14 กุมภาพันธ์ 2024
2 K

ฤๅดีคาเฟ่ อโยธยา (Ruedee Cafe Ayothaya) เริ่มเป็นชื่อที่กล่าวขวัญและค้นหาตั้งแต่ช่วงเดือนแรกที่เปิดร้าน เมื่อลูกค้ารุ่นบุกเบิกพากันเผยแพร่คลิปวิดีโอ ‘โชว์’ สุดพิเศษของร้านลงในแอปพลิเคชัน TikTok เรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชมทั่วไทยที่ได้พบเห็น จนเป็นไวรัลภายในไม่กี่วัน

ภาพเคลื่อนไหวของพนักงานร้านในคราบนักแสดง สวมใส่ชุดนักรบ คลุมศีรษะด้วยหมวกหนัง กำลังรัวกลองออกศึกอยู่นอกร้าน ก่อนหันหลังนำแก้วกาแฟในพาน ครอบหมวกแบบเดียวกับที่ตนใส่อยู่ มุ่งหน้ามาวางเบื้องหน้าตั่งไม้ที่ลูกค้านั่งอยู่ด้วยท่วงทีขึงขังราวหลุดมาจากหนังละครย้อนสมัย ภายใต้แสง สี เสียงแสนอลังการ สร้างความสนใจแก่ผู้คนบนโลกออนไลน์ได้อย่างชะงัด ทำให้ไม่ช้าไม่นานลูกค้าก็แห่กันมาจนแน่นร้าน ค่าที่อยากเห็นการแสดงอันน่าตื่นเต้นของคาเฟ่นี้เป็นบุญตาสักครั้ง

ทั้งโชว์ที่เห็น เสื้อผ้าที่ผู้แสดงใส่ อุปกรณ์ที่ใช้เป็นภาชนะ รวมไปถึงการตกแต่งทุกอย่างที่ละลานตาอยู่ในฤๅดีคาเฟ่ ล้วนเกิดจากไอเดียบรรเจิดของ เจี๊ยบ-วัชรินทร์ ศุปธรรม นักธุรกิจชาวกรุงใหม่ ผู้จับพลัดจับผลูมาก่อตั้งร้านในกรุงเก่า ด้วยใจที่หลงใหลวัฒนธรรมไทยเป็นทุนเดิม

ก่อนจะมีฤๅดีคาเฟ่ คุณเจี๊ยบเป็นผู้ประกอบการโรงแรม พักพิง อิงทาง บูติค โฮเทล ในจังหวัดนนทบุรีมานานกว่า 10 ปี และได้เปิดคาเฟ่ชื่อ มากานดาเฮาส์ ขึ้นไล่เลี่ยกับช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 จวบจนกระทั่งวันหนึ่งใน พ.ศ. 2566 ที่ตัวเขาขับรถมาที่พระนครศรีอยุธยา บริเวณใกล้กับวัดกษัตราธิราชวรวิหาร สายตาคุณเจี๊ยบก็บังเอิญสะดุดเข้ากับที่ดินว่างเปล่าริมถนนใหญ่ มีป้าย ให้เช่า ปักเด่นหรา เขาก็รู้สึกถูกชะตากับที่ดินแปลงนี้โดยทันที จึงตัดสินใจเช่าที่ทำคาเฟ่ใหม่ให้สอดคล้องกับตัวจังหวัดและความถนัดส่วนตัว

“ผมอยากให้ร้านมีความเป็นไทย เราเห็นมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าความเป็นไทยเป็นยังไง ยิ่งมาอยู่อยุธยาก็รู้สึกว่าเหมาะสมกับสถานที่ดี” คุณเจี๊ยบเผยความคิดในชั้นแรกของตน

“ตัวผมเป็นคนไทย เรื่องฝรั่งหรือชาติไหน ๆ ผมไม่ถนัด เราเห็นวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่เด็ก ได้ดูจากในทีวี ในหนัง ในละคร ดังนั้นความเป็นไทยจึงสื่อสารออกมาจากตัวเราได้ง่ายสุดครับ”

พอได้คอนเซปต์ร้านแล้วว่าจะสนับสนุนความเป็นไทยให้เต็มที่ คาเฟ่ใหม่ที่กำลังจะเปิดก็ควรต้องมีชื่อเป็นไทยให้สมกับที่ตั้งอยู่ในเขตราชธานีเก่า ผู้ก่อตั้งร้านนึกอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะมอบชื่อแก่ร้านนี้ว่า ‘ฤๅดี’ (อ่านว่า รือ-ดี) โดยพิจารณาจากพยัญชนะตัวแรกเป็นสำคัญ

