พี่ตา ภรรยาอาจาร์ธเนศ วงศ์ยานนาวาเล่าให้ฟังว่า ถ้าไป ‘ชุมชนปากลัด’ ตรงพระประแดง ตรงกับช่วงเทศกาลใหญ่ของพี่น้องชาวมุสลิม จะเจอของกินที่นาน ๆ คนในชุมชนทำขายกันไม่กี่ครั้งต่อปี

ครั้งนี้เลยตามพี่ตามาแถวพระประแดง ถึงไม่ได้ตรงกับวันพิเศษอะไร ก็ขอแวะมาลองสำรวจชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้เสียหน่อย

ชุมชนบ้านปากลัดเป็นชุมชนเก่าแก่ อายุร่วม 200 ปีหรือน่าจะเกินกว่านั้นเสียอีก บันทึกฝรั่งสมัยก่อนบอกว่ามีคลองที่ขุดตัดตรงเพื่อย่นระยะทางเดินเรือได้กว่า 10 ไมล์ แทนที่จะต้องอ้อมคุ้งบางกะเจ้า ระหว่างทางริมคลองมีชุมชนสร้างบ้านเรือนด้วยไม้ไผ่กระจายตัวอยู่ บางหลังซ่อนตัวอยู่ในป่าละเมาะ การบรรยายของฝรั่งที่เข้ามายังเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นทำให้เห็นภาพชีวิตริมแม่น้ำลำคลองของคนไทยบริเวณนครเขื่อนขันธ์ชัดขึ้น 

เรามักคิดว่าพระประแดงมีแต่คนไทยเชื้อสายมอญ แต่ที่จริงแล้วที่นี่ยังมีคนไทยเชื้อสายจีนและชุมชนชาวไทยมุสลิมอยู่ร่วมกันโดยรักษาวัฒนธรรมของตัวเองไว้อย่างแข็งแรง เราไปร่วม ‘วันอีฎิ้ลฟิตริ’ ของชาวไทยมุสลิมที่เป็นวันแรกของการออกจากเทศกาลถือศีลอด และในอีกไม่กี่วันถัดมาก็จะมีเทศกาลสงกรานต์ของชาวมอญได้ในที่เดียว พระประแดงเลยเหมือนเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่น่ามาเยี่ยมเยียนแหล่งหนึ่งเลย

ชาวมอญและชาวมุสลิมกลุ่มแรกมาตั้งรกรากที่นี่กันตั้งแต่ก่อนยุครัตนโกสินทร์ และมีชาวมุสลิมที่เป็นเชลยศึกจากปัตตานีมาอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 จากเชลยศึกที่ส่วนใหญ่มีความรู้ทางด้านศาสนา เมื่อได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจึงได้ตั้งเป็นชุมชนขึ้น มีมัสยิดหลังแรกที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง บ้านปากลัดจึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ศาสนาอิสลามในเวลาถัดมา

มีเรื่องเล่าว่า ถ้าพายเรือจากต้นคลองเข้าสู่หมู่บ้านแขก จะได้ยินแต่เสียงคนท่องอ่าน อัลกุรอาน ตลอดลำคลอง ภาพชุมชนมุสลิมริมคลองก็ยิ่งปรากฏชัดขึ้นอีก

200 กว่าปีผ่านไป ชุมชนและคลองยังคงอยู่ตรงที่เดิม ส่วนชุมชนขยายตัวใหญ่ขึ้น ผิดกับคลองที่ความสำคัญลดลง แทนที่คลองด้วยถนน เพราะการสัญจรเปลี่ยนจากเรือเป็นรถไปเสียแล้ว แต่ก็ยังเห็นบ้านและมัสยิดริมคลองอยู่

เราเดินเข้าชุมชนบ้านปากลัดจากตรอกเล็ก ๆ ริมถนนใหญ่ ที่เลือกเดินเข้าทางนี้เพราะยังไม่ทันได้สำรวจอะไรก็เจอกับ ‘ร้านบังเดชข้าวหมกไก่’ ตั้งอยู่หน้าปากซอยดักเอาไว้ก่อนแล้ว 

ร้านบังเดชเป็นร้านเก่าแก่ หลายคนโตมากับข้าวหมกไก่ ซุปไก่ และแกงของดีของชาวมุสลิมร้านนี้ และหลายคนก็ยังคงเป็นแฟนเหนียวแน่นถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าร้านเหมือนจะลดบางเมนูลงไป อย่างเมนูแพะ เรากินข้าวหมกไก่ ซุป กับแกงเนื้อ ก่อนจะเดินต่อเข้าไปในชุมชน

ทางแคบ ๆ ในตรอกพาลัดเลาะมาเจอมัสยิดดารอสอาดะห์หลังใหญ่ตั้งตระหง่านกลางชุมชน มัสยิดหลังนี้เป็นรุ่นที่ 3 ที่ได้รับการบูรณะต่อเติมจากรุ่นที่ 2 เป็นอาคารสร้างด้วยปูนแทนอาคารไม้หลังเดิม 

เราพยายามจินตนาการถึงคำบอกเล่าถึงมัสยิดหลังที่ 2 ที่ใช้ทั้งไม้สักทำบานประตู ใช้หินอ่อนจากอิตาลี มีเสาแบบโรมัน หลังคาจั่วทรงไทย หน้าต่างประตูเป็นแบบอาหรับ และยอดโดมบนสุดเป็นแบบมลายู นึกตามแล้วเป็นการผสมผสานศิลปะต่าง ๆ ที่ออกมาคลาสสิกและลงตัว

ก่อนที่จะสร้างใหม่เป็นรุ่นที่ 3 เพื่อรองรับผู้เข้าละหมาดได้มากยิ่งขึ้น มัสยิดหลังที่ 3 นี้หลังใหญ่จนมองเห็นได้จากทั่วชุมชน มีโถงกลางชั้น 2 เป็นยอดโดมสูงไว้ทำพิธีละหมาด

