นอกจากเป็นที่กินอยู่หลับนอน หนึ่งในปัจจัยสี่อย่าง ‘บ้าน’ ยังเป็นอะไรได้อีกมากโข

ทั้งที่ทำงาน สถานที่พบปะสังสรรค์ สมบัติประจำตระกูล เครื่องแสดงฐานะ จนถึงศูนย์รวมครอบครัวซึ่งผู้พักอาศัยพึงถ่ายทอดความรัก ความอบอุ่นต่อกัน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้คนทุกยุคสมัยพากันสร้างบ้านของตนออกมาให้ดีพร้อมที่สุดเท่าที่ฐานะของตนจะส่งเสริม

ต่อเมื่อเวลาล่วงเลยไป ความทรุดโทรมก็คืบคลานเข้ามา ไม่ว่าบ้านไหน ๆ ก็ต้องพบกับความเสื่อมสภาพและการล้มหายตายจากของบรรดาผู้อยู่ ลองคิดดูว่าหากวันใดบ้านสวยของเจ้าคุณทวดโทรมลง และทายาทไม่คิดจะอยู่ต่อ จะทำยังไงกับสิ่งปลูกสร้างที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษหลังนี้ 

‘ทุบทิ้ง’ อาจเป็นคำตอบแรกที่หลายคนคิดออก ทว่าทีมงาน ‘เรือนเฮอริเทจ’ ของ บริษัท 9 อาณาจักร จำกัด คงไม่ยอมให้เลือกแนวทางที่บุ่มบ่ามเช่นนั้น ในเมื่อพวกเขามีลูกค้ามากมายที่ยังต้องการเป็นเจ้าของบ้านเก่าเหล่านี้ และมีทีมช่างที่เก่งพอจะซ่อมแซมให้สวยเหมือนใหม่ รวมทั้งย้ายบ้านหลังนั้นไปตั้งยังที่ดินแปลงใหม่ได้ด้วย

ธุรกิจรับซื้อ บูรณะ ขายต่อ บ้านโบราณอย่างครบวงจรนี้เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของ จักร กาญจนากาศ เมื่อราว 17 ปีก่อน นับจากตอนนั้นมาถึงตอนนี้ มีบ้านอายุร้อยปีที่ผ่านการซ่อมแซม (และย้าย) โดยทีมงานของเขามาเป็นสิบ ๆ หลัง บ้างได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นเป็นเครื่องการันตีคุณภาพ

การซ่อมย้ายบ้านเก่าเมื่อศตวรรษก่อนมีลำดับวิธีการอย่างไร จักรต้องลงทุนลงแรงแค่ไหนกับธุรกิจนี้ และในฐานะผู้ประกอบการคนหนึ่ง เขาได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับสิ่งที่ได้ทำหรือไม่ 

ชวนไปค้นหาคำตอบกับหัวเรือใหญ่แห่งเรือนเฮอริเทจได้ในคอลัมน์ The Entrepreneur ตอนนี้

ผู้ซื้อ-ผู้ขาย

ยามเย็นที่ตะวันยอแสงส่องกระทบผิวน้ำเจ้าพระยา เรือนไม้สีเทาคร่ำคร่าหลังหนึ่งตั้งเด่นอยู่ริมแม่น้ำฝั่งเกาะเกร็ด ท่ามกลางนั่งร้านไม้ไผ่ ตาข่ายกรองแสง และบรรดาคนงานที่รายล้อมรอบเรือน

ที่เราลงทุนนั่งเรือข้ามฟากมาถึงเกาะกลางแม่น้ำในจังหวัดนนทบุรี ก็เพราะข้อความที่ได้สนทนากับจักรครั้งแรก บอกเป็นนัยไว้ว่าที่นี่คือไซต์งานที่ใกล้เมืองหลวงที่สุดแห่งหนึ่งของนักบูรณะบ้านเก่าผู้ขึ้นเหนือล่องใต้เป็นประจำไม่เคยหยุดพักอย่างเขา

“สัปดาห์หน้าผมอยู่เชียงดาว ต้องรออีกเป็นอาทิตย์ ๆ เลย ถึงจะกลับมากรุงเทพฯ ครับ” ใจความหลักที่จักรบอกเราในข้อความส่วนตัวว่าอย่างนั้น

