เกือบ 2 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ บนถนนสุพรรณบุรีเก้าห้อง ถนนที่เป็นคล้ายวงแหวนโอบล้อมทิศใต้ของตัวเมืองสุพรรณบุรีไว้ หากไม่สังเกตป้ายข้างหน้าหรือไม่ได้อ่านข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาก่อน น้อยคนจะทราบว่าพื้นที่ที่เป็นคล้ายโกงดังชานเมืองและมีปล่องควันโรงสีข้าวโบราณปรากฏมาแต่ไกลแห่งนี้ คือพื้นที่แสดงงานศิลปะ  

‘โรงสีบูรณะกิจ’ คือสถานที่ที่ว่า คนสุพรรณฯ คุ้นเคยกับชื่อนี้ เพราะมันคือหนึ่งในโรงสีแห่งแรก ๆ ของจังหวัด ซึ่งเปิดทำการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2491 อย่างไรก็ดี ปัจจุบันแม้กลุ่มอาคาร ปล่องควัน และอุปกรณ์แปรรูปข้าวเปลือกขนาดยักษ์ยังคงตระหง่าน สถานที่แห่งนี้ก็ไม่ได้ทำหน้าที่สีข้าวอีกแล้ว เมื่อ ปรีชา รักซ้อน ทายาทรุ่นที่ 3 ของ หจก.โรงสีบูรณะกิจสุพรรณบุรี (กุฎีทอง) เปลี่ยนมันให้กลายเป็นพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยแห่งใหม่ แห่งแรก และแห่งเดียวของเมืองสุพรรณฯ ในนาม ‘1984+1 gallery’ 

ผมรู้จักสถานที่แห่งนี้ครั้งแรกจากภาพที่แชร์กันในโซเชียลมีเดีย ภาพภูมิทัศน์สีขาว-ดำสูงเกือบ 3 เมตรดูขรึมขลัง ตราตรึง และมีองค์ประกอบอันแปลกตาหลายสิบรูปประทับอยู่บนฝาผนังของอาคารเก็บข้าวเปลือกในโรงสีแห่งหนึ่ง รู้ต่อมาว่าเหล่านั้นคือผลงานของ ปรีชา รักซ้อน จิตรกรหนุ่มจากรั้วศิลปากรผู้ขึ้นชื่อเรื่องการวาดภาพเรือนร่างของมนุษย์ และเพิ่งรู้ไม่นานมานี้ว่าโรงสีที่ศิลปินหนุ่มแสดงงานเป็นของครอบครัวเขาเอง ปรีชากับพ่อของเขาตัดสินใจยุติกิจการโรงสีที่มีอายุ 70 กว่าปีแห่งนี้ ก่อนที่จะเปลี่ยนโกดังเก็บข้าวเปลือกขนาด 5,000 ตารางเมตรให้กลายเป็นสถานที่แสดงงานศิลปะ 

เริ่มจากนิทรรศการเดี่ยวของเจ้าตัว ‘I’m Here’ ที่เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังในโรงสีที่ทำให้ผมรู้จักที่นี่ ต่อด้วยนิทรรศการกลุ่มที่ปรีชารับบทคิวเรเตอร์ชวนศิลปินในสุพรรณฯ และจากที่อื่น ๆ รวม 17 คน มาตีความบ้านเกิดของเขาผ่านงานศิลปะหลากหลายสื่อในชื่อ SUPHAN’S Echoes ซึ่งกำลังจัดแสดงควบคู่กับจิตรกรรมฝาผนังของปรีชาในขณะนี้ และนั่นทำให้ผมตัดสินใจเดินทางมายัง 1984+1 gallery เพื่อชมผลงานเหล่านั้นด้วยตัวเอง พร้อมกับในใจซึ่งอัดแน่นไปด้วยคำถาม

ครอบครัวทำโรงสีอยู่ดี ๆ คิดยังไงถึงเปลี่ยนให้กลายเป็นแกลเลอรีศิลปะ พื้นที่ใหญ่เกือบเท่าสนามฟุตบอล เอาพลัง (และเงิน) ที่ไหนมาทำ รวมถึงคำถามสำคัญที่ว่า พื้นที่ศิลปะร่วมสมัยในสุพรรณบุรีเนี่ยนะ

จำได้ว่า The Cloud มีคอลัมน์ทายาทรุ่นสอง ซึ่งเป็นบทความสัมภาษณ์นักธุรกิจรุ่นลูกหรือรุ่นหลานที่มาสืบต่อหรือยกระดับกิจการของผู้ที่ทำมาก่อน ไม่แน่ใจว่าบทสัมภาษณ์นี้จะเข้าเค้าไหม แต่นั่นล่ะ ผมพกคำถามบางส่วนที่ว่าไปฝากทายาทรุ่นที่ 3 อย่างปรีชา และเหล่านี้คือคำตอบของเขา – ศิลปินหนุ่มผู้หวังอยากให้โรงสีเก่าของครอบครัวจุดประกายความสนใจในศิลปะร่วมสมัยแก่คนสุพรรณฯ 

Part 1 : โรงสีบูรณะกิจสุพรรณบุรี

อันที่จริงการรีโนเวตอาคารหรือโกดังเก่ามาทำพื้นที่แสดงงานศิลปะไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่าง Tate Modern ที่ลอนดอน หรือ Power Station of Art ที่เซี่ยงไฮ้ก็เคยเป็นโรงไฟฟ้า หรืออาคารของ Musée d’Orsay ในปารีสที่เป็นสถานีรถไฟเก่า แต่ที่เห็นมา พื้นที่เหล่านั้นส่วนใหญ่มีองค์กรเอกชนขนาดใหญ่หรือหน่วยงานรัฐบาลเป็นเจ้าของ แตกต่างจากโรงสีของคุณที่ทำโดยตัวคุณเองคนเดียว เลยสงสัยว่าเห็นโอกาสหรือศักยภาพอะไรในโรงสีนี้ และขออภัยที่ถามตรง ๆ คุณเอาความมั่นใจมาจากไหน

