The Cloud x ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

‘บ้าน (คัน) นี้’
บ้าน 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำในตัว รอบบ้านมีสนามหญ้าเขียว ๆ ที่มีคนตัดให้แบบไม่ต้องจ้าง
บึงใหญ่ สบายตาก็ไม่ต้องจ้างใครขุด แถมโอบล้อมด้วยภูเขาลูกใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม และอากาศบริสุทธิ์ ไร้ฝุ่น PM ตลอดทั้งปี

‘บ้าน’ ความหมายตามวิกิพจนานุกรม (Wiktionary : พจนานุกรมเสรี) แปลว่า โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีเจ้าบ้านครอบครอง และหมายความรวมถึงแพหรือเรือซึ่งจอดเป็นประจำและใช้เป็นที่อยู่ประจำ หรือสถานที่หรือยานพาหนะอื่นซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยประจำได้ด้วย

งั้น! สิ่งที่อยู่ตรงหน้าฉัน ก็เรียกว่า ‘บ้าน’ ได้สิ

ลุงวิทย์ ป้าเกียว รถบ้านพเนจร 

รถหรือบ้าน บ้านหรือรถ 
จะเป็นอะไรก็ไม่สำคัญเท่าความสุขของป้า
รักออกแบบไม่ได้ 

ลุงวิทย์-วรวิทย์ และ ป้าเกียว-จิราวรรณ กิตติเกษมวงศ์ คู่สามีภรรยาวัย 74 ปี เริ่มต้นชีวิตคู่จากการที่คน 2 คนไม่รู้จักกันมาก่อน ไม่ได้ปลูกต้นรักร่วมกัน ไม่มีแม้กระทั่งการจับมือถือแขน ถามว่า “คุยกันกี่คำก่อนแต่งงาน” น่าจะเหมาะกว่า

“ผมกับเขาแต่งงานตอนอายุ 28 ปี เราอายุเท่ากัน ใช้วิธีคลุมถุงชน มีแม่สื่อประสานงานจัดการ ผมไปแอบดูเขา ดูแล้วหน้าตาดี หุ่นดี ก็ตอบตกลง” ลุงวิทย์เล่า “หมั้นกัน 4 เดือน ไม่เคยแตะเนื้อต้องตัวหรือไปไหนมาไหนด้วยกันตามลำพัง ป้าเกียวเป็นผู้หญิงที่ระวังตัวมาก ถ้าเป็นเด็กสมัยนี้คงเรียกว่าหัวโบราณ”

วันนี้เข้าปีที่ 47 แล้ว คำว่า “อยู่ด้วยความเป็นเพื่อน” จากคุณลุง ดูเหมือนเป็นประโยคอินโทรของดีเจยุค 90 เพื่อเปิดเข้าเพลงนี้ (ถ้าไม่ใช่คนยุค 90 ก็ไปฟังได้จากพี่วง CLASH เอามาทำใหม่ได้นะเด็ก ๆ)

เพื่อนไม่เคยไม่เคยทิ้งกัน
ไม่ว่าความฝันนั้นจะไกลสักเท่าไร
จะหกล้มซมซานเมื่อใด
เพื่อนจะปลอบใจ
ไม่มีคนที่จะรู้ใจ
ไม่มีใครรักและตามใจเหมือนเพื่อนเก่า
จะทำไงตามใจแต่เรา เพื่อนเรารักจริง

“พอแต่งงานปุ๊บ ผมก็พาเขาเที่ยวมาตลอด ทั้งนอนรีสอร์ต แคมปิง กางเต็นท์ ภูเขา น้ำตก”

คุณลุงพูดจนเห็นภาพ คุณป้าผู้นั่งบนเก้าอี้พลาสติกสีเทาตัวโปรดเล่าเสริม “เดิมป้าเคยอยู่บ้านที่มีบริเวณ บ้านเป็นโรงงาน ลูกคนจีนและเป็นคนโต ต้องทำงานก่อน จะไปเที่ยวได้อย่างไร พอแต่งงาน เขาชอบเที่ยว เราก็ได้ไปเที่ยวกับเขานี่แหละ”

การเดินทางท่องเที่ยวจึงเป็นกิจกรรมของคู่แต่งงานใหม่ที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ 

“ผมไปมาหมดทุกอุทยาน สมัยก่อนกางเต็นท์ยาก เหนื่อยกว่าตอนนี้เยอะ“ คุณลุงเล่า 

“ถึงนอนเต็นท์ แต่เขาไม่ได้ให้ฉันนอนพื้นนะ เขาจะมีเตียงที่ต่อขึ้นมา เขาอยากให้นอนหลับ แล้วลุกได้สบายด้วย“ คุณป้าพูดขึ้นด้วยน้ำเสียงชื่นชมคุณลุงจากใจแม้จะเล่าเรื่องราวเหล่านี้มานับครั้งไม่ถ้วน

นั่นคือบริการเสริมจากใจแบบไม่ต้องรีเควสหรือจ่ายเพิ่ม

ฟังแล้วอยากจะติดแฮชแท็กให้กับคุณลุงวิทย์ว่า #ใจถึงพึ่งได้

เกิด แก่ เจ็บ หาย 

เมื่อ 12 ปีก่อน คุณป้าเกียวตรวจพบโรคมะเร็งและได้เข้ารับการรักษา แต่กลับแพ้การรักษาด้วยคีโมอย่างหนัก จนต้องบอกคุณลุงวิทย์ว่าไม่ไหวแล้ว ปล่อยเธอไปเถอะ

“ถ้าปล่อยเอ็งไปแล้ว แล้วข้าจะอยู่กับใคร ห้ามไป เดี๋ยวจะไปมีกิ๊กนะ” คุณลุงว่า ก่อนเสียงหัวเราะจากทั้ง 2 คนรวมทั้งฉันและทีมงานทุกคนดังขึ้นพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย 

หลังจากนั้น จุดเริ่มต้นใหม่ของชีวิตคน 2 คนในวัยเกษียณก็เกิดขึ้น ณ บ้าน (คัน) นี้

“ผมได้แบบจากนิตยสารรถของเยอรมนี แล้วก็มาปรับให้เหมาะกับบ้านเรา”

แต่เท่าที่ฉันได้สวมวิญญาณโคนันยอดนักสืบ เดินสำรวจ (เกือบ) ทุกตารางนิ้ว คุณลุงน่าจะพูดว่า …อะ แฮ่ม..แฮ่ม.. “ปรับให้เข้ากับผู้หญิงของข้า ใครอย่าแตะ”

ตั้งแต่เตียงนอนบนรถที่คุณป้านอนดิ้นได้ สบาย ๆ กรนได้ดัง ๆ (เรื่องจริงไม่จกตา) ชั้นเก็บของใช้จิปาถะบนรถ เครื่องสำอาง หรือกระจกแต่งหน้าปลายเตียง (เอาสิ) ราวแขวนเสื้อผ้าสวย ๆ ให้คุณป้าเลือกสะดวก บนผนังก็แขวนรูปภาพแต่งงานไว้ด้วยนะ ว่าไม่ได้ มีห้องน้ำใกล้กับที่นอนคุณป้า (ไกลจากที่นอนคุณลุง 555) 

และส่วนเสริมด้านนอกข้างตัวรถที่ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าสร้างหรือเสก นั่นคือพื้นที่ครัวไทยเปิดโล่ง อุปกรณ์ครบ บนพื้นที่กว้างกว่าครัวในคอนโดยุคนี้หลายเท่าทีเดียว เอ่อ ถ้าฉันอิจฉาคุณป้า จะผิดมากมั้ย

ต้องใช้คำไหนระหว่าง ‘การท่องเที่ยว’ หรือ ‘การรักษา ฟื้นฟู’ หรือ ‘การสร้างบ้านหลังที่ 2’ หรือว่าจะเป็น ‘การทำอาชีพใหม่’ – ฉันถามอย่างคนขี้สงสัย

คุณลุงให้คำตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่น “รถคันนี้คือพาหนะที่พาเขาท่องเที่ยวได้ทั่วประเทศ ใต้สุดที่ผมไปคือปาดังเบซาร์ เหนือสุดคือดอยอินทนนท์ ถ้าบ้านเราอยู่ในหมู่บ้าน 100 หลังคาเรือน ถามว่าเราจะเดินไปบ้านโน้นบ้านนี้ รู้จักกันสักกี่หลัง เต็มที่ก็น่าจะ 4 หลัง แต่มาอยู่แบบนี้ เรามีเพื่อนบ้านทั่วประเทศ มีคนรู้จัก มีกัลยาณมิตรทั้งวัยรุ่นและผู้สูงวัย ที่คุยกันอายุมากที่สุดน่าจะ 88 

