“โพรมีธีอุส ขโมยไฟจากเขาโอลิมปัสมามอบให้แก่มนุษย์ และสอนวิธีใช้มันให้กับพวกเขาจนเกิดเป็นอารยธรรม”

“ออพเพนไฮเมอร์ คือโพรมีธีอุสสัญชาติอเมริกันที่มอบอำนาจให้มนุษย์ทำลายตัวเอง และพวกเขายังไม่พร้อมรับมือกับสิ่งนี้”

การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ก่อให้เกิดเป็นความเข้าใจ นวัตกรรม การขยายตัวของอารยธรรม และหนทางความเป็นไปได้อีกมากมาย หนึ่งในการค้นพบยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติและเป็นการค้นพบที่ทั้งโลกต้องจดจำ มีผู้กู่ร้องยินดี หัวเราะ มีคนจำนวนมากต้องเสียชีวิต นิ่งเงียบ และเสียน้ำตา คือการค้นพบที่อยู่ภายใต้การนำของ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะและนักฟิสิกส์ทฤษฎีที่ได้รับฉายาว่า ‘Father of Atomic Bomb’ หรือ ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’ จากผลงานในแมนฮัตตันโปรเจกต์อันโด่งดัง

เรื่องราวของอัจฉริยะรุ่นน้อง ไอน์สไตน์ คนนี้ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นหนังชีวประวัติ โดยผู้กำกับอัจฉริยะอย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ที่มีหนังทำเงินรวมกันไปแล้วกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์และสไตล์การเล่าเรื่องที่แทบไม่เคยธรรมดา ดูเหมือนว่าหลังจากที่เขาลองทำหนังมาหลายตระกูลแล้ว ทั้งแนวดราม่าอย่าง The Prestige แนวอาชญากรรมอย่าง Following, Insomnia และ Memento แนวไซไฟหรือลุ้นระทึก-จารกรรม อย่าง TENET และ Interstellar แนวฮีโร่อย่างไตรภาค The Dark Knight และแนวสงครามประวัติศาสตร์อย่าง Dunkirk 

ครั้งนี้เขาสนใจจะหยิบจับเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่มาทำเป็นหนังดูบ้าง ภายใต้ชายคาของบ้านใหม่อย่าง Universal และรายชื่อนักแสดงที่ยาวเหยียดสุดลูกหูลูกตา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คิลเลียน เมอร์ฟี (Cillian Murphy) นักแสดงตาสวย ซึ่งในที่สุดหลังจาก 20 กว่าปี และแสดงหนังโนแลนมา 5 เรื่อง เรื่องนี้ก็ได้เป็นพระเอกสักที

บทความนี้จะขอพาไปพบกับเส้นทางตั้งแต่ชีวประวัติของออพเพนไฮเมอร์ว่าเขาเป็นใครในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ก่อนที่จะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับโลกใบนี้ ไปจนถึงที่มา ไอเดีย แนวคิด กระบวนการคิด กระบวนการทำหนัง และเบื้องหลังน่ารู้ของหนัง Oppenheimer ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงกันในขณะนี้ครับ

จากชีวิตบุรุษอัจฉริยะผู้นำความตายมาสู่โลกใบนี้ สู่ Oppenheimer หนังใหม่ของคริสโตเฟอร์ โนแลน

เส้นทางชีวิตของออพเพนไฮเมอร์

ก่อนจะพูดถึงตัวหนัง อยากให้ทำความรู้จักกับออพเพนไฮเมอร์ และทราบรายละเอียดที่ทั้งมีและไม่มีในหนังกันก่อนครับ

จูเลียส โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ เกิดที่นิวยอร์ก เมื่อปี 1904 ครอบครัวของเขาเป็นชาวยิวเชื้อสายเยอรมันที่อพยพมาตั้งรกรากที่สหรัฐฯ เขาเป็นเด็กหัวดี แต่ด้วยความที่ขี้อาย รูปร่างผอม เขาจึงถูกเพื่อนรังแกอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ชอบขลุกตัวอยู่กับการเรียนและหนังสือวิทยาศาสตร์ ใครจะไปคิดว่านั่นกลับเป็นโอกาสในการเรียนรู้ ศึกษา และเป็นช่วงเวลาที่เขาค้นพบว่าตัวเองชอบภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก ออพเพนไฮเมอร์เรียนเกรด 3 – 4 จบภายใน 1 ปี จากนั้นก็ข้ามไปเรียนครึ่งเทอมของเกรด 8 และเขาฉายแววถึงขั้นที่ว่า New York Mineralogical Club หรือสมาคมที่ศึกษาเกี่ยวกับแร่วิทยาเชิญไปบรรยายก่อนที่จะรู้ว่าเขาเป็นเด็กชายอายุเพียง 12 ปี

ออพเพนไฮเมอร์เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในภาควิชาเคมี โดยมีนักฟิสิกส์รางวัลโนเบลอย่าง เพอร์ซีย์ บริดจ์แมน เป็นอาจารย์ผู้สอน จากนั้นเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเรียนจนจบปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน ประเทศเยอรมนี ขณะมีอายุเพียงแค่ 23 ปี สมัยเรียนที่ฮาร์วาร์ด ออพเพนไฮเมอร์กระตือรือร้นขนาดลงเรียน 6 ตัว จากปกติต้องเรียนเทอมละ 4 ตัว และการเรียนที่ฮาร์วาร์ดทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับวิชาคณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และปรัชญา หล่อหลอมให้เขาเป็นนักคิดและมีบุคลิกที่ซับซ้อน 

ในขณะที่การเรียนที่เคมบริดจ์เผยให้เห็นแง่มุมอื่นของชายคนนี้ เขาไม่ค่อยถูกกับผู้สอนอย่าง แพทริก แบล็กเก็ตต์ เท่าไหร่นัก ถึงขั้นฉีดสารเคมีอันตรายในลูกแอปเปิลจนอาจารย์เกือบจะกินเข้าไปแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นชายที่สูบบุหรี่จัดไม่แพ้ตัวละคร ทอมมี่ เชลบี้ (Tommy Shelby) ในซีรีส์ Peaky Blinders และเป็นคนที่เวลาโฟกัสกับอะไรมาก ๆ จะไม่กินข้าว ทั้งยังเต็มไปด้วยความรู้สึกหดหู่ซึมเศร้าอยู่เป็นช่วง ๆ ถึงขั้นว่าเมื่อเพื่อนล้อเล่นว่าจะแต่งงานกับแฟนสาวของเขา ออพเพนไฮเมอร์เข้าไปบีบคอเพื่อนคนนั้น แล้วบอกกับน้องชายที่ชื่อ แฟรงก์ ว่าสำหรับเขาแล้ว ฟิสิกส์จำเป็นกว่าเพื่อน

หลังจากจบการศึกษา ออพเพนไฮเมอร์เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และทำงานร่วมกับนักฟิสิกส์ชื่อดังมากมาย ในเวลาเดียวกัน เขายังศึกษาปรัชญาตำราอื่น ๆ สนใจสังคมการเมือง รวมถึงความรู้ด้านภาษาที่จะต่อยอดไปสู่ความรู้และแนวคิดที่มีขอบเขตกว้างขวาง 

ออพเพนไฮเมอร์พูดได้ถึง 6 ภาษา นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ ได้แก่ กรีก ละติน ฝรั่งเศส เยอรมัน ดัตช์ รวมถึงสันสกฤต เขาจึงศึกษาคัมภีร์ภควัทคีตาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูได้อย่างลึกซึ้ง