จักรตะโกนทักทายเราจากหน้าต่างชั้นบน เร่งเสียงแข่งกับเสียงตัดไม้ของลูกน้อง พลางเชื้อเชิญให้ปีนบันไดลิงที่ต่อขึ้นง่าย ๆ จากไม้ไผ่เช่นเดียวกับนั่งร้าน แม้ตัวเขาจะอยู่ในชุดเสื้อเชิ้ตสีขาวสะอ้านกับกางเกงสแล็กสีน้ำตาลอ่อน แต่ก็ไม่เป็นปัญหาในการปีนขึ้นปีนลงสำหรับผู้คร่ำหวอดกับวงการก่อสร้างมายาวนานตั้งแต่สมัยเรียน

จักรเล่าว่าเขาเรียนด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์มาตั้งแต่ชั้น ปวช. ก่อนไปต่อด้านงานไม้ที่วิทยาลัยเพาะช่าง ซึ่งบ่มเพาะทักษะการเข้าเดือย การทำเฟอร์นิเจอร์ไม้แก่เขามาตั้งแต่นั้น แต่ด้วยพื้นฐานความเป็นคนชอบสะสมของเก่าอย่างแสตมป์และรูปภาพมาแต่เด็ก เมื่อประสมกับบรรยากาศสถาบันอันเก่าแก่และวิชางานไม้ที่ได้เรียน ก็ทำให้เขาหลงใหลในอาคารบ้านเรือนโบราณไปโดยปริยาย

จุดเริ่มต้นของการบูรณะบ้านเก่ามาจากการค้าของเก่า จักรมีธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์เก่ามาก่อน โดยตระเวนรับซื้อข้าวของเครื่องใช้ตามบ้านคนตั้งแต่ พ.ศ. 2539 – 2540 โดยยุคนั้นคนส่วนมากก็ต้องการแค่เฟอร์นิเจอร์เหลือทิ้งจากบ้านเก่า หรือแค่นำไม้เก่าที่ทนทานจากโรงไม้มาสร้างอย่างอื่น

จนกระทั่ง พ.ศ. 2550 เขาถึงได้รู้ว่าบ้านเก่าทั้งหลังก็มีคนสนใจอยากจะซื้อและย้ายเช่นกัน

“ผมไปซื้อบ้านเก่าหลังหนึ่งที่ราชวัตร เป็นบ้านนางสนองพระโอษฐ์ในรัชกาลที่ 7 แล้วมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งสนใจจะให้ย้ายไปไว้ที่สำโรง ผมก็เริ่มทำหลังแรกที่ตรงนั้น ปัจจุบันก็ยังอยู่ เลยคิดได้ว่าจะรื้อบ้านเก่าทิ้งไปเฉย ๆ นี่ไม่ดี สู้เราหาคนที่เขาต้องการบ้านเก่ามาพบกันดีกว่า”

บ้านโบราณในเมืองไทยส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นกลางสวนหรือริมแม่น้ำ ซึ่งจัดเป็นทำเลที่ดีในบริบทสังคมสมัยนั้น แต่เมื่อสังคมเปลี่ยน การคมนาคมและวิถีชีวิตเปลี่ยน ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

อย่างบ้านริมแม่น้ำ พอคนไทยเปลี่ยนจากการพายเรือมาขับรถ เดินถนน บ้านทำเลทองที่อยู่ริมน้ำบางหลังกลายเป็นที่ตาบอด เพราะรถเข้าไม่ได้ ถนนตัดไปไม่ถึง ส่วนบ้านที่เคยตั้งตระหง่านอยู่กลางสวน พอเจ้าของบ้านสิ้นชีวิต ลูกเมียที่แยกสาแหรกกันไปก็แบ่งที่ดินกันคนละส่วน หลายครอบครัวปลูกบ้านของตัวเองรอบเรือนใหญ่หรือนำไปขายต่อจนกลายเป็นชุมชนแออัดรอบ ๆ ก็มีให้พบออกบ่อย

