โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน เพื่อน ๆ ก็ไม่ซุกซน ทุกคนชอบไปโรงเรียน

 …ชอบไป ชอบไปโรงเรียน

เคยร้องเพลงนี้กันไหมคะตอนเด็ก ๆ

ตอนอยู่ประถม อุ้มร้องแล้วร้องอีก มานึกดูตอนนี้ยังแอบคิดว่า เอ๊ะ หรือมันจะเป็นเพลง Propaganda ให้รักการไปโรงเรียน แต่เอาเข้าจริงก็ได้ผลอยู่นะ เพราะตอนนั้นเชื่อว่าเราชอบไปโรงเรียนจริง ๆ

พอถึงยุคลูก ๆ ของตัวเองต้องไปโรงเรียนบ้าง ก็ต้องมาตั้งคำถามว่าจะให้ลูกไปโรงเรียน (แบบ) ไหน เพราะที่อเมริกา เขาเลือกกันตั้งแต่จะซื้อบ้านเลยค่ะ เนื่องจากมันเป็นระบบ Neighborhood School หรือว่าบ้านอยู่แถวไหน ก็ไปโรงเรียนแถวนั้น ไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนไปจนจบไฮสกูล เพราะเงินบริหารจัดการมาจากภาษี Property Tax หรือภาษีโรงเรือนที่เรียกเก็บจากคนที่เป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งไม่ใช่น้อย ๆ 

อย่างบ้านอุ้ม ใน 1 ปี เสียภาษีโรงเรือนไปประมาณเกือบ 3 แสนบาท (แต่ก็ยังถือว่าน้อยเนอะ เมื่อเทียบกับพ่อแม่คนไทยที่ต้องจ่ายค่าเทอมโรงเรียนอินเตอร์ฯ ปีละหลายแสนบาท บางคนมีลูก 2 คน จ่ายปีละเป็นล้าน นี่ถ้าเมตตากับอนีคาอยู่เมืองไทย ไปโรงเรียนประชาบาลแน่นอน (หัวเราะ) ซึ่งอุ้มว่าก็สมเหตุสมผล เพราะคุณอาศัยอยู่แถวไหน ก็ให้ลูกไปเรียนแถวนั้น อีกอย่างที่ใช้เงิน Property Tax สนับสนุน ก็คือห้องสมุด ซึ่งก็อยู่ในชุมชนอีกนั่นแหละ มันถูกต้องมากเลย

แต่บางคนมีกำลังจ่ายก็ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนเอกชน ซึ่งค่าเล่าเรียนปีละเป็นล้านบาท หรืออยากให้ลูกเรียนโรงเรียนพิเศษ อย่าง Waldorf หรือ Montessori ที่พอร์ตแลนด์ก็มีเยอะมาก เพราะรู้กันอยู่ว่านี่เป็นเมืองนอกกระแส แต่ค่าเล่าเรียนก็ไม่ได้จะมาบุปผาชนนะจ๊ะ ปีละเกือบครึ่งล้านเหมือนกัน

หรือแม้แต่โรงเรียนของ Portland Public School (เรียกสั้น ๆ ว่า PPS) เอง ก็ยังมีแยกย่อยให้เลือกได้ว่าอยากเน้นวิทยาศาสตร์ เน้นศิลปะ หรือเน้นภาษาพิเศษ เช่น สเปน จีน เวียดนาม หรือรัสเซีย พวกนี้ไม่จำเป็นว่าบ้านต้องอยู่ใกล้โรงเรียน เพราะใช้วิธีสมัครแล้วจับฉลากเอา (ที่นี่ไม่มีการสอบเข้าโรงเรียน) แต่ก็เรียนฟรีเหมือนโรงเรียนของรัฐทั่วไป

อุ้ม สิริยากร ออกบูทขายตุ้มหูในงานโรงเรียนลูกสไตล์อังกฤษ-ญี่ปุ่น ที่พอร์ตแลนด์
ภาพ : www.facebook.com/pps.homepage

