นี่ไม่ใช่ยุคของการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอย่างเดียวแล้ว

ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็มองว่าสุขภาพใจเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญควบคู่กันมา และสภาวะซึมเศร้าดิ่งดาวน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องจริงที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ (ค่อย) มีใครมองว่าผู้คนอ่อนแอ เปราะบาง เพราะคิดไปเองเท่าไหร่แล้ว

มีงานวิจัยมากมายที่รายงานว่าคนยุคใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z และ Gen Alpha ให้ความสำคัญกับ Mental Health เป็นอันดับแรก ๆ – ไม่ใช่ยุคที่จะต้องทนทุกข์ไม่เข้าเรื่องอีกต่อไป

เมื่อเป็นเช่นนั้น การดูแลสุขภาพจิตจึงถูกนำไปคิดกับแวดวงต่าง ๆ ไม่มีสิ้นสุด รวมถึงวงการสถาปัตยกรรมและการออกแบบเมืองด้วย

ในหนังสือ สถาปัตย์-สถาปนา ผลงานเล่มล่าสุดของ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ กล่าวถึงศาสตร์น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่าง ‘Neuroarchitecture’ ที่ควบรวมความรู้ด้านประสาทวิทยา (Neuroscience) กับสถาปัตยกรรม (Architecture) ไว้ด้วยกัน ศาสตร์นี้มีเป้าหมายในการศึกษาผลกระทบทางสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการทำงานของสมอง ระบบประสาท และจิตใจมนุษย์

เมียงเมืองคราวนี้ เราจะเริ่มต้นด้วย Neuroarchitecture และชวนคิดเลยไปถึง Neurourbanism ศาสตร์การออกแบบเมืองที่ช่วยชุบชูใจคนเดินถนน 

และบอกให้รู้ว่า ทำไมเราถึงยังไม่แจ่มใสกันสักที

Neuroarchitecture กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบัน แต่จริง ๆ ศาสตร์นี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 แล้ว

หนึ่งในคนแรก ๆ ที่สังเกตเห็นว่าการออกแบบสเปซมีอิทธิพลต่ออารมณ์มนุษย์ คือแพทย์ชาวอเมริกันชื่อ Jonas Salk คนเดียวกับผู้สร้างวัคซีนโปลิโอนั่นแหละ

Jonas สังเกตตัวเองว่าทุกครั้งที่เขาไปเยี่ยมชมมหาวิหารนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี ณ เมืองอัสซีซี ประเทศอิตาลี เขาจะรู้สึกมีแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์หลั่งไหลอย่างไม่น่าเชื่อ

เมื่อเขากลับมาที่สหรัฐอเมริกาในปี 1962 และก่อตั้ง Salk Institute สถาบันวิจัยด้านอณูชีววิทยา พันธุศาสตร์ ประสาทวิทยาศาสตร์ ที่แคลิฟอร์เนีย เขาก็ได้เรียกสถาปนิก Louis I. Kahn มาออกแบบอาคาร โดยขอให้เป็นส่วนผสมของศิลปะและวิทยาศาสตร์ ออกแบบโดยคิดถึงทั้งแง่ฟังก์ชันและสุนทรียศาสตร์

และเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์ทำวิจัย เช่นเดียวกับที่ศิลปินทำงานศิลปะ

สุดท้ายก็ออกมาเป็นหนึ่งในอาคารโดดเด่นที่สุดในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยมีทางเดินช่วงตึกไปยังชายหาด ชวนให้นึกถึงทางเดินไปยังแท่นบูชาของมหาวิหารอัสซีซี

เรารู้สึกตื้นตันใจเมื่อได้เข้าไปในสเปซแบบนี้ เขารู้สึกดิ่ง ๆ เวลาอยู่ในบรรยากาศแบบนั้น – สมัยก่อน ‘รู้สึก’ อาจเป็นบทพรรณนาลอย ๆ พิสูจน์ไม่ได้ แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว

เทคโนโลยีทางประสาทวิทยาปัจจุบันก้าวหน้าถึงขนาดสแกนสมองและติดตามสายตา แสดงให้เห็นได้ว่าสภาพแวดล้อมหนึ่งส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมทางสมองอย่างไร ทำให้มีฮอร์โมนชนิดใดหลั่งไหลออกมา และนำไปสู่การแสดงออกทางร่างกายอย่างไรบ้าง

ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อมนุษย์ก็มีหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น

อุณหภูมิ – อุณหภูมิที่พอดิบพอดีจะช่วยสร้างสภาวะน่าสบาย 

แสงไฟ – แสงไฟส่งผลต่อสภาวะอารมณ์ แสงสีขาวจะกระตุ้นสมอง ส่วนแสงโทนอุ่นจะช่วยลดความเครียด

