หลายคนคงเคยเห็นคลิปของแก๊ง ‘หรอยเว่อร์’ ผ่านตาบ้าง ไม่ว่าจะคลิปคนใต้แหลงเร็วทะลุนรก ทายคำภาษาใต้ คาราโอเกะเพลงใต้ คนใต้เรียก ‘ขาตั้งมอเตอร์ไซค์’ ว่า ‘สแตนด์’ หรือ ‘เย็ก’ กันแน่ แต่ที่น่ารักจนต้องแอบยิ้มตาม คงเป็นคลิปสั่งอาหารสำเนียงใต้ที่ทำเอาพนักงานเผลอหลุดสำเนียงบ้านเกิดออกมาด้วย 

ทั้งหมดคือผลงานของช่อง TikTok ขวัญใจชาวใต้ที่ได้ใจคนทุกภาค เปิดมาเพียง 6 เดือนก็มียอดผู้ติดตามกว่า 3 แสน หรอยขนาดนี้ เบื้องหลังจะขนาดไหน แต่ก่อนจะได้ชวน ซัน-วีรพล มานะกล้า ผู้ก่อตั้งหรอยเว่อร์มาพูดคุยกัน เขาก็ถามเรากลับเสียก่อนว่า

“พูดคำว่า หรอย คุณนึกถึงอะไร” – แน่นอน ก็ต้องไก่ทอดหาดใหญ่สักชุด

“ถ้าเป็นอาหาร มันคือความอร่อยจัดจ้าน แต่หากเป็นเพจ มันคือความสนุกสุดเหวี่ยง!” – นี่สินะ ความหมายของชื่อ 

หรอยเว่อร์ คือกลุ่มเพื่อนตั้งแต่มัธยมกว่า 30 ชีวิตที่ถึงแม้ตอนนี้จะกระจายตัวไปคนละเส้นทาง อยู่กันคนละจังหวัด แต่พอถึงเทศกาล มีวันหยุด หรือวันว่าง ก็จะกลับมารวมตัวถ่ายคลิปกันอย่างสนุกสนาน 

เอกลักษณ์ของพวกเขาคือการแหลงใต้และการนำวัฒนธรรมน่ารัก ๆ ที่คนไม่รู้มาทำคลิปให้หัวเล่น แลได้ทั้งวัน แลได้ทุกวัยตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยดึก และในอนาคต ซันบอกว่า “ถ้าภาคกลางมีเทพลีลา ภาคอีสานมีไทบ้าน ภาคใต้ก็ต้องมีหรอยเว่อร์” อาณาจักรที่จะทำให้ชาวใต้ภูมิใจในบ้านเกิดยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา!

แก๊งลูกหมีสีชมพู

ย้อนกลับไปเมื่อ 11 ปีก่อน สมัยยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ซันและเพื่อนอีก 20 กว่าชีวิตภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘Teddy Pink’ คือก๊วนทำหนังสั้นแห่งโรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์ จังหวัดสตูล ที่ใครในโรงเรียนต่างก็ต้องรู้จัก แต่เมื่อชีวิตมัธยมจบลง ทุกคนแยกย้ายไปเรียนต่อตามเส้นทางของตัวเอง 

ซันเข้าเรียนในสาขาภาพยนตร์ และทำงานต่อที่กรุงเทพฯ 

กระทั่ง พ.ศ. 2566 ชายหนุ่มมีเหตุจำเป็นให้กลับมาอยู่บ้านที่สตูลอีกครั้ง เหล่าเพื่อน ๆ ที่สตูลอยากจริงจังกับงานวิดีโอโปรดักชันที่ทำกับซันจึงร่วมกันเปิดเป็นบริษัทชื่อ ‘เท็ดดี้ พิ้งค์ เอนเตอร์เทนเมนท์’ ก่อนจะจับทางถูกด้วยการหยิบเสน่ห์เมืองใต้ที่คนมองข้ามมาปรุงให้เข้าถึงชาว TikTok จนกลายเป็น หรอยเว่อร์ สื่อน้องใหม่ไฟแรงที่ใครก็หยุดไม่อยู่แล้ว

