นี่คือ ‘ศาลาสุทธสิริโสภา’ Concert Hall หน้าตาคลาสสิกย่านลาดพร้าวที่มีนักดนตรีหลากสัญชาติเคยมาสร้างความประทับใจให้ผู้ชม

เจ้าของศาลาแห่งนี้คือ ณัฐ ยนตรรักษ์ ผู้เป็นนักประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียง เป็นนักเปียโนที่เดินทางไปแสดงฝีมือมาแล้วทั่วโลก เป็นศิลปินศิลปาธร สาขาคีตศิลป์ พ.ศ. 2549 และเป็นชาวไทยคนแรกที่ได้รับประกาศเกียรติคุณให้เป็น Steinway Artist

กลางปีนี้ ตำนานของประเทศไทยคนนี้กำลังจะมีคอนเสิร์ตเดี่ยวในวาระการเป็นนักเปียโนครบ 50 ปี และอายุครบ 70 ปี ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งณัฐเป็นนักเปียโนไทยคนแรกและคนเดียวที่เคยแสดงเดี่ยวที่หอประชุมใหญ่ของที่นี่นับตั้งแต่เปิดมา (พ.ศ. 2530)

แม้ศาลาสุทธสิริโสภาจะเป็นเบื้องหน้าที่สุดที่ทุกคนได้เห็น หากที่นี่เป็นเหมือนอาณาจักรพิศวง ด้านหลังศาลาฯ ยังมี ‘บ้าน’ สถานที่ผลิตเสียงเพลงที่มีผู้คนมากมายเคยมาเยี่ยมเยียน และ ‘โรงเรียนสอนดนตรี NAT STUDIO’ ที่มีเด็ก ๆ และผู้ปกครองขลุกตัวกันจนเป็นสังคมขนาดย่อม ๆ

ลูก ๆ ของนักเปียโนผู้เติบโตที่นี่ถึงกับเรียกว่า ‘บ้านสาธารณะ’

เราจะพาไปดูชีวิตของ ณัฐ ยนตรรักษ์ ไปพร้อม ๆ กับเดินชมอาณาจักรของเขา และ ‘ระบบนิเวศ’ ที่เกิดขึ้นในรั้วตลอด 40 ปีที่ผ่านมา

ท่านแม่ และเปียโน Steinway

ชื่อศาลา ‘สุทธสิริโสภา’ มาจากพระนามของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา

เมื่อครั้งเข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณัฐได้รู้จักกับ หม่อมราชวงศ์นิดา สุขสวัสดิ์ หลานของพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภาที่เรียนอยู่คณะวิทยาศาสตร์ จากนั้นเพื่อนก็แนะนำให้เขาไปสอนอิเล็กโทนพระองค์หญิง ผู้เพิ่งเสียลูกสาวไปในอุบัติเหตุที่ผ่านมาไม่นาน ตั้งแต่วันแรกที่ได้สอน ท่านก็เมตตาให้ณัฐเรียกว่า ‘ท่านแม่’ และคอยอุปถัมภ์นักเปียโนอายุน้อยคนนี้นับจากนั้นเป็นต้นมา

ตราประจำพระองค์

จริง ๆ แล้วไม่ใช่ใครสักกี่คนหรอกที่จะมีโอกาสเล่นเปียโนในยุคนั้น 

แม่ของณัฐทำงานเป็นสมุห์บัญชี ส่วนพ่อเป็นผู้อำนวยการหอพัก YMCA แต่ครอบครัวเป็นคริสเตียนโปรเตสแตนต์ที่ไปโบสถ์สืบสัมพันธวงศ์ ย่านสีลม เมื่อณัฐเริ่มเรียนเปียโนกับลูกพี่ลูกน้องและครูในช่วงแรก ๆ ก็ได้ลองเล่นใน Sunday School (รวีวารศึกษา หรือ ห้องเรียนพระคัมภีร์สำหรับเด็ก) ให้เพื่อน ๆ ร้องเพลง จนโตขึ้นหน่อยก็ได้เล่นใน Boys’ Choir ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

ที่น่าสนใจคือ CU Chorus หรือคณะนักร้องประสานเสียงจุฬาฯ ก็ตั้งขึ้นมาเพราะมหาวิทยาลัยรู้ว่ากำลังจะมีนักเปียโนอย่างณัฐเข้าเรียนชั้นปี 1 (นักเปียโนหายากขนาดนั้นเลยนั่นแหละ)