และอีกเรื่องหนึ่งที่น่าพูดถึง คือเราอาจได้ยินชื่อออพเพนไฮเมอร์ควบคู่กับคำว่าปรมาณูอยู่เสมอ ๆ แต่อันที่จริงนอกเหนือจากนั้น ชายคนนี้ก็มีบทบาทสำคัญในการทำงานวิจัยเกี่ยวกับดาราศาสตร์ สสารกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทฤษฎีสนามควอนตัม ทฤษฎีสัมพัทธภาพ กลศาสตร์ควอนตัม และอีกมากมาย และเขายังเป็นนักฟิสิกส์คนแรก ๆ ที่พูดถึงการมีอยู่ของหลุมดำอีกด้วย

จากชีวิตบุรุษอัจฉริยะผู้นำความตายมาสู่โลกใบนี้ สู่ Oppenheimer หนังใหม่ของคริสโตเฟอร์ โนแลน

 ข้ามมาถึงช่วงที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาและโลกใบนี้ไปตลอดกาล คือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายพลเลสลี โกรฟส์ (Leslie Groves) ยื่นข้อเสนอให้ออพเพนไฮเมอร์คุมโปรเจกต์แมนฮัตตัน (Manhattan Project) ที่มีเป้าหมายถึงการคิดค้นและพัฒนาสุดยอดอาวุธปฏิกิริยาลูกโซ่ เพื่อแข่งขันก่อนเยอรมนีจะทำสำเร็จ สงครามการแข่งกับเวลา อเมริกัน vs นาซี และ ออพเพนไฮเมอร์ vs แวร์เนอร์ ไฮเซ็นเบิร์ก (Werner Heisenberg) เพื่อนเก่าสมัยมหาลัยขณะเรียนที่เยอรมนี จึงเริ่มต้นขึ้น (ใช่แล้วครับ ไฮเซ็นเบิร์กคนนี้แหละที่เป็นต้นแบบฉายาของ วอลเตอร์ ไวท์ (Walter White) ในซีรีส์ Breaking Bad)

ด้วยความที่โปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์ลับสุด ๆ และเป็นการทดลองเกี่ยวกับระเบิดปรมาณู จึงต้องทำการทดลองที่ห่างไกลผู้คน ออพเพนไฮเมอร์เลือกสถานที่คือลอส อลามอส (Los Alamos) อยู่ทางตอนเหนือของรัฐนิวเม็กซิโก เป็นโลเคชันในการก่อสร้างเมืองลึกลับและสถานที่วิจัยคิดค้นโปรเจกต์พลิกกระแสสงครามโลกด้วยความตั้งใจคือยุติสงครามครั้งนี้ โดยโครงการนี้รวบรวมสุดยอดทีมนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะไว้ด้วยกันทั้ง ริชาร์ด ไฟน์แมน, ฮันส์ เบเธอ, เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์, เออร์เนสต์ ลอว์เรนซ์, ลีโอ ซีลาร์ด และอีกมากมาย

โครงการแมนฮัตตันเป็นโปรเจกต์ลับสุดยอดขนาดว่า ผู้รับหน้าที่ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนและศูนย์วิจัยไม่รู้ว่าตัวเองกำลังสร้างอะไรอยู่ ได้แต่ทำตามที่นักวิทยาศาสตร์บอก ส่วนนักวิทยาศาสตร์ที่มาทำงานที่นี่ 2 ปีครึ่งก็เหมือนหายตัวไปจากโลกใบนี้ราวกับโดนเอเลียนลักพาตัว ไม่มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 

นอกจากนี้ เมืองนี้ยังเหมือนไม่มีอยู่บนโลก อยู่ห่างจากเมืองที่ใกล้ที่สุดราว ๆ 60 กิโลเมตร ทาสีเขียวเพื่อกลมกลืนกับต้นไม้ใบหญ้าในบริเวณใกล้เคียง และตกดึกจะไม่มีไฟตามทางเพื่อไม่ให้ใครก็ตามหาเจอ โดยทุกคนจะมีบัตรประจำตัว บัตรสีขาวของนักวิทยาศาสตร์ ส่วนบัตรสีน้ำเงินเป็นของคนงาน ซึ่งจะไม่มีทางล่วงรู้สิ่งที่เป็นความลับของที่นี่

คนที่นี่เรียกออพเพนไฮเมอร์ว่า ออพปี้ โดยสาเหตุที่ เลสลี โกรฟส์ เลือกออพเพนไฮเมอร์มาคุมโปรเจกต์นี้ แม้ว่าเขาอาจเคยมีอดีตด่างพร้อยด้วยการไปพัวพันกับแนวคิดคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่เพราะเขาเก่งที่สุด แต่โกรฟส์มองเห็นว่าเขาเป็นคนฉลาด ความรู้กว้างขวาง และมีสกิลล์ที่สำคัญ คือการเชื่อมคนไว้ด้วยกัน 

ชายคนนี้จะนำสหรัฐฯ ไปสู่เป้าหมายได้ก่อนนาซีเยอรมันเป็นแน่ ตอนอยู่ที่นี่ คนจะเห็นว่านายออพปี้ทำตัวเงียบ ๆ สวมหมวก ถือไปป์ซะส่วนใหญ่ และทำตัวขี้สงสัย จะพูดแสดงความเห็นเมื่อสบโอกาส ส่วนมากชอบตั้งคำถาม ศึกษาเรียนรู้ ทำความเข้าใจงานทุกอย่าง สนิทกับทุกคน และประนีประนอมได้กับทุกฝ่าย 

จากชีวิตบุรุษอัจฉริยะผู้นำความตายมาสู่โลกใบนี้ สู่ Oppenheimer หนังใหม่ของคริสโตเฟอร์ โนแลน

เวลาล่วงเลยไป จากโปรเจกต์ที่เริ่มด้วยทุน 6,000 ดอลลาร์และคนไม่กี่คน กลายเป็นโปรเจกต์ที่เกิดการจ้างงานมากถึง 130,000 อัตราและใช้ทุนไปทั้งสิ้นราว ๆ 2.2 พันล้านดอลลาร์ หรือตีเป็นเงินปัจจุบันอยู่ที่มากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว งานนี้เรียกได้ว่า ถ้าคว้าน้ำเหลว เวลา 2 – 3 ปีกับเงินทุนมหาศาลขนาดนี้จะสูญเปล่า 

และแล้วการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ภายใต้การทำสอบที่เรียกว่า ‘Trinity Test’ ก็เกิดขึ้นในวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 1945 เวลา 05.30 น. บริเวณพื้นที่ห่างจากลอส อลามอส ไป 300 กว่ากิโลเมตร อะตอมมิกบอมบ์ลูกแรกของโลกก็ได้ปะทะพื้นดิน ควันพวยพุ่งเป็นดอกเห็ด แสงสว่างจ้า ดูสวยงามเพลินตา ทว่าน่าสยดสยองในเวลาเดียวกัน 

เมื่อนั้นเอง คือช่วงเวลาที่โพมีธีอุสชาวอเมริกันได้มอบสุดยอดอาวุธทำลายล้าง หรือพลังอำนาจที่ไม่ควรอยู่ในมือใครแด่มนุษยชาติ และอย่างที่ทราบกันดี ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคมปีเดียวกัน หรือเพียงไม่กี่วันต่อจากนั้น ระเบิดที่ชื่อว่า ‘ลิตเติลบอย’ และ ‘แฟตแมน’ ก็ถูกทิ้งลงสู่เมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิตามลำดับ ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นกว่า 100,000 – 200,000 คนเสียชีวิต ส่วนคนที่บาดเจ็บและมีชีวิตรอดก็ไม่อาจใช้คำว่าโชคดีนิยามได้เลยครับ

แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบลงไปก่อนหน้านี้แล้ว และจากการแข่งขันกลายเป็นว่าไฮเซ็นเบิร์กหรือนาซีเยอรมันเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้ คิดค้นสุดยอดอาวุธได้ไม่ทัน แต่การทิ้งระเบิดครั้งนี้ทำให้สงครามโลกจบลงอย่างเป็นทางการจากการประกาศยอมแพ้โดยฝั่งญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายกำชัย ส่วนออพเพนไฮเมอร์ได้ลงปกนิตยสาร TIME และถูกขนานนามว่าเป็น ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’ แต่เขาหาได้ดีใจไม่ แม้ในช่วงแรก ๆ มีคำพูดในเชิงคึกคะนองออกมาต่อหน้าสาธารณชนบ้าง แต่ความรู้สึกผิดก็ค่อย ๆ ท่วมท้นออกมา จนกลายเป็นวลีอันโด่งดังอย่าง บัดนี้ข้าได้กลายเป็นความตาย ผู้ทำลายโลกใบนี้ (Now I am become Death, the destroyer of worlds) ที่อิงมาจากคัมภีร์ภควัทคีตา 

หลังจากเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่น ออพเพนไฮเมอร์ได้ดำรงตำแหน่งประธาน AEC (คณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ United States Atomic Energy Commission) โดยมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ควบคุมการใช้อาวุธและพลังงานนิวเคลียร์ แม้จะมีตำแหน่งแห่งที่และได้รับชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ความรู้สึกผิดยังคงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ๆ วันหนึ่งเขาได้ไปเข้าพบ ประธานาธิบดีทรูแมน และพูดออกไปอย่างที่ใจคิดว่า “มือของผมนั้นเปื้อนไปด้วยเลือด” แต่ก็ถูกทรูแมนเรียกว่าเป็นเด็กขี้แยที่เปื้อนเลือดไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคนสั่งการอย่างเขาด้วยซ้ำ

 พาร์ตสำคัญกับชีวิตออพเพนไฮเมอร์ยังไม่จบแค่นั้น เพราะเขาถูกสอบสวนโดย FBI เรื่องที่อาจมีเอี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์ จากการข้องเกี่ยวกับหลายบุคคลที่สนับสนุนแนวคิดนี้ โดยเฉพาะ จีน แททล็อก (Jean Tatlock) อดีตคนรัก และแฟรงก์ น้องชายของเขาเอง รวมไปถึงถูกสงสัยว่าเป็นสปายให้กับฝั่งโซเวียต แต่นี่ไม่ใช่แค่การสงสัย เบื้องหลังการสอบสวน คือเหตุผลทางการเมืองและความขุ่นเคืองที่มีต่อออพเพนไฮเมอร์ที่แสดงความเห็นชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการสั่งสมหัวรบนิวเคลียร์และการพัฒนาระเบิดไฮโดรเจน เพราะการทำแบบนี้ไม่ใช่การป้องกันประเทศชาติ แต่เป็นการสร้างความหวั่นกลัวให้กับโลกต่างหาก

จากวีรบุรุษและเสียงปรบมือ เรื่องนี้จบลงด้วยการที่ออพเพนไฮเมอร์เป็นผู้ร้ายและเสียงโห่ ชีวิตของเขาหลังจากนั้นคือการทนทุกข์ทรมานอยู่กับความรู้สึกผิด เสียใจอย่างสุดซึ้ง เผชิญกับโรคซึมเศร้าอย่างหนักหน่วง และหลบลี้หนีไกลไปอาศัยอยู่บนเกาะเซนต์จอห์น ใช้ชีวิตอย่างสันโดษ เงียบ ๆ กับครอบครัว และจากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็งลำคอจากการสูบบุหรี่หนัก ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ปี 1967

สู่หนังชีวประวัติเรื่องแรกของ คริสโตเฟอร์ โนแลน

ใครจะไปคิดครับว่าวันหนึ่ง คริสโตเฟอร์ โนแลน จะสนใจหยิบจับชีวประวัติออพเพนไฮเมอร์มาทำเป็นหนัง แถมยังเป็นหนังยาวที่สุดตั้งแต่เขาเคยทำมา มีความยาวมากถึง 3 ชั่วโมง แต่อันที่จริงต้องบอกว่าโนแลนตั้งใจและสนใจจะดัดแปลงเรื่องราวของ Oppenheimer เป็นผลงานภาพยนตร์ตั้งแต่เด็กเลยทีเดียว สมัยที่โนแลนเป็นวัยรุ่นยุค 80 หรืออายุประมาณ 12 – 14 ปี ที่อังกฤษมีการรณรงค์และประท้วงเกี่ยวกับนิวเคลียร์อย่างเข้มข้น ทำให้เขาและคนสมัยนั้นโตมากับการหวาดกลัวสิ่งนี้ 

จากชีวิตบุรุษอัจฉริยะผู้นำความตายมาสู่โลกใบนี้ สู่ Oppenheimer หนังใหม่ของคริสโตเฟอร์ โนแลน

นอกจากเรื่องพวกนี้ โนแลนยังรู้จักชื่อออพเพนไฮเมอร์ผ่านป๊อปคัลเจอร์อย่างเพลง Russians ของ Sting ที่พูดถึง ‘ของเล่นอันน่าสยดสยองของออพเพนไฮเมอร์ (Oppenheimer’s Deadly Toy)’ อีกด้วย

คริสโตเฟอร์ โนแลน สั่งสมความรู้เกี่ยวกับออพเพนไฮเมอร์มาโดยตลอด นี่ไม่ใช่ไอเดียที่เขาเพิ่งคิดได้หลังจบกับหนังเรื่องก่อนหน้าอย่าง TENET แต่ยังใส่ประโยคพูดถึงออพเพนไฮเมอร์ในหนังเรื่องนี้ด้วย เพื่อสื่อถึงความน่ากลัวของการที่เมื่อบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว ก็จะหมุนนาฬิกาย้อนกลับไปให้เหมือนเดิมไม่ได้

คนที่มีส่วนอย่างมากในการทำให้หนังเรื่องนี้เกิดขึ้นมีอยู่ 2 คนครับ

คนแรกคือ ชาร์ลส์ โรเวน (Charles Roven) โปรดิวเซอร์หนังที่บอกโนแลนและภรรยาของเขาที่ชื่อ เอมม่า โทมัส (Emma Thomas) ว่าหนังสือ American Prometheus: The Triumph and Tragedy of J. Robert Oppenheimer ความยาว 700 กว่าหน้าเล่มนี้ดีมาก ไปอ่านซะ แล้วถ้าสนใจจะทำหนังก็ได้นะ ซึ่งแน่นอนว่าคริสโตเฟอร์ โนแลนกับภรรยาได้อ่าน 

แต่หนังอาจไม่ได้เกิดขึ้นก็ได้นะครับถ้าไม่มีคนที่ 2 เพราะคนที่ 2 คือ โรเบิร์ต แพททินสัน (Robert Pattinson) ที่รับบทนำในหนัง TENET เอง ในงานเลี้ยงปิดกอง โรเบิร์ตยื่นหนังสือสุนทรพจน์ของโรเบิร์ตอีกคน (ที่นามสกุลออพเพนไฮเมอร์) ในยุค 50 ให้โนแลนเป็นของขวัญวันปิดกอง เพราะเห็นว่าในบทมีอิงถึงนักวิทยาศาสตร์คนนี้ และเมื่อโนแลนได้อ่าน เขาทึ่ง อึ้ง ตื่นเต้น และรู้สึกว่าถ้าออพเพนไฮเมอร์เป็นตัวละคร จะเป็นตัวละครที่น่าสนใจมาก

