“เหี้ยแล้ว”
“สมัยก่อนเขาไม่ทำกันแบบนี้”
“พี่ไม่ได้สนใจเลย”
“ชนงานคนอื่นไม่ว่า งานตัวเองยังจัดชนกันเองด้วย”
พี่ ๆ น้อง ๆ ในวงการเพลงที่เราคุยด้วย หล่นนานาทัศนะสิ่งที่จะเกิดในวันเสาร์นี้
ว่ากันว่านี่คือปีทองของคอนเสิร์ต ดูจะเป็นเรื่องดี
แต่ไม่คิดว่าจะดีขนาดนี้
28 ตุลาคม เราจะได้ดูคอนเสิร์ตดังต่อไปนี้
- Heineken Experience Silver Presents WHAT THE DUCK FAMILY & FRIENDS PARTY
- 2023-2024 BamBam THE 1ST WORLD TOUR [AREA 52] in BANGKOK
- ไทยประกันชีวิต presents GRAMMY RS CONCERTS HIT100
- Steve Vai Live in Bangkok 2023
- LEO Presents Scream Fest
- CHANG MUSIC CONNECTION PRESENTS FATCAT คอนเสิร์ตวันนั้นในแบบวันนี้
นี่แค่กรุงเทพฯ ถ้ารวมต่างจังหวัดด้วย เนื้อหาบทความคงมีแต่รายชื่อคอนเสิร์ต
เกิดขึ้นได้อย่างไร ปัจจัยคืออะไร และจะนำไปสู่อะไร เราพูดคุยกับผู้จัดคอนเสิร์ต ค่ายเพลง แฟนเพลง ถามความเห็นและที่มาที่ไป จนสรุปออกมาเป็นเทรนด์ที่สะท้อนปัจจุบันและอนาคตของวงการเพลงไทยวันนี้

คอนเสิร์ตล้นเพราะโควิด และภาวะฟองสบู่ที่ควรระวัง
วันหนึ่งโลกออนไลน์มี Feed มากมาย โปรโมชันจากแบรนด์ ถ้าไม่เด่นจริงจะถูกกลืนหายง่ายมาก
แบรนด์จึงต้องทำกิจกรรม Offline คู่กันไป หนึ่งในเครื่องมือสำคัญ คือการลงทุนในอุตสาหกรรมดนตรี สปอนเซอร์อีเวนต์คอนเสิร์ตหรือเทศกาล เพราะนอกจากได้สื่อสารแบรนด์ผ่านสื่อโปรโมตออนไลน์ ยังได้เจอลูกค้าตัวเป็น ๆ เห็นผลตอบรับจับต้องได้ผ่าน Google Analytics
โรคระบาดทำให้ลูกค้าเลื่อนการใช้เงิน แต่ไม่ยกเลิก เมื่อประเทศเปิด แบรนด์จึงขนเงินที่เตรียมไว้มาลงกับคอนเสิร์ต และมากเป็นพิเศษในเดือนตุลาคม-ธันวาคม ซึ่งเป็นช่วง ‘Festive’ ที่บรรยากาศใกล้สิ้นปี เหมาะกับการจัดงานรื่นเริงทางดนตรียิ่ง
อีกปัจจัย คือการเดินทางมาเล่นคอนเสิร์ตของศิลปินต่างประเทศ ซึ่งปกติจะวกเวียนมาเล่นในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว ไทยก็เป็นหนึ่งในลิสต์ที่ศิลปินอยากมา
ยกตัวอย่างศิลปินเกาหลีจะชัดเจน ใน 1 รอบการทำงานของศิลปิน จะเริ่มด้วยการออกอัลบัม ซึ่งจะเรียกว่า ‘Come Back’ จากนั้นจะมีกิจกรรมเล็ก ๆ พบแฟนเพลง และจบด้วยทัวร์คอนเสิร์ต เสร็จแล้วศิลปินจะมีเวลาพัก และกลับมาทำงานรอบใหม่
โควิดทำให้การทำงานของศิลปินเกาหลีหายไป 1 รอบ จึงต้องมาจัดทบในช่วง 1 – 2 ปีนี้ ต่อให้คอนเสิร์ตยุคนั้นทำแบบ Virtual ค่ายก็คิดว่าไม่พอ บางวงถือว่าไม่นับเป็นในรอบการทำงานด้วยซ้ำ