“ธีสิสที่ทำก็เป็นการออกแบบคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ตอนนั้นยังไม่มีคณะนี้เลยนะ แต่อาจารย์ที่ปรึกษาคือ อาจารย์ทรงคุณ อัตถากร ซึ่งเสียไปเมื่อ 2 ปีก่อน เป็นผู้ริเริ่มโครงการคณะศิลปกรรมศาสตร์ ท่านเห็นเราทำจนเสร็จก็บอกว่า คุณไปเรียนดนตรีแล้วกลับมาเป็นอาจารย์ที่นี่ดีกว่า” 

ด้วยคำสนับสนุนของอาจารย์ ณัฐจึงได้ไปเรียนปริญญาตรีด้านดนตรีอีก 1 ใบ ที่ London University และสอบชิงทุนปริญญาโททาง Performance ที่ Reading University ต่อไป

“พอได้ทุนตอนปี 1981 ท่านแม่เลยให้เปียโน Steinway & Sons มาหลังหนึ่ง ท่านพาไปเลือกที่ร้านเลย” ณัฐเล่าด้วยรอยยิ้ม “กว่าเปียโนจะเสร็จก็ปีหนึ่งนะครับ ใช้เวลาสั่งทำ 9 เดือน เพราะเป็นงานแฮนด์เมดสำหรับเปียโนเขตร้อน”

ลูกตาล พารณี ลูกสาวคนโตของณัฐเสริมว่า เปียโน Steinway & Sons เป็นเปียโนอันดับ 1 ของโลก และนิยมใช้ในการแสดงคอนเสิร์ตมากที่สุด 

ด้วยค่าเงิน ณ ขณะนั้น ณัฐได้มาในราคา 7 แสน แต่หากเป็นสมัยนี้ก็อยู่ที่ 7 ล้าน เรียกว่านักเปียโนอายุน้อย ๆ ไม่มีทางซื้อได้ แต่เมื่อเติบโตขึ้น ณัฐ ยนตรรักษ์ ก็หลงเสน่ห์เปียโน Steinway & Sons และซื้อด้วยตัวเองมาตลอด จนเป็นศิลปินที่มีเปียโนแบรนด์นี้ในครอบครองมากที่สุดในประเทศไทย 

ถ้าคุณได้เดินทัวร์บ้านเขาก็จะพบกับเปียโนแบรนด์นี้ หลากรุ่น หลากปี กระจายอยู่ตามห้องหับ

อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่เขาคนนี้ได้เป็น Steinway Artist คนแรกของประเทศไทย ไม่ใช่เพราะการเป็นลูกค้าผู้ภักดีหรือ Top Spender แต่อย่างใด หากต้องเป็นศิลปินที่ ‘รู้จัก’ เสียงของเปียโนแบรนด์นี้เป็นอย่างดี จนถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าประทับใจ

ตำนานของจริงอยู่ตรงนี้เอง

สร้างบ้าน สร้างชีวิต

ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปครั้งใหญ่ เมื่อนักเปียโนพบกับลูกสาวของ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ อย่าง น้ำตาล หรือ พ-วงเดือน อินทราวุธ (นามสกุล ณ ตอนนั้น)

ขณะนั้น พ-วงเดือนเดินทางจากเชียงใหม่มาเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่หอพักชื่อสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน และได้รับมอบหมายให้เป็นนักร้องในโบสถ์ ซึ่งผู้ดูแลนักเปียโนรับเชิญก็คือ ณัฐ ยนตรรักษ์ นั่นเอง

เป็นอีกครั้งที่ความรักเกิดขึ้นด้วยเสียงดนตรี 

คราวนี้ นอกจากท่านแม่ของณัฐ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา จะสนับสนุนเรื่องชุดแต่งงาน ยังเมตตาสร้างบ้านให้ด้วย 

ฉบับออริจินอลของที่นี่เป็นแปลนรูปตัว L 3 ห้องนอน ห้องนอนพ่อแม่ 1 ห้องนอนลูก 2 มีสวนอยู่ตรงกลาง มีโรงรถ แต่วันเวลาผ่านไป ชั้นล่างของตัว L ก็กลายเป็นโรงเรียนดนตรี พ่อแม่ลูกย้ายไปอยู่ชั้นบน ส่วนโรงรถขยับขยายไปที่อื่นเพราะกลายเป็นห้องเรียนศิลปะ

