“มันซีเรียสเปล่านะ เราเห็นเต้ย (จรินทร์พร จุนเกียรติ) ตอบซีเรียสมาก พออ่านเรื่องเต้ยแล้วรู้สึกว่าทำไมมันดูวิชาการจัง”

ว่าน-รัชชุ สุระจรัส บอกเราด้วยเสียงหัวเราะทันทีที่บทสนทนาผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ระหว่างกรุงเทพฯ-แคลิฟอร์เนียเริ่มขึ้น เรานัดสัมภาษณ์กันตอนสายๆ ของวันพุธหนึ่ง

ว่านเป็นที่รู้จักครั้งแรกในบทของ ‘เฉด’ เพื่อนพระเอกอารมณ์ดีในภาพยนตร์ไทยเรื่อง Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หลังจากนั้นเขาก็มีผลงานในวงการบันเทิงมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรืองานพิธีกร และเรามักจะเห็นเขาตามเว็บไซต์ข่าวบันเทิงเสมอ จนเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน เขาตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา สาขาภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape Architecture) เหมือนที่เคยเรียนตอนปริญญาตรี เพราะได้ทำงานโปรเจกต์หนึ่งซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต

เขาสนใจเรื่องภูมิสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเมือง พื้นที่ คน น้ำ ธรรมชาติอื่นๆ และเชื่อว่างานออกแบบต้องสามารถแก้ปัญหาได้ วิทยานิพนธ์ทั้งปริญญาโทและปริญญาตรีของว่านจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับถึง 2 รางวัลด้วยกัน คือ RISD: The Landscape Architecture Department Thesis Award และ ASLA RI (American Society of Landscape Architects, Rhode Island Chapter) Merit Award 2019 : In recognition of outstanding academic achievement และยังทำให้เขาได้เป็นตัวแทนของ Rhode Island School of Design ไปขึ้นเวทีพูดในงาน Design Indaba 2020 ที่ประเทศแอฟริกาใต้พร้อมกับนักสร้างสรรค์จากทั่วโลกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเขาย้ายมารัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อทำงานในตำแหน่งภูมิสถาปนิกที่ SWA Group บริษัทสถาปนิกที่มีสาขาในหลายประเทศ

เมื่อวันพุธที่นัดสัมภาษณ์มาถึง เราอ่านทวนประเด็นที่จะคุยกับเขาอีกครั้ง ทั้งเรื่องชีวิต การเติบโต การตัดสินใจไปเรียนต่อ วิธีการคิดวิเคราะห์แบบสถาปนิก งานออกแบบที่ดี ไปจนถึงเป้าหมายของเขาในฐานะภูมิสถาปนิกคนหนึ่ง เราอยากให้บทสนทนาต่อไปนี้เป็นการพูดคุยกับนักออกแบบที่เป็นนักแสดง ไม่ใช่นักแสดงที่เรียนออกแบบ แล้วเสียงเรียกเตือนของแอปฯ LINE ก็ดังขึ้น

“สรุปเรานัดวันพุธของที่นี่หรือที่โน่นนะ แต่ได้ทั้งคู่ ฮ่าๆๆ”

ว่าน รัชชุ สุระจรัส จาก Seasons Change สู่ภูมิสถาปนิกในสหรัฐฯ ที่ทำงานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม

ชีวิตที่ย้ายจากฝั่งนิวยอร์กมาแคลิฟอร์เนียตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

บริษัทเราอยู่เมืองเหนือซานฟรานซิสโกชื่อ Sausalito ติดทะเล ชิลล์ อากาศดี พอย้ายมาฝั่งตะวันตกรู้สึกว่าตัวเองเอาตัวรอดจากอากาศได้ง่ายขึ้น ฝั่งตะวันออกมันหนาว หนาวแบบไม่อยากทำอะไรเลย แล้วเราเป็นคนขี้หนาว ส่วนคนฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกก็ต่างกันมาก คนฝั่งนี้เขาชิลล์จนเราตกใจ โคตรชิลล์ บางทีไปสั่งกาแฟ บาริสต้าจะทำช้ามาก ทำไมช้าจังวะ เฮ้ย ทำกาแฟไปดูซีรีส์ไปเหรอ (หัวเราะ) ในขณะที่คนฝั่งตะวันออกทำงานกันหนักมาก ดูรีบตลอดเวลา

ช่วงแรกๆ ที่มานี่นอนไม่หลับเลย เพราะเราใช้พลังงานไม่หมด แต่ก่อนทุกๆ วันเวลากลับบ้านมามันจะเหนื่อย นอนหลับสนิท แต่ที่นี่คือหกโมงเย็นเลิกงานแล้ว ไม่เคยเจอ 