อีกปัจจัย คือมีผู้จัดคอนเสิร์ตเยอะขึ้น เดิมมีไม่ถึง 5 เจ้า ตอนนี้ไม่ใช่แค่ผู้จัดคอนเสิร์ต แบรนด์ ค่ายเพลง หรือคนธรรมดาที่มีทุนก็จัดคอนเสิร์ตได้
เราจึงได้เห็นเทศกาลดนตรี CaT eXpo จัด 2 รอบในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้เห็นศิลปินเกาหลีมาเล่นที่ไทยถี่ขึ้น พร้อมกับมีงานที่ไม่เคยจัด อย่างการมอบรางวัลให้ศิลปิน ซึ่งปกติจะจัดที่เกาหลี แต่ปีนี้เราเริ่มเห็นการย้ายประเทศมาจัดที่ไทยแทน
เหตุการณ์ในวันที่ 28 ตุลาคม เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งที่เราได้เห็นเหตุการณ์งานชนกัน และจะเกิดเป็นปกติ ผิดกับเมื่อหลายปีก่อนที่ PR พยายามเลี่ยงไม่ให้งานชนกัน แม้จะเป็นแค่งานแถลงข่าวก็ตาม ถือเป็นมารยาทในวงการ
อย่างไรก็ดี ปีหน้าเราอาจไม่เห็นคอนเสิร์ตถี่เท่านี้ เพราะงานที่อั้นไว้ช่วงโควิดจัดเสร็จแล้ว รอบการทัวร์คอนเสิร์ตกลับมาเป็นปกติดังเดิม
ถ้ามองดูดี ๆ เทศกาลดนตรีหลายแห่งมีรายชื่อศิลปินคล้ายกัน ไม่มีคนใหม่มากนัก งานเยอะก็จริงแต่ศิลปินและคนดูยังจำนวนเท่าเดิม
วงการคอนเสิร์ตอาจอยู่ในภาวะฟองสบู่ ใครอยากทำงานใหญ่ ควรวิเคราะห์แยกแยะให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ

หน่วยธุรกิจ Showbiz ในค่ายเพลงเฟื่องฟู
แรกเริ่ม คอนเสิร์ตที่ค่ายจัดเองถือเป็นกิจกรรมเสริมรายได้ในทางธุรกิจ ไม่ได้จัดทุกเดือน จะมีก็ต่อเมื่อศิลปินดังมากพอ มีแฟนเพลงชัดเจน สปอนเซอร์ไม่ขัดข้อง ถ้ารู้ว่าทำแล้วสำเร็จจึงได้ทำ
ปัจจุบันเมื่อความรู้ในการจัดคอนเสิร์ตขยายตัว ไม่ได้กระจุกอยู่ในบริษัทเดียว ใครก็จัดได้ เราจึงได้เห็นแบรนด์หรือองค์กรจัดงานของตัวเอง เมื่อค่ายเห็น Demand ก็ตั้งแผนก Showbiz ขึ้นเพื่อรับจัดคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมตามสั่ง มีการจ้างพนักงาน Full-time ไม่ได้จ้างคนนอกหรือ Outsource เหมือนก่อน ขนาดขึ้นอยู่กับว่าค่ายเพลงนั้นใหญ่แค่ไหน
บางบริษัทอย่าง GMM Grammy มองไกลถึงขั้นทำให้หน่วย Showbiz ขยายไปจัดงานระดับเทศกาลดนตรี ไม่ได้จัดเฉพาะคอนเสิร์ตศิลปินตัวเอง เพราะเทศกาลรองรับศิลปินต่างค่ายได้ ลดความเสี่ยง ไม่ต้องลุ้นว่าศิลปินในค่ายตัวเองจะดังสม่ำเสมอพอจะจัดคอนเสิร์ตตลอดปีได้หรือเปล่า

ต่อจาก Big Mountain Music Festival เราจึงได้เห็น เชียงใหญ่เฟส เฉียงเหนือเฟส พุ่งใต้เฟส เจ้าใหญ่ลงเอง แบรนด์เห็นโอกาส คนเห็นคุณค่า ทำตามต่อเนื่อง นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเทศกาลดนตรีเติบโตในหลายจังหวัด
ถ้าเทียบสัดส่วนรายได้ ค่ายยังทำเงินจากงานจ้างลูกค้าดีกว่าคอนเสิร์ตของค่ายที่จัดเอง เพราะไม่ต้องแบกต้นทุนและความเสี่ยง กำไรอาจอยู่ที่ราว 30 – 40% ของทั้งหมด
การจัดคอนเสิร์ตเองก็ยังจำเป็น ค่ายมองว่าเป็นการลงทุนในตัวศิลปิน เมื่อเขาและเธอดังถึงจุดหนึ่ง มีแฟนเพลง มีเพลงฮิต การมีคอนเสิร์ตของตัวเองถือเป็นสปริงบอร์ดสำคัญในอาชีพศิลปิน
นอกจากนี้ยังตอบโจทย์ในการสร้างชุมชนหรือคอมมูนิตี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ศิลปินยุคนี้ต้องการเหลือเกิน งานประเภทเทศกาลดนตรีที่ค่ายนำศิลปินไปโชว์ได้มากกว่าหนึ่ง เป็นโอกาสสำคัญของวงเล็กโอกาสน้อยได้ขึ้นโชว์พบคนดูตัวเป็น ๆ ครั้งแรก แถมยังเก็บ Data จากอีเวนต์ไปต่อยอดได้ด้วย