“เราต้องการใช้ตัวหนังสือที่ไม่ค่อยมีคนใช้ ตัว ฤ นี่แหละที่ไม่ค่อยมี จะได้ไม่ไปซ้ำกับใคร แล้วก็เป็นไทย เราไม่เอาชื่อฝรั่ง เลยได้ออกมาเป็นชื่อ ฤๅดี ซึ่งมีความหมายว่า ชื่นชมยินดี”

ยิ่งกว่าตัว ฤ สระ ๅ ขีดยาวตัวถัดมา ก็ไม่ค่อยจะมีคนใช้ แถมน้อยคนที่จะรู้อีกว่าสระตัวนี้มีอยู่บนแป้นพิมพ์ โดยอยู่ในตำแหน่งเหนือไม้ยมก ตรงกับเลข 1 ของภาษาอังกฤษ

“ถ้าอยู่คู่กับ ฤ ต้องใช้ ๅ ขีดยาวแบบนี้นะครับ ใครที่เขียน า สั้นในชื่อร้านถือว่าไม่ถูก”

ภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน การก่อสร้างคาเฟ่ที่มีชื่อสะกดยากก็แล้วเสร็จไปด้วยดี

จากถนนด้านหน้า เมื่อมองเข้ามายังร้าน สิ่งแรกที่ทุกคนน่าจะเห็นก่อนคือหน้าร้านทรงจั่วที่ตกแต่งขอบหลังคาด้วยเครื่องลำยองตามอย่างสถาปัตยกรรมไทย มียอดช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม่ต่างจากวัดส่วนใหญ่ แต่ทั้งหมดออกแบบมาให้มีสีขาวโพลนกลมกลืนไปกับหลังคาและการตกแต่งทั้งหมด มีพญานาคองค์ใหญ่ขดม้วนลำตัวเป็นเกลียวยืนชูคออยู่กลางสระน้ำด้านหน้า ซึ่งคุณเจี๊ยบมองว่าองค์พญานาคเป็นอมนุษย์ในตำนานที่สื่อถึงความเป็นไทยได้ชัดที่สุด จึงอัญเชิญมาเป็นสัญลักษณ์หน้าร้าน

หลังคาโปร่งแสงทรงจั่ว ยังทำหน้าที่เป็นผนังด้านยาวให้กับร้านไปในตัว ซึ่งผู้ก่อตั้งคาเฟ่ฤๅดีได้กล่าวถึงแนวคิดในการเลือกใช้หลังคาทรงนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

“ถ้าจะออกแบบให้เป็นทรงไทยแท้ไปเลย ที่ไหนในอยุธยาก็มีไปหมดแล้ว ทำไปก็คงเหมือนกับเขาอีก ผมคิดว่าต้องไม่เหมือน จงใจให้ไม่เหมือนใคร เลยเลือกใช้ทรงนี้ซึ่งเป็นทั้งหลังคาทั้งผนัง เราต้องการให้ดูเป็นเอกลักษณ์ ทรงสามเหลี่ยมแบบนี้ก็ดูเข้ากับทรงไทยดี”

การตกแต่งทั้งนอกและในร้านเกือบทั้งหมดเน้นโทนสีขาว ตั้งแต่หลังคา ผืนผ้าประดับ กรอบผนัง โต๊ะ เก้าอี้ ไปจนถึงสีของดอกไม้ในแจกันที่ตั้งห่างกันเป็นระยะ

“สีขาวเป็นสีที่เข้ากันได้กับทุกสี ใส่เสื้อสีอะไรมาก็สวย” คุณเจี๊ยบให้ทรรศนะ “เราสื่อเป็นสีขาวทั้งหมด เหมือนเป็นวิมานหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่ง พอนึกถึงวิมาน ก็ต้องเป็นดอกไม้สีขาว”

แม้ตัวคุณเจี๊ยบจะเรียนจบมาด้านบัญชี ไม่ได้มีพื้นความรู้ทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่เขาก็ทุ่มเทเต็มที่เพื่อการออกแบบคาเฟ่แห่งนี้อย่างที่ใช้คำว่า “มั่ว ๆ เอา” โดยใส่ใจในทุกรายละเอียด ไม่เว้นแม้แต่แนวกำแพงร้านและมือจับประตูที่นำปล้องไม้ไผ่มาทำเพื่อให้ได้อารมณ์บ้านไทยสมัยก่อน

