แฟนกีฬาคงคุ้นเคยกับชื่อของ ซาร่า-นุศรา ต้อมคำ ในฐานะมือเซตอัจฉริยะทีมชาติไทยที่ฝีมือหาตัวจับได้ยาก ลีลาการตั้งบอล คอยคุมเกมในสนาม สร้างโอกาสให้เพื่อนทำคะแนนเป็นที่จดจำ พอ ๆ กับรางวัลความสำเร็จมากมายที่เธอได้รับ จนเคยขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งเซตเตอร์อันดับ 1 ของโลกมาแล้ว

ใช่เพียงแต่การสร้างสรรค์โอกาสให้เพื่อร่วมทีมในสนามเท่านั้น บทบาทนอกสนาม ซาร่าเป็นนักกีฬาให้ Under Armour ที่ตั้งเป้าสร้างโอกาสทางกีฬาให้เยาวชนหลายล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะคนที่อยากประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายนักกีฬา แต่อาจติดขัดปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ จนความฝันต้องหล่นหายไประหว่างทาง

แบรนด์กีฬานี้ทำแคมเปญ ‘Gift of the Game’ หรือ ‘ของขวัญจากเกมกีฬา’ โดยสร้างโปรเจกต์หลายอย่างในอเมริกา เช่น สนับสนุนโปรแกรมกีฬาสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ขัดสน พลิกโฉมสนามบาสเกตบอล ฯลฯ สำหรับในเมืองไทย ซาร่าร่วมแคมเปญเดียวกันนี้ เพื่อมอบแรงบันดาลใจและสร้างโอกาสการเข้าถึงเกมกีฬากับเด็ก ๆ

เพราะกว่าจะยืนอยู่ในจุดยอดสุดของวิถีนักกีฬา หลังม่านความสำเร็จอันสวยหรู สิ่งที่หลายคนไม่รู้คืออุปสรรคต่าง ๆ ที่เธอก็เคยเผชิญมาแล้วเช่นกัน

ซาร่า-นุศรา ต้อมคำ นักวอลเลย์จากบ้านโป่ง สู่มือเซตระดับโลกที่กำลังจะเล่นในลีกอเมริกา

เด็กหญิงจากจังหวัดราชบุรีได้โอกาสเล่นวอลเลย์บอล เพียงเพราะโค้ชระดับโรงเรียนอยากให้เล่นเหมือนกับพี่สาวที่เล่นมาก่อนหน้า จากเด็กที่พบเจอข้อจำกัดและความไม่พร้อมมากมาย เธอไต่เต้าเลื่อนระดับขึ้นมาเล่นจนกระทั่งติดทีมชาติชุดเยาวชน

ก้าวสำคัญของซาร่า คือโอกาสได้ขึ้นมาติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ เธอสร้างผลงานจนเป็นปรากฏการณ์ให้กับวงการวอลเลย์บอลไทยร่วมกับเพื่อน ๆ ที่รับใช้ชาติด้วยกันมากว่า 20 ปี ก่อนจะเพิ่งรีไทร์ไปเมื่อไม่นานนี้ เพื่อเปิดทางให้รุ่นน้องสายเลือดใหม่ได้ขึ้นมาสานต่อความสำเร็จ 

ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ มือเซตทีมชาติไทยออกไปไขว่คว้าความฝัน ด้วยการเล่นวอลเลย์บอลลีกอาชีพในหลายประเทศฝั่งยุโรปมาตลอดกว่า 10 ปี ทั้งสเปน สวิตเซอร์แลนด์ อาร์เซอร์ไบจาน และตุรกี หอบความสำเร็จมามากมายทั้งจากทีมชาติและสโมสร

ในเดือนมีนาคมนี้ นุศราในวัย 36 ปี เพิ่งตอบรับข้อเสนอใหม่ โบยบินโชว์ฝีไม้ลายมือการสร้างเกมในต่างแดนอีกครั้ง กับลีกวอลเลย์บอลของสหรัฐอเมริกา

ก่อนเธอจะลัดฟ้าไปหาความท้าทายใหม่ พอดิบพอดีกับมวลบรรยากาศ ‘วันสตรีสากล’ ในเดือนมีนาคม เราเปิดบทสนทนากับซาร่า นักกีฬาหญิงที่ได้ขึ้นชื่อว่าประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่งของวงการกีฬาไทย ถึงเรื่องราวเบื้องหลังความสำเร็จของเซตเตอร์ทีมชาติไทย ซึ่งมีหลายส่วนประกอบสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘โอกาส’ ที่เป็นเสมือนของขวัญที่เธอได้รับมาตลอดชีวิต

