การสัมภาษณ์นักวิชาการในครั้งนี้มีบรรยากาศผิดจากที่คาดไปพอสมควร ด้วยรอบข้างของผู้ถูกสัมภาษณ์นั้นไม่ใช่ห้องสมุดหรือห้องพักอาจารย์ที่แน่นเอี้ยดไปด้วยหนังสือ แต่คือเสียงเซ็งแซ่ของผู้ชุมนุมหลายร้อยชีวิตที่ปักหลักอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในนามของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ที่เดินทางมาเรียกร้องสิทธิ์ในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ซึ่งมีหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ คือ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประเด็นข้าวและชาวนาไทย ผู้สวมหมวกอีกใบในฐานะนักเคลื่อนไหวเคียงข้างประชาชนมานานกว่า 30 ปี

​“การพัฒนาข้าวไทยมันติดหล่ม เดินหน้าไม่ได้ ถ้าไม่พัฒนาโครงสร้างการผลิต” 

​อาจารย์ตอบอย่างไม่ลังเล เมื่อเราสงสัยว่าอะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้นักวิชาการอย่างเขาตัดสินใจลงถนนร่วมเรียกร้องการพัฒนาในประเด็นใหญ่ ๆ อย่าง ‘หนี้ชาวนา’ หรือ ‘ที่ดินทำกิน’ มาตลอดชีวิตการทำงาน ก่อนเสริมว่าอีกหนึ่งเหตุผลอาจเป็นเพราะเขาเกิดและเติบโตในครอบครัวชาวนา จึงมองเห็นทั้งแง่งามของวิถีชาวนาจนกลายเป็นความผูกพัน รวมถึงมองเห็นถึงปัญหาอันซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ในวงการข้าว

​“ครอบครัวผมทำนากันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นหลักร้อยปี” เขาย้อนรากของตัวเองให้เราฟัง “หลังสยามเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษใน พ.ศ. 2398 และเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก คราวนี้จากที่ชาวนาส่วนใหญ่ปลูกข้าวไว้กิน ทางการก็เริ่มส่งเสริมให้ปลูกข้าวไว้ขาย 

“บ้านเกิดผมที่ตำบลคลองโยง จังหวัดนครปฐม คือท้องนาแห่งแรกที่ รัชกาลที่ 5 ทรงส่งเสริมให้ปลูกข้าวเชิงเศรษฐกิจ เพราะเดิมนาตรงนี้มีข้าวพื้นบ้านสายพันธุ์ดี ๆ เยอะมาก อย่างข้าวทองระย้าหรือข้าวหอมนครชัยศรี ถือเป็นข้าวอร่อยที่ต้องส่งเข้าไปเป็นเครื่องเสวยในวังตลอด มีบันทึกไว้ด้วยว่ารัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้นำข้าวหอมนครชัยศรีมาหุงกับน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี จะได้ออกมาอร่อยมาก”

ความผูกพันกับท้องนาบ้านเกิดฝังอยู่ในตัวของอาจารย์เรื่อยมา แม้วันที่สวมหมวกนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เต็มตัว เรื่องข้าวและชาวนาก็ยังอยู่ในความสนใจของเขาอย่างเข้มข้น กระทั่งกลายเป็นตัวตนในที่สุด

​“หลังเป็นอาจารย์ได้พักหนึ่ง ผมก็กลับมาสนใจเรื่องปัญหาที่ดินในภาคเกษตร โดยเริ่มจากที่นาของคลองโยงก่อน เพราะเดิมที่ดินพันกว่าไร่ตรงนี้อยู่ในระบบศักดินา อย่างที่นาบ้านผมก็เป็นของ เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของที่ราชพัสดุ จึงออกโฉนดที่ดินให้ชาวนาในพื้นที่ไม่ได้ ทีนี้ผมก็กลับมาต่อสู้เรื่องที่ดินทำกินร่วมกับชาวนาคลองโยง จนได้เป็นโฉนดชุมชนในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

“จากนั้นก็เกิดคำถามต่อว่า ได้ที่ดินมาแล้ว เราจะใช้ยังไงให้ยั่งยืน สุดท้ายเลยทดลองทำนาอินทรีย์โดยเริ่มเล็ก ๆ จากนาบ้านตัวเองก่อน พอชาวนาบ้านอื่นเขาเห็นว่าเป็นไปได้ ก็เข้ามารวมกลุ่มกันตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นใน พ.ศ. 2554”

#01

​ไม่เพียงกระบวนการผลิตข้าวเท่านั้นที่สำคัญ เพราะหัวใจอีกดวงของข้าวไทย คือความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวท้องถิ่น ซึ่งมีเอกลักษณ์และเสน่ห์ของรสชาติแตกต่างกัน และนั่นคือสิ่งที่ลูกชาวนาอย่างเขาตระหนักดี 