สี – แต่ละสีทำงานกับสมองบริเวณที่ต่างกัน สีชมพูช่วยให้อารมณ์โกรธผ่อนเบาลง ในขณะที่สีโทนร้อนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสมาธิ

กลิ่น – กลิ่นช่วยส่งเสริมการออกแบบสเปซได้ แต่มักถูกลืมเสมอ เช่น กลิ่นธรรมชาติทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

การใช้เส้นโค้ง – ขอบโค้งมนช่วยให้ผ่อนคลายมากกว่ามุมคม ๆ

ต้นไม้ใบหญ้า – สภาพแวดล้อมเขียวขจีและการใช้วัสดุธรรมชาติ ส่งผลกับสุขภาพของคน

ซึ่งแน่นอนว่าการออกแบบพื้นที่ประเภทต่าง ๆ อย่างที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน สถานพยาบาล สถานศึกษา หรือการออกแบบละแวกที่อยู่อาศัย มีรายละเอียดในวิธีการแตกต่างกันไป ไม่ได้มีสูตรสำเร็จที่เหมาะกับทุกพื้นที่ ทุกจุดประสงค์

เรียกว่าเป็นศาสตร์ในการออกแบบอารมณ์มนุษย์อย่างมีหลักการเลยก็ว่าได้

ตัวอย่างหนึ่งที่อาจทำให้เห็นภาพชัดมากขึ้น คือการติดตั้งโคมไฟ LED แสงสีน้ำเงินบริเวณชานชาลาสถานีรถไฟในประเทศญี่ปุ่น เพื่อลดปัญหาการฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงสถานีรถไฟ

เมื่อ พ.ศ. 2552 มีงานวิจัยรายงานว่าวิธีการนี้ช่วยลดอัตราการเกิดเหตุได้ถึง 84% เลยทีเดียว

นี่เป็นเคสที่อาจารย์ชาตรีเองก็กล่าวถึง เราคิดว่าเคสนี้มีน้ำหนักมากพอ และใช้อธิบายได้อย่างชัดเจนว่า แทนที่จะสนใจแต่ฟังก์ชันหรือความสวยงาม ‘ทำไม’ เราถึงต้องให้ความสนใจ Neuroarchitecture กันจริง ๆ จัง ๆ เสียที

แสงสีน้ำเงินติดตั้งในรถไฟสาย Yamanote Line ทั้งหมด 29 สถานี

ใหญ่ไปกว่าสถาปัตยกรรม ก็มาถึงสเกลเมืองบ้าง หนึ่งในปัญหาของคนที่อาศัยในเมืองใหญ่ คือความตึงเครียด

นอกจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจทุกวันนี้แล้ว สภาพแวดล้อมในเมืองมีผลอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อผู้คนต้องอยู่กับมันทุกวันและทั้งวัน ตั้งแต่ก้าวเท้าออกจากบ้านตอนเช้า จนไขกุญแจกลับมาพักผ่อนตอนค่ำ

ตามศาสตร์ Neuroarchitecture และ Neurourbanism มีรายงานว่าลักษณะบางอย่างของสถาปัตยกรรมและเมืองส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนความเครียดด้วย

แน่นอนว่ากรุงเทพฯ เมืองหลวงแห่งความวุ่นวายก็โดนไปหลายข้อ

ตั้งแต่เหล่าตึกระฟ้าที่สร้างเงาขนาดมหึมา ทำให้คนมองไม่เห็นขอบฟ้า ถนนกว้างใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับรถยนต์มากกว่าคนเดินเท้า ระยะห่างระหว่างสถานที่ที่ไกลจนไม่เอื้อให้คนเดิน ความแออัด ขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสีเทาของคอนกรีต ยางมะตอย แทนที่จะเป็นสีเขียวของพืช รวมถึงการออกแบบเมืองที่ขาดเอกลักษณ์ ทำให้คนจดจำหรือรู้ทิศรู้ทางไม่ได้ จนต้องพึ่ง GPS อยู่ตลอด

ทันทีที่คนรู้สึกไม่คุ้นเคยกับเมือง ร่างกายจะเพิ่มระดับความเครียดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เราเตรียมรับภัยคุกคามที่อาจเข้ามาได้ทุกเมื่อ

ไม่ใช่แค่มนุษย์ สัตว์อื่นก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน

เมื่อบรรยากาศเมืองไม่เอื้อให้คนรู้สึกผ่อนคลาย ทั้งยังขาดแคลนพื้นที่ส่วนกลางที่เหมาะสม เมืองก็กลายเป็น ‘พื้นที่เปลี่ยนผ่าน’ ไปยังสถานที่ต่าง ๆ 