ยังไม่รวมถึงปัญหาอื่น ๆ เช่น ลูกหลานเสียชีวิต คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการอยู่บ้านเก่า หรือฐานะเจ้าของบ้านด้อยลงจนเกินกำลังทรัพย์ที่จะดูแลบ้านให้สวยงามดังเดิม การขายบ้านมรดกเพื่อรับเป็นเงินจึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับลูกหลานหลายสายตระกูล

ขณะที่ผู้ซื้อก็มีเหตุผลของพวกเขา มีทั้งที่ต้องการซื้อไว้เพื่อประดับบารมี เสริมสร้างภาพลักษณ์ แสดงรสนิยม เก็งกำไรเพื่อนำไปขายต่อหรือให้เช่าทำธุรกิจต่าง ๆ หรือแค่เพราะความชอบก็สุดแท้แต่ใจเขา

บ้านโบราณจึงเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่งที่มีทั้งผู้ต้องการขายและผู้ต้องการซื้อ เมื่อเล็งเห็นโอกาสนี้แล้ว หน้าที่ของจักรคือการนำคนทั้ง 2 กลุ่มมาพบกัน โดยในระหว่างการซื้อขายนั้น จักรจะเป็นคนกลางที่เข้าไปปรับปรุงสภาพบ้านให้สวยงาม ควรค่าแก่การครอบครองโดยเจ้าของใหม่

“บ้านแต่ละหลังที่เราซื้อมา มันคือ Heritage หรือมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษเขา หน้าที่ของเราคือการส่งต่อมรดกนี้แก่เจ้าของใหม่ เป็นที่มาของชื่อ ‘เรือนเฮอริเทจ’ ที่มาตั้งทีหลังครับ”

ผู้ซ่อม-ผู้ย้าย

งานของจักรเริ่มต้นตั้งแต่การเสาะหาบ้านเก่าที่อยู่ในสภาพรอคอยเจ้าของใหม่และการบูรณะ ก่อนจะซื้อบ้านหลังนั้นมาซ่อมและรอขายต่อ แต่ส่วนมากแล้ว เรือนเฮอริเทจจะโชคดีที่มีลูกค้าแสดงความประสงค์จะซื้อต่ออยู่ก่อนแล้ว หน้าที่ของเขาจึงเหลือเพียงแค่ตกลงรายละเอียดกับเจ้าของใหม่ พร้อมกันนั้นก็คัดเลือกบ้านให้เหมาะสมกับเจ้าของด้วย

“บ้านไม้บ้านโบราณพวกนี้สําคัญที่ความพร้อมในการรักษา ไม่ใช่สร้างแล้วจบ ทุกปียังต้องคอยดูแลและบูรณะอยู่ตลอด คนที่ซื้อไปก็ต้องหมั่นดูแลด้วย”

และเนื่องจากบ้านโบราณในปัจจุบันมักติดปัญหาด้านทำเล ประกอบกับผู้ซื้อมักมีที่ดินส่วนตัวที่ตั้งใจให้ย้ายไปตั้งไว้อยู่แล้ว งานของเรือนเฮอริเทจจึงทวีความยากขึ้นไปอีกขั้น เพราะก่อนจะได้ลงมือซ่อมแซมสภาพบ้านหลังนั้น พวกเขายังมีขั้นตอนการชะลอ (ย้าย) บ้านเพิ่มเข้ามาอีก

“ผมไม่ได้ดูธุรกิจของคนอื่น แต่ธุรกิจรับซ่อมบ้านโบราณที่ผมเห็นส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อแล้วบูรณะตรงนั้น เก็บไว้ตรงนั้น แต่ของเราโดยมากจะมีการย้าย แทบไม่มีการบูรณะไว้ที่เดิมเลย ดังนั้น ถ้าเป็นการซื้อ ย้าย ซ่อม แล้วขายต่อครบทั้งวงจรแบบนี้ เราน่าจะเป็นไม่กี่รายที่ทำครับ” จักรให้ข้อมูล ก่อนอธิบายว่า ‘เรือนหลวงอัยกิจเสนีย์’ ที่เรากำลังสนทนากันอยู่นี้ก็ถูกย้ายมาจากที่อื่นเหมือนกัน