ถ้าหันหน้าเข้ามัสยิดแล้วเดินไปทางขวามือเลียบคลองไปจากมัสยิดไม่ไกล มีร้านก๋วยเตี๋ยวแกงป้านะห์ ขายก๋วยเตี๋ยวแกงและก๋วยเตี๋ยวน้ำใส เมนูก๋วยเตี๋ยวแกงที่เราสั่งเป็นก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก ใส่เนื้อตุ๋น ตักน้ำแกงกะทิจากหม้อใบใหญ่ตั้งเตาถ่านเอาไว้ราดลงไปในชาม ใส่ไข่ต้มผ่าซีก น้ำแกงหอม ไม่ข้นมากนัก สีส้มสวย แต่ไม่เผ็ดมากอย่างที่คิด ความมันของกะทินวล ๆ กับเนื้อตุ๋นเข้ากันดี สั่งน้ำลำไยมากินคู่กัน 

เดินเล่นจากร้านป้านะห์ไปตามถนนเลียบคลอง ชุมชนบ้านปากลัดสะอาดสะอ้านและดูเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก หน้าบ้านปลูกต้นไม้-ดอกไม้กันร่มรื่น 

ที่นี่จะพบจุดทิ้งขยะแบบแยกขยะประเภทต่าง ๆ ติดป้ายว่าเป็นขยะแลกบุญ มีตั้งแต่หน้าบ้านคน จนถึงโรงเรียน เป็นโครงการที่ชาวบ้านในชุมชนร่วมมือกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทยที่พี่ตาผู้พามารู้จักกับชุมชนนีี้ทำงานอยู่ และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างทางเดินเจอบ้านหลังหนึ่งที่ใช้พื้นที่บริเวณบ้านแยกขยะ เจ้าของบ้านคือ พี่อ้อ เป็นอาสาสมัครที่ใช้ที่ว่างหน้าบ้านของตัวเองรับขยะจากชาวบ้านและกับผักต่าง ๆ ที่ปลูกไว้เพื่อแลกเปลี่ยนกับขยะ พี่อ้อเดินเชิญชวนให้ชาวบ้าน ร้านค้าเริ่มแยกขยะจนเป็นนิสัย ขยะที่ได้จะนำไปขายต่อ เพื่อนำรายได้เข้าสู่มัสยิด เป็นที่มาของชื่อขยะแลกบุญที่เห็นมาจากจุดแยกขยะ 

ทุกวันตอนเย็นพี่อ้อจะเดินไปรอบ ๆ ชุมชนเพื่อแวะรับเศษขยะของร้านอาหารในชุมชนที่เตรียมเอาไว้ให้ รวมถึงร้านก๋วยเตี๋ยวแกงป้านะห์ด้วย เศษขยะจะนำไปหมักเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ปลูกพืชผักอีกที 

ช่วงตอนเย็นถนนริมคลองจะเต็มไปด้วยร้านค้าและคนในชุมชนที่ออกมาหาซื้ออาหาร มีอาหารหลากหลายชนิด ถ้ายิ่งในช่วงที่มีการถือศีลอดตอนเย็นจะคึกคักเป็นพิเศษ มีขนมโบราณหลาย ๆ อย่างที่ไม่ได้ขายในวันปกติออกมาขาย บางร้านอาหารก็ทำเนื้อสะเต๊ะเฉพาะในช่วงพิเศษก็มี

เราเดินมาถึงร้านขนมที่ตั้งแผงขายหน้าบ้านเยื้อง ๆ กับมัสยิด เป็นร้านขนมอบของ ฮัจยีรอฟิก บังรอฟิกบอกว่าหลายคนมาถึงที่บ้านปากลัดก็เพื่อซื้อขนม มีทั้งหม้อแกงถั่ว สาลี่กรอบ สาลี่ทิพย์ และที่ขึ้นชื่อคือ ‘ขนมบดิน’ ขนมโบราณจากไข่ แป้ง น้ำตาล เนยกี (Ghee) อบจนเค้กขึ้นฟู แต่งด้วยผลไม้แห้ง เช่น ลูกเกด เป็นขนมที่หาได้เฉพาะตามชุมชนมุสลิมเก่าแก่เท่านั้น 

พอใกล้ค่ำ เรากลับไปที่มัสยิดอีกครั้งเพื่อขออนุญาตเข้าไปชมภายใน มัสยิดถือเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชนที่แท้จริง ทั้งตัวอาคารและภายในยังมีข้าวของเก่าแก่บอกเล่าอดีต เล่าประวัติศาสตร์ของมุสลิมบ้านปากลัดได้ดี

ชั้นล่างของมัสยิดเริ่มมีคนมานั่งรอเวลาทำละหมาดช่วงเย็น รวมถึงในโถงใหญ่ชั้น 2 ดูสวยงามและอลังการ แสงสะท้อนสีทองจากหลังคาโดมทำให้ห้องละหมาดดูมีมนต์ขลังน่าศรัทธา จากชั้น 2 มีบันไดขึ้นไปสู่ชั้นดาดฟ้า จากจุดนี้เรามองเห็นชุมชนได้รอบ ๆ มองไกลไปได้ถึงพระประแดง รวมถึงเห็นสะพานภูมิพลและแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ไม่ไกลตา 

ครั้งหน้าตั้งใจว่าจะลองมาชุมชนบ้านปากลัดให้ตรงกับช่วงวันพิเศษสักครั้ง อยากสำรวจอาหารพิเศษ รวมถึงความเก่าแก่ที่น่าจะสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น และน่าจะมีโอกาสกินได้ไม่บ่อยบ้าง

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2