ที่สุดแห่งความละเอียด! ไข่ฟาแบร์เชที่จำลองพระราชวังทั้งหลังมาเก็บไว้หลังเปลือกไข่

“ทุกความปรารถนาของภรรยาและลูก ผมทำให้เป็นจริงได้เสมอ” – ตามติดชีวิตแม่บ้านนาซีและความจริงของภาพยนตร์ ‘The Zone of Interest’

จัดอันดับความเลือดชิดของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก

อาจมีคนที่มองว่าประวัติศาสตร์เข้าใจยาก น่าเบื่อ หรือน่ากลัว แต่พาดหัวจากเพจ ‘พื้นที่ให้เล่า’ ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกอย่างนั้น เพราะแค่ปรายตาผ่าน ๆ ก็ทำให้อยากรู้ไปถึงเนื้อหาที่มีต่อจากนี้ว่าจะสนุกหรือน่าตื่นตาอย่างที่คิดหรือเปล่า

พื้นที่ให้เล่ามี เตย-มนสิชา รุ่งชวาลนนท์ เป็นคนสื่อสารหลัก หัวข้อประวัติศาสตร์สากลจึงถูกหยิบมาเล่าจนกลายเป็นภาพลักษณ์ประจำเพจ 

แต่เฉดสีสำคัญที่ทำให้เพจนี้มีหลากหลายมิติคือ ยุ้ย-กนกพรรณ อรรัตนสกุล ที่เป็นแกนหลักชักชวนเพื่อน ๆ มาร่วมกันเขียนเรื่องถนัดในพื้นที่ปล่อยของ โดยมีเธอเป็นคนเริ่มต้นออกไอเดีย

“มีคนอ่านสัก 100 คน ไลก์สัก 10 คนก็พอ” ในวันแรกที่ตัดสินใจทำเพจ เพื่อนสนิททั้ง 4 คนวางความคาดหวังไว้อย่างนั้น เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพจของพวกเธอมีผู้ติดตามมากถึง 1.7 แสน

ยุ้ย-กนกพรรณ อรรัตนสกุล และ เตย-มนสิชา รุ่งชวาลนนท์

ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของภาพวาดสวย ๆ หรือจะเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการทำความเข้าใจอย่างความสัมพันธ์ในราชวงศ์ยุโรป 2 แอดมินเพื่อนสนิทก็เล่าเรื่องยากให้ย่อยง่ายและทำประเด็นน่าเบื่อให้สนุกขึ้นได้ จากการ ‘เอ๊ะ!’ เพื่อตั้งคำถามกับเรื่องในประวัติศาสตร์

“เรื่องที่อยากเล่าแล้วไม่ได้เล่าน่ะ ไม่ค่อยมีหรอก เพราะเพจเราไม่มี บ.ก.” มีแค่เงื่อนไขของเฟซบุ๊กเท่านั้นที่ทำให้โพสต์ไม่ได้ ฉะนั้น คงมีแค่เฟซบุ๊กที่เป็น บ.ก. ของพวกเธอ 

ความสนุกและสาระจากเพจนี้ไม่เพียงถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ แต่เนื้อหาเหล่านั้นนำไปต่อยอดในรูปแบบเสียง ดำเนินรายการโดยเพื่อนสาว 2 คน หยิบเรื่องประวัติศาสตร์มาเมาท์มอยผ่านพอดแคสต์ จากการเริ่มต้นที่ a day และจะกลับมาทำอีกครั้งบนหน้าเพจพื้นที่ให้เล่า

ชวนเพื่อนเล่า 

“วันแรกตลกมากเลย ยุ้ยลากพวกเรา 4 คนมาแล้วก็บอกว่า มาทำเพจกันไหม’ ลองทำสนุก ๆ มีคนอ่านสัก 100 คน ไลก์สัก 10 คนก็พอ เราจะได้ยังมีคอนเนกชันกันอยู่ เพราะทุกคนต้องแยกย้ายกันไปทำงาน แต่พวกเราน่าจะยังทำอะไรร่วมกันได้” เตยเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอและเพื่อน ๆ มารวมตัวกัน