ว่าน รัชชุ สุระจรัส จาก Seasons Change สู่ภูมิสถาปนิกในสหรัฐฯ ที่ทำงานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม
ว่าน รัชชุ สุระจรัส จาก Seasons Change สู่ภูมิสถาปนิกในสหรัฐฯ ที่ทำงานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม

หลงใหลอะไรในภูมิสถาปัตยกรรม ถึงเลือกเรียนและเลือกทำงานด้านนี้ต่อ

นั่นน่ะสิ ทั้งๆ ที่เราอยากเล่นดนตรีนะ ตอนนี้ก็ยังอยากเป็นอยู่ ถ้ามีคนถามว่าอยากเป็นอะไร ก็คงจะตอบว่า นักดนตรี ส่วนสถาปนิกคืองานหลัก ซึ่งเป็นอาชีพที่สนุกมาก 

พ่อเราก็เป็นภูมิสถาปนิก เปิดบริษัท เราเห็นพ่อทำงานมาตั้งแต่เด็ก พอรู้จักมันประมาณหนึ่งว่าภูมิสถาปัตย์เป็นยังไง ตอนนั้นไม่รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบนะ พอไปเรียนติวแล้วต้องวาดรูปอาคารหรือภายในอาคารมันไม่ค่อยอิน แต่พอวาดต้นไม้แล้วชอบ ซึ่งก็อาจจะเป็นความขี้เกียจด้วยแหละ (หัวเราะ) สุดท้ายก็เลยเลือกเรียนทางนี้ น้องสาวก็เป็นภูมิสถาปนิกเหมือนกัน

แสดงว่าพ่อปลูกฝังมาดี

เขาแยบคาย แนบเนียนกับแผนการมาตั้งแต่เด็กๆ ตอนกลางคืนเขาจะชวนละ มาๆ มาวาดรูปกันลูก ตอนนี้เวลาพ่อหรือเราไปเจอคนที่มีลูก จะแซวเล่นๆ กันว่า ถ้าเห็นลูกวาดรูปให้ตบดินสอออกจากมือเลยนะ แล้วก็ยื่นเครื่องคิดเลขเข้าไป อะไรที่ได้เงินยื่นเข้าไปก่อน สถาปนิกมันไม่ค่อยได้เงิน (หัวเราะ) 

แล้ววันก่อนเราเห็นบทความหนึ่งของต่างประเทศ บอกว่า ค่าเฉลี่ยของรายได้สถาปนิกไทยคือเก้าหมื่นบาทต่อเดือน เดี๋ยวๆๆ เก้าหมื่นบาทนี่ใครได้นะ กูงง นั่นคือรายได้ต่อปีหรือเปล่า (หัวเราะ)

เห็นคนจบสถาปนิกที่ไปทำงานสายอื่นส่วนใหญ่จะเก่งหมดเลย ทั้งนักเขียน นักคิด นักดนตรี พิธีกร คณะนี้สอนอะไร ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

เคยได้ยินคนพูดอย่างนี้ไหม เขาบอกว่าเวลาเจออะไรที่ซับซ้อน สิ่งที่จะทำให้เราเข้าใจมันได้ง่ายที่สุด คือเราต้องแยกชิ้นส่วนออกมา เหมือนเวลาเราต่อกันดั้ม แยกเป็นชิ้นๆ จะได้เข้าใจกลไกของมันจริงๆ ทั้งเรื่องของความสวยงาม ระบบ ตรรกะ ชิ้นส่วนเหล่านี้มันทำหน้าที่ร่วมกัน

วิธีการสอนหลักๆ ของคณะสถาปัตย์ฯ ไม่ว่าโปรเจกต์จะใหญ่หรือเล็ก มันตายตัว มีชุดพื้นฐานความคิดของมันอยู่ ซึ่งวิธีการนี้ประยุกต์ใช้ได้กับทุกๆ อย่าง เช่น เราเจอเรื่องราวในชีวิตประจำวัน คนที่คิดแบบสถาปนิกจะกลับมาคิดวิเคราะห์ว่ามันคืออะไร สังเคราะห์ว่ามันมีผลอะไร เหมือนเป็นการสำรวจตัวเอง สำรวจสิ่งรอบข้าง เป็นวิธีที่เราถูกกรอบให้คิดแบบนี้ มันลึกไปกว่าเราจะได้เงินจากโปรเจกต์นี้เท่าไหร่ หรือเราจะก่อสร้างสิ่งนี้ยังไง เช่น ไปเดินห้างสรรพสินค้าสองแห่ง แต่ได้ความรู้สึกที่ต่างกัน ทั้งๆ ที่ร้านเสื้อผ้าก็ยี่ห้อเดียวกันเลย สถาปนิกจะคิดต่อว่าเป็นเพราะระดับความสูงจากฝ้าถึงพื้นมันต่างกันหรือเปล่านะ การรับรู้ของเราถึงต่างกัน เราว่าทุกๆ อย่างมันเกี่ยวโยงกันหมดเลย