“นี่คือการท่องเที่ยวที่ช่วยชุบชีวิต เรามีที่กรองอากาศบริสุทธิ์ในธรรมชาติที่ทุกคนมองไม่เห็น ป่าคือหม้อกรองที่ดีที่สุด” เอาล่ะ เครื่องกรองอากาศทุกยี่ห้อไม่ต้อง Tie-in นะ รู้ยัง 

ทุกวันนี้คุณป้าไม่ต้องรับคีโมแล้ว มีค่าไตปกติ ไม่ต้องใช้วอล์กเกอร์ช่วยเดิน ค่อย ๆ ขึ้น-ลงรถด้วยตัวเองได้ และยังขี่จักรยานได้อีกด้วย สุขภาพแข็งแรงจนคุณหมอแปลกใจ 

คงเพราะ “ฉันมีอาชีพท่องเที่ยว” ตามที่คุณป้าพูด คล้ายประโยคที่ใช้กรอกประวัติในช่อง Occupation

ครัวไทยสู่ครัวโล่ง

บ้านคันนี้มีพี้นที่ขนาด 2.50 x 5.00 ม. 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ พร้อมเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานโซลาร์เซลล์เป็นตัวเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ เราจึงมักเห็นรถบ้านคุณลุงคุณป้าจอดอยู่บนที่ที่มีแดด แต่ก็มีบริเวณที่ร่มรื่น นั่งสบาย ประหนึ่งเฉลียงหน้าบ้าน เป็นทั้งพื้นที่นั่งเล่นและครัวไทยเอาต์ดอร์ ขนาดใหญ่ครบเครื่อง (ปรุง) 

“ใครแถวนี้ขาดอะไรก็มาขอที่นี่ได้” ฉันเชื่อด้วยหลักฐาน เมื่อคุณลุงถอดฝากล่องข้างรถออก จะพบกับชั้นเก็บสารพัดกระบวนเครื่องปรุงอาหารแบบที่หลายบ้านยังไม่ครบเท่านี้ เช่น น้ำมันงา เหล้าจีน หรือแม้แต่ผงกะหรี่ ก็ยังพบได้บนชั้นวางของข้างรถคันนี้

“ขนมจีนน้ำยาปักษ์ใต้ น้ำยาภาคกลาง กระเพาะปลา ขนมจีบ บ๊ะจ่าง ซาลาเปา ป้าก็นั่งปั้นตรงนี้ ของเราเยอะ เราก็จัดเต็มให้” ยืนยันด้วยการเปิดดูวัตถุดิบในตู้แช่แข็งที่ประกอบอยู่กับตัวรถอีกข้าง ซึ่งที่บ้านฉันก็ยังไม่เต็มแบบนี้ (อีกแล้ว)

“แต่ละคนมากิน ไม่ได้กินจานเดียว ถ้ากินได้เรายิ่งดีใจ เพราะส่วนนี้คือความสุขของเขา” คุณลุงยืนยันถึงความสุขของคุณป้า เจ้าของเสียงหวานที่ FC คุ้นเคย “อา ร้อย อา หร่อย”

เอ๊ะ! นี่ฉันนั่งอยู่ในเหลากลางกรุงหรือลานกางเต็นท์กันแน่ เริ่มไม่แน่ใจ 

เมื่อพูดถึงเรื่องอาหารฝีมือคุณป้า คุณลุงอดไม่ได้ที่จะโม้ เอ้ย! ไม่ ได้ โม้ (กรุณาออกเสียงยาวและสูงแบบนักมวยชื่อดัง เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่าน)

“ครั้งหนึ่งเราไปจอดนอนที่บางพระ ชลบุรี แล้วจะทำข้าวมันไก่ ก็บอกเพื่อน ๆ FC ไป แต่มีเงื่อนไขคือให้เอาหม้อข้าวมาหุงเอง เพราะหม้อหุงข้าวของเราใบเล็ก แต่เราซื้อไก่มา ทำข้าวมันไก่แจก

“สูตรเราไม่เหมือนใคร คนที่ชอบกินข้าวมันไก่ทุกคนมาเล่าให้ฟังว่ากินหมดหม้อ เพราะชอบข้าวมันไก่ป้าเกียวมาก ทำจนให้สูตรคนไปทำมาหากิน สร้างตัวกันได้ทีเดียว”