ซาร่า-นุศรา ต้อมคำ นักวอลเลย์จากบ้านโป่ง สู่มือเซตระดับโลกที่กำลังจะเล่นในลีกอเมริกา

“โอกาสมันมาเสมอ ทุกครั้ง สำหรับคนที่พร้อม”

โอกาสแรกของชีวิตที่ทำให้ก้าวเข้ามาสู่วงการวอลเลย์บอลคือตอนไหน

โอกาสแรก เราได้รับจากครูซึ่งเป็นโค้ชของพี่สาวมาก่อน เราอยู่โรงเรียนเดียวกัน เรียนตั้งแต่อนุบาลถึงประถม ครูให้โอกาสเรามาเล่น เพราะว่าพี่สาวเล่นวอลเลย์บอลมาก่อน เขาก็เลยอยากให้เราเล่นวอลเลย์บอล ด้วยความที่เป็นโรงเรียนต่างจังหวัด ผู้หญิงเขาก็เน้นวอลเลย์บอล ส่วนผู้ชายก็เน้นไปเตะบอล

ทำไมถึงได้เล่นตำแหน่งมือเซต

วันนั้นครูเขาให้เล่นเกมอันเดอร์บอล แล้วเขาก็บอกว่า ใครอันเดอร์เยอะสุดเขามีรางวัลให้ เราก็เป็นคนที่อันเดอร์บอลได้เยอะสุด เขาก็เลยให้เราเป็นตัวเซต เราก็ไม่ได้อยากเป็น แต่ว่าเขาบอกว่าเราเป็นคนที่อันเดอร์บอลดีกว่าเพื่อน ๆ งั้นเราต้องเป็นตัวตั้งแล้วล่ะ

ตอนนั้นมีแววเป็นสุดยอดมือเซตไหม

จริง ๆ ตอนนั้นจะบอกว่าเห็นแววเราคงไม่ได้ ด้วยความที่เป็นเด็ก ทุกคนก็เริ่มจากการอันเดอร์บอลหมดเลย การจับมือ จับท่าทาง ถูกบ้าง ไม่ถูกบ้าง แต่ด้วยความที่วอลเลย์บอลยุคนั้น พี่ปริม อินทวงศ์ เขาเป็นตัวเซต แล้วก็เก่งด้วย ทุกคนจำภาพเขาว่า มือเซตต้องเล่นแบบนี้ ทำได้แบบนี้ พอเริ่มเล่นวอลเลย์บอลมา คนก็คาดหวังว่าตำแหน่งที่เราเล่นต้องเป็นให้ได้เหมือนพี่เขา

ข้อจำกัดหรืออุปสรรคกีฬาในตอนนั้นคืออะไร

เยอะมาก ด้วยความเป็นเด็ก ความพยายามและความอดทนคือน้อยมาก ไหนจะเรียน ไหนจะทำการบ้าน แล้วเราก็อยากดูการ์ตูนเหมือนเพื่อน ๆ แต่เราไม่มีโอกาสได้ทำ เพราะเราต้องไปซ้อม ส่วนอุปกรณ์กีฬาเราก็ไม่มี รองเท้าก็เอารองเท้านักเรียนพละไปใส่ซ้อม ถุงเท้าก็ถุงเท้านักเรียนเหมือนกับที่ใส่ไปโรงเรียนทุกวัน ชุดซ้อมก็ไม่ค่อยมี เอากางเกงขาสั้นของพี่บ้าง ของใครบ้างไปใส่ซ้อม เรื่องอุปกรณ์กีฬามันลำบากมาก แทบไม่มีเลย เราก็ซ้อมได้ไม่เต็มที่เพราะรองเท้าก็ต้องเอามาใส่เรียนเหมือนกัน คงจะดีถ้าตอนนั้นเรามีโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์กีฬาเหมือนตอนนี้

แต่คุณก็ติดทีมชาติชุดเยาวชนจนได้

ใช่ค่ะ ด้วยความที่พ่อแม่เขาส่งเสริมให้ลูกเล่นกีฬาอยู่แล้ว ทำให้เราต้องเล่นกีฬาควบคู่กับการเรียนไปด้วย โชคดีที่เราตัดสินใจไม่เลิกเล่นกีฬาก่อน เลยทำให้เราได้มีโอกาส ตอนนั้นโค้ชโรงเรียนจากในกรุงเทพฯ มาดูเราแข่ง ก็เลยได้รับโอกาสไปเรียนมัธยมปลายฟรีในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นอีกโอกาสสำคัญที่ทำให้ได้ต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้

