โขม แปลว่า ละเอียด
พัสตร์ แปลว่า ผ้า
โขมพัสตร์ จึงแปลว่า ผ้าที่ละเอียดอย่างยิ่ง
โขมพัสตร์ เป็นแบรนด์ผ้าพิมพ์ลายสัญชาติไทยที่ยังคงทำด้วยมือทั้งหมด ตั้งแต่วาดลายลงบล็อกสกรีน ผสมสี และเลือกคู่สีที่ใช้กับผ้าจนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่เห็นเป็นต้องจำได้
เรารู้จัก ‘โขมพัสตร์’ ครั้งแรกตอนที่คุยกับ Indigo Skin กางเกงยีนส์แบรนด์ไทยคุณภาพ ที่เก่งเรื่องใส่รายละเอียดลูกเล่นความเป็นไทยลงไปจนถูกใจคนรักยีนส์ทั่วโลก
เป็นการทำความรู้จักกันสั้นๆ ที่รู้เพียงว่า ผ้าชั้นในของกระเป๋ากางเกงยีนส์รุ่นหนึ่งของ Indigo Skin ใช้ผ้าพิมพ์ลายไทยของโรงงานโขมพัสตร์ เพียงเท่านี้ก็รู้สึกว่า ช่างเป็นแบรนด์ผ้าไทยที่สุขุมมิใช่เล่น
ทันที The Cloud รู้ว่า โขมพัสตร์ ในมือทายาทรุ่นที่สาม กำลังสร้าง Khom (โขม) แบรนด์ใหม่ที่สนุกสนานขึ้นด้วยสีสันและลวดลาย เพราะลดทอนรายละเอียดความเป็นไทยจนเกิดเป็นกราฟิกที่เข้าถึงง่าย เราก็ขอนัดพบ คุณกจง-อัสสยา ทิมบลิค ที่ร้านโขมพัสตร์ สาขาสุขุมวิท 40 ในช่วงสายวันหนึ่ง
นอกจากเรื่องความเป็นมาของแบรนด์ ไปจนถึงเรื่องราวการรับช่วงต่อของอดีตนักการธนาคาร เราพบว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้บางสิ่งยืนหยัดอยู่ต่อไป ไม่ใช่แค่เรื่องการปรับตัวให้ทันสมัย แต่เป็นการรู้จักแก่นและตัวตนของเรา และเลือกรักษาสิ่งที่สำคัญ
พูดไปคุณคงไม่เชื่อ ว่าระหว่างที่สนทนาและเขียนบทความนี้อยู่ เจ้าผ้าพิมพ์ลายนับร้อยนับพันของโขมพัสตร์ ในชั้นตรงหน้า ปลุกสัญชาตญาณแม่บ้านญี่ปุ่นในตัวดิฉันจนเสียสมาธิไปหมด
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณจะใจแข็งพอ ไม่ลุกไปเลือกลายผ้ามาทำชุดกระโปรงก่อนที่จะอ่านบทความนี้จบ

ธุรกิจ : แบรนด์โขมพัสตร์ (พ.ศ. 2491)
ประเภทธุรกิจ : แฟชั่นและสิ่งทอ
อายุ : 70 ปี
ผู้ก่อตั้ง : พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร, หม่อมเจ้า ผจงรจิตร์ กฤดากร
ทายาทรุ่นที่สอง : ม.ร.ว. ภรณี รอสส์, ม.ร.ว. อัจฉรียา คงสิริ, ม.ร.ว. วิภาสิริ วุฑฒินันท์
ทายาทรุ่นที่สาม : คุณนันทสิริ อัสสกุล (น้ำผึ้ง), คุณอัสสยา ทิมบลิค (กจง) (พ.ศ.2549)
พ่อพิมพ์ แม่พิมพ์
แรกเริ่มเดิมทีกระบวนการของผ้าโขมพัสตร์หนึ่งผืนจะเริ่มตั้งแต่การทอผ้าด้วยมือ จนแล้วเสร็จออกมาเป็นผ้าผืนสำเร็จ ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคทายาทรุ่นสองที่เริ่มเป็นธุรกิจเต็มตัว พี่น้องทั้งสามซึ่งเป็นผู้บริหารตัดสินใจหยุดการทอผ้าเพื่อให้เวลากับการพัฒนาทักษะการพิมพ์ลายผ้า การออกแบบลาย และการทำสี จนโขมพัสตร์กลายเป็นแบรนด์ที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้