ครอบครัวผมทำกิจการโรงสีข้าวมาตั้งแต่รุ่นปู่จนรุ่นพ่อ บ้านก็อยู่ในพื้นที่โรงสี คุ้นเคยกับที่นี่มาตั้งแต่เด็ก ผมเห็นว่าโรงสีมันมีความงาม ทั้งในแง่รูปทรงของเครื่องจักร พื้นที่ว่าง หรือแสงที่ตกกระทบกับพื้นที่ ขณะเดียวกัน ผมก็ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก เรียนศิลปะและทำงานศิลปะเป็นหลัก เห็นว่าโรงสีจริง ๆ มีพื้นที่เหมาะจะแขวนรูปใหญ่ ๆ หรือเป็นอะไรได้มากกว่านั้นมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ไม่คิดจริงจังอะไร จนสัก 2 ปีก่อน ผมลองจัดนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองดูในโกดังเก็บข้าว ตอนนั้นชื่องานว่า ‘Comics, a boy and a man’ เป็นงานจิตรกรรมที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือการ์ตูน ก็เอารูปมาวางบนผนัง ตอนนั้นโรงสียังไม่ปิดกิจการ คนงานเขาก็ทำงานเข้า ๆ ออก ๆ อยู่ คนมาดูงานศิลปะจึงได้เห็นกระบวนการทำงานในโรงสีไปด้วย 

จน พี่อังกฤษ อัจฉริยโสภณ มาดูงาน ก็บอกกับผมว่า เฮ้ยดี! พื้นที่มันใหญ่และโอ่โถงพอจะทำอะไรได้หลายอย่าง ไม่เห็นต้องเอางานศิลปะไปแขวนในห้องสีขาวตามแกลเลอรีทุกครั้งเลยก็ได้ นั่นช่วยให้ผมมีความมั่นใจขึ้นมาก จนปีเดียวกันนั้นเอง เมื่อพ่อตัดสินใจยุติกิจการโรงสี ผมก็เริ่มเพนต์ผนังของโกดังเก็บข้าวจนเกิดเป็นนิทรรศการ I’m Here เมื่อปลายปีที่แล้ว (พ.ศ. 2565)

ส่วนคำถามที่ว่า ผมไปเอาความมั่นใจมาจากไหน ผมคิดแค่ว่าพื้นที่นี้ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณอะไรมากมายมารีโนเวต อาคารเคยเป็นยังไงก็เป็นแบบนั้น มันมีพื้นที่และแสงสว่างพอให้เราเอางานมาจัดวาง ขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ศิลปะกันไป 

ทำไมจึงเลิกกิจการโรงสี เพราะถ้าชั่งน้ำหนักแล้ว การทำโรงสีกับพื้นที่ศิลปะในสุพรรณบุรี ความมั่นคงมันต่างกันเยอะ

พ่อผมเป็นคนตัดสินใจ เขาคงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ตอนนั้นคนงานที่มีฝีมือหรือไว้ใจได้ก็หาค่อนข้างยาก พี่ชายผมซึ่งเป็นลูกคนโตแยกไปทำโรงสีของตัวเองที่จังหวัดพะเยา พอพ่อรู้ว่าผมชอบศิลปะและคงไม่สานต่อกิจการอย่างเต็มตัวแน่ ๆ เลยตัดสินใจเลิกไป 

และความเป็นจริงคือเราไม่ได้เลิกกิจการโรงสีเพื่อหันมาทำพื้นที่ศิลปะ โรงสีมันถูกปล่อยร้างอยู่ 2 ปี แล้วผมก็กลับมาใช้พื้นที่เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งนั่นล่ะ ถ้าถามเรื่องความมั่นคง ผมไม่ได้มองว่า 1984+1 gallery จะเป็นพื้นที่ศิลปะเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว แค่อยากให้มีพื้นที่แสดงงานศิลปะของผม ของศิลปินท่านอื่น ๆ และเป็นพื้นที่ทางเลือกให้คนสุพรรณฯ มากกว่า

งั้นเปลี่ยนคำถาม คุณมีโอกาสเป็นเถ้าแก่เจ้าของโรงสี แต่คุณไม่เลือกสานต่อกิจการและหันมาเป็นศิลปิน พ่อของคุณมีความเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร

แกเคยถามผมตั้งแต่สมัยที่ผมเลือกเรียนศิลปะในระดับมหาวิทยาลัยว่าแน่ใจแล้วหรือ เพราะแกมองว่าอาชีพนี้ไม่มั่นคงเท่าไหร่ ผมบอกว่าแน่ใจ ผมชอบทางนี้ แกก็ไม่ว่าอะไร ชีวิตใครชีวิตมัน 

ต้องเล่าอย่างนี้ โรงสีบูรณะกิจก่อตั้งรุ่นปู่ของผมเมื่อ พ.ศ. 2491 นั่นเป็นปีที่พ่อผมเกิดพอดี ปู่ทำโรงสีข้าวแบบโบราณที่ใช้ระบบไอน้ำ เป็นโรงสีขนาดกลางยุคแรก ๆ ของสุพรรณบุรี แล้วปู่ก็วางให้พ่อผมมาดูแลกิจการ โดยให้เข้ามาช่วยทำงานตั้งแต่พ่อเรียนอยู่ ม.3 จนพ่อจบ ม.6 พ่อไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย ปู่ให้มาช่วยดูโรงสีที่นี่เลย พ่ออาจคิดว่าเขาไม่ได้เลือกชีวิตของเขา รุ่นลูกอย่างผมก็ควรจะได้เลือกด้วยตัวเอง และอีกอย่าง พี่ชายผมเขาก็สนใจเรื่องนี้และทำโรงสีของตัวเองที่พะเยา คล้ายมีตัวแทนครอบครัวแล้ว เขาเลยค่อนข้างให้อิสระกับผม 