ในกระบวนการชะลอบ้านไปไว้ที่ใหม่ ทีมงานเรือนเฮอริเทจจะต้องวัดพื้นที่ทั้งหมด ถ่ายทำรายละเอียดทุกจุด ทำเครื่องหมายทุกจุดเพื่อให้ง่ายต่อการประสานงานระหว่างทีม 

ทีมออกแบบจะเป็นผู้เก็บภาพทำข้อมูลก่อนอันดับแรก

ทีมรื้อถอนซึ่งช่วยกันทำงานจนรู้จังหวะ รู้ชนิดวัสดุดีพอว่าสิ่งใดควรเก็บ สิ่งใดควรทิ้ง หากมีจุดเสียหายที่พอซ่อมได้ก็จะนำไปแก้ไขกันในภายหลัง นำทุกอย่างส่งเก็บในโกดัง

จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของทีมออกแบบที่จะต้องมาดูแลทั้งหมดและแบ่งงานกันทำ

ส่วนขั้นตอนการสร้างหรือประกอบใหม่ ทีมสร้างก็จะนำวัสดุที่ถอดออกจากที่ตั้งเดิมมาประกอบใหม่ตามการออกแบบที่จักร โฟร์แมน และวิศวกรโครงสร้างวางเอาไว้ ซึ่งเรือนเฮอริเทจจะเลือกใช้ช่างไม้ที่ชำนาญการมาทำขั้นตอนนี้ เพราะบ้านโบราณในไทยส่วนใหญ่สร้างจากไม้ ถ้าให้ช่างไม้ทำจะได้งานที่ประณีตเป็นพิเศษ ค่าที่พวกเขามีประสบการณ์และความอดทนเหนือกว่าช่างก่อสร้างทั่วไป

จักรกล่าวว่าในการประกอบบ้านหลังหนึ่งนั้น เขาจะทำบ้านทั้งหลังขึ้นมาให้เสร็จก่อน แล้วค่อยมาตรวจตราหาส่วนที่ชำรุดเสียหาย ก่อนเก็บงานตามจุดนั้น ๆ ซึ่งแม้จะทำให้กระบวนการล่าช้า แต่ก็แลกมากับความภูมิใจของผู้รอรับมอบบ้านหลังนี้ไปดูแลต่อ

“โดยเฉลี่ยแล้ว บ้านแต่ละหลังทำอยู่ 2 ปีกว่าจะเสร็จ” นายใหญ่ของทีมงานเรือนเฮอริเทจเผยตัวเลขที่น่าทึ่ง “บางโปรเจกต์ทำอยู่ 6 – 7 ปีก็มีครับ มันช้าเพราะเป็นของเก่า ถ้าเป็นของใหม่ง่ายจะตาย สั่งไม้มาทำแค่ 6 เดือนก็เสร็จ แต่พอเป็นของเก่า เราต้องมานั่งเก็บรายละเอียดทีละส่วน ขัดคราบเป็นเดือน ๆ ของทุกอย่างมาพร้อมกับบ้าน เรามาร์กทุกอย่างมาประกอบจุดเดิมหมด ถ้าเสียหายก็ต้องซ่อม”

เคราะห์ดีที่ลูกค้ามักไม่ใช่คนใจเร็วด่วนได้ ทุกคนต่างเข้าใจว่าของดีต้องรอนาน จึงยอมรับได้กับการซ่อมและย้ายที่ผลาญเวลานานเป็นหลักปี ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาในขั้นตอนการขนย้ายวัสดุไปมากกว่าขั้นอื่น ด้วยตำแหน่งที่ตั้งบ้านโบราณมักอยู่ในย่านที่คมนาคมขนส่งไม่สะดวก

จักรรักบ้านเก่าทุกหลัง ทั้งที่เขาทำหน้าที่เป็นคนกลางที่รับซื้อมาบูรณะแล้วขายต่อให้เจ้าของใหม่ แต่เขาก็เลือกผู้ถือครองใหม่อย่างพิถีพิถันที่สุด เพื่อไม่ให้เจ้าของดั้งเดิมตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นสุดท้ายต้องผิดหวัง

ดังนั้น เขาเลยไม่นึกเสียดายแรงและเวลากับการอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจสภาพบ้านเก่าแต่ละหลัง แนะนำการตกแต่งดูแลสถาปัตยกรรมแต่ละประเภทว่าควรทาสีใด ซ่อมแซมแบบไหน อะไรควรเก็บไว้ อะไรควรทำใหม่ และอะไรควรปล่อยมันไปตามยถากรรม