“โขมพัสตร์ในยุคของคุณแม่ (ม.ร.ว. อัจฉรียา คงสิริ) ซึ่งเป็นทายาทรุ่นสอง หลังจากเรียนจบจากวัฒนาวิทยาลัย ก็เลือกเรียนต่อด้านวิศวเคมีที่เยอรมนี เพื่อศึกษาเรื่องสีโดยตรง ก่อนจะกลับมาทำงานที่บ้าน โดยคุณแม่จะทำงานกับทางโรงงานโดยตรง ขณะที่คุณป้า (ม.ร.ว. ภรณี รอสส์) จะดูเรื่องการออกแบบเสื้อผ้าและดูแลแฟชั่นโชว์ทั้งหมด และคุณน้า (ม.ร.ว. วิภาสิริ วุฑฒินันท์) จะดูแลธุรกิจทั้งการเงินและบริหารบุคลากร” คุณกจงเริ่มเล่าเส้นทางของโขมพัสตร์ก่อนมาถึงมือของเธอ
บรรยากาศโรงงานโขมพัสตร์ในความทรงจำของคุณกจง นอกจากจะมีเครื่องจักรเครื่องโตและอบอวลไปด้วยความร้อนเพราะเครื่องทำงานตลอดเวลา ยังเรียงรายด้วยคนงานที่ขะมักเขม้นพิมพ์ผ้าด้วยมือกันมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งโรงงาน ขณะที่เรื่องการออกแบบลวดลายส่วนใหญ่จะได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัวที่พบเจอ ไม่ได้มีแนวทางหลักการมากมายนัก จนกระทั่งโรงละครแห่งชาติเข้ามาติดต่อขอให้โขมพัสตร์พัฒนาวิธีการทำผ้าเกี้ยว ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นผ้าสำหรับใส่เข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ เพื่อนำผ้าไปใช้สำหรับใส่แสดงละคร
“คุณชายยง (ม.ร.ว. ยงสวาสดิ์ กฤดากร) เห็นจึงแนะนำว่า น่าจะนำผ้าเกี้ยวมาต่อยอดเป็นสินค้าเพื่อเก็บรักษาลายนี้ไว้ และจนถึงวันนี้ก็ยังมีคนมาหาซื้อผ้าเกี้ยวอยู่มากมาย” คุณกจงเล่าที่มาของลายผ้าสำคัญของโขมพัสตร์
ลายเซ็น
คุณอาจจะสงสัยเหมือนกันกับเราว่า ใครคือกลุ่มลูกค้าที่ซื้อผ้าพิมพ์ลายไทย
และคำตอบของคุณกจงก็สร้างความประหลาดใจไม่น้อย เมื่อเธอบอกเราว่า กลุ่มลูกค้าของโขมพัสตร์ส่วนใหญ่ คือ คนไทย ขณะที่กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติเริ่มรู้จักและให้ความสนใจโขมพัสตร์ ก่อนหน้าคุณกจงมารับช่วงต่อจากคุณแม่และพี่น้องไม่นาน ก่อนจะเสริมว่า สมัยนี้ก็ยังมีคนซื้อผ้าไปตัดเสื้ออยู่ และไม่ได้มีแค่ผ้าลายไทยทั้งหมดที่เป็นที่นิยม โขมพัสตร์ยังมีผ้าพิมพ์ลายดอกไม้หวานๆ และกราฟิกเท่ๆ อีกด้วย
“แม้ยอดขายจะขึ้นๆ ลงๆ ตามระบบเศรษฐกิจ สิ่งที่ช่วยให้โขมพัสตร์ดำเนินมาถึงทุกวันนี้คือ แนวคิดของคุณแม่ที่ยึดถือเสมอมาว่า อย่าลงทุนเกินตัว ทำเท่าที่กำลังเราพอจะทำได้ ให้เราอยู่ได้ แค่ไม่ขาดทุน” คุณกจงยิ้มตอบเมื่อเราย้ำถามผลประกอบการโดยรวม
นอกจากลายและสีของผ้าโขมพัสตร์จะแตกต่างจากผ้าทั่วไป สิ่งที่คนไม่เห็นคือ กรรมวิธีการผลิตผ้าพิมพ์ลายที่ทำด้วยมือทั้งหมด จึงไม่น่าแปลกใจที่ผ้าพิมพ์ลายของโขมพัสตร์จะให้สีเฉพาะแตกต่างกันในรอบการผลิต
คัดลายมือ