ว่าน รัชชุ สุระจรัส จาก Seasons Change สู่ภูมิสถาปนิกในสหรัฐฯ ที่ทำงานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม
ว่าน รัชชุ สุระจรัส จาก Seasons Change สู่ภูมิสถาปนิกในสหรัฐฯ ที่ทำงานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม

ในชีวิตคุณก็ใช้วิธีคิดแบบนี้กับทุกๆ เรื่องเหรอ

เราโดนบังคับให้คิดแบบนี้ ตอนเรียนหนังสือไม่เคยคิดถึงตรงนี้เลย สิ่งที่โฟกัสมีแค่เราจะออกแบบยังไง จะทำงานให้เสร็จทันเวลาได้ยังไง เราจะได้นอนไหม เพราะตอนนั้นมันเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมด ทุกๆ ก้าวที่เราเดินมันใหม่ วิชานี้ก็วิชาใหม่ ทฤษฎีนี้ก็ทฤษฎีใหม่ 

พ่อสอนสิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์มากๆ คือให้หาสมุดสเกตช์สักเล่มกับดินสอพกติดตัวตลอดเวลา สมมติว่าไปเดินสยามเห็นท่อระบายน้ำ ให้พยายามทำความเข้าใจว่ามันทำงานยังไง มันอยู่กับขอบถนนและระดับถนนยังไง มันระบายน้ำได้ยังไง ทุกๆ ครั้งที่ไปข้างนอก แม้จะเป็นสถานที่ที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว เราจะมองมันเปลี่ยนไป เพราะเราไปโฟกัสอีกแบบหนึ่ง เราจะเก็บดีเทลเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้มาคิดต่อ ทำไมเขาดีไซน์แบบนี้ ทำไมร้านอาหารร้านนี้ถึงวางโต๊ะห่างกันแค่นี้ ทำไมวางผ้าปูโต๊ะในรูปแบบนี้ ทำไมวางช้อนส้อมไว้ทางด้านซ้ายด้านเดียว ทุกอย่างเป็นดีไซน์ที่มีเหตุผลหมด

มันเกินกว่าแค่สวยหรือไม่สวยไปแล้ว

เรื่องความสวยงามมันก็เป็นเรื่องหนึ่ง ความเข้าใจและตรรกะมันก็อีกเรื่องหนึ่ง เราว่าเรื่องการก่อสร้างมันเป็นตรรกะที่เข้าใจได้ แต่สมมติถ้ามีคนถามเราว่า อันนี้สวยเปล่า เราคงตอบไม่ได้ นั่นคือปัญหาโลกแตก อย่างเรากับแฟนมีปัญหาเรื่องนี้ตลอด เช่น ทุกครั้งที่ไปร้านเครื่องสำอาง เขาจะเทสต์สีๆ เต็มมือ มันคืออะไรนะ

ลิปสติก?

ใช่ๆ ซึ่งเราก็รู้ว่าโทนมันต่างแหละ แต่ถ้าถามว่าอันไหนสวยคงตอบไม่ได้เปล่า มันเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากๆ เรารู้ว่าเขาใช้โทนสีประมาณนี้ แต่สีมันต่างกันนิดเดียวต้องซื้อสี่แท่งเลยเหรอ (หัวเราะ)

ทำไมพอจะไปเรียนต่อต่างประเทศถึงเลือกเรียนสาขาเดิม แทนที่จะเรียนสาขาใหม่ๆ ที่มาเสริมความรู้ที่มีอยู่แล้ว

ตอนปริญญาตรีปีแรกๆ เราเรียนเหมือนสาขาอื่นๆ เป็นสเกลเล็กๆ เป็นบ้าน เราก็ยังไม่ได้อินอะไรมากมาย จนสเกลค่อยๆ ขยายขึ้น ความซับซ้อนของโปรเจกต์ก็ค่อยๆ มากขึ้น ตอนนั้นได้เรียนวิชา Landscape Ecology กับ Urban Landscape แล้วมันเปิดโลก เราไม่ได้คาดหวังว่าจะเจออะไรแบบนี้ มันไปผูกกับหลายๆ อย่าง ไม่ใช่แค่คนแล้ว มันไปเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับเรื่องน้ำ เกี่ยวกับเรื่องสัตว์ เรื่องแบคทีเรีย พลังงาน การขยายตัวของเมือง มันเป็นทุกเรื่องที่นึกออก สมมติเราเดินออกไปเที่ยวหน้าบ้าน ทุกๆ อย่างที่เจอมันกลายเป็นประเด็นที่นำมาคิดได้หมดเลย