ผ่านมา 11 ปี จำนวนสมาชิกแก๊งของคุณก็แทบไม่ลดลงเลย

ใช่ครับ เราเป็นแก๊งใหญ่ที่มีสมาชิกกระจายอยู่หลายจังหวัด หลายอำเภอ เพราะอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่มัธยม แต่ถ้านับพนักงานประจำมีประมาณ 5 – 6 คน ซึ่งก็เป็นเพื่อนกันอีก ที่เหลือคือมาจอยกัน 20 กว่าคน

อะไรทำให้เพื่อนจำนวนหลายโหลยังกลับมารวมตัวกันได้

ความชอบครับ เรามีทั้งเด็กนิเทศ นิติ บัญชี รัฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ วิศวะ แยกย้ายกันอยู่คนละจังหวัด คนละภาค พอถึงเทศกาล มีวันหยุดถึงเดินทางกลับมาเจอกัน โดยที่ทุกคนชอบการคิดคอนเทนต์ ชอบทำหนังสั้น เพราะเดิมทีแก๊ง Teddy Pink เราทำหนังสั้น ยังไม่ได้จับคอนเทนต์ภาคใต้

อะไรทำให้คุณหันมาจับทางคอนเทนต์ภาคใต้ ทั้งที่ความเป็นกลุ่มแก๊งก็ไปทำคอนเทนต์อื่นได้

ผมเห็นว่า ถ้าภาคกลางมีเทพลีลา มีโคตรคูล ภาคอีสานมีไทบ้าน ภาคใต้ก็ควรมีหรอยเว่อร์ เพราะบ้านเรามีเสน่ห์มาก แต่ไม่มีใครพูดถึง บางคนยังมีความเข้าใจผิดอยู่ อย่างเรื่องคนพุทธคนอิสลามทะเลาะกัน เราเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม คนพุทธคนอิสลามนั่งจิบชาคุยกันได้ อยู่กันได้ แต่ไม่มีใครเล่า

ภาคใต้มีอินฟลูเอนเซอร์เยอะ แต่ที่เป็นกลุ่มก้อนยังไม่มี เราเลยอยากเสนอมุมนี้ออกมา เราอยากรันวงการภาคใต้ (ยิ้ม)

อะไรที่คุณเห็นว่าน่ารัก น่านำเสนอออกมาบ้าง

วัฒนธรรมพื้นบ้าน แม้แต่คำคำเดียวก็เล่นได้หลายแง่ อย่างขาตั้งมอเตอร์ไซค์ บางที่เรียกเย็ก บางที่เรียกสแตนด์ ไม่มีผิด ไม่มีถูก มีแต่ความน่ารักและความหลากหลาย

บางทีก็เป็นความกวน ชอบแซว หยอกล้อกันเองบ้าง อย่างเรื่องพูดเร็ว ถ้าเอามาทำให้ช้า คำคำเดียวที่คนใต้พูดจะแยกออกได้เป็นหลายประโยค หรือคลิป 4 แกง ก็ล้อกับ 4Kings คือคนใต้จะกินแกง 4 แกง ก็เหมือน 4 สถาบัน แต่ที่คนภาคผมชอบสุดจะเป็นแกงส้ม อุ่นกินแล้วกินอีก ชอบมาก

เป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนมัธยมกับตอนนี้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ตอนเด็กคือทำหนังสั้น พอกลับสตูล เพื่อน ๆ ก็ชวนกันตั้งบริษัทเป็นโปรดักชันเฮาส์เล็ก ๆ ไว้รับงาน จากนั้นค่อยคิดว่าอยากมีสื่อของตัวเองเลยตั้งหรอยเว่อร์ขึ้นมา