ที่นี่มีโรงเรียนอยู่แห่งหนึ่งค่ะ ชื่อ Richmond Elementary School เป็นโรงเรียน 2 ภาษา คืออังกฤษกับญี่ปุ่น ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1989 คือเมื่อ 33 ปีที่แล้ว อุ้มได้ยินเรื่องโรงเรียนนี้มาตั้งแต่เมตตาอายุได้แค่ขวบกว่า ๆ เพราะว่าเป็นโรงเรียนของรัฐโรงเรียนเดียวในพอร์ตแลนด์ที่สอนภาษาญี่ปุ่น อุ้มเองเคยไปเรียนกับเซ็นเซที่ราชดำริประมาณ 30 ชั่วโมง พออ่านออกเขียนได้ พูดได้อยู่บ้าง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักค่ะ เพราะถามว่าอยู่อเมริกา ภาษาไหนที่จะมีประโยชน์มากที่สุดนอกจากภาษาอังกฤษ แน่นอนว่าคือภาษาสเปน หรือถ้าในโลกนี้ ภาษาจีนย่อมได้ใช้มากกว่าภาษาญี่ปุ่นแน่นอน

แต่ที่อุ้มสนใจโรงเรียนนี้มากเป็นพิเศษ ก็เพราะได้ยินมาว่าเป็นโรงเรียนที่น่ารักมาก ทุกคนมีส่วนร่วม เด็ก ๆ มีความสุข ผลการเรียนก็ดี (ที่นี่เขาวัดมาตรฐานโรงเรียนด้วยคะแนนสอบวิชาคณิตศาสตร์กับภาษาอังกฤษ แล้วเอามาเทียบกันทั้งรัฐ โรงเรียนริชมอนด์อยู่ในเกณฑ์สูงกว่ามาตรฐานมาตลอด) ครอบครัวที่มาเรียนมีหลากหลายเชื้อชาติ ไม่ได้มีแต่คนขาว แล้วก็อยู่ใกล้บ้านด้วย

อุ้ม สิริยากร ออกบูทขายตุ้มหูในงานโรงเรียนลูกสไตล์อังกฤษ-ญี่ปุ่น ที่พอร์ตแลนด์
ภาพ : www.facebook.com/pps.homepage

วันหนึ่งที่โรงเรียนมี Open House เปิดให้ผู้ปกครองได้เข้าไปดูโรงเรียน อุ้มก็จับเมตตาใส่รถเข็นเดินไปเลยค่ะ คนที่มาประมาณ 99.99 เปอร์เซ็นต์คือลูกเขา 5 ขวบ กำลังจะเข้าอนุบาล ส่วนลูกอิฉันเพิ่งจะ 2 ขวบ ถามว่าจะรีบไปทำไม ตอบง่าย ๆ คือแม่มันบ้า! (หัวเราะ) คือกมลสันดานเป็นคนชอบเตรียมตัวน่ะค่ะ ตอนอยากเข้านิเทศฯ จุฬาฯ ก็พาเพื่อนไปเดินตั้งแต่อยู่สายน้ำผึ้ง แล้วไปนั่งตรงบันไดหน้าตึก ประกาศว่าฉันจะมาเรียนที่นี่! ถึงคราวลูกจะเข้าโรงเรียน ก็เลยรีบตั้งเป้าหมายไว้ในใจ แล้วอีก 3 ปีต่อมา ลูกก็ได้มาเรียนที่นี่จริง ๆ

ตอนนี้เมตตากำลังจะจบเกรด 3 ส่วนอนีคากำลังจะจบอนุบาล เท่ากับว่าเรามาโรงเรียนนี้ได้ 4 ปีแล้ว อุ้มบอกได้เลยว่าเป็นโรงเรียนที่ดีและน่ารักสมคำร่ำลือจริง ๆ เพราะเป็นโรงเรียนที่ต้องจับฉลากเข้า แปลว่าคนที่มาสมัคร ก็ต้องมีความพยายามอยากให้ลูกมาเรียนที่นี่ ดังนั้นส่วนใหญ่จะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่ Proactive แบบลูกทำอะไร โรงเรียนมีกิจกรรมอะไร ก็ขอให้บอก เราพร้อมเสมอ ทั้งเรื่องเงินและเรื่องแรง  ถ้าขาดงบประมาณจ้างครูไปคนหนึ่ง ได้! อยากมีเต็นท์ใหญ่ 10 เต็นท์ให้เด็ก ๆ กินข้าวข้างนอกตึกช่วงโควิด ได้! อยากมีวันสำหรับทานข้าวแกงกะหรี่กับยากิโซบะ ได้! มีครูมาฝึกสอน 18 คน อยากได้ Host Family รับครูไปอยู่ด้วย 6 เดือน ได้! เรียกว่าไม้จิ้มฟันยันเรือรบมาก

อุ้ม สิริยากร ออกบูทขายตุ้มหูในงานโรงเรียนลูกสไตล์อังกฤษ-ญี่ปุ่น ที่พอร์ตแลนด์

แต่งานที่ใหญ่และสนุกที่สุดของริชมอนด์ เห็นทีจะไม่พ้นงานออกร้านประจำปีช่วงฤดูใบไม้ผลิ ที่เรียกว่า Spring Festival ค่ะ เพราะจะมีทั้งของกิน ของขาย และซุ้มกิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ และผู้ปกครองได้มาเล่นกัน บ้านอุ้มมางานนี้ตั้งแต่เมตตายังไม่เข้าเรียนที่นี่ด้วยซ้ำ เพราะชอบไปกินราเม็งกับขนมปลาปิ้งไส้ถั่วแดง (ไทยากิ) ที่ส่วนใหญ่จะมีขายทุกปี

ปีนี้พิเศษมากขึ้นไปอีก เพราะอุ้มมีบูทกับเขาเป็นครั้งแรก! ขายอะไร ขายตุ้มหูไงเธอ! เพราะเขาให้ผู้ปกครองที่มีธุรกิจของตัวเองมาออกบูทช่วยกันหาเงินเข้าโรงเรียน นอกจากเสียค่าบูท 40 เหรียญแล้ว ยังได้ช่วยกันบริจาค 20 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายให้สมาคมผู้ปกครองและครูด้วย

อุ้มตื่นเต้นนอนไม่หลับอยู่หลายคืน เพราะไม่เคยออกร้านขายของกับเขามาก่อน ไม่รู้คนจะซื้อไหม จะจัดร้านยังไง จะไปยืนเด๋อหรือเปล่า นอยด์ไปหมด แต่ก็ซ้อมจัดอยู่ที่บ้าน จำลองสถานการณ์ว่าจะขายของหรือจะเติมของยังไง จ่ายเงินรูดการ์ดทอนเงินโน่นนี่ เต็นท์ก็ไปยืมน้องที่รู้จักมา เพราะว่ายังไม่อยากลงทุนซื้อเอง ก็ต้องเอามาซ้อมกางที่บ้านก่อนอีก สมคิดมากอดอกยืนดูไม่ยอมช่วย เพราะนางบอกว่าวันงานยูต้องไปเซ็ตอัปคนเดียว ก็ต้องซ้อมกางคนเดียวให้ได้ด้วย สามีแห่งชาติมาก

อุ้ม สิริยากร ออกบูทขายตุ้มหูในงานโรงเรียนลูกสไตล์อังกฤษ-ญี่ปุ่น ที่พอร์ตแลนด์

วันงานมาถึง อุ้มเอาเต็นท์ไปกางตั้งแต่ยังไม่มีใครมาเลยค่ะ โชคดีที่ซี้กับลุงภารโรง แกเลยเปิดประตูรั้วให้ขับรถเข้าไปข้างใน ไม่ต้องลากถุงเต็นท์ที่หนักมหาประลัยเข้าไปเอง (เห็นไหมการไปแต่เช้ามันดีอย่างนี้) จัดเสร็จเรียบร้อยก็สลัดคราบคนงาน ขับรถกลับบ้านไปแต่งหน้าแต่งตัวสวยออกมาอีกรอบ จัดบูทเสร็จคนก็เริ่มมากันพอดี

อุ้ม สิริยากร ออกบูทขายตุ้มหูในงานโรงเรียนลูกสไตล์อังกฤษ-ญี่ปุ่น ที่พอร์ตแลนด์

พบว่าอะไรรู้ไหมคะ ลืมถุงใส่ตุ้มหูรองกระดาษทิชชูสวยที่จัดเอาไว้ 50 ถุง กับเงินทอนที่แลกไว้เมื่อวันก่อน! อุ้มเลยให้พี่เลี้ยงเด็กที่วานมาช่วยดูเมตตากับอนีคา เดินกลับไปเอาที่บ้าน สักพักใหญ่ พี่เลี้ยงเมสเซจมาบอกว่าไม่มีกุญแจเข้าบ้าน! เวรกรรม! ลูกค้าก็เริ่มมากันแล้ว เลยบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยว Improvise เอาแล้วกัน พอดีมี Tissue Paper ลายสวย ๆ ที่ตัดเอามาไว้ห่อกิ๊บอยู่ ก็เลยใช้ไปก่อน ส่วนเงินทอน ปรากฏว่าคนที่มาซื้อแรก ๆ จ่ายเงินสดพอดีไม่ต้องทอนหลายคนมาก (ข้อดีของการตั้งราคาง่าย ๆ อย่าง 35 เหรียญ) ก็เลยมีเงินไว้ทอนคนอื่น แล้วส่วนใหญ่ก็จ่ายด้วยเครดิตการ์ดหรือ Venmo (อุ้มพรินต์ QR Code ตั้งไว้ที่บูทเลย) ก็เลยไม่มีปัญหาเรื่องไม่มีเงินทอน

แล้วที่กังวลว่าจะขายไม่ได้ ปรากฏว่ายอดขายถล่มทลายเลยค่ะ หนึ่งคือเป็นช่วงก่อนวันแม่ของที่นี่ ก็เลยมีคนมาซื้อเป็นของขวัญ สองคือคนรู้จักกันทั้งนั้น แม่ ๆ ด้วยกันนี่แหละค่ะที่มาช่วยกันอุดหนุนใหญ่เลย ซึ้งใจมาก ได้เห็นชัดเจนขึ้นมากเลยว่าใครคือลูกค้าของเรา และแบบไหนที่คนชอบและขายดีกว่าแบบอื่น ๆ

อุ้ม สิริยากร ออกบูทขายตุ้มหูในงานโรงเรียนลูกสไตล์อังกฤษ-ญี่ปุ่น ที่พอร์ตแลนด์

อุ้มเองก็ได้เรียนรู้หลายอย่างจากการไปออกบูท แน่ ๆ เลยคือเริ่มจากที่ที่เรารู้จักนี่แหละค่ะดีที่สุด ขนของเข้าออกไม่ลำบาก คนซื้อก็เป็นคนที่พฤติกรรมใกล้ ๆ กัน ส่วนวันงานแม้จะเตรียมตัวมาดีแค่ไหน ก็อาจจะมีอะไรหลงลืม เพราะฉะนั้นควรมีลิสต์ไว้ แล้วก่อนออกจากบ้านเช็กให้ดี แต่ถ้าพลาดจริง ๆ ก็ไม่เป็นไรหรอกค่ะ คนซื้อเขาไม่รู้หรอกว่าเราลืมถุง (แต่คราวหน้าอย่าลืมล่ะ)

อ้อ ขายตุ้มหูอย่าใช้เต็นท์สีส้ม (หัวเราะ) ลูกค้าอุ้มต้องเอาตุ้มหูออกไปลองกับแสงธรรมชาตินอกเต็นท์ อิฉันก็ต้องถือกระจกตามออกไปให้เขาส่อง วุ่นวายได้หัวเราะกันอีก จะซื้อหรือจะยืมเต็นท์ใครคราวหน้าควรเช็กว่าสีขาวหรือเปล่าด้วยนะจ๊ะ

ในวันนั้นอุ้มถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จอย่างงดงาม สาเหตุหลักอีกอย่างก็คือมีคนมางานเยอะมากด้วยค่ะ งานนี้จัดทุกปี แต่ 2 ปีที่ผ่านมาติดโควิด ก็เลยงดไป ปีนี้กลับมาจัดใหม่ ทุกคนก็เลยตื่นเต้น ขนาดคนที่ไม่ได้อยู่ริชมอนด์หรือศิษย์เก่าก็ยังมากัน มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เด็ก ๆ มาเต้นตรงกลาง คนมาออกันที่หน้าร้าน นึกว่าอยู่จตุจักรกันเลยทีเดียว

อุ้ม สิริยากร ออกบูทขายตุ้มหูในงานโรงเรียนลูกสไตล์อังกฤษ-ญี่ปุ่น ที่พอร์ตแลนด์

เนื่องจากริชมอนด์เป็นโรงเรียนใหญ่ มีลานกว้างหลายลาน เลยแบ่งโซนงานเป็นทั้งของกิน ของขาย และของเล่นได้ชัดเจน อุ้มมัวแต่ขายของ ปีนี้เลยไม่ได้เดินดูงานเท่าไหร่ แต่ช่วงท้าย ๆ สมคิดเลิกงานแวะมาช่วยดูบูท อุ้มเลยวิ่งไปดูตรงโซนกิจกรรมได้ เพราะปีนี้มีบ้านเป่าลมใหญ่ยักษ์ (Bouncy Houses) มาตั้ง 5 จุด! เด็ก ๆ วิ่งเข้าวิ่งออกไปกระโดดดึ๋งดั๋งกันสนุกใหญ่ แต่ละชั้นปีก็มีซุ้มเกมของตัวเองซึ่งน่ารักสร้างสรรค์มาก มีผู้ปกครองอาสาสมัครผลัดเวรกันมาเฝ้าซุ้ม น่ารักจนอยากเอามาเล่าให้ฟังเลยค่ะ