พาร์ตเนอร์คือทางออกในการสร้างประสบการณ์
บางครั้งจังหวะไม่เป็นใจ ผู้จัดเจอปัจจัยลบรอบด้านที่อาจทำให้เทศกาลดนตรีหรือคอนเสิร์ตไม่เข้าเป้า ทางออกยุคนี้ไม่ใช่การดันทุรังทำเอง แต่เป็นการหาพาร์ตเนอร์ผู้เชี่ยวชาญการแก้ปัญหานั้นมาร่วมจัดเพื่อลดความเสี่ยงและทำให้งานดีขึ้น
โซนตลาดและอาหารถือเป็นจุดตายของหลายเทศกาล โดยเฉพาะกับงานกลางแจ้งที่ไม่มีสาธารณูปโภค ทุกอย่างต้องขนมาเองบนพื้นที่เปล่า
ในงาน WHAT THE DUCK FAMILY & FRIENDS PARTY มอย-สามขวัญ ตันสมพงษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเล่าว่าเขาพาร์ตเนอร์ร่วมกับ Good Hood Services ผู้จัด Good Hood Market ตลาดรวมร้านค้าและร้านอาหารจาก Instagram มาจัดแบบ Offline มีแฟนตามชัดเจน เป็นกลุ่มที่เรียกว่า ‘วัยรุ่นเทสต์ดี’ เป็นหนึ่งในผู้จัดตลาดที่มาแรงมากในยุคนี้

การจัดเทศกาลและคอนเสิร์ตยุคนี้ เพลงอย่างเดียวไม่พอ ต้องใส่ใจประสบการณ์ที่คนจะได้รับด้วย
แฟนเพลงหลายคนไม่ได้ไปถึงงานเพื่อรอฟังเพลงอย่างเดียว คอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีหลายงานจะมีแฟนไปถึงแต่ไก่โห่ งาน 6 โมงเย็นอาจไปถึงตั้งแต่เที่ยง
เพราะงานแบบนี้เป็นการพบปะเพื่อนฝูง งานคอนฯ เกาหลีเลยมีจุดถ่ายรูป กิจกรรมจากสปอนเซอร์ที่เปิดก่อนงานเริ่มหลายชั่วโมง เพื่อให้คนมีช่วงเวลาดี ๆ ก่อนเริ่มงาน
บางครั้งแฟนคลับจะจัดกิจกรรมกันเอง เช่น นัดกันใส่เสื้อตาม MV ที่เพิ่งออก โดยจะมีแฟนคลับพี่ใหญ่ช่วยประสานงาน ส่วนมากคือแฟนคลับใน Twitter (X) ที่มีคนตามมากที่สุด เรียกว่า ‘บ้านเบส’ หรือบางทีก็มีการรวมตัวระหว่างหลายบ้านเบส เรียกว่า ‘บ้านยูเนี่ยน’ ในช่วงที่มีงานใหญ่หรือวาระพิเศษมากสำหรับศิลปิน
งานไหนที่ใส่ใจประสบการณ์ในงาน แคร์แฟนคลับ โอกาสที่งานนั้นจะสำเร็จมีสูง