พื้นที่ให้เล่า เริ่มจากการมีนักเขียนหลายคน เตยเขียนด้านประวัติศาสตร์ ยุ้ยเขียนด้านภาพยนตร์ ส่วนเพื่อนอีก 2 คนเขียนด้านวรรณกรรมและศิลปะ เนื่องจากทุกคนมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน ในแต่ละเดือนจึงมีการกำหนดธีมสำหรับเนื้อหา ไม่มีตารางบังคับว่าจะต้องเขียนคนละกี่ชิ้นหรือลงเดือนละกี่โพสต์ ส่วนเนื้อหาก็ดูเพียงความเหมาะสมให้เข้ากับธีมเท่านั้น แต่เมื่อเพื่อนนักเขียนอีก 2 คนขอออกจากการเป็นแอดมิน และไม่มีความจำเป็นต้องมีธีมอีก ในปัจจุบันแอดมินจึงเหลือแค่เตยและยุ้ย

สองสาวรู้จักกันเพราะฝึกงานเป็น a team junior ของนิตยสาร a day รุ่นเดียวกัน เตยหลงใหลในประวัติศาสตร์และชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก เธอจบจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาโทคณะเดียวกันจากมหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ เตยเล่าว่าตอนที่เริ่มทำเพจ ในหัวของเธอเต็มไปด้วยเนื้อหาวิชาการ ไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์เท่าไหร่ ผิดกับยุ้ยที่จบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเตยให้คำจำกัดความเพื่อนรักคนนี้ว่า

“เขาเป็นสายครีเอทีฟ คอยริเริ่มไอเดียและเสนอสิ่งใหม่ ๆ ให้กับเพจเสมอ” 

แต่ถึงอย่างนั้น ยุ้ยก็ยังให้อิสระกับเตยได้เขียนคอนเทนต์ในแบบที่ถนัด

แม้ว่าในตอนแรกจะเป็นแค่เพจสนุก ๆ แต่การทำงานกับเพื่อนก็ไม่ได้ถือว่าง่ายซะทีเดียว

“ด้วยความที่งานของเตยกับยุ้ยต่างกัน เตยทำงานประจำ แต่เราก็แบ่งเวลามาทำ เตยจึงยืนพื้นเขียนให้ทุกอาทิตย์ได้ ส่วนยุ้ยทำงานกองถ่ายและต้องเขียนบทเลยไม่ค่อยมีเวลา แต่เพราะมันเป็นเพจของเราอยู่แล้ว ถ้ายุ้ยมีประเด็นจะกลับมาเขียนเมื่อไหร่ก็ได้เสมอ ถึงตอนนี้เตยจะเขียนคนเดียวเป็นหลัก แต่ถ้ามีคนถามก็จะตอบว่ามีแอดมิน 2 คน เพราะไม่มีทางมีเพจนี้เลยถ้าขาดยุ้ยไป ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงให้คำปรึกษา เวลามีปัญหาอะไรก็จะมียุ้ยคอยช่วย หลายประเด็นที่ได้มาเขียน หรือแม้แต่การเปิดเว็บไซต์สำหรับเก็บบทความก็มาจากยุ้ยด้วยเหมือนกัน”

ก่อนหน้านี้พวกเธอไม่เคยแบ่งหน้าที่กันชัดเจน แต่เตยมองว่ายุ้ยเป็นผู้ริเริ่ม ส่วนเธอเป็นผู้ดำเนินการ 

“สไตล์งานเราไม่เหมือนกัน ก็จะทำความเข้าใจว่า โอเค เขาเป็นอย่างนี้ จะไม่มัวแต่คิดว่าทำไมแกเขียนน้อยกว่า เราไม่คาดหวังกันแบบนั้น แต่ถ้ามีงานเข้ามามากกว่า 2 ชิ้น ก็จะถามว่าอยากแบ่งไปทำไหม ด้วยความที่เรานิสัยไม่เหมือนกัน อาจมีหงุดหงิดกันบ้าง”