เผลอ ๆ มันกลับดัง ทั้งที่เราเคยคิดว่าแค่มีคนดูก็ดีแล้ว

เห็นว่าช่วงแรกบริษัท เท็ดดี้ พิ้งค์ ก็เคยทำคอนเทนต์ใต้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ใช่ มันไม่เวิร์ก ตอนหลังเลยให้ เท็ดดี้ พิ้งค์ เป็นชื่อบริษัทไป แล้วเอาชื่อหรอยเว่อร์มาใช้แทน เพราะเห็นแล้วรู้เลยว่าคนใต้

โหม๋เราหรอยเว่อร์

แท้จริงแล้วกลุ่มเพื่อนวัยมัธยมค้นพบเสน่ห์ของวัฒนธรรมบ้านเกิดตั้งแต่ตอนส่งประกวดหนังสั้น Cat Film จัดโดย Cat Radio ซึ่งตอนนั้น พวกเขาเองก็ไม่มั่นใจว่าจะไปรอดหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ขอลอง

หนังของซันและเพื่อนได้รับรางวัล เสียงของคนใต้ สำเนียงบ้าน ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยความจริงใจส่งผ่านบทหนังสู่สายตาผู้ชม ไม่ว่าจะคนภาคไหนก็หัวเราะร่วนกับมุกขำขันของเด็กปักษ์ใต้ในโรงภาพยนตร์

หรอยเว่อร์คือสื่อที่มาสานต่อความชื่นใจวันนั้น 

ตอนนี้คอนเทนต์ของพวกเขาดังไกลไปทั่วประเทศ ใคร ๆ ก็ชอบดูกลุ่มเพื่อนที่เล่นกันสนุกสนาน เนื้อหาไร้การปรุงแต่งจากสคริปต์ ไหนจะงานโปรดักชันของกองเล็ก ๆ แต่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพ เพราะทุกคนดึงศักยภาพจากการเรียนและการทำงานมาใช้ในทุกขั้นตอน ทุ่มเทตั้งแต่การจัดไฟ ตั้งกล้อง ยันการตัดต่อ เพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนดูและคนทำไปพร้อมกัน 

ซันบอกว่าแม้ 5 ลำดับแรกที่ดูคลิปของพวกเขาจะยังเป็นจังหวัดในเครือด้ามขวานทอง แต่นอกนั้นคือคนกรุงเทพฯ และคนภาคอื่น ซึ่งมีทั้งคนใต้ย้ายถิ่นเองและคนท้องถิ่นที่หันมาสนใจ เพราะเห็นว่าคอนเทนต์ภาคใต้ก็สนุกไม่แพ้ใครเหมือนกัน

คิดว่าคาแรกเตอร์คนใต้เป็นยังไง

คนใต้รักจริง ไม่ปลิ้นปลอกกอกกลิ้ง เนื้อเพลงนี้คือเรื่องจริงเลย จริงใจ ไม่มีพิษมีภัย

อะไรคือความเข้าใจผิดที่คนอื่นมอง

เขาบอกว่าเราพูดหยาบ เหยด หัวดอ แหมม ฟังดูแรง แต่มันเหมือนคำอุทานมากกว่า

คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้คนติดตามหรอยเว่อร์กันเยอะขึ้น

ความเป็นแก๊งเพื่อนที่ไม่มีการปรุงแต่ง ก่อนที่เราจะมีช่อง เราก็ชวนกันมานั่งคุย เล่นเกม สังสรรค์ มันตลกมาก ขนาดไม่ได้ถ่ายทำก็ยังตลก บางคอนเทนต์ คุณอาจเคยเห็นคนภาคอื่นเล่นแล้ว ฝรั่งเล่นแล้ว แต่ถ้ามีวัฒนธรรมท้องถิ่นผสมลงไป คุณยังไม่เคยเห็นแน่นอน

ตอนไหนที่คุณรู้สึกว่ากำลังมาถูกทางแล้ว

คลิป คนใต้กินแกงส้มอาทิตย์ละกี่วัน พอลงคลิปแรกยอดก็พุ่งไปแสนวิวแล้ว ยิ่งไปเจอคำถามแกงส้มยิ่งพุ่งไปใหญ่

