกาลที่ 6

สวนและสระ

เนื่องจากวังหันหน้าไปทางตะวันตก คุณสมภพจึงออกแบบวังนี้ให้ได้รับลมทิศใต้ซึ่งเป็นทิศที่มาของลมกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ การมีสระน้ำข้างพระตำหนักก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยให้ได้รับความเย็นเต็มที่ตามแนวคิดของสถาปนิกยุคโมเดิร์น

สระน้ำนี้มีเรื่องเล่าลือจาก ลุงสี ผู้เป็นข้าราชบริพารเก่าว่ามีความจงใจให้มีสัณฐานเหมือนแผนที่ประเทศไทยที่มีความยาวและโค้งเว้าเป็นทรงขวาน ช่วงที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ยังมีพระพลานามัยแข็งแรงดี ก็มักทรงมาออกกำลังพระวรกายที่สวนหย่อมข้างสระนี้เป็นประจำทุกวัน เมื่อพระองค์มีพระชันษามากจนพระอาการไม่สู้ดีแล้ว สระน้ำนี้ก็ยังถูกใช้งานเรื่อยมาในฐานะที่ทรงโปรยอาหารปลาและเต่า รวมทั้งเป็นที่ลอยพระประทีปและเสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าฯ ในวโรกาสต่าง ๆ

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพื้นที่สวนหย่อม สระน้ำ และอาณาเขตโดยรอบพระตำหนักนี้มากมาย เช่นเรื่องที่มีชาวบ้านเคยมาหยุดด้อม ๆ มอง ๆ อยู่หน้าประตูรั้วขณะที่เจ้าฟ้าหญิงกำลังทรงพระดำเนินเพื่อออกกำลังพระวรกายเช่นที่ทรงกระทำเป็นกิจวัตร เพียงเพราะความเชื่อว่า ‘ถ้าได้เห็นเจ้าฟ้าแล้วจะทำให้โชคดี’ พระองค์จึงโปรดฯ ให้เขาผู้นั้นมองต่อไปโดยไม่ถือพระองค์

หรือเรื่องที่มีขโมยปีนขึ้นพระตำหนัก ลักลอบเข้ามาถึงห้องบรรทม และฉวยเอากระเป๋าทรงของพระองค์ไป แม้หัวขโมยผู้นั้นจะถูกราชองครักษ์จับกุมได้โดยละม่อม แต่ความปลอดภัยก็ยิ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทรงตระหนัก จากที่วังนี้ไม่เคยมีตำรวจเฝ้าประจำมาแต่ไหน หลังจากเหตุการณ์นั้นและข่าวการปลงพระชนม์ พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ โดยคนสวน จึงจัดให้มีตำรวจจาก สน.ทองหล่อ มาอารักขาที่วังรื่นฤดีคราวละ 1 นายเสมอ เป็นที่มาของป้อมตำรวจหลังเล็กที่ทุกคนต้องผ่านเมื่อก้าวเข้ามาสู่วังนี้

พื้นที่ฝ่ายหน้า

อาจเป็นความจริงที่วังรื่นฤดีสร้างขึ้นนอกขนบวังที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ไทยในอดีต หากขึ้นชื่อว่าวังของเจ้าฟ้าหญิงพระองค์หนึ่งแล้ว ความเป็นสมัยใหม่ของพระตำหนักแห่งนี้ก็จำต้องปรับเข้าหาแบบแผนการจัดพื้นที่วังที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ นั่นคือการแบ่งพื้นที่ภายในพระตำหนักหลังเดียวที่มีให้เป็น ‘ฝ่ายหน้า’ และ ‘ฝ่ายใน’ เพื่อประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างกัน