พื้นที่ให้เล่า

“เราว่าในตอนนั้นเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ที่ใครจะพูดอะไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละคน ประวัติศาสตร์ก็เป็นอีกสิ่งที่ยังไม่ค่อยมีคนเล่าหรือย่อยออกมา ค่อนข้างยากในการหาแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ จึงอยากทำให้การเข้าถึงประวัติศาสตร์มันง่ายขึ้นผ่านการเล่าของเพจนี้ ” ยุ้ยเล่าย้อนถึงมุมมองในช่วงเริ่มต้นทำเพจ

“เราคลำทางเยอะกว่าจะรู้ว่าอยากเล่าอะไรและอยากจะพูดกับใคร” ทั้งคู่บอกว่าในตอนแรกไม่ได้คาดหวังว่าเพจนี้จะได้รับความนิยม เพียงแค่อยากมีที่เอาไว้สำหรับคุยหรือปล่อยของที่มีก็เท่านั้น

“โพสต์แรก ๆ ที่เขียน คือเอาประเด็นมาและเขียนอธิบายสั้น ๆ”

ถ้ากลับไปคอมเมนต์ตัวเองได้จะคอมเมนต์อะไร – เราถาม

“จะบอกว่า อธิบายสิ คนเขาไม่เข้าใจหรอกว่าอันนี้คืออะไร หรือบอกหน่อยว่าคนนี้เป็นใคร คนทั่วไปเขาไม่รู้หรอก เหมือนเรายังไม่รู้ว่าคนที่มาคุยด้วยตอนนั้นเป็นใคร อย่าใส่ความเป็นตัวเองลงไปเยอะ คนอ่านไม่ได้อยากอ่านเรา เขาอยากอ่านเรื่อง” 

เตยบอกว่าเธอใส่ความเป็นตัวเองในเนื้องานหลักให้น้อยลงหลังจากนั้น แต่ใส่ความคิดเห็นหรือมุมมองของตนไว้ในช่องคอมเมนต์แทน

งานเขียนของเตยใช้เวลาไม่ถึงวัน เพราะเธอบอกว่ามีแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือช่องยูทูบนักประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ ส่วนใหญ่งานเขียนที่เธอทำได้เร็วเป็นพิเศษ คือการเขียนวิเคราะห์รูปภาพหรือโพสต์ที่เล่าเรื่อง งานพวกนี้เขียนเสร็จได้ภายใน 3 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเรื่องของบุคคลที่ต้องเล่าทั้งชีวิตของเขา อาจต้องใช้เวลาเขียน 5 – 6 ชั่วโมงและทิ้งไว้ก่อน กลับมาอ่านใหม่ในวันรุ่งขึ้นเพื่อดูว่าเนื้อหาครบถ้วนดีหรือยัง

“บางทีเราจะได้ข้อมูลมาจากเพจมิวเซียมหรือว่าอาร์ตมิวเซียมของต่างประเทศ เวลาเขาลงรูป เราก็จะดูว่ารูปสวย อยากเอามาเล่า แต่เขาอธิบายไว้น้อย บางครั้งเป็นภาษาอังกฤษ เราก็ต้องหาเพิ่มว่ามีใครพูดไว้บ้าง และต้องตรวจสอบด้วยว่าถูกต้องหรือเปล่า เพราะบางทีเวลาค้นเพจแรกที่เจอมักไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกที่สุด แต่ถ้าข้อมูลไม่ตรงกันจริง ๆ เราก็อาจจะต้องเขียนไว้ด้วยว่า มีแหล่งข้อมูลที่แย้งว่าแบบนี้ด้วย เพราะเราคงไปตัดสินไปเลยไม่ได้” เตยเสริมเรื่องวิธีเก็บข้อมูล พร้อมบอกว่าประเด็นส่วนใหญ่มักได้มาจากโซเชียลมีเดีย ส่วนหนังสือจะอยู่ในขั้นตอนสืบค้นขั้นต่อไป

“เนื้อหาในเพจปีแรก ๆ เราเขียนสงครามโลกเต็มที่เลยเพราะว่าชอบ เพจจึงโดนสีแดงจากเฟซบุ๊กบ่อยมาก เลยคุยกับยุ้ยว่าเลิกเขียนเรื่องนี้ดีกว่าไหม กลัวเพจจะปลิว” นี่คือเหตุผลที่ช่วง 3 ปีมานี้เตยไม่ได้เขียนเรื่องที่ชอบ และเปลี่ยนมาเขียนเรื่องประวัติศาสตร์อย่างอื่นแทน เพราะในบางครั้งการเขียนในพื้นที่ที่คิดว่ามีอิสระก็ยังคงมีข้อแม้