​“พอตัดสินใจกลับมาเป็นชาวนาพาร์ตไทม์ก็เริ่มค้นหาสายพันธุ์ข้าวท้องถิ่นกลับมาปลูก จนไปเจอข้าวหอมนครชัยศรีอยู่ที่บางเลน (อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม) เลยลองเอากลับมาปลูกที่นาคลองโยง หลังจากที่แถวนี้หันไปปลูกข้าวอุตสาหกรรมกันหมด แม้จะขายไม่ได้ราคา แต่ต้นทุนถูกกว่าและมีตลาดรับซื้อแน่นอน” 

​นักวิชาการลูกหลานชาวนาเกริ่นถึงหนึ่งในปัญญายืดเยื้ออย่างใจเย็น 

​“รุ่นพ่อแม่ผมยังมีการแบ่งนาบางแปลงเพื่อปลูกข้าวพื้นบ้านไว้กิน แต่ชาวนาสมัยนี้ซื้อข้าวถุงกินถูกกว่า (หัวเราะ) ซึ่งนี่อาจเป็นปมแรกที่รัฐต้องแก้ถ้าอยากพัฒนาวงการข้าวไทย คือทำยังไงถึงจะไม่ให้ทุนใหญ่ผูกขาดตลาดข้าวแบบทุกวันนี้ และทำยังไงถึงจะเกิดความหลากหลายในตลาดข้าวมากขึ้น เพราะถ้าสุดท้ายข้าวพื้นบ้านไม่มีตลาดรองรับ สักวันหนึ่งมันจะหายไป เพราะชาวนาคือคนที่อยู่ในระบบทุนนิยมแบบเรา”

​อาจารย์เล่าภาพใหญ่ของกระบวนการผลิตข้าวให้เราฟังว่า ปัจจุบันประเทศไทยผลิตข้าวได้ปีละประมาณ 33 ล้านตันข้าวเปลือก ส่งออกราวครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งคือข้าวที่หมุนเวียนอยู่ในประเทศ ซึ่งมากกว่าความต้องการบริโภคของประชากรหลายเท่า ชนิดที่ว่า ถ้าไม่อยากให้มีข้าวเหลือคงค้างในแต่ละปี คนไทยต้องช่วยกันกินข้าววันละ 9 มื้อ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่าวงการข้าวไทยกำลังตกอยู่ในภาวะโคม่าที่ต้องการยาแรง 

​“พอข้าวล้นตลาด ราคาข้าวก็ต่ำเป็นธรรมดา คราวนี้วิธีที่ง่ายและเร็วที่สุดในการแก้ปัญหาคือการอัดเงินเข้าไปในระบบ ผ่านนโยบายอย่างจำนำข้าวหรือประกันราคา ในแต่ละปีรัฐใช้เงินประมาณ 1.5 – 1.7 แสนล้านบาทไปกับเรื่องข้าว และ 70 เปอร์เซ็นต์หมดไปกับการประกันราคาข้าว ซึ่งเป็นการใช้เงินมหาศาลโดยไม่ได้แก้ไขต้นตอของปัญหาเลย” เขาย้ำอีกครั้งถึงความกังวล ก่อนเสริมว่าหากมองในแง่ดี ปัจจุบันการบริโภคข้าวอินทรีย์หรือข้าวพื้นบ้านที่มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่าข้าวอินทรีย์หรือข้าวพื้นบ้านมีโอกาสเติบโตอีกมาก ในข้อแม้ว่ารัฐต้องมุ่งพัฒนาระบบการผลิตข้าวอย่างเข้าใจภาพรวม ไม่ว่าจะเรื่องการผูกขาดตลาดข้าว ปัญหาที่ดินทำกิน หรือหนี้ชาวนา รวมถึงทำความเข้าใจบริบทของชีวิตชาวนาที่เปลี่ยนไปจากภาพจำเดิม ๆ ที่ผลิตซ้ำมานับศตววรษ 

​“ทุกวันนี้ไม่มีแล้วชาวนาที่ปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก เก็บผัก หาปลายังชีพแบบในอดีต ปัจจุบันพวกเขาล้วนทำอาชีพอื่นควบคู่กันไปทั้งนั้น เพราะทำนาอย่างเดียวไม่พอกิน ต้องออกไปรับจ้างบ้าง ไปทำงานโรงงานบ้าง หรือปลูกผักชนิดอื่นเพื่อหารายได้เสริมบ้าง” เขาถ่ายทอดภาพความจริงที่สังคมอาจละเลย 

​“ที่ผ่านมารัฐพยายามสนับสนุนการปลูกข้าวอินทรีย์อยู่บ้าง ด้วยการอุดหนุนเงินทุนในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่เมื่อผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มขึ้น ตลาดข้าวอินทรีย์กลับไม่โตตาม คราวนี้ข้าวก็ล้นตลาด ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจึงขาดทุนกันเป็นแถว นี่คือตัวอย่างผลลัพธ์ของแนวทางการพัฒนาที่ไม่จริงจัง ยังทุ่มไม่สุดทาง” 

อาจารย์นิ่งคิดอึดใจ ก่อนมองไกลถึงทางออกของวงจรว่าอาจต้องเริ่มจากการสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพ และเมื่อชาวนามีต้นทุนชีวิตมากพอ การทำนาอย่างพิถีพิถันก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ยากเย็น 