ห้องแรกที่เราทุกคนจะได้พบเมื่อเปิดพระทวารฝั่งหน้าพระตำหนักเข้าไป ถ้าเป็นบ้านคหบดีคนหนึ่งในย่านนี้ คงเรียกว่าห้องรับแขกขนาดใหญ่ แต่ข้าหลวงทุกชีวิตที่นี่ต่างขนานนามโถงใหญ่นี้ว่า ‘ท้องพระโรง’ ถือเป็นพื้นที่ฝ่ายหน้าไว้สำหรับต้อนรับพระอาคันตุกะ (แขก) ที่มาเฝ้าฯ บ่อยครั้งที่เหล่าองคมนตรีหรือสมาชิกมูลนิธิในพระอุปถัมภ์เดินทางมาที่วัง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ และพระชนนีของพระองค์จะเสด็จลงมาพบพวกเขาที่ท้องพระโรงนี้ บรรดาผู้มาเฝ้าฯ ก็จะอยู่แต่ห้องนี้เท่านั้น

น่าสังเกตว่าเพดานท้องพระโรงนี้จะสูงและมีระเบียงชั้นบนตามแบบอย่างท้องพระโรงยุคก่อน ผิดกับห้องหับอื่น ๆ ที่มีการเล่นระดับต่างกันราวกับจะแบ่งสัดส่วนการใช้งาน อาจกล่าวได้ว่าเป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างระเบียบแบบแผนของวังยุคเก่ากับสถาปัตยกรรมยุคใหม่ที่สถาปนิกแฝงไว้อย่างแยบยล

บนผนังท้องพระโรงมีพระบรมสาทิสลักษณ์บานใหญ่ของในหลวงรัชกาลที่ 6 ซึ่งแขวนอยู่ค่อนข้างสูง ในพระบรมสาทิสลักษณ์นี้ สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงเครื่องมหาพิชัยยุทธสีแดงเลือดนก มีใบมะตูมทัดพระกรรณ ตามตำราพิชัยสงคราม ในวาระที่พระองค์ประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตร เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่พระนางเจ้าสุวัทนาฯ มีรับสั่งให้นายช่างจากกรมศิลปากรวาดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องระลึกถึง ‘ทูลกระหม่อมก๊ะ’ ของเจ้าฟ้าหญิงที่คอยทอดพระเนตรลงมาจากสรวงสวรรค์ เพื่อดูแลทุกข์สุขของพระราชธิดาผู้ทรงเป็นดวงแก้วในวาระสุดท้าย

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กับพระชนนีของพระองค์จะทรงนำมาลัยมาถวายเบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ พร้อมทั้งทรงกราบถวายบังคมเป็นประจำทุกวัน

ข้างซ้ายของท้องพระโรงนี้จะมีบันไดโค้งทอดตัวเอนชิดติดผนังขึ้นสู่ชั้นบน ไม่มีเสาค้ำ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการแสดงฝีมือของวิศวกรยุคกึ่งพุทธกาลที่สร้างบันไดรับน้ำหนักแค่ข้างเดียวได้ ใต้บันไดนั้นมีเปียโนโบราณหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นมุมสำราญพระอิริยาบถของเจ้าฟ้าหญิงฯ ร่ำลือกันว่าเปียโนหลังนี้เคยเป็นเครื่องมือในการพระราชนิพนธ์ดนตรีประกอบบทละครต่าง ๆ ของพระชนก ต่อมาตกทอดสู่พระตำหนักสู่สวนรื่นฤดี และวังรื่นฤดีในซอยสุขุมวิท 38 ตามลำดับ

นอกจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ จะทรงได้รับพระราชมรดกเป็นเครื่องดนตรีชนิดนี้แล้ว พระองค์ยังได้รับพระอัจฉริยภาพทางเปียโนมาอย่างเต็มเปี่ยม โดยตลอดพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงเปียโนได้อย่างคล่องแคล่วทั้งเพลงไทยอย่างสุนทราภรณ์และเพลงฝรั่งเก่า ๆ บางครั้งก็ทรงบรรเลงเปียโนประทานแด่คนใกล้ชิดหรือพระอาคันตุกะที่มาเฝ้าฯ พระองค์ด้วย

ด้านหน้าบันไดและเปียโนหลังนี้มีชุดรับแขกชุดหวายที่โปรดฯ ให้นำมาจากอังกฤษ และมีตู้เก็บของสะสมในพระองค์ที่พอยกตัวอย่างโดยสังเขปได้ก็เช่นตลับงาช้างซึ่งเคยเป็นของเล่นยอดนิยมของเจ้านายฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้เพราะงาช้างยังเป็นของหาง่ายเมื่อครั้งกระโน้น ชนชั้นสูงยุคหนึ่งเคยเก็บสะสมไว้แสดงรสนิยม ความทันสมัย ความมีสุนทรียภาพ และแสดงฐานะทางสังคม

เพื่อแบ่งอาณาเขตระหว่างฝ่ายหน้าที่เปรียบเสมือน ‘พื้นที่ส่วนกลาง’ กับฝ่ายในอันเป็นพื้นที่ส่วนพระองค์ ฉากกั้นและผ้าม่านเลยเป็นเครื่องเรือนชิ้นสำคัญที่วังรื่นฤดีติดตั้งไว้ โดยฉากกั้นบางฉากในพระตำหนักนี้เป็นของเก่าแก่อายุจวนจะร้อยปี ในจำนวนนั้นมีบางฉากที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา ตั้งใจนำมาจัดแสดงให้ประชาชนได้เข้าชมในภายหน้า

พื้นที่ฝ่ายใน

ถ้าหากท้องพระโรงถือเป็นพื้นที่ฝ่ายหน้า พื้นที่ส่วนที่เหลือทั้งหมดภายในตำหนักนี้ก็ถือเป็นพื้นที่ฝ่ายใน เริ่มจากสวนเล็ก ๆ ที่อยู่เลยจากเปียโนไป เป็นสวนหย่อมที่จัดไว้ในตำหนัก ประดับต้นไม้ทั้งที่เป็นไม้ดอกและไม้ใบ อาทิ หมาก เฟิร์น โปร่งฟ้า กล้วยไม้ อยู่ตามแนวหินอ่อนที่ก่อขอบสูงขึ้นมา หรือในส่วนที่เจาะลึกลงไปด้านล่าง ด้านหนึ่งของสวนนี้ยังขุดบ่อน้ำไว้สำหรับเลี้ยงปลาเงินปลาทองด้วย

เปิด วังรื่นฤดี วังนอกขนบกลางซอยสุขุมวิท 38 ของพระราชธิดาองค์เดียวในรัชกาลที่ 6

ตรงสวนหย่อมในตำหนักที่อาจเรียกว่าเป็นมุมสำราญพระอิริยาบถนี้ ยังเป็นที่แสดงปฏิภาณไหวพริบอันหลักแหลมของคุณสมภพ คือการใช้แสงและลมธรรมชาติผ่านบล็อกช่องลม และช่องแสง Skylight ลายจุดกลมที่สะพรั่งอยู่บนเพดานตำหนัก แสงที่แปรผันไปตามช่วงเวลาของวันจะแปรเปลี่ยนแสงตกกระทบลงมายังพื้นสวน ให้สีสันที่ผิดแผกกันไป โดยแสงแดดที่จะสาดส่องลงมายังช่องแสงนี้เป็นแสงจากทิศเหนือที่ไม่ใช่แสงทางตรง ส่วนลมจากบล็อกแก้วจะพัดพรูให้ความสดชื่นสบายตลอดวัน

อาจกล่าวได้ว่านี่คือมุมโปรดของเจ้าฟ้าหญิงฯ เนื่องจากพระองค์จะเสด็จมาเสวยพระกระยาหารเช้าที่นี่สม่ำเสมอ พลางทอดพระเนตรปลาในบ่อและสดับเสียงร้องเจื้อยแจ้วของนกคีรีบูนตัวน้อยในกรง