ในช่วงหลังเตยจึงเลือกที่จะปรับเนื้อหามาเรื่อย ๆ

“พอเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ มันจะลึกมากไม่ได้ ต้องเอาสิ่งที่แมสมาทำควบคู่กัน มีสิ่งที่น่าสนใจมาช่วยดึงดูดมากกว่านั้น กลายเป็นว่า 2 ปีที่ผ่านมา คอนเทนต์ที่ลงแล้วได้รับความสนใจมากคือพวกรูปภาพสวย ๆ หรือคอนเทนต์ที่เขียนโยงกับซีรีส์-ภาพยนตร์ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในตอนนั้น

“มีแฟนเพจที่ชื่นชอบการได้ดูรูปภาพสวย ๆ เราเลยพยายามเขียนอาทิตย์ละชิ้น อย่างเช่นเรื่องเครื่องประดับ แต่เรื่องที่หนักอย่างประวัติ พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ อาจจะเล่าแค่เดือนละ 2 ครั้ง เพราะต้องใช้เวลา”

ถึงจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ข้อมูลไม่ตรงกันเยอะที่สุด แถมยังได้รับการสนใจน้อย แต่เตยก็เลือกจะเขียนเรื่องลึก ๆ แบบนี้แทรกไว้ในเพจด้วย

เตยบอกว่าสิ่งที่เพจเล่าประวัติศาสตร์อื่นไม่มีเหมือน ‘พื้นที่ให้เล่า’ คือตัวเธอเอง

“อาจดูหลงตัวเอง แต่เรารู้ว่าเรามีอะไรดี” เธอคิดว่าการที่ใครสักคนเป็นตัวของตัวเองก็ไม่เหมือนคนอื่นแล้ว จะมีสักกี่คนที่มองประวัติศาสตร์แบบที่เธอมอง หรือมักจะตอบกลับคอมเมนต์อย่างที่เธอเป็น ถึงเพจพื้นที่ให้เล่าจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะยุ้ย แต่ที่มีคาแรกเตอร์อย่างทุกวันนี้ก็เป็นเพราะเตยด้วยเช่นกัน 

แล้วถ้า พื้นที่ให้เล่า เป็นคน จะมีคาแรกเตอร์แบบไหน – เราสงสัยขึ้นมา

“เป็นคนที่เป็นกลาง ไม่ด่วนตัดสินว่าอะไรถูกผิด เราเชื่อว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้มีด้านที่ดีหรือร้ายที่สุด จึงอยากนำเสนอสิ่งต่าง ๆ ให้คนได้คิดว่าจริง ๆ แล้วมีมุมของคนหลาย ๆ คนที่เราอาจมองว่าเขาเป็นแบบนี้ แต่เขาก็ยังมีอีกมุม 

“ตัวอย่างเช่น จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา พระองค์เป็นจักรพรรดินีที่เก่ง แต่พอมาอยู่ในบทบาทแม่ พระองค์ทรงบกพร่องในการดูแลโอรส-ธิดาแต่ละพระองค์รึเปล่า ถ้าจะต้องมีการให้เหตุผลโต้แย้ง เราพร้อมเปิดกว้างรับฟังทุกความคิดเห็น เพราะถ้าเราบอกไปว่าคิดแบบนี้ ทุกคนอาจไม่กล้าโต้แย้งแล้วแสดงความคิดเห็นไปทางเดียวกัน เพราะด้วยความเป็นเพจ อาจมีอำนาจบางอย่างที่ทำให้บางคนไม่กล้าถกเถียง พอเราเปิดพื้นที่ให้ จึงกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนกล้าถกเถียงกันในสิ่งที่มีสาระ บนพื้นฐานของเหตุผลและความสุภาพ” เตยขยายความว่าเธอภูมิใจกับคาแรกเตอร์ของเพจแค่ไหน พร้อมบอกว่าไม่ได้ตั้งใจให้เพจนี้มีเพศ แต่ด้วยความที่คนเขียนเป็นผู้หญิงทั้งคู่ เวลาเล่าจึงให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเมาท์มอยอยู่