ต่อมาชาร์ลส์กับเอมม่ารับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์หนัง Oppenheimer ส่วนโนแลนควบเขียนบทและกำกับ แต่แรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นไม่ได้มีเพียงแค่นั้น ตอนที่โนแลนทำรีเสิร์ชเกี่ยวกับออพเพนไฮเมอร์เพื่อทำมาใส่ในหนัง TENET เพียงไม่กี่วินาที เขาสะดุดกับข้อเท็จจริงที่ว่า ออพเพนไฮเมอร์ไม่อาจรู้ได้ว่าปฏิกิริยาลูกโซ่นี้ควบคุมได้หรือจะลุกลามจนทำลายโลก (ที่มาฉากเกือบ 0% ในหนัง) ความน่ากลัวนี้ฝังในจิตใจของโนแลนอยู่นาน และเมื่อผนวกกับ 2 คนที่พูดถึงเมื่อกี้ กับหนังสือ American Prometheus ที่โนแลนเจอเรื่องน่าทึ่งอีกเรื่อง คือผู้แต่งอย่าง ไค เบิร์ด (Kai Bird) และ มาร์ติน เชอร์วิน (Martin Sherwin) ใช้เวลาเขียนหนังสือเล่มนี้ถึง 25 ปี เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ทั้งสวยงามและชวนสลดหดหู่ ขนาดที่โนแลนนิยามว่าเป็น ‘เรื่องราวดราม่าที่สุดที่เคยพบเจอมา’

เขารู้ทันทีว่านี่คือสิ่งที่ต้องกระโดดเข้าใส่ หนัง Oppenheimer จึงถือกำเนิดขึ้นหลังจากหนังสือตีพิมพ์ไปได้ 16 ปี และเกือบถูกตัดหน้านำไปดัดแปลงก่อนโดย แซม เมนเดส (Sam Mendes) ผู้กำกับ Skyfall และ American Beauty ซะแล้วครับ

จากชีวิตบุรุษอัจฉริยะผู้นำความตายมาสู่โลกใบนี้ สู่ Oppenheimer หนังใหม่ของคริสโตเฟอร์ โนแลน

Oppenheimer นอกจากเป็นแพสชันโปรเจกต์ ไม่น้อยไปกว่าที่ออพเพนไฮเมอร์รู้สึกกับโปรเจกต์แมนฮัตตันนี่ยังเป็นการรียูเนียนของโนแลนกับหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ฮอยต์ ฟาน ฮอยเตมา (Hoyte Van Hoytema) ผู้กำกับภาพให้กับหนังโนแลน ตั้งแต่ Interstellar จนถึง TENET เจนนิเฟอร์ เลม (Jennifer Lame) คนตัดต่อ TENET และ Ludwig Göransson ที่เคยสกอร์ดนตรีประกอบให้หนัง TENET กับซีรีส์ The Mandalorian 

สำหรับโนแลน เขาเอ่ยปากอยู่เสมอว่าออพเพนไฮเมอร์เป็นบุคคลสำคัญที่สุดในโลกใบนี้ และนี่คือหนึ่งในเรื่องราวยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้ นั่นทำให้เขาเลือกนักแสดงที่โดดเด่นและมีฝีมือมารับบทต่าง ๆ ในหนัง เพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกคนสำคัญ ต่อให้มีแอร์ไทม์มากน้อยก็ตาม ซึ่งถ้าให้ร่ายว่ามีใครบ้าง แสดงเรื่องไหนมาก่อนน่าจะใช้เวลายาวนานน่าดู เลยขอละไว้แล้วกันนะครับ

แต่ถึงแม้จะเป็นหนังที่คับคั่งไปด้วยนักแสดงที่มีชื่อเสียงขนาดนี้ และมีความเป็นโปรเจกต์สุดทะเยอทะยานปานนี้ Oppenheimer ใช้ทุนสร้างเพียงแค่ 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าเป็นหนังทุนสูงที่สุดอันดับ 4 ตั้งแต่เขาเคยทำหนังมา แต่ก็ยังน้อยถ้าเทียบกับหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่มีนักแสดงแน่นขนาดนี้ ทั้งยังถ่ายทำเพียงแค่ภายใน 57 วันเท่านั้น

หนัง Oppenheimer ได้เรท R เพราะมีฉากเซ็กซ์โจ่งแจ้งและคำหยาบคายเข้ามาเกี่ยวข้อง แน่นอนว่าเป็นเรื่องแปลกที่หนังคริสโตเฟอร์ โนแลน จะมีคำว่า ‘F*ck’ หรืออะไรทำนองนี้ แต่มันก็เป็นไปได้มากกว่าที่จะมีฉากเซ็กซ์และก็เกิดขึ้นแล้ว โดยโนแลนให้เหตุผลว่าฉากเซ็กซ์ฉากนี้ (ไปดูแล้วจะรู้ทันทีว่าฉากไหน) มีความสำคัญกับธีมเรื่องเป็นอย่างมาก เพราะในการถ่ายทอดเรื่องราวและมุมมองชีวิต แง่มุมด้านเพศ การปฏิบัติตัวกับผู้หญิงของเขา และการบริหารเสน่ห์สไตล์ออพปี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์กับ จีน แททล็อก ที่เป็นคอมมิวนิสต์ และความสัมพันธ์ของทั้งคู่กระทบกับชะตาชีวิตวัยผู้ใหญ่ของ Oppenheimer ในทุก Arc สิ่งนี้เลยสำคัญอย่างยิ่งเพื่อที่จะเห็นข้างในความสัมพันธ์อันเข้มข้นของทั้งสองอย่างใกล้ชิด แนบติด ไม่ผิดประเด็น และเข้าใจว่าทำไมความสัมพันธ์นี้ถึงสำคัญกับเขานัก

ดูเหมือนว่าโนแลนคิดถูก เพราะเราเข้าใจไม่ผิดเกี่ยวกับความสำคัญของฉากเซ็กซ์ฉากนี้ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายซะทีเดียวครับ ในเมื่อมันใหม่มาก ๆ สำหรับโนแลน ตัวช่วยที่ดีคือการที่รู้จัก คิลเลียน เมอร์ฟี มานาน การสื่อสารเลยทำได้ง่าย รวมไปถึงการที่ได้ ฟลอเรนซ์ พิวจ์ (Florence Pugh) มารับบท จีนด้วยครับ โนแลนชมทั้งคู่ว่าอย่างไม่ขาดสายว่ามืออาชีพมาก ทำให้การทำงานสะดวกโยธินไปหมด นั่นคือสาเหตุที่ทำไมโนแลนถึงให้ความสำคัญกับการแคสต์นักแสดงเป็นอย่างมาก

ถึงจะมาแปลก แต่ก็ยังคงไว้ซึ่ง ‘ความโนแลน’ เช่นเคย เพราะถ้าเล่าตรง ๆ คงไม่ใช่เขา แม้ก่อนดูจะคาดเดาเอาไว้ว่าเดี๋ยวมีไทม์ไลน์อดีต-อนาคตอีกแน่ หรือเล็งไว้ว่าจะมาไม้ไหนอีกนะ จากที่ที่ผ่านมาเคยทั้งหน้า-หลังสวนกันมาแล้ว หรือจะเป็นตัดสลับหลายไทม์ไลน์พร้อม ๆ กัน หรือฝันซ้อนฝันก็เคยทำมาแล้ว 