ตอนแรกเราคิดว่าบังเอิญ แต่ปรากฏว่าคนชอบ ทำไปเรื่อย ๆ ยิ่งดี ตอนนี้คนติดตามทั้ง Facebook, TikTok, YouTube รวมกัน 4 – 5 แสน

ตอนนี้คิดว่าแพลตฟอร์มไหนเป็นฐานที่มั่นหลักของตัวเอง

TikTok ครับ เราทำคอนเทนต์เป็นคลิปสั้นเกือบหมด ดูภายใน 1 – 2 นาทีจบ ส่วนเฟซบุ๊กจะลงมีมตลกของภาคมากกว่า ยูทูบก็มีลงคลิปยาวบ้าง แฟนคลับหลายคนอยากให้เราทำคลิปยาว ตอนนี้เลยกำลังคุยกับทีมว่าจะทำคอนเทนต์ประเภทไหนดี

คอนเทนต์แนวไหนที่ถูกใจคนทั่วประเทศ

คลิปแซวกัน คลิปล้อเลียนเรียกเสียงหัวเราะ อย่างคลิปที่คนใต้ขับมอเตอร์ไซค์สวนกันแล้วพูดเร็ว พอเราทำเป็นสโลว์โมชันดันได้ยินเป็นประโยคยาวเวอร์ ๆ คนภาคอื่นเขาก็รู้สึกเหมือนเรา เขาก็หัวเราะด้วย 

แต่ถ้าคลิปแจ้งเกิดคือคลิปสั่งอาหารเป็นภาษาใต้ ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่ากล้องสั่น (หัวเราะ) เพราะความน่ารักของพนักงานที่หลุดพูดภาษาใต้ออกมา

คิดว่าความท้าทายสำหรับการทำช่องนี้คืออะไร

ตัน ไม่รู้จะเล่าอะไรดี นี่คือสิ่งที่หรอยเว่อร์กลัว แต่ปรึกษากับเพื่อนว่าไม่น่าจะตัน เพราะเราเป็นคอนเทนต์เล่นได้เรื่อย ๆ เล่นได้ตลอด

ขั้นตอนไหนของการทำคลิปที่ทีมงานชอบที่สุด

ตอนถ่าย เพราะอยู่กับเพื่อนเยอะ เราจะประชุมออนไลน์คิดคอนเทนต์กันมาก่อน แต่ละครั้งเรานัดกันวันเสาร์-อาทิตย์ วันว่าง หรือวันหยุดเทศกาล เพราะบางคนอยู่ต่างจังหวัด หาดใหญ่ ปัตตานี ยะลา พัทลุง เขาจะเดินทางมาสตูดิโอเพื่อเล่นเกมกัน 

ทั้งวันก็ถ่ายไปเลยตั้งแต่บ่ายโมงถึง 1 ทุ่ม ทีเดียว 10 – 20 คลิป แล้วสต็อกไว้ ค่อย ๆ ออน เคยปรึกษากันว่าเราลงคลิปทุกวันเลยดีไหม หรือลง 2 – 3 คลิปต่อวันไปเลย แต่ถ้าลงทุกวันคนดูจะเบื่อ เราอยากให้แฟนคลับรอคอยพวกเราด้วย

ต้องมีคนมาทวงคลิปบ้างสิ

โอ้! เยอะครับ (หัวเราะ) โดยเฉพาะคลิปคาราโอเกะที่เราจะเปิดเพลงบางท่อนแล้วค่อยปิด พอปิดเพลง เราต้องร้องต่อให้ได้ อันนี้จริง ๆ คนดูเป็นคนคิดคอนเทนต์ให้เราด้วยนะ เพราะเวลาลงคลิปคาราโอเกะของศิลปินคนหนึ่ง เขาจะขอศิลปินใต้คนอื่น ๆ ด้วย ศิลปินชาวใต้เยอะมาก ไม่ใช่แค่ เอกชัย ศรีวิชัย, บ่าววี ไม่ใช่แค่วงพัทลุงที่ร้อง มหาลัยวัวชน ถือเป็นการช่วยโปรโมตเพลงไปด้วย

หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของเราแล้วว่าจะเสิร์ฟให้คนดูได้มากแค่ไหน เราให้ความสำคัญกับคนดูมาก เขาเป็นครอบครัว หรืออย่างคอมเมนต์ก็จะพยายามตอบให้ได้เยอะที่สุด ผมคิดว่าสิ่งที่ควรทำคือการถอดหมวกผู้สร้างออกแล้วมาเป็นคนดูด้วยกัน เป็นเพื่อนกันครับ

เจอคอมเมนต์ที่ไม่สร้างสรรค์บ้างไหม เขาพูดถึงอะไร

(นิ่งคิด) เรามีรายการชื่อ หรอยเว่อร์ อินเทอร์วิว เราจะไปสัมภาษณ์คนดังในภาคใต้ เช่น คู่น้า-หลาน ตีรอมละ รอเบียะ ผู้ชายแต่งตัวเป็นผู้หญิง 

เกิดเสียงวิจารณ์ 2 กลุ่ม คนมองว่าไม่ผิด เพราะสุดท้ายเขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันเป็นแค่การแสดง อีกคนบอกว่ายังไงก็ผิดหลักศาสนา เรากลับมานั่งประชุมกันว่าเป็นความสะเพร่าของเราด้วยไหมที่นำเสนอไปอย่างนั้น แต่เราถามเขาแล้ว ส่งคลิปให้ตรวจแล้ว ถ้าเขาไม่โอเค เราจะตัดออก แต่ปรากฏว่าเขาโอเค เพราะอยากพูดเรื่องเหล่านี้เหมือนกัน แล้วผลตอบรับก็ไม่ได้เลวร้าย มีคนที่เข้าใจ มีคนที่ให้กำลังใจ

สุดท้ายสิ่งที่เราทำจึงเป็นการให้พื้นที่มากกว่า

อะไรทำให้คุณตัดสินใจให้พื้นที่แก่พวกเขา

เพราะไม่มีใครนำเสนอเรื่องเขาเลย ไม่เคยพูดหรือให้สัมภาษณ์ที่ไหน ทั้งภาคใต้เลยนะครับ (หัวเราะ) เขาคือเพื่อนผมเอง 

มีงานหนึ่งผมเคยไปช่วย เห็นกับตาว่าเขามีชื่อเสียงมากในหมู่คุณป้า คุณสันติ (รอเบียะ) เล่าว่า มีคนหนึ่งป่วยใกล้เสียชีวิต พอได้ดูช่องของเขาแล้วมีกำลังใจในการใช้ชีวิตขึ้นมา 

สุดท้าย ถ้าเขาทำเพื่อให้คนอื่นมีความสุข ไม่ได้ไปริดรอนสิทธิ์ใคร ผมว่าโอเคนะ

คนเล็ก ฝันใหญ่

ในอนาคต พวกเขายังมีโปรเจกต์อีกมากที่กำลังซุ่มทำอยู่ หนึ่งในนั้นคือการทำภาพยนตร์ยาวสักเรื่อง แต่แน่นอนว่าหรอยเว่อร์ในฐานะงานอดิเรก (ของเพื่อนบางคน) ยังเป็นสิ่งที่สนุกมากกว่างานประจำ พวกเขาจึงยังจะทำสิ่งนี้อยู่เรื่อย ๆ 

จนถึงตอนนี้ แม้เพิ่งเปิดช่องได้ไม่นาน แต่ซันก็ขอขอบคุณแฟนคลับที่จริงใจและติดตามเขาเสมอ เพราะถ้าไม่มีคนดู ก็คงไม่มีหรอยเว่อร์

คิดว่าตอนนี้หรอยเว่อร์กลายเป็นช่องที่แมสแล้วหรือยัง

ยังครับ ผมมองว่าเราเป็นเพจเล็ก ๆ ไม่ใช่อินฟลูเอนเซอร์ เราเป็นสื่อบันเทิงภาคใต้ที่คอมมูนิตี้ของเรากำลังเติบโต จากที่โยนหินถามทางมาตลอด ไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น วันนี้เรามาไกลมากแล้ว