เพราะอย่างนี้กระมัง ผลงานบูรณะบ้านโดยเรือนเฮอริเทจจึงได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาหลายหลังแล้ว

ผู้ให้-ผู้ได้

19 คือสถิติอย่างเป็นทางการของจำนวนบ้านโบราณที่ผ่านการบูรณะโดยเรือนเฮอริเทจ

ดูแต่ตัวเลขอย่างเดียว 19 หลังอาจดูเหมือนน้อยนิดเมื่อเทียบกับระยะเวลาถึง 17 ปีที่จักรปลุกปั้นธุรกิจนี้ขึ้นมา เพิ่มเติมจากงานค้าเฟอร์นิเจอร์เก่าที่เขาทำมาก่อนจนตั้งตัวได้แล้ว แต่ถ้าพิจารณาเวลาการทำบ้านแต่ละหลังประกอบด้วย จะพบว่ามันเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย

งานของเขาล้นมืออยู่ตลอดเวลา ต้องแยกทีมงานสร้างบ้านแต่ละหลังพร้อมกันไปเป็นปกติ ชีวิตของจักรก็ไม่เคยอยู่กับที่ เดี๋ยวบินขึ้นเชียงใหม่ ขับรถไปเขาใหญ่ กลับมานอนกรุงเทพฯ แค่คืนเดียว แต่ไปใช้ชีวิตทั้งวันอยู่กับไซต์งานที่เกาะเกร็ด สลับกันไปมาอยู่อย่างนี้

ไซต์งานใหญ่ของเขาอยู่ที่อำเภอเชียงดาว เนื่องจากมีลูกค้ารายใหญ่ต้องการชะลอบ้านโบราณไปตั้งในสถานที่ส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก ซึ่งจักรมองว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมกว่าที่เก่า ด้วยบรรยากาศปลอดโปร่งโล่งสบายของภาคเหนือ ย่อมเหมาะจะให้เรือนเก่าแก่อายุเกินศตวรรษเหล่านั้นได้อวดโฉม มากกว่าเมืองกรุงที่เต็มไปด้วยป่าคอนกรีต เดินทางเข้าออกก็ไม่สะดวก ซ้ำยังแวดล้อมไปด้วยแหล่งชุมชนแออัด เคยมีประวัติการบุกรุกที่ดินหรือขโมยทรัพย์สินในบ้านมาแล้ว

รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นที่ได้มา เรือนเฮอริเทจเป็นผู้ส่งประกวดเอง แต่ยกให้ในนามลูกค้า เพื่อเป็นเครื่องยืนยันคุณภาพบ้านโบราณที่เขาซื้อต่อมา

ทั้งที่เป็นงานฝีมือสุดละเอียด ต้องใช้คนมาช่วยกันออกแรง ออกฝีมือ อาศัยมันสมองมากมาย แต่รายได้จากการทำบ้านเหล่านี้กลับไม่ได้แพงลิบลิ่วอย่างที่เราคิด โดยมากตกอยู่แค่หลักล้าน นับว่าไม่ได้มากมายเลยเมื่อเทียบกับทุนที่เขาต้องเสียไป และฐานะลูกค้าผู้รอวันส่งมอบบ้านเก่าทำใหม่

ความอยากรู้อยากเห็นดลใจให้เราถามออกไปว่า “คุณจักรได้อะไรจากการทำธุรกิจนี้”

“สําหรับผม มูลค่ากับคุณค่ามันแยกกัน” เขาตอบเต็มเสียง “มูลค่าคุ้มไหม มันพออยู่ได้ แต่คุณค่านี่มันคุ้มมากในแง่ที่เราได้ทําประโยชน์ให้กับคนอื่น เป็นประโยชน์ที่ให้ความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ งานนี้คือวิชาชีพที่ผู้ให้อย่างเราเรียนมาโดยตรง ผู้รับทั้งคนซื้อและคนขายเขาก็มีความสุขกันทั้ง 2 ฝ่าย 