หลังจากนั้นเราก็อินมาก อินแบบวันๆ ไม่ทำอะไรเลย อยู่แต่กับสิ่งนี้ หมกมุ่นอยู่ประมาณหนึ่ง พอเรียนจบเราก็ไปทำงานที่บริษัทพ่อ รู้สึกจะปีที่สองที่มีโปรเจกต์เข้ามา เป็นโปรเจกต์ที่ซับซ้อนมาก เป็นพื้นที่ที่ทุกคนมองว่าไม่มีค่า มองว่าน่าจะเป็นปัญหาในอนาคต มีการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเราก็พยายามเอาวิธีคิดและเครื่องมือต่างๆ ทางภูมิสถาปัตยกรรมในการเข้าไปจัดการพื้นที่นั้น แม้ยังรู้สึกว่าไม่ค่อยเข้าใจ เหมือนความรู้ที่มีมันไม่พอ เหมือนกับเราได้คำถามหนึ่งมาซึ่งท้าทายการประกอบวิชาชีพเรามาก แต่เรากลับไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ ไม่ได้แยบคายมากพอที่จะตอบคำถามนั้นได้อย่างสมบูรณ์อย่างที่เราตั้งใจไว้ มันเป็นประเด็นใหญ่ในชีวิตตอนนั้น เราทำงานไปเต็มความสามารถที่เรามีในวันนั้น ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าอาจจะไม่ใช่วิธีที่ตอบโจทย์จริงๆ ก็ได้ เรารู้ว่าเจตนาเราดี แต่ไม่อยากทำให้เจตนาดีเพราะความไม่รู้ มันทุเรศตัวเอง (หัวเราะ) ถ้าวันนั้นเราเก่งกว่านี้ก็คงดี เราอยากรู้มากกว่านี้ ก็เลยตัดสินใจไปเรียนสาขาเดิม

ว่าน รัชชุ สุระจรัส จาก Seasons Change สู่ภูมิสถาปนิกในสหรัฐฯ ที่ทำงานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม
ว่าน รัชชุ สุระจรัส จาก Seasons Change สู่ภูมิสถาปนิกในสหรัฐฯ ที่ทำงานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม

แม้จะเป็นสิ่งที่เคยเรียนมาแล้ว พอไปเรียนจริงๆ มีอะไรเซอร์ไพรส์ไหม

แกนหลักของมันเหมือนกัน แต่ความลึกกับวิธีการคิดไม่เหมือนกัน ตอนปริญญาตรีเราไม่เคยมีพื้นฐานเลย มันคือ ห้าปีแรกของการเริ่มเข้าใจวิชาชีพ แต่ปริญญาโทคือคนที่เลือกแล้วว่าอยากเรียนสิ่งนี้ พื้นฐานความเข้าใจที่เรามีมันต่างกัน วุฒิภาวะวันที่เราอายุสิบแปดกับยี่สิบเจ็ดก็ต่างกัน วิธีการเรียน วิธีการคิดมันก็ต่างกัน

พอไปเรียนมันเปิดโลกเราให้กว้างขึ้นแหละ แต่เราก็มีเป้าหมายที่ชัดพอมากกว่าจะเข้าไปหาว่ามันมีอะไรให้เรียนบ้าง เรารู้แก่ใจว่าเรามีปัญหาอะไร และเราอยากได้อะไร จุดมุ่งหมายของตัวเองในการมาเรียนคืออะไร มันไม่ใช่การที่เราไปเรียนแล้วบอกว่า เฮ้ย กูไม่ได้มีอะไรในใจหรอกแต่กูอยากรู้เฉยๆ สิ่งที่เราเลือกเรียนเลยจะเป็นสิ่งที่เราสนใจ เป็นวิชา Climate Change Theory หรือ Social Science Communication อะไรทำนองนี้

คุณสนใจภูมิสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม

เราสนใจเรื่องความสัมพันธ์ของน้ำ ดิน ต้นไม้ เมือง มันเป็นเรื่องที่กว้างนะ เหมือนทีสิสที่เราทำเรื่องน้ำท่วม ที่เราสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะบ้านเรามันเป็นเรื่องหลัก เมืองกำลังจะจมน้ำแล้วเราทำอะไรได้บ้าง แค่นี้เลย ง่ายๆ 

ตอนทีสิสปริญญาตรีเราทำเรื่องน้ำท่วม พอปริญญาโทก็เลยทำเรื่องนี้ต่อ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เกิดการทรุดตัวของเมืองซึ่งเป็นผลมาจากการขยายเมืองออกไป คนดึงน้ำบาดาลมาใช้ หรือการสร้างระบบขนาดใหญ่ เมืองก็เลยต่ำลงเรื่อยๆ กรณีเดียวกับจาการ์ตาหรือโตเกียว เราอาจเคยเห็นข่าวที่อินโดนีเซียจะย้ายเมืองหลวง ความสนใจนี้เริ่มมาจากความคิดที่ไร้เดียงสามากๆ ว่า ทำไมตอนน้ำท่วมปี 2011 ที่อื่นเขาน้ำท่วมกันหมดแต่บ้านเราที่อยู่สุขุมวิทไม่ท่วม ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าเหตุผลคือเขาต้องการป้องกันพื้นที่เมืองชั้นใน ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ แต่เหตุผลนี้มันเห็นแก่ตัวไปหรือเปล่า 