สปอนเซอร์กำลังปรับตัวตามเทรนด์โลก
ไม่มีอีกแล้วการแปะโลโก้เฉย ๆ แบรนด์ส่วนใหญ่ต้องคิดวิธีสปอนเซอร์คอนเสิร์ตในรูปแบบที่ครีเอทีฟ แตกต่าง จึงจะได้ใจแฟน
ฝั่งผู้จัดก็ขายงานพร่ำเพื่อไม่ได้ เพราะคู่แข่งเยอะ ต้องมองให้ออกว่าสิ่งที่แบรนด์กำลังสื่อสารไปด้วยกันกับเนื้อหาในงานหรือเปล่า
ยกมาสักตัวอย่าง เช่น งาน FatCat ของ Cat Radio นำวงอินดี้วันนั้นที่หลายคนคิดถึงมาเล่นวันนี้ เปรียบเสมือนงานรวมตัวของเพื่อนเก่ามาเจอกัน สปอนเซอร์คือ Chang ซึ่งพูดเรื่องความเป็นเพื่อนเหมือนกัน ต้องตอบโจทย์แบบนี้จึงจะลงตัว
บางแบรนด์พยายามคิดกิจกรรมหรือทำสินค้าใหม่ที่เน้นกลุ่ม Music Lover โดยเฉพาะ เช่น การเล่นกับเทรนด์แผ่นเสียงไวนิล ทำสินค้าพิเศษที่แฟนเพลงน้ำลายหก
ตลาดโตขึ้น คนมองออกแล้วว่าสปอนเซอร์เจ้าไหนมาแบบตั้งใจจริง เจ้าไหนมาแค่ฉาบฉวย ใครมองโอกาสนี้ออกย่อมได้เปรียบ

ปรากฏการณ์วงพราว วงเก่าแค่ไหนเด็กก็รู้จัก
ในตลาดศิลปินอินดี้มีเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ คือการรวมตัวของวงรุ่นใหญ่อย่าง พราว ที่ทำให้แฟนเพลง Gen Z และ Alpha หลงรัก
บูม-บรกรณ์ หลงสวาสดิ์ จาก CaT Radio เล่าว่า พราวห่างหายจากคอนเสิร์ตไปนาน กลับมาขึ้นเล่นในงาน CAT TSHIRT สร้างปรากฏการณ์เสื้อ Sold Out รวดเร็วราวกับศิลปินเกาหลี จากนั้นเราจึงได้เห็นการจัดคอนเสิร์ตเจาะตลาดแนว ‘โตมาด้วยกัน’ มากขึ้นเรื่อย ๆ
ในอดีต วงรุ่นเก่าจะมีฐานแฟนเพลงชัดเจน ไม่มีหน้าใหม่มากนัก เพราะไม่มีคนรู้จัก แต่โซเชียลมีเดียและสตรีมมิงทำให้เด็กรู้จักศิลปินง่ายขึ้น หากพวกเขาคิดว่าใครน่าสนใจ มีของ โดยเฉพาะวงที่ถูกยกให้เป็นตำนานในอดีต พวกเขาก็จะตามไปฟังและศึกษา เกิดฐานแฟนเพลงรุ่นใหม่อย่างรวดเร็ว
ในต่างประเทศ ตัวอย่างที่น่าสนใจคือเคสของวงร็อกรุ่นใหญ่อย่าง Metallica ที่เด็กรู้จักจากตัวละครในซีรีส์ Stranger Things โซโล่กีตาร์เพลงดังของวง Master of Puppets จากนั้นวงรุ่นคุณลุงก็ได้แฟนเพลงรุ่นหลานเพิ่มเป็นล้าน ยิ่งวงเปิดใจ เล่นด้วย โอกาสยิ่งมากตาม
แฟนเพลงที่กว้างขึ้น หลากหลายขึ้น เหนียวแน่นขึ้น ทำให้ไลน์อัปศิลปินตามเทศกาลใหญ่เปลี่ยนไป ความเชื่อเดิมที่ว่าต้องเอาวงใหญ่ ๆ เล่นตอนกลางคืนเริ่มเปลี่ยน เพราะวงที่เล่นบ่าย 3 ก็มีคนดูเยอะไม่แพ้กัน
งานอย่าง FatCat เปิดตัวคอนเสิร์ตโดยไม่มีสปอนเซอร์ เพราะเชื่อว่ายังไงวงอย่าง FUTON, KATSUE, พราว และผองเพื่อนมีคนดูแน่นอน และก็มีจริง ๆ จนทำให้บัตร Sold Out เร็วพอ ๆ กับคอนเสิร์ตเกาหลี