แลกกันเล่า

“สิ่งที่ลูกเพจบอกคือพื้นที่ให้เล่าตอบตลอดเลย ตอบทุกคอมเมนต์ ให้ความรู้สึกว่าเหมือนคุยกับเพื่อน มีบางทีที่เขาถามแล้วมันชาเลนจ์ให้เราได้ตอบ และบางทีเขาก็มาเติมสิ่งที่เราไม่รู้ด้วยเหมือนกัน”

แม้ไม่ได้มีแค่คอมเมนต์ที่เข้ามาชื่นชม แต่การคอมเมนต์เข้ามาติในจุดที่ผิดพลาด เธอก็พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนและขอบคุณ เพราะคอมเมนต์เหล่านี้ทำให้เธอเห็นคุณค่าในการทำเพจ 

“เพจนี้ไม่ได้สร้างรายได้มากมายอะไร ถือว่าน้อยมาก ถ้ามีให้เรียกว่าเป็นค่าขนมดีกว่า ถ้าวันหนึ่งเพจเราคิดจะจ้างกราฟิกดีไซเนอร์มาทำรูปให้ มันคงไม่พอจ่ายแน่นอน

“ด้วยความที่งานหลักเราเป็นงานในองค์กร จึงอาจเขียนไม่ได้ทุกเรื่อง เพราะเขาก็มีขอบเขตแบบหนึ่ง บางทีผลของงานชิ้นนั้นอาจออกมาในด้านลบ แต่เราก็อธิบายหรือไม่ได้โต้ตอบไม่ได้ เพจนี้เลยเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เราอยากเขียนอะไรก็เขียนได้ อธิบายในสิ่งที่ต้องการได้ และโต้ตอบได้อย่างที่อยากจะทำ”

ถึงจะมีลูกเพจเข้ามาคอมเมนต์ขอให้เล่าเรื่องต่าง ๆ เป็นประจำ ตั้งแต่เรื่องเกี่ยวกับราชสำนักไทยที่เตยเคยเขียนไป 1 รอบถ้วน แถมยังได้รับยอดการมีส่วนร่วมดี แต่เธอกลับบอกว่าไม่ใช่ทางที่ถนัด ไหนจะประวัติศาสตร์เอเชียโดยรวมที่มีคนขอเข้ามาให้เขียนไม่น้อย เตยก็บอกว่ายังไม่สนใจประเด็นเหล่านี้มากพอ หรือซีรีส์ House of Dragon ที่เตยคิดว่าอาจจะเขียนในซีซัน 2 แต่ก็ยังคิดว่าถ้าเป็นเรื่องที่เพจอื่นเล่าไปแล้ว ก็ไม่รู้จะเล่าซ้ำไปทำไม

ในเมื่อถ้าเลือกได้ เตยก็ยอมรับตรง ๆ ว่าอยากกลับไปเขียนเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ชื่นชอบ ยังมีอีกหลายมุมมองที่เธออยากจะเล่า ถึงกระนั้น บางครั้งคนเราก็เลือกท้าทายตัวเองด้วยการเขียนเรื่องที่ไม่ถนัด

“ล่าสุดเราเพิ่งเขียนเรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์เยอะ ๆ อย่าง จัดอันดับความเลือดชิดของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก เป็นเรื่องที่ใช้เวลาเขียนอยู่ 2 วัน ตอนแรกจะอธิบายด้วยนะว่ามีวิธีคิดยังไง แต่เราก็ยังเข้าใจไม่ทะลุปรุโปร่ง เลยแค่เขียนบอกว่า ถ้าเป็นพ่อแต่งงานกับลูกจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วจะได้เทียบกันได้ว่ามันชิดแค่ไหน แต่พอมีคนถามว่าคิดยังไง เราก็ตอบไม่ได้” แอดมินสายวิชาการประจำเพจหัวเราะเสียงใสให้กับคำพูดของตัวเอง

เล่าให้ฟัง 

เตยยังคงยืนยันคำเดิมว่าการก้าวเท้าลงไปในพื้นที่ใหม่ ๆ จะไม่เกิดขึ้น ถ้ายุ้ยไม่ได้เป็นคนเสนอ

การเริ่มมาทำพอดแคสต์ก็เป็นอีกก้าวสำคัญของเพจนี้

“ยุ้ยชวนว่าลองทำไหม เพราะคนที่ฟังพอดแคสต์กับคนที่อ่านบทความคนละกลุ่มกัน ไม่ต้องกลัวว่าจะซ้ำหรอก ลองมาทำเผื่อได้แฟนเพจเพิ่ม” 

เพราะยุ้ยพร้อมที่จะสนับสนุนทุกทาง ทำให้เตยที่เกร็งในช่วงแรกสบายใจไปได้หลายเปลาะ 

“คนที่ฟังพอดแคสต์คือคนที่ไม่มีเวลามาอ่าน หน้าที่ของเราคือทำยังไงก็ได้ในงานชิ้นนี้กลมกลืนกับชีวิตของเขาได้ อีกอย่าง ประวัติศาสตร์ในไทยดูต้องท่องจำ ดูยาก ดูน่ากลัว และบางเรื่องถูกเล่าไม่จบ แต่ว่าพอดแคสต์ที่ทำกับเตย เราอยากดึงประวัติศาสตร์มาให้เข้ากับชีวิตของคนในปัจจุบันได้ ให้มันเข้าถึงง่าย เราอยากให้ประวัติศาสตร์เป็นแบบไหนในสายตาคนที่มองเข้ามา เราก็จะทำแบบนั้น” ยุ้ยเสริมต่อว่าพวกเธอเลือกเสิร์ฟอะไรที่กินง่าย เพราะอะไรที่มันมากเกินไป คนมักเข้าถึงได้น้อย

เรื่องที่เล่าในพอดแคสต์จึงเป็นการเอาเรื่องเก่าที่เคยเขียนในเพจมาเล่าใหม่ ซึ่งเตยจะหาข้อมูลเพิ่มในส่วนที่ยุ้ยอยากถาม 

“ยุ้ยมักสงสัยในจุดที่เตยไม่สงสัย เพราะเขาอยู่กับคนหมู่มาก จึงรู้ว่าคนชอบแบบไหน”

ส่วนเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเขียนในเพจ แต่ว่าทำข้อมูลขึ้นใหม่สำหรับการเล่าในพอดแคสต์ก็มีเช่นกัน

“อย่างเรื่อง Ghost Marriage เมื่อ ‘ศพ’ กลายเป็นของซื้อของขายให้คนโสดได้แต่งงานตอนตาย ในวัฒนธรรมจีน เขาจะหาศพเจ้าสาวมาแต่งงานกับลูกชายที่ไม่ได้แต่งงาน เรื่องนี้ยุ้ยไปอ่านเจอมาแล้วชอบมากเลย หรือพวกคดีฆาตกรรมก็มี”

สำหรับเตย พอดแคสต์สนุกกว่างานเขียน 

“บางทีคนจะมองว่างานเขียนมาแล้วคืองานที่ถูกต้อง ซึ่งจะแย้งยาก แต่พอมาเป็นการเล่าเรื่อง เราพูดได้เลยว่าอันนี้ขอเมาท์ ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่านะ ดูเป็นกันเอง เข้าถึงง่าย การคอมเมนต์ก็จะเกิดขึ้นได้มากกว่าด้วย”

แต่อะไรที่สนุกก็มักมีข้อเสีย

“พอเป็นเสียง จะกลับไปแก้ไฟล์ไม่ได้ ถ้าลงไปแล้วก็ต้องมาคอมเมนต์ว่าแก้ไขวินาทีนี้นะคะ ความจริงต้องเป็นแบบนี้ เพราะบางทีพูดผิดไป ตอนมาตัดเราก็จะไม่ได้สังเกต” ทำให้เตยยังชอบทำงานเขียนอยู่ เพราะทำคนเดียวได้เร็วกว่า แต่ถ้าเป็นพอดแคสต์ พูดคนเดียวไม่สนุก มันเขิน ๆ ฉะนั้น ถ้าจะทำพอดแคสต์ต้องพร้อมกันทั้ง 2 คน” 

ทั้งคู่คิดเหมือนกันว่าจะทำพอดแคสต์ของเพจเอง เหมือนตอนที่เคยทำกับ a day “ยุ้ยเสนอว่าอยากทำและจะโปรดิวซ์รายการให้ ส่วนเตยรีเสิร์ชข้อมูลมาอย่างเดียว”

เล่า เรียน รู้

“สมมติว่า ถ้าวันหนึ่งไททานิกมาเปิดนิทรรศการที่เมืองไทย เราอยากเป็นเพจที่ได้ไปสัมภาษณ์และเขียนเรื่องของเขา หรือได้เห็นของชิ้นนั้นก่อน เพราะแฟนเพจเราชอบสิ่งนี้ หรือวันหนึ่งมีไข่ฟาแบร์เชมาจัดแสดง แล้วให้เพจเราได้ไปสัมภาษณ์เจ้าของ เราว่าเรามีความสามารถที่จะผลักดันคอนเทนต์นี้ให้ไปได้ไกล” เตยมีเป้าหมายที่อยากจะพา ‘พื้นที่ให้เล่า’ ไปให้ถึง และถ้าเป้าหมายของเธอสำเร็จจริง จะเป็นประโยชน์กับเธอและลูกเพจของเธอด้วย

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ให้เล่า ยังคงมีก้าวใหม่ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน

“มันสอนให้เราแยกได้ว่า ถึงเพจจะเป็นยังไง แต่ชีวิตเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น มีสติมากขึ้นในการเขียนอะไรลงโซเชียลมีเดีย แปลกดีที่พอเราทำเพจเยอะ เรายิ่งให้คุณค่ากับคนจริง ๆ มากขึ้น แม่กับน้องสำคัญที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วเวลามีอะไรขึ้นมาเขาคือคนที่จะอยู่กับเรา ถ้าวันนี้เฟซบุ๊กปิดเพจเราไป ไม่มีเพจแล้วก็ยังมียุ้ย สำหรับเรา ยุ้ยสำคัญกว่าอยู่แล้ว ถ้าไปดูเฟซบุ๊กส่วนตัว เราไม่ได้โพสต์อะไรเลย ทุกวันนี้ถ้าปิดเพจไปก็คงไม่ลงอะไรแล้ว” เตยที่เป็นผู้เล่าได้เรียนรู้อะไรมากมายจากทำเพจครั้งนี้

“เราได้เรียนประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเรียนในโรงเรียน เพราะคงไม่มีใครมานั่งเล่าเรื่องนี้ด้วยโทนเสียงและความสนุกให้เราอ่าน ให้เราฟังแบบนี้ เราค่อนข้างสนุกมากกับการเอาตัวเข้าไปคลุกคลีกับสิ่งที่เตยเขียน แล้วเอาไปต่อยอด เอาไปขยายทำเป็นพอดแคสต์” ยุ้ยเริ่มพูดสิ่งที่เธอได้เรียนรู้บ้าง

“เราว่าเพจนี้ช่วยทำให้คอนเนกชันที่เรามีกว้างขึ้น รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมีประโยชน์ แม้ว่าเพจจะไม่ดังมาก แต่มีคนที่รักมันจริง ๆ แค่นี้ก็พอแล้ว”

2 เพื่อนสนิทสลับกันเล่าสิ่งที่ทั้งคู่ได้เรียนรู้จากเพจที่เลือกทำเป็นงานอดิเรก และพบว่ามันให้อะไรกับผู้คน รวมถึงตัวของพวกเธอเอง แม้ไม่เคยคาดหวังก็ตาม

Facebook : พื้นที่ให้เล่า

Writer

พิชามญชุ์ ทองเปี่ยม

พิชามญชุ์ ทองเปี่ยม

เด็กฝึกช่างฝัน ที่มีชาพีช นิยาย รอยยิ้มของศิลปินคนโปรด และเตียงอุ่น ๆ ในฤดูหนาว เป็นความสุขเรียบง่ายในชีวิต

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์