เมื่อรวมกับศาลาสุทธสิริโสภาที่สร้างไว้ด้านหน้าเข้าไปด้วยแล้ว อาณาจักรแห่งนี้ก็แน่นขนัดไปด้วยฟังก์ชัน ซึ่งเคล็ดลับของ (อดีต) นักเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ คือการติดกระจกเงาเข้าไปตลอดแนว ทำให้รู้สึกราวกับว่ามองไปได้สุดลูกหูลูกตา

ร่องรอยความทรงจำจากพิธีสมรสของลูกสาวคนเล็กยังคงปรากฏบนกระจกเงา

ห้องที่เราสนทนากันอยู่มีชื่อง่าย ๆ ว่า ‘ห้องใหญ่’ หากเป็นห้องสำคัญที่สุดห้องหนึ่งในบ้าน ณัฐเป็นผู้ออกไอเดีย และมีรุ่นพี่สถาปัตยกรรมศาสตร์อย่าง บุญยิ่ง จุลเกียรติ มาช่วยออกแบบจนเกิดขึ้นจริง ห้องใหญ่อาจเรียกได้ว่าเป็นห้องแสดงเปียโนต้อนรับแขกเหรื่อก็ว่าได้ แต่ถ้าถามพ-วงเดือนว่าไฮไลต์ของห้องคืออะไร เธอจะเล่าถึงหงส์แกะสลักโดยศิลปินล้านนา เจ้าบุญประเสริฐ ณ เชียงใหม่ ที่ตั้งอยู่ข้างเปียโน

ห้องใหญ่

ย้อนกลับไปสมัยยังหนุ่ม นอกจากแสดงบนเวที ณัฐ ยนตรรักษ์ ยังใช้ความสามารถทางดนตรีทำงานอีกหลายอย่าง เช่น การวิจารณ์ดนตรีลงหนังสือพิมพ์ เนชั่น และการทำรายการเกี่ยวกับดนตรี ออกอากาศทางโทรทัศน์หลายช่อง ถ้าใครได้เปิดดูก็จะเห็นณัฐนั่งอยู่หน้าเปียโน Steinway & Sons เห็นฉากหลังเป็นผนังกระจกโค้ง มองเห็นทิวทัศน์ภายนอก แบบที่ยังไม่มีที่ไหนทำในตอนนั้น และเห็นหงส์แกะสลักตั้งอยู่ตรงนั้นเป็นภาพจำ

ห้องใหญ่เป็นสถานที่ถ่ายทำรายการทั้งหมดของเขา

การเป็นนักเปียโนทำให้ณัฐได้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเยอะมาก เมื่อผู้ใหญ่เอ็นดู ก็เปิดทางให้ได้โอกาสใหม่ ๆ อีกมากมาย ซึ่งถ้าผู้หลักผู้ใหญ่อยากฟังณัฐเล่นเปียโน ถ้าไม่ใช่คอนเสิร์ตก็ต้องมาเยือนห้องใหญ่นี่แหละ

“สมัยสร้างใหม่ ๆ ที่นี่เป็นห้องจัดคอนเสิร์ตที่เงียบที่สุดในยุคนั้นเลย” พ-วงเดือนเล่า

พื้นบริเวณเปียโนใช้หินอ่อนเป็นวัสดุปูเพื่อการสะท้อนเสียง ส่วนบริเวณอื่น ๆ เช่น ฝ้า ใช้ไม้เป็นหลัก เพราะต้องการคุณสมบัติกระจายเสียง เดิมทีพื้นนอกโซนเปียโนจะปูด้วยพรมเพื่อซับเสียงด้วย แต่ปรับเปลี่ยนไปเมื่อน้ำท่วม

เปียโนและหงส์แกะสลักเคียงข้าง

“ที่ศาลาฯ เราก็ทำให้มีกระจก มีไม้ ล้อกันกับห้องนี้ ไม่มีวัสดุซับเสียงเลยแม้แต่ชิ้นเดียว” ลูกจันทน์ พิณนรี ลูกสาวคนเล็กเล่า

แม้ ณัฐ ยนตรรักษ์ จะเป็นนักเปียโน แต่ก็ได้ใช้วิชาสถาปัตยกรรมที่ร่ำเรียนมา 5 ปี ออกแบบศาลาสุทธสิริโสภาด้วยตัวเอง ตั้งแต่วางแปลนตึก คำนวนสัดส่วนอาคารและห้องต่าง ๆ เพื่อให้ได้เสียงที่ดีที่สุด ซึ่งสุดท้ายแล้วก็เป็นเรื่องบังเอิญมาก ๆ ที่สัดส่วนออกมาใกล้เคียงคริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์

ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสียงมาทดสอบที่ศาลาไหม – เราถาม

“ทำเอง” ณัฐกระซิบกระซาบอย่างมีอารมณ์ขัน “ด้วยประสบการณ์ เราว่าอย่างนั้นน่าจะโอเค สัดส่วนห้องก็ดีด้วยครับ 2 : 1”

“แต่สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับอะคูสติก คือไม่ว่าคุณจะใช้คนเก่งแค่ไหนออกแบบหรือคำนวณอะไรมา สุดท้ายมันต้องใช้ความโชคดีนะ เราไม่มีทางรู้เลยจนกว่าจะสร้างเสร็จ พวกเราตื่นเต้นกันมากเลย แต่ทุกอย่างออกมาลงตัว” ลูกจันทน์อธิบาย

ศาลาสุทธสิริโสภาเป็น Concert Hall นอกจากห้องแสดงเปียโนใหญ่แล้ว แน่นอนว่าต้องมีฟังก์ชันอื่น ๆ สำหรับนักดนตรีที่มาแสดงด้วย ไม่ว่าจะเป็นห้องพักนักดนตรี ห้องซ้อมเปียโน ห้องเก็บตัวก่อนขึ้นแสดง ซึ่งแต่ละห้องที่ตั้งชื่อตามสตรีผู้มีพระคุณก็คิดเรื่องอะคูสติกมาด้วยประสบการณ์ของนักดนตรี

รวม ๆ แล้วในอาณาจักรแห่งนี้มีเปียโนเยอะมาก

เหตุการณ์ที่ทำให้ครอบครัวยนตรรักษ์อกสั่นขวัญแขวนที่สุด คือน้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2554 อย่างที่เล่าไปว่าพรมในห้องใหญ่ถูกรื้อออกไป นั่นเป็นเพราะน้ำผุดขึ้นมาทางพื้นจนพรมเสียหายไปหมด พรมยังเสียหาย แล้วเครื่องดนตรีมากมายในบ้านหลังนี้จะเป็นอย่างไร

เคราะห์ดีที่ตอนนั้นทุกคนร่วมด้วยช่วยกันจนแก้ปัญหาได้ เริ่มตั้งแต่หนุนด้วยอิฐ ทำขาเหล็ก ไปจนถึงย้ายที่อยู่ให้

“ถ้าเปียโนเสียหาย เราหมดตัวแน่นอน” ณัฐเอ่ย

ดนตรีเป็นอาชีพฉันใด เปียโนก็เป็นเครื่องมือในการทำอาชีพของครอบครัวฉันนั้น หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดของบ้านหลังนี้ก็คือการดูแลสวัสดิภาพให้กับเปียโนนั่นเอง

หลากเรื่องราวในบ้านสาธารณะ

คิดถึงเธอ คิดถึงเธอ ใจลอยเผลอ คิดว่าเธอได้มาอยู่ใกล้

คิดถึงวัน คิดถึงคืน ที่เคยชื่น มิมีใครอื่น ยอดดวงใจ

ณ ศาลาสุทธสิริโสภา ณัฐพรมนิ้วบรรเลงเปียโนเพลง คิดถึงเธอ ที่เขาแต่งเมื่อครั้งอายุ 20 เมื่อท่อนอินโทรผ่านไป พ-วงเดือนก็ขับร้องขึ้นมาโดยที่เราไม่ได้ตั้งตัว และมีลูก ๆ ล้อมหน้าล้อมหลังฟังเสียงเพลงของพ่อกับแม่

ภาพตรงหน้าเป็นภาพที่หาดูไม่ง่ายเลยจากครอบครัวอื่น ๆ แต่สำหรับครอบครัวดนตรีอย่างยนตรรักษ์ นี่เป็นบรรยากาศแสนปกติที่ในบ้านหลังนี้

ณัฐและพ-วงเดือนมีลูกด้วยกัน 3 คน

ลูกนัท พณ, ลูกตาล พารณี และ ลูกจันทน์ พิณนรี 

เพราะพ่อแม่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด นอนใต้เปียโนระหว่างพ่อซ้อม ไปทัวร์แสดงดนตรีที่ต่างประเทศก็พกไปด้วย ลูก ๆ ทั้งสามจึงซึมซับความชอบและความสามารถมาอย่างเต็มที่ และใช้เปียโนในการประกอบอาชีพเมื่อเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะสอนหรือแสดง

ลูกนัท ลูกตาล ลูกจันทน์ ใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาดูโลก พวกเขามองว่าที่นี่ไม่ใช่บ้านส่วนตัว แต่เป็น ‘บ้านสาธารณะ’ 

“เมื่อไหร่ที่พวกเราออกมาจากห้องนอนแล้วลงมาชั้นล่าง แปลว่าเราอยู่ในพื้นที่สาธารณะแล้ว” ลูกตาลเล่าด้วยความภูมิใจ แม้ว่าจะต้องอยู่กับผู้ใหญ่มากหน้าหลายตา แต่เธอก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัด

ปกติแล้ว บ้านคือพื้นที่ส่วนตัวของมนุษย์ แต่เมื่อเติบโตมาในพื้นที่ที่มีผู้คนหลากหลายเข้าออกตลอด ทั้งสามก็ถูกหล่อหลอมให้เคยชินกับบ้านในอีกรูปแบบที่บางคนอาจไม่เข้าใจ

ซึ่งการแบ่งโซนนิ่งในชั้น 1 ของบ้าน ก็ไม่ได้แยก Public และ Private อย่างชัดเจนแต่อย่างใด

“เราเจอคนทุกประเภท ตั้งแต่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และแขกของที่บ้าน ที่นี่รับแขกตลอดเวลา ถ้าบ้านมีแขก จะไม่มีใครไปไหนได้ เราต้องอยู่กันทุกคน

“It takes a village to raise a child พวกเราโตมาด้วยคอนเซปต์นี้ โดยที่คนใน Village ไม่ใช่สายเลือดแม้แต่คนเดียว”

ตอนเด็ก ๆ ทุกคนรู้ไหมว่าที่บ้านอยู่กันไม่เหมือนบ้านคนอื่น – เราข้องใจ

“ไม่รู้นะ เพิ่งมารู้ตอนโต” ลูกจันทน์ตอบ “ตอนนั้นไม่เคยไปบ้านเพื่อนเลยยิ่งไม่เข้าใจ ปกติแล้วเพื่อนต้องมาหาเรา”

ห้องทานข้าวของครอบครัว แต่บางทีก็เป็นห้องรอลูกของผู้ปกครอง

ปัจจุบันโรงเรียนสอนดนตรี NAT STUDIO ที่สอนโดยณัฐกับลูก ๆ ก็ยังคงคึกเหมือนก่อนเก่า

ที่นี่ไม่ได้ตั้งชื่อห้องยิ่งใหญ่เหมือนที่ศาลาสุทธสิริโสภา แต่เรียกง่าย ๆ ตามชื่อแบรนด์เปียโน บรรยากาศโดยรวมดูเป็นกึ่งบ้านคน กึ่งโรงเรียนดนตรี ดูมีเสน่ห์ไปอีกแบบ

“ลูกศิษย์เราผูกพันกับที่นี่เป็นบ้านหลังที่ 2 มีความรู้สึกเหมือนกับเป็นครอบครัวใหญ่” พ-วงเดือนว่า ก่อนที่ณัฐจะเสริม “นักเรียนคนหนึ่งอยู่กันเป็น 10 ปี จากตัวเล็ก ๆ 6 ขวบ ก็อยู่ถึง 16 ไปแข่ง ไปโชว์ต่างประเทศกับเรา ความผูกพันยาวนาน พ่อแม่ก็รู้จักกันดี”

ก่อนแข่งขัน NAT STUDIO จะจัดแคมป์เปียโนให้พ่อแม่มาทิ้งลูกไว้ทั้งวันเพื่อใช้แกรนด์เปียโนซ้อมมือ บางทีปิดเทอมเด็ก ๆ ก็หอบข้าวหอบของมากินนอนที่นี่แทนบ้าน พวกเขาจึงต้องคอยเตรียมห้องว่างไว้รองรับนักเรียนเสมอ

“ซิกเนเจอร์ของบ้านนี้คือไข่เจียวกับน้ำปลาพริก” ลูกจันทน์เล่ายิ้ม ๆ ใช่แล้ว ที่นี่เป็นบ้านที่มีแม่ครัวคอยทำกับข้าวให้เด็ก ๆ กินด้วย

แต่ถึงแม้ว่าจะอยู่กันอย่างสนิทสนม แต่คุณครูเหล่านี้ก็สอนอย่างเข้มงวด และมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายของนักเรียน ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นการสอบ การแข่งขัน หรือการอัดคลิปลง YouTube ก็ตามแต่