ก่อนกลับจากทริปเที่ยวทะเลแสนสุขสงบในเย็นวันอาทิตย์ คุณจินตนาการถึงการคืนสู่ชีวิตในกรุงเทพฯ ยังไงบ้าง

สำหรับเรา มันคือภาพรถติดเป็นแพบนท้องถนน ซึ่งเราเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าคนอื่นเล็กน้อยเพราะสัญจรด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้าง สัญลักษณ์หนึ่งแห่งความล้มเหลวทางระบบขนส่งสาธารณะและการออกแบบเมือง แต่ก็ต้องแลกกับความรู้สึกกลัวอันตรายทุกวินาที

นั่นหมายความว่า สำหรับเรา กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่าน (แบบไม่ปลอดภัย) โดยสมบูรณ์

การเป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่าน ยังส่งผลให้มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมขาดการเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน แม้ใน 1 วันเราจะผ่านคนนับร้อยนับพันในเมือง แต่ทุกคนกำลังเร่งรีบเพื่อพาตัวเองไปยังที่หมายให้ทันเวลา

แล้วทำยังไงให้เมืองดีต่อสุขภาพจิตของคนได้บ้าง

เบื้องต้นที่สุดคือการทำให้เมืองเป็นพื้นที่ของคนแทนที่จะให้ความสำคัญกับรถยนต์ การกระจายสิ่งอำนวยความสะดวกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของเมือง เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงได้สะดวก และเพื่อให้ปริมาณผู้คนในแต่ละพื้นที่มีความสมดุล ไม่แออัดยัดเยียด ทำให้คนรู้สึกเชื่อมโยงกับเมืองได้มากขึ้น

ทั้งยังต้องผสมผสานพื้นที่สีเขียวในตำแหน่งและขนาดที่เหมาะสมเข้าไปในเมืองด้วย

Environmental Neuroscience Lab มหาวิทยาลัยชิคาโก รายงานว่าการมีปฏิสัมพันธ์ระยะสั้นกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น การเดินเล่นในสวน มีผลต่อความจำและการรับรู้ถึง 20%

เพราะฉะนั้น หากวันไหนคุณรู้สึกอ๊อง ๆ จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว นั่นไม่ได้เป็นเพราะคุณคนเดียวที่รวบรวมสติไว้ไม่ได้ แต่สภาพแวดล้อมของเมืองที่คุณอยู่ก็มีส่วนสำคัญในความอ๊องนั้น

Best Version of You จะ Best ได้อีก #ถ้าเมืองดี

ยืนยันโดยวิทยาศาสตร์

การจะออกแบบและพัฒนาเมืองตามหลักการของ Neuroscience ต้องอาศัยองค์ความรู้และเทคโนโลยีมากมาย ปัจจุบันนี้มีสถาบันการศึกษาที่สอนด้าน Neuroarchitecture โดยตรงอยู่หลายที่ 

Brazilian Academy of Neuroscience and Architecture สหรัฐอเมริกา ก่อตั้งโดยสถาปนิกที่มีแพสชันในศาสตร์นี้ หากใครได้เข้าไปก็จะมีโอกาสได้เรียนวิชาน่าสนใจอย่างเรื่องการออกแบบเสียงและกลิ่น

NewSchool โรงเรียนดีไซน์ที่ซานดิเอโก มี Short Course ราว 1 – 2 เดือน ให้สถาปนิกและนักออกแบบเข้าไปหาความรู้ได้

ในโลกนี้ไม่มีศาสตร์ใดที่แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ทุกศาสตร์ต่างต้องอาศัยความรู้จากแขนงอื่น ๆ มาเติมเต็มและสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ

เรากำลังเฝ้ามองอนาคต คิดว่าต่อไปหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมืองในประเทศเราจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเรียนรู้ข้ามศาสตร์ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ 

ผู้เรียนสนุกขึ้น ผู้คนทั่วไปก็ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นด้วย

ด้าน Neuroarchitecture และ Neurourbanism เองก็เป็นศาสตร์แห่งความหวัง ถ้าเปิดให้เรียนโดยทั่วไป คงมีส่วนช่วยให้ผู้คนมีสุขภาพจิตที่สดใสซาบซ่าขึ้นไม่น้อย

ข้อมูลอ้างอิงและที่มาภาพประกอบ
  • หนังสือ สถาปัตย์-สถาปนา โดย ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ
  • www.connectionsbyfinsa.com/neuroarchitectureerusuconsultants.com
  • www.archdaily.com/1008991
  • www.neuroau.com/post
  • www.researchgate.net
  • www.linkedin.com/pulse
  • www.rockfon.co.uk/about-us/blog/2023/neuroarchitecture
  • www.neuroau.com/post
  • www.landscapearchitecture.nz
  • www.bbc.com/future/article
  • www.architecturaldigest.com/story/salk-institute-restoration

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