จากเรื่องราวของทายาทรุ่นสอง ที่พี่น้องทั้งสามแยกย้ายศึกษาต่อ เพราะรู้ว่าต้องกลับมารับช่วงต่อกิจการที่ครอบครัวประกอบการด้วยใจรักในสิ่งที่ทำ แต่คุณแม่ของคุณกจงก็ไม่เคยสร้างความกดดันหรือความคาดหวังของการเลือกเส้นทางสายนี้แต่อย่างใด
“ท่านอยากให้เราเลือกชีวิตแบบที่ต้องการเอง เราจึงเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ ก่อนจะทำงานสายการเงินและธนาคารเหมือนคุณพ่อ จนเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่ต้องย้ายตามสามีไปต่างประเทศ เราจึงตัดสินใจใช้เวลาช่วงนั้นกลับไปเรียนปริญญาโทการจัดการอุตสาหกรรมสิ่งทอ เรียนรู้ถึงกรรมวิธีของการผลิต รู้จักเส้นใยเนื้อผ้าชนิดต่างๆ จากนั้นสมัครเข้าทำงานเพื่อหาประสบการณ์ในบริษัททำวอลเปเปอร์ชื่อ de Gournay ที่ลอนดอน เป็นบริษัทครอบครัวที่ขึ้นชื่อเรื่องการเขียนลายด้วยมือเช่นเดียวกับโขมพัสตร์”
“เมื่อมารับช่วงต่อธุรกิจโรงงานผ้าอย่างเต็มตัว วินาทีนั้นรู้เลยมั้ยว่าเราเกิดมาเพื่อสิ่งนี้” เราถาม ตามประสาแฟนคลับของงานผ้าพิมพ์ลาย
“ไม่ถึงขนาดนั้น แต่เพราะเห็นมาตั้งแต่เด็ก เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นงานที่ยากเกินไป เหมือนอยู่ในจิตใต้สำนึก” คุณกจงตอบ
ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องงานอยู่ดี ที่อดีตนักการธนาคารดาวรุ่งจะเปลี่ยนกลับมาทำงานสายการผลิตและออกแบบซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิง โขมพัสตร์ในมือทายาทรุ่นสามอยู่ภายใต้การดูแลของคุณน้ำผึ้ง ลูกพี่ลูกน้องผู้รับหน้าที่ดูแลเรื่องการสื่อสารและการตลาด และคุณกจง ดูแลฝ่ายพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ ทั้งในโรงงานและงานออกแบบทั้งหมด
ลายสะดวก
“ต่อให้เราอยากเปลี่ยนแปลงอะไรมากแค่ไหน เราพบว่าต้องเริ่มจากลงมือทำให้ดู เพื่อให้เกิดภาพเข้าใจที่ตรงกัน เพราะเขาจะไม่เข้าใจว่าคอลเลกชันคืออะไร จำเป็นแค่ไหน เพราะเมื่อก่อนใช้วิธีผลิตลายใหม่ตามรายสะดวก แต่เราอยากทำให้เกิดคอนเซปต์ มีคอลเลกชัน รู้จักนำเสนอเรื่องราวของเราออกไปสู่ลูกค้า” คุณกจงเล่าถึงสิ่งที่เธอเข้ามาเปลี่ยนแปลง สร้างชีวิตชีวาให้กับแบรนด์อายุ 60 ปีในเวลานั้น
จนถึงวันนี้ 10 ปีแรกของการรับช่วงต่อ คุณกจงใช้เวลาช่วงแรกกับการดูแลระบบการทำงาน เริ่มจากระบบบาร์โค้ด ซึ่งที่ผ่านมาใช้วิธีบันทึกทุกอย่างด้วยลายมือ แต่เมื่อเริ่มนำซอฟต์แวร์มาใช้ ก็พบว่าระบบเบื้องหลังการจัดเก็บข้อมูลต่างหากที่สำคัญ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาไม่น้อย
ลำดับต่อมา ได้แก่ การทำแผนการกระตุ้นยอดขาย เพราะจะตั้งรับให้ลูกค้ามาหาเหมือนแต่ก่อนคงไม่ได้ เธอจึงคิดถึงการทำแบรนดิ้งจากแบรนด์ที่มี ทำอย่างไรจึงจะส่งต่อแก่นของโขมพัสตร์ไปสู่คนรุ่นใหม่