ฟังจบ ท้องของฉันร้องดังขึ้นมาแบบไม่ทันตั้งวอลุม เลยแก้เขินด้วยการเอื้อมตักข้าวเหนียวเปียกลำไยราดกะทิอบควันเทียนฝีมือคุณป้าเป็นถ้วยที่ 3 เสมือนรับประทานบุฟเฟต์ขนมหวานไม่อั้น ไม่จำกัดเวลายังไงอย่างงั้น

ต่อเรือนตามใจป้า ผูกอู่ตามใจลูก

นี่คือการสร้างบ้านที่ไม่ใช่ตึกสูง อาคารมินิมอล ทรงไทย หรือหลังคาจั่ว ไม่ต้องโบกปูน ไม่ได้ลงเสาเอก ลงแค่ใจ 

“ใช้ใจนำทาง” วลีหวานนี้ยังใช้ได้เสมอ 

บ้าน (คัน) นี้ สร้างขึ้นในแบบที่อยากให้คุณป้าสะดวกสบาย ผ่านการวางแผนทีละสเตป ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ปลูก สร้างบ้านและครอบครัวให้ดำเนินไปตามครรลองของวัน เวลา วาระที่ควรจะเป็นไป เมื่อถึงเวลา คงไม่ต้องเดาผลลัพธ์ที่ได้ให้เสียเวลา

เมื่อถึงเวลา ฤกษ์งามยามดี (12 ปีที่แล้ว) คุณลุงคุณป้าใช้ชีวิตกับรถบ้านบนผืนดินทั่วประเทศไทย ได้นอนหลับบนที่นอนอุ่น ๆ กินอิ่มกับอาหารฝีมือคุณป้า ย้ำว่า ‘ทุกมื้อ’ และบางมื้อก็แบ่งปันอาหารให้ผู้คน เพื่อนบ้าน รถคันอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ได้ออกกำลังกาย เดินเล่น สูดอากาศบริสุทธิ์ทุกเช้า กลางคืนได้สัมผัสอากาศ 20 องศาเซลเซียสในหน้าร้อนที่คนกรุงแทบจะเปิดแอร์ 3 เครื่องพร้อมกันในห้องเดียว

รถบ้านที่คุณลุงสร้างขึ้นมาให้เป็นแบบนี้ กับธรรมชาติในแบบที่เป็น ช่างลงตัวเหลือเกิน

(รถ) บ้านคันนี้ ไม่ใช่แค่สิ่งก่อสร้างหรือยานพาหนะที่ออกแบบมาเพื่อขับเคลื่อนเท่านั้น แต่นี่คือ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น ความผูกพันที่สัมผัสได้เต็มหัวใจของครอบครัว 

ซึ่งลูกทั้ง 3 คนก็ให้พ่อและแม่ใช้ชีวิตท่องเที่ยวอย่างอิสระ แต่ไม่ห่างเหินกัน 

“เราแต่งงานอายุ 28 ลูกทั้ง 3 คนเรียนจบปริญญาตรีแล้วค่อยมาเรียนรู้จากพ่อ เราไม่ได้ผูกมัดลูกว่าต้องมาต่อยอดอาชีพจากพ่อแม่ เขาไปทำในสิ่งที่เขาถนัด เราไม่เคยหยุดอนาคตลูก 

“พออายุ 58 เริ่มถอยทีละก้าว ปล่อยมือออกมาอยู่ข้างนอก ถ้ามีปัญหาลูกจะโทรถาม ให้เราเป็นที่ปรึกษา จนอายุ 62 ตั้งใจจะใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่ยุ่งกับอะไร มาวันนี้อายุ 74 ก็เข้าปีที่ 12 แล้วที่อยู่ด้วยกันแบบนี้ ไปกันทั่วประเทศ” 

ฉันรีบจดเลขเด็ดจากคุณลุง เพื่อเก็บกลับไปคิดวางแผนให้ชีวิตที่ก้าวเลย 5 แยกมาหลายปี

อีกไม่กี่ปีก็จะรับเบี้ยคนชราอย่างเต็มภาคภูมิ วางแผนและตั้งเป้าหมายไว้ ก่อนที่จะผ่านไปทีละเลข ทีละงวด ทีละเดือน ทีละปี เพราะไม่มีใครรู้ว่าเราจะผ่านและหยุดลงที่ตัวเลขใด 

จงตั้งเป้าหมายไว้ที่ดวงจันทร์ เพราะถึงแม้คุณจะไปไม่ถึง คุณก็ยังได้อยู่ท่ามกลางหมู่ดาว Les Brown

ไกลแค่ไหนคือใกล้ 

คุณลุงคุณป้าใช้ชีวิตวัยเกษียณกับบ้านที่อยู่บนผืนดินทุกอุทยานในประเทศไทย ใกล้ ไกล ทริปละ 1 – 2 สัปดาห์ หรือบางครั้งก็ยาวถึง 1 เดือน หรือ 7 เดือนก็เคย (ในช่วงโควิด)

ทั้งที่ว่าไกล ที่ว่ายาก อย่างปางอุ๋ง บ้านรักไทย ทั้งที่ต้องใช้ทักษะการขับรถก็ผ่านมาแล้ว จะกี่โค้ง ไม่ต้องนับ หนุ่ม ๆ สาว ๆ บางคู่ยังยอมแพ้ และคงไม่ต้องถามว่าคุณลุงได้พาคุณป้าไปอยู่หรือยัง น่าจะถามว่าอยู่ที่นั่นกี่เดือน

ความรักมักไม่แพ้ระยะทางเสมอไป (จำไว้นะลูกเอ้ย) 

“ตอนนี้เขาไม่ได้กินยาเบาหวานแล้ว เหลือแค่ยาความดัน 1 เสี้ยว แต่ก่อนกินยาเป็นกำมือ ถ้า 3 ปีเอามารวมคงได้เป็นเข่ง เราจะไปไกลแค่ไหนก็มีวันที่กลับบ้าน คือไปหาหมอตามนัด กับวันที่ต้องไปไหว้บรรพบุรุษตามธรรมเนียมคนจีน เพราะเราเป็นบ้านหลักของญาติพี่น้อง”

“เราเลือกที่จะอยู่แบบนี้” คุณลุงยืนยัน

สุขภาพที่ดีคือสิ่งที่ได้รับจากการทำอาชีพท่องเที่ยวตามที่คุณป้าบอกไว้ ใครหลายคนอ่านมาถึงตรงนี้คงนึกอิจฉา แทบจะไปลาออกจากงานทันที แต่ แต่ อย่าเพิ่งใจร้อน 

“ไม่ใช่ใครก็จะทำได้” คุณลุงให้ข้อคิด “ถ้าคุณยังปลดตัวเองไม่ได้ ยังยึดติดกับอะไรต่อมิอะไร การใช้ชีวิตลักษณะนี้ 100% ยังต้องขึ้นอยู่ที่กำลังและสุขภาพของเราด้วยว่าจะไปได้ยาวแค่ไหน สุขภาพดีก็ได้กำไรเยอะหน่อย ส่วนเงินก็สำคัญ เพียงแค่ว่าเวลาที่ออกมาคุณจะบริหารจัดการเงินอย่างไร แต่ทุกอย่างก็ไม่ใช่ว่าจะต้องใช้เงิน”

โอ้ว! คมกริบ บาดลึกกลางใจคนวัย 56 ย่าง 57 (ผู้เขียน) ฉันไปได้ไกลสักครึ่งหนึ่งของคุณลุงคุณป้าหรือไม่ 

#อยากอยู่กับเขา

เขาใหญ่คือทำเลที่คุณลุงคุณป้าเลือกมาบ่อยที่สุด เพราะอากาศบริสุทธิ์ที่เขาใหญ่เหมาะสำหรับคุณป้าที่ใช้ธรรมชาติบำบัดและฟื้นฟูร่างกาย ซึ่งทุกครั้งบ้านจะ (จอด) อยู่ตรงนี้ ที่ที่มีแสงแดด เพราะบ้านหลังนี้ใช้ระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 

ฝนตก แดดออก คุณลุงคุณป้าจะนั่งอยู่บริเวณด้านข้างของรถ ใต้เต็นท์ผ้าใบคลุมเหมือนเป็นศาลาหย่อนใจหรือเป็นบ้านเล็ก ๆ อีกหลังที่ต่อเติม ตรงนี้เป็นที่นั่งทำกับข้าวสำหรับต้อนรับ แบ่งปัน แจกจ่าย พูดคุยกับเพื่อนเต็นท์ข้าง ๆ หรือเซลฟี่กับ FC จากทุกสารทิศที่ติดตามเพจแล้วตั้งใจเดินทางมาทักทายไม่เคยขาดสาย 

คุณลุงบอกว่าสุขภาพดี ชีวิตยืนยาว ทำได้ด้วยหลัก 4 อ คืออาหาร อากาศ ออกกำลังกาย อารมณ์ 