คาดหวังกับอนาคตของหรอยเว่อร์มากขนาดไหน

ตอนนี้เรามองว่ายังไงต้องมาแน่ ๆ และผมคิดว่าคงจะมีคนตามรอยเราต่อ เราไม่ได้มองว่าเขาก๊อบเลยนะ ผมยิ่งเชียร์ด้วยซ้ำ เพราะเท่ากับคนใต้ช่วยกันส่งเสริมบ้านเกิดเราเอง

สิ่งที่ประทับใจที่สุดตั้งแต่ทำช่องมาคืออะไร

คอมมูนิตี้ในคอมเมนต์ ผมชอบอ่านคอนเมนต์มาก ดีใจที่ทุกคนรู้สึกสนุกกับสิ่งที่เราทำเช่นกัน

ถ้าคนดูขออะไร เราก็จะให้ คิดว่าทำสิ่งที่คนดูประทับใจที่สุดดีกว่าครับ

อีก 10 ปีข้างหน้า หรอยเว่อร์จะเป็นอย่างไรบ้าง

ถ้าจำได้ ยุคหนึ่ง เพลง มหาลัยวัวชน ดัง เราอยากให้มีปรากฏการณ์อย่างนั้นอีกครั้ง

ต้องบอกก่อนว่าความฝันของเราคือการสร้างจักรวาลหรอยเว่อร์ พี่ศักดิ์-สุรศักดิ์ ป้องศร ผู้กำกับหนัง ไทบ้าน คือรุ่นพี่ที่คณะผม ตอนนั้นไม่มีใครเชื่อในสิ่งที่เขาทำ อีสานก็ยังไม่เป็นที่พูดถึง แต่เขาไปขลุกอยู่กับบทเป็นปีจนพิสูจน์แล้วว่ามันทำได้! 

ผมมีจักรวาลไทบ้านเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างจักรวาลหรอยเว่อร์ ถ้าอีสานทำได้ ทำไมใต้จะทำไม่ได้ เราจะทำหนังคนใต้ที่จริงใจ ใครดูก็สนุก มีส่วนร่วมไปกับเรา ถือเป็นการส่งเสริมภาคใต้ไปอีกทาง

หรือสมมตินะ ผมอาจจะกำลังเพ้อฝันหรืออาจเป็นจริงก็ได้ สักวันตัวละครของหรอยเว่อร์อาจได้ไปเจอกับแก๊งไทบ้านอีสานและใต้ที่มีความเป็นตัวเองสูง แค่คิดก็ตื่นเต้นแล้วนะครับ! 

ส่วนตอนนี้เรามาสนุกกันไปเรื่อย ๆ แล้วลองดูดีกว่าว่าเราจะไปถึงขั้นไหน

ซัน-วีรพล มานะกล้า, อาร์-ภัทรนันต์ บุญรอด, หมัด-อะห์หมัด เพริดพร้อม, จัสติน เพชรจูด, ปลาย-อนุตตมา บุญมี, เจน-จิตรลดา ธนิกธนโชติ, สเนล-นาวิกา ปานรงค์, ภูมิ-ภูมิรพี อารีรักษ์, อัฐ-ชลัฐพล ชาญสมุทร, ชา-ชากีรีน นารีเปน, แอน-นพดล นาปาเลน, นัส-เอกภาพ อย่างดี, บัส-รวิภาส เพ็ชรนวล

ภาพ : เชษฐ ชูช่วย

Writer

ชลิตา สามหาดไทย

ชลิตา สามหาดไทย

นักเล่าเรื่องจากเมืองหมอลำ มักกินส้มตำตอนเที่ยง เลี้ยงแมวชื่อหมิงเรน

Photographer

เชษฐ ชูช่วย

เชษฐ ชูช่วย

ช่างภาพสายทะเล ไม่กลัวแดด ใจดี เป็นแฟนลิเวอร์พูลครับ