เราอยากหาวิธีว่าจะทำยังไงที่จะใช้น้ำท่วมหรือน้ำต่างๆ ในเมืองให้เป็นประโยชน์และมีความสัมพันธ์กับเมืองมากขึ้น เลยพยายามสโคปให้แคบลงเรื่อยๆ จนมาสนใจเรื่องคลอง เราเลือกพื้นที่การศึกษาหลักเป็นคลองแสนแสบ เพื่อทำความเข้าใจส่วนต่างๆ ของเมือง คลองแสนแสบเป็นคลองหลักที่เชื่อมระหว่างพื้นที่ฝั่งตะวันออกและตะวันตก ผ่านตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศซึ่งเป็นตัวเมืองชั้นในมากๆ จนถึงจังหวัดอื่นๆ ความยาวของมันทำให้เราเห็นบริบทของการขยายตัวของเมือง เราจึงตั้งคำถามว่าจะใช้คลองมาบรรเทาน้ำท่วมได้อย่างไรบ้าง

ว่าน รัชชุ สุระจรัส จาก Seasons Change สู่ภูมิสถาปนิกในสหรัฐฯ ที่ทำงานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม
ว่าน รัชชุ สุระจรัส จาก Seasons Change สู่ภูมิสถาปนิกในสหรัฐฯ ที่ทำงานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม

แล้วข้อสรุปคือ

ข้อสรุปคือ มันทำไม่ได้… ล้อเล่น (หัวเราะ) 

ข้อสรุปคือเราต้องการแอคชั่นทั้งเชิงนโยบายรัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงการร่วมมือของหน่วยที่เล็กที่สุดอย่างชุมชน มันต้องรวมไปถึงทุกๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่ริมคลอง หลักๆ ในทีสิสเราพูดหน้าที่ของคลองที่จะต้องระบายน้ำให้เร็วที่สุด ไม่ใช่มีไว้เพื่อสวยงาม และจะใช้พื้นที่รอบๆ ที่ติดกับคลองให้เป็นประโยชน์ในการรับน้ำได้ยังไง จนถึงการสร้างเครือข่ายนำทฤษฎีนี้ไปใช้กับคลองทั่วประเทศให้เกิดเป็นระบบน้ำขนาดใหญ่ได้

มันเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกันนะ

เรื่องใหญ่มาก เราก็ทำเท่าที่ทำได้ แม่งยาก (หัวเราะ) มันต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย ยกตัวอย่าง Brooklyn Bridge Park ที่นิวยอร์ก เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยการแบ่งพื้นที่บางส่วนให้ เลยเกิดเป็นพื้นที่สาธารณะที่ผ่านพื้นที่ของเอกชน เอกชนจ่ายเงินค่าดูแลให้สวนนี้ ส่วนประโยชน์ที่เขาได้คือค่าที่ดิน ค่าเช่าที่ มีมูลค่าสูงขึ้น ก็ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

เมืองไหนในอเมริกาสร้างแรงบันดาลใจให้คุณมากที่สุด

ถ้าตอบนิวยอร์กจะน่าเบื่อแล้วปะ (หัวเราะ) เราชอบนิวยอร์กในเชิงสเกล ความหลากหลายของนิวยอร์กโคตรพิเศษ นอกจากคนที่มีหลายเชื้อชาติมากๆ เรายังได้เห็นพฤติกรรมคนที่โคตรแตกต่างกันเลย เราชื่นชมเขาเรื่องการจัดการพื้นที่ มันอาจจะไม่ได้เพอร์เฟกต์นะ เพราะก็ยังมีพื้นที่ Grey Area ที่อันตรายมากๆ อยู่เยอะ แต่มันทำให้เมืองมีชีวิตชีวามาก เมืองที่ทุกอย่างแน่นขนาดนั้นแต่มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่อยู่กลางเมือง และทุกอย่างยังพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ภาษีในนิวยอร์กแพงมาก แต่เรายินดีจ่าย เพราะเราเห็นว่าเขาเอาไปพัฒนาอะไรบ้าง

ตัวเองเปลี่ยนไปมากแค่ไหนหลังจากใช้ชีวิตคนเดียวในประเทศที่ไม่คุ้นเคยมาเกือบ 3 ปี

เราว่าทุกเรื่องเลยนะ แต่ชีวิตมันเปลี่ยนก่อนหน้านั้นมาสักพักหนึ่งแล้ว โตขึ้น ทำงาน มีความรับผิดชอบมากขึ้น เราว่าก็คงเหมือนทุกๆ คนบนโลก ในรั้วโรงเรียนเราจะเป็นเด็กเสมอ จะมีอาจารย์คอยมาตามเรา ส่งงานหรือยังลูก แต่การมาที่นี่ก็ได้เติบโตไปอีกขั้น 