“เข้ามาทำจริงถึงได้รู้ว่าการสร้างแบรนด์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โชคดีมากที่เรามีแบรนด์และสายงานการผลิตที่แข็งแรง โชคดีที่สุดคือเราไม่ได้ปล่อยมือจากสิ่งเหล่านี้ไป” คุณกจงเล่า
ออกลายมาเลย ออกลายให้เห็น
สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนระหว่าง แบรนด์โขมและแบรนด์โขมพัสตร์ คือสีสันที่มีและลวดลายที่ลดทอนรายละเอียดไทยๆ บางส่วนออก จนเป็นลายผ้าที่สีสวยดูร่วมสมัย
คุณกจงเล่าที่มาให้ฟังว่า เธอเริ่มจากสังเกตตัวเองว่า ที่ผ่านมาไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของครอบครัวมากนักนั้นเป็นเพราะอะไร พบว่าไม่ว่าจะด้วยสีสัน ลวดลายหรือแบบทรง เธออยากจะลองทำเสื้อผ้าในแบบที่เธออยากซื้อใส่
จากเมื่อก่อนที่โขมพัสตร์ขายผ้าพิมพ์ลาย 90 % เดี๋ยวนี้มีสัดส่วนเป็น 60 % ที่เหลือเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปและข้าวของเครื่องใช้ ทั้งการนำลายผ้ามาประยุกต์ทำสีใหม่ เปลี่ยนให้เข้าถึงได้และใช้งานได้จริง และเปลี่ยนแบบทรงการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้ร่วมสมัยขึ้น
“สนุกมากนะ เมื่อคิดได้อย่างนั้น เราก็สนุกกับการต่อยอด ทดลอง เสาะหา สร้างสรรค์สีหรือคู่สีใหม่ๆ โดยมีแรงบันดาลใจจากสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา และการเดินทางที่เรามักจะชอบสังเกตการแต่งตัวของคนท้องถิ่น วัฒนธรรมต่างๆ แล้วนำกลับมาคิดต่อ”
ขายผ้า เอาเถอะหนา…รอด
ระหว่างชวนคุณกจงคุยเรื่องความเหมือนและต่างของการทำธุรกิจในแต่ละยุค อยู่ๆ ก็นึกอิจฉาคนที่ทำธุรกิจสมัยก่อน เพราะยังไม่มีเทคโนโลยีสื่อสารเร็วอย่างปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการยุคนั้นไม่สามารถเห็นความเป็นไปของร้านคู่แข่งได้ ยกเว้นว่าจะปลอมตัวไปสืบราชการลับถึงร้านเขา
“ซึ่งก็ทำให้เราจดจ่อ ทำในสิ่งที่อยากทำ และทำออกมาให้ดี จนกระทั่งออกมาเป็นสินค้าหรือบริการ ที่แม้แต่เราเองก็อยากซื้ออยากใช้” แม้จะอาศัยจุดแข็งของแบรนด์เรื่องคุณภาพทำการตลาดแบบปากต่อปาก มาถึงวันนี้คุณกจงก็ยอมรับกับเราว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ท้าทาย และเธอก็กำลังเรียนรู้อย่างจริงจัง
“ถึงแม้เราไม่มีคู่แข่งที่พิมพ์ผ้าด้วยมือ หรือมีลายเยอะแยะอย่างเรา ขณะเดียวกันตัวเลือกในตลาดมีเยอะขึ้น คนเลือกซื้อผ้าไปตัดน้อยลง และเมื่อลงมาเล่นในตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูป ก็เจอกับตัวเลือกที่มีมากกว่าหลายเท่า หลายสไตล์ หลายระดับ สิ่งที่เราต้องทำคือการสร้างสิ่งใหม่ๆ โดยไม่ให้เสียเอกลักษณ์ของเรา