สรุปแล้วผิดคาด หนังเรื่องนี้แบ่งเป็นการเล่าเรื่องแบบสีกับขาวดำ โดยโนแลนอธิบายไว้ว่าเขาใช้การมีสี-ไม่มีสีเอาไว้แยกไทม์ไลน์ แต่จะต่างกับที่เคยทำมาตรงที่เป็นการทำเสนอ Perspective ภาพสีโฟกัสที่มุมมองแบบอัตวิสัย (Subjective) หรือมองโลกผ่านตาเขาด้วยการเล่าผ่าน Point of View ของออพเพนไฮเมอร์ ในขณะที่ขาวดำเป็นมุมมองวัตถุวิสัย (Objective) หรือเล่าจากมุมมองของตัวละคร ลิวอิส สเตราส์ (Lewis Strauss) รับบทโดย โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Robert Downey Jr.) ผมจะขอเรียกย่อ ๆ ต่อจากนี้ว่า RDJ) ที่สุดท้ายแล้วไทม์ไลน์ทั้งสองจะมาบรรจบกัน

จากชีวิตบุรุษอัจฉริยะผู้นำความตายมาสู่โลกใบนี้ สู่ Oppenheimer หนังใหม่ของคริสโตเฟอร์ โนแลน

สำหรับหนังเรื่องนี้ จุดขายหลังของคริสโตเฟอร์ โนแลน คือตัวละคร เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ และการขับเน้นประสบการณ์การดูหนังในโรงขั้นสุดด้วยกล้อง IMAX ที่แทบจะมาคู่กับโนแลนไม่ต่างกับชื่อของ หลุยส์-จอนนี่ หรือ โฟร์-มด และแน่นอนที่ขาดไม่ได้ นั่นคือความสมจริงแบบโน CGI ที่ต้องขอขีดเส้นใต้เน้นหนัก ๆ 

ว่าด้วยเรื่อง IMAX กันก่อน จริง ๆ แล้วคริสโตเฟอร์ โนแลน ก็ไม่เคยถ่ายหนังด้วยกล้องฟิล์มที่มี Run Time ยาวเฟื้อย 3 ชั่วโมงและบทยาว 180 หน้าขนาดนี้เหมือนกันครับ (มากสุดที่เคยก็ Interstellar) แต่สำหรับผู้กำกับคนนี้ ‘Sky is the Limit’ อยู่แล้ว ผลคือเราได้หนังที่ถ่ายด้วยฟิล์ม IMAX 65 มม. โดยเมื่อนำมายืดตรง ๆ จะยาวถึง 17.7 กิโลเมตร (แม่เจ้า) และหนัก 272 กิโลกรัม ชนิดที่เกือบใส่เครื่องฉายไม่ได้เลยทีเดียว เท่านั้นยังไม่พอ ด้วยความที่หนังเป็นสีสลับขาว-ดำ แต่ IMAX ไม่มีฟิล์มขาว-ดำ นั่นทำให้ Oppenheimer กลายเป็นหนังเรื่องแรกที่ใช้ฟิล์ม IMAX ขาว-ดำที่สั่ง Kodak ผลิตโดยเฉพาะ

หนังเรื่องนี้โนแลนตั้งใจถ่ายด้วยฟิล์ม IMAX 65 มม. เพื่อที่คนดูจะได้เข้าไปในหัวของออพเพนไฮเมอร์ สัมผัสถึงงานภาพที่มีความคมชัดในดีเทลใบหน้านักแสดง ฉาก มีความสว่าง ความลึก และทำให้อินกับมันได้กับหนังราวกับหน้าจออันตรธานหายไป แล้วเราไปอยู่ตรงนั้นซะเอง หรือได้รับประสบการณ์แบบ Immersive Experience เหมือนดูหนัง 3D โดยไม่ต้องใส่แว่น แถมความโหดอยู่ตรงที่หนังมีความชัดระดับ 18,000 พิกเซล ซึ่งต่างกับที่เราดู 1K, 2K หรือ 4K เป็นอย่างมาก นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากถ้าได้ดูในโรงฉายฟิล์ม 70 มม. หรือต่อให้แปลงมาเป็นดิจิทัล ก็ต้องบอกว่ายังคงเป็นงานภาพเหนือชั้นมาก ๆ อยู่ดีครับ

เปิดชีวิต J. Robert Oppenheimer บุรุษอัจฉริยะ บิดาแห่งระเบิดปรมาณู สู่ภาพยนตร์ยาวที่สุดของคริสโตเฟอร์ โนแลน

ส่วนในเรื่องของ CGI นั้น โนแลนประกาศอย่างมั่นใจว่าเรื่องนี้ ‘No CGI Shot’ หรือไม่มีเลยแม้แต่ช็อตเดียวครับ เหตุผลเพราะเขามองว่ามันคว้าจับคนดูให้เชื่อไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งซีจีจะทำให้คนรู้สึกปลอดภัยหรือไม่รู้สึกถึงอันตรายได้ ในขณะที่แม้มันจะเป็นเรื่องยาก เขาต้องการนำเสนออันตรายขั้นสุด ความหวาดกลัว หรือการถูกคุกคามให้แก่คนดู เรื่องนี้จึงต้องเน้นสมจริงกว่าที่เคย พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาด้วยว่า คนดูในโรง IMAX ต้องรับรู้ถึงความสั่นสะเทือนราวกับไปอยู่ตรงนั้นเอง ซึ่งแน่นอนว่ารวมไปถึงฉาก Trinity Test หรือฉากทดลองระเบิดนิวเคลียร์ที่คนรอคอยด้วย 

ใช่ครับ นั่นคือระเบิดของจริง เพราะเขาเคยรู้สึกเฟลกับตัวเองมาแล้วที่ตอนจบ The Dark Knight Rises พอใช้ซีจียานระเบิดแล้วทำให้คนเชื่อไม่ได้ ครั้งนี้โนแลนไม่ต้องการแบบนั้น ขอแก้มือหน่อยแล้วกัน

คนแรก ๆ ที่คริสโตเฟอร์ โนแลน ไปคุยด้วยหลังเขียนบทเสร็จคือ แอนดริว แจ็กสัน (Andrew Jackson) ทำหน้าที่เป็น VFX Supervisor ของหนังเรื่องนี้ที่เคยทำให้ Dunkirk มาก่อน กับ สก็อตต์ ฟิชเชอร์ (Scott Fisher) เป็นคนทำสเปเชียลเอฟเฟกต์ โนแลนแสดงความต้องการ แอนดริวกับสก็อตต์ยิ้มหึ ๆ อย่างเข้าใจ และจัดให้ท่านศาสดาด้วยการทำช็อตตั้งแต่ระดับเล็กจิ๋วอย่างช็อตอะตอมและปฏิกิริยาทางเคมีที่แทรกมาตลอดเรื่อง เพื่อบิวต์ให้สัมผัสได้ถึงภัยคุกคามที่กำลังมา ไปจนถึงฉากใหญ่ ๆ อย่างฉาก Trinity Test เป็นการผสมระหว่างแมกนีเซียมกับดินดำ แล้วใช้แก๊สเป็นตัวจุด 

ความน่าตื่นเต้นอยู่ตรงที่ทุกคนในกองถ่าย รวมถึงผู้กำกับและนักแสดงก็ได้ยืนอยู่ที่นิวเม็กซิโกคล้าย ๆ กับในเรื่อง (ฉาก ลอส อลามอส แต่เป็นคนละที่กับสถานที่จริงนะครับ ถูกเซตขึ้นมาทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันตรงนั้นเจริญแล้ว) ต้องสร้างใหม่แทบทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่พัก ที่หลบภัย และกำลังจะต้องทดลองระเบิดตอนใกล้รุ่งสางในแบบคล้ายกันอีก แน่นอนว่าทีมงานก็พากันตึงเครียด แต่สุดท้ายมันก็ผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งนั่นเป็นเหมือนเครื่องการันตีแล้วว่า ความตั้งใจของโนแลนในการทำสิ่งนี้สัมฤทธิผลกับคนที่ไปดูในโรง โดยเฉพาะโรง IMAX 