เราทำงานมาตั้งแต่เด็ก ชีวิตเราเลยไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการจัดการเวลาหรือความรับผิดชอบมากนัก เพราะทุกวันมันคือการทำงานมาตลอด พูดในเชิงกลับกัน ถ้าในช่วงว่าง ช่วงนั้นก็จะไม่ค่อยได้ประโยชน์ ต้องทำให้ตัวเองยุ่งตลอดเวลา เพราะเวลายุ่งเราจะทำมันได้เร็วกว่าเดิม แต่พอมาที่นี่ มันคือการใช้ชีวิตแบบใหม่ ทุกๆ อย่างมันเหมือนเป็นเรื่องเดียว เราโฟกัสกับการเรียนอย่างเดียวตลอดสองปี มันไม่ค่อยคุ้นเคย เรามีเวลาอยู่กับตัวเองเยอะขึ้น เยอะมากๆ เยอะจนน่ากลัว สิ่งหลักๆ ที่ได้เรียนรู้ คือการรู้จักตัวเองและการจัดการความรู้สึกตัวเองได้ดีมากขึ้น

ว่าน รัชชุ สุระจรัส จาก Seasons Change สู่ภูมิสถาปนิกในสหรัฐฯ ที่ทำงานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม

รู้จักตัวเองมากขึ้นยังไง

เราเข้าใจว่าตัวเองเป็นคนทำงานหนักมาตลอด แต่ก่อนตอนเรียนแม่ไปส่ง น้าไปส่ง ตอนทำงานก็ไปพร้อมพ่อ เพราะเราขับรถไม่เป็น เฮงซวยปะ (หัวเราะ) กลับบ้านก็มีข้าวกิน ซึ่งตอนนั้นเราไม่เคยสังเกตเรื่องพวกนี้ มองกลับไปรู้สึกว่าคนที่มาใช้ชีวิตกรุงเทพฯ คนเดียว อยู่หอ อยู่คอนโดฯ แม่งโคตรเก่งเลย เราแค่ทำงานทั้งวัน กลับบ้านก็รู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยมากแล้ว แต่จริงๆ คนอื่นๆ ที่กลับบ้านไปเขาต้องไปทำอย่างอื่นอีก เชี่ย กูต้องจัดห้องโว้ย กูต้องซักผ้า กูต้องหาข้าวกิน พอมาใช้ชีวิตเองเลยรู้ว่ามันเหนื่อยได้กว่านั้นอีก

หลักสูตรที่เรียนเราต้องอ่านหนังสือเยอะมาก และเราไม่ใช่คนหนังสือ ตอนที่คนเขาอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ กัน เราก็ไม่ได้อ่านอะไร จำได้เลยว่าเทอมแรกคือทรมานมากๆ ที่เขาให้มาอ่านก็อ่านไม่ทัน แล้วยังต้องทำการบ้าน ทำโน่นทำนี่อีก นิสัยที่เปลี่ยนคือ เราตื่นหกโมงเช้าทุกวันเพื่อมาอ่านหนังสือ อ่านให้เข้าใจว่ามันคืออะไร ตอนนั้นเปิดดิกฯ เกือบทุกคำ อ่านไปก็จำไม่ได้ อ่านรอบแรกคือแค่โน้ตว่ามันแปลว่าอะไร ประโยคนี้มันน่าจะพูดถึงอะไร สิ่งที่ทำได้ก็คือต้องอ่านหลายๆ รอบ แล้วก็ค่อยๆ ปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนนิสัยตัวเองไปเลย ตื่นเช้ากูก็ไม่ใช่คนตื่นเช้า หนังสือก็ไม่ชอบอ่าน กูชอบทำงาน (หัวเราะ) 

แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ดีมากๆ คุณได้รางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยม และได้ทำงานกับบริษัทสถาปัตยกรรมชื่อดังของที่โน่น บรรยากาศการทำงานเหมือนกับที่เคยทำไหม

ค่อนข้างต่างเลย บริบทของการทำงานต่างมาก วัฒนธรรมการทำงานต่างมาก วิธีคิดต่างมาก ลูกค้าก็ต่าง คอนเซปต์ก็ต่าง จริงๆ มันต่างกันทุกเรื่องแหละ รูปแบบก็ต่าง การใช้งานโปรแกรมก็ต่าง ซึ่งมันเริ่มจากข้อจำกัดที่ต่างกัน กระบวนการคิดหรือการทำงานก็เลยต่างไปด้วย