พ่อคุณเกิดมาพร้อมโรงสีและบริหารโรงสีแห่งนี้มาทั้งชีวิต ตอนที่ตัดสินใจปิดตัวลง พ่อคุณไม่เสียใจหรือ

ผมไม่เคยถามเขาเรื่องนี้ แต่ที่รู้แน่คือโรงสีแห่งนี้คือชีวิตเขา พ่อผมเป็นเจ้าของกิจการรุ่นที่ 2 ที่เปลี่ยนระบบโรงสี จากโรงสีไอน้ำแบบโบราณมาเป็นโรงสีสมัยใหม่ที่ใช้ระบบอุตสาหกรรมเข้ามาช่วย สมัยก่อนโรงสีแรกของเราตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนด้านหลังนี้ รับ-ส่งข้าวก็ใช้ทางเรือ จนมีการตัดถนนใหม่ พ่อก็ทำโรงสีด้วยเทคโนโลยีใหม่และย้ายมาตั้งอยู่ใกล้ถนน เพื่อจะได้ให้รถบรรทุกเข้ามารับ-ส่งของได้ง่ายอย่างที่เป็นทุกวันนี้ 

สมัยปู่มาถึงรุ่นพ่อ กิจการโรงสีรุ่งเรืองมาก สุพรรณบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ปลูกข้าวมากที่สุด และมีโรงสีมากที่สุดในประเทศ กิจการดีมาตลอดจนช่วงหลัง ๆ การแข่งขันสูง ในระดับที่มีโรงสีข้าวเยอะกว่าปริมาณข่าวในตลาดเสียอีก ช่วงหลังมานี้โรงสีจึงเป็นธุรกิจที่เสี่ยงที่สุด ประกอบกับพอคนงานที่เป็นเหมือนมือขวาของพ่อเสียชีวิต และคนงานส่วนใหญ่ที่เป็นชาวเมียนมาเลือกที่จะกลับบ้าน เพราะช่วงนั้นเมียนมามีรัฐประหาร รับสมัครคนงานใหม่มาก็ไม่ได้ดั่งใจ ตอนแรกพ่อไม่ได้มีความคิดจะเลิกทันทีหรอก แต่ที่เลิกส่วนหนึ่งเพราะหาคนมาทำงานยาก แล้วเขาก็อายุมากแล้ว   

เขาคิดยังไงที่คุณเอาโรงสีของเขามาทำพื้นที่ศิลปะ

เขารู้ว่าผมชอบทางนี้ และเห็นผมค่อนข้างจริงจังกับเส้นทางนี้ ก่อนจะปิดกิจการโรงสี เขาเคยมาถามว่าอยากทำโรงสีต่อไหม ผมบอกว่าอยากทำงานศิลปะมากกว่า ก็ลองดูว่าเส้นทางชีวิตต่อจากนี้จะเป็นยังไง หมายถึงต้องลองกันดู ไม่มีอะไรเสียหาย 

Part 2 : สุพรรณฯ – สามพราน

ในนิทรรศการ I’m Here ที่เป็นนิทรรศการเปิดตัวพื้นที่นี้ คุณเลือกวาดรูปขาว-ดำ ซึ่งเป็นภูมิทัศน์ของโรงเรียนคริสต์ในวัยเด็กซ้อนทับกับองค์ประกอบหรือสถานที่ที่คุณคุ้นเคยรอบบ้านคุณในสุพรรณบุรี ขณะเดียวกัน นี่ยังเป็นนิทรรศการครั้งแรกที่คุณเลือกนำเสนอภาพภูมิทัศน์ ไม่ใช่ภาพบุคคลแบบที่คุ้นเคย เลยอยากให้เล่าให้ฟังหน่อยว่าการเลือกหัวข้อนี้บนผนังของโรงสีแห่งนี้ ซึ่งอาจเป็นงานที่ติดไปกับอาคารหลังนี้ตลอดไปเลยมีนัยอย่างไร 

ผมเริ่มทำงานชุดนี้ตอนอายุ 30 กว่า เหมือนเป็นช่วงวัยที่ทำให้ผมกลับมาคิดถึงอดีตมากกว่าอนาคต โดยเฉพาะความทรงจำเกี่ยวกับอดีตที่พาผมมาถึงจุดนี้ นั่นทำให้ผมกลับมาสำรวจตัวเองและพบว่าสิ่งแรกที่บันดาลใจผมมากที่สุด คือช่วงชีวิตที่ผมเป็นเด็กนักเรียนประจำที่โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนของศาสนาคริสต์ในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 

ผมเรียนที่นั่นตั้งแต่ ป.1 – ม.6 เส้นทางชีวิตผมเริ่มที่นั่น จากหนังสือการ์ตูนที่อ่านไปจนถึงสภาพแวดล้อมทางคริสต์ศาสนา เช่น รูปปั้นพระแม่มารีย์ ไม้กางเขน งานจิตรกรรมบนผนัง หรือกระจกสีในโบสถ์ สภาพแวดล้อมทางศิลปะเหล่านี้หล่อหลอมให้ผมสนใจในศิลปะ เลยคิดว่า ถ้าจะทำโชว์ที่พูดถึงอดีตของตัวเองได้ชัดเจนที่สุด มันควรเป็นภาพความทรงจำที่ว่า ซึ่งซ้อนทับไปกับองค์ประกอบของเมืองบ้านเกิดของผม โดยเฉพาะหมู่บ้านกุฎีทอง ที่ตั้งของโรงสีแห่งนี้ เลยเอา 2 สิ่งนี้มาไว้ด้วยกันในงานจิตรกรรมที่บ่งบอกว่า นี่แหละคือผม… ผมอยู่ที่นี่ (I’m Here)