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือโปรดักชัน เพราะในทีแรก แพลนเดิมตั้งใจจะไปถ่ายกันที่บ้านของออพเพนไฮเมอร์จริง ๆ ที่นิวเม็กซิโก กับออฟฟิศจริงของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ รวมถึงทำการทดลองระเบิดกันตรงที่มีการทดลอง Trinity Test จริง ๆ แต่เนื่องจากสถานการณ์ไม่เป็นใจ และตรงนั้นกลายเป็นฐานทัพทหารไปแล้ว สุดท้ายโปรดักชันดีไซเนอร์เลยต้องเนรมิตเมืองขึ้นมากลางทะเลทราย และยังมีความโนแลนอีก คือใช้นักวิทยาศาสตร์ตัวจริงมาเข้าฉาก (ลองคิดดูสิครับว่า คิลเลียน เมอร์ฟี จะกดดันขนาดไหน)

เปิดชีวิต J. Robert Oppenheimer บุรุษอัจฉริยะ บิดาแห่งระเบิดปรมาณู สู่ภาพยนตร์ยาวที่สุดของคริสโตเฟอร์ โนแลน

สำหรับการกำกับหนังชีวประวัติครั้งแรก แม้คริสโตเฟอร์ โนแลน จะเคยกำกับ Dunkirk ซึ่งเป็นแนวประวัติศาสตร์และดูจะใกล้เคียงกับ Non-fiction ที่สุดมาแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ทั้ง 2 เรื่องแตกต่าง คือโนแลนสร้างตัวละครสมมติขึ้นมาใน Dunkirk เพื่อเป็นตัวนำพาหรือเป็นศูนย์กลางเนื้อเรื่องให้กับคนดู ในขณะที่หนัง Biography คือคนละเรื่อง เพราะเขาจะต้องทำความเข้าใจถึงตัวตนออพเพนไฮเมอร์ เรื่องราวที่เขาเจอมา สถานการณ์ความขัดแย้ง ความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกต่าง ๆ และต้องเข้าใจด้วยว่าเขาไปพัวพันกับเรื่องดราม่าได้ยังไง อะไรในชีวิตที่น่าตื่นเต้นหรือน่าเบื่อ เพื่อถ่ายทอดในแบบ Non-fiction และให้เที่ยงตรงกับเรื่องจริงมากที่สุด

ความยากลำบากอย่างหนึ่งในฐานะคนทำหนังชีวประวัติหน้าใหม่ที่โนแลนค้นพบ คือการเลือกที่จะ ‘เลือก’ หรือ ‘ไม่เลือก’ ว่าจะใช้หรือไม่ใช้สิ่งใดในหนังสือ 700 กว่าหน้า แล้วนำมาเรียงร้อยกันให้เป็นสตอรี่ โดยที่ต้องสนุก น่าตื่นเต้น และเอาคนดูให้อยู่ตลอด 3 ชั่วโมง (ซะด้วย)

ไม่บอกก็รู้ได้หลังจากดูหนังว่าโนแลนทำการรีเสิร์ชมาค่อนข้างหนักหน่วง เพราะเรื่องราวทั้งในระดับบุคคล วิทยาศาสตร์ และการเมืองนั้นช่างอัดแน่น และเขาดูจะอ่านหนังสือ ทำการบ้านมาดี นอกเหนือจากการอ่าน American Prometheus เพราะมีดีเทลอีกหลายจุดที่ไม่ได้มีอยู่ในหนังสือ เพราะหนังสือเน้นไปที่ออพเพนไฮเมอร์เป็นหลัก ตัวอย่างเช่นมุมมองของตัวละคร สเตราส์ ซึ่งเก็บข้อมูลให้เยอะที่สุดเท่าที่ทำได้แล้วทำการดัดแปลงตีความในทางของตัวเองโดยยังอิงคำพูดและนิสัยตัวละครเป็นพื้นฐาน หรือแม้กระทั่งดีเทลเล็ก ๆ ไว ๆ จากตัวละครที่ตัวจริงเป็นบุคคลสำคัญแต่ไม่ได้มีแอร์ไทม์มากนัก

โนแลนให้ความสำคัญกับการรีเสิร์ชเป็นอย่างมาก มันจะต้องถูกต้องและสมจริงที่สุด เหมือนที่ในหนังเรื่องผ่าน ๆ มาเขาปรึกษาเหล่า ‘ตัวจริง’ อยู่บ่อยครั้งไม่ว่าจะหนังเรื่องไหน โนแลนปล่อยให้ประวัติศาสตร์ไกด์เขามากกว่าเขาไกด์ประวัติศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการถ่ายทอดประสบการณ์ความบันเทิงในแบบที่มีความหมาย แน่นอนว่ากับเรื่องนี้ที่มีนักวิทยาศาสตร์มาเข้าฉาก โนแลนก็ได้ปรึกษานักวิทยาศาสตร์ตัวจริงในการเขียนบทเช่นกัน สิ่งหนึ่งที่เขาเรียนรู้ คือจะต้องรู้ว่าสิ่งไหนที่ต้องทำตามคำแนะนำ และสิ่งไหนเป็นหน้าที่ที่จะรังสรรค์มันออกมาเอง ที่แน่ ๆ เขาค่อนข้างเชื่อว่าเมื่อมีนักวิทย์มาให้คำปรึกษาแล้วขึ้นสุดลงสุดไปด้วยกันได้หากจำเป็น เพราะมันคือใจความของหนัง Oppenheimer ‘การหาสิ่งที่ใช่’ และ ‘เที่ยงตรง’

คิลเลียนกับโนแลน 

แน่นอนว่าที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการร่วมงานแห่งศตวรรษ ซึ่งแฟนผู้กำกับนักแสดงคู่นี้หวังให้เกิดขึ้นมาตลอด ผมจะขออุทิศ 1 ย่อหน้าให้กับทั้งสองคนโดยเฉพาะ เพราะกว่าจะมาถึงจุดที่คิลเลียนเป็นพระเอกได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ 

เปิดชีวิต J. Robert Oppenheimer บุรุษอัจฉริยะ บิดาแห่งระเบิดปรมาณู สู่ภาพยนตร์ยาวที่สุดของคริสโตเฟอร์ โนแลน

เท้าความสักนิดว่า คิลเลียน เมอร์ฟีย์ กับ คริสโตเฟอร์ โนแลน รู้จักกันครั้งแรกตอนที่คิลเลียนไปออดิชันบท บรูซ เวย์น ในหนัง Batman Begins เมื่อตอนนั้นคิลเลียนไม่ได้โด่งดังเป็น ทอมมี่ เชลบี้ เหมือนทุกวันนี้ แต่เป็นนายโนเนมที่ไหนไม่รู้จากหนัง 28 Days Later ประเด็นคือโนแลนเคยเห็นคิลเลียนกับผมสกินเฮดและดวงตาที่สะกดคนมอง เขาถึงกับอึ้งอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะไปสืบหาว่านายคนนี้คือใคร ทำอะไรมาบ้าง และตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่จะได้เจอเขา เลยชวนเขามาเทสต์หน้ากล้อง ในขณะที่คิลเลียนเป็นแฟนโนแลนที่ตามดูหนังเรื่องแรก ๆ อย่าง Following, Insomnia และ Memento อยู่แล้ว มีหรือจะไม่ตอบตกลง หลังจากที่ทั้งคู่ได้เจอกันและมีโอกาสไปดินเนอร์กัน ก็รู้ได้ทันทีจากเคมีที่ตรงกันว่าอีกคนทำอะไรได้แค่ไหน