เราว่าสถาปนิกเหมือนนักกฎหมาย การทำงานของเรามันเริ่มจากปัญหา เริ่มจากคำถามว่าเราจะออกแบบเพื่อแก้ปัญหาอะไร ไม่ใช่ทำยังไงให้สวย นั่นไม่ใช่คำถามแรก ยกตัวอย่าง ที่ออฟฟิศเราทำวิจัยขึ้นมาชิ้นหนึ่ง พูดเกี่ยวกับว่า คนเรา Occupy สเปซยังไง สมมติเราจะสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่าง เราต้องคิดเลยว่าพฤติกรรมผู้ใช้เป็นยังไง ซึ่งเมื่อก่อสร้างเสร็จ มันมักจะไม่เป็นอย่างที่เราคิดไว้ตอนแรก 

ว่าน รัชชุ สุระจรัส จาก Seasons Change สู่ภูมิสถาปนิกในสหรัฐฯ ที่ทำงานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม

ทำให้นึกถึงสิ่งที่ ทิงเกอร์ ฮาตฟิลด์ (Tinker Hatfield) ดีไซเนอร์ของแบรนด์ไนกี้ เคยพูดไว้ว่า “งานออกแบบไม่ใช่ศิลปะ เป้าหมายสุดท้ายของมันคือการแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง”

ที่ออฟฟิศเราทำวิจัยเรื่องหนึ่ง เขาสังเกตพฤติกรรมคนในสวนสาธารณะหรือห้างสรรพสินค้าในนิวยอร์ก พบว่าต่อให้เรามีพื้นที่โล่งให้คนมาพบปะแค่ไหน คนก็ยังไปยืนรวมๆ กันตรงหัวจ่ายน้ำดับเพลิง หรือเรามีทางเดินกว้างริมตึกให้ คนก็ยังไปเดินทางเล็กๆ อยู่ได้ วิธีการคิดเลยเป็นการตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ เป็นเพราะอุณหภูมิเหรอ เพราะเงาเหรอ เพราะต้นไม้เหรอ เพราะระยะห่างเหรอ มันคือการพยายามเข้าใจคนเพื่อจะได้รู้ว่าต้องแก้ปัญหายังไง

เป้าหมายวันนี้ของคุณในฐานะภูมิสถาปนิกคืออะไร

ทุกๆ อย่างมันมีลิมิตของมัน เราอยากจะรักษาความอยากรู้ของตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าตอบว่าโตไปอยากทำงานออกแบบที่ดี นักออกแบบทุกคนก็คิดแบบนั้น ทุกคนก็อยากทำงานที่ดี ซึ่งงานที่ดีของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอีก รสนิยมคนนี้เป็นยังไง งบของโปรเจกต์นี้เป็นยังไง การบริหารของโปรเจกต์นี้เป็นยังไง เรารู้แล้วว่าเราชอบอะไร เราสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องเมือง เราก็อยากรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ พยายามหาคำตอบทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะมีคำตอบหรือเปล่า นั่นคือเหตุผลที่ทำไมหลังเลิกงานเรายังหางานประกวดแบบทำ ทำไมเรายังไปงานเลกเชอร์ต่างๆ ตลอดเวลา

แล้วงานออกแบบที่ดีของคุณคือ…

งานออกแบบที่ดีของเราเหรอ (นิ่งคิด) มีคำถามหนึ่งที่เราว่าภูมิสถาปนิกทั่วโลกถามเหมือนกัน คือคำจำกัดความของภูมิสถาปัตย์คืออะไร สาขานี้มันมีมานานมากแล้ว แต่คำนิยามก็ยังไม่ชัดเลย มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากยุคสมัยแรกมาจนถึงยุคสมัยนี้ คำถามที่เราตั้งก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่นั่นเป็นความสนุกของอาชีพนี้ เพราะยังเหลือพื้นที่อีกเยอะที่ไม่เคยมีคนไป ซึ่งก็ไม่รู้มันเป็นยังไงนะ แต่เราอยากเข้าใจมันมากขึ้น เข้าใจทุกๆ อย่างรอบตัวมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ดีไซเนอร์รองเท้าไนกี้ที่พูดเมื่อกี้ ถ้าวันหนึ่งเขาไม่คิดระบบที่ซัพพอร์ตเท้าขึ้นมา ไม่พัฒนาต่อเพื่อหาสิ่งใหม่ตลอด คนก็คงจะเข่าเสื่อมและข้อเท้าเจ๊งตลอดเวลา ในทุกข้อจำกัดก็เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย งานออกแบบที่ดีสำหรับเราจึงต้องต่างกันไปตามกาลเทศะ ตอบโจทย์คนหมู่มากได้ และไม่ใช่แค่คน มันจะตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์เรื่องน้ำ ตอบโจทย์เรื่องสัตว์