เช่นเดียวกับเพลงที่จะเปิดในร้าน คุณเจี๊ยบย้ำว่าฤๅดีคาเฟ่ต้องเปิดเพลงไทยเดิมเท่านั้น จะไม่มีการนำเพลงชาติอื่นมาบรรเลงให้ผิดคอนเซปต์ร้านโดยเด็ดขาด

พลันประตูกระจกหน้าร้านเลื่อนออก ทุกคนจะได้พบเคาน์เตอร์บาร์ขนาดใหญ่ที่พนักงานหลายคนยืนออกันปฏิบัติหน้าที่ของตนมือเป็นระวิง แต่สิ่งที่นำสายตาผู้เพิ่งเข้ามาใหม่ได้มากที่สุด คงเป็นสรรพอุปกรณ์ที่ใช้เป็นภาชนะบรรจุแก้วเครื่องดื่มให้กับลูกค้า มอง ๆ ไปก็ดูเหมือนเครื่องประดับศีรษะของพวกนางรำนางละครอยู่ เพราะมีชฎาและเทริดปนอยู่ในจำนวนนี้ด้วย

แต่ละชิ้นมีรูปร่างและรูปทรงที่ต่างกัน สีทองที่ลงเป็นพื้นภาชนะแต่ละชิ้น ช่วยขับเน้นสีสันอื่น ๆ และประกายของอัญมณีเทียมที่ตกแต่งบนของเหล่านั้นจนดูวาววับระยับตา

“แรงบันดาลใจที่ทำให้ผมเลือกใช้ของพวกนี้ มีเกณฑ์อยู่ 2 ข้อ คือหนึ่ง เป็นไทย และสอง เข้ากับเครื่องดื่มที่เราเสิร์ฟ” คุณเจี๊ยบเล่าพร้อมกับผายมือชมของที่ตนซื้อหามาใช้เป็นลูกเล่นประจำร้าน 

“เขาเอาไว้ใช้สวมศีรษะ แต่เรานำมาดัดแปลงให้ใช้เสิร์ฟได้”

อุปกรณ์ซึ่งเจ้าของร้านใช้คำว่า ‘พร็อป’ นี้มีประมาณ 20 ชิ้นด้วยกัน แต่ละแบบแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คุณเจี๊ยบรวบรวมมาจากร้านขายเครื่องประดับนางรำหลายร้าน สำคัญคือทุกชิ้นต้องออกแบบมาให้สอดคล้องกับเมนูที่ใช้เสิร์ฟ มีแค่ไม่กี่เมนูเท่านั้นที่ไม่มีพร็อปเสริมเช่นนี้

“ของไทยมีความสวยงามในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ค่อยจะได้เห็นใกล้ ๆ อย่างนี้ เราเห็นนางรำ อยู่บนหัวของนางรำไกล ๆ พอรำเสร็จแล้วเขาก็กลับไปหลังฉาก แต่เราอยากนำมาให้ลูกค้าเห็นกันตรงหน้า ความอ่อนช้อยงดงามแบบไทยนี้ ใครเห็นใครก็อยากถ่ายรูปกันทุกคน”

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ของที่ดัดแปลงมาจากเครื่องประดับศีรษะก็มีแค่ไม่กี่ชิ้น เพราะส่วนใหญ่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ โดยใช้ความคิดนึกจินตนาการของผู้ก่อตั้งร้าน

“ถ้าถามว่าผมชอบอันไหนมากที่สุด ผมคงตอบว่ามันเหมือนคน คนนั้นสวยแบบหนึ่ง คนนี้สวยอีกแบบหนึ่ง แล้วแต่คนมอง บางคนชอบแบบนี้ บางคนชอบอีกแบบ แต่ทุกอย่างมีความสวยของตัวเอง”