ความลับที่เราได้ยินมาหลายปีถูกเปิดเผยว่าโนแลนไม่ได้ตั้งใจให้คิลเลียนเป็นแบทแมนแต่แรก และเขาคิดว่าคิลเลียนรู้ว่าบทจะเป็นของ คริสเตียน เบล แต่ที่เขาให้มา เพราะต้องการถ่ายคิลเลียนด้วยกล้อง 35 มม. เพื่อให้ทุกคนเห็นว่านักแสดงโนเนมคนนี้น่าสนใจแค่ไหน กลายเป็นว่าทุกคนในห้องนั้นตื่นเต้นเป็นอย่างมาก และโนแลนก็ถือโอกาสนี้ขายให้คิลเลียนมารับบทเป็นวายร้าย สแกร์โครว (Scarecrow) แทน นั่นคือครั้งแรกที่ทั้งคู่ได้เริ่มงานกันครับ

จากบทบาทวายร้ายในไตรภาค The Dark Knight ที่โชว์แต่ลูกตาซะส่วนใหญ่ บททายาทบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นเป้าหมายการอินเซปชันใน Inception กับทหาร PTSD ใน Dunkirk ที่คิลเลียนพูดขำ ๆ ว่า ขอเล่นบทอื่นบ้างได้มั้ย ในที่สุดก็ถึงคราวที่วันหนึ่งโนแลนโทรไปหาคิลเลียนแบบไม่แจ้งล่วงหน้าแล้วชวนเขามารับบท ‘ตัวเอก’ ด้วยการบอกว่า “ผมจะให้คุณเล่นเป็นออพเพนไฮเมอร์ คราวนี้คุณจะต้องแบกหนังทั้งเรื่องนะ ได้เวลาโชว์แล้วว่าคุณทำอะไรได้บ้าง” คิลเลียนถึงกับอ้าปากค้าง นั่งลง และตอบตกลงอย่างไม่คิด แน่นอนว่าเขาเอาด้วยเสมอไม่ว่าจะบทอะไร น้อย-ใหญ่ แต่ครั้งนี้คือบทนำเลย บทนำในฝันที่เขารอคอยมาตลอดในหนังของโนแลน

เปิดชีวิต J. Robert Oppenheimer บุรุษอัจฉริยะ บิดาแห่งระเบิดปรมาณู สู่ภาพยนตร์ยาวที่สุดของคริสโตเฟอร์ โนแลน

ความเป็นจริงอีกฝั่ง คือเขาไม่มีภาพของใครอยู่ในหัวเลยขณะเขียนบท แต่เมื่อเขาเขียนบทเสร็จแล้ว ทุกอย่างมันชัดมาก ๆ โนแลนจ้องไปที่หน้าปกหนังสือ American Prometheus เป็นเดือน ๆ ได้เห็นภาพขาว-ดำกับดวงตาสีฟ้า เขารู้ทันทีว่ามีคนเดียวที่จะเล่นบทนี้ได้ คิลเลียน เมอร์ฟี ผู้ที่เคยเล่นเป็นนักฟิสิกส์สร้างระเบิดมาแล้วในหนัง Sunshine 

ทันทีที่ตกลงปลงใจกันเรียบร้อย โนแลนบินไปหาคิลเลียนที่ไอร์แลนด์เพื่อเอาบทไปให้เขาอ่านถึงที่ เมื่ออ่านจบ เขาบอกกับคิลเลียนว่า เขาไม่ได้ต้องการหาคนที่จะมาเล่นเลียนแบบเป็นออพเพนไฮเมอร์ แต่ต้องการคนที่ตีความและสร้างตัวละครเป็นของตัวองขึ้นมา โดยบอกคนดูได้ว่าความรู้สึกที่เฝ้าดูผ่านหัวตัวละครนี้เป็นยังไง เพราะเรากำลังทำหนังดราม่า ไม่ใช่หนังสารคดี นั่นทำให้คิลเลียนมากองถ่ายวันแรกด้วยข้อมูลและการตีความส่วนตัว ซึ่งทำให้โนแลนไม่ผิดหวังที่เลือกนักแสดงคนนี้มารับบทออพเพนไฮเมอร์ 

คิลเลียนอ่านหนังสือ American Prometheus กับคัมภีร์ภควัทคีตาตามออพเพนไฮเมอร์ตัวจริง เพื่อเข้าไปอยู่ในหัวของเขา แล้วลองดูว่าเขามองโลกด้วยเลนส์แบบไหน แม้จะไม่เข้าใจฟิสิกส์เหมือนกัน (ถึงในเรื่องจะดูเซียนและต้องแสดงต่อหน้านักวิทย์ตัวจริงก็เถอะ) คิลเลียนทุ่มเวลาเรียนภาษาดัตช์เพิ่มเติม (เหมือนออพเพนไฮเมอร์ตัวจริงเลยครับที่เรียนภาษานี้ในเวลา 6 สัปดาห์ เพื่อไปงานบรรยายที่ประเทศเนเธอร์แลนด์) ซึ่งนอกจากอะไรเหล่านี้แล้ว สิ่งที่คิลเลียนทำ คือกินอัลมอนด์วันละ 1 เม็ด เพื่อลดน้ำหนัก อดอาหาร สูบบุหรี่ปลอม ไม่ออกไปไหน และไม่คุยกับผู้คน เพราะต้องทำการบ้านให้หนักที่สุดเพื่อเล่นบทนี้

แมตต์ เดมอน (Matt Damon) เองก็เป็นอีกคนที่อยากร่วมงานกับโนแลน หลังจากเคยได้ร่วมงานกันมาแล้วใน Interstellar ถึงขนาดที่ยอมล้มเลิกความตั้งใจที่จะพักการแสดงพักใหญ่ไป เพราะโนแลนคือข้อยกเว้นที่ถ้าหากพลาดเขาจะเสียใจภายหลัง ในขณะที่ฝั่งของ RDJ นั้นก็ไม่แพ้กัน จากปกติที่เป็นสายดอง เขารีบรับโทรศัพท์และตอบตกลงทันที แม้จะไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครมากนัก โนแลนมองว่า RDJ เป็นหนึ่งในนักแสดงยอดเยี่ยมที่สุด และเขาต้องการให้ RDJ ลองอะไรใหม่ ๆ และแตกต่างและสเตราส์ก็เป็นบทสำคัญที่ต้องใช้พลังนักแสดงเบอร์นี้

การให้ด้นสด มุมมองบุคคลที่ 1 และการดูอย่างไม่ตัดสิน

ทุกอย่างอยู่ในหัวของโนแลนหมด เพราะเขาเห็นภาพในหัวชัดเจนราวกับตัดต่อเสร็จแล้ว แต่เพื่อความแน่นอนใจว่าทุกอย่างจะเวิร์ก Oppenheimer จึงเป็นหนังประเภทถ่ายไปตัดไป หรืออย่างน้อย ๆ ก็เอาฟุตเทจมาเรียงและตัดต่อคร่าว ๆ ให้เห็นภาพว่าไดเรกชันจะยังคงมุ่งไปในเส้นทางที่เขาตั้งใจไว้หรือดีกว่า ไม่มีแย่กว่า

เปิดชีวิต J. Robert Oppenheimer บุรุษอัจฉริยะ บิดาแห่งระเบิดปรมาณู สู่ภาพยนตร์ยาวที่สุดของคริสโตเฟอร์ โนแลน

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ สิ่งหนึ่งที่ไม่คิดว่าเพอร์เฟกชันนิสต์อย่างเขาจะอนุญาตที่เกิดขึ้นคือ ‘การด้นสด’ (นี่ถือเป็นหนังที่ทลายกำแพงหลาย ๆ อย่างของโนแลนเลยนะครับเนี่ย) เพราะพอให้การบ้านนักแสดงไป โนแลนพบว่าแต่ละคนทำการบ้าน รีเสิร์ชมาในแบบของตัวเอง และน่าสนใจไม่น้อยที่จะให้ลองดูเผื่อจะเจอเซอร์ไพรส์ และเขาก็เจอจริง ๆ ครับ 