“ทุก ๆ หลังที่เราทำมา เราจะเชิญเจ้าของเดิมมาเยี่ยมชมเสมอ พอได้เห็นแล้วเขาร้องไห้กันทุกคน เขาดีใจ เพราะตอนที่อยู่กับเขามา มันค่อย ๆ พังไปตามเวลา แต่ปัจจุบันกลับมาดูดีแล้ว หลายท่านพูดว่า ฉันตายตาหลับแล้ว ขึ้นไปหาบรรพบุรุษก็ไม่อายแล้ว เพราะบ้านนี้ได้ส่งมอบไปสู่คนที่ดีกว่า”

จักรไม่ลืมยกตัวอย่าง เรือนหลวงอัยกิจเสนีย์ ที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่ เดิมเรือนหลังนี้ของ หลวงอัยกิจเสนีย์ อดีตตุลาการศาลทหาร เคยตั้งอยู่ในย่านสามเสน เป็นบ้านไม้พื้นยกสูงซึ่งต้องขึ้นบันไดราว 1 ชั้น ทายาทของคุณหลวงท่านนี้ชราภาพมากจนเดินขึ้นบ้านไม่ไหว เลยออกปากบอกกับจักรว่าให้ช่วยหาเจ้าของใหม่ที่เหมาะสมกับบ้านให้ที จนมาได้ที่ตั้งใหม่ริมแม่น้ำฝั่งเกาะเกร็ดนี้

“คุณลุงที่ขายบ้านให้แกก็ย้ายมาอยู่ตรงข้ามแม่น้ำนี้ คนขายเขายังเห็นบ้านเก่าตัวเองอยู่ทุกวัน ลูกสาวก็คอยพาคุณพ่อมาดูที่ท่าน้ำ”

หลายครั้งจักรก็รู้สึกเหมือนบ้านรอคน และรอให้เรือนเฮอริเทจไปบูรณะต่อ เพราะมีหลายบ้านที่คนอื่นติดต่อเท่าไหร่ก็ซื้อไม่ได้ แต่เจ้าของกลับตัดสินใจขายให้เขาดื้อ ๆ เพราะรู้ว่าเขาพร้อมจะนำบ้านนี้ไปส่งต่อให้คนอื่นที่พร้อมกว่า ไม่ใช่นำไปชำแหละในโรงไม้ แยกส่วนขายอย่างที่เห็นกันทั่วไป

“การทำงานนี้เหมือนเป็นพันธสัญญา ทุกครั้งที่ซื้อบ้าน ผมสัญญากับเจ้าของบ้านว่าจะรับฝากมาดูแล หาเจ้าของใหม่ที่เหมาะกับบ้านให้ ต่อมาเมื่อผู้ซื้อผู้ขายได้เจอกัน ทั้ง 2 ฝั่งก็ยังดีต่อกันเสมอ เราเห็นแล้วเราก็มีความสุขกับการเป็นสื่อกลางส่งมอบเรือนมรดกที่คนได้รับมาดูแลต่อไม่ได้ ให้คนที่พร้อมไปดูแลต่อ เราเป็นทั้งผู้ให้และผู้ได้ที่มีส่วนเติมเต็มให้ทุกฝ่ายมีความสุขจากบ้านโบราณเหล่านี้ครับ”

Lessons Learned

  • การทำสิ่งที่แตกต่างอาจต้องลงทุนลงแรงมากกว่า แต่ก็ช่วยให้ธุรกิจของเราผูกขาดจุดเด่นบางอย่างที่รายอื่นไม่มี
  • ความจริงจัง จริงใจ ทำอะไรทำจริง เป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จได้ทุกยุคทุกสมัย
  • ธุรกิจคนกลางที่ดีต้องให้ประโยชน์ทั้งกับต้นทาง-ปลายทาง ความพอใจที่ได้จากทุกฝ่ายจะนำมาซึ่งความสุขของคนกลางเอง

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

อัครชัย อังศุโภไคย

อัครชัย อังศุโภไคย

ช่างภาพอิสระที่ใช้เวลาว่างไปกับการเดินตลาดของเก่า สะสมหนังสือภาพถ่ายเก่า ซอกแซก สำรวจเมือง และหากาแฟอร่อย ๆ กิน