เพ็ชร์บุรี (ที่สะกดแบบเดิม ๆ) หรือ เพชรบุรี (ที่สะกดในแบบปัจจุบัน) อาจเป็นแค่จังหวัดทางผ่านสำหรับหลายคน เพื่อลงไปภาคใต้หรือเที่ยวพักผ่อนใช้เวลาที่หัวหินมากกว่า
ทุก ๆ ต้นปี ในช่วงที่ดอกลั่นทมเริ่มออกดอกเต็มต้น จังหวัดเพชรบุรีจะจัดงานใหญ่ประจำจังหวัด นั่นก็คือ ‘งานพระนครคีรี’ หรืองานหน้าเขาอย่างที่คนเพชรเรียกกัน
ปีนี้พิเศษหน่อยตรงที่มีการจัดงานนิทรรศการ ‘Portrait (Taste) of Phetchaburi รูปรสแห่งเมืองเพ็ชร์’ ซึ่งออกแบบและสร้างสรรค์โดยโรงเรียนสังเคราะห์แสง จัดแสดงรูปถ่ายหลากหลายแนวทางออกมาเป็นหลากหลายรสชาติ สร้างสรรค์เป็นศิลปะสื่อผสม และจัดวางในอาคารโรงงานเพ็ชรปิ่นแก้ว ข้าง ๆ เขาวัง อาคารร้างที่เคยเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของเมืองเพชรบุรี
ความรุ่มรวยทางศิลปะของช่างเมืองเพชรทำให้เกิดสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี เช่น วัดวาอารามต่าง ๆ จนเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของจังหวัด และยังต่อเนื่องมาถึงอาคารยุคใหม่ ๆ ที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก อย่างวังบ้านปืน (พระรามราชนิเวศน์) และไล่เรียงพัฒนาการทางสถาปัตยกรรมมาจนถึงยุคโมเดิร์น
Something Still Remains ครั้งนี้จะพาไปสำรวจตึกต่าง ๆ ในเมืองเพชรอย่างครบรส ให้เห็นความหลากหลายของสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นของดีของจังหวัดเพชรบุรี
บ้าน
เรือนไทยของเพชรบุรีขึ้นชื่อเรื่องความอ่อนช้อยและสะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี เช่น การขยายหลังคาออกมาเป็นเรือนแฝด การใช้วัสดุท้องถิ่น อย่างใบตาล ไม้ตาล รวมถึงมีเรือนพื้นถิ่นเฉพาะชาติพันธุ์ อย่างเรือนไทยทรงดำ
แต่เพชรบุรีไม่ได้มีแต่บ้านเรือนไทยเท่านั้น ในยุคต่อ ๆ มามีอาคารพาณิชย์เกิดขึ้นมากมาย มีบ้านคหบดีใหญ่โต ไปจนถึงอาคารรูปแบบ Art Deco ตามหัวถนนในยุคที่ตึกโมเดิร์นเริ่มเฟื่องฟู
วัด
วัด คือมรดกทางสถาปัตยกรรมอันเด่นชัดที่สุดของจังหวัดเพชรบุรี สืบประวัติจากโบราณวัตถุไปได้ไกลถึงยุคทวารวดี เช่น ธรรมจักรศิลา ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่วัดมหาธาตุ วัดในเพชรบุรีมีความอ่อนช้อยจากศิลปะอยุธยา นิยมสร้างอุโบสถให้มีโค้งแอ่นสำเภา อย่างวัดสระบัว วัดเกาะ และยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่หากใครชื่นชอบ รับรองว่าดูเพลินมาก ๆ
วัง
จังหวัดเพชรบุรีมีพระราชวังตั้งอยู่มากถึง 3 แห่ง โดย 2 แห่งที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง คือพระราชวังฤดูร้อน สร้างขึ้นบนเขาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 พระรามราชนิเวศน์หรือวังบ้านปืน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในอำเภอชะอำ เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานในฤดูร้อนของรัชกาลที่ 6