ประโยคที่ว่า ‘ผึ้งเป็นแมลงมหัศจรรย์’ ไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้ฟังจากการบอกเล่าของ รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี หัวหน้าศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Bee Park) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) ถึงขนาดที่ทำให้วันนี้เรานั่งฟังอาจารย์เล่าเพลินเกือบ 4 ชั่วโมงจนลืมมื้อเที่ยง! 

ความน่าสนใจของผึ้งเรียกได้ว่าครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่ชีววิทยา สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงเศรษฐกิจและสังคม  

หากใครสนใจด้านพฤติกรรมสัตว์โลก – ผึ้งก็มีพฤติกรรมล้ำ ๆ ให้ต้องประหลาดใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการหยุดพักเที่ยง การใช้ประชาธิปไตยโหวตเลือกรังใหม่ การมีภาษาในการสื่อสาร ฯลฯ

หากใครสนใจด้านคุณค่าเชิงนิเวศ – ผึ้งก็ไม่เพียงแต่เป็นผู้ผสมเกสรพืชอาหาร 1 ใน 3 ของโลก แต่ยังมีศักยภาพในการฟื้นฟูป่า ช่วยให้ป่าสมบูรณ์ขึ้น 

หัวหน้าศูนย์ Bee Park แห่ง มจธ.ราชบุรี ผู้หยิบความมหัศจรรย์ของผึ้งมาทำวิจัยเพื่อชุมชน จนทำให้เกษตรกรหันหลังให้ยาเคมี
รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี หัวหน้าศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Bee Park) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี)

หากใครสนใจเรื่องสังคมและชุมชน – ผึ้งก็ช่วยทั้งเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สร้างอาชีพให้ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เป็นรายได้เสริมให้เด็กชายขอบมีทุนเรียนต่อ ลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรที่ติดหนี้หลายคนลืมตาอ้าปากได้  

หากใครสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม – ผึ้งก็นับเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เกษตรกรมากมายหันหลังให้ยาเคมี แล้วหันมาปลูกพืชหลากหลาย ดูแลรักษาป่า สร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้พื้นที่   

หากใครสนใจเรื่องเศรษฐกิจ – น้ำผึ้งก็ถือเป็น Soft Power อันทรงพลัง เพราะน้ำผึ้งพื้นเมืองแต่ละชนิดจากแต่ละพื้นที่ก็มีรสชาติไม่เหมือนกันเลย แถมสรรพคุณทางยาก็สูงมาก 

หากใครสนใจเรื่อง AI และการเขียนโค้ด – ตอนนี้ทีมของอาจารย์ก็อยู่ระหว่างการพัฒนารังผึ้งอัจฉริยะที่มีอัลกอริทึมแปลภาษาผึ้ง แล้วแสดงผลผ่านแอปพลิเคชันให้ผู้เลี้ยงผึ้งได้เห็นว่าผึ้งสุขสบายดีไหม 

สิ่งที่เราประทับใจที่สุดจากการคุยกับอาจารย์ คือการได้เห็นว่างานวิจัยไม่ได้หยุดอยู่แค่ในห้องแล็บ แต่คือการแปรรูปเป็นภาคปฏิบัติสู่ชุมชนที่ตอบโจทย์ทั้งปากท้องและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน เป็นงานวิจัยที่กินได้ แถมสร้าง Soft Power ที่หอมหวานให้ชุมชนภายใต้แบรนด์น้ำผึ้ง Beesanc ที่ถือเป็นน้ำผึ้งระดับพรีเมียมจากเกษตรกรทั่วประเทศ 

และตอนนี้ขอเชิญทุกคนเปิดกระปุกน้ำผึ้ง และมาฟังเรื่องราวเบื้องหลังกันเลย 

ไขความลับภาษาผึ้ง

“การวิจัยผึ้งเหมือนเป็นการเปิดกล่องความรู้ใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ความน่าสนใจของผึ้งมีหลายอย่างมาก เขามีภาษาสื่อสารกัน มีการสร้างรังเป็นโครงสร้างที่มหัศจรรย์ เขามีทั้งความเป็นวิศวกร นักคณิตศาสตร์ สถาปนิก” 

อาจารย์อรวรรณเล่าถึงความประทับใจเกี่ยวกับผึ้ง ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่เธอสนใจเป็นพิเศษสมัยเรียนคือเรื่องพฤติกรรม โดยเฉพาะเรื่องภาษาของผึ้ง จนถึงขนาดเลือกทำวิจัยเรื่องนี้โดยเฉพาะในช่วงปริญญาเอกที่เยอรมนี 

“ผึ้งจะใช้การเต้นเพื่อสื่อสารกัน มีทั้งเต้นวงกลม เต้นส่ายท้อง เต้นเป็นรูปเลข 8 แต่พอเรากลับมาเมืองไทยก็พบว่าผึ้งของเราใช้ภาษาอีกแบบเลย คือพื้นฐานคล้ายกัน แต่รายละเอียดปลีกย่อยต่างกันหมด เหมือนคนกรุงเทพฯ ฟังภาษาใต้ไม่รู้เรื่อง ทำให้เราต้องมาวิจัยเรื่องภาษาผึ้งที่ไทยใหม่”

และระหว่างศึกษานี้เองที่ทำให้อาจารย์ได้พบพฤติกรรมการหยุดพักเที่ยงของผึ้ง 

“ในผึ้ง 1 รัง มีกลุ่มที่ทำหน้าที่หาอาหารประมาณ 30% แต่มีทีมสำรวจออกไปก่อน ซึ่งคิดเป็น 15% ของ 30% นี้อีกที พอพวกนี้กลับมาก็จะมาเต้นบอกเพื่อนว่าแหล่งอาหารอยู่ทิศไหน ระยะเท่าไหร่ ปริมาณแค่ไหน หรือถ้าตัวไหนอยากชิมก็มาสะกิดขอได้ แล้วเราก็พบว่าช่วงเที่ยง ๆ เขาเต้นน้อยลงชัดเจนเลย เราก็แซวกันว่าผึ้งพักเที่ยง ให้เดาว่าทำไม” 

เราลองเดาว่าเป็นเพราะอากาศร้อน ซึ่งตรงกับสมมติฐานของทีมวิจัย แต่เมื่ออาจารย์และทีมลองเก็บข้อมูลอุณหภูมิช่วงเวลาต่าง ๆ ของวัน พบว่าช่วงที่ร้อนที่สุดไม่ใช่เที่ยง แต่เป็นเวลา 14.30 น.  

“สรุปว่าปัจจัยที่ทำให้ผึ้งพักเที่ยงคือตำแหน่งดวงอาทิตย์ เพราะเขาใช้ดวงอาทิตย์เป็นตำแหน่งอ้างอิงทิศทาง ช่วงเที่ยงจึงมีความคลาดเคลื่อนสูง ผึ้งเลยหยุดเต้นช่วงนี้ ซึ่งถือเป็นการค้นพบครั้งแรกของโลก”

ส่วนอีกหนึ่งพฤติกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการโหวตเพื่อเลือกตำแหน่งรังใหม่ ซึ่งจะมีทีมสำรวจบินไปหาแคนดิเดตบ้านใหม่แล้วกลับมาเต้นบอกเพื่อน กลุ่มที่รออยู่ก็จะเก็บข้อมูลและอาจเลือกบินไปดูบางสถานที่ด้วยตัวเอง 

“ถ้าเขาไปดูแล้วชอบ เขาก็จะกลับมาเต้นซ้ำเพื่อยืนยันว่าแคนดิเดตบ้านใหม่นี้ดีจริง แต่ถ้าดูแล้วไม่ชอบ พอกลับมาเขาก็จะไม่เต้น ผึ้งจะเต้นสู้กันจนเหลือแคนดิเดตแค่ 2 แห่ง และโหวตกันจนได้รังที่คุณภาพดีที่สุดเพียง 1 รัง แล้วผลโหวตที่จะทำให้ชนะก็ไม่ใช่ 51% แบบในคนเรา แต่ต้องมีผู้สนับสนุนทางเลือกนั้นอย่างน้อย 75 – 80% ถ้าผู้สนับสนุนไม่ถึงเป้า ผึ้งก็จะยังไม่ตัดสินใจ และด้วยวิธีเหล่านี้ ผึ้งก็จะไปถึงตัวเลือกที่ดีที่สุดได้เสมอ” 

  ในกระบวนการโหวตของผึ้ง มีพฤติกรรมที่เรียกว่า ‘Stop Signal’ คือเอาหัวไปโขกเพื่อนที่กำลังเต้นเพื่อบอกให้หยุด ขัดขวางการนำเสนอบ้านใหม่ของคู่แข่ง ถ้าเปรียบเป็นคนก็อาจฟังดูคล้ายคนที่ชอบขัดคอระหว่างเพื่อนพูด แต่จากการวิจัยของอาจารย์ที่เก็บข้อมูลมาทำแบบจำลอง พบว่าพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องจำเป็น แต่ก็ต้องอยู่ในระดับที่พอดี คือประมาณ 0.5 – 10% ในประชากรขนาดปกติ แต่ยิ่งรังขนาดเล็กอาจต้องมีสูงถึง 50% ถ้าหากมากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ก็อาจทำให้การตัดสินใจของพวกมันผิดพลาด นั่นคือไม่นำไปสู่รังใหม่ที่ดีที่สุด 

แต่การศึกษาผึ้งก็ไม่ได้ประโยชน์เพียงแค่ได้รู้พฤติกรรมแปลก ๆ เท่านั้น แต่องค์ความรู้ที่ได้ยังนำไปสู่การพัฒนาอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของผู้คน 

  จากแล็บวิจัยสู่ชุมชน

“จุดเริ่มต้นในการทำงานชุมชนมาจากนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ว่า อยากให้ความรู้จากงานวิจัยได้ไปสู่ชุมชน ซึ่งตอนนั้นเราก็มีฐานความรู้เรื่องผึ้งพันธุ์อยู่แล้ว เลยจัดอบรมการเลี้ยงผึ้งพันธุ์” 

คำว่า ‘ผึ้งพันธุ์’ ที่อาจารย์พูดถึง หมายถึงผึ้งสายพันธุ์ยุโรป (European Honey Bee) ที่คัดพันธุ์มาเพื่อเลี้ยงในเชิงอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ โดยมีจุดเด่นคือเลี้ยงในกล่องได้ ให้ผลผลิตน้ำผึ้งสูง ไม่ค่อยดุร้าย และในระหว่างที่ดอกไม้ธรรมชาติมีน้อย ก็ให้น้ำตาลเป็นอาหารทดแทนไปพลาง ๆ ได้ ในขณะที่ผึ้งพื้นเมืองของไทยทำอย่างนั้นไม่ได้

“แต่ปรากฏว่าอบรมไปทั้งหมด 3 ครั้ง ทุกคนเงียบหาย ไม่เกิดการเลี้ยงจริง เราก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะที่นี่คืออำเภอสวนผึ้ง น้ำผึ้งจากที่นี่ยังไงก็ขายได้ แต่ทำไมไม่มีใครทำ เราจึงลงไปเจาะถึงปัญหา ก็พบว่าปัญหาการเลี้ยงผึ้งพันธุ์นี่ยาวเฟื้อย”

อาจารย์อรวรรณเล่าว่า ปัญหาข้อแรกของผึ้งพันธุ์คือไม่ทนร้อน ไม่ทนโรค ถ้าเจอไรก็ต้องใช้ยาฆ่าไร อีกทั้งยังรับมือกับศัตรูตามธรรมชาติไม่ค่อยได้ เช่น ถ้าเจอตัวต่อก็ถูกกิน แต่ถ้าเป็นผึ้งในเอเชียจะมีวิธีที่เรียกว่า Heat Balling คือเรียกเพื่อนมารุมตัวต่อ ผลัดกันเขย่ากล้ามเนื้อหน้าอกให้ตัวต่อร้อนขึ้น จนตัวต่อถูกอบตาย ซึ่งผึ้งพันธุ์ไม่รู้จักวิธีนี้

ส่วนศัตรูของผึ้งอีกกลุ่มคือนกจาบคา อาจารย์เล่าว่าในบางแห่ง นกจาบคาโฉบกินผึ้งจนนางพญาผลิตลูกไม่ทัน ขณะที่ผึ้งพื้นเมืองแม้จะถูกจับกินไปบ้าง แต่ก็ไม่เคยหมดรัง ซึ่งเรื่องนี้ก็อยู่ระหว่างการวิจัยว่า ผึ้งพื้นเมืองมีการสื่อสารเพื่อเตือนภัยกันอย่างไร  

ส่วนปัญหาข้อต่อมาคือเรื่องต้นทุนที่สูงและต้องการการดูแลแบบเต็มเวลา ยิ่งถ้าพื้นที่มีอาหารไม่พอ อาจต้องขนรังขึ้นรถตระเวนไปตามแหล่งอาหาร  

“เราก็เริ่มตั้งคำถามว่าผึ้งพื้นเมืองไทยมีตั้งหลายชนิด แต่ทำไมผึ้งที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สุดกลับเป็นผึ้งพันธุ์ เมื่อหาข้อมูลดูก็พบว่า เป็นเพราะประเทศเรายังขาดองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงผึ้งพื้นเมือง ตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์จากป่า ไปจนถึงองค์ความรู้ในการเลี้ยงว่าชนิดไหนเหมาะกับพื้นที่แบบไหน พื้นที่เท่านี้รองรับได้กี่รัง รวมถึงชนิดพืชอาหารว่ามีอะไรบ้าง”

และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสรแห่งนี้ ซึ่งเน้นไปที่การวิจัยกลุ่มผึ้งให้น้ำหวานของไทย เช่น ผึ้งหลวง ผึ้งมิ้ม ผึ้งโพรง ชันโรง ซึ่ง 2 กลุ่มแรกเป็นพวกทำรังในที่เปิดโล่ง ขณะที่ 2 กลุ่มหลังทำรังในโพรงหรือกล่อง  

  “ข้อดีอย่างแรกของผึ้งพื้นเมืองคือไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ มีพื้นที่แค่ไหนก็เลี้ยงแค่นั้น โดยเลือกชนิดให้เหมาะสม แถมต้นทุนต่ำ ไม่ต้องการเวลาจากเราเยอะ ถ้าพื้นที่เหมาะ ๆ เขาต้องการเวลาจากเราเดือนละไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 5 นาที หรือถ้าต้องแยกรังหรือย้ายรังก็อาจครึ่งชั่วโมง ปีละไม่เกิน 2 – 3 ครั้ง จึงเลี้ยงเป็นงานอดิเรกได้ เลี้ยงเป็นอาชีพรองควบคู่ไปกับงานประจำได้ แล้วราคาของน้ำผึ้งก็สูงกว่า คืนทุนไวกว่า”

นอกจากนั้น ด้วยความเป็นผึ้งเจ้าถิ่น ทำให้ผึ้งพื้นเมืองรู้จักพืชอาหารที่หลากหลาย หากินเก่งกว่า ในขณะที่ผึ้งพันธุ์รู้จักดอกไม้แค่ไม่กี่ชนิด คล้าย ๆ กับฝรั่งที่มาเมืองไทย อาจรู้จักแค่ผัดไทย ต้มยำกุ้ง และด้วยความที่ผึ้งพื้นเมืองรู้จักดอกไม้หลากหลาย ก็ตามมาด้วยคุณค่าจากดอกไม้มากมายที่ผสมผสานลงไปในน้ำผึ้ง รวมถึงตัวผึ้งเองมีจุลินทรีย์และเอนไซม์บางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งพวกมันพัฒนามาเพื่อป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคที่เติบโตได้ดีในเขตร้อน เมื่อรวมกันแล้วน้ำผึ้งพื้นเมืองจึงมีคุณค่าทางยาสูงกว่าผึ้งพันธุ์ ตามมาด้วยราคาน้ำผึ้งที่สูงกว่า 

“เราไม่ได้ต่อต้านผึ้งพันธุ์นะ ตอนนี้ก็ทำงานวิจัยหลายอย่างเพื่อยกระดับการเลี้ยงและน้ำผึ้งผึ้งพันธุ์ แต่เราว่าศักยภาพความหลากหลายของผึ้งพื้นเมืองบ้านเรายังไม่ถูกใช้อย่างเต็มที่ ผึ้งพันธุ์ก็มีข้อดีสำหรับการเลี้ยงในสเกลใหญ่ที่จัดการง่ายกว่า แต่สำหรับในบริบทของชุมชนและการเลี้ยงในสเกลเล็ก ผึ้งพื้นเมืองตอบโจทย์ดีกว่า เพราะเลี้ยงได้ในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศเรา”

เมื่องานวิจัยผึ้งพื้นเมืองเริ่มได้ผลเป็นรูปเป็นร่าง ก็ถึงเวลาถ่ายทอดสู่ชุมชน ซึ่งอาจารย์และทีมใช้วิธีขับรถตระเวนตามหมู่บ้านเพื่อมองหาบ้านเป้าหมายที่มีพืชพรรณรก ๆ เป็นสัญญาณว่าบ้านนี้ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เมื่อเจอแล้วก็จะลงไปพูดคุย ชวนมาอบรมเลี้ยงผึ้ง

ผึ้งช่วยคน คนช่วยผึ้ง 

“เราจะบอกเสมอว่าในช่วงปีแรก ๆ ให้มองผึ้งเป็นเหมือนกระปุกออมสิน ให้มองรายได้เป็นรายวัน รายเดือน รายปี” 

อาจารย์กล่าวถึงประโยคสำคัญที่ใช้บอกชาวบ้าน พร้อมอธิบายว่ารายได้รายวันจะมาจากผลผลิตพืชผักสวนครัวที่ผึ้งช่วยผสมเกสร ทำให้ผลผลิตดีและสมบูรณ์ขึ้น อย่างเช่นครอบครัวของ น้องทิพย์ จากเดิมที่ขายผักได้วันละ 200 – 300 บาท แต่เมื่อมีผึ้งเข้าไปในสวน ก็ปรากฏว่าขายได้วันละ 1,200 บาท

ส่วนรายได้รายเดือนก็มาจากผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งการมีผึ้งช่วยเพิ่มผลผลิตอย่างเด่นชัด เช่น สวนฝรั่งของ ผู้ใหญ่แมนรัตน์ ที่แต่เดิมต้นฝรั่งติดลูกหร็อมแหร็ม ผลบูด ๆ เบี้ยว ๆ แต่เมื่อมีผึ้งเข้ามาก็กลายเป็นผลกลมเกลี้ยงสวยงามและติดเต็มทั่วต้น

จากนั้น เมื่อครบรอบปีก็จะถึงเวลาเก็บน้ำผึ้ง ซึ่งตัวน้ำผึ้งเองต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์อีกมากมาย เช่น สบู่ แชมพู ทางศูนย์วิจัยมีจัดอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ให้แค่สูตรสำเร็จ แต่จะสอนคำนวณสูตรเพื่อให้พัฒนาต่อยอดเองได้ รวมถึงสอนการสกัดสมุนไพรด้วยอุปกรณ์ในครัวเรือน 

“เราพบว่าองค์ความรู้นี้ทำให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้นได้จริง เช่น เคสของน้องทิพย์ที่ครอบครัวติดหนี้จากพืชเชิงเดี่ยวจนน้องไม่ได้เรียนต่อ แถมคนในครอบครัวมียาฆ่าแมลงในเลือดระดับ 4 ตอนที่เราไปเจอ เขากำลังเปลี่ยนมาเป็นพืชผสมผสาน ปลูกผักขาย ซึ่งนอกจากผึ้งจะไปช่วยเพิ่มผลผลิตแล้ว น้องทิพย์ก็มาอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับเรา จนทุกวันนี้กลายเป็นเจ้าของแบรนด์ ‘Tippawan’ และมีเงินกลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรี” อาจารย์อรวรรณเล่าถึงหนึ่งในลูกศิษย์ที่ภาคภูมิใจ

ส่วนทางเคสผู้ใหญ่แมนรัตน์ ซึ่งพ่อของเขาเสียชีวิตจากการถูกใบสับปะรดบาดขาจนยาฆ่าแมลงซึมเข้าสู่กระแสเลือด เขาจึงตั้งใจพาชาวบ้านให้หลุดพ้นจากวังวนสารเคมี แม้ช่วงแรกชาวบ้านจะไม่ให้ความสนใจนัก แต่ผู้ใหญ่ก็ใช้วิธีเข้าทางเด็ก ๆ ชวนให้เด็กในชุมชนมาเรียนรู้การเลี้ยงผึ้ง เก็บน้ำผึ้งไปขาย เมื่อพ่อแม่ของเด็กมองเห็นรายได้ พวกเขาก็เริ่มสนใจ 

“ผึ้งพื้นเมืองถือเป็น Inclusive Innovation เป็นอาชีพที่เข้าถึงได้ทุกคน ไม่ว่าจะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ในเครือข่ายของเรามีคนเลี้ยงผึ้งตั้งแต่อายุ 6 – 95 ปี บางคนประสบอุบัติเหตุกระดูกหัก ไปรับจ้างต่อไม่ได้ ทุกวันนี้กลายเป็นเสี่ยผึ้งไปแล้ว การเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองไม่ใช่งานหนักเลย ขอแค่ทำพื้นที่เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ใหญ่ แต่ขอให้มีพืชอาหารผึ้งและไม่ใช้ยาฆ่าแมลง” 

แม้จะเป็นเงื่อนไข 2 ข้อที่ฟังดูเรียบง่าย แต่สำหรับเกษตรกรที่ใช้สารเคมีมาทั้งชีวิต มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  

“ด้วยความที่เขาปากกัดตีนถีบ การเปลี่ยนแปลงทำให้เขารู้สึกไม่มั่นคง ดังนั้น สิ่งที่เราทำคือต้องทำให้เขาเห็นว่าการมีผึ้งคือกระปุกออมสินให้เขา และเมื่อเขาเห็นรายได้ที่มาจากผึ้ง เขาจะค่อย ๆ เริ่มเปลี่ยนเอง นี่คือผลที่ได้ในระยะยาว และเป็นสิ่งสำคัญของการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเพื่อให้โลกนี้รอด”  

ผลที่ได้จากการลดใช้สารเคมีและปลูกพืชหลากหลาย ไม่เพียงแต่ทำให้ผึ้งที่เลี้ยงอยู่รอดเพื่อสร้างรายได้เท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ให้ผึ้งตามธรรมชาติ รวมถึงนกและแมลงอีกมากมายมาอาศัยใบบุญด้วย

“นี่คือความคาดหวังของเราเลย เมื่อแนวคิดนี้เกิดตรงไหน ตรงนั้นก็จะเป็นเหมือนโอเอซิสหรือ ‘หย่อมสวรรค์’ ของผึ้ง อย่างเช่นบางหมู่บ้านแถบอีสาน ชาวบ้านเล่าว่าก่อนหน้านี้เดินไปไหนไม่เคยเห็นผึ้ง แต่พอปรับพื้นที่ตัวเองให้เหมาะสม ก็เริ่มเห็นผึ้งธรรมชาติเข้ามา” 

และเมื่อผึ้ง นก แมลง กลับคืนมา สิ่งที่ตามมาคือความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณและป่าไม้บริเวณนั้น 

“ประเทศไทยมักมีป่าละเมาะเป็นหย่อม ๆ เช่น ตามหัวไร่ปลายนา แต่ละหย่อมอยู่ไกลจากกัน แมลงทั่วไปบินข้ามทุ่งนาไม่ไหว แต่ผึ้งไปได้ ทำให้เกิดการผสมเกสรระหว่างหย่อมป่า เพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืช และผึ้งที่เราเลี้ยงก็ไม่ใช่แค่ผสมเกสรให้ต้นไม้ของเรา แต่ยังไปผสมเกสรให้ป่าละเมาะข้างบ้าน ช่วยฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลายให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น” 

จากน้ำผึ้งถึงผืนป่า

“พอเราได้เห็นว่าองค์ความรู้ของเราไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตเกษตรกรดีขึ้นได้จริง ก็ทำให้ทิศทางการวางหัวข้อวิจัยเปลี่ยนไป จากเดิมที่คิดแค่การตีพิมพ์ทางวิชาการ เราก็เริ่มคิดหัวข้อวิจัยเพื่อตอบโจทย์ชุมชนเป็นหลัก ดังนั้น ทุกผลงานวิจัยที่ออกมา เราจะเอาลงไปให้ชาวบ้านลองเสมอ”  

จากจุดเริ่มต้นที่สอนเกษตรกรเลี้ยงผึ้งและพวกเขาขายเองที่หน้าสวน แต่เมื่อนำผลจากงานวิจัยไปพัฒนา ทำให้ผลผลิตดีขึ้น สิ่งที่ตามมาคือต้องหาตลาดที่ใหญ่ขึ้น แต่ปัญหาคือการไปฝากขายตามร้านค้าสู้ราคาน้ำผึ้งปลอมที่ขายถูกกว่าไม่ได้ 

“เราเองพยายามหาพาร์ตเนอร์มาช่วย แต่ก็ไม่เจอที่มีแนวคิดตรงกัน ตอนนั้นมีทางเลือก 2 ทาง หนึ่ง คือยอมถูกระบบกลืนกิน ยอมขายในราคาต่ำกว่าที่หวังไว้ กับอีกทาง คือลุกขึ้นสู้ โดยมาทำแบรนด์เอง”

แน่นอนว่าทีมของอาจารย์เลือกวิธีหลัง 

“เราอยากให้น้ำผึ้งไทยไปอยู่ในจุดที่เหมาะสมกับคุณค่าของเขา เราคิดว่าไม่ควรลดราคาของดี เพราะการปันผลให้เกษตรกรต้องสูงพอ เพื่อให้แนวคิดหย่อมสวรรค์ของผึ้งกระจายออกไป และเราก็มองว่าตลาดน้ำผึ้ง Specialty ในไทยยังมีอยู่ ถ้าเจาะให้ตรงจุด”  

และนั่นก็เป็นที่มาของแบรนด์ Beesanc ที่มาจากคำว่า Bee Sanctuary หรือสวรรค์ของผึ้ง เป็นน้ำผึ้งจากชุมชนซึ่งผลิตด้วยวิธีพิเศษตามเงื่อนไข 3 S นั่นคือ

หนึ่ง Standard คือการผลิตที่ได้มาตรฐาน ซึ่งก็มีหลายระดับ ตั้งแต่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มาตรฐาน GAP มาตรฐาน GMP ไปจนถึงมาตรฐานต่างประเทศ

สอง Specialty หรือน้ำผึ้งเอกลักษณ์ วัดจากปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเมื่อเทียบกับน้ำผึ้งชั้นนำในตลาด โดยน้ำผึ้งที่ผ่านเข้ารอบจะต้องอยู่ที่ Tier 1 เท่านั้น โดยบางตัวอาจเป็น Tier 1 สาขาสารต้านอนุมูลอิสระ ขณะที่บางตัวอาจเป็นสาขาสารต้านการอักเสบ   

และสาม Sustainability คือการผลิตด้วยวิถียั่งยืน ไม่ใช้สารเคมี เป็นมิตรต่อผึ้งและโลก

“เราไม่หวังแมส แต่หวังความพิเศษ การตั้งเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อนี้จะทำให้เขามีน้ำผึ้งที่ไม่เหมือนใคร” อาจารย์อรวรรณอธิบายเหตุผล 

“ส่วนใครที่คุณสมบัติน้ำผึ้งยังไม่ถึง เราก็จะไปถามว่าอยากพัฒนาไหม แล้วเราก็มีรายชื่อพืชที่บอกว่าชนิดไหนให้สารอะไร เพื่อให้เขาเลือกว่าอยากปลูกอะไรที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าให้น้ำผึ้ง ส่วนใครที่คุณสมบัติผ่านแล้ว เราก็จะชวนให้เพิ่มปริมาณการผลิต จนกระทั่งเมื่อถึงจุดคุ้มทุน เราก็จะถามเขาเสมอว่าอยากขายผ่าน Beesanc ต่อ ฃหรืออยากเอาไปทำแบรนด์เอง และถ้าอยากทำเอง เราก็จะยกกลุ่มลูกค้าประจำให้โดยไม่ปิดบัง เพราะเราอยากให้สิ่งนี้เป็นอาชีพใหม่ที่เปลี่ยนชีวิตผู้คนได้จริง ๆ”

ส่วนประเด็นความยั่งยืน การไม่ใช้ยาฆ่าแมลงคือกฎเหล็กอยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจกว่าคือการเก็บน้ำผึ้งต้องเป็นมิตรต่อผึ้งด้วย เช่น ในการเก็บน้ำผึ้งต้องไม่มีการทำลายตัวอ่อนหรือตัวเต็มวัยที่ดูแลรัง ต้องเหลือน้ำผึ้งไว้ให้ผึ้งได้ใช้เสมอ ไม่เก็บไปทั้งหมด หลีกเลี่ยงการเก็บน้ำผึ้งช่วงฤดูฝนหรือช่วงหนาวจัด ซึ่งกรณีของผึ้งที่เลี้ยงในกล่องมักทำได้ไม่ยาก แต่ความท้าทายจะอยู่ที่ผึ้งที่ทำรังในที่เปิดโล่ง เช่น ผึ้งหลวง ผึ้งมิ้ม

“วิถีดั้งเดิมของชาวบ้าน คือจุดไฟไล่แล้วเก็บไปขายทั้งรัง ซึ่งสิ่งที่สูญเสียจากการทำแบบนั้นคือตัวอ่อนที่อยู่ในรัง อย่างผึ้งมิ้มก็มีตัวอ่อนเฉลี่ย 7,200 ตัว” อาจารย์ปรีชา รอดอิ่ม หนึ่งในทีมวิจัย ช่วยกล่าวเสริม  

“นอกจากนั้น เวลาผึ้งย้ายรัง ตามธรรมชาติเขาจะเอาไขผึ้งจากรังเดิมไปใช้สร้างรังใหม่ด้วย แต่พอเราเก็บไปทั้งรังแบบนี้ เขาก็ต้องเหนื่อยมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ส่วนที่เราต้องการมีแค่น้ำผึ้ง” 

อาจารย์ปรีชาชี้ให้ดูรังผึ้งมิ้มและอธิบายว่าส่วนที่เป็นน้ำหวานจริง ๆ อยู่แค่ส่วนนูน ๆ ซีกบนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของรังเท่านั้น ขณะที่พื้นที่รังที่เหลือส่วนใหญ่คือเซลล์ตัวอ่อน ด้วยเหตุนี้ทางทีมของอาจารย์จึงพัฒนาวิธีใหม่ นั่นคือแทนที่จะเก็บทั้งรังไปขาย ก็สอนให้ชาวบ้านย้ายรังมาเลี้ยงต่อ โดยมีขาตั้งที่ปรับเอียงได้ตามองศาของรังเดิม และมีคอนที่ออกแบบมาพิเศษเป็น 2 ซีกประกบกัน 

“วิธีการคือเราจะรอช่วงกลางคืนที่ผึ้งงานกลับมาบ้านแล้ว ค่อยย้ายรังมาไว้บนขาตั้งของเรา การเก็บน้ำผึ้งครั้งแรกจะกรีดตามแนวนอนส่วนที่นูน ๆ ข้างบน โดยเหลือน้ำผึ้งไว้ให้เขาประมาณ 30 – 40% แล้วนำรังที่เหลือไปหนีบหรือแขวนไว้กับคอน แล้วผึ้งก็จะสร้างไขผึ้งมาหุ้ม เราก็เอาตัวหนีบออกได้ จากนั้นพอถึงรอบเก็บน้ำหวานครั้งต่อไป แค่ใช้มีดรูดไปตรงกลางระหว่างคอน 2 ซีก ก็จะได้น้ำผึ้งออกมาโดยไม่ทำลายส่วนอื่นของรัง ทำให้เก็บน้ำผึ้งจากผึ้งรังนี้ต่อได้อีกหลายครั้ง” 

อาจารย์อรวรรณชวนให้เราไปดูน้ำผึ้งของ Beesanc ที่ปัจจุบันมีราว 50 ชนิด จากเกษตรกร 17 จังหวัด และกล่าวว่าทุกชนิดล้วนมีจุดเด่นและรสชาติไม่เหมือนกันเลย 

เราหยิบน้ำผึ้งขวดหนึ่งที่บนฉลากเขียนว่า Himmapan’s Sensation ขึ้นมา และถามถึงเรื่องราวของขวดนี้

“ตัวนี้เป็นน้ำผึ้งหลวงที่ผลิตโดยชนเผ่ามละบริหรือเผ่าตองเหลือง เขาผลิตได้มา 2 รสชาติ ตัวนี้ที่ชื่อหิมพานต์ มาจากลักษณะป่าที่ค่อนข้างโบราณ มีรสชาติพืชกว่า 10 ชนิดผสมผสานกัน ติดขมเล็กน้อย อีกตัวคือ Mlabri’s Sensation เป็นรสชาติของป่าสมบูรณ์” 

ส่วนอีกขวดที่เขียนว่า Dry-Dipterocarp Gem หรืออัญมณีแห่งป่าเต็งรัง อาจารย์ก็เล่าว่าความพิเศษของป่าเต็งรังคือช่วงฤดูแล้งจะแล้งจัด ร้อนจัด ทำให้พืชที่นี่ต้องสร้างสารบางอย่างเพื่อป้องกันตัวเอง น้ำผึ้งจากป่าเต็งรังจึงมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูง ซึ่งขวดนี้มาจากผึ้งมิ้ม มีรสชาติเด่นที่ความหอมมัน นุ่มนวล ให้ความรู้สึกแบบขนมหวาน ตรงข้ามกับน้ำผึ้งจาก Swamp Forest หรือป่าพรุ ซึ่งรสชาติมีความเป็นยาสูง

“ยาที่ดีก็คือยาขม น้ำผึ้งจากป่าพรุเป็นแบบนั้นเลย มีความเป็นยางไม้และกลิ่นหมัก ๆ เจืออยู่ คนที่ชอบก็ชอบไปเลย คนที่ไม่ชอบก็ไม่ชอบไปเลย” 

แต่ถ้าให้พูดถึงน้ำผึ้งที่ได้รับความนิยมสูงสุด อาจารย์ยกให้น้ำผึ้งชันโรงที่จองคิวกันข้ามปีและคุณค่าทางยาสูงมาก

“จริง ๆ ผึ้งพื้นเมืองจะผลิตในสเกลใหญ่ก็ได้นะ ถ้าพื้นที่สมบูรณ์พอ อย่างเกษตรกรเจ้าหนึ่งที่ชุมพรที่ข้างบ้านของเขาคือผืนป่าเบญจพรรณ ทำให้เขาเลี้ยงผึ้งโพรงได้ 300 – 600 รัง เป็นสเกลพอ ๆ กับผึ้งพันธุ์เลย แต่ต้นทุนต่ำกว่ามากและขายได้ราคาสูงกว่า 

“คำถามต่อมาก็คือ ถ้าชุมพรทำได้ จังหวัดอื่นก็น่าจะต้องทำได้ ถ้าชาวบ้านเห็นว่าการมีป่าสมบูรณ์แบบชุมพรทำให้ได้น้ำผึ้งเป็นร้อย ๆ กิโล เขาก็จะไม่ตัดป่า แต่จะปลูกเพิ่มด้วยซ้ำ เพราะเขารู้ว่าต้นไม้พวกนี้คืออาหารผึ้ง นี่คือการรักษาป่าแบบแทบไม่ต้องลงทุนอะไร”

นอกจากนั้น น้ำผึ้งที่ได้มาก็จะกลายเป็น Soft Power ของพื้นที่นั้น และยิ่งเมื่อรวมความหลากหลายของน้ำผึ้งจากแต่ละชุมชนเข้าด้วยกันก็จะกลายเป็น Soft Power ระดับประเทศ นี่ยังไม่รวมเรื่องสารสกัดจาก ‘โพรโพลิส’ (Propolis) หรือยางไม้ที่ผึ้งเก็บมา ซึ่งมีสรรพคุณทางยาสูงมาก อาจารย์ปรีชาเล่าว่าสารสกัดนี้เป็นที่ต้องการของญี่ปุ่นมากจนผลิตไม่ทัน 

“การที่ Soft Power นี้จะเกิดขึ้นได้ สิ่งที่เราต้องทำก็คือการรักษาป่า สร้างพื้นที่สีเขียวไร้สารพิษที่เป็นหย่อมสวรรค์ของผึ้งขึ้นมาทั่วประเทศ แล้วผึ้งก็จะช่วยผสมเกสร ให้น้ำผึ้งที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยฟื้นฟูป่าละเมาะข้าง ๆ ให้สมบูรณ์ขึ้น เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ให้กลับมา รักษาป่าต้นน้ำอีก นี่คือผลเชิงบวกหลายชั้นที่เกิดจากผึ้ง” 

แปลภาษาผึ้งผ่านรังผึ้งอัจฉริยะ

นอกเหนือจากการวิจัย การสอนเกษตรกรเลี้ยงผึ้ง แปรรูปผลผลิต ไปจนถึงช่วยทำตลาดให้แล้ว ทางศูนย์วิจัยแห่งนี้ยังร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ในการพัฒนาอัลกอริทึมแปลภาษาผึ้ง แล้วแสดงผลผ่านแอปพลิเคชันในมือถือของผู้เลี้ยงผึ้ง 

“ปกติแล้วผึ้งจะสื่อสารกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะกินอิ่ม นอนหลับ เจอศัตรู เจออาหาร เจอยาฆ่าแมลง นางพญาเกิดใหม่ อยากได้บ้านใหม่ แต่ถ้าคนเลี้ยงไปเปิดรังสุ่มสี่สุ่มห้า ผึ้งจะหยุดคุยกัน ดังนั้น คำถามคือจะทำยังไงให้รู้ว่าผึ้งคุยอะไรกันโดยไม่ต้องไปเปิดรัง จะได้ไม่ไปรบกวนการคุยกันของเขา”

และนั่นจึงเป็นที่มาของโครงการ ‘Smart Hive’ ที่ทีมของอาจารย์ได้ร่วมกับวิศวกรคอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาอัลกอริทึมและ AI ที่ตรวจจับภาษาการเต้นและส่งเสียงของผึ้งในรัง แล้วแปลผลผ่านแอปพลิเคชัน Bee Connex ให้ผู้เลี้ยงได้เห็นสถานะผึ้ง โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ Normal, Active, Hissing และ Emergency

“Hissing จะคล้าย ๆ การบ่น คือเขาเริ่มเครียดแล้ว เป็นสัญญาณเตือนที่ทำให้ผู้เลี้ยงเข้าไปแก้ปัญหาทัน”

ในบรรดาเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ที่พบได้บ่อยก็เช่น ศัตรูมาหรือกำลังจะทิ้งรัง ซึ่งหากมีเหตุผิดปกติ แอปพลิเคชันก็จะขึ้นการแจ้งเตือนภายใน 3 นาที และตัดภาพภายในรังให้ดู ซึ่งผู้เลี้ยงก็มองเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นและเข้าไปจัดการได้

“อย่างเช่นถ้าตัวต่อมา คนเลี้ยงก็จะไปปิดปากทางเข้ารังเพื่อให้ต่อเข้าไม่ได้ หรือถ้าสัญญาณทิ้งรังเริ่มมา ก็แก้โดยไปปิดปากทางเข้ารังไว้ ขังเขาไว้ 1 วัน พอวันรุ่งขึ้นเขาก็จะรีเซตการตัดสินใจใหม่”

แต่ถ้าหากสัญญาณนั้นยังไม่หายไป ผู้เลี้ยงก็ต้องวิเคราะห์ว่าเกิดจากอะไร เช่น ถ้าอาหารไม่พอก็อาจนำน้ำผึ้งไปใส่เพิ่มให้ หรือถ้าผึ้งรู้สึกว่าถูกรบกวน ก็อาจช่วยย้ายตำแหน่งรังให้เขารู้สึกปลอดภัยขึ้น 

“ในอนาคตเราตั้งเป้าว่าจะพัฒนาทั้งอัลกอริทึมแปลภาษาของทั้งผึ้งพันธุ์และผึ้งโพรง เพราะแต่ละชนิดก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกัน เช่น ผึ้งพันธุ์ไม่มี Hissing เขาจะไม่บ่น แต่ข้ามไป Emergency เลย และเราก็กำลังเก็บข้อมูลเพื่อให้แยกแยะได้ว่าภัยคุกคามคืออะไร เช่น อันนี้นกจาบคา มดแดง หรือตัวต่อ เพราะที่ยุโรปจะมีต่อชนิดหนึ่งที่ก่อนหน้านี้อยู่แค่เอเชีย แต่ภาวะโลกร้อนทำให้กระจายไปถึงยุโรปและสร้างปัญหาที่นั่น ถ้าพัฒนาการแยกแยะนี้ได้ นวัตกรรมนี้อาจได้ใช้ในระดับโลก”

คุณค่าแห่งความหลากหลาย

แม้ผึ้งจะถือเป็นแมลงเศรษฐกิจที่สำคัญมาก แต่นอกเหนือจากกลุ่มผึ้งที่ให้น้ำหวาน เช่น ผึ้งหลวง ผึ้งโพรง ผึ้งมิ้ม ผึ้งพันธุ์ ชันโรง โลกเรายังมีผึ้งอีกกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้ให้ผลผลิตน้ำหวาน แต่ก็จำเป็นมากต่อโลกนี้ นั่นคือกลุ่มแมลงภู่ (Bumble Bee) และผึ้งเดี่ยว (Solitary Bee) ซึ่งจะหากินตัวเดียวโดด ๆ หรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ 

“ผึ้งกลุ่มนี้มีประมาณ 20,000 กว่าสปีชีส์ ซึ่งจำนวนชนิดที่หลากหลาย ก็ตามมาด้วยความหลากหลายของแหล่งอาศัย และผึ้งกลุ่มนี้มักวิวัฒนาการมาควบคู่กับพืชแต่ละชนิดโดยเฉพาะ เช่น ผึ้งบางชนิดจะพบในป่าที่มีพืชชนิดนี้เท่านั้น และพืชบางชนิดก็ต้องการผึ้งกลุ่มนี้เท่านั้นในการผสมเกสร”

หนึ่งในวิธีการผสมเกสรแบบพิเศษที่เป็นจุดเด่นของผึ้งกลุ่มนี้คือวิธีที่เรียกว่า ‘Buzz Pollination’ ซึ่งดอกไม้ที่ต้องการการผสมเกสรแบบนี้จะมีเกสรอัดแน่นในกระเปาะลึก ผึ้งบางชนิดเข้าไปเก็บไม่ถึง แต่พวกผึ้งเดี่ยวซึ่งมักมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าจะใช้วิธีเข้าไปกระพือปีกขย่มตัวให้เกสรหลุดออกมา ซึ่งถ้าไม่มีผึ้งกลุ่มนี้ พืชพวกนี้ก็จะไม่ได้รับการผสมเกสร 

ส่วนในบรรดาผึ้งให้น้ำหวาน แต่ละชนิดก็มีความเจาะจงกับดอกไม้ที่ต่างกัน เช่น ดอกไม้เล็ก ๆ อย่างดอกพริกหรือดอกมะม่วง ผึ้งตัวเล็ก ๆ เช่น ชันโรงหรือผึ้งมิ้มจะทำหน้าที่ได้ดีที่สุด ขณะที่ดอกไม้ดอกใหญ่ที่มีน้ำหวานอยู่ลึก ก็จะเหมาะกับผึ้งที่ตัวใหญ่กว่า เช่น ผึ้งหลวง ซึ่งผึ้งหลวงยังมีความสามารถพิเศษอีกอย่างคือบินได้ไกล ทำให้ต้นไม้บางชนิดในป่าที่อยู่ห่างกันเป็นสิบ ๆ กิโลเมตรได้รับการผสมเกสร ส่วนแมลงอื่น ๆ ก็จะมีจุดเด่นในมุมที่ต่างกันออกไป เช่น ผีเสื้อจะมีลิ้นยาวยื่นเข้าท่อน้ำหวานลึก ๆ ได้ ส่วนแมลงวันก็จะเจาะจงกับดอกไม้ที่มีกลิ่นเหม็น

“แมลงผสมเกสรทุกชนิดก็มีความสำคัญ เราจะไปดูแคลนชนิดใดชนิดหนึ่งไม่ได้ แต่ถ้ามองในภาพรวม ผึ้งคือตัวหลักที่สำคัญมาก เพราะเขามีจำนวนเยอะ รังหนึ่งก็มีเป็นหมื่น ๆ ตัว และเขาก็มีการสื่อสารกัน รวมถึงการเอาตัวไปคลุกเกสรเพื่อเอากลับบ้าน ทำให้การผสมเกสรมีประสิทธิภาพมาก”

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ประชากรผึ้งทั่วโลกกำลังเผชิญภัยคุกคามหลายด้าน ทั้งเรื่องโลกร้อนที่ทำให้ดอกไม้บานผิดฤดูกาลและการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคที่รุนแรงขึ้น เรื่องสารเคมีการเกษตรที่ทำให้ผึ้งล้มตาย เช่นมีงานวิจัยพบว่า ยาฆ่าแมลงบางชนิดคือต้นเหตุของปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย (Colony Collapse Disorder) อีกทั้งพื้นที่สีเขียวที่ลดลงก็ทำให้ผึ้งสูญเสียพืชอาหาร ดังนั้นการที่เรากลับมาให้คุณค่ากับผึ้ง จึงเป็นหนทางสำคัญที่จะทำให้โลกนี้รอด 

เพราะเมื่อเราช่วยผึ้ง ผึ้งก็จะกลับมาช่วยเรา

Facebook : Native Honeybee and Pollinator Center ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