แต่หากเป็นพระกระยาหารเที่ยงหรือค่ำ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ จะเสวยที่ห้องเสวยด้านหลัง ซึ่งต้องเดินผ่านห้องวรภาชน์ (Pantry) และห้องสมุดเข้าไป จึงจะพบกับโต๊ะเสวยกับพระเก้าอี้จำนวน 10 ที่นั่ง จัดวางหันหน้าเข้าหาภาชนะเครื่องแก้วดูดีมีราคาที่แลลานตาอยู่บนโต๊ะเสวยยาวตัวนั้น ยามทอดสายตามองไปนอกพระทวารกระจกก็จะเห็นสนามหญ้ากว้างเรียบด้านหลังวังฝั่งทิศตะวันออก อันเป็นที่จัดงานพระราชทานเลี้ยงในหลายโอกาส

มุมหนึ่งในห้องเสวย

ในวันวานที่ 2 พระองค์เพิ่งเสด็จนิวัติประเทศไทย วังรื่นฤดีเป็นที่จัดงานสังคมประเภทงานบอล หรือกาลาดินเนอร์อยู่เป็นนิจสิน นับได้ว่าเป็นสถานที่แรก ๆ ในสยามประเทศที่ริเริ่มจัดงานสังคมเหล่านี้ โดยรายได้จากผู้เข้าร่วมมักนำไปสานต่อพระกรณียกิจและโครงการในพระอุปถัมภ์ต่าง ๆ ที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงสานต่อกิจการที่พระบิดาทรงริเริ่มเอาไว้

ถึงห้องหับชั้นล่างจะมีมากมายและมีเนื้อที่กว้างขวาง ทว่าชั้นบนมีห้องอยู่เพียงไม่กี่ห้อง ล้วนมีขนาดเล็ก ประกอบด้วย ห้องบรรทมและห้องสรงอย่างละห้องสำหรับเจ้าฟ้าหญิงฯ และพระชนนี มีพระทวารเปิดถึงกันได้ นอกนั้นก็มีแค่ห้องพระและห้องเก็บของที่ดูเหมือนกับบ้านคนธรรมดา

อีกห้องหนึ่งที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ คือห้องพักผ่อนพระอิริยาบถตรงกลางพระตำหนัก เพราะเป็นห้องที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงใช้เวลาบั้นปลายพระชนม์ชีพที่ห้องนี้ที่เคยเป็นสถานที่ทรงถักนิตติงสีเขียวที่พระองค์มักถักประทานให้ทหารนำไปสวม ต่อเมื่อพระชันษาสูงขึ้น พระโรคเบียดเบียนเพิ่มขึ้น พระวรกายของพระราชธิดาองค์เดียวในพระมงกุฎเกล้าฯ ก็เริ่มถดถอย จนต้องประทับบนพระแท่นภายในห้องนี้เป็นหลัก

บั้นปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ต้องประทับบนพระเก้าอี้เลื่อนตลอดเวลา

ข้าราชบริพารในพระองค์เล่าว่าช่วงปีท้าย ๆ ที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ประชวรไปตามวงจรพระโรค ภายในห้องพักผ่อนพระอิริยาบถนี้ได้กลายสภาพเป็นห้องบรรทม มีพระแท่นที่ปรับระดับได้ พร้อมด้วยนางพยาบาลจากโรงพยาบาลศิริราชผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเฝ้าดูแลพระอาการอย่างใกล้ชิด 1 คน ตลอด 24 ชั่วโมง น้อยครั้งที่จะปรากฏพระองค์ต่อสาธารณะ เมื่อจะต้องเสด็จออกให้ทวยราษฎร์เฝ้าชมพระบารมี ก็จะมีพระเก้าอี้เลื่อนบุนวมเป็นที่ประทับตลอดการเสด็จ ทำให้พระองค์อาจเป็นพระบรมวงศ์พระองค์แรก ๆ ในโลกที่ได้ประทับบนพระเก้าอี้เลื่อนรูปแบบนี้

ลุถึงปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 พระอาการประชวรของเจ้าฟ้าหญิงได้ทรุดลงตามลำดับ แม้จะเสด็จประทับรักษาพระองค์ภายในโรงพยาบาลศิริราชที่พรั่งพร้อมด้วยคณะแพทย์มากความสามารถ ทว่าพระอาการก็ได้ทรุดลงตามลำดับ จนสิ้นพระชนม์ช่วงเย็นวันที่ 27 กรกฎาคมปีนั้นเอง

พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์หลังจากพระชนนีของพระองค์ 26 ปี และหลังพระบรมชนกนาถ 85 ปี โดยที่พระองค์มิได้ทรงเสกสมรส พระราชสันตติวงศ์ในรัชกาลที่ 6 จึงสิ้นสุดลงพร้อมกับลมหายพระทัยของพระราชธิดาพระองค์เดียว

วังรื่นฤดีในวันนี้อาจไม่มีเจ้านายประทับอยู่เช่นกาลก่อน แต่ที่นี่ก็ยังเป็นที่พำนักและปฏิบัติงานของเหล่าข้าราชบริพารที่เคยพึ่งพระบารมีปกเกศคุ้มเกล้า ตลอดจนสำนักงานมูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา ที่ตั้งขึ้นตามพระประสงค์ของทั้งเสด็จพระนางฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ที่ล้วนปรารถนาจะให้ดอกผลของพระกรณียกิจและทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยสืบไป

คุณสรรเพชญ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยรองเลขาธิการมูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา เล่าขณะนำชมภายในพระตำหนักว่า มูลนิธินี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อสืบสานพระปณิธานของทั้งพระชนนีและเจ้าฟ้าหญิงฯ ที่ทรงอนุเคราะห์กิจการในสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าอย่างเต็มกำลัง ถึงพระองค์จะเสด็จจากโลกนี้ไปนานนับทศวรรษแล้ว แต่ในพระพินัยกรรมของพระองค์ก็ระบุชัดเจนว่ามูลนิธินี้ก็จะทำหน้าที่ดั่งเงาแทนพระองค์บนโลกที่จะคงอยู่ไปตลอดกาลนาน

งานที่สำคัญของมูลนิธิก็เช่นมอบทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนโรงเรียนในพระอุปถัมภ์ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ทั้งเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก อีสาน หรือแม้แต่ภาคกลาง เจ้าหน้าที่มูลนิธิล้วนไปเยือนมาหมดเพื่อสนองพระราชปณิธานข้อนี้นั่นเอง

ปัจจุบันวังรื่นฤดีก็ยังคงสถานะความเป็นวังของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ไว้ดังเดิม เห็นได้จากการมีตำรวจมาเฝ้าอารักขากะละ 1 นาย ระเบียบการเข้าสถานที่ซึ่งกำหนดให้ผู้คนแต่งกายสุภาพ งดสวมเสื้อผ้าสีขาวล้วนหรือดำล้วนทั้งชุด ไม่ใส่เสื้อแขนกุดหรือเสื้อลูกไม้ที่เผยผิวกายใต้ร่มผ้า รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงรองเท้าผ้าใบ เป็นกฎที่เหล่าข้าราชบริพารยังยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการปฏิบัติงานทุก ๆ วัน

รถยนต์ที่นั่งของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ได้รับการจดทะเบียนเยี่ยงรถสามัญชนทั่วไป ปัจจุบันได้รับการซ่อมบำรุงและยังเก็บรักษาอยู่ที่วังรื่นฤดีดังเดิม

เจ้าพนักงานฝ่ายห้องเครื่อง 6 – 7 คนในวังรื่นฤดีทุกวันนี้ส่วนใหญ่ยังทันทำพระกระยาหารเสวยแด่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ บางครั้งบางงานพวกเขาก็จะทำอาหารสูตรวังรื่นฤดีออกขาย ไม่ว่าจะเป็นแกงคั่วสับปะรดไข่แมงดา น้ำพริกขิงปลาดุกฟู น้ำพริกปลากุเลารสชาติไม่เผ็ดจัดจ้านที่เป็นเมนูโปรด เนื่องด้วยเจ้าฟ้าหญิงฯ ไม่โปรดรสเผ็ด รายได้จากการขายอาหารก็จะนำไปมอบให้มูลนิธิและโครงการต่าง ๆ ต่อไป

ทุกวันคล้ายวันประสูติและสิ้นพระชนม์ ผู้เคยรับใช้เบื้องพระยุคลบาทก็ยังรักษาธรรมเนียมทำบุญถวายเป็นพระราชกุศลแด่เจ้านายผู้ล่วงลับตลอดมา ไม่เว้นแม้แต่ปีเดียว

การเปิดวังรื่นฤดีเป็นพิพิธภัณฑ์ตามวาระสำคัญก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะเชิดชูพระเกียรติยศเสด็จพระนางฯ กับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ และสืบต่อพระเจตนารมณ์ที่ทรงฝากฝังไว้อีกด้วย

“วังรื่นฤดีเป็นหมุดหมายทางศิลปวัฒนธรรมที่จะทำให้พระชนม์ชีพของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ และเสด็จพระนางฯ ยังคงอยู่ แม้พระองค์จะไม่อยู่แล้วก็ตามที อะไรที่เราจะยืดอายุให้คนรุ่นต่อไปได้เห็นมากที่สุด เราก็จะยังรักษาไว้ในพื้นที่วังรื่นฤดี เช่น งานเคหศิลป์ ข้าหลวง พนักงาน กิริยามารยาท อาหาร การแต่งกาย เคยปฏิบัติอย่างไร ยังคงให้ปฏิบัติอย่างนั้น 

“การเปิดวังเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรอาจเป็นเรื่องยากเกินไป เพราะทางมูลนิธิยังไม่มีทรัพยากรมากพอแต่ทุกสิ่งทุกอย่างในการบริหาร ยังคงดำรงเหมือนเดิม เสมือนว่าพระองค์ท่านยังดำรงพระชนม์อยู่ นี่คือ ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต’ อย่างแท้จริง เพราะทุกอย่างที่นี่ยังเป็นคลังความรู้ที่จะส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังได้ครับ” 

อาจารย์ชัชพลสรุปแนวคิดในการเปิดวังรื่นฤดีให้เราฟัง ก่อนที่คุณสรรเพชญจะแย้มพรายความลับว่าในปี พ.ศ. 2568 ที่ครบรอบ 100 ปีวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ และ 100 ปีการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วังรื่นฤดีก็จะเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมอีกครั้ง พร้อมกับจัดแสดงของสะสมในพระองค์ที่แทบไม่เคยนำมาออกมาในวาระอื่นใดก่อนหน้าอีกด้วย

วังรื่นฤดีจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นกรณีพิเศษในงาน Night at The Museum Festival 2023 เทศกาลท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ในยามค่ำคืน ระหว่างวันที่ 15 – 16 ธันวาคม ต่อด้วยงานการกุศลในวันที่ 17 ธันวาคม ผู้ใดสนใจเข้าร่วมงานดังกล่าว ติดตามข่าวสารและติดต่อสำรองที่นั่งกับมูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา ได้ที่ Facebook : มูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา และไลน์ bsf_official เท่านั้น

ขอขอบพระคุณผู้ให้สัมภาษณ์
  • คุณสรรเพชญ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา – ผู้ช่วยรองเลขาธิการมูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา
  • คุณโลจน์ นันทิวัชรินทร์ – เจ้าของคอลัมน์ Heritage House
  • รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร – ผู้เรียบเรียงหนังสือ ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า
  • ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน – สถาปนิกอนุรักษ์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
  • วินิตา ดิถียนต์, คุณหญิง และ ชัชพล ไชยพร. (2550) ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า. กรุงเทพฯ: อักษรโสภณ.

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