ไม่เพียงแต่พร็อปที่ดูไม่ซ้ำใคร เครื่องดื่มแต่ละเมนู คุณเจี๊ยบก็เป็นคนคิดค้นขึ้นเอง โดยตั้งชื่อทั้งหมดให้เป็นไทยมากที่สุด สะท้อนถึงรูป รส กลิ่น สี ของเมนูเหล่านั้น อาทิ ฉัตรฤดี เจดีย์ บุษราคัม กระป่ำ เฝ้าพระอินทร์ หรือแม้แต่ เนตรนาคราช ทั้งหมดต้องสัมพันธ์กันทั้งเมนูทั้งพร็อป และแน่นอนว่านอกเหนือไปจากกาแฟที่เป็นเครื่องดื่มหลักของร้าน ส่วนผสมที่นำมาใช้ในแต่ละแก้วก็ต้องสื่อความเป็นไทย อย่างเช่นมะกรูด น้ำผึ้งผสม เป็นต้น

บางเมนูคิดส่วนผสมได้ก่อนชื่อ เช่น บุษราคัม เกิดจากการได้สูตรนำน้ำมะขามมาปรุงกับกาแฟ แล้วได้สีเหลืองทองเหมือนอัญมณีชนิดนี้ ขณะที่บางชื่อตั้งได้ก่อนจะมีเมนูรองรับ อย่างเมนู นาคี ที่คิดว่าควรมีสีเขียว จึงควานหาเครื่องดื่มที่มีสีเขียวมาแต่งรส

ความคิดที่จะทำเมนูให้สัมพันธ์กับพร็อปเสิร์ฟ ยังเชื่อมโยงไปถึงโชว์ต่าง ๆ ด้วย

“ไอเดียนี้มีมาตั้งแต่ตอนทำร้านมากานดาเฮาส์แล้ว ผมคิดว่าถ้าเราไปเสิร์ฟธรรมดา มันก็ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ไม่มีเอกลักษณ์ พอดีช่วงนั้นเกิดโควิด พนักงานก็ไม่มีงานทำ ผมก็แนะว่าลองมาทำแบบนี้กันดู แสดงแบบนี้กัน คนเขาก็สนใจ เลยลามมาเรื่อย ๆ”

คุณเจี๊ยบก้าวนำมาด้านหลังเคาน์เตอร์บาร์ซึ่งมีบังตาทำจากไม้เป็นฉากหลัง เมื่อเดินอ้อมหลังมาอีกฝั่ง ก็จะเห็นหน้าที่หลักของมันคือการเป็นฉากเรือนเครื่องสับอย่างบ้านขุนนางสยามในอดีต มีตั่งไม้ หมอนสามเหลี่ยม ถาดชุดทองเหลืองพร้อมสรรพ ดุจดังสตูดิโอถ่ายแบบชุดไทย

พลันนึกได้ว่านี่คือมุมยอดนิยมที่ลูกค้าฤๅดีคาเฟ่ชอบมาถ่ายภาพ เสียงเพลงไทยเดิมที่เปิดคลอมาตลอดเวลาก็เงียบลงเป็นปลิดทิ้ง มีพนักงานคนหนึ่งนำเครื่องพ่นหมอกวางลงหน้าประตูหลังร้าน

“หลัก ๆ การแสดงเรามี 2 ชุดครับ ถ้าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์จะเพิ่มมาอีก ถ้าเป็นช่วงเทศกาลก็จะมีโชว์ชุดอื่น ๆ เพิ่มมาบ้าง”

หมอกปลอมพวยพุ่ง ไฟโชว์ในร้านเริ่มเปล่งแสง นำเสียงประกาศจากลำโพงให้ดังตาม

คุณเจี๊ยบให้สัญญาณว่าโชว์ชุด ‘บวงสรวง’ กำลังจะเริ่มขึ้น

เสียงระนาดอันอ่อนหวานบรรเลงแช่มช้า เป็นท่วงทำนองที่แสนสุข เบาบาง ฟังสบายหู คล้ายน้ำทิพย์ชโลมใจให้ผ่อนคลาย และล่องลอยไปในปุยเมฆแห่งวิมานสวรรค์ ทันใดนั้นเอง ร่างของชายในชุดครุยสีโพลนตา สวมลอมพอกทรงสูงสีขาวขลิบทองคล้ายเทวดาไทย ก็ปรากฏตัวขึ้นในม่านหมอก บนมือของเขามีพานดอกไม้ขาว ทูนแก้วเครื่องดื่มสีขาวน้ำตาลอยู่ใบหนึ่ง

เทวดาตนนั้นตรงเข้ามา วางเครื่องดื่มที่มีชื่อว่า บวงสรวง ลงบนโต๊ะ พนมมือทำท่าสมชื่อ ยืนนิ่งอยู่พักหนึ่ง แล้วจึงหันกลับออกไปตามทางเดิมที่ตนเดินมา