“ที่สำคัญเราคิดว่าอาจจะทำธุรกิจแต่พอดีๆ พอให้มีความสุขกับการทำงาน แต่ว่าอย่าให้ขาดทุน หรือทำให้เราสามารถดูแลพนักงานเราได้ เพราะไม่ว่าจะบรรยากาศที่โรงงานหรือในออฟฟิศของโขมพัสตร์ก็มีความเป็นครอบครัวมากๆ ไม่เพียงพวกเราจะสืบทอดกันมา 3 รุ่น ตัวพนักงานเองเขาก็ส่งผ่านกันมาและทุกคนก็รักสิ่งที่ทำ” คุณกจงเล่า
เราจะทำดีที่สุด
ฟังดูเหมือนจะง่าย แต่คุณกจงยอมรับกับเราว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าในโลกของธุรกิจแฟชั่นและไลฟ์สไตล์นั้นเดินหน้าเร็ว และเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จะทำอย่างไรให้แบรนด์ของเรายังคงอยู่ในกระแสธารานี้
และขณะที่ส่วนของงานสร้างสรรค์ต้องมองไปข้างหน้า เราก็ไม่อาจจะวิ่งได้ทันที โดยละเลยระบบการทำงานที่มีอยู่ก่อน ทั้งวิธีคิดทำงานแบบใหม่และการเลือกสรรออกแบบหน้าร้าน เพื่อเป็นตัวแทนนำเสนอสิ่งที่ทุกคนตั้งใจทำงานออกมา
ที่สำคัญคือการยอมรับว่า กระบวนการนี้ต้องการเวลา
“เรามักจะบอกตัวเองเสมอว่า จำเป็นต้องให้เวลากับการสร้างแบรนด์นี้อย่างน้อย 3 ปี ถึงจะรู้ว่าสิ่งนี้คือคำตอบของการรับช่วงต่อแบรนด์หรือไม่ เร็วเกินไปถ้าจะรีบตัดสินสิ่งที่ทำในวันนี้” คุณกจงพูดถึงโขมแบรนด์น้องใหม่ที่อายุเพียง 8 เดือน ก่อนจะทิ้งท้ายคำแนะนำว่า
“มักจะมีคนถามจงเสมอว่า มีคำแนะนำอะไรสำหรับแบรนด์ใหม่ๆ บ้าง เราพบว่าคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ตัวเอง ทำให้เขายอมแพ้กับสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ และเร็วเกินไป ทั้งที่อาจจะต้องรอดู ยอมให้ขาดทุนก่อนใน 2 – 3 คอลเลกชันก่อนจะคืนทุนมา เช่นเดียวกับที่เราอยากให้แบรนด์ Khom ที่เราเพิ่งสร้างขึ้นมานี้ ตั้งตัวและเติบโตได้อย่างแบรนด์โขมพัสตร์ และอยากให้สินค้าของเราไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้ โดยที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์อย่างแข็งขัน”



ภาพ : Khomapastr
โขมพัสตร์ (พ.ศ. 2491)
โรงงานโขมพัสตร์ที่หัวหิน ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือประมาณปี ค.ศ. 1948 โดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร และหม่อมเจ้า ผจงรจิตร์ กฤดากร โดยมีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์ทางการเมืองยุคหนึ่ง ทำให้ท่านตาและท่านยายของคุณกจงต้องย้ายไปอยู่ที่เวียดนาม
“เป็นจังหวะเดียวกับที่ท่านตาไม่ได้ทำงานราชการแล้ว จึงเริ่มทำธุรกิจเพื่อจุนเจือครอบครัว โดยเริ่มจากลงมือย้อมผ้าแพรขาย และเพราะพูดภาษาฝรั่งเศสได้ จึงติดต่อซื้อสีจากต่างประเทศเข้ามา ก่อนจะกลับมาตั้งโรงงานที่หัวหิน และพัฒนารูปแบบส่งต่อความเชี่ยวชาญจนเป็นโขมพัสตร์ในทุกวันนี้”
“จากความรักที่มีต่อผ้า ผสมความตั้งใจของท่านตาที่อยากนำลายไทยมาอยู่บนผ้าด้วยวิธี screenprint ไม่แน่ใจว่าเป็นเจ้าแรกสุดหรือไม่ แต่เราเป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำลายผ้าด้วยวิธีการนี้ ซึ่งยุคนั้นนิยมเขียนลายไทยด้วยมือทั้งหมด ทำให้กระบวนการผลิตผ้าลายไทยจำเป็นต้องใช้เวลา” คุณกจงเล่าย้อนความตั้งใจแรกเริ่มของผู้ก่อตั้งโขมพัสตร์จากคำบอกเล่าของครอบครัว
โขมพัสตร์ในยุคแรกเริ่มนั้น แม้จะเริ่มต้นแบรนด์จากความรัก ทดลองและลงมือทำด้วยตัวเอง จนออกมาเป็นผ้าพิมพ์ลายไทยคุณภาพดี แต่กระแสการตอบรับของตลาดไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะคนยุคนั้นมีรสนิยมและชื่นชอบสินค้าจากประเทศตะวันตก ไม่นิยมลายไทยบนผ้ามากนัก ผู้ก่อตั้งจึงปรับจากลายไทยมาเป็นลายวิถีชีวิตคนไทย แล้วนำเสนอสินค้าที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ชาติตะวันตก เช่น กิจกรรมทานน้ำชาตอนบ่าย ทำหมอน ผ้าพันคอ และอื่นๆ นับจากวันนั้น โขมพัสตร์ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในตลาด แต่หลังจากนั้น 4 ปี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร ก็สิ้นพระชนม์ โขมพัสตร์จึงได้รับการดูแลและสานต่อโดยท่านยายของคุณกจงทั้งหมด

แม้จะไม่ได้อยู่ร่วมเหตุการณ์ในตอนนั้นเพราะเกิดไม่ทัน คุณกจงก็เล่าเรื่องโขมพัสตร์ที่จดจำจากภาพถ่ายว่า สิ่งหนึ่งที่แน่ใจคือ ที่ตั้งโรงงานเป็นแหล่งปลูกฝ้ายชั้นดีของประเทศ และก่อนจะมีเครื่องจักรผลิตผ้าแบบสมัยนี้ หลังพิมพ์ผ้าเสร็จจะต้องนำผ้าไปตากแดดเรียงกันเป็นแถวยาวๆ
จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 70 ปีแล้ว ที่ผ้าพิมพ์ลายสัญชาติไทยแบรนด์นี้อยู่มาอย่างยาวนาน
“คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้โขมพัสตร์ยังคงอยู่สร้างสรรค์คุณค่าและความสวยงามแบบไทยๆ ท่ามกลางกระแสที่ไหลเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา” เราถามทายาทรุ่นที่สาม
“สำหรับเราคิดว่าคงเป็นเพราะเรายังคงรักษากรรมวิธีการผลิตและเทคนิคที่ใช้แบบเดิมไว้ทั้งหมด และสิ่งนี้ทำให้คนกลับมาหาเราจริงๆ ต่อให้ปัจจุบันจะมีตัวเลือกมากมายในตลาดแค่ไหน สำหรับคนที่หลงใหลชื่นชอบการประดิดประดอย คุณภาพ และความประณีตของเรา ก็จะยังคงติดตามเราอยู่
“และอาจจะเป็นด้วยเราไม่ได้มีความทะเยอทะยาน อยากจะเติบโตเกินกำลังที่เราจะทำไหว เพราะในวันที่เราตัดสินใจลงทุนกับบางเรื่องมากจนเกินไป ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ และเพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ เพียงแต่วันนี้ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องเติบโตไปอีกขั้น” คุณกจงตอบ