คุณเกิดที่สุพรรณฯ ทำไมครอบครัวถึงส่งไปโรงเรียนประจำที่นครปฐม  

น่าจะเป็นแนวความคิดคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ในยุคนั้นที่ว่า ถ้าอยากให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษหรืออยากให้ลูกมีวินัย ต้องส่งไปอยู่โรงเรียนประจำที่เป็นโรงเรียนคริสต์ และใกล้บ้านสุดคือที่นี่ แรก ๆ พ่อกับแม่ก็ยังขับรถมารับผมกลับบ้านทุกเย็นวันศุกร์ และพามาส่งเย็นวันอาทิตย์ แต่พออยู่นาน ๆ เข้า ความที่พวกเขาต้องยุ่งกับงานมาก ๆ เลยไม่ค่อยได้มารับ 

ตรงนี้แหละที่ทำให้ผมใช้เวลาหมดไปกับการอ่านการ์ตูน อ่านมาก ๆ เข้าก็อยากเขียนการ์ตูนของตัวเอง ขณะเดียวกัน พอไม่ได้กลับบ้าน ชีวิตเสาร์-อาทิตย์ผมก็อยู่แต่ในรั้วโรงเรียนที่มีลักษณะเหมือนชุมชนเล็ก ๆ ชุมชนหนึ่ง อยู่อย่างนั้นมาหลายปี ผมมักใช้เวลาว่างเดินไปที่สุสาน และวาดรูปเหมือนรูปปั้นในสุสานเหล่านั้นบ่อย ๆ อย่างรูปปั้น Pietà ที่ทำเลียนแบบงานของ มีเกลันเจโล ผมก็เคยวาดรูปเหมือนรูปปั้นนี้ก่อนจะรู้ด้วยซ้ำว่าต้นฉบับของงานชิ้นนี้คืองานศิลปะคลาสสิกระดับโลก 

คุณเรียนและใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนคริสต์มา 10 กว่าปี วิธีคิดทางคริสต์ศาสนามีผลกับคุณไหม

น่าจะเป็นสภาพแวดล้อมทางกายภาพมากกว่า จริงอยู่ที่พอไปเรียนโรงเรียนประจำ ผมก็ต้องสวดมนต์ตามศาสนาเขา แต่พอเสาร์-อาทิตย์หรือปิดเทอม กลับมาอยู่บ้าน ผมก็ไปทำบุญที่วัดกับพ่อแม่ตามปกติ และผมค่อนข้างยึดถือในวิธีคิดแบบพุทธศาสนามากกว่า ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ผมไม่เคารพในคริสต์ศาสนานะ เพียงแต่ไม่ได้มีผลกับผมไปจนถึงกรอบคิดหรือความเชื่อขนาดนั้น

ที่ผมถามแบบนั้น เพราะสนใจการนำสัญลักษณ์ของ 2 ศาสนา รวมถึงความเชื่อแบบไทย ๆ อย่างศาลเจ้าแม่มาประกอบกันในงานชุด I’m Here 

มันคือภาพจากความทรงจำน่ะ ดร.ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยเขียนบทความในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง มีข้อความที่ว่า อดีตที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน บทความนั้นไม่เกี่ยวกับงานของผมหรอก แต่คำนี้น่าจะอธิบายรูปแบบงานชุดนี้ได้

เปรียบเทียบเหมือนซีรีส์เรื่อง The Haunting of Hill House (2018) มีตัวละครเป็นเด็กผู้ชายที่มีผีใส่หมวกตัวสูง ๆ คอยติดตามตลอดเวลา ผมมองว่าความทรงจำหรือสภาพแวดล้อมทางศาสนาตามผมมาแบบนั้น แต่ไม่ใช่ในเชิงหลอกหลอนแบบในหนัง หลาย ๆ ครั้งก็มานั่งคิด ทำไมผมชอบความเงียบ นึกได้ว่าเพราะตอนเด็ก ๆ ผมชอบไปขลุกวาดรูปอยู่ในสุสาน ขณะเดียวกันกับหมู่บ้านกุฎีทองในสุพรรณบุรี ถึงผมไม่ได้ผูกพันกับมันในวัยเด็กเท่าไหร่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือบ้านเกิดของผม มันคือที่ที่ผมเคยอยู่และเติบโตมาจริง ๆ 

นอกจากการอ่านการ์ตูนและไปวาดรูปในสุสาน มีความทรงจำอะไรที่ชัดเจนในวัยนั้นอีกไหม

ผมจำได้ดีว่าแค่ชอบวาดรูปเท่านั้น และพอเป็นแบบนั้น ทำให้ชีวิตผมค่อนข้างราบรื่นดีทีเดียว เพราะพวกเด็กเกเรไม่ค่อยมายุ่งกับเรา เด็กเรียนเขาก็เฉย ๆ ผมมีเพื่อนเป็นเด็กเกเรเยอะ เพราะเวลาพวกนั้นจะจีบสาว ก็จะมาไหว้วานให้ผมวาดรูปเป็นของขวัญให้คนที่จะจีบหน่อย 

ว่าไปมันอาจเป็นจุดเด่นที่ทำให้ศิลปินรอดชีวิตทุกยุคสมัยก็ได้ อย่างถ้าเป็นสมัยโบราณ เวลามีการต้อนเชลย ศิลปินก็อาจไม่ถูกฆ่า เพราะไม่ได้ทำอันตรายกับใคร และด้วยความสัมพันธ์แบบนั้นเอง รวมถึงการที่มีพื้นที่ปลีกวิเวกให้ตัวเองอย่างสุสาน ผมมีทักษะการปรับตัวได้ดีและเข้าสังคมได้สบาย ทั้งที่จริง ๆ ชีวิตเด็กประจำต้องอยู่กับเพื่อนฝูงหมู่มากตลอดเวลา และมีข้อบังคับที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลเยอะแยะ เหมือนกับอยู่ค่ายทหารยังไงยังงั้น