#02

​อาจารย์ประภาสขีดเส้นใต้เรื่องราวของปัญหา แต่ย้ำว่ายังมีความหวัง

​ด้วยข้าวไทยนั้นมีต้นทุนทั้งเรื่องความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวตั้งแต่เหนือจรดใต้ มีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ในประเทศ รวมถึงมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับข้าวฝังรากลึกในสังคมมายาวนาน เพราะบริบทเช่นนี้ การแปรต้นทุนเหล่านี้เป็นโอกาสในการพัฒนาวงการข้าวไทย จึงไม่ใช่การฝันใหญ่ที่เกินกำลัง 

​“ผมมองว่าทิศทางการพัฒนาอาจต้องไปทางญี่ปุ่น ประเทศที่กินข้าวเป็นอาหารหลักเหมือนเรา แต่ข้าวในตลาดบ้านเขากลับมีหลากหลายมาก แทบทุกท้องถิ่นมีวิสาหกิจชุมชน ข้าวแต่ละชนิดระบุเลยว่าชาวนาคนไหนเป็นคนปลูก มีความพิเศษอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ต้องเริ่มจากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและปรับโครงสร้างการผลิตไปพร้อม ๆ กัน” 

อาจารย์ยกตัวอย่างการปรับโครงสร้างการผลิตขั้นพื้นฐานอย่างการสร้างโรงสีชุมชนที่ช่วยให้ชาวนาปลูกข้าวขายในชุมชนได้อย่างครบวงจร ไม่ต้องพึ่งพิงโรงสีใหญ่หรือนายทุนรับซื้อ

​“ปัจจุบันชาวนาไทยส่วนมากกินข้าวถุงเป็นหลัก เพราะข้าวเปลือกทั้งหมดขายส่งให้โรงสี ซึ่งจริง ๆ ถ้าพัฒนาโครงสร้างการผลิตให้ดี มีโรงสีชุมชน สร้างตลาดกลางซื้อ-ขายข้าวในท้องถิ่น ชาวนาผลิตเป็นข้าวสารขายกันเองในชุมชนได้ ไม่ต้องขนส่งไปขายไกล ๆ ให้มีต้นทุนเพิ่มเหมือนทุกวันนี้” 

​อาจารย์วาดความหวังถึงโมเดลการพัฒนาที่น่าจะเป็นไปได้ พร้อมย้ำว่าโจทย์ใหญ่ในอนาคตของไทย คือทำอย่างไรให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงข้าวคุณภาพดีได้อย่างเท่าเทียม

​“ทุกวันนี้ข้าวหอมมะลิ 100 เปอร์เซ็นต์แทบจะส่งออกหมด ส่วนข้าวถุงที่ขายในประเทศส่วนใหญ่มักนำข้าวหลาย ๆ สายพันธุ์มาผสมกันเพื่อลดต้นทุน แล้วเอาเข้าเครื่องขัดสี ตัดแต่งขนาด เพื่อให้เมล็ดเหมือน ๆ กันหมด ผมเรียกข้าวแบบนี้ว่า ‘ข้าวไม่มีหัวนอนปลายเท้า’ เพราะไม่รู้ว่ามาจากแหล่งไหน สายพันธุ์อะไรแน่ คุณภาพข้าวที่คนไทยกินส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ ซึ่งไม่ควรจะเป็น เพราะประเทศเราปลูกข้าวเป็นพืชหลัก เราจึงมีทรัพยากรมากพอที่จะผลิตข้าวคุณภาพดี ๆ ในราคาที่จับต้องได้” 

​ก่อนจบบทสนทนา นักวิชาการเจ้าของรางวัลการวิจัยแห่งชาติปีล่าสุดย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาข้าวไทยอีกครั้งว่า เรื่องข้าวนั้นไม่ใช่ ‘แค่’ เรื่องข้าว เพราะข้าวสัมพันธ์กับอีกหลายประเด็นทางสังคมอย่างแนบชิด

​“เส้นทางการพัฒนาข้าวไทยที่ยั่งยืนอาจเริ่มจากการมองให้ออกว่าปัญหาของวงการข้าวนั้นเชื่อมโยงกับปัญหาอื่น ๆ ด้วย ใกล้ตัวที่สุด เรื่องฝุ่นควัน PM 2.5 ที่ส่วนหนึ่งมาจากการเผาฟางเพื่อเร่งผลิตข้าวส่งออก อาจแก้ได้ด้วยการสนับสนุนการทำนาอินทรีย์ การทำเกษตรเชิงนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นี่เป็นตัวอย่างว่าการจะแก้ปัญหาเรื่องข้าวให้ถึงที่สุดนั้นต้องทำอย่างบูรณาการณ์ และเดินหน้าพัฒนาไปพร้อมกันทั้งสังคม”

Writer

อรุณวตรี รัตนธารี

อรุณวตรี รัตนธารี

นักสื่อสารเรื่องราวของมนุษย์ผ่านอาหาร ผู้อยากเห็นระบบอาหารของไทยใส่ใจคนทุกกลุ่ม

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน