ครั้งก่อนพาไปรำลึกความหลังที่หอพักในมหาวิทยาลัยภาคอีสานหรือมหาวิทยาลัยขอนแก่นกันไปแล้ว มารอบนี้ได้เวลาของมหาวิทยาลัยภาคใต้กันบ้างว่าจะมีบรรยากาศแบบใดให้พอรำลึกความหลังในวัยเรียนกันบ้าง

‘มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์’ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ได้จัดตั้งขึ้นในภาคใต้ ตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งมีเจตนาที่จะพัฒนาจังหวัดภาคใต้ให้ได้รับประโยชน์จากการศึกษา เพื่อให้เยาวชนในภาคนี้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัย ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปศึกษาที่กรุงเทพฯ หรือในประเทศข้างเคียง เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ โดยมีคณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้เป็นผู้ดำเนินการภายใต้การนำของ ฯพณฯ พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น 

สำรวจหอพัก ม.สงขลานครินทร์ กลุ่มอาคารที่สร้างจาก Master Plan ชุดแรกและชุดเดียว

แรกเริ่มคณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควรว่าจะจัดสร้างมหาวิทยาลัยภาคใต้ที่ตำบลรูสะมิแล จังหวัดปัตตานี มีการจัดทำแผนผังมหาวิทยาลัยและดำเนินการก่อสร้างไปแล้วบางส่วน แต่ต่อมาพบปัญหาเกี่ยวกับชั้นดินของพื้นที่บริเวณนั้นเป็นดินอ่อน หากก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ต้องลงเสาเข็มให้ลึกและถี่ กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มค่าและไม่เหมาะกับครุภัณฑ์เครื่องจักรกลใหญ่ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงได้พิจารณาหาสถานที่ก่อสร้างแห่งใหม่ และมาลงตัวที่บริเวณเขาคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เริ่มก่อสร้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ เป็นจุดเริ่มต้นของวิทยาเขตหาดใหญ่ในปัจจุบัน ส่วนวิทยาเขตปัตตานีที่ตำบลรูสะมิแล ก็ยังคงไว้เพื่อเป็นคณะศึกษาศาสตร์ต่อไป

สำรวจหอพัก ม.สงขลานครินทร์ กลุ่มอาคารที่สร้างจาก Master Plan ชุดแรกและชุดเดียว
สำรวจหอพัก ม.สงขลานครินทร์ กลุ่มอาคารที่สร้างจาก Master Plan ชุดแรกและชุดเดียว
สำรวจหอพัก ม.สงขลานครินทร์ กลุ่มอาคารที่สร้างจาก Master Plan ชุดแรกและชุดเดียว

บุคคลสำคัญหลายท่านที่มีส่วนปลุกปั้นให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา อาทิ ดร.สตางค์ มงคลสุข และ ดร.ประดิษฐ เชยจิตร ก็ยังปรากฏเป็นชื่อของอาคารเรียนให้ระลึกถึง เช่น อาคารเรียนรวมศูนย์ปาฐกถาประดิษฐ เชยจิตร หรือ ‘ตึกฟักทอง’ ที่เรียกกันของชาว ม.อ. และ ‘ตึกสตางค์’ หรือคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ทั้ง 2 ตึกได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยามฯ เป็นอาคารในยุคสมัยใหม่ที่ผ่านการออกแบบอย่างลึกซึ้ง 

ไม่เพียงแต่อาคารเรียน 2 หลังนี้เท่านั้นที่กลายเป็นสถาปัตยกรรมเด่น ๆ ของมหาวิทยาลัย เมื่อมองในภาพรวมทั้งวิทยาเขตหาดใหญ่ จะเห็นได้ว่า ดร.สตางค์ อดีตอธิการบดีนั้นมีทัศนวิสัยกว้างไกล ให้วาง Master Plan ของโครงการทั้งหมดแล้วใช้สถาปนิกเพียงชุดเดียวในการออกแบบ เพราะท่านเข้าใจว่าหากใช้สถาปนิกของทางราชการโดยกรมโยธาเทศบาลตามระเบียบแล้วจะมีส่วนเข้าไปแนะนำได้ยาก เพราะท่านเห็นควรว่าหน้าตาของมหาวิทยาลัยควรต้องสอดคล้องกันไปทุกส่วน และทุกที่ตั้งบนพื้นที่อันมีลักษณะสูง ๆ ต่ำ ๆ เป็นลุ่มเป็นเนิน ถ้าจะให้สัมฤทธิผลก็ต้องใช้สถาปนิกที่ท่านสั่งได้ โดยไม่ต้องรอระเบียบพิธีการตามระบบราชการซึ่งต้องเสนอตามลำดับชั้น 

สำรวจหอพัก ม.สงขลานครินทร์ กลุ่มอาคารที่สร้างจาก Master Plan ชุดแรกและชุดเดียว
สำรวจหอพัก ม.สงขลานครินทร์ กลุ่มอาคารที่สร้างจาก Master Plan ชุดแรกและชุดเดียว
สำรวจหอพัก ม.สงขลานครินทร์ กลุ่มอาคารที่สร้างจาก Master Plan ชุดแรกและชุดเดียว

ดร.สตางค์ เห็นว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งประกอบขึ้นด้วยตึกที่มีหน้าตาต่าง ๆ ไม่กลมกลืนกัน ต่างยุค ต่างแบบกัน จนบอกไม่ได้ว่าบุคลิกที่แท้จริงของสถาปัตยกรรมของตัวมหาวิทยาลัยอยู่ที่ใด

งานออกแบบของสถาปนิกที่ ดร.สตางค์ เรียกว่ารู้ใจและสั่งได้ก็หนีไม่พ้นสถาปนิกอย่าง อมร ศรีวงศ์ ซึ่งเขารับผิดชอบงานออกแบบ Master Plan ของมหาวิทยาลัยนี้ทั้งหมด และอาคารอื่น ๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว เช่น ตึกฟักทองและอาคารเคมี ตึกสตางค์ (คณะวิศวกรรมศาสตร์) และยังมีอาคารอีก 2 – 3 หลังที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่พักอาศัยของคนในมหาวิทยาลัย นั่นคือหอพักนักศึกษาและแฟลตที่พักอาจารย์ ริมอ่างเก็บน้ำศรีตรัง

แฟลตที่พักอาจารย์ ริมอ่างเก็บน้ำศรีตรัง 

ออกแบบโดย อมร ศรีวงศ์ สร้างเสร็จ พ.ศ. 2514

สำรวจหอพัก ม.สงขลานครินทร์ กลุ่มอาคารที่สร้างจาก Master Plan ชุดแรกและชุดเดียว

เป็นอาคารที่พักอาศัยสูง 4 ชั้น วางเป็นแนวยาวล้อไปกับแนวเขาเตี้ย ๆ หันหน้ารับลมเย็นจากอ่างเก็บน้ำ ความท้าทายของการออกแบบอาคารบนพื้นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ทำให้มีเสาโครงสร้างสูงเกือบ 10 เมตร เพื่อยกตัวอาคารขึ้นในระดับที่เท่ากัน กลายเป็นใต้ถุนสูงที่สร้างถนนให้รถยนต์ขับลอดผ่านไปเพื่อเทียบจอดบนเนินเขาได้

สำรวจหอพัก ม.สงขลานครินทร์ กลุ่มอาคารที่สร้างจาก Master Plan ชุดแรกและชุดเดียว

ตามสมัยนิยมของยุคนั้น สถาปัตยกรรมเขตร้อนมักออกแบบแผงกันแดดเพื่อปกป้องแดดลมฝน และกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหน้าตาอาคาร แฟลตหลังนี้มีแผงกันแดดรูปสี่เหลี่ยมคางหมูขนาดใหญ่เอียงสลับกันไปมาเป็นจังหวะ สร้างความเป็นส่วนตัวให้แต่ละยูนิตห้องพัก และถ้าพิจารณาถึงเทคนิคการก่อสร้าง จะเห็นพื้นผิวที่เป็นลายของไม้แบบเทคอนกรีตเอียง 45 องศา สลับไขว้กันแต่ละชั้น ปรากฏชัดเจนเมื่อถอดไม้แบบออกหมดแล้ว 

หอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ออกแบบโดย อมร ศรีวงศ์ สร้างเสร็จ พ.ศ. 2514

จากหนึ่ง Master Plan สู่กลุ่มอาคารที่สะท้อนบุคลิกทางสถาปัตย์อันแท้จริงของ ม.สงขลานครินทร์

เป็นกลุ่มอาคารที่ประกอบด้วยอาคาร 3 ปีก เป็นแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว ๆ หันแนวอาคารเข้ามารวมจุดศูนย์กลางไว้ด้วยกัน คล้ายรูปร่าง 3 แฉก ภายใต้พื้นที่ศูนย์กลางนี้เองคือทางเข้า-ออก ที่ต้องผ่านระบบรักษาความปลอดภัย จากนั้นจึงเป็นบันไดแยกออกไปสู่ทางเดินแต่ละปีกอาคาร แต่ละห้องพักอนุญาตให้นักศึกษาเข้าพักมากสุดได้ 3 คน แยกชาย-หญิงออกจากกันชัดเจน ห้องน้ำรวมของนักศึกษาเป็นสัดส่วน แต่ละชั้นมีพื้นที่พักผ่อนในยามว่าง

จากหนึ่ง Master Plan สู่กลุ่มอาคารที่สะท้อนบุคลิกทางสถาปัตย์อันแท้จริงของ ม.สงขลานครินทร์

อันที่จริงสถาปนิกใช้ระบบโมดูลาร์สามเหลี่ยมนี้กับอาคารเรียนรวมอย่างตึกฟักทองด้วย ดังที่ปรากฏในผังของพื้นและฝ้าโดยรอบตึกฟักทอง ซึ่งใช้รูปร่างสามเหลี่ยมและหกเหลี่ยมมาสร้างสรรค์เป็นองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น ลานหินแตกหรือฝ้าเพดานของตึกฟักทอง

นี่คงเป็นตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ของการออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่มีการวางแผน Master Plan มาอย่างเป็นระบบตั้งแต่แรกเริ่ม จนทุกอาคารที่สร้างขึ้นภายในมหาวิทยาลัยล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเอกลักษณ์ แม้ว่าภายหลังจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมไปตามสภาพการใช้งานตามยุคสมัย แต่เมื่อได้ค้นพบร่องรอยความคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ นักสำรวจอาคารเก่าอย่างเราก็มักจะชื่นชมกับความพิถีพิถันที่สถาปนิกรุ่นก่อนคิดมาอย่างละเอียดทุกเม็ดจริง ๆ

Writer & Photographer

Avatar

วีระพล สิงห์น้อย

ช่างภาพสถาปัตยกรรม และเจ้าของเพจภาพถ่ายอาคารเปี่ยมเสน่ห์ชื่อ FOTO_MOMO