Part 3 : ทับแก้ว – วังท่าพระ

ก่อนที่จะเปิด 1984+1 gallery คุณสร้างชื่อจากภาพจิตรกรรมการเคลื่อนไหวของบุคคล (Figurative Portrait Action) เลยอยากรู้ว่าคาแรกเตอร์ในงานที่ชัดเจนแบบนี้มาจากหนังสือการ์ตูนที่คุณอ่านสมัยมัธยม หรือจากการเรียนที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหลัก 

ผมได้ความรักในศิลปะมาจากยอแซฟอุปถัมภ์ ทำให้ผมเลือกเอนทรานซ์เข้าศิลปากร และที่นั่นทำให้ผมได้ฝึกฝนความแม่นยำด้านการเขียนรูปคน ซึ่งผมตอบคำถามแบบแห่งใดแห่งหนึ่งไม่ได้ เพราะมันสัมพันธ์กันหมด 

สมัยผมเรียน ม.4 ผมมีโอกาสไปเรียนกับพ่อของเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งที่เขาเรียนจบจิตรกรรมฯ และรับราชการในกรมศิลปากร โดยได้รับหน้าที่ให้เขียนพอร์เทรตบุคคลสำคัญของประเทศ ช่วงที่เรียนตอนนั้นทำให้ผมรู้ว่าการวาดรูปมนุษย์มีองค์ความรู้ที่ลึกและยากมาก ๆ อย่างการทำยังไงให้สีดูทึบหรือโปร่ง การสร้างอารมณ์ในภาพวาดให้มีความเป็นเหตุและผล 

และนั่นทำให้ผมขยันฝึกวาดรูปคนให้เก่ง ๆ จนมีโอกาสได้ไปเรียนนั่นแหละ ยุคนั้นศิลปากรยังถูกครอบด้วยวิธีคิดแบบ Academy ที่เริ่มมาตั้งแต่ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ยิ่งทำให้ผมถลำลึกเข้าไปใหญ่ กลายเป็นคนที่สนุกและจริงจังเมื่อได้วาดรูปเรือนร่างของมนุษย์ และอย่างที่บอกว่าผมชอบอ่านการ์ตูนมาก ๆ ช่วงปี 4 – 5 ผมเลยทำโปรเจกต์วาดรูปให้มีเซนส์แบบหนังสือการ์ตูนหรือมังงะที่ว่าด้วยเรื่องการต่อสู้ จนเกิดเป็นงานชุด Fighter รวมถึงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของผมอย่าง Why We Fight (2013)   

คือการนำความแม่นยำของการเขียนรูปแบบ Academy มาใช้กับการเคลื่อนไหวแบบ Fighting Manga

ตอนนั้นผมมองว่าทำไมในบ้านเราไม่ค่อยมีคนทำงานศิลปะแบบเรียลิสติกโดยนำแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนเท่าไหร่เลย คือมันมีแนวความคิดหนึ่งที่อาจารย์สอนผม ภาพจิตรกรรมภาพเดียวมันเล่าเรื่องอะไรไม่ได้มากนัก ผมเลยคิดถึงการจัดวางเฟรมภาพแบบมังงะซึ่งเป็นศาสตร์ภาพนิ่งเหมือนกัน แต่เล่าเรื่องได้มหาศาล และก็คิดต่ออีกว่าศิลปะอย่างหนังสือการ์ตูนเพิ่งเกิดมาบนโลกเราไม่นานเอง แวดวงศิลปะก็ไม่ค่อยได้ให้คุณค่า เพราะมันมีความเป็นสื่อเพื่อความบันเทิงมากกว่า ทั้งที่จริง ๆ มันก็เป็นงานศิลปะเหมือนสื่ออื่น ๆ นั่นทำให้ผมลงไปศึกษาเรื่องลายเส้นในหนังสือการ์ตูนอย่างลึกซึ้ง หนังสืออย่าง Understanding Comics: The Invisible Art ของ Scott McCloud ที่บอกเล่าศาสตร์เกี่ยวกับการวาดการ์ตูนทำให้ผมเข้าใจเรื่องนี้มาก 

มีมังงะเล่มไหนบ้างที่มอบแรงบันดาลใจให้คุณเป็นพิเศษ 

รวม ๆ กันมากกว่า ตอบทันทีไม่ได้ (นิ่งคิด) ที่ชอบลายเส้นเขามาก ๆ คืองานของ อาจารย์เท็ตซึกะ โอซามุ ที่เขียนเรื่อง ฮิโนโทริ วิหคเพลิง และ Buddha ส่วนอีกหลายเล่มจะให้แรงบันดาลใจด้านการศึกษางานมากกว่า ผมเคยสอนหนังสือเด็กและนำ ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ ที่วาดโดย เท็ตซึโอะ ฮาร่า ไปเป็นกรณีศึกษา เด็ก ๆ กลับไม่ชอบ เขาโตมากับการอ่าน นารูโตะ (Naruto) เลยมองว่าลายเส้น ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ ดูสกปรกไป รวมถึงการมีข้อสังเกตประมาณว่ามังงะสมัยใหม่ การวาดรูปตัวละครผู้ชายไม่ได้มีมัดกล้ามแมน ๆ แบบสมัยก่อนแล้ว ยกตัวอย่างงานของ อาจารย์ฮิโรฮิโกะ อารากิ ที่เขียน โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ยุคแรก ๆ ตัวละครของเขามีกล้ามเป็นมัด จนมาตอนหลังกลายเป็นผู้ชายที่เพรียวบางอ้อนแอ้น เหล่านี้มันช่วยกรอบวิธีคิดในการวาดรูปคนของผมพอสมควร    