พอรู้ไหมว่าโค้ชที่มาดูเห็นอะไรในตัวคุณ

ไม่แน่ใจว่าเขาเห็นอะไร หรือว่าเพราะเราสวยรึเปล่าไม่แน่ใจนะคะ (หัวเราะ) อาจด้วยตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งที่คนเล่นค่อนข้างน้อย และอาจเห็นไหวพริบอะไรในตัวเรารึเปล่า หรือมองว่าปั้นเราได้นะ ไปให้ไกลกว่านี้ได้ เราคิดว่าตอนนั้นคงเห็นว่าเราต่อยอดพัฒนาได้

แสดงว่าไต่เต้าตัวเองตามระดับไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ตัวจังหวัด ตัวเขต จนถึงติดทีมชาติ

ใช่ค่ะ คือทุกการแข่งขัน ทุกทัวร์นาเมนต์ที่แข่ง ทั้งในรอบประเทศ ในรอบคัดเลือก แต่มองย้อนกลับไปก็คงต้องขอบคุณคุณครูที่คอยผลักดันและให้โอกาส ครูก็พยายามส่งเราแข่งหมดเลยทุกรอบ มันเป็นจุดเริ่มต้นจากตอนที่เราเรียนประถม โดนส่งไปแข่งกีฬาเขต อำเภอ จังหวัด จนเราได้เป็นตัวแทนจังหวัดราชบุรี ไปแข่งของภาค ในรอบประเทศเขาก็จะมีภาคอื่น ๆ มาจัดแข่ง แล้วเราก็ไปชนะรอบประเทศ เลยได้เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งที่ไต้หวันตั้งแต่เราอยู่ชั้นประถม

ผลการแข่งขันที่ไต้หวันครั้งนั้น

จำไม่ได้ว่าเราแพ้หรือชนะ เป็นแข่งแบบเหย้า-เยือน มีแค่เรากับไต้หวัน พอไปไต้หวันเสร็จปุ๊บ ไต้หวันก็มาที่ประเทศเรา 

มันเหมือนเป็นกำลังใจให้กับเราด้วยนะ จากเด็กตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ได้รับโอกาส เสื้อผ้า อุปกรณ์ รองเท้า ไม่มีอะไรเลย ไม่มีความพร้อม แต่พาทีมไปแข่งที่ต่างประเทศตั้งแต่อายุยังน้อยได้ พอติดเยาวชนทีมชาติก็ได้เรียนมัธยมฟรีด้วย พอเริ่มเก็บตัวทีมชาติ เราก็ได้เรียนมหาลัยฟรี กลายเป็นว่าโอกาสทางกีฬาที่เราได้รับมันช่วยให้เราได้ต่อยอดเรื่องการศึกษาของเราด้วย

คุณจำความรู้สึกตอนมีชื่อติดทีมชาติชุดใหญ่ได้ไหม

ตอนนั้นก็ดีใจ แต่เราไม่คิดว่าจะติดทีมชาติ ปีนั้นจำได้ว่าเราเก็บตัวฝึกซ้อมชุดเยาวชนอยู่ คู่กันกับพี่ ๆ ทีมชาติด้วยกัน สนามข้าง ๆ กัน เราก็ชอบไปแอบดูว่าพี่ ๆ เขาซ้อมกันยังไง ชอบพี่คนนั้นจัง อะไรแบบนี้ เราก็เห็นว่าพี่เขาไปแข่งเอเชียนเกมส์ พอกลับมาก็ไม่คิดว่าพี่ ๆ เขาจะเลิกเล่นกันหมด ทำให้ตัวทีมชาติหลักขาดไป เลยเอาชุดเยาวชนที่เรากำลังฝึกซ้อมอยู่ไปเล่นทีมชาติชุดใหญ่แทน

ซาร่า-นุศรา ต้อมคำ นักวอลเลย์จากบ้านโป่ง สู่มือเซตระดับโลกที่กำลังจะเล่นในลีกอเมริกา
ซาร่า-นุศรา ต้อมคำ นักวอลเลย์จากบ้านโป่ง สู่มือเซตระดับโลกที่กำลังจะเล่นในลีกอเมริกา