“ธีมของโชว์ชุดนี้คือเทวดา เป็นเทวดาเดินมาโชว์ เหมือนกับทำพิธีบวงสรวงเล็ก ๆ ให้ดู ใช้ดอกไม้สีขาว ใช้น้ำมะพร้าวให้ดูเหมือนกับอยู่ในพิธีมาประกอบ”

ผ่านไปสักพัก เครื่องพ่นหมอกออกเสียงอีกครั้ง ส่วนดนตรีก็เปลี่ยนทำนองจากเบาสบายกลายเป็นฮึกเหิม ปรากฏร่างของนักรบไทยในชุดสีแดง เหน็บดาบไขว้ไว้ด้านหลัง เดินตรงมารัวกลองสะบัดชัยที่หลังร้าน ก่อนนำเครื่องดื่มอีกชนิดตรงมาที่หน้าตั่งไม้ตำแหน่งเดิม

ออกศึกข้านึกแต่รบ และรบ จบศึกข้านึกแต่รักเจ้าเท่านั้น หากมอบชีวิตกลับมาหากัน…

เพลง สายโลหิต ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมนูและโชว์ดังขึ้นประกอบฉาก นักรบหนุ่มก้มลงคุกเข่าคารวะ เปิดหมวกหนักของนักสู้ผู้สละชีพเพื่อรักษาแผ่นดินอโยธยาออก แล้วเดินกลับหลังไป

“ส่วนนี่คือการแสดงชุด สายโลหิต มาในธีมนักรบ ทุกวันก็จะมีชุดนี้กับชุดบวงสรวง”

คุณเจี๊ยบย้ำว่าทั้งหมดที่เราได้ดูเมื่อครู่เป็นแค่การแสดง ลูกค้าที่สั่งเครื่องดื่มเมนูไหนไปก็มีสิทธิ์ที่จะรับชมการแสดงประจำเครื่องดื่มชุดนั้น โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเล็กน้อย หากลูกค้าไม่ต้องการรับชมการแสดงก็เลือกรับเฉพาะเครื่องดื่มก็ได้ ไม่จำเพาะว่าต้องไปนั่งหน้าตั่งกันทุกคน

“ผมเขียนไว้ในเฟซบุ๊กว่าสิ่งที่เห็นเป็นเรื่องที่เราแต่งขึ้นมาเท่านั้น บางคนวิจารณ์ว่าผมเอาเทวดามาลบหลู่ มาเสิร์ฟกาแฟให้คน ให้นักรบมาถวายบังคมลูกค้า ซึ่งไม่ใช่เลย ผมไม่ได้นำประวัติศาสตร์หรือขนบธรรมเนียมประเพณีมาใช้ทั้งสิ้น คุณต้องเข้าใจว่ามันเป็นแค่การแสดง ไม่ใช่การเสิร์ฟ ลูกค้ามาแล้วจะนั่งเฉย ๆ เวลาเสิร์ฟจริง พนักงานจะนำไปเสิร์ฟให้ที่โต๊ะอีกที” คุณเจี๊ยบชี้แจง

สาเหตุที่เขาให้ลูกค้ามานั่งที่ตั่งไม้ตัวนี้ก็เพราะเป็นจุดศูนย์กลางของร้าน บริเวณที่จะดูโชว์ได้ชัดเจนที่สุด เพื่อที่นักแสดงหรือพนักงานในร้านจะได้ตรงเข้ามาหาให้ได้ชมกันจะจะ

กาแฟในพานดอกไม้มีส่วนผสมของเอสเปรสโซ่และมะพร้าวปั่น ให้รสชาติหวานอมขม ที่ต้องใช้มะพร้าวปั่นก็เพราะมะพร้าวคือผลไม้สำคัญที่ใช้ในพิธีบวงสรวง ส่วนกาแฟที่มาในหมวกนักรบมีสีออกไปทางโทนแดง ปรุงขึ้นจากเอสเปรสโซ่ กระเจี๊ยบ และราสป์เบอร์รี เป็นเมนูที่ลูกค้าสั่งกันบ่อยที่สุด