ฉันขอเพิ่มให้คุณลุงคุณป้าอีก 4 ส 

1. สุขได้แบ่งปัน

2. สนุกได้ท่องเที่ยว

3. สดชื่นด้วยอากาศบริสุทธิ์ 

และ 4. สุด สุด ที่ เขา เลือก

ยัง ยังไม่จบ! (เกือบลืม)

ในการพูดคุยวันนั้น คุณลุงหยั่งเชิงฉันว่า “ผมจะรอว่าคุณจะถามคำถามนั้นกับผมไหม” 

ฉันไม่แน่ใจว่าหนึ่งคำถามนั้น คือคำถามนี้ที่ฉันกลั้นใจถามขึ้นมาเป็นคำถามสุดท้ายหรือไม่

ฉัน : ถ้าไม่มี ‘เขา’ คุณลุงจะยังอยู่แบบนี้อีกไหม

คุณลุง : รถคันนี้ออกแบบมาเพื่อ ‘เขา’ กว่าที่จะได้อยู่กันแบบนี้ เราผ่านความลำบาก ร้องไห้ด้วยกัน ต่อสู้กันมามาก มันเป็นความรู้สึกที่ลึกซึ้งทั้งที่ไม่ได้ผูกพันด้วยความรัก (ถ้าใครอ่านประโยคนี้แล้วไม่เข้าใจ แนะนำให้กลับไปอ่านบรรทัดแรกด้านบนอีกครั้ง) 

ฉันลากลับโดยที่ทั้งฉันและคุณลุงไม่มีคำถามใดค้างคาซึ่งกันและกันอีกต่อไป

รถ – บ้าน – บ้าน – รถ – บ้าน – รถ – บ้าน – รถ – บ้าน – รถ – บ้าน – รถ – บ้าน – รถ – บ๊าย บาย 

The Cloud Golden Week : Happy Young Old : (ถึง) คราวคึกคัก
ภาพ : ลุงวิทย์ป้าเกียวรถบ้านพเนจร

The Cloud Golden Week : Happy Young Old คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ The Cloud จับมือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดรับวัยอิสระ อายุ 45 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ มารวมพลัง ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆเป็นเวลา 1 สัปดาห์ 

ภายใต้ธีม ‘การเตรียมตัวเข้าสู่วัยอิสระ’ และ ‘การดำเนินชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข’ เปรียบเสมือนคู่มือเล่มน้อย ๆ ที่อัดแน่นด้วยคำแนะนำ การรับมือ การใช้ชีวิตก่อน-หลังเกษียณในหลากหลายมิติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘ที่อยู่อาศัย’ เราจึงชวนวัยอิสระเล่าเรื่อง ลุงวิทย์-ป้าเกียว สองคู่รักเจ้าของรถบ้านพเนจรที่ตระเวนเดินทางท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย และแวะพักตามอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ เพื่อปักหลักใช้ชีวิตแรมเดือน ซึ่งรถบ้านคันนี้ออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนทั้งคู่ เป็นทั้งห้องนอน ห้องครัว และห้องรับแขก นับรวมเวลากว่า 10 ปีที่ชีวิตและความรักของ ลุงวิทย์-ป้าเกียว หมุนไปพร้อม ๆ กับ ‘รถ’ และ ‘บ้าน’ คันนี้

ชวนเตรียมพร้อมรับมือเกษียณ ปรับความคิดและเข้าใจวิธีการบริหารเงินให้เพียงพอ เพื่อชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในแคมเปญ ‘Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้’ ทาง setga.page.link/Xng4K5xK9wFevt8b9

Writer

กมลรัตน์ อุทัยเสน

กมลรัตน์ อุทัยเสน

ตอนเป็น ด.ญ. ได้คะแนนเรียงความเต็ม 10 หรือเกือบเต็ม ไล่ล่ารางวัลประกวดเรียงความ คำขวัญ กลอนสี่สุภาพ กลอนเปล่า ทุกเทศกาล ทุกนิตยสาร พอโตขึ้น ก็เลยนึกว่าตัวเองเขียนเก่ง (ชอบกินชาเย็นสีส้มมาก)

Photographer

วินัย งามผาติพงศ์

วินัย งามผาติพงศ์

ไม่อยากเรียกตัวเองว่าช่างภาพ แค่เป็นคนชอบถ่ายรูป และมีความสุขที่ได้บันทึกสิ่งที่น่าจดจำ