อนุบาล เกมตกหมึก (Tako Tsuri)

อันนี้เป็นชั้นเด็กน้อยของอนีคา เกมก็เลยกุ๊กกิ๊ก ๆ เป็นเบ็ดมีตะขอให้เกี่ยวปลาหมึกในบ่อ ตกได้อันไหนก็พลิกขึ้นมาดู จะมีตัวอักษรอยู่ข้างล่างบอกว่าได้ของขวัญเป็นอะไร อารมณ์เหมือนเกมตามงานวัดในประเทศญี่ปุ่น

ป.1 เกมวิ่งไข่ (Egg Relay Race)

คลาสสิกมาก ไม่ต้องอธิบายก็รู้ว่านี่คือเกมที่ให้ถือไข่ในช้อน แล้ววิ่งแข่งกัน งานไหน ๆ ก็สนุกได้เสียงเชียร์ ยิ่งเป็นเด็กเล็ก ๆ อย่างเด็กอนุบาลนี่ยิ่งน่ารัก คือเดินธรรมดาไม่หกล้มนี่ก็บุญอยู่แล้ว มือตาขาแขนอะไรก็ยังไม่ประสานกัน มาตั้งอกตั้งใจวิ่งไข่นี่ โอ๊ย น่าเอ็นดู

ป.2 แต่งหน้า (Face Painting)

อันนี้ไม่ได้เรียกว่าเป็นเกม เพราะคุณแม่คนหนึ่งซึ่งแต่งหน้าเด็กเก่งมากราวกับมืออาชีพ อาสามาวาดหน้าให้เป็นรูปต่าง ๆ เป็นกิจกรรมที่ฮิตมากตามงานวันเกิดหรืองานอีเวนต์ คุณแม่คงแทบไม่ได้หยุดมือเลย เพราะอุ้มเห็นเด็กกี่คน ๆ วิ่งผ่านหน้าบูทก็ไปเพนต์หน้ากันมาทั้งนั้น แม่ 2 สาวเมตตากับอนีคานี่จะเหลือเหรอคะ ไปเพนต์มาแต่หัววัน แต่งเสร็จแล้ววิ่งกันคึกจนเหงื่อละลาย ตอนจะกลับบ้านก็แทบไม่เหลือแล้ว

ป.3 เกมโยนถุงถั่วใส่ดารุมะ (Daruma Bean Bag Toss)

เกมนี้เป็นชั้นของเมตตา เกมเลยยากขึ้นมาหน่อย เป็นรูปตุ๊กตาดารุมะอ้าปาก แล้วให้เด็ก ๆ โยนถุงผ้าที่มีถั่วอยู่ข้างในใส่ให้เข้าปากดารุมะ คล้าย ๆ กับเกม Cornhole แต่เป็นเวอร์ชันเด็กญี่ปุ่น

ประสบการณ์การออกร้านขายตุ้มหู OomPDX ครั้งแรกในงานโรงเรียนสไตล์อังกฤษ-ญี่ปุ่น ที่พอร์ตแลนด์ อเมริกา

ป.4 เกมแคะขี้มูก (Nose Picker)

อุ้มชอบเกมนี้มาก ฮาที่สุด ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเกมแคะขี้มูก คนเล่นก็เลยต้องล้วงมือเข้าไปในรูจมูกอันใหญ่เบ้อเริ่มที่เขาทำไว้ ด้านหนึ่งเป็น Slime ซึ่งเหนอะหนะเหมือนขี้มูกจริง ๆ กับอีกด้านหนึ่งเป็นของเล่นอันเล็ก ๆ ล้วงได้อะไรก็เอาอันนั้นกลับบ้าน ลูก ๆ อุ้มวิ่งถือกระปุก Slime เอามาโยนไว้ที่โต๊ะแม่ เพราะไปแคะขี้มูก เอ๊ย เล่นเกมได้มา ทีแรกอุ้มไม่รู้ นึกว่าขนมกำลังจะเปิดชิม ดีนะ เมตตามาบอกทันว่านี่มันขี้มูกนะมัมมี่ ไม่งั้นโดนเพื่อนล้อแน่ว่าแคะขี้มูกแล้วเอาเข้าปาก (อิ้ว ตอนเด็ก ๆ เคยมีเพื่อนแบบนี้ใช่ปะล่ะ)