แนวคิดหรือวิธีอะไรทำให้คุณรักษาฟอร์ม จนติดทีมชาติต่อเนื่อง

ตอนนั้นเราคิดว่าเราอยากทำเพื่อครอบครัว อยากให้พ่อไม่ลำบาก คือต้องบอกเลยว่าวอลเลย์บอล เราเล่นแค่ไปสู่ช่วงหนึ่งแล้วก็เลิกเล่นไป เพราะว่าตอนแรกวอลเลย์บอลมันไม่มีกีฬาอาชีพให้เรา มันสร้างอาชีพให้เรามั่นคงไม่ได้ พอถึงจุดหนึ่งทุกคนก็เลิกเล่น ด้วยอายุยังน้อยแค่ 26 – 27 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ผู้หญิงเล่นกีฬาได้ดีที่สุด แต่ว่าต้องเลือกออกมาเพราะว่าไม่มีอาชีพที่มั่นคง ทุกคนก็เลยเลือกที่จะทำงานมากกว่า เพราะเวลาทำงาน จะออกไปฝึกซ้อมหรือแข่งขันที่ต่างประเทศไม่ได้ ก็เลยจำเป็นต้องเลือก 

เราก็คิดเหมือนกันว่า เราแค่อยากเรียนมหาลัยฟรีนะ พ่อแม่จะได้ไม่ต้องส่งเราเรียน จะได้ไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องเหนื่อยกับเรา เราซ้อมก็มีเบี้ยเลี้ยงซ้อม พ่อแม่เราก็อยากเห็นลูกรับปริญญา จบมหาวิทยาลัย ความฝันของพ่อแม่ก็เหมือนคนอื่นทั่วไป เราก็เลยคิดแค่นั้นว่า ต้องอดทน ต้องซ้อมนะ เรามีโอกาสแล้วก็ต้องทำให้ได้

รับมือกับผลการแข่งขัน หรือฟอร์มการแข่งขันในแมตช์ที่ไม่เป็นดั่งใจอย่างไร

ปกติเป็นคนที่ไม่เก็บเอามาใส่ใจ ถ้ามันเสียแล้วเสียเลย ถ้าเราเต็มที่แล้ว เสียก็ตัดทิ้งเลย ไม่ได้เป็นคนแบบ ทำไมนะ ต้องอย่างนู้นอย่างนี้ หลังแข่ง เรากลับไปแข่งแมตช์นั้นไม่ได้อีกแล้ว ตัดทิ้งไปเลย ครั้งหน้าเจอเขาใหม่ก็รู้แล้วว่า เราต้องทำยังไง แล้วเกมครั้งหน้าเราต้องทำให้ดีกว่าเดิม

เราประเมินตัวเองทุกครั้งว่า ครั้งนี้เราเล่นได้เหมือนตอนที่เราซ้อมมั้ย โดยที่ไม่จำเป็นต้องให้โค้ชหรือใครมาบอกว่าอันนี้ไม่ดีนะ พยายามลดข้อผิดพลาดทุกเกมไปเรื่อย ๆ

หลังจากรีไทร์จากทีมชาติเมื่อปีที่แล้วได้กลับไปเล่นเนชั่นลีกส์ ที่อิตาลี ช่วยเล่าประสบการณ์ให้ฟังหน่อย

(หัวเราะ) ก็ไม่มีใครคาดคิดนะคะ อยู่ดี ๆ ก็ได้กลับไปเล่น เพราะทุกคนไม่มีการเตรียมพร้อมอะไรเลย ไม่มีการซ้อม เพราะชุดที่จะต้องไปเล่นเขาติดโควิดพอดี แล้วตอนนั้นเราคิดว่าไทยคงไม่ได้ส่งแข่งละ เพราะไม่มีนักกีฬาที่จะไปเล่น แต่ด้วยความที่ทาง FIVB เขาขอร้องมา เพราะเขาวางแผนโปรแกรมถ่ายทอดไว้หมดแล้ว แล้วก็ไม่มีทีมไหนพร้อมที่จะเพิ่มอีกหนึ่งทีม ก็เลยขอร้องให้ทีมไทยไปเล่น

แล้วตอนนั้นทุกคนก็ จะได้เหรอ เราไม่ได้ซ้อมเลยนะ วัคซีนก็ไม่ได้ฉีด พาสปอร์ตก็ไม่พร้อม คือมันยุ่งและเรามีเวลาน้อยมาก เลยไม่คิดว่าจะได้ไป มันยากมาก เป็นไปไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ได้ไป 

ตั้งแต่แข่งวอลเลย์บอลมา ไม่เคยรู้สึกกังวลเท่านั้นมาก่อนเลย กลัวโควิดด้วย เพราะวัคซีนเราเพิ่งฉีดไป 2 วันก่อนเดินทาง ร่างกายไม่มีความพร้อมอะไรเลย ไม่ได้ซ้อมมาเดือนกว่า แล้วต้องไปเล่น 15 แมตช์ต่อเนื่อง เราเคยผ่านจุดนี้มาแล้ว จึงรู้ว่าขนาดตอนที่ฟิตยังยากเลย แล้วตอนที่เราไม่ฟิตล่ะ เรากลัวอาการบาดเจ็บมาก เราไม่อยากทิ้งทวนด้วยอาการบาดเจ็บ ไม่อยากใช้ชีวิตแบบนั้น 

มันเป็นความเสี่ยงมากที่เรายอมเสียสละ แต่ชีวิตเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ณ จุดนั้น ไม่รู้ว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบเรา ขนาดพ่อแม่เรายังบอกว่าไม่ไปได้ไหม และกระแสที่ออกมาว่าชุดที่ไปเก็บตัวติดโควิดหมดเลย เป็นคลัสเตอร์ใหม่ เขาอ่านข่าวแล้วก็ตกใจ หลาย ๆ อย่างทำให้เรากังวลมาก

ประสบการณ์ครั้งนั้นสอนอะไรให้คุณกลับมาบ้าง

เป็นประสบการณ์ยิ่งใหญ่มาก สอนให้เรารู้เลยว่าโอกาสมันมาเสมอ ทุกครั้ง สำหรับคนที่พร้อม แม้ตอนนั้นเราไม่พร้อม โอกาสก็ยังมาถึงเรา มันทำให้เราใช้โอกาสนั้นด้วยความเสี่ยงมาก ๆ แต่มันก็คุ้มค่ามาก ๆ ที่ทำให้ทุกคนเป็นความทรงจำ เราเองก็ทำเต็มที่ไม่อยากปล่อยให้โอกาสที่ได้มานั้นเสียเปล่า

ชุดนี้ที่เคยเล่นด้วยกันสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกันเยอะมาก ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งย้อนกลับมาอีก 5 – 6 ปี จะได้กลับมาแข่งครั้งนั้นอีก ถ้าพูดถึงคือมันเป็นแมตช์ความทรงจำ หลายคนอาจเลิกดูเราไปแล้ว แต่พอกลับมาเห็นเรา เขาก็นึกภาพออกว่า เราเคยสร้างประวัติศาสตร์อะไรมาบ้าง 

ครั้งนั้นมันเป็นความประทับใจมาก ๆ ที่ได้กลับมาเล่นด้วยกัน

บทสนทนาว่าด้วยโอกาส ที่ ซาร่า-นุศรา ต้อมคำ ได้รับมาตลอดเส้นทางชีวิตนักกีฬาของมือเซตลูกยางสาวทีมชาติไทย

“เป็นแค่ไม้ประดับ โอกาสมันน้อยมาก ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ”

ในการเล่นวอลเลย์บอลอาชีพ ที่ผ่านมาเห็นว่าคุณเล่นอยู่ต่างประเทศตลอด

ตอนนั้น จำได้ว่าเราอยู่มหาลัย ปี 1 หรือปี 2 ก็มีเอเยนต์คนหนึ่งมาดู มีแมวมองถามว่าไปเล่นที่นี่ไหม ด้วยความที่เราเป็นเด็กกล้า ๆ ลุย ๆ ไม่ค่อยกลัวอะไร พอเขาถามว่าไปเล่นอาชีพมั้ย เราบอกเลยว่า ไป โดยไม่คิด ไม่ได้ถามพ่อแม่ด้วย 

อยากไป เพราะเราไม่รู้หรอกว่า เมื่อก่อนนี้การที่นักกีฬา 1 คนในเอเชีย จะได้ไปเล่นอาชีพที่ต่างประเทศเป็นเรื่องยากมาก เพราะทุกคนดูถูกเอเชียหมด เห็นเป็นแค่ไม้ประดับ ตัวเล็ก ๆ ไม่ได้มีความสามารถอะไรมากกว่าเขา โอกาสมันน้อยมากและอาจจะไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ ที่เขาจะเลือกคนเอเชียไปเล่นในยุโรป ทีมที่มีแต่คนตัวสูง ๆ ใหญ่ ๆ พอเราได้โอกาสปุ๊บ เราตอบตกลงเลย ก็ได้ไปเล่น 

ประเทศแรกที่ไปเล่นคือ

สเปนก่อนเลย

เล่นอาชีพครั้งแรกมีความท้าทายอะไร

มันเป็นความท้าทายที่ยากสุดในชีวิต เป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มเล่นลีกอาชีพ ถ้าเราเล่นดี มันคือการเปิดตลาดเลย เอเยนต์ต่าง ๆ ทีมต่าง ๆ ก็จะเห็นในตัวเรา ครั้งหน้าเราก็มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น ตอนนั้นเราไม่ได้มีเอเยนต์ส่วนตัว ก็ต้องอาศัยการที่เราเล่นทั้งของทีมชาติและอาชีพ เพื่อเปิดตลาดให้มีโอกาสไปเล่นอาชีพที่อื่น ๆ เหมือนเป็นการต่อยอดโอกาสที่เราได้รับมา

ความแตกต่างของลีกต่างประเทศกับลีกไทยบ้านเรา

มันแตกต่างกันมาก ถ้าให้เราเปรียบเทียบ หลังจากไปเล่นลีกอาชีพใหญ่ ๆ มีความแตกต่างเกือบจะทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของทีม ความเป็นมืออาชีพของทีม ด้านเงินสนับสนุน อุปกรณ์เขามีความพร้อมมาก แน่นอนว่าแต่ละประเทศมีการฝึกซ้อมที่ไม่เหมือนกัน และการจัดการแข่งขัน ทีมที่เขาดูแล การออกแบบการฝึกซ้อมหรือการเตรียมร่างกายก็แตกต่างกัน มันทำให้เรารู้เลยว่าพอการสนับสนุนทุกอย่างมีความพร้อม เราก็ได้โฟกัสกับการฝึกซ้อมอย่างเต็มที่

เห็นว่าเดือนหน้า กำลังจะกลับไปเล่นอาชีพอีกครั้งที่สหรัฐอเมริกา

ด้วยความที่เราเป็นคนชอบเดินทาง ชอบอาศัยที่ต่างประเทศอยู่แล้ว มันเลยง่ายกับการที่เราต้องไป ทุกปี เรามีข้อเสนอมาตลอด เพราะตอนนี้เรามีเอเยนต์เป็นของตัวเอง เขาก็จะมีข้อเสนอมาเสมอ เราเชื่อเลยว่า 2 ปีที่ผ่านมานี้ ถ้าไม่มีโควิด ก็จะใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศแน่นอน ครั้งนี้เลยเป็นโอกาสครั้งใหม่ในเส้นทางนักกีฬาอาชีพของเรา

อเมริกาเป็นการเปิดลีกใหม่ที่เขายังไม่เคยแข่งขันมาก่อน และปีที่แล้วเป็นช่วงโควิด เอกสารทุกอย่างมันยากมาก ปีนี้เราได้วัคซีนแล้ว ประเทศเดินทางง่ายขึ้น เราเลยตัดสินใจไปเล่นอเมริกาดีกว่า เป็นความแปลกใหม่ที่เรายังไม่เคยได้เล่น แล้วเป็นประเทศที่เราก็ยังไม่เคยได้ไป ขนาดมีแข่งเนชั่นลีกส์เรายังไม่เคยไปเจอสนามแข่งที่อเมริกาเลย 

บทสนทนาว่าด้วยโอกาส ที่ ซาร่า-นุศรา ต้อมคำ ได้รับมาตลอดเส้นทางชีวิตนักกีฬาของมือเซตลูกยางสาวทีมชาติไทย

“เราซ้อมมาแล้วพันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง กว่าจะสำเร็จ”

‘มือเซตเบอร์หนึ่งของโลก’ หรือ ‘เซตเตอร์ตำนานของไทย’ และอีกมากมาย รู้สึกยังไงบ้างกับฉายาต่าง ๆ ที่ได้รับ

ตอนแรกก็เขินนะคะ มันใช่เหรอ เขาให้เราแบบนี้เหรอ แต่หลัง ๆ มา ก็รู้สึกว่า เวลามองกลับไปกลับไป เขาให้ฉายานี้ เรารู้สึกว่าต้องพยายามพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ตลอดเวลา ให้สมกับที่เขาตั้งฉายาให้

เขาอยากเห็นเราในภาพแบบไหน เราก็อยากให้เขาจดจำในภาพนั้นตลอด มันทำให้เราเตือนสติตัวเองว่า ถ้าหยุดแค่นี้ก็จะอยู่แค่นี้ พาทีมไปได้ไกลกว่านี้ไม่ได้ ช่วยพัฒนาน้อง ๆ ในทีมไม่ได้ด้วย เราต้องพยายาม ต้องอดทนให้ไปถึงเป้าหมาย

ปกติแล้วคนจะมองเห็นแต่ความสำเร็จ แล้วความล้มเหลวล่ะ

เราไม่รู้ว่าเราเรียกว่าความล้มเหลวรึเปล่านะ แต่ว่ามันเป็นการลองผิดลองถูกมากกว่า อย่างตำแหน่งที่เราเล่น มันต้องครีเอตรูปแบบเกมสม่ำเสมอ ต้องแข่งกับคู่ต่อสู่ กับบล็อกฝั่งตรงข้ามสม่ำเสมอ ถ้าเราเล่นลูกยาก มันเกิดความผิดพลาดได้ แต่เราก็พยายามทำ กว่าเราจะเซตลูกนี้ได้ เราซ้อมมาแล้วพันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง กว่าจะสำเร็จ คนอาจจะไม่เห็นตอนที่เราซ้อม แต่คนจะเห็นภาพเราในตอนที่แข่งขัน แล้วเราทำสำเร็จแล้ว คนถึงชื่นชมเรา

เราซ้อมหนักมาก กระทั่งข้อความ ยังไม่ว่างไปตอบพ่อแม่เลย เรารู้สึกว่าตอนนั้นคนมองภาพวอลเลย์บอลแค่ซ้อมแล้วไปแข่งขันนะ แต่จริง ๆ ไม่ใช่เลย พวกเราทำหน้าที่หลายอย่างมาก เราต้องซ้อม ต้องแข่งขัน ต้องทำหน้าที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ ไปออกงาน ไปทำกิจกรรม ทุกอย่างเราทำหมด งานราษฎร์ งานหลวง งานรัฐ ไหนจะหน้าที่ของเราข้างหน้า และครอบครัว คนรอบข้าง ซึ่งเราแบ่งเวลาให้บาลานซ์ไม่ได้เลย แล้วทุกคนก็รู้สึกเหมือนกันว่า เมื่อไหร่จะเลิกเก็บตัว เมื่อไหร่จะแข่ง

ผ่านช่วงเวลาท้อถอยมาได้ยังไง

ตอนที่เราท้อ เราก็คิดว่าจะเล่นแค่ปีนี้แหละ แต่พอหันไปเห็นหน้าเพื่อน ๆ ก็ท้อไม่ได้ มันเป็นชุดที่เราเล่นกันมานานมาก แล้วเรารู้สึกว่าจะทิ้งเพื่อน ๆ เราเหรอ ก็เลยสู้อีกสักหน่อย แล้วก็สู้ได้จริง ๆ นะ พอเห็นหน้าเพื่อนแล้วได้กำลังใจ ก็ได้คำตอบว่าสู้ด้วยกันอีกสักหน่อย มันก็ผ่านไปได้ทุกปี ๆ 

แชร์บทเรียนจากความล้มเหลวให้ฟังหน่อย

ทุกครั้งที่เราทำไม่ได้ ไม่เป็นอย่างใจที่อยากทำ ทำผิด ทำเสียครั้งแล้วครั้งเล่า บอกเลยว่า เราอยากทำจุดนั้นให้เป็นจุดเด่นไปเลย ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นตัวอย่าง เอเชียถ้าไปเทียบกับยุโรป ข้อเสียเราคือตัวเล็ก เพราะฉะนั้นทำยังไงให้การตัวเล็กเป็นจุดเด่น นั่นคือมีเกมรับที่ดี กระโดดบล็อกไม่ถึง แต่เรามีการรับบอลดีกว่า ทำจุดด้อยให้เป็นจุดเด่นให้ได้ เราบอกตัวเองเสมอว่า ยิ่งซ้อมยิ่งเก่ง ยิ่งเล่นได้ดี ไม่มีสิ่งไหนหรอกที่ชนะความพยายามของคนได้ ความพยายามของคนชนะทุกอย่าง อาจสำเร็จช้า แต่สำเร็จแน่

ยังมีเยาวชนที่มีความฝันแต่ไม่ได้รับโอกาส หรือว่าเจอข้อกัดในการก้าวไปเป็นกีฬา อยากบอกอะไรกับพวกเขาบ้าง