ซีนด้นสดยก ตัวอย่างเช่น ซีนนักวิทยาศาสตร์คุยกัน หรือซีนที่ เจมส์ เรมาร์ (James Remar) คนที่รับบทเป็น เฮนรี่ สติมสัน เลขาธิการของทรูแมนพูดถึงเรื่องการพาภรรยาไปฮันนีมูนที่เกียวโต โนแลนจึงบอกให้ขีดฆ่าเมืองเกียวโตในแผนที่ออกจากรายชื่อเมืองที่จะทิ้งระเบิด ดังเช่นฉากที่เราได้เห็นในหนังกันไป

และกับหนังเรื่องนี้ โนแลนได้ทำสิ่งที่เขาไม่เคยทำมาก่อนอีกอย่าง (และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเคยมีคนทำมาก่อนหรือไม่) นั่นคือการเขียนบทในมุมมองของบุคคลที่ 1 ครับ ก่อนหน้านี้ได้พูดไปบ้างแล้วในเรื่องที่แบ่งไทม์ไลน์เป็นสีขาว-ดำ เรื่องนั้นก็เกี่ยวข้องกับเรื่องบุคคลที่ 1 ด้วยเช่นกัน 

อย่างเช่นจากที่ปกติบทจะต้องเขียนว่า ‘ออพเพนไฮเมอร์เดินเข้าไปในห้อง’ บทที่โนแลนเขียนจะเป็น ‘ผมเดินเข้าไปในห้อง’ เขาให้เหตุผลที่ทำแบบนี้ไว้ว่า เป็นวิธีแยกให้ออกว่าไทม์ไลน์ไหนคือไทม์ไลน์ไหน ในมุมมองออพเพนไฮเมอร์ที่คนดูจะได้เห็นสิ่งที่เขาเห็น ได้ยินในสิ่งที่เขาได้ยิน รู้สึกในสิ่งที่เขารู้สึก หรือรับรู้เรื่องราวและมุมมองในฐานะที่คนดูเป็นผู้สังเกต นั่นคือสาเหตุที่ทำไมถึงไม่มีการแทรกภาพหรือฟุตเทจที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ โนแลนให้เหตุผลหลักว่า ในชีวิตจริงออพเพนไฮเมอร์รับรู้เรื่องนี้ผ่านวิทยุเหมือนกับคนอื่นทั้งโลก มีแต่เราที่รู้มากกว่าเขา

คริสโตเฟอร์ โนแลน ไม่ต้องการให้ใครมานั่งข้าง ๆ แล้วตัดสินออพเพนไฮเมอร์ แต่ต้องการให้เผชิญเรื่องราวต่าง ๆ ไปพร้อมกับเขา ประสบพร้อมกัน ตั้งคำถามศีลธรรมไปด้วยกัน และเข้าอกเข้าใจไม่ว่าเขาจะเป็นคนยังไง หรือชีวิตเขาจะดีจะร้าย จะสุขจะทุกข์ โดยโนแลนหวังผลให้คนดูรู้สึกแตกต่างกันกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและคำถามต่าง ๆ จนเกิดเป็นความไม่สบายใจ ซึ่งสำหรับเขาแล้ว ออพเพนไฮเมอร์คือศูนย์กลางของเหตุการณ์ที่จะเปลี่ยนโลกไปตลอดกาล และเรากำลังอาศัยอยู่ในโลกของเขา ไม่ว่าจะรู้หรือเต็มใจหรือไม่ การที่มองว่าชายคนนี้สำคัญที่สุดในโลกแบบนี้ทำให้โนแลนมีหลักสำคัญเอาไว้ยึด และสร้างฉากจบของ Oppenheimer ได้ตั้งแต่เริ่มเขียนบทเนิ่น ๆ จากนั้นก็ทำการโยงเส้นประเข้าหาฉากจบนั้นอย่างแข็งแรง

เปิดชีวิต J. Robert Oppenheimer บุรุษอัจฉริยะ บิดาแห่งระเบิดปรมาณู สู่ภาพยนตร์ยาวที่สุดของคริสโตเฟอร์ โนแลน

“มันอาจเป็นประโยชน์หากเราใช้ศัพท์คำว่า ‘น่ากลัว’ ในความหมายเชิงเดียวกับ ‘ความบันเทิง’ ซึ่งดูเหมือนจะย้อนแย้งกัน และแน่นอนครับ เป็นเรื่องที่ไม่สบายใจเล็กน้อยถ้าจะพูดคุยกันถึงคำว่าบันเทิงในเมื่อมันเกี่ยวข้องกับเรื่องซีเรียสเช่นนี้ แต่สยองขวัญเป็นตระกูลที่แข็งแรงพอ ๆ กับดราม่า โรแมนติก คอมเมดี้ และอื่น ๆ หนังจะเป็นอะไรก็ได้ และเมื่อเราพูดถึงความบันเทิงในหนัง เราไม่จำเป็นต้องมองว่ามันตลก น่าหัวเราะ หรือแฮปปี้เสมอไป เราแค่พูดถึงการปฏิสัมพันธ์กัน เรากำลังพูดถึงเรื่องราวที่เข้มข้นและดราม่าที่ตราตรึง รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะอ้าปากค้าง” คริสโตเฟอร์ โนแลน กล่าวถึงสาเหตุที่เลือกนำเสนอเรื่องราวนี้สู่สายตาคนดู และช่วยเคลียร์ชัดว่าเราควรรู้สึกยังไงกับการดู Oppenheimer 

แต่จากที่มองเห็น การเล่าในมุมมองบุคคลที่ 1 สลับกับมุมมองจากภายนอก ดูเป็นจุดเด่นและจุดสำคัญของหนัง Oppenheimer ไม่น้อยไปกว่าแรงสั่นสะเทือนของระเบิดในโรง IMAX และการที่หนังเรื่องนี้ No CGI เลยครับ เมื่อฟังแบบนี้แล้ว เป็นไปได้ว่านั่นคือเหตุผลที่หนังต้องมีไดนามิกสูงอยู่ตลอดเวลา

ในแง่หนึ่ง อาจกลัวคนดูเบื่อกับหนังชีวประวัติ กับอีกแง่คือการที่เน้นทุกอย่าง และต้องใช้สมาธิคนดูขั้นสูงสุดในการจดจ่อกับซับไตเติลและภาพตลอด 3 ชั่วโมง จนไม่มีเวลา โอกาส หรือจังหวะแทรกความคิดตัวเองเข้าไปตัดสินได้เลย เราจะรับรู้ได้ก็ต่อเมื่อหนังนำเสนอเท่านั้น ไม่ตัดสินย้อนหลัง ไม่คิดล่วงหน้า ว่าจริง ๆ แล้วนี่เป็นเรื่องราวที่ถูกหรือผิด ตัวเอกเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย เห็นแต่ความเป็นมนุษย์ของอัจริยะผู้หนึ่งที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ และเรื่องราวที่ชวนให้นึกถึงคำถามเชิงศีลธรรมและการตัดสินใจในเส้นทางชีวิตของคน ๆ หนึ่งเพียงเท่านั้น Oppenheimer ฉายแล้ววันนี้ ทุกโรงภาพยนตร์ครับ

ข้อมูลอ้างอิง
  • www.hollywoodreporter.com
  • www.cbsnews.com
  • www.insider.com
  • www.ign.com
  • ew.com
  • www.vanityfair.com

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