    ป.5 เกมห้องน้ำ (Toilet Toss)

    อันนี้ก็แอบฮา คิดมาได้ไงเนี่ย คือเป็นโถส้วมปลอมอันใหญ่ ๆ แล้วให้คนเอาม้วนทิชชูโยนให้ลงโถ ถ้าลงก็ได้รางวัล

ประสบการณ์การออกร้านขายตุ้มหู OomPDX ครั้งแรกในงานโรงเรียนสไตล์อังกฤษ-ญี่ปุ่น ที่พอร์ตแลนด์ อเมริกา

จะเห็นได้ว่าความฮาและความบ้าบอของเกมเพิ่มไปตามระดับชั้น แต่ไม่ว่าเด็กเล็กหรือเด็กโต ต่างก็เล่นกันได้หมด อ้อ ลืมเล่าอีกเรื่องเกี่ยวกับของกินค่ะ นอกจากจะมีอาหารญี่ปุ่น สายไหม ป็อปคอร์นให้กินกันเป็นที่สนุกสนานแล้ว ยังมีบูทนึง อยู่ใกล้ ๆ บูทอุ้ม ชื่อ Umi Organics เป็นเส้นบะหมี่ราเม็งออร์แกนิกที่ตอนนี้ดังมากในพอร์ตแลนด์ บ้านอุ้มชอบมากซื้อมากินบ่อย ๆ 

เจ้าของเคยเป็นเด็กริชมอนด์เมื่อหลาย 10 ปีที่แล้วค่ะ เขาไม่ได้เป็นคนญี่ปุ่นด้วยนะคะ แต่เรียนโรงเรียน Japanese Immersion จนจบไฮสกูล (เมตตากับอนีคาก็คงเป็นแบบเดียวกัน) แล้วพอจบมหาวิทยาลัย เขาก็เริ่มคิดจะทำธุรกิจทำเส้นราเม็งแบบที่อร่อยเหมือนต้นตำรับ และใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ เริ่มขายที่ Farmer’s Market ก่อน จนตอนนี้มีขายที่ซูเปอร์มาร์เก็ตดี ๆ ทั่วพอร์ตแลนด์ เรียกว่าประสบความสำเร็จมากเลย เห็นว่ากำลังจะขยายกำลังการผลิต ถือเป็นความภูมิใจของริชมอนด์เลยก็ว่าได้ งานนี้เจ้าตัวมาออกบูทเองเลยด้วย น่ารักจริง ๆ

ประสบการณ์การออกร้านขายตุ้มหู OomPDX ครั้งแรกในงานโรงเรียนสไตล์อังกฤษ-ญี่ปุ่น ที่พอร์ตแลนด์ อเมริกา
ประสบการณ์การออกร้านขายตุ้มหู OomPDX ครั้งแรกในงานโรงเรียนสไตล์อังกฤษ-ญี่ปุ่น ที่พอร์ตแลนด์ อเมริกา

    ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำการมีลูกอยู่โรงเรียนญี่ปุ่นในอเมริกา การออกร้าน และงานโรงเรียนที่คึกคักสนุกสนานมาก จบงานสมาคมผู้ปกครองก็ได้เงินบริจาคเอาไปทำโครงการอื่น ๆ ต่อ แบรนด์ตุ้มหูของอุ้มก็ได้เงินทุนมาหมุนเวียนก้อนใหญ่ เรียกว่าวิน-วินกันทุกฝ่าย ถามใครที่เรียนจบจากริชมอนด์ ก็มีความทรงจำดี ๆ เกี่ยวกับงาน Spring Festival กันแทบทั้งนั้น โรงเรียนไทยเราคงมีงานแบบนี้เหมือนกัน หรือโรงเรียนไหนยังไม่มี คุณผู้ปกครองรวมตัวกันเลยค่ะ รับรองว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ประทับใจ จะได้มาร้องเพลงโรงเรียนของเราน่าอยู่ด้วยกันนะคะ

ประสบการณ์การออกร้านขายตุ้มหู OomPDX ครั้งแรกในงานโรงเรียนสไตล์อังกฤษ-ญี่ปุ่น ที่พอร์ตแลนด์ อเมริกา

Writer & Photographer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์