กำเนิดอาชีพใหม่ในสงครามราคาบัตร
บัตรคอนเสิร์ตวง SEVENTEEN ที่ราชมังคลากีฬาสถาน ระดับ VIP แพงสุดคือ 9,900 บาท
ไม่ใช่แค่คอนเสิร์ตเกาหลี ทุกคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีบัตรราคาสูงขึ้นมาก จนเกิดโปรโมชัน ‘ผ่อนบัตร’ เพื่อให้แฟนเพลงนักเรียนนักศึกษาจ่ายไหว
เรื่องที่ยากกว่าราคาบัตร คือการกดบัตรให้ทัน ขอยกเคสคอนเสิร์ตเกาหลีเป็นตัวตั้ง ปัจจุบันมีการ Resell บัตรคอนเสิร์ตเรียบร้อย ถ้าราคาเดิม 5,000 รีเซลล์อาจพุ่งไปถึง 20,000 – 30,000 บาท บัตรวีไอพีเหยียบหมื่น พุ่งไปถึง 70,000 – 80,000 บาท แพงยังไงก็มีคนซื้อ เพราะการันตีว่าได้บัตรแน่
ถ้าเงินน้อย จะมีอีกตัวเลือกจากการใช้บริการ ‘ร้านกดบัตร’ ทวิตเตอร์รับกดบัตรคอนเสิร์ต ราคาประหยัด จ่ายเพิ่มราว 500 บาท ความจริงไม่ได้การันตีว่าคุณจะได้แน่ ๆ แต่ร้านจะมีเครดิตว่ามีเปอร์เซ็นต์ในการกดบัตรทันแค่ไหน
ร้านไหนดัง คนยิ่งตาม คิวยาว เลยเกิดอีกบริการหนึ่งเรียกว่า ‘ร้านรับกรอกฟอร์ม’ ปกติถ้าจะซื้อบัตรกับร้านกดบัตร จะต้องกรอก Google Forms ก่อน ร้านรับกรอกฟอร์มช่วยกรอกข้อมูลให้เราได้

ที่ต้องทำขนาดนี้ เพราะการแย่งชิงบัตรคอนเสิร์ตเกาหลีแข่งกันเสี้ยววินาที ถ้าแฟนคลับจะซื้อบัตร 2 ใบ เขาและเธออาจต้องซื้อบัตรกับร้านกดบัตรและร้านกรอกฟอร์มเป็นสิบร้าน ไม่นับการฝากญาติพี่น้องช่วยกด ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้บัตร ต่อให้ได้เกินความต้องการ ขายต่อก็ยังคุ้ม
บางบริษัทพยายามคิดบริการช่วยแฟนเพลงอีกทาง เช่น SM True ผู้จัดคอนเสิร์ตในเครือ SM Entertainment สร้างระบบสมาชิก จ่ายพันกว่าบาทต่อปี มีสิทธิ์กดบัตรคอนเสิร์ตราว 6 สิทธิ์ต่อปี วิธีนี้เวิร์กถ้าคุณติ่งหลายวงในค่าย หารเฉลี่ยแล้วเหลือไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าติ่งแค่วงเดียว คงต้องใช้วิธีธรรมชาติเช่นเดิม
ปัจจุบันเริ่มมีการเรียกร้องจากแฟนเพลงให้ลดราคาบัตร แต่ยังไม่เห็นผลมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะดีมานด์ในตลาดสูงมาก และจะยังเป็นอยู่อีกหลายปี

การเข้ามาของแฟนเพลงชาวจีนที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
หลายปีมานี้ ประเทศจีนและเกาหลีมีความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นนัก ทำให้ศิลปินเกาหลีบางวงจัดคอนเสิร์ตที่จีนไม่ได้
ติ่งชาวจีนจึงต้องออกมาดูคอนเสิร์ตประเทศอื่น แน่นอนว่าประเทศยอดนิยมอย่างไทยคือเป้าหมายอันดับ 1
แม้มีส่วนน้อย แต่ต้องยอมรับว่าแฟนเพลงชาวจีนไม่ค่อยได้รับการต้อนรับเท่าไหร่ บางส่วนพฤติกรรมไม่ดี เช่น พูดแทรกตอนที่ศิลปินกำลังพูดบนเวที เบียดที่นั่งระหว่างโซนเพื่อให้ได้ที่ดีกว่า
อีกเหตุผลหนึ่งที่แฟนเพลงต่างชาติบินมาดูคอนเสิร์ตที่ไทย เพราะแฟนเพลงไทยต้อนรับศิลปินดีกว่า เคสนี้เห็นได้ชัดจากวงเกาหลีที่มีสมาชิกหลายคน แฟนเพลงบางประเทศจะชอบแค่คนเดียว คนอื่น ๆ ไม่สนใจ แต่แฟนเพลงไทยจะรู้สึกว่าควรชอบสมาชิกให้เท่าเทียมกัน
เวลาร้องเพลง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกคนไหน เสียงกรี๊ดจึงกระหึ่มไร้เดดแอร์ แฟนเพลงต่างชาติเห็นพ้องต้องกันว่า ดูคอนเสิร์ตในไทยมีความสุขทั่วหน้า ได้ประสบการณ์ที่น่าจดจำ