โรงเรียนดนตรี ส่วนห้องทำงานของลูกจันทน์
พาเด็ก ๆ ไปต่างประเทศ

บ้านนี้มีเรื่องเล่าของความสัมพันธ์อยู่ทุกหนแห่ง

ตอกเสาเข็มเสาแรกได้เพราะท่านแม่อุปถัมภ์

สนับสนุนการสร้างโดย หม่อมราชวงศ์สุนิดา กิติยากร (ลูกสาวของท่านแม่) เจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี และ กมลวัน บุณยัษฐิติ หรือ พี่นุช-ป้านุช ของครอบครัว

ไม้สักทองทั้งหมดของศาลาสุทธสิริโสภามาจากไม้เรือนเก่าภาคเหนือที่เจ้ายาย (เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่) กว้านซื้อสะสม 

เครื่องปรับอากาศเงียบกริบเหมาะกับการอัดเสียง สนับสนุนโดย พรเทพ พรประภา ที่ให้ความช่วยเหลือครอบครัวมาตลอด

งานศิลปะนานาประเทศที่แขวนตามผนังมาจากเพื่อนฝูงของณัฐและพ-วงเดือน ยนตรรักษ์

ลิฟต์มาจากการบริจาคของผู้ปกครองนักเรียน
ที่นี่เป็นบ้านที่ร่วมกันสร้างโดยครอบครัวใหญ่จริง ๆ

บ้านเก่า แต่ไม่มีวันแก่

ณัฐ ยนตรรักษ์ เป็นนักดนตรี ใช้ชีวิตกับเสียงดนตรีในอาณาจักรแห่งนี้ราว 90 เปอร์เซ็นต์ของชีวิต ถ้ามีการออกเดินทางไปต่างประเทศ นั่นแปลว่าเขาไปแสดงเปียโน และอาจเพิ่มโปรแกรมเที่ยวเป็นของแถม

ปีที่แล้วเป็นปีแรกที่ลูกสาวคนเล็กและลูกเขยชวนสองสามีภรรยาไปเที่ยวญี่ปุ่นแบบที่ใครเขาทำกัน แม้ว่าผู้เป็นพ่อจะงุนงงในคราวแรก ไม่มีโชว์แล้วจะให้ไปทำอะไร

ลูกจันทน์ถามพ่อขณะเที่ยวญี่ปุ่นว่า อายุจะ 70 ปีแล้ว พ่ออยากทำอะไรบ้าง ทำให้เขาครุ่นคิดจริงจังจนกลั่นออกมาเป็นคำตอบ
“เวลามองเพื่อน ๆ ไป เขาไม่ทำงานกันแล้วนะ แต่เราไม่รู้สึกอยากเลิกทำงานแบบเขา แขนขายังดี สมองยังดี เดินเหินได้ปกติ” ณัฐเล่าอย่างอารมณ์ดี “สิ่งที่อยากทำตอนนี้คือการเขียนเพลง เราเขียนเพลงร่วมสมัยที่ยังคงเป็นคลาสสิกและมีสำเนียงไทย มีลักษณะของดนตรีไทยชัดเจน เราคิดว่าไม่มีใครทำได้แบบนี้ ถ้าเราทำได้ เราจะทิ้งไว้เป็นมรดกให้อยู่ไปตลอดได้”

และแน่นอน ที่ที่ณัฐจะใช้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ก็หนีไม่พ้นอาณาจักรของเขาเอง
คอนเสิร์ตครบรอบ 70 ปีนี้ จะเป็นคอนเสิร์ตครั้งสำคัญที่นักเปียโนระดับตำนานคนนี้จะได้บรรเลงความเป็นตัวของตัวเองลงไปอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ในนามศาลาสุทธสิริโสภา และ NAT STUDIO ลูก ๆ เขาของก็กำลังผลักดันให้นักดนตรีชาวไทยได้ไปแสดงต่างประเทศให้ได้ทุกปี เพราะมีคนไทยมากมายที่เก่งกาจ แต่ยังไม่มีโอกาสได้เฉิดฉาย

ณัฐอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ยังหนุ่ม จนปัจจุบันอายุกำลังจะเข้าทศวรรษที่ 7 แล้ว 

แม้มองภายนอก บ้านหลังนี้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด แต่เรื่องราวข้างในกลับไม่เคยหยุดนิ่งแม้สักวัน ยังคงสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ โดยไม่มีทีท่าว่าจะอ่อนแรง

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