“ผมจำลองเหตุการณ์ที่คิดว่าในอดีตน่าจะเคยเกิดขึ้นมา นี่เป็นกาแฟแห่งความรักชาติที่มาพร้อมกับความสูญเสีย ถ้าเกิดสงคราม ทุกคนจะเกิดเลือดรักชาติขึ้นมา และพอเกิดสงครามจริง มันจะต้องมาคู่กับความสูญเสีย มีคนไปรบ มีคนสูญเสียชีวิต ความรักชาติกับความสูญเสีย มันมาคู่กัน 2 เรื่องนี้ที่ผมตั้งใจสื่อให้ดู แล้วก็เป็นเมนูที่ลูกค้าสั่งกันมาก คงเพราะชอบอารมณ์ฮึกเหิมมั้งครับ”

คุณเจี๊ยบเผยว่านักแสดงที่เห็นคือพนักงานในร้านที่ผลัดเปลี่ยนกันไปแสดง นอกจากชุด บวงสรวง กับ สายโลหิต แล้ว วันเสาร์-อาทิตย์ยังมีชุดนาคีที่ใช้นางรำมาแสดงให้ชมกันอีก โดยทุกโชว์จะใช้ผู้แสดงแค่คนเดียว กินเวลาเฉลี่ยชุดละ 2 นาที

แม้ทางร้านจะไม่มีบริการให้เช่าชุดไทย แต่ลูกค้าหลายคนก็รู้งาน ต่างไปสรรหาสไบเฉียง นุ่งจีบโจง มาสวมให้เรียบร้อยก่อนบ่ายหน้ามาที่ร้าน หลายคนนิยมสั่งไม่ซ้ำเมนูกันเพื่อเลือกดูอุปกรณ์เสิร์ฟที่หลากหลาย ไม่มีใครเลยที่จะดื่มด่ำบรรยากาศเหล่านี้โดยไม่ยกกล้องขึ้นมาบันทึกเก็บใส่ความทรงจำ

ฤๅดีคาเฟ่ เปิดทำการทุกวันยกเว้นวันจันทร์ ซึ่งคุณเจี๊ยบให้เหตุผลว่า เพราะต้นสัปดาห์เป็นวันที่ผู้คนเหนื่อยล้าและออกมาจับจ่ายใช้สอยกันน้อยที่สุด รวมทั้งอยากให้พนักงานในร้านได้พักผ่อน ไปทำธุระส่วนตัว เช่นติดต่อราชการและธุระส่วนตัวได้ แต่หากวันจันทร์ไหนเป็นวัดหยุดนักขัตฤกษ์ คาเฟ่แห่งความชื่นชมยินดีนี้ก็ยินดีที่จะเปิดให้บริการเครื่องดื่มสารพัดเมนู คู่กับขนมแสนอร่อยทั้งแบบไทยและเทศ รวมทั้งเปิดทำการแสดงที่คงไม่มีในคาเฟ่ไหน ๆ อีก

“ใครมาที่ร้านฤๅดี เขาก็จะได้เสพการแสดงที่ให้กลิ่นอายของอยุธยา คุณไปพัทยาได้ดูโชว์อย่างทิฟฟานี อัลคาซาร์ มาที่ฤๅดีคาเฟ่ อโยธยา จะได้มาดูโชว์สั้น ๆ 2 นาที แต่เป็นโชว์แบบ On Stage ที่คุณไปนั่งตรงกลาง ใกล้กับนักแสดงของเราได้เลย มารับชมความตื่นเต้นกันที่นี่” 

คุณเจี๊ยบกล่าวท่ามกลางเสียงเพลงไทยเดิมที่เริ่มบรรเลงขึ้นอีกครั้ง พนักงานเสิร์ฟที่นำเครื่องดื่มใส่พร็อปสวย ๆ ไปวางตามโต๊ะ และเครื่องพ่นหมอกที่ทำงานราวการแสดงจะไม่มีวันเลิกรา

ฤๅดีคาเฟ่ อโยธยา (Ruedee Cafe Ayothaya)
  • 52/9 หมู่ 7 ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แผนที่)
  • เปิดวันอังคาร – อาทิตย์ และทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.30 – 18.00 น. เมนูที่มีการแสดง ให้บริการเวลา 10.00 – 17.00 น.
  • 08 9382 8289
  • Ruedee Cafe Ayothaya

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

กษิดิศ พันธารีย์

กษิดิศ พันธารีย์

ชอบถ่ายภาพ ชอบไปญี่ปุ่น พอ ๆ กับที่ชอบนอนอยู่บ้าน