มองว่าโอกาสมันสำคัญมากนะสำหรับเด็ก ๆ เราไม่รู้หรอกว่าโอกาสที่ได้รับจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล อย่างตัวซาร่าเอง ตอนเป็นเด็กอุปกรณ์รอบตัวเนี่ยคือไม่มีความพร้อม แต่เราก็ทุ่มเทเต็มที่ มันก็คงจะดีถ้าเด็ก ๆ รุ่นใหม่เขาได้มีทุกอย่างที่พร้อม เด็ก ๆ เองจะได้มีโอกาสเล่นกีฬาได้แบบที่เค้าอยากเล่น

เราอยากให้มองโอกาสเป็นอนาคต ถ้าโอกาสเข้ามา ไม่ว่าจะอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องเหนื่อย ต้องใช้ความอดทนและความพยายามเสมอ ไม่ว่าจะอาชีพอะไร ถ้ามองแล้วว่าอนาคตจะเป็นยังไง คิดว่ามีโอกาสให้เป็นไปในทิศทางนั้นได้ เราก็อยากให้ทุกคนลองใช้โอกาสที่ได้มาอย่างเต็มที่ เราเชื่อว่ามันจะคุ้มค่า

ในฐานะที่เป็นนักกีฬาของ Under Armour คิดเห็นยังไงกับแคมเปญ ‘Gift of the Game’ ที่ Under Armour พยายามจะสร้างโอกาสให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ให้ได้มีการเข้าถึงกีฬา

เรามองว่าดีมากเลยนะ อย่างตัวซาร่าเองก็เป็นคนที่ได้รับโอกาสมาตลอดเหมือนกัน รู้สึกว่าโชคดีมากที่ได้รับโอกาสเหล่านั้น มันทำให้เราเป็นเราในวันนี้ ทั้งได้เล่นวอลเลย์ ทั้งได้มีรายได้ ทั้งได้ทุนการศึกษา ที่สำคัญเราสามารถดูแลครอบครัวเราได้ อยากให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับการให้โอกาสเหมือนกัน อนาคตซาร่าเองก็อยากเห็นเยาวชนไทยหน้าใหม่ ๆ มาลงเล่นให้ทีมไทยเหมือนกัน

ต้องขอบคุณทาง Under Armour ที่มองเห็นความสำคัญตรงนี้ ดีใจมาก ๆ ที่ทาง Under Armour คอยสนับสนุนนักกีฬาไทยมาตลอดเลย

คิดมั้ยว่าถ้าไม่ได้รับโอกาสที่ผ่าน ๆ มา ตลอดเส้นทางชีวิต ในวันนี้เราจะเป็นยังไง

สำหรับซาร่าสำคัญมาก ๆ แล้วก็ยิ่งใหญ่มาก ๆ เพราะเราได้รับโอกาสตอนนั้น ถ้าไม่มีโอกาสคงไม่เป็นซาร่าทุกวันนี้ เราบอกได้เลย เราอาจจะไปทำงานอย่างอื่น หรืออาจไม่ได้ทำชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้เลย ถ้าเราไม่คว้าโอกาสไว้ ก็จะไม่เห็นเราในวันนี้

ที่สำคัญคือ เรายังเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ เยาวชนอีกหลายคนมาก ๆ ที่เขากำลังท้อแท้ อยากเล่นกีฬาแล้วไม่รู้ว่าต้องทำยังไง เริ่มต้นยังไง แล้วเขาหันมาเล่นกีฬา ทำให้เขามีอนาคต มีการศึกษาที่ดี ได้เรียนในโรงเรียนที่เขาอยากเรียน ทำให้พ่อแม่เขาภูมิใจ อันนี้เป็นสิ่งที่เราภูมิใจมาก ๆ อย่างไม่คาดคิด

บทสนทนาว่าด้วยโอกาส ที่ ซาร่า-นุศรา ต้อมคำ ได้รับมาตลอดเส้นทางชีวิตนักกีฬาของมือเซตลูกยางสาวทีมชาติไทย

Writer

Avatar

พณิช ตั้งวิชิตฤกษ์

นักลองฝึกพิสูจน์อักษร ผู้แสร้งเป็นนักลองฝึกเขียน อดีตเป็นนักเรียนภาษา ผู้สนใจเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ รักในมวลรอบข้างที่ดี กาแฟ ชาเขียว และแมวเหมียว

Photographer

Avatar

ณัฐวุฒิ เตจา

เกิดและโตที่ภาคอีสาน เรียนจบจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ สนใจเรื่องราวธรรมดาแต่ยั่งยืน ตอนนี้ถ่ายภาพเพื่อเข้าใจตนเอง ในอนาคตอยากทำเพื่อเข้าใจคนอื่นบ้าง