ช่วงที่เรียนที่ศิลปากร คุณพบจุดเปลี่ยนอะไรบ้างไหมที่มีส่วนสำคัญต่อการเป็นศิลปินของคุณในทุกวันนี้ 

น่าจะเป็นหลังจากจบมาแล้วมากกว่า ตอนเรียนที่นั่นผมยังเชื่อศิลปะแบบ Academy มาก ๆ อย่างการเขียนให้เหมือนจริงหรือให้วิจิตรที่สุด โดยเข้าใจว่านี่คือแก่นแท้ของการเป็นศิลปิน จุดเปลี่ยนมาตอนที่ผมเรียนจบ ได้ทำนิทรรศการ ได้เจอศิลปินจากที่อื่น ๆ ที่มีความคิดหรือเทคนิคที่หลากหลาย จึงพบว่างาน Fine Art แบบที่เราทำมันเป็นเพียงแขนงหนึ่งของศิลปะเท่านั้น และนั่นทำให้ผมเรียนรู้วิธีคิดในด้านศิลปะแบบอื่น ๆ ตามมา

ตอนใกล้จะเรียนจบ คุณมองตัวเองว่าจะเป็นศิลปินแบบเต็มเวลาเหมือนทุกวันนี้ไหม

ไม่รู้เลย เพราะมันมืดแปดด้าน คือรู้แหละว่าเรียนศิลปะก็ต้องเป็นศิลปิน แต่อย่างที่รู้กันว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเลี้ยงชีพอย่างมั่นคงได้จากสิ่งนี้ แต่ความที่ผมทำงานศิลปะมาตั้งแต่เรียนแล้ว ช่วงแรกก็รวมกลุ่มกับเพื่อนทำพอร์ตโฟลิโอไปเสนอตามแกลเลอรี แล้วก็ได้แสดงงานกลุ่มครั้งแรกที่ Number1gallery แต่นั่นเป็นช่วงเหตุความวุ่นวายทางการเมืองช่วง พ.ศ. 2553 คนไม่ค่อยมาดูกัน งานจึงขายไม่ได้ จากนั้นเลยรับงานรับจ้างวาดรูป หรือทำงานศิลปะชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปฝากขายเรื่อย ๆ ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่าดีอะไรมาก มันเป็นจุดเปลี่ยนในความคิดที่สำคัญเหมือนกันนะ เพราะผมอยู่ในสถาบันที่ทุกคนให้ความสนใจงานศิลปะ ทุกคนในนั้นเห็นคุณค่าของมัน แต่พอเรียนจบออกมาเจอโลกความเป็นจริง ศิลปะมันไม่ได้สำคัญอะไรกับคนส่วนใหญ่ขนาดนั้น เลยไปสมัครงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ประจำนิตยสาร Mars Magazine เพื่อเก็บประสบการณ์และหาเลี้ยงชีพ อยู่ที่นั่นได้ปีกว่า ๆ 

แต่สุดท้ายก็ลาออกมาเขียนรูป

งานนิตยสารสนุกและทำให้ผมเรียนรู้อะไรเยอะมาก แต่พอทำไปสักพัก ก็มาถามตัวเองว่าจริง ๆ แล้วชีวิตเราอยากทำอะไรกันแน่ ก็กลับมาเหมือนเดิมคือการได้เล่าเรื่องราวผ่านงานศิลปะ เรื่องที่เป็นของเราเอง และต้องเป็นเราเท่านั้นที่จะเล่าออกมา ก็เลยหาโซลูชันที่ดีที่สุด คือกลับมาอยู่บ้านที่สุพรรณฯ มาช่วยกิจการโรงสีของพ่อ และแบ่งเวลาในการเขียนรูปอย่างจริงจัง เพื่อเอางานไปเสนอตามแกลเลอรี 

ตั้งแต่นั้นก็อยู่ที่โรงสีแห่งนี้เป็นหลัก

ใช่ครับ ผมทำสตูดิโอเขียนรูปจากที่นี่ ช่วงกลางวันก็ช่วยพ่อดูแลโรงสี ตกเย็นก็เขียนรูป ได้มาเรียนรู้กระบวนการทำงานในโรงสีทั้งหมด อยู่ดูตู้อบข้าวกับคนงาน คัดเกรดข้าวเปลือก และตีราคาข้าว ไปจนถึงการซ่อมเครื่องจักร ช่วงนั้นแหละที่ทำให้ได้เห็นความงามของโรงสี ไปจนถึงได้คุ้นเคยกับคนงานของพ่อ บ่อยครั้งก็ใช้คนงานที่เป็นพี่ ๆ ลุง ๆ มาเป็นแบบวาดรูปด้วย ทำอยู่อย่างนี้หลายปี วาดรูปจากสุพรรณบุรี และนำงานไปเสนอที่แกลเลอรีในกรุงเทพฯ โดยหลัง ๆ ก็เช่าพื้นที่แสดงงานเอง เพราะเราพอมีความรู้เรื่องการจัดการและการประชาสัมพันธ์ พอขายงานได้บ้าง แต่ไม่ถือว่าร่ำรวยอะไร  

Part 4 : 1984+1 gallery

คุณกลับมาทำสตูดิโอที่สุพรรณบุรี จนคุณพ่อปิดกิจการโรงสี เห็นว่าทิ้งเวลาอีก 2 ปี กว่าจะเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ศิลปะ อยากรู้ว่าระหว่างนั้นรออะไร

รอทำงานชุดใหม่น่ะครับ (I’m Here) อย่างที่บอกหลังแสดงงาน Comics, a boy and a man จบ ผมก็เริ่มเห็นศักยภาพทางศิลปะของโกดังเก็บข้าวในโรงสี พอช่วงท้าย ๆ ของกิจการ ผมกลับไปที่โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ ไปสำรวจความเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนเพื่อเอามาเป็นวัตถุดิบในการเขียนรูป จากนั้นก็ใช้เวลาตอนกลางคืนที่คนงานเลิกงาน ตั้งสปอตไลต์เพื่อวาดรูปบนผนังจนออกมาเป็นงานชุดนี้ 

แต่ก็ไม่ใช่แค่นั้น อย่างที่บอกว่าผมเห็นว่าโรงสีมีความงามทางศิลปะด้วย ถึงจะไม่ใช่การรีโนเวตพื้นที่ แต่พยายามเปลี่ยนให้โกดังแห่งนี้กลายเป็นงานศิลปะอีกชิ้นหนึ่ง I’m Here จึงไม่ใช่งาน Site Specific ในโรงสี แต่เป็นพื้นที่และชิ้นงานทั้งหมด การนำวัตถุที่เคยใช้ในกิจการโรงสีอย่างรางเลื่อน รถตัก หรือรถกระบะมาจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของงาน หรือช่องแสงที่ติดมากับอาคาร ทำให้ผมมองภาพของโกดังแห่งนี้เหมือนโบสถ์โบสถ์หนึ่ง พี่แมว-ประกิต กอบกิจวัฒนา เลยร่วมกับ Sensei K.A. (นพพร พลวิฑูรย์) ทำประติมากรรมจากผักตบชวาเป็นรูปทรงไม้กางเขนมาแขวนไว้ใต้ช่องแสง เปลี่ยนช่องแสงในโกดังให้มีลักษณะแบบงานกระจกสีในโบสถ์ หรืออย่างแท่นปูนที่ใช้ยึดเสาเหล็ก ผมก็ลงมือเขียนข้อความโดยรอบให้มันกลายเป็นภาพแทนของศิลาจารึก คือนอกจากรูปบนฝาผนังที่มีลักษณะของสัญลักษณ์ร่วมทางศาสนา ตัวอาคารที่ใช้จัดแสดงงานก็มีฟังก์ชันแบบนั้น 

สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาพอสมควรในการคิดและทำ กว่าจะเปิดพื้นที่จริง ๆ เลยกลายเป็นปลาย พ.ศ. 2565 นี่แหละครับ    

โชว์แรกคุณควักเงินตัวเองทั้งหมด แต่โชว์ที่ 2 อย่าง SUPHAN’S Echoes ซึ่งเป็นการชวนศิลปินคนอื่น ๆ มาแสดงงานที่นี่ คุณต้องใช้เงินตัวเองด้วยไหม และในเมื่อคุณไม่ได้มองว่าที่นี่เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ศิลป์ คุณคิดถึงความยั่งยืนอย่างไร 

ผมได้งบประมาณมาจาก สศร. (สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) น่ะครับ ความที่งานแรกค่อนข้างมีเสียงตอบรับที่ดี มีคนมาชมจากที่ต่าง ๆ หลากหลาย และมีสื่อให้ความสนใจพอสมควร หน่วยงานเขาอาจเห็นศักยภาพในพื้นที่ เลยให้เงินผมมาก้อนหนึ่งเพื่อจัดนิทรรศการนี้ หลังจากนี้ก็คิดถึงความร่วมมือกับหน่วยงานหรือคิวเรเตอร์ต่าง ๆ ในการทำโชว์ต่อ ๆ ไป เพราะเริ่มมีคอนเนกชันต่อเนื่องมาบ้างแล้วจาก 2 โชว์แรก 

อย่างไรก็ดี ผมนึกถึงการต่อยอดอยู่เสมอแหละ เอางานมาแสดงแล้ว จะไปต่อยังไง หรือจะหารายได้อย่างไร อาจไม่ใช่ความตั้งใจขายงานแบ่งเปอร์เซ็นต์กันแบบแกลเลอรีศิลปะทั่วไป แต่เป็นการให้เช่าสถานที่ในราคาที่ยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่แค่ที่แขวนงานศิลปะ จะเป็นเพอร์ฟอร์แมนซ์ การแสดง คอนเสิร์ต หรืองานสร้างสรรค์อะไรก็ตามแต่ มันเป็นไปได้หมด

พูดถึงงาน SUPHAN’S Echoes บ้าง นี่เป็นงานแรกเลยใช่ไหมที่คุณรับหน้าที่คิวเรเตอร์เอง  

ใช่ครับ ทดลองดู เพราะที่ผ่านมาเคยจัดงานแสดงให้ตัวเองมาแล้ว ผมก็ไปทาบทามศิลปินในสุพรรณบุรีและที่อื่น ๆ ให้มาสุพรรณฯ และมาดูพื้นที่ว่าพวกเขาจะทำงานอะไรออกมาได้บ้าง ข้อได้เปรียบของเมืองนี้อีกอย่าง คือถึงเมืองจะไม่เคยมีพื้นที่ศิลปะ แต่ก็มีสถาบันด้านศิลปะอย่างวิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรีและวิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี ก็ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์และนักศึกษาเยอะ มีอาจารย์ส่งงานมาแสดง มีนักศึกษามาทำงาน Contemporary Dance ประกอบพิธีเปิด รวมถึงมีอีกหลายโครงการที่เราวางแผนจะทำในอนาคต  

ปรีชา รักซ้อน ศิลปินร่วมสมัยและทายาทรุ่นสาม ผู้เปลี่ยนโรงสีเก่าเป็น 1984+1 Gallery พื้นที่ศิลปะแห่งแรกในสุพรรณบุรี
ปรีชา รักซ้อน ศิลปินร่วมสมัยและทายาทรุ่นสาม ผู้เปลี่ยนโรงสีเก่าเป็น 1984+1 Gallery พื้นที่ศิลปะแห่งแรกในสุพรรณบุรี

จำเป็นไหมที่ 1984+1 gallery ต้องเป็นพื้นที่ศิลปะที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับเมืองสุพรรณบุรี

ไม่เลย ผมอยากให้มันเป็นพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยที่อยู่ในสุพรรณบุรีและให้คนที่นี่มาดู จริงอยู่ 2 โชว์แรกพูดถึงสถานที่หรือความเป็นสุพรรณฯ แต่ก็คิดว่าโชว์แรกควรเป็นแบบนี้ หลังจากนี้ก็แล้วแต่ศิลปินเลยว่าเขาอยากสื่อสารอะไร 

จาก 2 โชว์แรกที่คุณได้รับเสียงตอบรับที่ดี มีคนจากกรุงเทพฯ หรือที่อื่น ๆ ขับรถมาชมผลงานอย่างต่อเนื่อง แล้วกับคนสุพรรณฯ เองล่ะ ได้ฟีดแบ็กจากเขายังไง

ถ้าพูดตรง ๆ คนสุพรรณฯ แท้ ๆ เขาไม่ได้สนใจศิลปะร่วมสมัยน่ะครับ เหมือนหลายจังหวัดหรือเมืองรองส่วนใหญ่ในประเทศนี้ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าสภาพแวดล้อมบ้านเราไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่ก็ดีตรงที่พอได้ร่วมงานกับศิลปินในพื้นที่ พวกเขาก็ช่วยดึงคนดูในสุพรรณฯ มาบ้าง หรือคนพื้นที่ที่สนใจศิลปะจริง ๆ เขาก็แวะเข้ามา แต่ก็ต้องใช้เวลาในการสื่อสารพอสมควรเหมือนกัน ทำให้เขาเห็นว่านี่คือพื้นที่เรียนรู้ของเมืองอีกที่นะ เหมือนห้างสรรพสินค้า เหมือนสวนสาธารณะ คุณมาใช้เวลาว่างกับงานศิลปะได้ จริงอยู่ที่เมืองเรายังไม่มีระบบนิเวศด้านศิลปะ ศิลปินน้อย คนดูน้อย นักสะสมไม่ต้องพูดถึง แต่เราค่อย ๆ สร้างกันไปได้ ขอแค่มีพื้นที่

ให้ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้น

เพราะถ้าไม่มีพื้นที่ มันก็ไม่มีทางเกิด มองภาพในระยะยาว ผมฝันอยากให้สุพรรณบุรีมีนิเวศทางศิลปะแบบที่กรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่เป็นอยู่นะ แต่เบื้องต้นขอจัดนิทรรศการที่นี่สักปีละ 2 โชว์ให้ได้ก่อน ซึ่งผมก็เปิดรับหมด จะ High Art หรือ Low Art ไม่เกี่ยง แค่ทำให้ที่นี่ช่วยปลุกเมือง ปลุกชีวิตคนขึ้นมาได้ คนอยากมาจัดปาร์ตี้ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมร่วมสมัยผมก็รับหมด ถือโอกาสประชาสัมพันธ์เลยแล้วกันครับว่าใครสนใจอะไร มาคุยกันได้หมด คือถ้าไม่มีอุบัติเหตุอะไร ผมก็หวังให้ที่นี่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองต่อไปได้

ทั้งหมดที่ว่ามานี้คือคุณขับเคลื่อนพื้นที่คนเดียว

ใช่ครับ เราไม่ได้มีเงินจ้างคิวเรเตอร์แพง ๆ น่ะ แต่นั่นล่ะ การมีพันธมิตรมาสร้างความร่วมมือในงานต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญ พื้นที่มันจะอยู่ได้เพราะสิ่งนี้  

แต่ก็ไม่ได้มองว่าเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์แบบ 100% 

เงินทำให้พื้นที่อยู่ได้ครับ แต่ไม่ได้มองว่ามันจะต้อง Commercial จ๋า หรือทำอะไรก็คิดถึงรายได้เป็นหลัก เพราะถ้าผมอยากทำธุรกิจ ผมไปเช่าห้องสักห้องใน River City Bangkok วาดรูปที่คิดว่าตลาดกำลังต้องการและรอนักสะสมมาซื้อดีกว่า ไม่เหนื่อยต้องมาดูแลพื้นที่ใหญ่และอยู่ไกลขนาดนี้ 

ผมอยากให้ 1984+1 gallery แห่งนี้คือพื้นที่สร้างสรรค์ให้คนสุพรรณฯ เป็นหลัก และหาวิธีสร้างความร่วมมือ ทำให้มันยั่งยืนต่อไป

ปรีชา รักซ้อน ศิลปินร่วมสมัยและทายาทรุ่นสาม ผู้เปลี่ยนโรงสีเก่าเป็น 1984+1 Gallery พื้นที่ศิลปะแห่งแรกในสุพรรณบุรี
ปรีชา รักซ้อน ศิลปินร่วมสมัยและทายาทรุ่นสาม ผู้เปลี่ยนโรงสีเก่าเป็น 1984+1 Gallery พื้นที่ศิลปะแห่งแรกในสุพรรณบุรี
1984+1 gallery
  • โรงสีบูรณะกิจสุพรรณบุรี 221 หมู่ 6 ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน (กรุณานัดหมายล่วงหน้า)
  • 08 7156 6955
    นิทรรศการ SUPHAN’S Echoes จัดแสดงไปจนถึงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ดูรายละเอียดได้ที่
  • 1984+1 gallery

Writer

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียนและนักแปล แต่บางครั้งก็หันมาทำงานศิลปะ อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น 'รักในลวง'

Photographer

ชลิต สภาภักดิ์

ชลิต สภาภักดิ์

ช่างภาพสารคดีอิสระ เติบโตมาจากชนบทในจังหวัดสุพรรณบุรี ทํางานสื่อสารเรื่องราวของผู้คนและสิ่งแวดล้อม และเป็นนักสะสมโฟโต้บุ๊ค