เราว่าช่วงหลังวิกฤต COVID-19 จะท้าทายนักออกแบบทั่วโลกเลย เพราะพฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยนแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ เราไม่รู้ว่าในอนาคตเราจะใช้ชีวิตอยู่บ้านหรือ Social Distancing ไปอีกนานเท่าไหร่จนกว่าจะมีวัคซีน หรืออาจจะมีโรคระบาดใหม่ๆ ในอนาคตอีก มันเลยมีข้อจำกัดใหม่ๆ ของวิชาชีพนี้เสมอ รวมถึงวิชาชีพอื่นด้วยนะ ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งน้ำมันจะมีค่าน้อยกว่าหน้ากากล่ะ 

ว่าน รัชชุ สุระจรัส จาก Seasons Change สู่ภูมิสถาปนิกในสหรัฐฯ ที่ทำงานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม

คุณเคยบอกว่า ตัวเองเป็นนักออกแบบที่เข้าใจโลก ยังคิดเหมือนเดิมไหม

คำตอบดูเอาเลี่ยนเหมือนกันเนอะ (หัวเราะ) ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ เป็นมาตลอด สมมติเราเริ่มตั้งคำถามหนึ่งอย่าง มันจะไม่เคยเป็นคำถามด้านเดียว โจทย์ไม่ใช่แค่การตอบคำถามลูกค้า ลูกค้าเป็นแค่หนึ่งบทเรียน แต่มันมีเรื่องอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการที่เราเข้าไปปรับเปลี่ยนอะไรในพื้นที่หนึ่ง และเราจะทำงานกับเงื่อนไขที่มีอย่างไร มันคือคำถามที่ต้องการความเข้าใจจริงๆ 

มันคือการคิดเผื่อเกินกว่าโจทย์ที่ตั้งไว้ตอนแรก

ใช่ สมมติว่ามีคนให้เราทำนาเกลือ โจทย์คือทำยังไงให้มันมีผลผลิตมากที่สุด เราก็คงออกแบบนาเกลือที่ Innovative มากๆ ถ้าเราตอบคำถามแค่นั้น มันก็จะจบอยู่แค่นั้น แต่ถ้าถามกลับว่าน้ำเกลือมีผลอะไรกับดิน ในระยะยาวคุณสมบัติของดินที่อยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำเกลือตลอดเวลาจะเปลี่ยนไปยังไงบ้าง จะกลายเป็นดินห่วยๆ ที่ใช้งานไม่ได้แล้วหรือเปล่า แล้วเราจะฟื้นฟูมันอย่างไร มันมีสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับนาเกลือไหม และความสัมพันธ์ของทั้งสองสิ่งนี้คืออะไร

เราว่าคำถามแรกมีผลต่อความเข้าใจมาก มันเป็นตัวกำหนดทิศทางว่าสิ่งที่เราทำจะไปทางไหน แต่งานหนึ่งงานคงตอบทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่ได้หรอก มันไม่มีหนึ่งคำตอบสำหรับทุกๆ เรื่อง การออกโจทย์ที่มีคำตอบถูกทุกข้อคงไม่ใช่เรื่องที่ฉลาดเท่าไหร่ นักออกแบบที่เข้าใจโลกในความหมายของเราเลยไม่ใช่แบบ กูแม่งแกร่งกว่าใคร กูแม่งเข้าใจโลกว่ะ แต่เป็นการพยายามทำความเข้าใจหลายๆ มุมที่แตกต่างกัน เพื่อนำไปสู่คำถามใหม่ๆ ได้

ถ้าวันนี้ต้องกลับไปทำโปรเจกต์ที่เป็นเหตุผลให้ตัดสินใจไปเรียนต่อ คิดว่าจะทำมันได้อย่างภาคภูมิใจหรือยัง

เป็นคำถามที่ดีมาก ไม่เคยกลับไปคิดเลย (นิ่งคิด) หลักๆ ก็คงทำได้ดีขึ้นแหละ ไม่ใช่เพราะได้มาเรียนต่อเลยทำให้เราเข้าใจปัญหาเหล่านี้ได้มากขึ้นนะ เราเข้าใจมันเท่าเดิม แต่เราคงละเอียดลออและระมัดระวังมากกว่าวันที่เราเป็นเด็ก เราคงจะรอบคอบกว่านี้ ความหุนหันพลันแล่นที่มีในวันนั้นก็คงน้อยกว่านี้ ถ้ามาถามเราอีกทีตอนอายุสี่สิบ เราก็คงตอบด้วยคำตอบเดิม เพราะเราคงตอบไม่ได้ว่ามันดีกว่ายังไง แต่มันจะดีสุดเท่าที่ความสามารถเราทำได้ในตอนนั้นแล้ว

ว่าน รัชชุ สุระจรัส จาก Seasons Change สู่ภูมิสถาปนิกในสหรัฐฯ ที่ทำงานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน