ก่อนกำเนิดสภากาชาดไทย ประเทศสยามใน พ.ศ.2436 กำลังประสบภาวะสงครามภายใต้ความขัดแย้งกับฝรั่งเศสในเหตุการณ์ ร.ศ.112 เป็นเหตุให้สยามได้ก่อตั้ง ‘สภาอุณาโลมแดง’ กิจการสังคมสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาล เพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชประสงค์ให้ก่อตั้งโรงพยาบาล ภายใต้การดำเนินงานของสภาอุณาโลมแดงหรือสภากาชาดสยามนี้เป็นการถาวร โดยพระราชทานนามไว้เพื่อเป็นพระราชานุสาวรีย์แด่รัชกาลที่ 5 พระบิดาผู้ทรงริเริ่มสภาอุณาโลมแดงว่า ‘โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์’ 

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในปัจจุบัน ได้พัฒนาเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย และเป็นสถานที่ฝึกอบรมนิสิตของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยด้านการแพทย์ที่ได้รับมาตรฐานในระดับสากล

โรงพยาบาลเพิ่งได้ต้อนรับหอพักพยาบาลหลังใหม่ ผลงานการออกแบบของสถาปนิก Plan Architect แทนที่หอพักพยาบาลสูง 4 ชั้นหลังเก่า เพื่อเติมเต็มความต้องการที่อยู่อาศัยของบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น แม้เป็นอาคารพักอาศัยรวมขนาดใหญ่ด้วยความสูงถึง 26 ชั้น กับห้องพักมากกว่า 500 ห้อง หอพักพยาบาลแห่งนี้ก็เกิดขึ้นด้วยแนวคิดการสร้างพื้นที่ให้คนเป็นพยาบาลอยู่โดยเฉพาะ และเปี่ยมด้วยการใช้เครื่องมืองานออกแบบแก้ปัญหาในทุกรายละเอียด ตั้งแต่ทิศทางการวางตึก จนถึงความสูงของราวกันตก 

คอลัมน์หมู่บ้านที่สนใจเรื่องการออกแบบที่อยู่ศัยหลากหลาย จึงไม่พลาดชวน วรา จิตรประทักษ์ และ นภสร เกียรติวิญญู สองสถาปนิกผู้ดูแลโครงการ มาเล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังทั้งหมดให้ฟังอย่างละเอียด

หอพักพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ออกแบบอย่างเข้าใจคนเป็นพยาบาล

เปิดตึกรับลม

โครงการหอพักพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เริ่มขึ้นจากการให้สถาปนิกส่งแบบเข้าประกวดแข่งขันในช่วงปลาย พ.ศ. 2558 โดย Plan Architect ผู้ชนะประกวดเล่าว่า มีโจทย์ที่ปรากฏในข้อกำหนดซึ่งแตกต่างจากโครงการโดยทั่วไป อย่างมีนัยสำคัญ 2 ข้อ ข้อแรกคือ ต้องสนองความต้องการของคณะพยาบาลที่นิยมอยู่อาศัยโดยเปิดหน้าต่างรับลม แทนการเปิดเครื่องปรับอากาศ และข้อสองคือ ต้องให้ระเบียงแต่ละห้องกว้างขวางพอสำหรับการปลูกต้นไม้

วรา จิตรประทักษ์ และ นภสร เกียรติวิญญู สองสถาปนิก ผู้ออกแบบหอพักพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
วรา จิตรประทักษ์
วรา จิตรประทักษ์ และ นภสร เกียรติวิญญู สองสถาปนิก ผู้ออกแบบหอพักพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
นภสร เกียรติวิญญู

“อาคารพักอาศัยรวมทั่วไปมักเป็นแบบ Double Loaded Corridor หรือแบบทางเดินร่วม มีทางเดินทางเดียว แล้วมีห้องพักขนานไปตามทางเดิน เหมือนอพาร์ตเมนต์ทั่วไป ประหยัด ประสิทธิภาพการใช้งานพื้นที่มาก แต่ก็ยากในการรับแสงและรับลมธรรมชาติเข้าสู่อาคาร

“สำหรับอาคารนี้ เราคิดว่าถ้าแยกตัวอาคารเป็น Single Loaded Corridor หรือแบบทางเดินเดียวสองทาง เอาลิฟต์คั่นไว้ตรงกลาง แล้วแบ่งห้องพักไปอยู่ทั้งสองฝั่ง จะทำให้เกิดปล่องระบายอากาศตรงกลาง แสงธรรมชาติเข้ามาที่ทางเดินตรงกลางได้ด้วย เวลากลางวันจะค่อนข้างสว่างโดยไม่ต้องเปิดไฟ และลมก็ยังผ่านถ่ายเทเข้ามาในอาคารได้” สองสถาปนิกจาก Plan Architect เริ่มต้นเล่าการตีโจทย์เป็นแนวคิด ซึ่งตรงกับคอนเซ็ปต์เอื้อประโยชน์แก่ผู้อยู่ในข้อแรก

หอพักพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ออกแบบอย่างเข้าใจคนเป็นพยาบาล

หากฟังผิวเผิน อาจรู้สึกว่าเป็นการสูญเสียพื้นที่ใช้สอยจำนวนมาก แต่กลับกัน วราและนภสรอธิบายเพิ่มว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว มันมีประโยชน์ตรงจัดการไส้ในของอาคารอย่างตัวลิฟต์ให้อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ไปเบียดบังพื้นที่ใช้สอยส่วนอื่น จัดสรรจำนวนห้องได้ครบถ้วนตามโจทย์ ไม่มีส่วนเกินจนต้องเพิ่มความสูงอาคาร ซึ่งจะมีภาระค่าใช้จ่ายในมิติอื่น และทางเดินสองฝั่งยังทำให้เกิดปล่องระบายอากาศใจกลาง ตามแนวคิดการรับลมเข้าสู่อาคารให้มากที่สุดได้ในเวลาเดียวกัน

หอพักพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ออกแบบอย่างเข้าใจคนเป็นพยาบาล

อากาศร้อนจะลอยตัวจากต่ำขึ้นสูง ปล่องระบายอากาศนี้จึงมาพร้อมกับแนวคิดการออกแบบช่องรับลม 2 จุด เพื่อเป็นทางลมเข้า คือชั้นล่างสุด และกึ่งกลางอาคารที่กลายมาเป็นจุดเด่นด้านรูปลักษณ์ 

หอพักพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ออกแบบอย่างเข้าใจคนเป็นพยาบาล
หอพักพยาบาลหลังใหม่ในรั้วโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่สร้างด้วยโจทย์สนุกจากผู้อยู่ 2 ข้อ คือให้เปิดหน้าต่างรับลม และระเบียงกว้างให้ปลูกต้นไม้ได้

“ในการเจาะช่องลม เราใช้การคว้านยูนิตออกมา โดยตั้งใจให้เป็นสัญลักษณ์ของตรา ‘อุณาโลมแดง’ เพื่อให้สื่อถึงองค์กรสภากาชาด เราผูกโยงสัญลักษณ์นี้ให้อาคารมีความหมายมากขึ้นกว่าการเป็นเพียงอาคารพักอาศัย ให้พยาบาลที่ทำงานอยู่ในองค์กร เขาได้มีความภาคภูมิใจในองค์กรด้วย” 

สัญลักษณ์อุณาโลมแดงที่สถาปนิกกล่าวถึง ปรากฏบนชั้น 13 – 17 ของอาคาร โดยกรุโถงทั้งหมดด้วยไม้เทียมเพื่อสร้างจุดเด่นบนอาคารสูงสีขาว ไม่เพียงการรับลมและแสงธรรมชาติเข้าสู่อาคารให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยังทำหน้าที่เป็นส่วนกลางให้ผู้อยู่อาศัยออกมาใช้นั่งพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย ส่วนชั้นล่างสุดก็เป็นส่วนต้อนรับของหอพัก 

หอพักพยาบาลหลังใหม่ในรั้วโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่สร้างด้วยโจทย์สนุกจากผู้อยู่ 2 ข้อ คือให้เปิดหน้าต่างรับลม และระเบียงกว้างให้ปลูกต้นไม้ได้
หอพักพยาบาลหลังใหม่ในรั้วโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่สร้างด้วยโจทย์สนุกจากผู้อยู่ 2 ข้อ คือให้เปิดหน้าต่างรับลม และระเบียงกว้างให้ปลูกต้นไม้ได้

เปิดระเบียงปลูกต้นไม้

อีกหนึ่งแนวคิดการพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพยาบาลมากที่สุด คือการเพิ่มพื้นที่เขียว และการวางผังการใช้งานในส่วนต่างๆ ตั้งแต่ตัวอาคาร ไปจนถึงที่วางราวตากผ้า

ที่ตั้งของหอพักหลังใหม่อยู่ใจกลางอาคารพักอาศัยหลังอื่นๆ ในโรงพยาบาล ประกอบกับที่ดินค่อนข้างแออัดเพราะล้อมรอบไปด้วยกลุ่มอาคารสูง แต่มีข้อดีคือแต่ละอาคารเว้นระยะห่างกัน จนเกิดเป็นที่ว่างขนาดพอเหมาะ หากรื้อหอพักพยาบาลเดิมออก แล้วพลิกการจัดวางใหม่ ก็จะเกิดที่ว่างด้านในใจกลาง ให้ทำเป็นพื้นที่สีเขียวเล็กๆ แบบ Pocket Park ได้

สวนเล็กๆ นี้ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงการ Plan Achitect จึงออกแบบพื้นที่ชั้น 1 ของอาคารที่เป็นโถงโล่ง ให้เดินทะลุออกไปยังแลนด์สเคปใหม่นี้ได้

หอพักพยาบาลหลังใหม่ในรั้วโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่สร้างด้วยโจทย์สนุกจากผู้อยู่ 2 ข้อ คือให้เปิดหน้าต่างรับลม และระเบียงกว้างให้ปลูกต้นไม้ได้
หอพักพยาบาลหลังใหม่ในรั้วโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่สร้างด้วยโจทย์สนุกจากผู้อยู่ 2 ข้อ คือให้เปิดหน้าต่างรับลม และระเบียงกว้างให้ปลูกต้นไม้ได้
หอพักพยาบาลหลังใหม่ในรั้วโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่สร้างด้วยโจทย์สนุกจากผู้อยู่ 2 ข้อ คือให้เปิดหน้าต่างรับลม และระเบียงกว้างให้ปลูกต้นไม้ได้

นอกจากนั้น แนวคิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโครงการก็ยังปรากฏในการออกแบบระเบียง หนึ่งในข้อกำหนดของการประกวดแบบว่า ต้องทำให้ระเบียงกว้างขวางพอสำหรับพยาบาลจะใช้งานอะไรก็ได้อย่างอิสระ รวมไปถึงการปลูกต้นไม้ ทั้งคู่คิดเพิ่มเติมจากโจทย์นั้น โดยนำแนวคิดเรื่องมุมมองและการสร้างความเป็นส่วนตัวมาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบ มุมสามเหลี่ยมยื่นออกมาสลับฟันปลาอย่างแปลกตาที่เราเห็นด้านหน้าอาคารนั่นเอง

“เนื่องจากอาคารในละแวกมันประชันหน้ากันมาก เวลาเราอยู่ในห้องพัก แทบจะมองเห็นห้องฝั่งตรงข้าม เลยเป็นที่มาว่าเราทำระเบียงของแต่ละยูนิตให้เป็นสามเหลี่ยม มีมุมยื่นสลับกันไป เวลาเขาอยู่ในห้อง ก็มีมุมหลบเลี่ยงการปะทะโดยตรงกับห้องตรงข้าม เมื่อยืนเกาะราวระเบียง ก็จะรู้สึกว่ามีมุมมองเอียงๆ หลบจากอาคารข้างเคียงด้วย

“พอเราสลับแนวของแต่ละห้องแต่ละชั้น ระเบียงก็จะเกิดพื้นผิวที่รับแสงธรรมชาติได้มากกว่าหอพักทั่วไปนิดหนึ่ง เพื่อให้การปลูกต้นไม้และการตากผ้าถูกสุขอนามัยขึ้น”

พวกเขาคิดฟังก์ชันบนระเบียงไว้หลายอย่าง ทั้งการเก็บเครื่องปรับอากาศ การเก็บเครื่องซักผ้า หรือการตากผ้าอย่างไม่ทำให้รกหูรกตา โดยใช้แผงอะลูมิเนียมกันสายตา อีกหนึ่งข้อดีที่ตามมาคือ เป็นตัวบังแดดไม่ให้จ้าเกินไป แต่มีแสงพอให้ปลูกต้นไม้ได้

หอพักพยาบาลหลังใหม่ในรั้วโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่สร้างด้วยโจทย์สนุกจากผู้อยู่ 2 ข้อ คือให้เปิดหน้าต่างรับลม และระเบียงกว้างให้ปลูกต้นไม้ได้

ไม่เพียงมีประโยชน์เฉพาะกั้นสายตา ด้านความงาม แผงฟาซาดหรือหน้ากากอาคารสีขาวสะอาดนี้ สะท้อนการใช้งานภายในออกสู่รูปลักษณ์ภายนอกได้อย่างน่าสนใจ โดดเด่นด้วยการสลับสับหว่างไปมาในแต่ละชั้นอย่างสมมาตร

หอพักพยาบาลหลังใหม่ในรั้วโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่สร้างด้วยโจทย์สนุกจากผู้อยู่ 2 ข้อ คือให้เปิดหน้าต่างรับลม และระเบียงกว้างให้ปลูกต้นไม้ได้
หอพักพยาบาลหลังใหม่ในรั้วโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่สร้างด้วยโจทย์สนุกจากผู้อยู่ 2 ข้อ คือให้เปิดหน้าต่างรับลม และระเบียงกว้างให้ปลูกต้นไม้ได้

หอพักพยาบาล เพื่อพยาบาล

หอพักพยาบาลที่นี่เป็นสิทธิพิเศษด้านที่พักอาศัย โดยโรงพยาบาลจะมอบให้กับพยาบาลที่ไม่ได้แต่งงาน และกำหนดให้พยาบาล 2 คนพักร่วมกันใน 1 ห้อง

เมื่อคนสองคนที่อาจไม่ได้คุ้นเคยกันมาก่อนต้องมาอาศัยอยู่ด้วยกัน สถาปนิกจึงมีไอเดียจัดการปัญหาที่อาจเกิดจากการปะทะกันในอนาคต ด้วยการวางผังห้องพักแต่ละห้อง

“เราพยายามทำให้ห้องกว้างขึ้น เพื่อให้วางเตียงได้สองฝั่ง แล้วมีทางเดินอยู่ตรงกลาง พยาบาลแต่ละคนจะได้มีโซนเป็นของตัวเอง ห้องหนึ่งแบ่งออกเป็นครึ่งห้องของใครของมัน” เขาเล่าถึงความต่างกับห้องพักสำหรับ 2 คนที่เราเห็นทั่วไป เช่น ห้องของโรงแรม ซึ่งมักพบว่ามีเตียงอยู่ฝั่งหนึ่ง อีกฝั่งหนึ่งเป็นเคาน์เตอร์ยาวๆ แล้วก็มีทีวี 

หอพักพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ออกแบบอย่างเข้าใจคนเป็นพยาบาล

ห้องพักที่ออกแบบขึ้นใหม่นี้ กำหนดให้มีขนาดประมาณ 5 x 8 เมตร รวมกับพื้นที่ระเบียง หรือรวมแล้วราว 40 ตารางเมตร ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่หากเทียบกับห้องพักในอาคารชุดรูปแบบอื่น ความน่าสนใจอีกอย่างอยู่ที่สิ่งอำนวยความสะดวกในห้องกำหนดให้แยกใช้เป็นของตัวเอง ตั้งแต่เตียงนอน ตู้เสื้อผ้า ตู้เซฟ ตู้เย็น โต๊ะเครื่องแป้ง โทรทัศน์ หรือแม้แต่ราวตากผ้า

ส่วนห้องน้ำ ก็แยกห้องอาบน้ำ โถสุขภัณฑ์ และส่วนอ่างล้างหน้าออกจากกัน เผื่อเวลาผู้อาศัยต้องการใช้ห้องน้ำพร้อมกันในเวลาเร่งด่วน ก็ผลัดกันใช้แต่ละส่วนได้โดยไม่ต้องรอ

“เราได้ไปคุยกับผู้ใช้ก็กลายเป็นว่าเขาชอบมาก เพราะว่าเขาต้องการยิ่งกว่าที่เราคิดอีกคือ เขาต้องการทีวีสองเครื่อง เขาต้องการตู้เย็นสองตู้ด้วย เขาต้องการให้ทุกอย่างแยกกันหมดเลย” นภสรเล่าการเก็บฟีดแบ็กจากผู้ใช้จริง

การวางผังเช่นนี้ ยังสอดคล้องกับแนวคิดการรับลมเข้าสู่ห้องซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ เขาแยกส่วนครัวและห้องน้ำออกมาไว้ในหน้าห้อง มีผนังบานเลื่อนกั้นจากส่วนที่นอนด้านใน เมื่อต้องการรับลม สามารถเปิดประตูระเบียง เปิดประตูบานเลื่อน และเปิดประตูหน้าห้อง ปิดไว้เพียงประตูมุ้งลวดด้านหน้า ก็จะทำให้อากาศไหลเวียนผ่านจากข้างนอกเข้าสู่ข้างใน และทะลุผ่านไปยังปล่องระบายอากาศในใจกลางอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หอพักพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ออกแบบอย่างเข้าใจคนเป็นพยาบาล
หอพักพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ออกแบบอย่างเข้าใจคนเป็นพยาบาล

รายละเอียดการออกแบบทั้งหมด สถาปนิกทั้งสองพัฒนาขึ้นจากการสอบถามจากประสบการณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลใกล้ตัว รวมถึงพูดคุยกับผู้คนหลายฝ่ายในระหว่างการพัฒนาแบบ ทั้งกับผู้บริหาร พยาบาลที่จะมาอาศัยอยู่จริง รวมถึงแม่บ้านทำความสะอาด ซึ่งมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็น อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในจุดที่พวกเขาไม่อาจคำนึงถึงได้ทุกมิติ

ตั้งแต่เรื่องความถี่ของซี่ราวระเบียงที่ต้องกว้างพอให้ง่ายต่อการทำความสะอาด แต่ไม่มากเกินจนกรองแสงสว่างไม่ได้ ไปจนถึงเรื่องของความสูงราวระเบียงในจุดต่างๆ ต้องมากกว่าขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อความต้องการทำร้ายตัวเองของผู้อยู่ เนื่องด้วยได้รับข้อมูลว่าผู้ประกอบอาชีพพยาบาลต้องประสบความเครียดในการทำงานสูง และพบภาวะเสี่ยงเช่นนี้ในเพื่อนร่วมงานเสมอ

“โชคดีที่ว่าโครงการนี้ไม่ถึงขั้นเป็นโครงการเชิงพาณิชย์ เขาเป็นหน่วยงานรัฐ เขาต้องคิดถึงเรื่องคุณภาพชีวิตของบุคลากรประมาณหนึ่ง เพราะว่าถ้าพยาบาลอยู่ดี เขาก็มีกำลังใจ ลดความเครียดได้ การออกแบบที่นี่หลายอย่างอาจดูมากเกินความจำเป็นจากโครงการอื่นๆ แต่คุณภาพชีวิตของคนก็จะดีขึ้น” วราให้ความคิดเห็น

“ถ้าเป็นงานในเชิงพาณิชย์ เราคงไม่ได้ทำแบบเดียวกันกับที่นี่” นภสรเสริม “งานราชการจะมีงบประมาณกับข้อกำหนดที่เขาต้องการเป๊ะๆ อยู่แล้ว ถ้าเราจัดสรรทุกอย่างให้ลงตัวได้ อยู่ในงบระมาณ แล้วเรายังเพิ่มความพิเศษให้เขาได้ด้วย เขาก็ไม่มีปัญหาว่าคุณจะมีลูกเล่นเพิ่มเติมอะไร”

หลังโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์ พวกเขาได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้อยู่อาศัย รวมถึงได้รับความสนใจจากผู้พัฒนาโครงการเอกชนหลายเจ้า จึงเป็นโอกาสดีที่โครงการนี้จะได้เป็นตัวอย่างให้กับการพัฒนาโครงการอาคารชุดทั้งหลายต่อไปในอนาคต

“ถ้าเราเอางานออกแบบตกแต่งเพื่อความสวยงาม ซึ่งเป็นเม็ดเงินมากประมาณหนึ่ง มาเติมใส่การจัดการพื้นที่ มาเติมใส่การใช้สอยในระยะยาว โครงการนั้นอาจแตกต่างและอาจดีขึ้น

“จังหวะนี้เราสื่อสารด้วยตัวเนื้องาน และนำโครงการขนาดใหญ่ ยูนิตเยอะนี้เป็นโครงการอ้างอิงได้ว่า ถ้าในงบประมาณเท่ากัน เราทำแบบนี้กับโครงการรูปแบบอื่นๆ ได้ โดยใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา” วราให้ความคิดเห็นปิดท้าย 

หอพักพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ออกแบบอย่างเข้าใจคนเป็นพยาบาล
ภาพ : Panoramic Studio

Writer

Avatar

กรกฎ หลอดคำ

เขียนเรื่องบ้านและงานออกแบบเป็นงานประจำ สนใจเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมในงานสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